เยาวชน 3 ราย ถูกแจ้งข้อหา “ดูหมิ่นศาล-ม.215” เหตุร่วม #ม็อบ2พฤษภา หน้าศาลอาญา ตร.ยังนำตัวไปขอควบคุมที่ศาลเยาวชนฯ ก่อนได้ประกัน

*แก้ไขล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 64

23 มิ.ย. 64 เวลา 10.00 น. ที่ สถานีตำรวจนครพหลโยธิน เยาวชน 3 ราย  เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกผู้ต้องหาลงวันที่ 8 มิ.ย. 64   ในฐานความผิด 6 ข้อกล่าวหา ทั้งร่วมกันดูหมิ่นศาล จนถึงร่วมกันมั่วสุมให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จากกรณีร่วมกิจกรรมแห่คาราวานและปามะเขือเทศ-ไข่หน้าป้ายศาลอาญา เรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังการเมือง หรือ #ม็อบ2พฤษภา ที่หน้าศาลอาญารัชดา เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 64 ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มรีเด็ม (REDEM) โดยหมายเรียกระบุว่า คดีนี้มี พ.ต.ท.เดชา พรมโสภา เป็นผู้กล่าวหา

มูลเหตุแห่งคดีสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 64 กลุ่มรีเด็ม (REDEM) ได้จัดคาราวานเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อทำกิจกรรมปามะเขือเทศ-ไข่หน้าป้ายศาลอาญา เรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกคุมขังที่เรือนจำ ก่อนเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้ใช้กำลังเข้าสลายการรวมตัวของกลุ่มบุคคลที่หลงเหลือหลังรีเด็มประกาศยุติการชุมนุม โดยได้มีการจับกุมบุคคลรวม 4 ราย เป็นเยาวชนชาย 1 ราย แจ้งข้อหาร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ ร่วมกันทำลายทรัพย์สินผู้อื่น, มั่วสุมเกิน 10 คน และฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ

ย้อนอ่านรายละเอียดเหตุการณ์ สลายชุมนุมหน้าศาลอาญา จับ-แจ้งข้อหา 4 ประชาชนกลุ่มสุดท้ายที่ออกจากพื้นที่ #ม็อบ2พฤษภา ก่อนศาลไม่ให้ประกัน 2 ราย

 

ตร.แจ้ง 6 ข้อหา “ร่วมกันดูหมิ่นศาล-ม.215”

สำหรับเยาวชนทั้งสามราย สองรายอายุ 17 ปี เป็นผู้ที่เคยถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองมาก่อนหน้านี้ ได้แก่ “ภูมิ” ศศลักษณ์ และ “ณัฐ” ขณะที่อีกหนึ่งรายเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี ที่ยังไม่เคยถูกดำเนินคดีทางการเมืองมาก่อน ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมกับทนายความและผู้ปกครอง

พ.ต.ต.กิตติศักดิ์ จูสกุลวิจิตร์ สารวัตร (สอบสวน) สน.พหลโยธิน ได้บรรยายพฤติการณ์คดีว่า ก่อนเกิดเหตุ พนักงานอัยการสํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ได้ยื่นฟ้อง นายพริษฐ์ หรือ เพนกวิน ชิวารักษ์ ต่อศาลอาญา ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ด้วยข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา และข้อหาอื่นๆ อีก 9 ข้อหา เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 64 และศาลได้ออกหมายขังนายพริษฐ์ ไว้ ณ เรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้น มารดาของพริษฐ์ได้ยื่นคําร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวหลายครั้ง ศาลได้พิจารณาแล้วไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว 

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 64 กลุ่มเยาวชนปลดแอก ได้โพสต์ข้อความในเพจ เยาวชนปลดแอก (Free Youth) นัดหมายให้เดินทางมาร่วมชุมนุม เพื่อกดดันในเรื่องเดิม คือ ให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวจําเลย ที่หน้าศาลอาญา ในวันที่ 2 พ.ค. 64 

เมื่อถึงวันนัดหมายได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 500 คน ได้มารวมตัวกันบริเวณหน้าศาลอาญา มีการทํากิจกรรมนําภาพถ่ายของผู้พิพากษาซึ่งทําหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวมาปิดไว้ที่ป้ายชื่อหน้าศาล และนำน้ำสีและของเหลวสีแดงเทราดป้ายของศาลและภาพของผู้พิพากษา และยังยิงหนังสติ๊ก ขว้างปาไข่ มะเขือเทศ ขยะ ก้อน หิน และสิ่งของต่างๆ เข้ามาในบริเวณศาล และตะโกนเรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวจําเลย 

ทั้งยังมีการเปิดเครื่องขยายเสียง มีถ้อยคํากล่าวหาผู้พิพากษาผู้ทําหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่าเป็น “ฆาตกร” พร้อมนําข้อมูลส่วนตัวของผู้พิพากษา เช่น บุคคลในครอบครัว ถิ่นที่อยู่ ประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบ 

อีกทั้งในการรวมตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมนี้ได้มารวมตัวกันในขณะที่มีประกาศกรุงเทพมหานคร ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจํานวนมากกว่ายี่สิบคนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการชุมนุมดังกล่าวยังเป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นบนทางเท้าหรือทางใดๆ ซึ่งจัดไว้สําหรับคนเดินเท้าในลักษณะที่เป็นการกีดขวาง ผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร 

จากพฤติการณ์และการกระทําดังกล่าวมาแล้วข้างต้น พนักงานสอบสวนถือเป็นการกระทําความผิด จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา ทั้งหมด 6 ข้อหา ได้แก่

  1. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณา 
  2. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคสอง ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้กระทําผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ
  3. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทําความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป แต่ผู้กระทําไม่เลิกมั่วสุม 
  4. ร่วมกันชุมนุมหรือจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนที่แออัดเกินกว่ายี่สิบคน โดยไม่ได้รับอนุญาตในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อ ฝ่าฝืนข้อกำหนด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
  5. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 
  6. ร่วมกันกระทําด้วยประการใดๆ บนทางเท้าหรือทางใดๆ ซึ่งจัดไว้สําหรับคนเดินเท้าในลักษณะที่เป็นการกีดขวางผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือ ภายใน 30 วัน  

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการ พนักงานสอบสวนได้นำตัวทั้งสามคนไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสามไว้ในระหว่างสอบสวน แม้ทั้งสามคนจะมารับทราบข้อหาตามหมายเรียกก็ตาม แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีเหตุที่จะขอออกหมายควบคุมผู้ต้องหาไว้ 

ก่อนที่ศาลเยาวชนฯ จะให้ออกหมายควบคุม แต่มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสามคน โดยไม่ต้องวางเงินประกัน พร้อมนัดหมายให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 30 มิ.ย. 64

ทั้งนี้นอกจากในคดีนี้ ยังมีเยาวชนที่ได้รับหมายเรียกอีกหนึ่งราย แต่มีการนัดหมายเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในช่วงเดือนกรกฎาคมต่อไป ทำให้รวมมีเยาวชนถูกดำเนินคดีเพิ่มในกรณี #ม็อบ2พฤษภา อีก 4 ราย

ก่อนหน้านี้ ศาลอาญายังมีการออกหมายจับกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 64 ที่เป็นผู้ใหญ่อีก รวม 13 ราย ซึ่งทั้งหมดได้เดินทางเข้ารายงานตัวและรับทราบข้อกล่าวหา “ดูหมิ่นศาล” และข้อหาอื่นๆ ไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค. แล้ว ทำให้ในปีนี้ มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหา “ดูหมิ่นศาล” จากสถานการณ์ทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 24 คน ใน 4 คดี

13 ผู้ชุมนุม REDEM – “สมยศ” เข้ามอบตัว เหตุร่วมชุมนุมหน้าศาลอาญา ก่อนศาลให้ประกัน แต่ต้องติด EM 30 วัน – จำกัดการเดินทาง

สถิติคดี “ละเมิดอำนาจศาล-ดูหมิ่นศาล” ปี 2564

.

.

เยาวชนอีก 1 รายรับทราบข้อหา “ดูหมิ่นศาล” ก่อนถูกออกหมายควบคุมตัว แต่ได้ประกันในวงเงิน 7,000 บาท

*อัพเดตเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 64

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 64 “ปลื้ม” (นามสมมุติ) เยาวชนอีก 1 รายได้เดินทางไปรับทราบข้อหาหลัก “ร่วมกันดูหมิ่นศาล จนถึงร่วมกันมั่วสุมให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง” จากกรณีร่วมกิจกรรมแห่คาราวานและปามะเขือเทศ-ไข่หน้าป้ายศาลอาญา เรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังการเมือง หรือ #ม็อบ2พฤษภา ที่หน้าศาลอาญารัชดา เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 64 ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มรีเด็ม (REDEM)

ในวันนี้ พ.ต.ต.กิตติศักดิ์ จูสกุลวิจิตร์ สารวัตร (สอบสวน) สน.พหลโยธิน เป็นผู้บรรยายพฤติการณ์และแจ้งข้อกล่าวหาแก่ปลื้ม โดยข้อหาและพฤติการณ์คดี ซึ่งมีจำนวนข้อหาและรายละเอียดเหมือนกับเยาวชนอีก 3 รายที่เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาก่อนหน้า 

ปลื้มให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายวันที่ 30 ก.ค. 64 ก่อนที่จะถูกพนักงานสอบสวนควบคุมตัวไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อขอให้ศาลออกหมายควบคุมตัว  

ศาลมีคำสั่งออกหมายควบคุมตัว แต่อนุญาตให้ประกันตัว หลังทนายความพร้อมครอบครัวยื่นประกันตัวด้วยเงินสดจำนวน 7,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ทำให้ปลื้มได้รับการปล่อยตัวในระหว่างการสอบสวน 

ศาลกำหนดนัดศูนย์ให้คำปรึกษาและแนะนำฯ พร้อมกับนัดรายงานตัวที่งานรับฟ้องในวันที่ 30 ส.ค. 64 เวลา 08.30 น.

X