กันยายน 64: ยอดคดีทางการเมืองพุ่งเฉียด 800 คดีแล้ว ผู้ถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 1,458 คน

เดือนกันยายน 2564 การดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองยังดำเนินไปอย่างร้อนแรง ท่ามกลางสถานการณ์การจับกุมผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุฟ้าและทะลุแก๊ซแทบจะรายวัน การออกหมายเรียกผู้ร่วมชุมนุมในครั้งต่างๆ อย่างต่อเนื่อง การดำเนินคดีจากคาร์ม็อบทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง รวมทั้งคดีมาตรา 112 ที่ยังมีผู้ถูกกล่าวหาอย่างต่อเนื่อง

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,458 คน ในจำนวน 794 คดี  ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดนี้ ยังเป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 223 ราย อีกด้วย

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนบุคคลมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 2,760 ครั้งแล้ว 

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม ทำให้พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 297 คน ใน 173 คดี ในเวลาเพียงเดือนเดียว (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) เป็นเยาวชนที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 80 ราย

.

ส่วนสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 145 คน ในจำนวน 145 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 111 คน ในจำนวน 35 คดี

3. ข้อหา “มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวาย” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 453  คน ในจำนวน 132 คดี

4. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,171 คน ในจำนวน 483 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางการเมือง) แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 24 คดี และคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 459 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 72 คดี

6. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 90 คน ในจำนวน 103 คดี

จากจำนวนคดี 794 คดีดังกล่าว มีจำนวน 114 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เพราะผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล ขณะที่ในจำนวนนี้มี 2 คดี ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง และศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไป 1 คดี

.

แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบในช่วงเดือนกันยายน 2564 นี้ ยังมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

.

.

การจับกุมเหตุดินแดง-นางเลิ้ง ยังเกิดขึ้นแทบรายวัน ยอดผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีรวมกว่า 374 ราย

สถานการณ์การจับกุมผู้ชุมนุมทางการเมืองรายวัน ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากเดือนก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ดินแดง และขยายมายังแยกนางเลิ้ง จากการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าหลายครั้ง ที่พยายามเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล แต่ก็ถูกสกัดกั้นไว้ทุกครั้ง 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในระยะเวลา 30 วันในเดือนกันยายน มีรายงานผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมเกิดขึ้น 19 วัน หรือราว 2 ใน 3 ของรอบเดือน รวมมีผู้ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ไม่น้อยกว่า 269 ราย โดยเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างน้อย 18 ราย เยาวชนอายุ 15-18 ปี อย่างน้อย 60 ราย โดยมีการจับกุมเด็กอายุต่ำสุด 12 ปี 4 เดือน ในจำนวนนี้เป็นการจับกุมตามหมายจับ 25 ราย ที่เหลือเป็นการจับกุมจากการชุมนุมต่างๆ

ผู้ถูกจับกุมที่เป็นเด็กและเยาวชนรวมกันเท่ากับ 78 ราย หรือหากคิดเป็นอัตราส่วน เท่ากับร้อยละ 29 ของผู้ถูกจับกุมเท่าที่ทราบ นั่นคือมีอัตราส่วนใกล้เคียงกับเด็กเยาวชนที่ถูกจับกุมในช่วงเดือนสิงหาคม (ร้อยละ 27.8 ของผู้ถูกจับกุมทั้งหมด) คือ มากกว่า 1 ใน 4 ของทั้งหมด

ในขณะที่ผู้ถูกจับกุมที่เป็นผู้ใหญ่ จำนวนมากก็อยู่ในวัยเกิน 18 ปีมาไม่นานนัก หรืออยู่ในวัย 20 ต้นๆ ขณะที่มีกลุ่มอายุเกิน 60 ปี ถูกจับกุมในเดือนที่ผ่านมา อย่างน้อย 5 ราย

หากนับรวมยอดผู้ถูกจับกุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง บริเวณใกล้เคียง ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. เรื่อยมา และต่อเนื่องมาถึงแยกนางเลิ้ง-ยมราช ระหว่างการชุมนุมที่มีความพยายามเคลื่อนไปทำเนียบรัฐบาล ศูนย์ทนายสิทธิฯ พบว่ามียอดผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีรวมตลอดแล้วอย่างน้อย 374 ราย คิดเป็นคดีที่ถูกกล่าวหา 118 คดี

ในจำนวนผู้ถูกจับกุม แม้แนวโน้มส่วนใหญ่ยังได้รับการประกันตัว แต่ก็มีผู้ที่ศาลไม่ให้ประกันตัวเช่นกัน ได้แก่ นางฮวด (นามสมมติ) หญิงไร้บ้านชาวกัมพูชา จากกรณี #ม็อบ11กันยา ซึ่งมีปัญหาเอกสารในการยืนยันตัวบุคคล, ชิติพัทธ์ ผู้ชุมนุมทะลุแก๊ซ ที่ถูกจับกุมซ้ำสองคน ทำให้ศาลเห็นว่าผิดเงื่อนไขประกันตัว, “นัท” เยาวชนอายุ 16 ปี ที่ถูกจับกุมเหตุเกี่ยวกับการทุบตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจร ที่ไม่มีผู้ปกครองมารับรองการประกันตัว 

.

.

ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดำเนินคดีคาร์ม็อบทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 86 คดีแล้ว

ในเดือนกันยายน สถานการณ์การดำเนินคดีต่อการชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังเป็นไปอย่างเข้มข้น ผู้จัดและผู้ร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ (Car Mob) เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในหลายพื้นที่ยังถูกออกหมายเรียกไปดำเนินคดีต่อเนื่อง โดยในเดือนกันยายนมีคดีจากกรณีคาร์ม็อบเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 14 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่ไม่น้อยกว่า 15 คน โดยมีกิจกรรมในจังหวัดใหม่ๆ ที่ถูกดำเนินคดี ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก, นครพนม, ชลบุรี, นครนายก และสุราษฎร์ธานี

ทำให้ตั้งแต่เริ่มมีการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา มีผู้ถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมลักษณะนี้ไม่น้อยกว่า 201 ราย ใน 86 คดี เป็นคดีในจังหวัดต่างๆ ไม่น้อยกว่า 34 จังหวัดแล้ว 

นอกจากนั้น การชุมนุมโดยสงบซึ่งมีการตั้งเวทีปราศรัย หรือการเดินขบวนของกลุ่มต่างๆ เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังถูกตำรวจจาก สน. ต่างๆ ออกหมายเรียกผู้ปราศรัยหรือผู้ร่วมชุมนุมไปแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะการแจ้งข้อหาต่อผู้ร่วมยืนหยุดขังย้อนไปตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง 5 คดี ซึ่งรวมถึงมารดาของรุ้ง ปนัสยา ที่ร่วมยืนเรียกร้องให้ปล่อยตัวลูกสาวด้วย

การชุมนุมในช่วงต้นเดือนกันยายน ได้มีการออกหมายเรียกดำเนินคดีแทบทั้งหมด ทั้งการชุมนุม “ม็อบ1กันยา” หน้าพรรคพลังประชารัฐ, ชุมนุม “ม็อบ2กันยา ตั้งเวทีไล่ประยุทธ์” ที่แยกอโศก, ชุมนุม “ม็อบ3กันยา ราษฎรไม่ไว้วางใจมึง” ที่แยกราชประสงค์, ชุมนุม “ม็อบ4กันยา ถอนรากระบอบปรสิต” เดินขบวนจากสถานทูตสวิสเซอร์แลนด์ ไปยังสวนลุมพินี, ชุมนุม “ม็อบ5กันยา ไล่ประยุทธ์” ที่แยกอโศก, ชุมนุม “ม็อบ6กันยา ตั้งป้อมค่ายไล่ประยุทธ์” ที่แยกอโศก, ชุมนุม “ม็อบ7กันยา Bike Mob” ที่แยกอโศก และ การชุมนุมโดยกลุ่มทะลุฟ้าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันเดียวกัน

ในส่วนของการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง นอกจากการจับกุมรายวัน ยังมีสถานการณ์ที่ตำรวจทยอยออกหมายเรียกผู้เข้าร่วมชุมนุม ผู้สังเกตการณ์ หรือผู้ไปทำหน้าที่การชุมนุมในที่ดังกล่าวไปแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างต่อเนื่อง โดยบางรายที่ไปติดตามในฐานะหน่วยแพทย์อาสา อย่าง ชาญชัย ปุสรังษี ได้ถูกตำรวจ สน.ดินแดง แจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึง 12 คดี โดยแยกคดีไปจากการเข้าร่วมในแต่ละวัน

การมุ่งใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินของเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีต่อประชาชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะตรงข้ามกับรัฐ ทำให้ปริมาณคดีจากการชุมนุมทางการเมืองพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว นักกิจกรรมหลายคนถูกกล่าวหาหลายสิบคดี อาทิ กรณีของชินวัตร จันทร์กระจ่าง แกนนำราษฎรจากนนทบุรี ที่ถูกกล่าวหาเรื่องการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปรวม 28 คดีแล้ว นับเป็นผู้ถูกกล่าวหาในข้อหานี้มากที่สุดเท่าที่ทราบข้อมูล

.

.

คดี ม.112 เพิ่มเดือนเดียวอีก 19 คดี แกนนำ 4 รายถูกข้อหานี้ ยังไม่ได้ประกันตัว

ในเดือนกันยายน สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอย่างน้อย 21 ราย เป็นคดีใหม่ 19 คดี ทำให้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 145 ราย ใน 145 คดี ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชน 12 ราย

ในเดือนที่ผ่านมา มีผู้ถูกจับกุมในข้อหานี้ไม่น้อยกว่า 11 คน ใน 9 คดี โดยยังเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเผาหรือทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ไม่น้อยกว่า 7 คดี ทั้งคดีปลดรูปที่หน้าชุมชนหมู่บ้านประชาชื่น จังหวัดนนทบุรี, คดีทำลายรูปบริเวณดินแดงระหว่างการชุมนุม, คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่ดินแดง ระหว่าง #ม็อบ12กันยา, คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ หน้ากระทรวงแรงงาน ระหว่าง #ม็อบ14กันยา, คดีเผารูปที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

นอกจากนั้น ยังมีการย้อนแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 ต่อการปราศรัยของนักกิจกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในปี 2563 ทั้งคดีของ “เมนู” สุพิชฌาย์ ชัยลอม จากกรณีปราศรัยในชุมนุม #ม็อบ30พฤศจิกามาหาดใหญ่ ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ทำให้เธอต้องเดินทางจากเชียงใหม่ไปรับทราบข้อหาถึง สภ.หาดใหญ่, คดีของธนกร กรณีปราศรัยในการชุมนุม #คนนนท์ไม่ทนเผด็จการ ตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2563 หลังเคยถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 116 มาก่อน โดยขณะเกิดเหตุยังเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี

ขณะที่คดีจากการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ ก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งคดีที่ บก.ปอท. ของรักชนก ศรีนอก, ของ “อั่งอั๊ง” เยาวชนอายุ 17 ปี และ ของ “นันท์”, คดีที่ สภ.บางแก้ว ของพชร, คดีที่ สภ.บางพลัด ของพัชรพล และโดยเฉพาะคดีของ “ชัยชนะ” ผู้ป่วยจิตเภทจากจังหวัดลำพูน ที่ถูกจับกุมนำตัวเดินทางไกลกว่า 1,800 กิโลเมตร ไปยัง สภ.สุไหงโก-ลก หลังมีประชาชนอีกรายหนึ่งกล่าวหาเขาไว้

รวมทั้งกรณีของอานนท์ นำภา ที่ถูกตำรวจ บก.ปอท. เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาในเรือนจำ ในคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่าโพสต์ตั้งคำถามถึงการบริหารราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ 10 ช่วงต้นปี 2564 นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 14 แล้วที่อานนท์ถูกกล่าวหา

ในส่วนแกนนำที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ทั้ง อานนท์, เพนกวิน, ไผ่ และไมค์ ยังไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวในคดีต่างๆ ทำให้ยังถูกคุมขังในเรือนจำจนถึงปัจจุบัน

.

X