ศาลยกฟ้อง 2 นักกิจกรรมร่วมคาร์ม็อบปัตตานี แต่เห็นว่าจำเลยอีก 1 ราย เป็นผู้จัด จึงลงโทษจำคุก 4 เดือน โดยให้รอลงอาญา

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565 ศาลจังหวัดปัตตานีนัดฟังคำพิพากษาในคดีจัดกิจกรรมคาร์ม็อบปัตตานี หรือ Car Mob Tani เพื่อขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และเรียกร้องวัคซีน mRNA ใน 2 คดี จากกิจกรรมเมื่อวันที่ 7 และ 14 ส.ค. 2564

ทั้งสองคดีมีการสืบพยานไปพร้อมกัน โดยมีจำเลยทั้งหมด 3 รายในทั้งสองคดี ได้แก่ อารีฟีน โสะ, สูฮัยมี ลือแบซา และ ซูกริฟฟี ลาเตะ ถูกกล่าวหาในข้อหาหลักเรื่องการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดปัตตานี (อ่านบันทึกการสืบพยานคดีคาร์ม็อบปัตตานี)

การนัดฟังคำพิพากษาเลื่อนมาจากเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2565 เนื่องจากฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายในประเด็นว่าหลังมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้ว คดีจะสิ้นสุดไปหรือไม่ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนจึงส่งสำนวนไปยังสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 เพื่อตรวจสำนวนอีกครั้ง ก่อนนัดฟังคำพิพากษาใหม่อีกครั้ง

ในนัดฟังคำพิพากษา ก่อนเข้าไปยังห้องพิจารณา เจ้าหน้าที่ศาลให้จำเลยและผู้สังเกตการณ์คดีฝากเครื่องมือสื่อสารและของใช้ติดตัวต่างๆ โดยก่อนศาลอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ตำรวจศาลยังได้ใส่กุญแจมือจำเลยทั้งสามเอาไว้ก่อนด้วย

เวลา 10.15 น. ผู้พิพากษานั่งพิจารณา ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุปใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

ประเด็นที่ 1 การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้คดีสิ้นสุดหรือไม่

ศาลเห็นว่า แม้จะมีการออกประกาศเรื่องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ลงวันที่ 29 กันยายน 2565 แต่ประกาศดังกล่าวไม่มีผลเป็นการยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2)  โดยในข้อ 2 ของประกาศดังกล่าวให้บรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่ง อันเนื่องมาจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรเป็นอันสิ้นสุดลง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไปเท่านั้น

จึงไม่ใช่เป็นการยกเลิกความผิดที่ได้กระทำไปในระหว่างที่บรรดาข้อกำหนดประกาศ หรือคำสั่งอันเนื่องมาจากได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลใช้บังคับ อันเป็นกรณีจากการเป็นผู้กระทำความผิดที่ได้กระทำไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 แต่อย่างใด

.

ประเด็นที่ 2 การไม่สวมหน้ากากอนามัยของจำเลยในวันที่ชุมนุมในขณะเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นการฝ่าฝืนประกาศจังหวัดปัตตานีหรือไม่ 

ศาลเห็นว่า แม้อัยการโจทก์จะได้ยื่นฟ้องว่า จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดปัตตานี เรื่องให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งเมื่อออกจากเคหสถานก็ตาม แต่การที่พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน เรื่องการไม่สวมหน้ากากอนามัยแก่จำเลยทั้งสามนั้น ทำให้จำเลยไม่อาจทราบข้อกล่าวหาได้นั้น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามมาตรา 134 วรรค 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องฐานความผิดดังกล่าว

.

ประเด็นที่ 3 จำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคนหรือไม่

ศาลเห็นว่าแม้ว่าพยานฝ่ายโจทก์จะให้การไปในทางเดียวกันว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเป็นผู้จัดชุมนุมก็ตาม แต่จากพยานหลักฐานที่นำสืบ ไม่ปรากฏหลักฐานที่เพียงพอว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 นั้นเป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุมในทั้งวันที่ 7 และ 14 สิงหาคม 2564 เห็นว่าจำเลยที่ 1 และ 2 จึงไม่มีความผิดในฐานการเป็นผู้จัดการชุมนุมตามฟ้อง

ส่วนจำเลยที่ 3 (ซูกริฟฟี ลาเตะ) ศาลเห็นว่า รถที่ใช้ในการปราศรัยนั้นเป็นรถของจำเลย อีกทั้งในตอนที่จำเลยเบิกความว่า รถของตนถูกนำมาใช้ในการเป็นที่ยืนปราศรัยนั้น จำเลยมิได้ปฏิเสธและให้การยินยอมในการใช้รถดังกล่าวทั้งสองวัน รวมทั้งได้ขึ้นปราศรัยในวันแรกด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยนั้นไม่ถือว่าเป็นเหตุบังเอิญ จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุมตามฟ้อง  เห็นว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคน

ศาลพิพากษา ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และ 2 และพิพากษาว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคนร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดโรคในพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ทั้งวันที่ 7 และ 14 ส.ค. 2564 รวม 2 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 เดือน ปรับ 20,000 บาท รวมจำคุก 4 เดือน ปรับ 40,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

.

หลังการอ่านคำพิพากษา ซูกริฟฟีได้ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาของศาล ขณะที่เตรียมจะหารือกับทนายความเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป

คดีนี้ นับเป็นคดีคาร์ม็อบในพื้นที่ภาคใต้คดีที่ 4 และ 5 ซึ่งศาลมีคำพิพากษาออกมา ก่อนหน้านี้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในคดีคาร์ม็อบที่สุราษฎร์ธานี และคดีคาร์ม็อบที่ยะลา วันที่ 7 ส.ค. 2564 แต่ในคดีคาร์ม็อบยะลา วันที่ 1 ส.ค. 2564 ศาลพิพากษาว่าจำเลย 6 รายมีความผิด ซึ่งอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คดีต่อไป

.

——————

* บันทึกการสังเกตการณ์โดยทีมงาน “กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)”

.

X