ศาลรอกำหนดโทษ 2 ปี ‘สมาร์ท’ แนวร่วมมธ.ฯ ฐานละเมิดอำนาจศาล เหตุอ่านบทกวีถึงมหาตุลาการ หน้าศาลอาญา

วันนี้ (23 ธ.ค. 64) ที่ ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดอ่านคำพิพากษาในคดีละเมิดอำนาจศาลของ “สมาร์ท” ภัทรพงศ์ น้อยผาง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จากกรณีร่วมชุมนุมและอ่านบทกวีถึงมหาตุลาการ เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวในคดีทางการเมือง บริเวณบันไดศาลอาญา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 64 ศาลได้นัดไต่สวนผู้ที่เกี่ยวข้อง 3 ราย ได้แก่ ชวัลนาถ ทองสม ผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลอาญา ผู้กล่าวหา, พันตำรวจโทศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รอง ผกก.ป.สน.พหลโยธิน ผู้ประกาศแจ้งเตือนให้ยุติการใช้เสียงของผู้ชุมนุม และภัทรพงศ์ ผู้ถูกกล่าวหา และได้นัดอ่านคำพิพากษาในวันนี้

.

ศาลชี้ พฤติการณ์ไม่รุนแรง แต่สร้างความไม่สงบในศาล ให้รอกำหนดโทษ 2 ปี และคุมประพฤติห้ามปฎิบัติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลนี้และศาลอื่น

ที่ ห้องพิจารณา 808

เวลา 10.55 น. ในการฟังคำพิพากษาในวันนี้ ณัฐชนน ไพโรจน์ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และเพื่อนของภัทรพงศ์ ได้ร่วมนั่งฟังและให้กำลังใจภัทรพงศ์ด้วย

สำหรับคำพิพากษานั้น ศาลได้ย้อนอ่านบันทึกการไต่สวนที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้นัดหมายให้มวลชนมาติดตามให้กำลังใจผลการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทางการเมืองในขณะนั้น จำนวน 7 ราย อาทิ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ จัสติน-ชูเกียรติ แสงวงค์ 

ในวันดังกล่าวมีมวลชนราว 300 คน มารวมตัวกันที่หน้าอาคารศาลอาญา โดยในบริเวณดังกล่าว มีตำรวจรักษาการณ์ และมีการวางแผงเหล็กกั้นที่ด้านหน้า

ต่อมา พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กำกับการ สน.พหลโยธิน ได้ออกมาประกาศข้อกฎหมายเกี่ยวกับประกาศกรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดของศาลอาญา โดยอ่านซ้ำอยู่หลายครั้ง แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังฝ่าฝืนและทำกิจกรรมดังกล่าวต่อไป อีกทั้งยังมีการนำเครื่องขยายเสียงขนาดเล็กมาใช้ บางรายได้ฝ่าแนวแผงเหล็กกั้นบริเวณด้านหน้าบันไดทางขึ้นศาล เข้าไปยืนอยู่พื้นที่ด้านใน

ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหารู้จักเป็นการส่วนตัวกับพริษฐ์ เนื่องจากเรียนและทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งยังได้เห็นสภาพของพริษฐ์ที่มาขึ้นศาลในลักษณะนั่งรถเข็นและให้น้ำเกลือ รวมทั้งเขายังทราบข่าวว่าพริษฐ์อดอาหารจนถ่ายเป็นเลือด ผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่าพริษฐ์ไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงออกมาเรียกร้องในวันดังกล่าวด้วย พร้อมได้อ่านตอนหนึ่งของบทกวี “บทกวีถึงมหาตุลาการ” โดยอานนท์ นำภา ผ่านเครื่องขยายเสียง

ต่อมาเมื่อเบนจา อะปัญ ได้ฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ขึ้นไปบนบันไดหน้ามุกศาลอาญา ผู้ถูกกล่าวหาได้เข้าไปในแนวกั้นด้วย โดยระบุว่า เกรงว่าเบนจาจะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว จึงตามไป แต่เมื่อไม่มีการควบคุมตัว ผู้ถูกกล่าวหาก็เพียงแต่เดินชูสามนิ้วออกมา ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรง ก่อนเหตุการณ์จะสงบและกิจกรรมยุติลงในเวลาประมาณ 18.00 น.

ศาลระบุต่อว่า แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะต่อสู้ว่าการกระทำภายใต้การใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ทั้งเนื้อหาบทกวีที่ได้อ่านไม่ได้เป็นการข่มขู่คุกคามศาล เป็นเพียงการเรียกร้องให้ตุลาการปฏิบัติหน้าที่ไปตามทำนองคลองธรรมเท่านั้น รวมไปถึงการต่อสู้ในประเด็นที่ว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อการพิจารณาคดีของศาล ยังมีช่องทางให้ประชาชนและข้าราชการสามารถเข้าไปในอาคารศาลได้ และหากมีประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ต้องการเข้าอาคารศาล หากเดินผ่านผู้ชุมนุมก็จะเปิดทางให้ 

แต่จากการชุมนุมดังกล่าว ศาลพิจารณาว่าเป็นการชุมนุมที่ใช้เสียงอันดัง และมีการใช้เครื่องขยายเสียงในบริเวณศาล รวมถึงการตะโกนว่า “ชนาธิปออกมารับจดหมาย” หลายครั้ง เป็นการส่งเสียงรบกวนการพิจารณาคดี สร้างความเดือดร้อนรำคาญ และความไม่สะดวกให้กับประชาชนที่มาติดต่อราชการ 

ดังนั้น การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แต่ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์เพียงอ่านบทกลอนผ่านเครื่องขยายเสียง ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ทั้งผู้ถูกกล่าวหายังอายุน้อยและอยู่ในระหว่างศึกษา จึงเห็นสมควรให้รอการกำหนดโทษเป็นระยะเวลา 2 ปี และกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ โดยห้ามผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบริเวณศาลนี้และศาลอื่นในทำนองนี้อีก ภายในกำหนดระยะเวลารอการกำหนดโทษนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56

ส่วนประเด็นที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่า การดำเนินคดีทั้งสองในข้อหา ข่มขืนใจเจ้าพนักงานและดูหมิ่นศาลนั้น เป็นการดำเนินคดีซ้ำซ้อนขัดต่อหลักนิติธรรม

ศาลเห็นว่า ไม่เป็นการดำเนินซ้ำซ้อน เนื่องจากความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นมาตรการที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองกระบวนพิจารณาคดี ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการดำเนินคดีอาญา

อนึ่ง คดีละเมิดอำนาจศาลจากเหตุเดียวกันกับภัทรพงศ์ มีนักกิจกรรมถูกตัดสินให้มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลทั้งสิ้น 6 ราย โดยถูกพิพากษาทั้งโทษถูกอัตราสูงสุดและอัตราต่ำของกฎหมาย คือ จำคุก 6 เดือน และการให้รอการกำหนดโทษ พร้อมกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ 2 ปี

.

ภัทรพงศ์ ยังยืนยันการเรียกร้องของปชช. ไม่ได้รบกวนการพิจารณาคดี ทั้งยังหวังว่าเพื่อนที่ถูกคุมขังจะได้ออกมาฉลองปีใหม่

หลังฟังคำพิพากษา ภัทรพงศ์เผยความรู้สึกว่า แม้อัตราโทษที่เขาถูกลงโทษนั้นไม่ได้สูงมาก เนื่องจากพฤติการณ์ไม่ได้ร้ายแรง แต่เขาก็มองว่าไม่มีใครสมควรถูกดำเนินคดีฐานละเมิดอำนาจศาลจากการที่ประชาชนออกมาเรียกร้องความยุติธรรมต่อศาล

พร้อมยืนยันในสิ่งที่ได้ต่อสู้ในศาลว่า เขามาเรียกร้องความยุติธรรมต่อศาล ไม่ได้ขัดขวางหรือก่อความวุ่นวายรบกวนการพิจารณาคดีต่อผู้พิพากษาที่ทำการอยู่ชั้นบนแต่อย่างใด 

นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงต้นเหตุแห่งคดี อย่างการเรียกร้องคืนสิทธิการประกันตัวที่เพื่อนๆ อย่าง “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, เบนจา อะปัญ และนักกิจกรรมคนอื่นๆ ได้กลับเข้าไปเรือนจำอีกครั้งและยังคงไม่ได้รับการประกันตัวนานกว่า 136 วัน ว่าสิทธิดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้ต้องหาควรได้รับ แต่ผู้ต้องขังในคดีการเมืองกลับถูกลิดรอนสิทธินั้นไป ศาลเองก็มิได้ให้สิทธิในการต่อสู้อย่างเต็มที่ ซึ่งไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง โดยเขายังคงหวังว่าเพื่อนๆ จะได้รับความเป็นธรรมบ้าง แม้ในสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้จะทำให้ความหวังนั้นริบหรี่ลงไปไม่น้อย

สุดท้าย ภัทรพงศ์กล่าวว่า ในช่วงสิ้นปี คนทั่วไปมักจะหวังถึงสิ่งดีๆ เมื่อเข้าปีใหม่ สำหรับเพื่อนที่ยังไม่ได้รับการประกันตัวและถูกคุมขังในเรือนจำนั้น เขาหวังเพียงให้เพื่อนได้ออกมาฉลองพร้อมหน้าพร้อมตากับเพื่อนหรือครอบครัวของพวกเขา ถึงแม้จะไม่รู้ว่าผลประกันในวันพรุ่งนี้จะเป็นเช่นไร แต่ยังหวังว่า หากเพื่อนของเขาได้กลับมาจะยังมีแรงกายและใจที่สามารถกลับไปต่อสู้ร่วมกันได้เช่นเดิม

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สถิติคดี “ละเมิดอำนาจศาล-ดูหมิ่นศาล” ปี 2564

กฎหมายละเมิดอำนาจศาลกับหลักนิติรัฐ (ประหาร)

.

X