25 ม.ค. 2565 เวลา 13.00 น. ที่ สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง นักกิจกรรมและประชาชน 4 ราย ได้แก่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, เจษฎา ศรีปลั่ง จากเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี, ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ จากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ และเพลง ทัพมาลัย นายกองค์การบริหารองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เดินทางไปรับข้อกล่าวหา ‘ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ’ จากการจัดกิจกรรมเพื่อยื่นหนังสือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ต่อสหประชาชาติ ที่บริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2564
ในคดีนี้ยังมี “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา และ “เจน” สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของ ‘“ต้าร์” วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกตำรวจออกหมายเรียกอีกสองราย ซึ่งจะเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป
พ.ต.ท.สําเนียง โสธร รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง ได้แจ้งพฤติการณ์ในคดีว่า ก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตํารวจได้ตรวจพบว่า เพจเฟซบุ๊ก “กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย” ได้โพสต์เชิญชวนประชาชนให้เข้าร่วมกิจกรรม ที่บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) ในวันที่ 10 ธ.ค. 2564 เวลา 11.00 น. เพื่อยื่นหนังสือต่อสหประชาชาติ
ต่อมาตามวันและเวลานัดหมาย เวลาประมาณ 10.40 น. ผู้ต้องหากับพวกได้รวมตัวกันชุมนุมจัดกิจกรรม โดยมีกลุ่มมวลชนเข้าร่วม จํานวน 15 คน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยื่นหนังสือต่อสหประชาชาติ (UN) “ประจานรัฐบาล กระทําต่อกลุ่มจะนะ และสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ดําเนินคดี 112 ต่อเยาวชน ฯลฯ เรียกร้องนานาชาติกดดันรัฐบาลด้วยมาตรการ Social Sanction” และมีการแจกใบปลิวให้กับผู้ที่มาร่วมชุมนุม รวมถึงการชูป้ายริมเกาะกลางถนน
ต่อมาเวลา 11.00 น. แกนนําได้อ่านแถลงการณ์วัตถุประสงค์ของการทํากิจกรรม และได้ผลัดเปลี่ยนกันปราศรัย เรื่องบุคคลที่ถูกบังคับสูญหายไปในประเทศกัมพูชา แต่ไม่มีความคืบหน้า เรียกร้องความยุติธรรมให้กับนักโทษทางการเมือง รวมถึงเรียกร้องให้ UN และต่างชาติ เรียกร้องความยุติธรรมให้ผู้เสียหายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม
พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ต่อทั้ง 4 คน โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายใน 20 วัน ตำรวจได้นัดหมายเพื่อส่งสำนวนคดีให้อัยการต่อไปในวันที่ 17 ก.พ. 2565
ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมเพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อ UN ที่นำโดยกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2564 นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเข้ายื่นหนังสือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เช่น กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ‘ปฏิรูปเท่ากับล้มล้าง’, กสทช. ปิดกั้นเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับคณะราษฎร, การกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นและสหภาพแรงงานไทรอัมพ์, การบังคับสูญหายผู้ลี้ภัยการเมือง, การดำเนิคดี ม.112 กับเยาวชน, การใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม ฯลฯ โดยกลุ่มผู้เข้ายื่นหนังสือได้ร้องเรียกให้นานาชาติกดดันรัฐบาลไทยด้วยมาตรการ Social Sanction อีกด้วย
กิจกรรมในวันดังกล่าว มีการปราศรัยในประเด็นต่างๆ การอ่านแถลงการณ์เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรม การชูป้ายรณรงค์และเรียกร้องความเป็นธรรม รวมถึงการเข้ายื่นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย โดยกิจกรรมทั้งหมดเริ่มต้นและเสร็จสิ้นในเวลา 1 ชั่วโมงเศษ โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 15 คนเท่านั้น
ก่อนหน้านี้คดีในลักษณะเดียวกัน ในกรณีที่มีผู้ทำกิจกรรมถือป้ายและเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับการถูกบังคับสูญหายของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่สถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2563 นั้น พนักงานอัยการเคยมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีรวม 2 คดี ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นี้มาแล้ว เนื่องจากเห็นว่ากิจกรรมไม่ได้มีความแออัด ไม่ได้เสี่ยงต่อการระบาดของโรคโควิด-19 และไม่ได้มีความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้นจากกิจกรรม