‘ทะลุฟ้า’ ถูกแจ้งฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุม็อบ19-20สิงหา เช่นเดียวกับ ‘ยืนหยุดขัง’ ถูกดำเนินคดี 5 วัน เป็น 5 คดี รวม ‘แม่รุ้ง-ปนัสยา’

วันที่ 22 กันยายน 2564 ประชาชนและนักกิจกรรมทยอยเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาจากการแสดงออกและเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง โดยกิจกรรมจากการจัดขึ้นของกลุ่ม ‘ทะลุฟ้า’ ถูกตำรวจดำเนินคดีด้วยกัน 2 คดี ได้แก่ #ม็อบ19สิงหา ที่ สน.สำราญราษฎร์ และ #ม็อบ20สิงหา ที่ สน.พญาไท 

ขณะที่ประชาชนผู้ถูกกล่าวหาจากเข้าร่วมกิจกรรม ‘ยืนหยุดขัง’ 5 วัน ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ถูกตำรวจแยกดำเนินคดีเป็น 5 คดีตามวันที่จัดกิจกรรม ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ชนะสงคราม รวมไปถึง ‘แม่ของรุ้ง-ปนัสยา’ ด้วย

1. ตร.สำราญราษฎร์ แจ้งข้อหา ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ร่วมชุมนุม-ปราศรัย #ม็อบ19สิงหา ไล่ล่าทรราช ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

ที่ สน.สําราญราษฎร์ เวลา 11.00 น. สมาชิกกลุ่ม ‘ทะลุฟ้า’ และนักกิจกรรมรวม 7 ราย ได้แก่ “ยาใจ” ทรงพล สนธิรักษ์, “คาริม” จิตริน พลาก้านตง, “ไดโน่” นวพล ต้นงาม, พีรพงศ์ เพิ่มพูล, “บอมเบย์” เจษฎาภรณ์ โพธิ์เพชร, “หอย” ธนชัย เอื้อฤาชา และ “ฟิวส์ พีรพล เยาวชนอายุ 16 ปี เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในคดี #ม็อบ19สิงหา ไล่ล่าทรราช เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 64 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยคดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 10 ราย ที่เหลือจะทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป

การรับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ มี ร.ต.อ.โยธี เสริมสุขต่อ รองสารวัตร (สอบสวน) สน.สําราญราษฎร์ เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แก่ผู้ต้องหา โดยสรุประบุว่าเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 64 กลุ่มผู้ต้องหาได้มาร่วมกิจกรรมชุมนุม “#ม็อบ19สิงหา ไล่ล่าทรราช” จากการโพสต์เชิญชวนของเพจเฟซบุ๊ก “Thalifah-ทะลุฟ้า” โดยมีวัตถุประสงค์ต่อต้านการบริหารงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 15.45 น. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีผู้ชุมนุมนําผ้าสีดําขึ้นไปคลุมพานรัฐธรรมนูญ และมีการผูกป้ายข้อความว่า “ทรราชในคราบ(คนดี)” มีการนําแผงเหล็กมาวางปิดกั้นการจราจรบนถนนราชดําเนินกลาง และมีการนํารถกระบะบรรทุกเครื่องขยายเสียง 3 คัน ขับมาจอดในพื้นที่ที่ผู้ชุมนุมทําการปิดกั้นถนนดังกล่าว ทําให้รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติ

เวลา 17.35 น. รองผู้กํากับการป้องกันและปราบปราม สน.สําราญราษฎร์ได้ทําการประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมยังคงทําการชุมนุมต่อไป และมีการนํากองฟางมาวางเรียงบนถนน พร้อมทั้งนําภาพคณะรัฐบาลมาวางกองไว้กับกองฟางและจุดไฟเผา ทําให้ถนนได้รับความเสียหาย ก่อนจะประกาศยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 19.05 น. 

พนักงานสอบสวนระบุว่า กิจกรรมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 80 คน ซึ่งเป็นการแออัด ก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจเป็นต้นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาด และไม่ได้มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง จากสํานักงานเขตหรือเจ้าหน้าที่ในการจัดกิจกรรม นอกจากนั้นผู้จัดการชุมนุมยังไม่ได้จัดให้มีมาตรการในการป้องกันโรคติดต่อ ไม่มีการเว้นระยะห่างให้เกิดความปลอดภัย 

พนักงานสอบสวนระบุอีกว่า ผู้ต้องหาแต่ละคนมีพฤติการณ์กระทําผิดต่างกันไป เช่น การเป็นผู้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน, การเป็นผู้กล่าวปราศรัย, การเป็นพิธีกรดำเนินรายการ

พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหา ได้แก่ ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกําหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ ตามมาตรา 385, ร่วมกันกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.การจราจรฯ และร่วมกันติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ 

สำหรับ นวพลและพีรพงศ์ ยังถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ได้แก่ ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีการรวมกันมากกว่า 5 คนในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, ฝ่าฝืนประกาศ กทม. เรื่อง สั่งปิดสถานที่ชั่วคราว และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต 

ส่วนคนอื่นๆ ยกเว้นจิตริน ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

ผู้ต้องหาทั้ง 7 รายให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือ ภายในวันที่ 11 ต.ค. 64 และพนักงานสอบสวนได้นัดหมายส่งตัวผู้ต้องหาให้พนักงานอัยการ ในวันที่ 15 ต.ค. 64

ในส่วนของ “ฟิวส์” พีรพล ซึ่งเป็นเยาวชน ยังถูกพนักงานสอบสวนนำตัวไปศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อขอให้ศาลออกหมายควบคุมตัว โดยศาลได้อนุมัติตามคำขอของพนักงานสอบสวน และอนุญาตให้ประกันตัวพีรพล โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ 

ทั้งนี้ #ม็อบ19สิงหา ของกลุ่มทะลุฟ้า มีการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น นำผ้าดำคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเผาหุ่นจำลองคณะรัฐมนตรี ประกอบกับการปราศรัยวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่ล้มเหลว เพื่อสื่อสารถึงเหตุผลของการออกมาขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะประกาศยุติการชุมนุม หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าพื้นที่และใช้ถังดับเพลิงฉีดสารควบคุมไม่ให้เพลิงลุกไหม้บริเวณท้องถนนที่ผู้ชุมนุมมีการเผาหุ่นจำลองคณะรัฐมนตรีบนกองฟาง

2. ตร.แจ้งข้อหา 4 สมาชิก ‘ทะลุฟ้า’ เหตุ #ม็อบ20สิงหา ยื่นหนังสือให้ 3 สถานทูตร้องเรียนปมจัดสรรวัคซีนโควิดไม่โปร่งใส 

ที่ สน.พญาไท เวลาประมาณ 11.00 น. นักกิจกรรม สมาชิกกลุ่ม ‘ทะลุฟ้า’ 4 คน ได้แก่ “พีค” วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์, “ยาใจ” ทรงพล สนธิรักษ์, “ไดโน่” นวพล ต้นงาม และ “เตอร์” ภูริภูมิ แสนสุข เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในคดี #ม็อบ20สิงหา หรือ ‘คาร์ม็อบสัญจรยื่นหนังสือทะลุโลก เปิดโปงทรราชให้ต่างชาติได้รับรู้’ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มทะลุฟ้า เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 64  โดยคดีนี้มีรายงานผู้ถูกออกหมายเรียก 7 ราย

ร.ต.อ.อรุณ สืบสิงห์ รอง สว. (สอบสวน) สน.พญาไท ได้แจ้งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่กล่าวหาแก่ทั้ง 4 ราย โดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 64 เพจเฟซบุ๊ก “Thalifah-ทะลุฟ้า” ประกาศจัดกิจกรรม #ม็อบ20สิงหา “คาร์ม็อบ สัญจรยื่นหนังสือทะลุโลก เปิดโปงทรราชให้ต่างชาติได้รับรู้” 

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ส.ค 64 เวลา ประมาณ 10.30 น. ได้ตั้งขบวนที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นําโดย ‘นายทรงพล สนธิรักษ์’ กับพวก มีการปราศรัยอยู่บริเวณเกาะพญาไท โดยกล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมในครั้งนี้คือ การยื่นหนังสือให้กับสถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์, สหรัฐอเมริกา และจีน เกี่ยวกับการทํางานของรัฐบาล 

กิจกรรมดังกล่าวมีรถเครื่องขยายเสียง 1 คัน, รถจักรยานยนต์ ประมาณ 30 คัน, รถยนต์ประมาณ 20 คัน และผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 50 คน ต่อมาเวลาประมาณ 11.20 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มเคลื่อนขบวนจากเกาะพญาไทมายังถนนพญาไท และเคลื่อนขบวนไปยังสถานทูตทั้งสามแห่ง ก่อนจะเสร็จสิ้นกิจกรรมที่บริเวณสถานทูตจีนประจำประเทศไทย

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหากับทั้งสี่ราย ในข้อหา “ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีการรวมกันมากกว่า 5 คน ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และร่วมกันชุมนุมหรือทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคําสั่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด”

ผู้ต้องหาทั้งสี่รายให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และยังได้เขียนข้อความแทนการลงลายมือชื่อในบันทึกข้อกล่าวหาอีกด้วยว่า ‘ประยุทธ์ออกไป’ และ ‘กฎหมายหรือกฎหมาย ’ โดยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 6 ต.ค. 64 และพนักงานสอบสวนได้นัดส่งสำนวนให้พนักงานอัยการในวันที่ 8 ต.ค. 64

ทั้งนี้ #ม็อบ20สิงหา ถูกจัดขึ้นโดยกลุ่ม ‘ทะลุฟ้า’ เพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาลไทยที่ไม่โปร่งใส โดยได้ส่งมอบหนังสือดังกล่าวให้กับ 3 สถานทูตต่างชาติที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ ซึ่งได้แก่ สถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ กรณีจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์, สถานทูตสหรัฐฯ กรณีไทยได้รับบริจาควัคซีนไฟเซอร์ แต่บุคลากรด่านหน้าจำนวนมากไม่ได้ฉีด และจีน กรณีสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคที่ไม่สามารถป้องกันของโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้ โดยกิจกรรมดังกล่าวได้เริ่มเคลื่อนขบวนจากเกาะพญาไท ไปยังสถานทูตทั้งสามแห่งและสิ้นสุดกิจกรรมที่สถานทูตจีน

3. ตร.ชนะสงคราม แจ้งข้อหา 12 ปชช. เหตุร่วม ‘ยืนหยุดขัง’ หน้าศาลฎีกา 5 วัน เป็น 5 คดี รวม ‘แม่รุ้ง-ปนัสยา’ ด้วย

ที่ สน.ชนะสงคราม เวลาประมาณ 11.00 น. ประชาชน 11 ราย เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในคดีร่วมทำกิจกรรม ‘ยืนหยุดขัง’ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมือง ที่บริเวณด้านหน้าศาลฎีกา โดยตำรวจได้แบ่งดำเนินคดีกับผู้ต้องหาเป็น 5 คดี ตามวันที่จัดกิจกรรมทั้ง 5 วัน ได้แก่ วันที่ 18, 19, 26, 27 และ 28 เม.ย. 64 

ผู้ต้องหาที่เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ได้แก่ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ, บารมี ชัยรัตน์, มัทนา อัจจิมา, ศิริ นิลพฤกษ์, นภัสสร บุญรีย์, วรัญชัย โชคชนะ, เจษฎา ศรีปลั่ง, ชลธิศ โชติสวัสดิ์, ชนินทร์ วงษ์ศรี  และสิรภพ อัตโตหิ รวมถึง สุริยา สิทธิจิรวัฒนกุล แม่ของ ‘รุ้ง’ ปนัสยา แกนนำราษฎรด้วย

ทั้ง 5 คดี มีผู้ถูกดำเนินรวมทั้งสิ้น 12 ราย แต่ในวันนี้ ไพศาล จันปาน ไม่สามารถได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาได้ เนื่องจากผลตรวจพบว่า ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาออกไปก่อน 

ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ได้แบ่งดำเนินคดีตามวันที่จัดกิจกรรม รวมเป็น 5 คดี โดยมีพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และไพศาล จันปาน ที่ถูกกล่าวหาในทั้ง 5 คดี ดังนี้

ยืนหยุดขัง 18 เม.ย. ในคดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาด้วยกันทั้งหมด 7 ราย ได้แก่ พันธ์ศักดิ์, บารมี, มัทนา, ศิริ, ไพศาล, นภัสสร และวรัญชัย 

ยืนหยุดขัง 19 เม.ย. มีผู้ถูกกล่าวหาด้วยกันทั้งหมด 5 ราย ได้แก่ พันธ์ศักดิ์, บารมี , มัทนา, ศิริ และไพศาล 

ยืนหยุดขัง 26 เม.ย. มีผู้ถูกกล่าวหาด้วยกันทั้งหมด 5 ราย ได้แก่ พันธ์ศักดิ์, มัทนา, ไพศาล, บารมี และเจษฎา 

ยืนหยุดขัง 27 เม.ย. มีผู้ถูกกล่าวหาด้วยกันทั้งหมด 2 ราย ได้แก่ พันธ์ศักดิ์ และไพศาล 

ยืนหยุดขัง 28 เม.ย. มีผู้ถูกกล่าวหาด้วยกันทั้งหมด 8 ราย ได้แก่ พันธ์ศักดิ์, สุริยา, ชลธิศ, ชนินทร์, มัทนา, ไพศาล, ศิริ และสิรภพ

พ.ต.ท.พิษณุ เกิดทอง รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ชนะสงคราม เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ในคดี โดยกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 18, 19, 26, 27 และ 28 เม.ย. 64 กลุ่มพลเมืองโต้กลับ นําโดย ‘พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ’ ได้จัดกิจกรรมด้วยการแขวนป้ายผู้ต้องขังระหว่างรอพิจารณาคดี เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที โดยมีชื่อกิจกรรมว่า “ยืนหยุดขัง” ที่บริเวณศาลฎีกา เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมือง 

ในวันที่ 18 เม.ย. มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จํานวน 160 คน ในวันที่ 19 เม.ย. มีผู้เข้าร่วม จํานวน 80 คน ในวันที่ 26 เม.ย มีผู้เข้าร่วม จํานวน 80 คน ในวันที่ 27 เม.ย. มีผู้เข้าร่วม จํานวน 70 คน และในวันที่ 28 เม.ย. มีผู้เข้าร่วม จํานวน 50 คน เจ้าหน้าที่ตํารวจได้สืบสวนพบผู้ต้องหาตามที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาในแต่ละคดี

ข้อกล่าวหาอ้างว่า กิจกรรม ‘ยืนหยุดขัง’ เป็นการจัดกิจกรรมที่ขัดต่อข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 เนื่องจากมีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 50 คน มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคติดต่อ คือ ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย, ไม่เว้นระยะห่าง และมีผู้เข้าร่วมเกินกว่าข้อกําหนด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาทั้ง 11 ราย ในความผิดฐาน “ร่วมกันฝ่าฝืนประกาศข้อกําหนด ฉบับที่ 15 ข้อ 3 ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมในสถานที่แออัด หรือยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย, ร่วมกันฝ่าฝืนประกาศข้อกําหนด ฉบับที่ 20 ข้อ 1 (2) เรื่อง ห้ามการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มกันมากกว่า 50 คน และร่วมกันฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เรื่อง ห้ามมิให้มีการชุมนุมที่มีความแออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19”

ผู้ต้องทั้ง 11 ราย ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะส่งคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 12 ต.ค. 64 

ทั้งนี้ กิจกรรม ‘ยืนหยุดขัง’ จากการจัดขึ้นของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ มีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองที่ทยอยถูกคุมขัง โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว เริ่มต้นจัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 64 โดยเป็นการยืนเฉยๆ เป็นเวลา 1.12 ชั่วโมง และมีการเว้นระยะห่างของผู้เข้าร่วมระหว่างยืนด้วย 

X