2 ก.ค. 2564 นายอะดิศักดิ์ สมบัติคำ หนึ่งในจำเลยคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร พร้อมด้วยทนายความ เดินทางมาที่ศาลอาญา รัชดา ในคดีละเมิดอำนาจศาล จากกรณีการถูกกล่าวหาว่าได้ตบไหล่และมีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ในระหว่างการพิจารณาคดี
คดีนี้มี น.ส.ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญาเป็นผู้กล่าวหา ก่อนหน้านี้มีการไต่สวนนัดแรกไปเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 64 โดยได้มีการไต่สวนผู้กล่าวหา แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ คู่กรณี ไม่ได้เดินทางมาศาล เนื่องจากติดโควิด-19 ศาลจึงให้เลื่อนการไต่สวนออกมา
การพิจารณาในวันนี้ เจ้าหน้าที่มีการตรวจค้นกระเป๋า และตั้งโต๊ะเก็บโทรศัพท์มือถือ โดยมีตำรวจศาลเฝ้าอยู่บริเวณหน้าห้อง 4 นาย และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอีก 2 นาย
เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าอนุญาตให้มีผู้อยู่ในห้องพิจารณา รวมศาลด้วย ไม่เกินจำนวน 12 คน เนื่องจากสถานการณ์โควิด สุวรรณา ตาลเหล็ก หนึ่งจำเลยในคดีชุมนุม 19 กันยา ซึ่งมาร่วมเป็นพยานในคดีนี้ จึงถูกเชิญออกจากห้องพิจารณา
ในห้องพิจารณา นอกจากคู่ความ ยังมีเจ้าหน้าช่างเทคนิค เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ ทนายความ 2 คน เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 2 คน เจ้าหน้าที่ไอลอว์ 1 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อีก 1 คน ในบางช่วงตำรวจศาลได้เข้ามานั่งในห้องพิจารณาด้วย
เวลา 9.30 น. ศาลออกนั่งพิจารณา 3 คน ในวันนี้มีนายอะดิศักดิ์ สมบัติคำ ผู้ถูกกล่าวหา และ น.ส.ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา ผู้กล่าวหามาศาล และนายไพโรจน์ มนัสสิลา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ คู่กรณี
ศาลได้เริ่มต้นอ่านข้อกำหนดภายในศาล โดยห้ามบันทึกภาพและเสียง บันทึกข้อความในห้องพิจารณา หรือกระทำการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาตจากศาล หรือเป็นการรบกวนศาล โดยระบุว่าเพื่อความสงบเรียบร้อยในห้องพิจารณา และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปด้วยความเที่ยงธรรมและรวดเร็ว
ศาลได้สอบถามอะดิศักดิ์ว่ามีอะไรจะพูดกับไพโรจน์หรือไม่ เนื่องจากการพิจารณานัดที่แล้วไพโรจน์ไม่ได้มาและอะดิศักดิ์เคยกล่าวกับศาลว่าหากไพโรจน์มา ก็พร้อมจะขอโทษ อะดิศักดิ์จึงขออนุญาตศาลพูดคุยนอกห้องพิจารณา โดยกล่าวกับศาลว่าเพิ่งทราบว่าทั้งคู่เป็นคนบ้านเดียวกัน คือคนจังหวัดมหาสารคาม
การพูดคุยระหว่างทั้งสองคนดำเนินไปราว 10 นาที ก่อนอะดิศักดิ์และไพโรจน์จะเดินเข้ามาในห้องพิจารณา
อะดิศักดิ์แถลงต่อศาลว่า จากการพูดคุยกันยอมรับว่าตนได้เดินไปทางด้านหลังไพโรจน์จริง และเอามือไปสะกิดหลัง เนื่องจากไพโรจน์ยืนบังการพิจารณา หากตนทำให้ตกใจก็ต้องขออภัยด้วย
ขณะไพโรจน์กล่าวว่า ขณะตนปฎิบัติหน้าที่อยู่เมื่อถูกเข้ามาตบไหล่จากด้านหลังก็ตกใจเนื่องจากอะดิศักดิ์เดินมาจากทางด้านหลังและรู้สึกเจ็บเล็กน้อย ไม่ติดใจดำเนินคดีใดๆ ต่อ ศาลได้สอบถามว่า ส่วนคดีละเมิดอำนาจศาลก็ให้เป็นดุลพินิจของศาลใช่หรือไม่ ไพโรจน์ตอบรับ
เวลา 10.00 น. นายไพโรจน์ มนัสสิลา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ขึ้นเบิกความต่อศาล โดยสรุปกล่าวถึงวันเกิดเหตุ (8 เม.ย. 64) ตนได้รับคำสั่งให้ควบคุมจำเลยที่ไม่ได้รับการประกันตัวในคดีที่มีพริษฐ์กับพวก ถูกกล่าวหา
ขณะที่มีการพิจารณาคดีอยู่ เวลาประมาณ 14.00 น. ตนยืนอยู่ที่ทางเดินระหว่างกลุ่มจำเลยที่ถูกคุมขัง และจำเลยที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ขณะที่มีการแถลงของจำเลยต่อศาล นายอะดิศักดิ์เดินมาจากทางด้านหลังและตบที่ไหล่ของตน จนรู้สึกเจ็บ และกล่าวว่าให้ตนหลบ เพราะยืนบังการพิจารณา ตนจึงหันไปถามว่าผมกำลังปฎิบัติหน้าที่อยู่ ทำอย่างนี้ได้อย่างไร จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อีกคนเดินเข้ามาสอบถามเหตุการณ์ และแนะนำให้ตนเขียนรายงานเรื่องดังกล่าวส่งให้ผู้อำนวยการศาลพิจารณา หลังจากถูกตบไหล่ตนไม่ได้โกรธ แต่เข้าใจว่าขณะนั้นจำเลยตั้งใจก่อกวนในห้องพิจารณา
ไพโรจน์ตอบทนายจำเลยว่าเจ้าหน้าที่ที่แนะนำให้ตนเขียนรายงานชื่อวิชาญ จำนามสกุลไม่ได้ โดยขณะนั้นไม่ทราบว่ามีจำเลยอื่นที่ไม่ได้ถูกขังอยู่ในห้องพิจารณา จึงไม่ทราบว่าตำแหน่งที่ตนยืนอยู่นั้น กำลังบังการพิจารณาคดีหรือไม่ หากทราบ ก็คงจะหลบไปยืนที่อื่น
ไพโรจน์ยังระบุด้วยว่าโดยปกติผู้คุมจากราชทัณฑ์จะนั่งด้านหลังจำเลยที่ถูกคุมขัง แต่ในวันดังกล่าวตนได้รับมอบหมายให้นั่งประกบจำเลยที่ถูกคุมขัง น่าจะชื่อ “อาจารย์สมยศ”
ภายหลังมีการขอโทษและปรับความเข้าใจกันแล้ว ตนไม่ติดใจเอาความ โดยยอมรับว่าในตอนนั้นตนตกใจและอาจจะเข้าใจอะดิศักดิ์ผิดไป
ศาลยังได้ถามว่าการตบนั้นเจ็บหรือไม่ ตบแรงแค่ไหนเนื่องจากในคลิปไม่สามารถได้ยินเสียงตบได้ โดยไพโรจน์ได้สาธิตการตบให้ศาลดูพร้อมบอกว่าเจ็บนิดหน่อย
จากนั้นอะดิศักดิ์ได้ขึ้นเบิกความ โดยสรุประบุว่าตนเดินทางมาศาลในฐานะจำเลยที่ 18 ในคดีชุมนุม 19 กันยายน 2563 ขณะเกิดเหตุ ตนได้กล่าวผ่านหน้ากากอนามัยว่าขอให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หลบหน่อย เพราะไพโรจน์และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อีกหนึ่งนาย ยืนบังการพิจารณาที่กำลังดำเนินอยู่ แต่ไพโรจน์คงไม่ได้ยิน ตนจึงเดินไปสะกิดไหล่ และกล่าวให้หลบ ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งนาที ก่อนกลับมานั่งที่เดิม
เหตุที่เกิดขึ้น เนื่องเพราะตนมองไม่เห็นศาล และไม่เห็นจำเลย คืออานนท์ นำภา ซึ่งกำลังแถลงต่อศาลอยู่ในขณะนั้น ไม่ได้มีเจตนาก่อกวนการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หรือก่อความวุ่นวายในบริเวณศาล และตนคิดว่าสิ่งที่ทำไม่น่าจะเป็นการละเมิดอำนาจศาล
อะดิศักดิ์เบิกความเสร็จสิ้นในเวลา 11.25 น. ศาลได้นัดอ่านคำสั่งในช่วงบ่าย
เวลา 14.00 น. ศาลอ่านคำสั่งโดยสรุปว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเกิดการตบหรือสะกิดไหล่ขึ้นจริง โดยอะดิศักดิ์ยกมือขึ้นสูงบริเวณไหล่ และใช้กำลังทางกายภาพกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในศาลซึ่งเป็นสถานที่ประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมแก่ประชาชน ขณะที่ศาลกำลังพิจารณาคดีอยู่
การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ไม่บังควรและไม่ให้เกียรติ แม้เป็นการกระทำเกิดขึ้นในเวลาสั้นๆ ไม่เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ถึงกับได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ แต่ก็เป็นเหตุให้ไพโรจน์ต้องหันกลับมาสอบถาม และผู้ถูกกล่าวหายังแสดงอาการฮึดฮัด โบกไม้โบกมือ เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล หากแม้ว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ยืนบังการพิจารณาจริง ผู้ถูกกล่าวหาสามารถใช้วิธีการอื่นที่สุภาพเรียบร้อยกว่าได้ โดยไม่ได้แตะเนื้อต้องตัวเจ้าหน้าที่ ผู้ที่มาศาลควรจะได้รับความรู้สึกปลอดภัยว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น
ศาลยังพิจารณาจากประวัติของอะดิศักดิ์ว่าเป็นถึงข้าราชการบำนาญ อดีตทหารเรือ ทำงานการเมืองท้องถิ่นเป็นเวลานาน และเป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานของ ส.ส. มีสถานที่ทำงานคือรัฐสภา ย่อมต้องรู้ถึงระเบียบข้อบังคับและการปฏิบัติตนในสถานที่ราชการ
ศาลสรุปว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ลงโทษปรับ 500 บาท และตักเตือนไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหากระทำการเช่นนี้อีก
หากนับตั้งแต่เริ่มการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา มีการดำเนินคดี “ละเมิดอำนาจศาล” ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 18 คน ใน 14 คดี จำนวนนี้เป็นคดีที่มีมูลเหตุจากการเรียกร้องสิทธิประกันตัว 12 คดี (ดู สถิติคดี “ละเมิดอำนาจศาล-ดูหมิ่นศาล” ปี 2564)
อ่านกรณีที่เกี่ยวข้องคดีการชุมนุม 19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร
การแตกตัวของจักรวาลคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร: สรรพสิ่งที่เกิดขึ้นหลังแกนนำราษฎรถูกขังกว่า 100 วัน