31 พ.ค. 2565 ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัว “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 กำหนดระยะเวลา 1 เดือน ภายใต้เงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา ห้ามออกนอกเคหสถานเว้นแต่เพื่อการศึกษา หรือรับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย รวมเขาถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลา 30 วัน
ในคดีนี้ โสภณถูกจับกุมตามหมายจับในช่วงค่ำเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 ในคดีตามมาตรา 112 กรณีปราศรัยในการชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว และถูกฝากขังระหว่างสอบสวนมาตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. เรื่อยมา จนถึงกำหนดฝากขังในผัดที่ 4 เมื่อ 27 พ.ค. 2565 ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ฝากขังอีก 7 วัน แต่ให้มีการไต่สวนคำร้องขอประกันตัวในวันนี้
ในวันนี้ โสภณไม่ได้ถูกเบิกตัวมาร่วมการไต่สวน แต่เข้าร่วมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยเจ้าหน้าที่อ้างถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
เวลา 10.00 น. บรรยากาศในห้องพิจารณาคดี 703 แม่ของโสภณในฐานะผู้ร้องขอประกันตัว ได้เดินทางมาพร้อมพ่อของโสภณ และมีญาติของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์คดีในวันนี้ด้วย
ก่อนการพิจารณาคดี แม่ของโสภณได้ถามไถ่สุขภาพและความเป็นอยู่ของลูกชาย ส่วนพ่อได้กำชับให้เขาดื่มนมและน้ำให้มากในระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ และกล่าวกับเขาว่า “พ่อกับแม่สบายดี ดูแลตัวเองและกินข้าวทุกมื้อ เพื่อรอเก็ทออกมาในวันนี้”
.
แม่แถลงต่อศาลว่าลูกชายตนเป็นผู้ประพฤติดี มีความรับผิดชอบ แต่เงื่อนไขหากให้ติด EM อาจกระทบต่อการประกอบอาชีพ
ศาลได้ขึ้นพิจารณาคดีและเริ่มการไต่สวนประกันตัวในเวลา 10.10 น. โดยแม่โสภณได้ขึ้นเบิกความต่อศาลเป็นคนแรก ระบุว่าตนเป็นผู้เลี้ยงดูลูกตั้งแต่แรกเกิดจนปัจจุบัน อาศัยอยู่ร่วมกันในบ้าน ซึ่งมี พ่อ แม่ ปู่ ย่า และน้องชายของโสภณอยู่ร่วมด้วย
ทั้งนี้ ในระหว่างที่แม่ของโสภณได้แถลงต่อศาล สัญญาณภาพจากวีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ก็ได้หลุดออกไป ต่อมาในเวลา 10.30 น. สัญญาณภาพและเสียงจากการวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ได้กลับมา โดยปรากฏโสภณผ่านจอภาพอีกครั้ง
ทนายความได้ถามต่อแม่ว่า โดยปกติแล้วผู้ต้องหามีนิสัยเป็นอย่างไร แม่ของโสภณได้อธิบายว่า เก็ทเป็นคนเรียบร้อย อ่อนโยน ทำงานบ้านและช่วยเหลือดูแลคุณปู่ คุณย่าอยู่ตลอด ตลอดจนไม่เคยละเลยหมาแมวที่ตนนำมาเลี้ยงไว้ที่บ้าน เขาเป็นคนมีความรับผิดชอบ
ทนายความถามต่อว่า ถ้าศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จะมีเงื่อนไขใดหรือไม่ที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนของลูก โดยแม่ระบุว่า “ไม่อยากให้ติดกำไล EM เพราะจะทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพของเขาได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากตัวเก็ทเรียนวิชาชีพทางการแพทย์ที่มีการเข้าห้องแล็บ และห้องรังสี ซึ่งสัญญาณคลื่นจากกำไล อาจส่งผลต่ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้มีคลื่นรบกวนหรือส่งเสียงร้องตลอดเวลา”
แม่ยังระบุว่า ในการสอบใบประกอบวิชาชีพจะต้องไปสนามสอบ ซึ่งมีการสอบภาคปฏิบัติ หากติดกำไล EM จะทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษาด้วย
อย่างไรก็ตาม ทนายความได้ถามแม่ของโสภณว่าหากศาลกำหนดเงื่อนไขอื่น แม่และพ่อจะสามารถดูแลผู้ต้องหาให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้หรือไม่ แม่ของโสภณก็ได้ตอบชัดเจนว่าสามารถควบคุมกำกับลูกให้อยู่ในเงื่อนไขประการอื่นได้
นอกจากนี้ ศาลได้ถามต่อแม่ของโสภณว่า ถ้าปล่อยตัวออกไปแล้ว ผู้ต้องหาจะมีการไปทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้อีกหรือไม่ แม่ของโสภณได้แถลงต่อว่า “หากลูกได้รับการปล่อยตัว จะบังคับไม่ให้ไปขึ้นเวทีปราศรัยใดๆ อีก และจะมีการกำกับการดูแลอย่างเข้มงวด”
.
พ่อขึ้นเบิกความในฐานะผู้กำกับดูแล ร้องขอให้ลูกได้ทำภารกิจทางการศึกษาให้สำเร็จ
ทนายความได้สอบถามพ่อของโสภณต่อ ในฐานะผู้กำกับดูแล และเป็นทันตแพทย์ โดยให้อธิบายเรื่องเงื่อนไขการติดกำไล EM และการออกนอกเคหสถานที่จะเป็นอุปสรรคต่อภารกิจทางการศึกษา
พ่อของโสภณได้อธิบายว่า ในฐานะที่ตนประกอบวิชาชีพแพทย์ ช่วงนี้คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของแพทย์รังสี โดยในวันที่ 3 – 5 มิ.ย. 2565 นี้ จะมีการบรรยายอบรมเตรียมความพร้อมนักศึกษาแพทย์ของภาควิชารังสีเทคนิค ที่วชิรพยาบาล โดยอาจารย์ที่ปรึกษาจะทำการทบทวนความรู้ให้นักศึกษาแพทย์ได้ไปเตรียมสอบใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ซึ่งอาจารย์ได้ฝากบอกมาว่าหากเก็ทได้ออกไปภายในวันนี้ ขอให้เขามารายงานตัวกับอาจารย์โดยตรงทันที
นอกจากนี้ พ่ออธิบายต่อศาลว่า ในวันที่ 1 – 30 มิ.ย. 2565 จะเป็นช่วงที่นักศึกษาแพทย์จะต้องทำการยื่นใบสมัครเพื่อสอบใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะรังสีเทคนิค ที่กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ หากไม่ยื่นภายในระยะเวลาที่กำหนด จะทำให้ไม่สามารถประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ได้เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งทำให้เสียเวลาและโอกาสการประกอบอาชีพของเก็ทไป
พ่อของโสภณยังแถลงว่า เนื่องจากเก็ทต้องประกอบวิชาชีพในโรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์เยอะ การติดกำไลนั้น เหมือนการตัดแข้งตัดขาในการประกอบอาชีพ และจะเป็นอุปสรรคต่อการวินิจฉัยโรคของผู้ป่วย
“ผมขอความเมตตา เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลน อย่าติดกำไล EM เลยครับ” พ่อของโสภณแถลงต่อศาลด้วยน้ำเสียงสั่นคลอน ก่อนจะพูดต่อว่า “ขอให้ศาลพิจารณาให้เก็ทสามารถเดินทางไปทำงานที่โรงพยาบาลเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้”
ทนายได้ถามพ่อของโสภณต่อว่า หากศาลกำหนดเป็นเงื่อนไขอื่นใด จะสามารถกำกับดูแลให้ลูกอยู่ในเงื่อนไขดังกล่าวได้หรือไม่ พ่อของโสภณได้ตอบว่า “ยืนยันว่าทำได้ ผมไม่อยากให้ลูกอยู่ในแวดวงการเมืองอีกแล้ว อยากให้เขามุ่งมั่นกับการอาชีพทางการแพทย์ที่เรียนมา และจะไม่ให้ไปร่วมกิจกรรมในลักษณะเดียวกันนี้อีก”
นอกจากนี้ศาลได้ถามถึงผู้กำกับดูแลอีกคน ซึ่งเป็นปู่ของโสภณว่าเดินทางมาในวันนี้หรือไม่ พ่อของโสภณแถลงว่าตนเป็นผู้รับมอบฉันทะจากปู่ด้วยในวันนี้ เนื่องจากปู่นั้นอายุมากแล้ว จึงไม่สะดวกในการเดินทางมาเบิกความในศาล
ต่อมาในเวลา 11.10 น. เมื่อเสร็จสิ้นการไต่สวน ศาลได้สอบถามว่า ผู้ร้องและผู้กำกับดูแลมีอะไรจะแถลงเพิ่มเติมหรือไม่ เนื่องจากศาลจะไม่ได้เป็นผู้ตัดสินใจออกคำสั่ง โดยขอให้รอฟังคำสั่งในช่วงบ่ายวันนี้ เนื่องจากต้องนำถ้อยคำแถลงไปปรึกษากับ “ท่านรองฯ” ก่อน
อย่างไรก็ตาม ศาลได้แจ้งว่าจะบันทึกถ้อยคำที่แม่และพ่อของ ตลอดจนเอกสารคำแถลงจากปู่ของโสภณในฐานะผู้กำกับดูแลอีกคน ลงในสำนวนเพื่อทำการปรึกษากับคณะผู้บริหารศาลในวันนี้ด้วย
.
เก็ทเบิกความผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ยืนยันว่ากำไล EM จะเป็นปัญหาต่อการสอบและประกอบวิชาชีพแพทย์รังสี
ในเวลา 13.15 น. ศาลขึ้นพิจารณาคดี โดยให้ผู้ต้องหาได้เบิกความต่อศาลว่าหากได้รับการปล่อยตัวออกไปจะให้คำมั่นต่อศาลได้หรือไม่ว่า จะตั้งใจเรียนและทำเพื่อประโยชน์ของสังคม ซึ่งโสภณได้ยืนยันว่าจะทำตามคำมั่นดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ศาลได้ถามผู้ต้องหาถึงเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถติดกำไล EM ได้คืออะไร โดยโสภณได้อธิบายว่า กำไล EM จะส่งคลื่นและแรงดูดที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวเองได้ โดยเฉพาะในการเข้าห้องแลป หรือห้อง MRI ตลอดจนการทำ CT scan ผู้ป่วย ซึ่งกำไลอาจส่งคลื่นสัญญาณรบกวนผลภาพเอ็กซเรย์ของผู้ป่วยให้ผิดพลาดได้
ทั้งนี้ ศาลได้ถามต่อว่าการกำหนดเวลาออกนอกเคหสถานจะมีผลต่อการประกอบวิชาชีพอย่างไรบ้าง โดยโสภณได้แถลงว่า การทำงานของแพทย์จะมีการออกเวรเป็นกะ ซึ่งจะต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาล ไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ การกำหนดเวลาออกนอกเคหสถานอาจส่งผลให้ไม่สามารถประกอบวิชาชีพหรือช่วยเหลือผู้ป่วยได้
เมื่อผู้ต้องหาได้แถลงจนหมดข้อสงสัย ศาลจึงได้ให้รอฟังคำสั่งต่อไป โดยให้ทนายความและครอบครัวของโสภณลงไปรอฟังคำสั่งที่ห้องงานประกันในชั้นล่างของศาล ก่อนจะตัดการเชื่อมต่อการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไป
ทนายความได้ถามโสภณว่ามีสิ่งใดอยากจะฝากต่อสังคมหรือไม่ หากไม่ได้รับการประกันตัวในวันนี้ โสภณได้เล่าว่าช่วงนี้ตนได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับกาลิเลโอ มีตอนที่เล่าถึงเหตุการณ์ที่ศาสนจักรได้บังคับให้กาลิเลโอถอนคำพูดในหนังสือของเขา ที่บอกว่าโลกกลมนั้นเป็นเรื่องเหลวไหล กาลิเลโอก็ได้กล่าวตามที่ทางศาสนจักรต้องการ โดยพ่วงท้ายว่าถึงอย่างไรเสีย ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกนี้กลม ซึ่งโสภณได้เปรียบมันกับผู้มีอำนาจในสังคมนี้โดยกล่าวว่า “ต่อให้สังคมผู้มีอำนาจจะคิดว่าสังคมมีชนชั้นวรรณะอย่างไรก็ตาม แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์นี้เท่ากันทุกคน”
.
ศาลให้ประกัน ไม่ต้องติด EM แต่ห้ามออกนอกเคหสถาน 24 ชม. เว้นป่วย-เพื่อการศึกษา
ต่อมาเวลา 16.20 น. กว่า 2 ชั่วโมงในการรอฟังคำสั่ง ศาลอาญาได้มีคำสั่งระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีผู้ต้องหายืนยันว่าหากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว จะไม่ไปกระทำการในลักษณะ หรือทำนองเดียวกันในคดีนี้อีก และมารดาของผู้ต้องหาซึ่งเป็นผู้ร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว และบิดาของผู้ต้องหายืนยันในทำนองเดียวกันว่า หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว จะช่วยกันควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด ไม่ให้ผู้ต้องหาไปกระทำการในลักษณะ หรือทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหา
เพียงแต่ขอให้ศาลไม่กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ให้ติดกำไล EM เนื่องจากผู้ต้องหาเรียนคณะแพทย์ศาสตร์รังสี ในการเรียนและประกอบวิชาชีพต้องการเข้าไปในห้องรังสี หากติดกำไล EM ดังกล่าวแล้ว จะทำให้รบกวนห้องรังสีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นอุปสรรคต่อการเรียนและการทำงาน ประกอบกับการสอบใบประกอบโรคศิลป์ ต้องมีการไปฝึกปฏิบัติที่ภาคสนาม ต้องเข้าอบรมต่างๆ ซึ่งไม่สะดวก
คำร้องของปู่ของผู้ต้องหา ยืนยันรับรองว่าเป็นผู้เลี้ยงดูผู้ต้องหามาโดยตลอด ผู้ต้องหาเป็นเด็กมีความตั้งใจเรียน กำลังศึกษาเพื่อประกอบวิชาชีพนักรังสีเทคนิค และตั้งใจต่อเป็นแพทย์ในอนาคต เป็นเด็กนิสัยดี ไม่เกเร หากศาลมีคำสั่งเงื่อนไขใดๆ ในการกำกับดูแลก็จะร่วมกับศาลทุกประการในการดูแลให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด เพราะตนเป็นผู้เชื่อมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทั้งนามสกุลของตนซึ่งเป็นของผู้ต้องหาด้วยนั้น ได้รับพระราชทานมาจากในหลวงรัชกาลที่ 9
จึงเห็นสมควรอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนในชั้นนี้ เป็นระยะเวลาจำกัดก่อนมีกำหนด 1 เดือน นับตั้งแต่วันนี้ ตีราคาประกันในวงเงิน 100,000 บาท ทำสัญญาประกัน โดยกำหนดเงื่อนไขผู้ต้องหา
1. ห้ามกระทำการในลักษณะหรือทำนองเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา รวมถึงห้ามร่วมกิจกรรมใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
2. ห้ามผู้ต้องหากระทำการใดๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
3. ห้ามผู้ต้องหาเดินทางออกนอกราชอาณาจักรฯ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
4. ห้ามผู้ต้องหาออกนอกเคหสถานตลอดระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เว้นแต่เพื่อการศึกษา หรือรับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย โดยได้รับอนุญาตจากศาลล่วงหน้า หากเป็นกรณีเพื่อการศึกษา ให้แสดงหลักฐานโดยมีการรับรองจากสถาบันการศึกษาและอาจารย์ผู้ควบคุมดูแลในแต่ละรายวิชาล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน หากเป็นกรณีให้เหตุเจ็บป่วยให้แสดงหลักฐานทางการแพทย์ ต่อศาลภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ไปพบแพทย์
ศาลยังให้แต่งตั้ง ปู่ บิดา และมารดาของโสภณ ร่วมกันเป็นผู้กำกับดูแล ควบคุมความประพฤติของผู้ต้องหา ตักเตือนและควบคุมให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลโดยเคร่งครัด หากมีการกระทำผิดเงื่อนไข จะถือว่าผู้กำกับดูแลทั้ง 3 ไม่มีความน่าเชื่อถือ ในอันที่จะทำหน้าที่ในการกำกับดูแลผู้ต้องหาอีกต่อไป และถือว่าผู้ร้องปล่อยตัวชั่วคราวผิดสัญญาประกัน แจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทราบ ศาลกำหนดวันนัดรายงานตัวครั้งแรก ในวันที่ 20 มิ.ย. 2565 ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ หลักทรัพย์ประกันตัวในคดีมาจากกองทุนราษฎรประสงค์
.
ในช่วงค่ำ ก่อนการปล่อยตัวโสภณ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.บุปผาราม เดินทางมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เตรียมอายัดตัวในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง เหตุกรณีร่วมปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 บริเวณอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ ทั้งที่คดีนี้ พนักงานสอบสวนได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาต่อโสภณในเรือนจำแล้ว เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 หมายจับจึงควรจะสิ้นผลไป
หลังจากนั้น โสภณได้รอทนายความเดินทางไปถึง โดยในตอนแรก เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าจะนำตัวไปที่ บช.ปส. และอ้างว่าหมายจับที่ออกโดยศาลอาญาธนบุรีนั้นยังไม่สิ้นผล จนหลังการเจรจากับทนายความ ที่ยืนยันว่าหากมีการอายัดตัวต่อ ทางครอบครัวของโสภณเตรียมจะไปแจ้งความดำเนินคดีข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามมาตรา 157 ที่ สน.ประชาชื่น ทำให้ในท้ายที่สุด เจ้าหน้าที่ไม่ได้อายัดตัวต่อ แจ้งว่าจะออกหมายเรียกเพื่อดำเนินการทางคดีต่อไป
เวลา 20.20 น. โสภณจึงได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รวมเวลาถูกคุมขังทั้งหมด 30 วัน
.