จับตา! พิพากษาอุทธรณ์คดี ม.112 ของ “เก็ท โสภณ” กรณีปราศรัยด่าตำรวจในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว พาดพิงถึงราชินี

ในวันที่ 5 มี.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ผู้ถูกกล่าวหาในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565

(แก้ไขข้อมูล 5 มี.ค. 2567) ศาลอาญานัดฟังคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ กรณีคำร้องตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย. 2565 เกี่ยวกับการแก้ไขเงื่อนไขการประกันตัวของศาลชั้นต้น โดยขอออกนอกเคหสถานเพื่อไปประกอบอาชีพ ไม่ใช่นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แต่อย่างใด จึงต้องติดตามต่อไปว่าศาลจะนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีนี้เมื่อใด

ทั้งนี้ กิจกรรมทัวร์มูล่าผัว เกิดขึ้นในวาระครบรอบ 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ โดยกลุ่ม “มังกรปฏิวัติ” ได้จัดกิจกรรมทริปเที่ยวหนึ่งวันตามสถานที่สำคัญรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ (ฝ่ายซ้าย) และไหว้พระ ทำบุญ ขอพร ขอผัว ขอเมีย กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (อ่านรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมที่ Mob Data Thailand)

คดีนี้ มีการสืบพยานในระหว่างวันที่ 4-7 ก.ค. 2566 โสภณยืนยันต่อสู้ว่าการกระทำของตนไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 เป็นการด่าตํารวจ ไม่ใช่ด่าพระมหากษัตริย์หรือพระราชินี เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตํารวจ สน.สําราญราษฎร์ ใช้กําลังและไม่เจรจาพูดคุยด้วยดีกับประชาชน และเขายังไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว โดยโจทก์นำพยานเข้าเบิกความรวม 11 ปาก ในขณะที่ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความ 2 ปาก 

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 ศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีนี้ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 ประกอบมาตรา 9 ลงโทษจำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 6 เดือน

ในวันดังกล่าว ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวโสภณในระหว่างอุทธรณ์ แต่ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ทำให้โสภณถูกนำตัวไปควบคุมยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

กระทั่ง วันที่ 27 ส.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัว ระบุเหตุผลว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยปราศรัยด้วยข้อความที่ถือเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ทำให้จนถึงปัจจุบันโสภณถูกคุมขังในเรือนจำมาเป็นเวลา 193 วันแล้ว 

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2566 ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีนี้ ในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย 6 ประเด็น โดยสรุปดังนี้

.

ข้อความว่า “ก็เพราะมวลชนของพวกเราจะไปผ่านเสด็จ จะไปผ่านขบวนที่พระราชินีสุทิดาจะไปไหว้พระบรมสารีริกธาตุที่ภูเขาทอง” และข้อความทำนองว่า ต่อให้ทําบุญ 100 วัด บารมีก็ไม่สูงขึ้น เป็นข้อความที่ไม่ต่อเนื่องกันและเป็นประโยคที่ขาดจากกัน โดยสาเหตุที่มีการเอ่ยพระนาม “พระราชินีสุทิดา” มาจากกรณีที่ตำรวจอ้างว่ามีขบวนเสด็จโดยอ้างพระนามของพระราชินี ซึ่งไม่ได้เกี่ยวโยงกับประโยคที่จำเลยชี้พูดด่าตำรวจว่าสันดานเสียและบารมีไม่สูงขึ้นแน่นอน แม้จะทำบุญกี่วัด 

ข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่า ขณะนั้นประชาชนมีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นกรณีที่กำลังปะทะกับตำรวจและมีการด่าทอตำรวจอยู่ จากการที่เจ้าหน้าที่ทำร้ายประชาชน ขัดขวางกิจกรรมทัวร์ประวัติศาสตร์ โดยอ้างถึงขบวนเสด็จและเอ่ยอ้างพระนามของพระราชินี

จำเลยไม่เห็นพ้องกับข้อวินิจฉัยของศาลอาญาที่ว่าเพราะมีการระบุชื่อพระราชินี จึงแปลเจตนาว่าจำเลยกล่าวโดยมุ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 และพระราชินี การกระทำของจำเลยเป็นการด่าตำรวจไม่ใช่ด่าพระมหากษัตริย์หรือพระราชินี 

นอกจากนี้ จำเลยไม่ได้ไปชุมนุม แต่ไปร่วมทัวร์ประวัติศาสตร์ ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม ไม่เป็นผู้นำ และไม่ได้ก่อความวุ่นวายหรืออันตรายใดต่อสังคม ไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้และทราบว่าจะมีขบวนเสด็จใด ๆ ข้อกล่าวหาต่าง ๆ ของโจทก์ในคดีนี้ไม่เป็นความจริง เป็นการใส่ความ และยังขาดหลักฐานยืนยันที่แน่ชัดประกอบกับมีข้อพิรุธเป็นอย่างมาก

.

ผู้กล่าวหาในคดีนี้ คือ อานนท์ กลิ่นแก้ว เป็นกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ซึ่งไม่ชอบและมีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับจำเลยและบุคคลที่เห็นต่างตลอดมา นอกจากนี้ คำเบิกความของผู้กล่าวหาก็มีพิรุธอยู่หลายประการ เนื่องจากผู้กล่าวหาทราบดีว่า เห็นจำเลยใช้โทรโข่งปราศรัยด่าไปทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นคำเบิกความตอบอัยการโจทก์เอง

.

เจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้ตรวจสอบอย่างชัดแจ้ง ไม่ได้ค้นหาความจริงเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลยแต่อย่างใด เพียงแต่เลือกนำเอาหลักฐานพยานมาประกอบกันเพื่อให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดเท่านั้น โดยเรียกพยานซี่งเป็นพวกเดียวกันกับผู้กล่าวหาและเรียกพยานผู้เชี่ยวชาญที่มาเบิกความในคดีมาตรา 112 เพื่อเอาผิดกับจำเลยรายอื่นเป็นประจำ มาทำการสืบสวนสอบสวนประกอบเป็นพยานในคดีนี้ เพื่อทำสำนวนพิสูจน์ทางเดียวว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้สืบสวนสอบสวนเอาไว้เลยว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะเป็นการกล่าวอ้างถึงบุคคลอื่น ทั้ง ๆ ที่โดยสถานการณ์และสภาพแวดล้อม พัฒนาการของเหตุการณ์แต่ละอย่างมีความเป็นไปได้อย่างสูงที่จำเลยจะด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นพิรุธอยู่มาก รวมถึงการรวบรวมสำนวนพยานหลักฐานในคดีก็ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้อธิบายสภาพแวดล้อมและเหตุการณ์ของวันดังกล่าวเลย

สิ่งนี้ปรากฏอยู่ในทางพิจารณาคดีและในคำเบิกความพยาน อาทิ พยานปาก ไชยันต์ ไชยพร ซึ่งในการสืบสวนเกี่ยวกับคดีนี้ เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีความพยายามพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลย มีแต่ต้องการประกอบสำนวนไปในทางที่จำเลยเป็นผู้กระทำความผิด แม้กระทั่งว่าในเหตุการณ์นั้นเกิดอะไรขึ้นก่อนหรือหลังและมีสภาพแวดล้อมความเป็นมาอย่างไร พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้อธิบายพยานผู้เชี่ยวชาญคนดังกล่าว เพียงแต่เอาข้อความบางส่วนมาให้อ่านเท่านั้น 

สอดคล้องกับพยานปาก รัฐธนภักษ์ สุวรรณรัตน์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเอาคลิปมาให้ดูบางส่วน ขีดเส้นใต้สีแดงคำพูดมาให้ดูเท่านั้น โดยพยานไม่ได้ดู ไม่ได้ทราบถึงเหตุการณ์ทั้งหมดหรือโดยรวม

.

โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมายืนยันชัดเจนว่าจำเลยกล่าวถึงใคร มีเพียงแต่คำยืนยันของพยานหลาย ๆ ปากซึ่งมีความคิดเห็นส่วนตัวและไม่ได้รับข้อมูลทั้งหมดหรือมีอคติเท่านั้น กล่าวคือ พยานปากผู้กล่าวหาไม่เป็นกลาง พยานผู้เชี่ยวชาญและพยานแวดล้อมบุคคลทั่วไป ไม่มีใครทราบเหตุการณ์จริงและความเป็นไป ไม่เพียงพอที่จะทำให้ทราบว่าจำเลยหมายถึงใคร และไม่ได้หมายถึงใคร พยานหลักฐานของโจทก์ไม่ชัดแจ้ง ไม่สามารถเอาผิดจำเลยได้

.

ในทางพิจารณาโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์สืบทราบว่าเครื่องขยายเสียงดังกล่าวเป็นเครื่องขยายเสียงที่ใช้กำลังไฟฟ้าที่จะต้องได้รับอนุญาต โทรโข่งนั้นไม่ได้เป็นของจำเลย ไม่มีของกลางในคดี และพนักงานสอบสวนไม่ได้ส่งโทรโข่งไปตรวจพิสูจน์ ปรากฏตามคำเบิกความของ ร.ต.อ.โยธี เสริมสุขต่อ พยานโจทก์ จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ

ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว หากศาลอาญาเชื่อว่า จำเลยกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 และ 9 นั้น ปรากฏชัดเจนว่าการกระทำของจำเลยไม่มีโทษจำคุกแต่อย่างใด ดังนั้นการที่วินิจฉัยลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ จึงเป็นการวินิจฉัยลงโทษจำเลยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และหลักยุติธรรม ข้อวินิจฉัยดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

.

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมถึงหลักการที่วางไว้ศักดิ์สิทธิ์เคร่งครัดในระบอบกฎหมายไทยตลอดมานั้น การลงโทษจำเลยในคดีอาญาจะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าที่จำปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ดังนั้นจะลงโทษทางอาญาต่อบุคคลโดยยังมีข้อสงสัยไม่ได้

ข้ออ้างและพยานหลักฐานของโจทก์ที่มาฟ้องต่อจําเลยนี้ไม่มีมูล ข้อกล่าวหาของโจทก์ในคดีนี้ไม่เป็นความจริงเป็นการใส่ความจําเลย ยังขาดหลักฐานยืนยันที่แน่ชัด ประกอบกับมีข้อพิรุธเป็นอย่างมาก การที่ศาลอาญาเอาเพียงถ้อยคําว่ามีพระนามของพระราชินีสุทิดามาวินิจฉัยว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี จึงเป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนและไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดี

X