วันที่ 24 ส.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาคดีของ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ผู้ถูกกล่าวหาในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565
คดีนี้มีการสืบพยานในระหว่างวันที่ 4-7 ก.ค. 2566 ในวันแรกของการสืบพยาน โสภณยืนยันต่อสู้ว่าการกระทำของตนไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 โดยมีเพื่อน นักกิจกรรม และประชาชนทั่วไปเดินทางมาให้กำลังใจ นอกจากนี้ยังมีประชาชนจากกลุ่มปกป้องสถาบันฯ หลายคนเข้าร่วมสังเกตการณ์คดีด้วย
การสืบพยานจึงเริ่มขึ้น โดยโจทก์นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมดรวม 11 ปาก ในขณะที่ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความ 2 ปาก ได้แก่ จำเลยอ้างตนเป็นพยาน และ สรัช สินธุประมา พยานผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยา
.
อ่านข้อมูลคดีเพิ่มเติม >>> คดี 112 “เก็ท-โสภณ” เหตุ ปราศรัย ใน กิจกรรม #ทัวร์ มู ล่า ผัว พาดพิง ราชินี
.
ทบทวนไทม์ไลน์การถูกจับกุม-ถูกดำเนินคดี
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 เวลา 16.00 น. ในวาระครบรอบ 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ กลุ่ม “มังกรปฏิวัติ” ได้จัดกิจกรรม “ทัวร์มูล่าผัว” โดยจัดทริปเที่ยวหนึ่งวันตามสถานที่สำคัญรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ (ฝ่ายซ้าย) และไหว้พระ ทำบุญ ขอพร ขอผัว ขอเมีย กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (อ่านรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมที่ Mob Data Thailand)
อย่างไรก็ตาม ทัวร์มูล่าผัวได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแนวสกัดกั้น ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถเดินขบวนไปตามสถานที่สำคัญต่างๆ ตามที่วางแผนไว้ได้ และเกิดเหตุการณ์ใช้กำลังผลักดันกันระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุม จนมีผู้ชุมนุมคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ
โสภณจึงปราศรัยผ่านโทรโข่งขนาดเล็ก จากเกาะกลางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยกล่าวพาดพิงถึงการไปทำบุญของพระราชินีสุทิดา และว่ากล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
วันที่ 24 เม.ย. 2565 อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ โดยกล่าวหาว่าโสภณกล่าวถ้อยคำที่ไม่สุภาพและไม่สมควร แสดงให้เห็นถึงเจตนาของผู้ต้องหาที่ต้องการลดคุณค่าของสมเด็จพระราชินีสุทิดาฯ อันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม เป็นการใส่ร้ายทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกเกลียดชัง ซึ่งถือเป็นการดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี
ต่อมาในวันที่ 1 พ.ค. 2565 เวลา 21.20 น. โสภณถูกชุดตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าแสดงหมายจับในคดีตามมาตรา 112 โดยไม่มีหมายเรียกมาก่อน ขณะกำลังเรียกแท็กซี่เพื่อเดินทางออกจากกิจกรรมวันแรงงาน ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร และถูกนำตัวไปยัง สน.สำราญราษฎร์ ก่อนถูกย้ายไปสอบสวนต่อที่กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.)
ในชั้นจับกุม โสภณได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา รวมถึงไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม
วันรุ่งขึ้น (2 พ.ค. 2565) พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เป็นระยะเวลา 12 วัน พร้อมคัดค้านการประกันตัว และต่อมาศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังโสภณ ทนายความจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยขอวางหลักทรัพย์ 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักประกัน
เวลา 15.30 น. ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโสภณ โดยระบุว่า น่าเชื่อว่าหากให้ปล่อยชั่วคราวไป ผู้ต้องหาอาจหลบหนี หรือไปกระทำการในทำนองเดียวกันนี้ หรือก่อภัยอันตรายประการอื่นอีก
ทำให้ขณะนั้น โสภณถูกฝากขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นระยะเวลากว่า 30 วัน ก่อนได้รับการประกันตัว เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2565 พร้อมถูกศาลตั้งเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 พาฝัน สิทธิสาท พนักงานอัยการอาญาพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 10 ได้สั่งฟ้องโสภณใน 2 ข้อหา ได้แก่ ป.อ. มาตรา 112 และใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาต
.
ภาพรวมการสืบพยาน : โจทก์กล่าวหาจำเลยพาดพิงถึง ร.10 – ราชินีสุทิดา ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น ส่วนจำเลยต่อสู้ว่าข้อความที่ปราศรัยไม่ได้กล่าวถึงพระราชินี แต่เป็นการว่ากล่าวตำรวจ
ผู้กล่าวหาระบุผู้ชุมนุมกับตำรวจทะเลาะกัน เพราะตำรวจกักให้อยู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และตลอดเวลาที่ดูไลฟ์สด ไม่ปรากฏว่ามีขบวนเสด็จผ่านมา
อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2565 เวลา 8.00 น.ขณะอยู่บ้าน พยานดูคลิปไลฟ์สดในเพจ เห็นมีกลุ่มผู้ชุมนุมออกมาชุมนุมประมาณ 10 กว่าคน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เดินนำทัวร์ ชื่อ “มูล่าหาผัว”
พยานเบิกความว่า จังหวะที่เดินผู้ชุมนุมมีการปะทะกับตำรวจเป็นช่วงๆ ฝ่ายผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย จึงถอยมาตั้งหลักที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สักพักผู้ชุมนุมเดินเจอรั้วเหล็กของตำรวจ และมีการใช้โทรโข่งปราศรัย โดยโสภณใช้โทรโข่งปราศรัยด่าไปทางตำรวจ
พยานพยายามเบิกความถึงถ้อยคำปราศรัยของโสภณและแสดงความคิดเห็น แต่ศาลกล่าวว่า ขอให้พยานเบิกความตามลำดับ อย่าเอาความรู้สึกเข้ามาเจือปน อย่าเอาความรู้สึกมาตัดสินว่าผิดหรือถูก
พยานเบิกความต่อไปว่า หลังจากดูคลิป พยานได้เข้าไปแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยได้มอบแผ่นซีดีบันทึกภาพเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ดังกล่าวให้กับพนักงานสอบสวนด้วย
พยานเบิกความยืนยันว่า เหตุการณ์ในคลิปเกิดเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 ซึ่งเป็นวันที่พระมหากษัตริย์และพระราชินีเสด็จไปวัดสระเกศ ร่วมงาน “ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์”
ทนายความถามค้าน
พยานเบิกความว่า พยานประกอบอาชีพทำกิจการส่วนตัว รับจ้างตกแต่งภายใน และเป็นประธานกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านคนที่ดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ โดยจะแจ้งความร้องทุกข์ต่อทุกฝ่ายที่ดูหมิ่น จาบจ้วง และล่วงเกินสถาบันกษัตริย์
พยานเบิกความตอบว่า ก่อนเกิดเหตุ พยานไม่เคยรู้จักหรือได้ยินชื่อจำเลยมาก่อน ทราบชื่อเล่นและชื่อจริงของจำเลยในภายหลัง
ทนายความถามว่า พยานเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กชื่อ “อานนท์ กลิ่นแก้ว” หรือไม่ พยานยืนยันว่า ใช่ ทนายความจึงให้ดูโพสต์ของพยานก่อนหน้านี้ 2-3 วัน และถามว่าโพสต์ถึงโสภณใช่หรือไม่ ศาลกล่าวว่า ต่อให้ทนายถามเรื่องนี้ก็ไม่มีผลต่อศาล ทนายความแถลงว่า ต้องถามเพื่อมองว่าพยานมีเจตนาอย่างไร พยานจึงตอบว่า โพสต์ถึงใครก็ได้
ทนายความถามว่า นอกจากคดีนี้ พยานร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีมาตรา 112 กับคนอื่นๆ อีกหลายคนใช่หรือไม่ พยานถามกลับว่า คำถามเกี่ยวกับคดีนี้หรือไม่ ทนายความขอให้พยานตอบคำถาม พยานไม่ตอบ โดยระบุว่าจะตอบแค่ในคดีนี้เท่านั้น
ทนายความเปิดคลิปวิดีโอที่พยานพูดถึงนักกิจกรรมเยาวชนคนหนึ่งให้ดู และถามว่ามีการข่มขู่เยาวชนใช่หรือไม่ พยานตอบว่า พยานได้ไลฟ์สดตามคลิปวิดีโอจริง แต่หมายถึงพวกที่ไม่เคารพกฎหมาย ไม่ยอมรับกระบวนการ ถ้ามีคนมากระทืบหรือทำร้ายจะไม่แจ้งความใช่หรือไม่ ไม่ได้พูดถึงเยาวชน
ทนายความถามว่า พยานเคยทำร้ายผู้เห็นต่าง โดยศาลแขวงดุสิตตัดสินแล้วว่ามีความผิดใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไปจ่ายค่าปรับแล้ว
พยานเบิกความตอบว่า เหตุการณ์ในวันเกิดเหตุจำได้ว่าผู้ชุมนุมมีการปะทะกับตำรวจ พอเดินออกมาก็เจอกับตำรวจอีก จึงเกิดเหตุการณ์อย่างในคลิป โดยผู้ชุมนุมกับตำรวจทะเลาะกัน เพราะตำรวจไม่ยอมให้เดินไปทางเสาชิงช้า กักให้อยู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และพยานได้ยินคำว่า “ตำรวจตระบัดสัตย์”
ทนายความถามว่า มีผู้ชุมนุมถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บใช่หรือไม่ พยานตอบว่า พยานดูช่วงที่มีผู้หญิงล้มลงได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่ได้ดูโดยตลอด ไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ทำร้ายหรือไม่ และผู้ชุมนุมมีประมาณ 10 กว่าคน ส่วนจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมากกว่าหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ
ทนายความถามว่า จุดเกิดเหตุในคดีนี้ห่างจากวัดสระเกศประมาณ 1 กิโลเมตรใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ และตลอดเวลาที่พยานดูไลฟ์สด ไม่ปรากฏว่ามีขบวนเสด็จผ่านมา
พยานเบิกความตอบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้เอาบันทึกถอดเทปให้พยานดู ที่พยานมาเบิกความวันนี้มาจากความทรงจำตอนดูไลฟ์สด ทนายความจึงให้พยานดูเอกสารถอดเทป ศาลไม่อนุญาตให้พยานอ่านข้อความในเอกสาร ทนายความจึงถามว่า จำเลยพูดว่า “ตำรวจตระบัดสัตย์” และ “พวกมึง” จำเลยพูดถึงตำรวจใช่หรือไม่ พยานตอบว่า จำไม่ได้ว่าพูดว่า “พวกมึง” ศาลจึงกล่าวว่า เป็นเรื่องการตีความความหมาย ศาลจะเป็นผู้ตีความเอง
ทนายความถามว่า โสภณพูดตามเอกสารถอดเทปประมาณ 30 นาทีจริงหรือไม่ พยานตอบว่า ส่วนอื่นจำไม่ได้ ยกเว้นในข้อความที่ขีดเส้นใต้ (ถ้อยคำปราศรัยส่วนที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112)
ทนายความถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่าเหตุที่โสภณมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อทำกิจกรรมอะไร พยานตอบว่า จัดกิจกรรมทัวร์ บอกว่าจะไปสถานที่ประวัติศาสตร์ แต่จะไปที่ไหนบ้างนั้น พยานไม่ทราบ
พนักงานอัยการถามติง
พยานเบิกความตอบว่า ส่วนที่จำเลยพูดว่า “จะไปผ่านเสด็จ” พยานจำได้ แต่ขบวนเสด็จอยู่ที่ใดนั้น พยานจำไม่ได้
.
นักวิชาการรัฐศาสตร์ระบุการให้ความเห็นมาจากข้อความที่ขีดเส้นใต้เท่านั้น และหากคำว่า “พวกมึง” หมายถึงตำรวจก็คงไม่เข้าข่ายมาตรา 112
ไชยันต์ ไชยพร ศาสตราจารย์ที่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาการเมืองตะวันตก ประชาธิปไตยตะวันตก ประชาธิปไตยเปรียบเทียบ และสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองสมัยใหม่ เบิกความว่า เกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อมาให้เป็นพยาน
พยานเบิกความว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหนังสือเอกสารหลักฐานมาให้ดูเกี่ยวกับคำพูดที่จำเลยมีต่อรัชกาลที่ 10 และพระราชินี โดยพนักงานสอบสวนส่งเป็นข้อความที่พิมพ์มาแล้วให้ ไม่ได้มีการส่งเทปวิดีโอมาให้ เพื่อให้ช่วยพิจารณาว่าเข้าข่ายมาตรา 112 หรือไม่ พยานพิจารณาแล้ว เห็นว่าเข้าข่ายมาตรา 112
ทนายความถามค้าน
ทนายความถามว่า พนักงานสอบสวนส่งเอกสารถอดเทปให้พยานทั้งหมด หรือส่งเฉพาะข้อความในส่วนที่ขีดเส้นใต้ พยานตอบว่า พนักงานสอบสวนส่งเอกสารเล่าเหตุการณ์ และคำพูดที่ขีดเส้นใต้
พยานเบิกความว่า ตอนสอบปากคำ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้เล่าให้ฟังว่าเกิดเหตุการณ์ผู้ชุมนุมปะทะกับตำรวจ และไม่ได้เล่าว่ามีการด่าทอตำรวจ การให้ความเห็นของพยานมาจากข้อความ 4-5 บรรทัดที่ขีดเส้นใต้เท่านั้น
ทนายความถามว่า จำเลยใช้คำว่า “พวกมึง” และ “เสียตั้งแต่ยอดหอคอย” หากหมายถึงตำรวจก็ไม่เป็นความผิดใช่หรือไม่ ศาลกล่าวว่า ขอให้ถามแค่ความถูกต้องของข้อความเท่านั้น พยานจึงยืนยันว่า ข้อความเป็นไปตามนั้น และหากคำว่า “พวกมึง” หมายถึงตำรวจก็คงไม่เข้าข่ายมาตรา 112
พนักงานอัยการถามติง
พนักงานอัยการถามว่า พยานเข้าใจว่า “พวกมึง” หมายถึงตำรวจหรือไม่ พยานตอบว่า อ่านแล้วคิดว่าหมายถึงในหลวงและพระราชินี อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้ศาลบันทึกว่า พนักงานอัยการไม่ถามติง
.
ประชาชนทั่วไประบุข้อความเป็นการหมิ่นพระบารมีของพระราชินี โดยใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย และทำให้ประชาชนอาฆาตแค้นสถาบันกษัตริย์
รัฐธนภักษ์ สุวรรณรัตน์ ติวเตอร์สอน IC License เบิกความว่า เกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.สำราญราษฎร์ โทรมาขอให้เป็นพยานในคดีมาตรา 112 บอกว่ามีหลักฐานชัดเจน โดยตอนโทรมาแจ้งไม่ได้มีการส่งคลิปหรือเอกสารมาให้ดูก่อน
พยานเบิกความว่า ตอนไปให้ปากคำที่ สน.สำราญราษฎร์ ตำรวจเปิดคลิปให้พยานดู เป็นคลิปนานพอสมควร เนื้อหาหลักคือจำเลยพูดถึงพระราชินีและหมิ่นพระบารมีของพระราชินี
พนักงานอัยการให้พยานดูเอกสารถอดเทป พยานเบิกความว่า เมื่อเห็นคลิปและข้อความ ทำให้เข้าใจว่าเป็นการหมิ่นพระบารมีของพระราชินี โดยใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย และข้อความ “ถ้าท่านเลือกรับใช้สถาบันกษัตริย์ โดยเหยียบหัวประชาชน ท่านก็คือศัตรูของประชาชน” ทำให้ประชาชนอาฆาตแค้นสถาบันกษัตริย์
ทนายความถามค้าน
พยานเบิกความตอบว่า พยานไม่รู้จัก อานนท์ กลิ่นแก้ว และไม่ได้อยู่ในกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน
ก่อนเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีนี้ พยานไม่เคยดูคลิปการปราศรัยของจำเลยมาก่อน ตำรวจเปิดให้ดูเฉพาะส่วนที่เป็นความผิด พยานไม่ได้ดูคลิปในช่วงอื่นๆ และไม่รู้ว่าก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นในที่ชุมนุมบ้าง
พนักงานอัยการไม่ถามติง
.
สี่ตำรวจสืบสวนระบุเหตุที่ตำรวจจัดแนวกั้น 2 จุด ทำให้เกิดการปะทะกัน เนื่องจากได้รับแจ้งว่าผู้ชุมนุมจะเดินไปวัดสระเกศ ส่วนขบวนเสด็จไม่ผ่านอนุสาวรีย์ฯ และเป็นไปตามกำหนดการ
ส.ต.อ.กษิตินาถ น้อยยม, พ.ต.ท.พลเชษฐ์ มาดี และ พ.ต.ท.ภานุพงศ์ จินดาหลวง เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ และ พ.ต.ท.คชภพ คงสมบูรณ์ สารวัตรสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล เบิกความในทำนองเดียวกันว่า วันเกิดเหตุ คือ วันที่ 22 เม.ย. 2565 มีพิธีที่วัดสระเกศ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์และพระราชินีเสด็จไปร่วมงาน “ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” และจากการสืบสวนหาข่าว พบว่ามีเพจเฟซบุ๊ก “มังกรปฏิวัติ” ได้จัดกิจกรรมทัวร์มูล่าผัว โดยนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลา 16.00 น.
ส.ต.อ.กษิตินาถ เบิกความว่า ตนมีหน้าที่สืบสวนหาข่าวในพื้นที่ ในวันเกิดเหตุได้รับมอบหมายให้รักษาความปลอดภัยประจำจุดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ไม่เห็นเหตุการณ์ขณะที่จำเลยปราศรัย และหลังจากนั้น ผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้เป็นผู้ถอดเทปเวลา 16.00 ถึง 18.00 น. (ช่วงเวลาที่มีการปราศรัย) พยานยืนยันว่าในการถอดเทปไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมข้อความจากในคลิปวิดีโอ
พ.ต.ท.พลเชษฐ์ เบิกความว่า ตนมีหน้าที่สืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง ในวันเกิดเหตุ ได้รับมอบหมายหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่วัดสระเกศและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เดินทางระหว่างทั้ง 2 จุดโดยรถจักรยานยนต์ตำรวจ และหลังจากนั้น เป็นผู้จัดทำรายงานการสืบสวน รายงานการถอดเทป ติดตามเฝ้าระวังบุคคล และเป็นหนึ่งในคณะร่วมจับกุมจำเลย
พ.ต.ท.ภานุพงศ์ เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ ตนมีหน้าที่ถวายความปลอดภัยในทางเสด็จและโดยรอบ โดยอยู่ในที่เกิดเหตุและเห็นเหตุการณ์ตลอดเวลา
พ.ต.ท.คชภพ เบิกความว่า ตนมีหน้าที่สืบสวนหาข่าวเพื่อป้องกันทางที่เสด็จ ในวันเกิดเหตุประจำจุดอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและเห็นเหตุการณ์ตลอดเวลา แต่ไม่ได้ยินว่าจำเลยปราศรัยว่าอย่างไร
พ.ต.ท.พลเชษฐ์, พ.ต.ท.คชภพ และ พ.ต.ท.ภานุพงศ์ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ในทางเสด็จมีการจัดกำลังรายทาง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน 2 จุด คือ หน้าหอศิลป์ร่วมสมัย และซอยสำราญราษฎร์ ข้างประตูผี โดยเหตุที่จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ 2 จุดดังกล่าว เนื่องจากได้รับแจ้งว่ากลุ่มจัดกิจกรรมจะเดินทางไปวัดสระเกศ และทั้ง 2 จุดสามารถมุ่งหน้าไปวัดสระเกศได้
พ.ต.ท.พลเชษฐ์, พ.ต.ท.คชภพ และ พ.ต.ท.ภานุพงศ์ เบิกความว่า บริเวณจุดแนวกั้นที่ซอยสำราญราษฎร์ ผู้ชุมนุมพยายามฝ่าแนวกั้นของตำรวจ ในขณะที่ตำรวจต้องการให้ผู้ชุมนุมถอยและยุติการชุมนุม ทำให้เกิดการปะทะกัน มีการขว้างปาสิ่งของ และด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากนั้นมวลชนรวมทั้งจำเลยเดินกลับไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เดินต่อไปทางหอศิลป์ร่วมสมัยและพบแนวกั้นของตำรวจอีก จำเลยจึงปราศรัยผ่านโทรโข่ง
พ.ต.ท.พลเชษฐ์, พ.ต.ท.คชภพ และ พ.ต.ท.ภานุพงศ์ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า เส้นทางขบวนเสด็จนั้น ไม่มีเส้นทางใดผ่านถนนราชดำเนินกลางหรืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขบวนเสด็จเป็นไปตามกำหนดการ หลังจากพระมหากษัตริย์และพระราชินีเสด็จกลับ ผู้ชุมนุมไม่ได้เดินไปในเส้นทางที่มีการปะทะอีก ยังคงชุมนุมอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงแค่เฝ้าระวัง ไม่ได้ห้ามหรือขัดขวาง
พ.ต.ท.ภานุพงศ์ เบิกความว่า ได้ยินจำเลยปราศรัยว่า “ตำรวจตระบัดสัตย์” เข้าใจว่าจำเลยด่าตำรวจเพราะคิดว่าผู้ชุมนุมจะสามารถเข้าไปรับเสด็จได้ แต่ความจริงไม่สามารถทำได้
พ.ต.ท.พลเชษฐ์ เบิกความว่า หลังเกิดเหตุ พนักงานสอบสวนขอหมายจับจำเลยต่อศาล ศาลอนุมัติ เมื่อจำเลยปรากฏตัวที่หอศิลป์กรุงเทพฯ จึงเข้าจับกุมตามหมายจับขณะที่จำเลยอยู่บนรถแท็กซี่ จำเลยเปิดกระจกแง้ม ขอเวลาคุยกับผู้ที่ไว้ใจ หลังจากนั้นมีผู้ไว้วางใจติดตามจำเลยไป สน. สำราญราษฎร์ 1 คน จำเลยยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับ แต่ข้อเท็จจริงอื่นไม่ประสงค์จะให้การ
.
ตำรวจพิสูจน์หลักฐานระบุวิดีโอทั้งสองเป็นภาพเคลื่อนไหวที่อัดหรือสำเนาเทปมาจากแหล่งอื่น ไม่ทราบว่าหากต้นฉบับมีการตัดต่อมาก่อนทำสำเนาจะสามารถตรวจสอบได้หรือไม่
พ.ต.ท.หญิง สมร ดีแสง นักวิทยาศาสตร์ กลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เบิกความว่า ในคดีนี้ได้ตรวจพยานหลักฐานเป็นข้อมูลภาพเคลื่อนไหวในแผ่นซีดี 2 แผ่น โดยทั่วไปจะตรวจสอบความต่อเนื่อง สภาพแวดล้อม เสียงรบกวน เพื่อแยกเสียงในสภาพแวดล้อมว่ามาจากที่เดียวกัน และต้องใช้เครื่องมือตรวจดูว่าคลิปมีการตัดต่อหรือไม่โดยใช้โปรแกรม
พยานเบิกความว่า ผลการตรวจสอบมีความน่าเชื่อถือในระดับนานาชาติ โดยในคดีนี้ได้ตรวจแผ่นซีดีและจัดทำรายงานเอาไว้ตามพยานเอกสาร
ทนายความถามค้าน
พยานเบิกความตอบว่า ทั้งสองเป็นภาพเคลื่อนไหวที่อัดหรือสำเนาเทปมาจากแหล่งอื่น ทนายความถามต่อว่า หากภาพต้นฉบับมีการตัดต่อมาก่อนทำสำเนาจะสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ
ทนายความถามว่า วัตถุพยานแผ่นที่ 1 มีความยาว 25 วินาที แผ่นที่ 2 มีความยาว 32 วินาที ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าถูกต้อง
พนักงานอัยการไม่ถามติง
.
ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตระบุไม่ทราบว่าถ้าเครื่องขยายเสียงนั้นไม่ได้ใช้กำลังไฟฟ้า ก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตตามกฎหมายหรือไม่
อรศรี ผลถาวร ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต สำนักงานเขตพระนคร เบิกความว่า ในการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ต้องขออนุญาตเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยผู้ว่ากรุงเทพฯ ได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการเขตเป็นผู้อนุญาต
พยานเบิกความว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอยู่ในความรับผิดชอบของเขตพระนคร และจากการรายงาน ไม่ปรากฏว่ามีการขอใช้เครื่องขยายเสียงในวันเกิดเหตุ
ทนายความถามค้าน
ทนายความถามว่า ตามกฎกระทรวงมีกำหนดขนาดกำลังไฟฟ้าของเครื่องขยายเสียงต่ำสุดที่ไม่ต้องขออนุญาตหรือไม่ พยานตอบว่า โดยหลักต้องมีการขออนุญาต ไม่มีกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำที่ต้องขออนุญาต และไม่ทราบว่ามีระเบียบหรือกฎกระทรวงที่กำหนดหรือไม่
ทนายความถามว่า ถ้าเครื่องขยายเสียงนั้นไม่ได้ใช้กำลังไฟฟ้า ก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตตามกฎหมายใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ
พนักงานอัยการไม่ถามติง
.
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาระบุถ้อยคำที่พนักงานสอบสวนให้ดูเป็นการคัดถ้อยคำบางส่วน ราชบัณฑิตยสถานไม่สามารถตีความโดยรวม แต่ให้ความหมายในแต่ละคำได้
กุลศิรินทร์ นาคไพจิตร รับราชการอยู่สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เบิกความว่า ราชบัณฑิตยสถานมีหน้าที่ศึกษาการใช้ภาษาไทย ทำให้การใช้ภาษาไทยไม่แปรเปลี่ยน เกี่ยวกับคดีนี้ ได้รับการติดต่อให้มาให้การกับพนักงานสอบสวนในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา
พยานเบิกความว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดูข้อความ แต่ไม่ได้ให้ดูคลิป เป็นข้อความที่ตำรวจคัดลอกมาให้ส่วนหนึ่งตามที่ขีดเส้นใต้ไว้
พยานเบิกความต่อว่า ด้วยอำนาจหน้าที่ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ไม่สามารถตีความความหมายของถ้อยคำ เนื่องจากภาษาไทยต้องอาศัยบริบท ทั้งพฤติกรรมการกระทำ และความนึกคิดของประชาชนด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนต้องเอามาประกอบ ราชบัณฑิตยสถานทำได้แค่ให้ความหมายเป็นคำๆ ตามพจนานุกรม
ทนายความถามค้าน
พยานเบิกความตอบว่า ถ้อยคำที่พนักงานสอบสวนให้ดูเป็นการคัดถ้อยคำบางส่วนของข้อความที่ขีดเส้นใต้ ในเอกสารไม่มีรูปภาพอันใดประกอบ ราชบัณฑิตยสถานไม่สามารถตีความโดยรวม แต่ให้ความหมายในแต่ละคำได้
พยานเบิกความว่า สรรพนามบุรุษที่ 2 หมายถึงบุคคลที่เราพูดด้วย คำว่า “พวกมึง” หรือ “พวก” ก็ต้องอ้างอิงตามความหมายในพจนานุกรมและคำให้การ
พนักงานอัยการถามติง
การสื่อสารอาจแปลได้หลายความหมาย ต้องดูบริบทแวดล้อม ประสบการณ์ อคติ และความรู้สึกของผู้พูดประกอบกัน
.
พนักงานสอบสวนระบุคณะทำงานฯ มีความเห็นส่งอัยการให้สั่งฟ้อง ไม่ทราบว่ารายการถอดเทปไม่ได้ถอดจากแผ่นซีดีที่ส่งตรวจพิสูจน์
ร.ต.อ.โยธี เสริมสุขต่อ พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เบิกความว่า เกี่ยวข้องกับคดีนี้ เนื่องจากเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ โดยเป็นหนึ่งในคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนที่ผู้บังคับบัญชาแต่งตั้ง
พยานเบิกความว่า คดีนี้มี อานนท์ กลิ่นแก้ว มาร้องทุกข์ พยานได้รับหลักฐานเป็นแผ่นซีดี 2 แผ่น ซึ่งเป็นการปราศรัยของจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 112 โดยพยานได้จัดทำบัญชีของกลางและรับมอบของกลาง
หลังจากพยานได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานสืบสวนสอบสวน คณะทำงานฯ ได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งแผ่นซีดีของกลาง และความเห็นของผู้ให้ปากคำ เห็นว่าคดีมีมูล จึงขออนุมัติหมายจับจำเลย และจับกุมจำเลยได้ประมาณเดือนพฤษภาคม ปี 2565
พยานเบิกความต่อว่า หลังการจับกุม ชุดจับกุมนำจำเลยไปที่ สน.สำราญราษฎร์ แต่เนื่องจากมีผู้ชุมนุมตามมาให้กำลังใจเยอะ ผู้บังคับบัญชาจึงให้ไปควบคุมตัวที่กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด พยานได้สอบปากคำจำเลย และในชั้นสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ต่อมาแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ เพิ่มเติม จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
พยานเบิกความว่า คณะทำงานฯ มีความเห็นส่งพนักงานอัยการให้สั่งฟ้องทั้งสองข้อกล่าวหา
ทนายความถามค้าน
พยานเบิกความตอบว่า อานนท์ กลิ่นแก้ว เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 หลายคดี
พยานยืนยันตามเอกสารว่า ในบัญชีของกลางระบุว่ามีแผ่นซีดีจำนวน 3 แผ่น แต่ส่งตรวจพิสูจน์เพียง 2 แผ่น โดยรายการซีดีที่ส่งตรวจแผ่นหนึ่ง 25 วินาที อีกแผ่นหนึ่ง 32 วินาที รวมเพียง 57 วินาที
ทนายความถามว่า รายการถอดเทปคำปราศรัยซึ่งอยู่ในสำนวนการสอบสวนระบุว่า การชุมนุมเริ่ม 16.05 ถึง 18.25 น. การถอดเทปเป็นไปตามระยะเวลาปราศรัย คือ 2 ชั่วโมงเศษ ดังนั้นรายการถอดเทปจึงไม่ได้ถอดจากแผ่นซีดีที่ส่งตรวจใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ
พยานตอบว่า ไม่ได้ส่งโทรโข่งไปตรวจพิสูจน์ว่าใช้กำลังไฟฟ้าหรือไม่ เท่าใด
พนักงานอัยการถามติง
พยานเบิกความตอบว่า แผ่นซีดีที่ส่งตรวจรวม 57 วินาที เป็นช่วงระหว่างที่จำเลยปราศรัย และเหตุที่ไม่ส่งโทรโข่งไปตรวจพิสูจน์เพราะไม่มีการยึดโทรโข่ง
.
จำเลยระบุเห็นว่าพระราชินีจะไปทำบุญ จึงเพียงอ้างอิงนำมาด่าตำรวจ ข้อความที่ปราศรัยไม่ได้กล่าวถึงพระราชินี
โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง จำเลยอ้างตนเป็นพยาน เบิกความว่า ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนหน้านี้จบการศึกษาจากสาขารังสีเทคนิค คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช อยู่ระหว่างทำงานเพิ่มพูนประสบการณ์เพื่อสอบใบประกอบวิชาชีพ
เกี่ยวกับคดีนี้ พยานเห็นว่า มีกิจกรรมในเฟซบุ๊กเพจ “มังกรปฏิวัติ” จัดทัวร์ประวัติศาสตร์ ทราบว่าเป็นการชุมนุมของราษฎร โดยตอนแรกพยานไม่ได้คิดจะเป็นผู้ปราศรัย แค่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมเท่านั้น พยานไม่ได้แชร์โพสต์ดังกล่าว ไม่ใช่แกนนำ และไม่ใช่สมาชิกกลุ่มมังกรปฏิวัติ
วันเกิดเหตุผู้ชุมนุมรวมตัวกันในแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อถึงเวลานัดหมายก็ยังไม่เห็นผู้จัดงาน จนมวลชนเริ่มเยอะและล้นออกมาจากร้าน จึงเห็นคนถือโทรโข่งคอยจัดการการชุมนุม แต่ไม่ทราบว่าใครคือเจ้าของโทรโข่ง เนื่องจากโทรโข่งถูกส่งต่อให้หลายคน พยานเป็นเพียงแค่คนหนึ่งที่ได้จับโทรโข่ง และตอนที่มวลชนมีท่าทีจะปะทะกับตำรวจ พยานเพียงพยายามช่วยเจรจาประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น
พยานไม่ทราบว่าโดยรวมของกิจกรรมจะต้องเดินไปทางใด เพียงแต่เดินไปตามแนวกั้นและคำแนะนำของตำรวจ เมื่อเดินไปซอยสำราญราษฎร์ เจอการปิดล้อมของตำรวจ ตำรวจบอกว่าไปไม่ได้ เนื่องจากอีก 2 ชั่วโมง ขบวนเสด็จจะมา ผู้ชุมนุมจึงเจรจาขอเดินไปก่อนเพื่อลดการปะทะกับตำรวจ แต่ตำรวจไม่ให้ โดยให้ถอยกลับไปทางเดิม หากยังดึงดันเดินต่อจะสลายการชุมนุมและเข้าจับกุม แต่พอผู้ชุมนุมจะถอยหลัง ก็โดนตำรวจควบคุมฝูงชนปิดกรอบด้านหลัง ทำให้เดินไปไหนไม่ได้ เป็นเหตุให้พยานปราศรัยด่าเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า “ตระบัดสัตย์”
พยานเพิ่งทราบว่าจะมีขบวนเสด็จในขณะที่ตำรวจแจ้งว่าจะมีขบวนเสด็จ
พยานเบิกความต่อว่า ที่พาดพิงถึงพระราชินี เพราะเห็นว่าพระราชินีจะไปทำบุญ จึงเพียงอ้างอิงนำมาด่าตำรวจ ข้อความที่ปราศรัยนั้น พยานไม่ได้กล่าวถึงพระราชินี และพระราชินีก็ยังเดินทางมาไม่ถึงที่เกิดเหตุ
พนักงานอัยการถามค้าน
พยานเบิกความตอบว่า วันเกิดเหตุพยานทราบล่วงหน้าว่ามีการชุมนุม จึงเดินทางมาจากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โดยนั่งแท็กซี่มาเพียงคนเดียว และมาถึงก่อนกำหนดการ เมื่อมาถึงจึงเจอคุณลุงคุณป้าที่รู้จักในการชุมนุมมาร่วมกิจกรรม
พยานเบิกความว่า ขณะอยู่ในแมคโดนัลด์ ไม่มีคนแสดงตัวว่าเป็นแกนนำ กิจกรรมเริ่มต้นเพราะมีคนถือโทรโข่งพูดว่า “เราต้องเดินแล้วนะ” พยานไม่มั่นใจว่าใครเป็นคนพูด และไม่แน่ใจว่าเป็นกลุ่มมังกรปฏิวัติหรือไม่ เมื่อเขาแสดงตัวพยานก็เดินตามไป เขาจะเป็นผู้จัดหรือไม่ พยานก็ไม่ทราบ และในการเดินก็มีจังหวะที่พยานเดินนำและเดินตาม
พยานไม่ทราบปลายทางของกิจกรรม คนที่ถือโทรโข่งจะคอยบอกว่าเดินทางไปทางใดบ้าง จุดหนึ่งมีป้อมปราบศัตรูพ่าย แต่พยานจำจุดอื่นไม่ได้ โดยในกิจกรรมจะมีแจกธงและพร็อบเป็นสัญลักษณ์เหมือนทัวร์จีน คนที่ถือธงไม่ได้หมายความว่าเป็นแกนนำ
พยานเบิกความว่า จุดแรกที่เดินไป คือ ถนนที่ตั้งฉากกับถนนดินสอ และปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ซอยสำราญราษฎร์ พยานจึงทราบว่าจะมีขบวนเสด็จของพระราชินีไปทำบุญที่วัดภูเขาทอง แต่จะเป็นงานอะไรนั้น พยานไม่ทราบ
ผู้ชุมนุมเดินตามทางที่ตำรวจแนะนำ แต่จะเป็นทางที่ถูกต้องหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ และขณะที่ตำรวจเอาแผงกั้นออกหลัง 18:00 น. ผู้ชุมนุมก็ไม่ได้เดินไปวัดสระเกศเพราะไม่มีแกนนำ โดยในวันนั้นผู้ชุมนุมไม่ได้เดินไปที่ใดเลย เดินวนไปมาแค่บริเวณถนนดินสอ ถนนราชดำเนิน และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มวลชนสลายตัวประมาณ 18.00 ถึง 19.00 น.
พยานเบิกความว่า ก่อนที่จะเดินกลับไปอนุสาวรีย์ได้ มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ ตำรวจทำร้ายประชาชน ส่วนผู้ชุมนุมปาของใส่ตำรวจควบคุมฝูงชนที่มีเกราะมีโล่ ในขณะที่ประชาชนมือเปล่า
พยานเบิกความรับว่า เป็นสมาชิกของกลุ่ม “โมกหลวงริมน้ำ” แต่วันที่เกิดเหตุไปเป็นมวลชนอิสระ ไม่ได้ไปในฐานะกลุ่ม
ทนายความไม่ถามติง
.
ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาระบุเมื่ออ่านข้อความแล้วเห็นว่าจำเลยด่าตำรวจ โดยดูจากบริบทเท่าที่มีในเอกสาร ไม่ทราบว่าวันนั้นมีขบวนเสด็จ
สรัช สินธุประมา จบการศึกษาระดับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิจัยของสถาบัน 101 Public Policy Think Tank เบิกความว่า มีความเชี่ยวชาญในภาคสังคม การเมือง การลงถนนของประชาชน และการใช้สื่อ
ทนายความถามว่า จากข้อความขีดเส้นใต้ที่ได้ดู พยานเห็นว่าจำเลยด่าใคร พยานตอบว่า เมื่ออ่านข้อความแล้วเห็นว่าด่าตำรวจ โดยดูจากบริบทเท่าที่มีในพยานเอกสาร สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้ชุมนุมมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
พนักงานอัยการถามค้าน
พนักงานอัยการถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่าในวันนั้นมีขบวนเสด็จของพระมหากษัตริย์และพระราชินี พยานตอบว่า ไม่ทราบ ทราบเพียงแค่เท่าที่ปรากฏในเอกสาร
ทนายความไม่ถามติง