ไต่สวนละเมิดอำนาจศาล “ภัทรพงศ์” ยันไม่ได้ก่อความวุ่นวายรบกวนการพิจารณาคดี ศาลนัดพิพากษา 23 ธ.ค. นี้

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2564 ศาลอาญา รัชดา มีนัดไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลของ ‘สมาร์ท’ ภัทรพงศ์ น้อยผาง  นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จากกรณีร่วมชุมนุมและปราศรัยเรียกร้องสิทธิประกันตัวในคดีทางการเมืองบริเวณบันไดศาลอาญา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 โดยการไต่สวนเลื่อนมาจากวันที่ 19 ส.ค. 2564 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

บรรยายกาศบริเวณห้องพิจารณา มีการเก็บมือถือผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาและมีตำรวจศาลเฝ้าอยู่หน้าห้องและในห้องราว 5 นาย ในช่วงที่ผ่านมาการไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล ศาลมักจะไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์จดบันทึกในห้องพิจารณา โดยจะให้นั่งฟังได้เพียงอย่างเดียว แต่สำหรับวันนี้ศาลไม่ได้อ่านข้อกำหนดใด

เวลา 10.30 น. ก่อนเริ่มการพิจารณาคดี ศาลได้ถามภัทรพงศ์ ว่าประสงค์ต่อสู้คดีหรือรับสารภาพ ศาลกล่าวว่าองค์คณะได้ปรึกษากันแล้วและไม่ได้ติดใจในเนื้อหาที่ภัทรพงศ์พูดแต่อย่างใด เพียงแต่คดีนี้เป็นเรื่องของการก่อความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่จะมาใช้บริการที่ศาล เนื่องจากภัทรพงศ์ยอมรับอยู่แล้วว่าตนเป็นคนในคลิปหลักฐานที่มีการอ้างส่งมาที่ศาล แต่ในส่วนการกระทำจะยอมรับหรือไม่ว่าได้ใช้เครื่องเสียง ใช้ไมค์และชุมนุมบริเวณหน้ามุกศาล เป็นพฤติกรรมที่ไม่เรียบร้อย และอาจก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่มาใช้บริการ

ศาลให้เวลาปรึกษาทนายความเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้คดี ภัทรพงศ์ได้ออกไปปรึกษากับทนายความที่หน้าห้องพิจารณาประมาณ 15 นาที โดยกล่าวว่า ตนอยากรักษาแนวทางการต่อสู้ที่ยืนยันถึงสิทธิในการแสดงออก หากตนเลือกจะยอมรับว่าการมาเรียกร้องที่ศาลของประชาชน คือการก่อความวุ่นวายรบกวนการพิจารณาคดี ก็จะทำให้มาตรฐานของการแสดงออกของประชาชนตกต่ำลง

ทนายได้แถลงแนวทางสู้คดีว่าในคดีนี้ จำเลยยอมรับว่าเป็นบุคคลตามคลิปที่ถูกกล่าวหา แต่ยืนยันว่าไม่ได้ก่อความไม่สงบเรียบร้อยภายในศาล อีกทั้งจำเลยยังถูก สน.พหลโยธิน แจ้งข้อหาในคดีข่มขืนใจเจ้าพนักงานและดูหมิ่นศาลไปแล้ว การดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาละเมิดอำนาจศาลอีก จึงเป็นการดำเนินคดีซ้ำซ้อน

.

ใช้เครื่องเสียง อ่านบทกลอน เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล

เอกสารคำกล่าวหา ระบุ ภัทรพงศ์ น้อยผาง ได้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มบุคคลบริเวณหน้าบันไดบริเวณทางขึ้น ด้านหน้าศาลอาญา ในลักษณะที่ก่อความวุ่นวาย โดยได้พูดผ่านเครื่องขยายเสียงหันหน้าเข้ามาในศาล สรุปข้อความบางส่วนได้ว่า “ให้อํานาจแล้วอย่าหลงทะนงตน ว่าเป็นคนเหนือคนชี้เป็นตาย เสาหลักต้องเป็นหลักอันศักดิ์สิทธิ์ ใช่ต้องลมเพียงนิดก็ล้มหงาย เสายิ่งสูงใจต้องสูงเด่นท้าทาย เสาหลักต้องเป็นหลักอันเปิด โลกทัศน์ให้ชัดเจน ใช่ซ่อนเร้นอ่านตําราแต่ในหอ ขอบบัลลังก์นั่งเพลิน คําเยินยอ เลือกเหล่ากอ มากองห้อง ทํางาน ตุลาการคือหนึ่งอธิปไตย อันเป็นของคนไทย ไพร่ชาวบ้าน มิใช่ของผู้หนึ่ง ซึ่งดักดาน แต่เป็นตุลาการ ประชาชน ฉะนั้นจึงสํานึกนะ….ใช่ด้านดับมือดับด้วยสับสน” (ข้อความจาก “บทกวีถึงมหาตุลาการ” โดยอานนท์ นำภา)

ทั้งยังได้ร่วมกันตะโกน “ชนาธิปออกมารับ จดหมาย” “ชนาธิปออกมารับจดหมาย” หลายครั้ง และได้อยู่ร่วมกับกลุ่มบุคคลอื่นๆ ในลักษณะก่อให้เกิดความวุ่นวายภายในบริเวณศาล 


.

ผู้กล่าวหายอมรับไม่มีผู้ร้องเรียนว่าได้รับความไม่สะดวกจากการชุมนุมหน้าศาล

ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา ขึ้นเบิกความเป็นคนแรก ในฐานะผู้กล่าวหา ภัทรพงศ์ 

ชวัลนาถ เบิกความว่าเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 ตนได้รับแจ้งเรื่องจาก พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กํากับการ สน.พหลโยธิน ว่าในเวลาประมาณ 12.30 น. มีมวลชนกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ประมาณ 300 คน ได้เชิญชวนกันมาทํากิจกรรมยืนจดหมาย “ราชอยุติธรรม” พร้อมทั้งยืนอ่านกลอน “ตุลาการภิวัติ” ที่ศาลอาญา โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าว ได้รวมตัวกันบริเวณบันไดทางขึ้นด้านหน้าศาลอาญา (บริเวณหน้ามุกศาลอาญา) มีการใช้เครื่องขยายเสียง พร้อมทั้งตะโกนข้อความ “ปล่อยเพื่อนเรา” 

โดยขณะนั้นตน work from home จึงติดตามสถานการณ์ทางโทรศัพท์และไลน์ ก่อนจะเข้ามาที่ศาลในช่วง 16.30 น. ซึ่งช่วงเวลานั้น เหตุการณ์บริเวณศาลสงบแล้ว แต่ยังมีผู้คนชุมนุมอยู่


สำหรับภัทรพงศ์นั้น ตามแผ่นซีดีที่ได้อ้างส่งศาลไป ชวัลนาถเห็นว่าเป็นการก่อให้เกิดความไม่สงบบริเวณศาล โดยภัทรพงศ์มีการฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ขึ้นไปบริเวณศาล ตนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการประพฤติไม่เรียบร้อยบริเวณศาล จึงตั้งเรื่องส่งไปยังอธิบดีศาลอาญาเพื่อพิจารณา

ชวัลนาถ ตอบทนายจำเลยถามค้าน ระบุว่าโดยปกติหากมีคดีของบุคคลที่มีชื่อเสียงก็จะมีมวลชนมาให้กำลังใจอยู่บ้าง แต่ในวันดังกล่าวไม่ได้รับการประสานงานว่าจะมีการมายื่นหนังสือแต่อย่างใด หากได้รับการประสานงานก็จะมีการจัดจุดคัดกรองและจุดพักคอยไว้ โดยปกติหากเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจะมีการเปิดห้องวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ให้ประชาชนได้ฟังการพิจารณา ในวันเกิดเหตุไม่มีการตั้งด่านเนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนถึงความไม่สะดวกในการเดินทางมาใช้บริการที่ศาลอาญา


ชวัลนาถยังได้ตอบทนายจำเลยว่า ขณะมีผู้มาร่วมชุมนุม มีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 8 คดี แต่ไม่มีบุคคลใด ไม่ว่าประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ศาลมาร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุม และไม่มีรายงานว่ามีคดีที่ต้องพักการพิจารณาระหว่างเกิดเหตุ แต่ก็ถือว่าผู้ชุมนุมประพฤติตัวไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เพราะมีการใช้เครื่องขยายเสียงและมีประชาชนมารวมตัวกันบริเวณทางขึ้นบันไดศาล จึงถือเป็นการรบกวนการทำงานและการใช้พื้นที่ศาลโดยสภาพ 

พยานยอมรับว่าในวันดังกล่าวไม่ได้มีการกระทบกระทั่งกันในลักษณะลงไม้ลงมือระหว่างเจ้าหน้าที่ศาลและผู้ชุมนุม มีเพียงการกระทบกระทั่งกันทางวาจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ทั้งนี้ผู้อำนวยการประจำศาลอาญา ยังระบุว่า ตนไม่ทราบเนื้อหาของหนังสือที่กลุ่มประชาชนจะนำมายื่นและในวันดังกล่าวไม่มีตัวแทนของศาลออกมารับหนังสือแต่อย่างใด

.

ตำรวจเบิกความเกิดเหตุการณ์วุ่นวายเพราะประชาชนฝ่าแผงกั้นของศาล

พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กำกับป้องกันและปราบปราม สน.พหลโยธิน ขึ้นเบิกความเป็นพยานปากต่อมา ว่า เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีนี้ เพราะได้รับมอบหมายจาก ผู้กำกับ สน.พหลโยธิน ให้ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยและดูแลสถานการณ์ เนื่องจากฝ่ายสืบสวนของ สน.พหลโยธิน ทราบว่ากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดหมายชุมนุมที่ศาลอาญา ในวันที่ 29 เม.ย. 2564 .

พ.ต.ท.ศักดิ์ชัยเบิกความต่อว่าในเวลาประมาณ 11.00 น. มีผู้หญิงคนหนึ่งอ้างตัวเป็นตัวแทนผู้ชุมนุมเข้ามาประสานงานขอยื่นหนังสือ ทางตำรวจจึงกั้นพื้นที่และประสานให้ยื่นหนังสือที่บริเวณด้านนอกแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ แต่ภายหลังตนไม่สามารถติดต่อผู้ประสานงานคนดังกล่าวได้ และประชาชนเข้ามารวมตัวที่หน้าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ตนคิดว่าน่าจะเป็นการหลอกเจ้าหน้าที่ 

ขณะที่มีการทำกิจกรรม ตนได้ประกาศเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมให้อยู่ภายใต้กฎหมายและข้อกําหนดของศาล และแจ้งให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบเรียบร้อย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ และผู้ชุมนุมยังคงมีการทํากิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ร่วมตะโกนด้วยข้อความต่างๆ อยู่เป็นระยะ มีการพูดผ่านเครื่องขยายเสียงกล่าวโทษศาลยุติธรรมและตุลาการ ทําให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ต่อมามีความวุ่นวายเกิดขึ้นเนื่องจากมีเหตุการณ์ประชาชนวิ่งฝ่าแผงกั้น หนึ่งในนั้นคือภัทรพงศ์ เหตุการณ์ได้สงบลงในเวลาประมาณ 18.00 น. 

พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ได้ตอบคำถามของทนายความจำเลยว่า ทราบจากข่าวว่า ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ อดอาหารจนถ่ายเป็นเลือด และทราบว่าจะมีการมายื่นประกันตัวผู้ต้องหาทางการเมือง แต่ไม่ทราบว่าเพจที่เชิญชวนนั้น ภัทรพงศ์จะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ไม่ทราบว่าแอดมินเพจคือใคร 

ในส่วนของการใช้เครื่องเสียงบริเวณศาลนั้น ตลอดเวลาที่ตนเข้ามารับตำแหน่ง หากมีตนก็จะตักเตือนทุกครั้ง แต่ตนจำไม่ค่อยได้ ว่าเคยมีการใช้เครื่องเสียงบริเวณศาลหรือไม่ และการใช้เครื่องเสียงต้องดูที่เจตนา อาจไม่ได้ใช้เพื่อควบคุมมวลชนเสมอไป 

ในส่วนของความวุ่นวายไม่ได้มีเหตุรุนแรงทางร่างกาย แต่มีการด่าทอตำรวจ และที่ไม่มีการออกมารับหนังสือ เนื่องจากผู้ชุมนุมทำผิดข้อตกลงที่ประสานกันไว้ ด้วยการรุกล้ำแผงกั้น

.

ภัทรพงศ์ยันเดินทางมาร่วมเรียกร้องการประกันตัว เพราะเพื่อนไม่ได้รับความเป็นธรรม

การไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาในช่วงบ่าย เวลา 13.45 น. ก่อนเริ่มเบิกความ ภัทรพงศ์ได้สาบานตน ต่อพระอวโลกิเตศวร พระนาคารชุน และคัมภีร์ปารมิตาสูตร ถ้าหากตนเบิกความตามความสัตย์จริงขอให้ได้อยู่ในพุทธเกษตร หากเบิกความเท็จขอให้เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ 

เมื่อศาลได้ยินดังนั้น ได้ขอให้ภัทรพงศ์สาบานตนแบบปกติ ภัทรพงศ์ตอบว่าตนนับถือพุทธนิกายมหายาน การที่ยังต้องเวียนว่ายในสังสารวัฎถือเป็นเรื่องร้ายแรงแล้ว ท้ายสุดภัทรพงศ์ต้องสาบานตนใหม่ โดยกล่าวเหมือนปกติที่มีการเบิกความ คือหากพูดความจริงขอให้ประสบความสุขความเจริญ หากพูดความเท็จขอให้ไม่พบกับความสุขความเจริญ

เบื้องต้นภัทรพงศ์เบิกความ ยอมรับด้วยว่าตัวเขาคือบุคคลที่ปรากฎในคลิปวิดีโอตามที่ถูกกล่าวหาจริง โดยเขาเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยเขาได้เก็บหน่วยกิจของมหาวิทยาลัยรามคำแหงครบแล้ว เหลือเพียงรอทำเรื่องจบ 

ภัทรพงศ์เบิกความต่อว่า ตนรู้จักพริษฐ์ หรือ “เพนกวิน” เป็นการส่วนตัว เพราะเรียนด้วยกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทำกิจกรรมร่วมกัน และตนยังเป็นเพื่อนกับ “รุ้ง” ปนัสยา ด้วย นอกจากนี้การเป็นจำเลยร่วมกับพริษฐ์จากการร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 ทำให้มีโอกาสได้เห็นสภาพของพริษฐ์ที่มาขึ้นศาลในลักษณะนั่งรถเข็นและให้น้ำเกลือ รวมทั้งเขายังทราบข่าวว่าพริษฐ์อดอาหารจนถ่ายเป็นเลือด ทำให้รู้สึกว่าพริษฐ์ไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร

ภัทรพงศ์เบิกความว่าในวันเกิดเหตุ ตนทราบเรื่องการชุมนุมจากเพื่อนทางโทรศัพท์ว่าจะมีการยื่นหนังสือเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว จึงเดินทางมาร่วม โดยไม่ได้เป็นผู้นำเครื่องเสียงหรืออุปกรณ์อื่นๆ มาแต่อย่างใด 

เมื่อมาถึงศาลในเวลา 13.00 น. ไม่พบแผงกั้นใดๆ และเห็นว่ามีคนมาชุมนุมประมาณ 200 คน  ภัทรพงศ์เบิกความว่าในวันเกิดเหตุ เขาอ่านบทกวีถึงมหาตุลาการซึ่งเป็นกลอนของทนายอานนท์ นำภา มีเนื้อหาสื่อถึงความอยุติธรรมของผู้พิพากษา โดยในบทกลอนไม่ได้มีคำหยาบคายหรือการข่มขู่คุกคามผู้พิพากษา 

สำหรับเรื่องการเข้าไปในเขตรั้วที่กั้นไว้นั้น เนื่องจากเดินตามเบนจาเข้าไปด้วยความเป็นห่วง ว่าเพื่อนจะถูกเจ้าหน้าที่จับตัว เพราะเห็นว่าเบนจาฝ่าเข้าไปในแนวกั้นซึ่งเต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่ เพื่อไปโปรยกระดาษรายชื่อประชาชนที่เรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้จำเลยคดีการเมือง โดยตนเองไม่ได้ใช้กำลังกับเจ้าหน้าที่ และไม่มีการแตะเนื้อต้องตัวซึ่งกันและกันแต่อย่างใด หลังจากนั้นก็ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรอีก เพียงรอฟังผลการประกันตัว เมื่อไม่ได้ประกันตัวก็เดินทางกลับ

ภัทรพงศ์แถลงต่อศาลด้วยว่า โดยปกติแม้ไม่มีการชุมนุมของประชาชน หากวันใดมีคดีการเมืองประชาชนก็ไม่ได้รับความสะดวกอยู่แล้ว เพราะจะต้องมีการกั้นแผง ตั้งโต๊ะตรวจบัตรเสมอ เช่น คดีของตนในวันนี้ และแม้วันเกิดเหตุจะดูเหมือนเหตุการณ์วุ่นวาย แต่ผู้ชุมนุมไม่ได้มีเจตนาจะรบกวนการทำงานของศาล การรวมตัวกันของผู้ชุมนุมออกันเฉพาะบริเวณบันไดศาลด้านหน้า แต่บันไดด้านข้างประชาชนยังสามารถใช้ได้ หรือหากจะมีประชาชนอยากจะเข้าศาลโดยเดินผ่านผู้ชุมนุม ก็เชื่อว่าจะไม่มีการขัดขวางใดๆ 

เดิมในวันนี้ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้เบิกตัว อานนท์ นำภา มาเป็นพยานจำเลย เพื่อให้เบิกความเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในขณะนั้น และเนื้อหาของบทกลอน แต่ศาลให้ตัดพยานออกเนื่องจากเนื้อหาของบทกวีถึงมหาตุลาการ ศาลสามารถอ่านเองได้ และตัวผู้ถูกกล่าวหาก็เบิกความไปก่อนแล้ว และประเด็นเรื่องความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังทางการเมืองไม่ได้เกี่ยวกับคดีนี้ 

ศาลกล่าวว่าจะบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาให้ว่าทนายความประสงค์จะทำการไต่สวนพยาน แต่ศาลไม่อนุญาตให้ไต่สวน อย่างไรก็ตามศาลยังอนุญาตให้เบิกตัวอานนท์ซึ่งถูกนำตัวมาที่ศาลตั้งแต่ช่วงเช้า ในเวลา 14.25 น. โดยอานนท์ถูกนำตัวมาพร้อมผู้คุมจำนวน 3 คน และตำรวจศาล ทำให้ทนายความมีโอกาสได้พูดคุยและแจ้งว่าอานนท์จะไม่ต้องเบิกความในวันนี้ 

หลังเสร็จขั้นตอนการไต่สวน ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 23 ธ.ค. 2564 เวลา 9.00 น. เนื่องจากภัทรพงศ์จะต้องสอบปลายภาคในช่วงต้นและกลางเดือนธันวาคม จึงขอนัดหมายในวันดังกล่าว 

.

X