ปอท.ค้นบ้าน-จับกุม หนุ่มวัย 31 กล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเพจ “กูkult” โพสต์เสียดสีอดีตกษัตริย์

จับกุมนรินทร์ (สงวนนามสกุล) หนุ่มวัย 30 ในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2),(3),(5) เหตุจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเฟซบุ๊คเพจ “กูkult” 

วานนี้ (21 ก.ย. 2563) เวลา 16.30 น. เจ้าหน้าที่กองบังคับปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)  8 นาย นำโดย พ.ต.ท.ภาคิน ไกรกิตติชาญ เข้าไปแสดงหมายค้นบ้านพักย่านบางซื่อ โดย ร.ต.อ.ชรัส มีล้ำ ซึ่งเป็นตำรวจในเครื่องแบบเพียงนายเดียวเป็นผู้อ่านหมายให้นายนรินทร์ (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี ซึ่งพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวและออกไปพบเจ้าหน้าที่ฟัง โดยระบุว่า เป็นหมายค้นที่ออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 21 ก.ย. 2563 ให้ค้นสถานที่พักอาศัยของนายนรินทร์ ในเวลา 14.30-18.00 น. เพื่อพบและตรวจยึดสิ่งของ เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบได้เร่งให้นรินทร์เปิดประตูบ้านให้เจ้าหน้าที่เข้าไปค้นโดยเร็ว อ้างว่าจะเกินเวลาที่ระบุไว้ในหมาย ระหว่างการแสดงหมายมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนายหนึ่งถ่ายคลิปอยู่ตลอดเวลา ด้านนรินทร์ก็ไลฟ์เฟซบุ๊กเช่นกัน

หลังจากที่เจ้าหน้าที่เข้ามาภายในบ้าน เจ้าหน้าที่ได้พยายามขอยึดโทรศัพท์มือถือที่นรินทร์ใช้ทำการไลฟ์ โดยอ้างว่า พบพยานหลักฐานที่เชื่อว่าจะใช้หรือได้ใช้กระทำความผิดแล้ว จึงขอยึดไว้ก่อน แต่นรินทร์ไม่ยอมให้ยึด เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงหมายจับศาลอาญาที่ 1425/2563 ลงวันที่ 21 ก.ย. 2563 ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และแจ้งว่าจะควบคุมตัวจากบ้านไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อทำการสอบปากคำที่ บก.ปอท. ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ 

ทั้งนี้ ในการเข้าตรวจค้นบ้านพัก เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดสิ่งของทั้งหมด 7 อย่าง ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง แท็บเลท 1 เครื่อง กล้องวงจรปิดและซิมการ์ดกล้องวงจรปิด คอมพิวเตอร์พกพา 3 เครื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในบ้าน แต่ไม่ได้เป็นคอมพิวเตอร์ของนรินทร์  

หลังจากนั้น ราว 17.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวนรินทร์ไปยัง บก.ปอท.ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อไปพบพนักงานสอบสวนและรับทราบข้อกล่าวหา

เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวนรินทร์มาถึง บก.ปอท. ในเวลา 19.00 น. กระบวนการพิมพ์ลายนิ้วมือและรับทราบข้อกล่าวหาเป็นไปอย่างล่าช้า ระหว่างรอการแจ้งข้อกล่าวหา ทนายความได้ยืนยันคัดค้านว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีอำนาจในการตรวจยึดอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์ หากไม่มีคำสั่งอนุญาตจากศาลตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากในการตรวจยึดอุปกรณ์ทั้งหมดมา เจ้าหน้าที่อาศัยเพียงหมายค้นเท่านั้น 

เวลา 21.30 น. ร.ต.อ.หญิง ณัฐชยา วงศ์รุจิไพโรจน์ รอง สว.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. พนักงานสอบสวน ได้แจ้งข้อกล่าวหานายนรินทร์ โดยมีทนายความและญาติเข้าร่วมรับฟัง กล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน “นำเข้าและเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน, นำและเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2),(3),(5) 

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้ระบุพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 พ.ต.ท.แทน ไชยแสง ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. เพื่อร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ใช้บัญชีเพจเฟซบุ๊กชื่อ “กูkult” กรณีพบเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวโพสต์ภาพพร้อมข้อความในลักษณะเสียดสีและโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ในเดือนสิงหาคม 2562 รวม 4 โพสต์ ซึ่งจากการสืบสวนของผู้กล่าวหาพบว่า นายนรินทร์เป็นเจ้าของ/ผู้ดูแลหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเฟซบุ๊กดังกล่าว

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหานรินทร์ โดยนรินทร์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวนรินทร์ไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง ในช่วงคืนวันที่ 21 ก.ย. ก่อนที่ในเช้าวันนี้ (22 ก.ย. 2563)  พนักงานสอบสวนจะนำตัวนรินทร์ไปตรวจพิสูจน์ DNA นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังได้เดินทางไปที่ศาลอาญาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการยึดอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ทั้ง 7 ชิ้นที่ยึดมาแล้วจากที่พักของนรินทร์ และเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18 และ 19 

ต่อมา เวลา 13.45 น. พ.ต.อ.พิเชษฐ์ คำภีรานนท์ ผกก.3 บก.ปอท. พนักงานสอบสวน อ่านคำสั่งศาลที่ 32/2563 อนุญาตให้ทำสำเนาอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ของนายนรินทร์ เพื่อตรวจสอบข้อมูลที่อาจเป็นหลักฐานในการกระทำความผิด รวมทั้งให้นรินทร์ส่งส่งมอบรหัสแก่พนักงานสอบสวน และให้ความร่วมมือในการถอดรหัส 

ส่วนอุปกรณ์ที่เหลือที่ระบุว่าญาติคนอื่นเป็นเจ้าของ ต้องให้เจ้าของอุปกรณ์ที่ระบุไว้มาที่ บก.ปอท. เพื่อดำเนินการให้พนักงานสอบสวน ปอท. อ่านคำสั่งศาลเช่นเดียวกับกรณีของนรินทร์ ถ้าหากพบแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับคดี ให้ญาติทำเรื่องขออุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ดังกล่าวคืน 

ทั้งนี้ พ.ต.อ.พิเชษฐ์ แจ้งว่า วันนี้ยังไม่ได้พิมพ์คำร้องขออำนาจศาลฝากขัง จึงไปยื่นขอฝากขังไม่ทันในวันนี้ แต่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเช้าวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย. 2563) คืนนี้นรินทร์จึงยังถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องขังที่ สน.ทุ่งสองห้องอีก 1 คืน 

เวลา 14.00 น. ญาติที่เป็นเจ้าของอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์มาที่ปอท.เพื่อดำเนินการให้พนักงานสอบสวนกอ.ปอท. อ่านคำสั่งศาลขออนุญาตเข้าถึงอุปกรณอิเลคทรอนิกส์ และขอให้ญาติให้การในฐานะพยาน เพื่อยืนยันว่าอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์เหล่านั้นเป็นของตนจริง เมื่อพนักงานสอบสวนตรวจสอบแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับคดี จะขอให้ญาติทำเรื่องขออุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ดังกล่าวคืน 

เมื่อญาติคนหนึ่งเข้ารหัสโทรศัพท์ พบว่ามีแอพพลิเคชั่น “กล้อง” ซึ่งไม่เคยติดตั้งในโทรศัพท์มาก่อน ทนายจึงให้ญาติให้การต่อท้ายระบุตามข้างต้น

เวลา 18.00 น. พนักงานสอบสวนจึงเริ่มกระบวนการสอบสวน ให้นรินทร์ให้การเพิ่มเติมกรณีหมายศาล โดยผู้ต้องหายืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ตามคำให้การเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 63 และให้การเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำสั่งศาลดังกล่าว เพื่อยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายศาล และยินยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์แล้ว โดยทนายขอให้พนักงานสอบสวนบันทึกในคำให้การว่า “ของกลางดังกล่าวนั้นอยู่ในการครอบครองของเจ้าหน้าที่แล้วตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 63 ก่อนพนักงานสอบสวนจะไปขอหมายศาล” แต่พนักงานสอบสวนอ้างว่า หมายศาลได้ระบุอยู่แล้วว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ร้องขอต่อศาลเพื่ออายัติอุปกรณ์ดังกล่าว ซึ่งสามารถตีความโดยนัยได้ว่า เจ้าหน้าที่ได้ยึดของกลางมาไว้ในครอบครองตามหมายค้นวันที่ 21 ก.ย. 63 แล้วและไม่มีความจำเป็นต้องบันทึกข้อความดังกล่าวลงในคำให้การ อย่างไรก็ตาม สุดท้าย เจ้าหน้าที่ยินยอมให้บันทึกในคำให้การว่า “เจ้าหน้าที่ทำการตรวจยึดอุปกรณ์ของกลางดังกล่าวตามหมายค้นวันที่ 21 ก.ย. 63” 

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการในเวลา 19.00 น. จึงนำตัวนรินทร์ไปฝากขังที่สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อรอนำตัวผู้ต้องหาไปขออนุญาตศาลฝากขังในชั้นสอบสวนในวันพรุ่งนี้

 

(ภาพขณะพงส.กอ.ปอท.นำตัวนรินทร์ไปที่ศาล 23 ก.ย. 63 จาก Banrasdr Photo)

 

วันที่ 23 ก.ย. 63 เวลา 09.20 น.​ ณ ศาลอาญารัชดา พงส.บก.ปอท. นำตัวนรินทร์มาขออำนาจศาลฝากขัง เบื้องต้นครอบครัวเตรียมเช่าหลักทรัพย์เพื่อยื่นประกัน แต่ได้รับการปฏิเสธ อ้างว่าเป็นคดีที่เกี่ยวกับสถาบันฯ จึงยื่นประกันด้วยเงินสดจากความช่วยเหลือของ “กองทุนนิรนาม” แทน ซึ่งก่อตั้งเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง หลังแอคเคาท์ทวิตเตอร์ “นิรนาม” ถูกจับกุมในข้อหาพ.ร.บ.คอมฯ 

พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญา ระบุว่าได้ทำการสอบสวนและควบคุมผู้ต้องหามาโดยตลอดจะครบ 48 ชั่วโมงแล้ว ในวันที่ 23 กันยายน 2563 เวลา 20.00 น. และมีความจำเป็นต้องสอบพยานอีก 4 ปาก รอผลการพิสูจน์อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ และรอตรวจสอบผลพิมพ์มือและประวัติต้องโทษของผู้ต้องหา จึงขอฝากขังผู้ต้องหา โดยมีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. ถึง 4 ต.ค. 63 

หากมีการยื่นขอร้องประกันตัวผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนขอคัดค้านการประกัน เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เกรงว่าถ้าให้ประกันตัวแล้วผู้ต้องหาจะหลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน 

เวลา 12.10 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีเงื่อนไข โดยตีราคาประกัน 100,000 บาท ศาลนัดรายงานตัว 10 พ.ย. 63 เวลา 8.30 น.​ โดยขณะที่นรินทร์กำลังเดินทางออกจากศาลนั้น มีตำรวจในเครื่องแบบ 1 นาย และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 1 นาย ตามถ่ายคลิปและภาพตลอดเวลา รวมไปถึงเลขทะเบียนรถที่นั่งกลับ

*แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563

 

X