4 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ นรินทร์ (สงวนนามสกุล) จำเลยในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ถูกกล่าวหาว่านำสติกเกอร์ “กูkult” ไปติดบนคาดตาบนรูปรัชกาลที่ 10 หน้าศาลฎีการะหว่างที่มีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 ที่สนามหลวง
ในคดีนี้ศาลได้นัดสืบพยานไประหว่างวันที่ 22-24 ก.พ. และ 1 มี.ค. 2565 โดยได้ดำเนินการสืบพยานโจทก์ จำนวน 11 ปาก รวม 3 นัด โดยไม่มีพยานจำเลยเข้าเบิกความแม้แต่ปากเดียว เนื่องจากศาลสั่งตัดพยานนักวิชาการของคู่ความทั้งสองจนหมด เดิมฝั่งจำเลยประสงค์นำพยานจำเลยซึ่งเป็นนักวิชาการเข้าเบิกความในประเด็นต่างๆ ว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นกษัตริย์ จำนวน 3 ปาก และจำเลยอ้างตนเข้าเบิกความ รวมเป็น 4 ปาก เมื่อศาลสั่งตัดพยานนักวิชาการจนหมด จำเลยจึงมีความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเข้าเบิกความ เนื่องจากรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ต่อมาศาลได้นัดฟังคำพิพากษาหลังสืบพยานแล้วเสร็จเพียง 3 วัน เป็นวันนี้ ซึ่งใช้เวลารวดเร็วกว่าปกติ
.
ณ ห้องพิจารณา 710 มีผู้สนใจเข้าร่วมสังเกตการณ์การประมาณ 15 คน ในนี้มีพี่ชายของนรินทร์ รวมถึง “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ เบนจา อะปัญ ได้เดินทางเข้าร่วมฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจนรินทร์ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ศาลไม่อนุญาตให้จดบันทึกคำพิพากษาเช่นเดียวกับการสืบพยานในคดีนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า เกรงว่าหากจดบันทึกไปแล้วจะได้ใจความไม่ครบถ้วน ให้รอคัดถ่ายเอกสารคำพิพากษาจากเจ้าหน้าที่เลยจะดีกว่า
เวลา 09.10 น. ไกษร ไชยวงษ์ ผู้พิพากษาศาลอาญาในคดีนี้ อ่านคำพิพากษาโดยสรุปได้ดังนี้ คดีนี้โจทก์นำสืบพยานเป็นตำรวจที่เกี่ยวข้องกับคดีว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ต่อมาเวลา 19.00 น. ปรากฏภาพสติกเกอร์ “กูkult” ที่พระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 10 ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าประตู 1 ของศาลฎีกา โดยสติกเกอร์ติดที่บริเวณพระเนตร ตำรวจทำการตรวจสอบกล้องวงจรปิด เห็นรูปพรรณสัณฐานการแต่งตัวของผู้ติดสติกเกอร์ทั้งสีของเสื้อและกางเกง และเห็นว่าบุคคลดังกล่าวสวมหมวกปีกไม่กว้างนักและสวมหน้ากากอนามัยสีชมพู เบื้องต้นตำรวจเชื่อว่าผู้ก่อเหตุยังอยู่ในพื้นที่ชุมนุม
วันถัดมาตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุมพบจำเลย ซึ่งมีรูปพรรณสัณฐานและการแต่งกายตรงกับผู้ก่อเหตุตามที่ได้รับแจ้งขณะยืนรอข้ามถนนที่แยกคอกวัวจากฝั่งอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ไปยังถนนตะนาว ตำรวจจึงสะกดรอยตามไป จำเลยเดินหลบเลี่ยงจนล้มลง ตำรวจจึงเข้าแสดงตัว พร้อมเสนอความช่วยเหลือ แต่จำเลยปฏิเสธ จากนั้นจำเลยได้แสดงตัวโดยบอกชื่อและนามสกุลว่าชื่อนรินทร์
ในวันเดียวกัน เวลา 13.00 น. จำเลยเข้าร้องทุกข์ต่อตำรวจ สน.ชนะสงคราม ว่าถูกคุกคามในที่ชุมนุมจนล้มลง จำเลยได้บอกถึงสาเหตุของการถูกคุกคามว่า อาจเป็นเพราะไปก่อเหตุติดสติกเกอร์ที่พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 10 หน้าศาลฎีกา ตำรวจจึงให้จำเลยดูภาพวงจรปิดขณะจำเลยก่อเหตุติดสติกเกอร์ จำเลยได้ยอมรับว่าผู้ก่อเหตุในภาพวงจรปิดดังกล่าวคือจำเลยเอง ตำรวจจึงได้พิมพ์ภาพกล้องวงจรปิดดังกล่าวออกมาและจำเลยได้ลงชื่อยอมรับว่าคือผู้ก่อเหตุติดสติกเกอร์ไว้ในเอกสารดังกล่าว
ศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่นำสติกเกอร์ไปติดที่พระบรมสาทิสลักษณ์ที่ดวงพระเนตรของรัชกาลที่ 10 นั้นเป็นการแสดงว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมีความยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์ เป็นการลบหลู่ ดูหมิ่น จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะไม่ได้เป็นการกระทำต่อตัวกษัตริย์โดยตรง แต่ก็แปลความหมายได้ในลักษณะเดียวกัน
จึงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 3 ปี แต่การไปร้องทุกข์ต่อตำรวจ สน.ชนะสงคราม ของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ให้ลดโทษจำคุก 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
หลังอ่านคำพิพากษา ศาลแจ้งต่อจำเลยและทนายจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาในระยะเวลา 1 เดือน จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลได้สวมกุญแจมือนรินทร์และควบคุมตัวไปยังห้องคุมขังใต้ถุนศาลอาญา ขณะเดียวกันทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวนรินทร์โดยขอใช้หลักทรัพย์ประกันเดิม เป็นหลักทรัพย์ 100,000 บาท จากกองทุนดา ตอร์ปิโด
เวลา 10.58 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนรินทร์โดยใช้หลักทรัพย์และสัญญาประกันตัวเดิม โดยไม่มีเงื่อนไขอื่นๆ ลงนามคำสั่งโดยมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์
จากนั้น เวลา 11.05 น. นรินทร์ได้รับการปล่อยตัวจากห้องขังใต้ถุนศาลอาญา โดยมีมวลชนประมาณ 20-30 คน คอยรอต้อนรับและให้กำลังใจ พร้อมมีประชาชนหลายคนสวมใส่เสื้อที่มีสัญลักษณ์ “กูkult” มาร่วมด้วย
หลังจากนี้ ทนายความจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อไป ด้านคดีของนรินทร์ที่เกี่ยวข้องกับ “กูkult” ยังเหลืออีก 2 คดี ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นสอบสวน โดย 1 ใน 2 คดี ซึ่งถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากถูกกล่าวว่าเป็นแอดมินเฟจเฟซบุ๊ก “กูkult” พนักงานอัยการนัดฟังคำสั่งว่าจะฟ้องต่อศาลหรือไม่ในวันที่ 28 มี.ค. 2565 นี้ ส่วนอีกหนึ่งคดีที่เหลือในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พนักงานอัยการยังไม่ได้มีคำสั่งฟ้องแต่อย่างใด
.
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ศาลให้ประกัน ผู้ถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจ “กูkult” หลังถูกฟ้อง ม.112 เหตุแปะสติกเกอร์คาดตารูป ร.10
รู้จักเพจ “กูkult” แม้ถูกปิด-ถูกจับ แต่ยังดำรงอยู่เมื่อกลายไปเป็น “มีม”