เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2565 ศาลจังหวัดยะลานัดฟังคำพิพากษาในคดีจัดกิจกรรมคาร์ม็อบยะลา เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเรียกร้องวัคซีนที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชน จัดขึ้นโดยกลุ่มยะลาปลดแอก
คดีนี้มีจำเลยทั้งหมด 6 ราย ได้แก่ อารีฟีน โสะ, ประเสริฐ ราชนิยม, อามานียะ ดอเล๊าะ, อับดุลซาตาร์ บาโล และจำเลยอีกสองราย ทั้งหมดถูกฟ้องในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดยะลา, กีดขวางการจราจร และ ส่งเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร
บรรยากาศในวันนัดฟังคำพิพากษา จำเลยทั้ง 6 คน เดินทางมาฟังคำพิพากษา พร้อมกับทนายจำเลย และพนักงานอัยการก็เข้าฟังคำพิพากษาเช่นกัน ก่อนการอ่านคำพิพากษา ตำรวจศาลได้ใส่กุญแจมือจำเลยที่เป็นเพศชายเอาไว้ก่อน
เวลา 9.44 น. ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์ ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุปวินิจฉัยใน 4 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นที่ 1 การยกเลิกประกาศสถาณการณ์ฉุกเฉิน ตามประกาศเรื่อง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ฉบับลงวันที่ 29 กันยายน 2565 มีผลใช้บังคับหรือไม่
ศาลเห็นว่า แม้จะมีการออกประกาศเรื่องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร แต่ประกาศดังกล่าวไม่มีผลเป็นการยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2) หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 18
ในข้อ 2 ของประกาศดังกล่าวให้บรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่ง อันเนื่องมาจากได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรเป็นอันสิ้นสุดลง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไปเท่านั้น จึงไม่ใช่เป็นการยกเลิกความผิดที่ได้กระทำไปในระหว่างที่บรรดาข้อกำหนดประกาศ หรือคำสั่งอันเนื่องมาจากได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลใช้บังคับ ผลจากการเป็นผู้กระทำความผิดที่ได้กระทำไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 แต่อย่างใด
.
ประเด็นที่ 2 ในการกระทำตามฟ้อง พยานโจกท์ได้ให้การไปทางเดียวกันที่ว่ากลุ่มจำเลย ร่วมชุมนุม และเป็นผู้จัดกิจกรรม ส่วนทางจำเลยนั้นให้การเบิกความว่าเข้าร่วมจริง แต่มิได้เป็นผู้จัด จึงไม่มีเหตุที่จะต้องขออนุญาต
แต่จากพยานหลักฐานเห็นได้ว่าจำเลยเดินทางมายังจุดนัดหมายเป็นกลุ่มแรก และในไลฟ์สดก็มีการบอกทิศทางว่าขบวนจะเคลื่อนไปทางใด และรถของจำเลยก็เป็นรถนำขบวน เมื่อถึง ศอ.บต. รถของจำเลยที่ 1 หยุด รถของผู้ชุมนุมก็หยุดตาม และในบริเวณสวนขวัญเมือง จำเลยก็ได้นำผู้ชุมนุมร้องเพลง
จากพฤติการณ์ จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคในพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และในขณะนั้นอาจมีคนที่ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจแพร่ไปยังผู้อื่น
ศาลเห็นว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ขี่รถจักรยานยนต์ บางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย และจำเลยที่ 1 และที่ 4 บางช่วงไม่สวมหน้ากากอนามัย บางช่วงดึงหน้ากากอนามัยลง ถึงจะเป็นที่โล่งแจ้ง แต่มีผู้คนเข้าร่วมจำนวนมาก และมีการตะโกนขับไล่นายกรัฐมนตรีตลอดทาง และหน้ากากอนามัยที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมใส่นั้นไม่ใช่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ บุญลือ นวลจันทร์ พยานโจทก์ ให้การว่าการแพร่โรคนั้นสามารถติดต่อผ่านทางวิธีอื่นได้ สอดคล้องกับคำให้การของ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ พยานจำเลย ว่านอกจากการไอจามที่แพร่จากละอองลอย แล้วนั้นยังสามารถติดต่อกันได้จาการสัมผัสกับผู้ป่วยได้
จำเลยทั้งหกจึงมีความผิดฐานร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคในพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยฝ่าฝืนคำสั่งของจังหวัดยะลา
จำเลยที่ 1 และที่ 4 มีความผิดร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คน ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
.
ประเด็นที่ 3 ข้อหาส่งเสียงหรือทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร
ศาลเห็นว่าการกระทำในข้อหาดังกล่าว จะต้องถึงขนาดที่ทำให้ประชาชนตกใจกลัว หรือเดือดร้อน แต่โจทก์ไม่ได้มีพยานมาเบิกความในส่วนนี้ และหลังจากเกิดเหตุก็ไม่มีผู้ใดมาแจ้งความร้องทุกข์ และขณะเกิดเหตุขบวนก็มีการเคลื่อนตลอดเวลา จำเลยทั้ง 6 จึงไม่มีความผิดฐานส่งเสียงหรือทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร
.
ประเด็นที่ 4 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 มีความผิดฐานขับรถในลักษณะกีดขวางทางจราจร และหยุดรถในช่องทางเดินรถและในลักษณะกีดขวางทางจราจร หรือไม่
ศาลเห็นว่าขณะเกิดเหตุขบวนรถเต็มถนน และในบางช่วงล้ำเข้าไปในช่องจราจรของอีกฝั่ง และจำเลยก็ได้หยุดรถขวางในบริเวณ หน้า ศอ.บต. และบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดยะลา โดยมีรถของจำเลยที่ 1 นำขบวน และรถของจำเลยที่ 2 และที่ 5 อยู่ในขบวนดังกล่าว จำเลยทั้งสามจึงร่วมขับรถในลักษณะกีดขวางทางจราจร และหยุดรถในช่องทางเดินรถและในลักษณะกีดขวางทางจราจร
ในกรณีที่ว่าจำเลยที่ 4 ในคดีนี้เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีคาร์ม็อบยะลาอีกคดีหนึ่งที่ถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดยะลาเช่นกัน และทางโจทก์ขอให้ศาลนับโทษต่อจากคดีดังกล่าว ศาลมิอาจนับโทษจำคุกต่อใด้ ให้ยกการลงโทษในกรณีนั้น
ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งหกคนละ 3 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 จำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้หนึ่งในสาม จำคุกจำเลยทั้งหก 2 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท
และลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 คนละ 400 บาท ในความผิดฐานขับรถในลักษณะกีดขวางทางจราจร และหยุดรถในช่องทางเดินรถและในลักษณะกีดขวางทางจราจร
เนื่องจากจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้คนละ 1 ปี
หลังคำพิพากษาฝ่ายจำเลยได้ชำระค่าปรับรวมกัน 25,200 บาท
.
อับดุลซาตาร์ บาโล จำเลยที่ 4 เปิดเผยความรู้สึกว่า วันนี้ตอนแรกก็รู้สึกหวั่นๆ ว่าคำตัดสินในรอบนี้อาจจะไม่เหมือนรอบที่แล้ว เมื่อฟังคำพิพากษาแล้ว รู้สึกว่าศาลฟังพยานฝ่ายโจทก์มากกว่า แต่เราก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ตรงกับสิ่งที่เราทำ อย่างเช่นมันจะมีบางช่วงที่เราเอาหน้ากากลงใต้คาง ความจริงเราเอาหน้ากากลงเพื่อหายใจ ประมาณ 5- 10 วินาที แต่พอศาลอ่านมันเหมือนเราเอาหน้ากากอนามัยลงนานเกินไป
อับดุลซาตาร์คิดว่า ยังมีหลายข้อที่ฝ่ายจำเลยยังสามารถแก้ต่างได้ อย่างเช่นที่ศาลอ่านว่า ในไลฟ์เราพูดว่าถ้าใครที่โดนคุกคามให้มาติตต่อที่เพจยะลาปลดแอก เพจของเรา ศาลตีความว่าคำว่า “เพจของเรา” หมายถึงของเราที่เป็นคนพูด แต่ที่เราหมายถึงคำว่า “เรา” ในที่นี้มันคือเราทุกคน มันไม่มีใครหรอกที่จะบอกว่าเพจนี้เป็นของปัจเจกชนคนใดคนหนึ่ง
น่าสังเกตว่าในคดีคาร์ม็อบยะลา เหตุจากการจัดในวันที่ 7 ส.ค. 2564 ที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นคดีแรกไปก่อนหน้านี้ ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ แต่ให้ลงโทษปรับเฉพาะข้อหาใช้เสียงดังอื้ออึง ซึ่งตรงกันข้ามกับคำพิพากษาในคดีที่สองนี้ทั้งหมด เบื้องต้นฝ่ายจำเลยเตรียมอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป
สำหรับคดีคาร์ม็อบ 1 ส.ค. 2564 นี้ เดิมมีผู้ถูกออกหมายเรียกทั้งหมด 8 ราย หนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนหญิงอายุ 17 ปี ซึ่งได้ยินยอมเข้ามาตรการพิเศษก่อนฟ้องคดีในส่วนของเยาวชนไปก่อนหน้านี้ และมีผู้ถูกกล่าวหาอีกรายหนึ่งไม่ได้ไปร่วมชุมนุมวันดังกล่าวแต่อย่างใด แต่กลับถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาไปด้วย โดยต่อมาอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของผู้ต้องหารายนี้ จึงเหลือจำเลยในส่วนคดีที่ศาลจังหวัดยะลาทั้งหมด 6 ราย
.
* บันทึกการสังเกตการณ์โดยทีมงาน “กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)”
.
ย้อนอ่านเรื่องราวของอับดุลซาตาร์ในคดีคาร์ม็อบยะลา
รายงานข่าวก่อนหน้านี้
3 ผู้ร่วมคาร์ม็อบยะลา ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งถูก ตร.ขอฝากขัง แต่ศาลไม่อนุญาต
คาร์ม็อบยะลา เยาวชนหญิงอายุ 17 ปี – ประชาชนไม่ได้ไปร่วมกิจกรรม ก็ถูกตร.เรียกแจ้งข้อหา
ดูตาราง สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง
.