เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ในระหว่างที่มีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม #ประชาชนปลดแอก ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ราว 20.30 น. ภายหลังจากมีการพบว่ามีโดรนบินอยู่ในที่ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นาย จาก สน.ชนะสงคราม ได้เข้าควบคุมตัวนายเอกอนันต์ ด่านเพชรดำรง ที่ทางเท้าด้านหน้าร้านแมคโดนัลด์ ก่อนนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาในฐานความผิดจากการใช้โดรนบินในพื้นที่หวงห้ามเฉพาะโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพโดยที่ไม่มีทนายความอยู่ด้วยขณะให้การ
ตามพฤติการณ์แห่งคดีในบันทึกการจับกุม ระบุว่าในวันและเวลาดังกล่าว ขณะที่เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมกำลังปฏิบัติหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่การชุมนุม ตรวจพบอากาศยานไร้นักบิน (โดรน) ทำการบินอยู่บริเวณพื้นที่ชุมนุมจนถึงบริเวณถนนราชดำเนินกลาง จึงได้ตรวจสอบกับทางศูนย์ต่อต้านอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินฯ (โดรน) (ศตอ.น.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พบว่าในวันเวลาที่มีการชุมนุม ไม่ได้มีการอนุญาตให้บุคคลใดใช้เครื่องโดรนทำการบินในพื้นที่แต่อย่างใด
ทาง ศตอ.น. จึงได้ใช้เครื่องต่อต้านอากาศยานเพื่อตัดสัญญาณโดรนลำดังกล่าว โดรนเป้าหมายได้ร่อนกลับไปหาผู้ควบคุม เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ติดตามเส้นทางการบินจนเจอกับผู้ควบคุม คือนายเอกอนันต์ ด่านเพชรดำรง ตรวจสอบ พบว่าได้ขึ้นทะเบียนโดรนกับทาง กสทช. และตัวผู้ควบคุมเองก็ได้ขึ้นทะเบียนกับทางสำนักงานการบินพลเรือนฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
หากแต่ฝ่าฝืนทำการบินในพื้นที่หวงห้ามเฉพาะตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2497 [simple_tooltip content=’มาตรา 24 ห้ามมิให้ผู้ใดบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินหรือทิ้งร่มอากาศ นอกจากได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีและปฏิบัติตามเงื่อนไชที่รัฐมนตรีกำหนด’]มาตรา 24[/simple_tooltip] และประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องหลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (โดรน) ประเภทควบคุมภายนอก พ.ศ. 2558 ผู้ต้องหารับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางไปพบพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม
ต่อมาในวันที่ 18 สิงหาคม 2563 เวลา 10.00 น. ทางพนักงานสอบสวน ได้นัดผู้ต้องหามาเพื่อฟ้องคดีที่ศาลแขวงดุสิต โดยตำรวจจะส่งสำนวนต่อให้อัยการศาลแขวงดุสิต แล้วจะฟ้องด้วยวาจา (เนื่องจากเป็นกรณีความผิดสถานเบา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี อีกทั้งผู้ต้องหายังรับสารภาพ)
อย่างไรก็ตาม ทางพนักงานสอบสวนได้แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบว่าทางอัยการได้ส่งสำนวนกลับ เนื่องจากพนักงานสอบสวนอ้างอัตราโทษผิด อัยการศาลแขวงดุสิตพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดตาม [simple_tooltip content=’มาตรา 22 ห้ามมิให้อากาศยานบินเข้าหรือบินผ่านเขตห้ามหรือเขตจำกัดการบินซึ่งรัฐมนตรีได้ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ‘]มาตรา 22[/simple_tooltip] ของ พ.ร.บ.การเดินอากาศ ด้วย (ซึ่งข้อหานี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ทำให้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงในการพิจารณา) จึงคืนสำนวนให้พนักงานสอบสวนกลับมาสอบสวนเพิ่มเติม
ในส่วนของข้อหาที่เพิ่มมานั้น ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธข้อหา โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 20 วัน ซึ่งในชั้นตำรวจ ผู้ต้องหายื่นหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงิน 10,000 บาท ต่อมาในวัน 18 สิงหาคม 2563 พนักงานสอบสวนแจ้งว่าเนื่องจากอัตราโทษของข้อกล่าวหาที่สูงเพิ่มขึ้น จึงขอเรียกเงินประกันตัวในชั้นตำรวจเพิ่มเป็นจำนวน 75,000 บาท
แต่หลังการพูดคุย สามารถยื่นได้ในวงเงินประกัน 50,000 บาท ทางผู้ต้องหาได้ติดต่อกับทาง ส.ส. ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ จากพรรคก้าวไกล มายื่นประกันตัวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนโดยใช้ตำแหน่ง สส. ประกันในวงเงิน 65,000 บาท
พนักงานสอบสวนได้กำหนดวันนัดส่งสำนวนให้พนักงานอัยการใหมที่สำนักงานอัยการสูงสุด รัชดาฯ ในวันที่ 18 กันยายน 2563 เวลา 9:00 น.
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:
เช็กลิสต์! สิ่งที่ต้องสังเกตและจดบันทึกเมื่อถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม
“มือใหม่หัดม็อบ”: คู่มือว่าด้วยการรับมือทางกฎหมาย เมื่อเจอการปิดกั้น/คุกคามการชุมนุม
2 อาทิตย์หลังเยาวชนเริ่มปลดแอก: เสนอหยุดคุกคาม กลับถูกคุกคามกว้างขวาง