วันที่ 17 กันยายน 2564 ทนายความได้เดินทางไปทัณฑหญิงกลางเพื่อขอเข้าเยี่ยม “นางฮวด” (นามสมมุติ) หญิงไร้บ้านชาวกัมพูชา วัย 53 ปี ผู้ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ชุมนุม #ม็อบ11กันยา บริเวณดินแดง โดยเธอยืนยันว่าขณะนั้นเธอออกมาหาอาหารเพื่อประทังชีวิตเท่านั้น ไม่ได้มาเข้าร่วมชุมนุมแต่อย่างใด
ในคืนของวันที่ 11 ก.ย. 64 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) ได้กวาดจับประชาชน ผู้ชุมนุม และผู้ที่อยู่ในพื้นที่บริเวณแยกดินแดง รวมกว่า 77 คน ซึ่งในจำนวนนั้นอย่างน้อย 43 ราย เป็นประชาชนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการชุมนุมในวันนั้น รวมถึงนางฮวดด้วย
หลังเธอถูก คฝ. เข้าจับกุมบริเวณประตูน้ำ เธอถูกพาตัวไปควบคุมไว้ที่ สน.ดินแดงเพื่อทำบันทึกจับกุมและรับทราบข้อกล่าวหา รวมถึงอยู่ในห้องขังรวมกับผู้ถูกจับในเหตุการณ์เดียวกัน ที่ สน. ดินแดงหนึ่งคืนเพราะเป็นวันหยุดทำการ พนักงานสอบสวนไม่สามารถนำทั้งหมดไปฝากขังต่อศาลได้ ก่อนในวันจันทร์ ที่ 13 ก.ย. 64 พนักงานสอบสวนจึงยื่นคำร้องขอฝากขังเธอพร้อมกับผู้ต้องหาคนอื่นๆ ในคดีนี้ต่อศาลอาญา โดยศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันผู้ต้องหาทั้งหมด ยกเว้นเธอและชัย (นามสมมุติ) ชายลูกครึ่งไทย-กัมพูชา ผู้ไร้สถานะทางทะเบียน ด้วยให้เหตุผลว่า
“ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไปมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาทั้งสองจะหลบหนี”
เธอจึงถูกย้ายจาก สน.ดินแดง ไปยังทัณฑสถานหญิงกลางตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย. 64 จนถึงปัจจุบัน ด้านนายชัยได้รับการประกันตัวแล้ว หลังทนายความเข้ายื่นขอประกันตัวชัยอีกครั้ง ทำให้ขณะนี้ ณ วันที่ 18 ก.ย. เหลือนางฮวดเพียงคนเดียวที่ยังคงถูกคุมขังและไม่ได้รับการประกันตัวชั่วคราว ระหว่างการสอบสวน จากเหตุการณ์ #ม็อบ11กันยา
.
การเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาในเวลาไม่ถึง 5 นาที
ที่เต็มไปด้วยอุปสรรค
‘เรือนจำไม่พร้อม-ห้ามใช้ล่ามส่วนตัว-พื้นที่อับสัญญาณ’
.
วานนี้ทนายความได้ไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ของทัณฑหญิงกลางเพื่อขอเข้าเยี่ยมนางฮวดเป็นครั้งแรก ตั้งแต่เวลาประมาณ 13.00 น. แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธการให้เข้าพบ โดยอ้างเหตุผลตามมาตรการที่ต้องให้ผู้ต้องขังใหม่กักกันโรคเพื่อเฝ้าระวังอาการติดเชื้อโควิด-19 เป็นเวลา 21 วัน เจ้าหน้าที่บอกกับทนายความว่าช่วยเหลือได้เพียงการเป็นตัวกลางนำใบแต่งตั้งทนายความเข้าไปให้นางฮวดเซ็นและนำกลับออกมาให้เท่านั้น
ด้านทนายความยืนยันว่า ต้องการเข้าพบนางฮวดผ่านระบบคอนเฟอร์เรนซ์ด้วย ซึ่งสามารถทำได้แม้ผู้ต้องหาจะถูกกักกันโรคอยู่ก็ตามเพื่อให้นางฮวดสามารถปรึกษาคดีความกับทนายความตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่ถูกคุมขัง จากเหตุการณ์ที่ชลมุนและข้อขัดข้องในเรื่องสถานะของเธอ การเข้าเยี่ยมในครั้งนี้จึงเป็นสิทธิของผู้ต้องหาเองที่จะสามารถพบทนายความได้ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้กลับไปปรึกษาหารือกันกับผู้บังคับบัญชาอีกครั้ง รวมนานกว่า 3 ชั่วโมง ก่อนจะอนุญาตให้ทนายความสามารถเข้าพบฮวดได้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ทนายความให้ข้อสังเกต ว่าเวลาประมาณ 15.30 น. นี้ใกล้กับเวลาที่ทางเรือนจำกำหนดให้เป็นเวลาขึ้นเรือนนอนและนับจำนวนผู้ต้องขังแล้ว อาจมีเวลาไม่เพียงพอในการพูดคุยได้
วานนี้ ทนายความได้เตรียม “ล่ามแปลภาษากัมพูชา” มา ด้วย เพราะนางฮวดเป็นคนกัมพูชาสื่อสารด้วยภาษากัมพูชาเท่านั้น ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ แต่เจ้าหน้าที่เรือนจำปฏิเสธไม่อนุญาตให้ทนายความนำล่ามที่จัดเตรียมมาเข้าพบฮวดได้ แต่ยืนยันให้ใช้ล่ามของเรือนจำแทน
เวลาประมาณ 15.30 น. เจ้าหน้าที่ให้ทนายความติดต่อกับนางฮวดที่อยู่ภายในเรือนจำผ่านการ Video Call ทางแอพพลิเคชันไลน์ โดยให้ทนายความใช้โทรศัพท์มือถือส่วนตัวโทรเข้าไปยังโทรศัพท์มือถือของเรือนจำที่อยู่กับนางฮวด ทำให้ทนายความพบข้อขัดข้องว่า แบตเตอรี่ในโทรศัพท์มือถือของตนขณะนั้นเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ทนายความเข้าใจว่าแนวทางปฏิบัติกรมราชทัณฑ์การเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาที่เรือนจำ ทางเรือนจำจะเป็นผู้รับผิดชอบเตรียมอุปกรณ์และระบบสื่อสารให้กับทนายความ ญาติ หรือผู้ที่ต้องการเข้าพบผู้ต้องหาเองทั้งหมด แต่เมื่อเกิดเหตุความจำเป็นเหมือนเมื่อวานนี้ ทนายความจึงจำใจต้องใช้โทรศัพท์ที่มีแบตเตอรี่เท่าที่มีในการสนทนากับนางฮวดในเวลา 10 นาทีไปก่อน ตามที่เจ้าหน้าที่ของเรือนจำได้กำหนดไว้
ทนายความเริ่มต้นวิดีโอคอล เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งสองฝั่ง แต่ทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มพูดคุยกับนางฮวดก็ดูเหมือนว่าในบริเวณนั้นจะค่อนข้างอับสัญญาณ ทนายความจึงต้องพยายามเดินหาจุดที่มีสัญญาณดีที่สุดในภายในห้องเยี่ยม
และแล้ว นางฮวดก็ปรากฏตัวในชุดป้องกันสารคัดหลั่ง (PPE) สีขาวคลุมมิดตั้งแต่หัวจรดเท้า สวมหน้ากากอนามัยและหน้ากากใสคลุมหน้าอีกชั้น ทำให้การสนทนาดำเนินไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากชุดและอุปกรณ์ที่นางฮวดสวมใส่อยู่นั้นมิดชิดมาก จนทำให้ล่ามของเรือนจำแทบจะไม่ได้ยินเสียงของเธอ อีกทั้งล่ามเองแปลประโยคสนทนาของนางฮวดกับทนายความอย่างยากลำบาก ส่งผลให้การให้คำปรึกษาเกิดความสะดุดในหลายครั้ง เนื่องจากล่ามไม่เคยชินกับศัพท์และภาษาทางกฎหมาย
ในเรื่องนี้ทนายกล่าวว่า หากเรือนจำอนุญาตให้ใช้ล่ามที่ทนายความเตรียมมาเองจะทำให้การพูดคุยได้ความและกระชับเหมาะสมกับเวลา เพราะล่ามที่ทนายความเตรียมมาด้วยนั้น มีประสบการณ์ในการทำงานด้านกฎหมายมาก่อน จึงเข้าใจบริบทของภาษากฎหมายเป็นอย่างดี
การสนทนาที่ดำเนินไปด้วยอุปสรรคหลายประการนี้ ทนายความจับใจความโดยสรุปได้เพียงว่า
“นางฮวดเป็นคนกัมพูชา เธอเป็นคนไร้บ้าน ขณะที่ถูกจับกุมเธอเดินออกมาหาอาหารทาน ไม่ได้ไปเข้าร่วมการชุมนุมในพื้นที่นั้นแต่อย่างใด และขณะนี้เธอเป็นผู้แสวงหาที่พักพิงในประเทศใหม่เท่านั้น”
ด้านคดีความ ทนายความถามถึงช่วงที่ถูก เจ้าหน้าที่ คฝ. จับกุมเธอได้ต่อสู้ขัดขืนหรือไม่ เพราะเธอถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 และมาตรา 140 ข้อหา “ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีอาวุธ หรือร่วมกันกระทำตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป” นางฮวดตอบกลับว่า
“เธอไม่ได้ต่อสู้หรือทำอะไรตำรวจเลย มีแต่ตำรวจที่เป็นฝ่ายกระทำเธอ”
นางฮวด (นามสมมุติ)
ทนายความไม่ทันได้ขยายความเหตุการณ์จับกุมและความเป็นอยู่ของเธอมากไปกว่านี้ เพราะแบตเตอรี่ในโทรศัพท์มือถือของทนายความหมดลงแล้ว รวมแล้วทนายความได้พูดคุยไม่ถึง 5 นาทีกับฮวด และใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงครึ่งในการรอให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อนุญาตและเตรียมการของทัณฑหญิงกลาง
.
อ่านเพิ่มเติม:
เปิดเรื่องราวผู้ต้องขัง #ม็อบ28กุมภา “แซม สาแมท” ชายไร้สัญชาติที่ออกมาสู้เพื่อความเท่าเทียม
.