ก่อนพิพากษาคดีคาร์ม็อบหาดใหญ่ #เขรถยิกลุง นักศึกษา-ปชช. รวม 11 คน ต่อสู้กิจกรรมไม่ได้เสี่ยงโควิด ผู้เข้าร่วมแทบไม่ได้ลงจากรถ

วันที่ 25 เม.ย. 2566 นี้ เวลา 9.00 น. ศาลแขวงสงขลานัดฟังคำพิพากษาในคดี “คาร์ม็อบหาดใหญ่” คดีมีนักศึกษาและประชาชนถูกฟ้องถึง 11 ราย ใน 5 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางทางสาธารณะ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, ส่งเสียงดังอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร และปิดบังแผ่นป้ายทะเบียนรถ

สำหรับเหตุในคดีเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2564 กลุ่ม “เด็กเปรต” ได้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบ “หาดใหญ่เบอะสุด เขรถยิกลุง เหยดแม่ม” รวมตัวกันบริเวณหน้าค่ายเสนาณรงค์ เพื่อขับรถมุ่งเข้าตัวเมืองหาดใหญ่ ไปหยุดหน้าป้าย สภ.หาดใหญ่ และยุติชุมนุมที่หอนาฬิกาหาดใหญ่ กิจกรรมมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ได้แก่ 1. รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกทั้งคณะ 2. นำเข้าวัคซีนที่มีคุณภาพให้กับบุคลากรด่านหน้าและประชาชน 3. ออกมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจต่อผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด 4. ลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มสวัสดิการให้กับประชาชน 5. ตำรวจเลิกทำงานให้กับทรราชและหันมารับใช้ประชาชน 

หลังจากกิจกรรม มีผู้เข้าร่วมถึง 11 คน ถูกตำรวจ สภ.คอหงส์ ออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา นับเป็นจังหวัดที่มีการดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมคาร์ม็อบต่อผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากอันดับต้นๆ หากไม่นับกรุงเทพมหานคร

จำเลยในคดีทั้งหมด 11 คน มีทั้งนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมคาร์ม็อบ ได้แก่ จำเลยที่ 1 รฐนนท์ คุ่ยยกสุย, จำเลยที่ 2 ฝนดาว เจริญวงศ์, จำเลยที่ 3 ประคุณ ปานเล่ห์, จำเลยที่ 4 ธนัดดา แก้วสุขศรี, จำเลยที่ 5 จริงใจ จริงจิตร, จำเลยที่ 6 ปทุมมา ตั้งพิพัฒน์มงคล, จำเลยที่ 7 คอลดูน ปาลาเร่, จำเลยที่ 8 อภิศักดิ์ ทัศนี, จำเลยที่ 9 ธีรุตม์ สันหวัง, จำเลยที่ 10 ศุภกร ขุนชิต, จำเลยที่ 11 อัษฎา งามศรีขำ 

คดีนี้มีการสืบพยานไปเมื่อวันที่ 1-3, 8-9 และ 15-16 ก.พ. 2566 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 4 ของศาลแขวงสงขลา โดยเดิมมีรายชื่อพยานโจทก์ทั้งหมดถึง 31 ปาก แต่ต่อมาทางฝ่ายจำเลยได้รับคำให้การของพยานโจทก์ที่มีเนื้อหาซ้ำซ้อนกัน คือชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ติดตามสถานการณ์การชุมนุม ทำให้การสืบพยานโจทก์มีจำนวนเหลือ 6 ปาก ขณะที่ฝ่ายจำเลยทุกคนได้เข้าเบิกความ รวมทั้งมีพยานผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายเข้าเบิกความอีกหนึ่งปาก

ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่ากิจกรรมคาร์ม็อบที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการชุมนุมในสถานที่แออัด ไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิด-19 เนื่องจากผู้เข้าร่วมทั้งหมดสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ไม่ได้มีการลงจากรถมารวมตัวกัน มีผู้ขึ้นปราศรัยในรถเครื่องเสียงเพียงบางส่วนเท่านั้น ทั้งผู้จัดก็มีการประชาสัมพันธ์ถึงการป้องกันโรคไว้ทั้งบนเพจเฟซบุ๊กและระหว่างเคลื่อนขบวนรถ 

นอกจากนั้นขบวนคาร์ม็อบก็ไม่ได้กีดขวางการจราจร แต่มีการขับรถเรียงกันไปในถนนเลนเดียว โดยผู้สัญจรคนอื่นๆ ยังใช้ถนนอีกเลนได้ โดยรถไม่ได้ติดขัด ส่วนการบีบแตรที่ทำให้เกิดเสียงดัง ก็ไม่ได้มีการบีบตลอดเวลา แต่เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ จำเลยส่วนใหญ่ยังไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรม แต่เดินทางไปร่วมตามความสนใจ บางคนเพียงขอขึ้นร่วมปราศรัยด้วยเท่านั้น ทั้งจำเลยรายหนึ่งเป็นเพียงคนขับรถรับจ้าง ที่ถูกว่าจ้างนำรถบรรทุก 6 ล้อมาเท่านั้น

ระหว่างสืบพยานคดีนี้ ศาลยังมีการขอตรวจเช็คสมุดจดบันทึกของผู้สังเกตการณ์คดีจาก Law Long Beach และสั่งว่าหากจะมีการจดบันทึกในห้องพิจารณา ให้แจ้งขออนุญาตจากศาลก่อนด้วย

.

ประชาสัมพันธ์กิจกรรมคาร์ม็อบหาดใหญ่จากเพจ “เด็กเปรต”

.

การสืบพยานวันแรก 1 กุมภาพันธ์ 2566

คดีนี้มีทนายของฝ่ายจำเลยจำนวน 3 คน ขณะที่จำเลยหนึ่งรายได้ขอพิจารณาคดีลับหลัง เนื่องจากบิดาเสียชีวิต

ก่อนเริ่มการสืบพยาน ผู้พิพากษาซึ่งไม่ใช่เจ้าของสำนวนคดี ได้เข้าห้องพิจารณา มาสอบถามข้อมูลจำเลย อาทิ ใครยังเป็นนักศึกษาอยู่บ้าง เรียนจบอะไร ความประสงค์จะต่อสู้คดี และพูดคุยถึงข้อต่อสู้คดีคาร์ม็อบในจังหวัดอื่นๆ ก่อนที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนจะเข้ามาดำเนินกระบวนการสืบพยานต่อ

พยานโจทก์ปากแรก พ.ต.ท.เจริญชัย เกื้อก่อบุญ สารวัตรสืบสวนกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา

พ.ต.ท.เจริญชัย เบิกความถึงการได้รับมอบหมายจาก พล.ต.ต.อาชาน จันทร์ศิริ ผบก.ภ.จว.สงขลา ให้สืบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจกรรมคาร์ม็อบ หลังพบว่าเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 กลุ่ม “เด็กเปรต” ได้โพสต์ข้อความลงในเพจเฟซบุ๊ก เชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14 ส.ค. 2564 ซึ่งการชุมนุมในครั้งนั้น มีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พยานปากนี้ได้เบิกความไล่เรียงข้อความที่เพจเด็กเปรตโพสต์ประชาสัมพันธ์กิจกรรม โดยพบว่าเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2564 ยังมีการโพสต์ข้อความถึงข้อควรปฏิบัติในการเข้าร่วมกิจกรรม 1. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 2. เตรียมหมวกและเสื้อกันฝน 3. รถที่เข้าร่วมกิจกรรมให้เปิดไฟฉุกเฉินตลอดเวลา 4. ให้ฟังผู้นำปราศรัยบนรถปราศรัยเท่านั้น 5. กรุณาไม่ลงจากรถโดยเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยโปรดปิดป้ายทะเบียน 

ต่อมาในเวลา 13.00 น. ตำรวจสืบสวนได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามคาร์ม็อบดังกล่าว ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทั้งจากภูธรจังหวัดสงขลา, สภ.หาดใหญ่, สภ.คอหงส์ แต่พยานจำจำนวนตำรวจทั้งหมดไม่ได้ โดยจากภูธรจังหวัดสงขลามีประมาณ 20 นาย ตำรวจจะวางกำลังเป็นจุดๆ และแต่งกายนอกเครื่องแบบ พยานรับผิดชอบบริเวณหน้าค่ายเสนาณรงค์

หลังพบว่ามีผู้ชุมนุมเริ่มทยอยเข้ามาริมถนนหน้าค่ายเสนาณรงค์ สังเกตได้จากรถจะมีการปิดป้ายทะเบียนด้วยกระดาษ ก่อนที่เวลา 13.30 น มีรถบรรทุก 6 ล้อที่มีเครื่องขยายเสียงท้ายรถเข้ามาจอด รถคันนี้มีจำเลยที่ 3 เป็นคนขับ และมีจำเลยที่ 4 นั่งบนเบาะด้านข้าง อีกทั้งมีจำเลยที่ 1 และ 5 ขึ้นมาอยู่ท้ายรถบรรทุกด้วย

จำเลยที่ 1 ได้กล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงกับผู้เข้าร่วมชุมนุม ให้เปิดไฟฉุกเฉิน และให้ผู้ชุมนุมที่ขับขี่รถจักยานยนต์ขับไปอยู่หน้ารถบรรทุก 6 ล้อ จากนั้นมีผู้ชุมนุมนำกระดาษมาปิดป้ายทะเบียนทั้งด้านหน้าและหลังของรถบรรทุก 6 ล้อ โดยลักษณะพิเศษของผู้เข้าร่วมชุมนุมจะใส่ปอกแขนสีแดง และบางส่วนจะสวมเสื้อกั๊กสีเขียวอ่อนสะท้อนแสง จากนั้นบนรถบรรทุก 6 ล้อ ได้มีผู้นำเอาผ้าหลากสีขึ้นไป พยานประเมินว่าในวันเกิดเหตุ มีรถยนต์ที่ไปร่วมประมาณ 20 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 30 คัน  

พยานเบิกความว่าก่อนการเคลื่อนขบวนรถ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คอหงส์ เข้าพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม ทราบชื่อภายหลังว่าเป็นจำเลยที่ 6-8 แต่พยานไม่ได้ยินว่าคุยอะไรกันบ้าง จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้กล่าวให้เคลื่อนขบวนรถออกไป

พยานเบิกความไล่เรียงถึงเหตุการณ์ในการเคลื่อนขบวนรถคาร์ม็อบไปตามลำดับเวลา โดยอ้างว่าพบเห็นจำเลยรายต่างๆ ทั้งหมดเข้าร่วมอยู่ในขบวน โดยบางคนไม่ได้มีบทบาทในการปราศรัย เพียงแต่นำรถเข้าร่วมเท่านั้น ผู้ชุมนุมยังมีการแขวนป้ายผ้าข้อความต่างๆ บนเส้นทางที่ผ่าน อาทิ “เรารักวัคซีน mRNA ไม่เอาซิโนแวค ซิโนฟาร์ม” “มีนักเรียนถูกคุกคามทางเพศ แต่โรงเรียนเงียบ” “บริหารแบบนี้กินข้าว หรือกินขี้”

ขณะที่ผู้ปราศรัยบนรถเครื่องเสียงมีการกล่าวถึงประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ, พื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน, การใช้กำลังสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ในกรุงเทพฯ, ปัญหาเรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด-19, ปัญหาการเรียนการสอนและเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 และเรียกร้องให้ชาวหาดใหญ่มาร่วมกันขับไล่นายกฯ ขณะที่คนในขบวนยังมีการชูสามนิ้ว และบีบแตรเป็นระยะด้วย

พ.ต.ท.เจริญชัย ยังกล่าวถึงเหตุการณ์ที่หน้า สภ.หาดใหญ่ ที่มีผู้ชุมนุมแขวนป้ายข้อความ “ตั๋วช้าง” มีการปราศรัยให้ตำรวจเลิกเป็นเครื่องมือของ พล.อ.ประยุทธ์ และมีผู้นำอาหารสุนัขมาวาง และเทสีน้ำเงินหน้า สภ. จนขบวนเคลื่อนไปถึงหน้าโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย เวลาประมาณ 16.00 น. ผู้เข้าร่วมจึงแยกย้ายกันกลับ

พ.ต.ท.เจริญชัย เบิกความว่าในวันดังกล่าว ตนได้ขับรถติดตามถ่ายรูปรถบรรทุก 6 ล้อ ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว และรวบรวมไว้ในบันทึกการสืบสวน โดยพยานยังระบุถึงข้อมูลว่ามีจำเลยที่เป็นผู้ไลฟ์สดกิจกรรมผ่านเพจ “เด็กเปรต” และมีจำเลยที่เป็นผู้ถ่ายภาพและนำไปโพสต์ลงในเฟซบุ๊กหลังการชุมนุม พยานยังได้ตรวจสอบบัญชีรับบริจาคเงินที่ประชาสัมพันธ์ในเพจ พบว่ามีชื่อของจำเลยที่ 1 และ 5 เป็นเจ้าของบัญชี

พยานระบุว่า เนื่องจากกลุ่ม “เด็กเปรต” เคยจัดกิจกรรมปราศรัยต่อต้านการทำงานของรัฐบาลหลายครั้ง ตั้งแต่ช่วงปี 2563 เป็นต้นมา จึงมีการจัดทำฐานข้อมูล ตนจึงนำภาพถ่ายในฐานข้อมูล มาเปรียบเทียบกับภาพถ่ายในกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อระบุตัวบุคคล 

พ.ต.ท.เจริญชัย ยังเบิกความถึงการถอดเทปคำปราศรัยจากไลฟ์สด และได้ดาวน์โหลดภาพเคลื่อนไหวมารวบรวมเป็นพยานหลักฐานไว้ด้วย โดยอัยการได้เปิดไฟล์ไลฟ์สดดังกล่าวในห้องพิจารณา

ในการถามค้านของทนายจำเลย พ.ต.ท.เจริญชัย รับว่าประกาศและคำสั่งที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ไม่มีข้อห้ามไม่ให้ประชาชนแสดงออกเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล พยานรับว่าไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ดูแลกลุ่ม “เด็กเปรต” และไม่ทราบว่าผู้ใดที่โพสต์ข้อความประชาสัมพันธ์ในเพจนี้ช่วงก่อนและระหว่างคาร์ม็อบ

พ.ต.ท.เจริญชัย เบิกความว่าตนเข้าสังเกตการณ์โดยสวมชุดนอกเครื่องแบบ รับว่าเห็นจำเลยทั้ง 11 สวมใส่หน้ากากอนามัย และในระหว่างเคลื่อนขบวน ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่อยู่บนรถ มีการลงจากรถบางส่วนในช่วงที่มีการแขวนป้ายผ้า แต่ไม่มีการแจกใบปลิวหรือพูดคุยในระหว่างที่เคลื่อนขบวน 

ส่วนการจราจร ผู้สัญจรยังสามารถขับรถไปได้ แต่อาจไม่สะดวกบ้าง เวลาขบวนหยุดทำกิจกรรมเป็นระยะ แต่ยังเดินช่องทางขวาได้ ทั้งขบวนคาร์ม็อบไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นแต่อย่างใด และหลังจากกิจกรรม ไม่ได้มีใครร้องเรียนถึงความไม่สะดวกในการใช้เส้นทาง รวมทั้งไม่พบว่าได้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น  

ขณะเดียวกันพยานรับว่าทางเพจเด็กเปรตมีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ก่อนกิจกรรมด้วย และในวันเกิดเหตุสถานที่จัดกิจกรรมไม่ได้อยู่ในอาคารปิด แต่เป็นที่โล่งแจ้ง หลังกิจกรรม พยานไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 และไม่ได้รับรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อแต่อย่างใด

พยานรับว่าตนไม่สามารถบอกได้ว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นนั้นมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือไม่ และไม่ทราบว่าผู้ที่มีหน้าที่ในการขออนุญาตจัดกิจกรรมต้องเป็นผู้จัดเท่านั้น ผู้เข้าร่วมไม่ได้มีหน้าที่ในการขออนุญาต และไม่ทราบว่าจำเลยทั้ง 11 แต่ละรายได้มีการบีบแตรรถระหว่างทางหรือไม่ โดยทางตำรวจไม่ได้วัดค่าระดับเสียงแตรในวันเกิดเหตุ อีกทั้งไม่ได้มีใครร้องทุกข์เกี่ยวกับการบีบแตรของผู้เข้าร่วม

ในส่วนของเนื้อหาของจำเลยที่กล่าวปราศรัย พ.ต.ท.เจริญชัย รับว่าเป็นการโจมตีการทำงานของรัฐบาลเท่านั้น ไม่ได้มีการยุยงหรือชักชวนให้ก่อเหตุรุนแรง แต่ตนไม่ได้ยินว่าจำเลยที่ 1 ได้กล่าวปราศรัยให้ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง ทนายยังไล่ถามถึงพฤติการณ์จำเลยแต่ละราย บางส่วนพบว่าไม่ได้ลงจากรถตลอดกิจกรรม หรือลงมาเพียงช่วงสั้นๆ

ส่วนจำเลยที่ 3 ที่เป็นผู้ขับรถบรรทุก พยานรับว่าไม่เคยมีประวัติการทำกิจกรรมชุมนุมมาก่อน และไม่ทราบว่ารถดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นรถรับจ้างขนของหรือไม่

พ.ต.ท.เจริญชัย ยังรับกับทนายความอีกว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นมีลักษณะที่รถเคลื่อนตัวตลอดเวลา และข้อเรียกร้องในการชุมนุม 5 ข้อ ไม่ได้ผิดกฎหมาย และยังเป็นผลประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น การเรียกร้องวัคซีนที่มีคุณภาพ

ในช่วงอัยการถามติง พยานยืนยันว่ามีจำเลยที่ 1 และ 5 เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรับบริจาคในการทำกิจกรรม และจำเลยสองรายนี้ พร้อมกับจำเลยที่ 2 เป็นผู้พูดชักชวนให้คนมาร่วมชุมนุม ส่วนเหตุที่พยานแยกผู้ชุมนุมกับผู้ที่สัญจรบนถนนทั่วไปได้นั้น ดูจากการปิดป้ายทะเบียนรถ และผู้เข้าร่วมบางส่วนมีการใส่ปอกแขนสีแดง และเสื้อกั๊กสีเขียว แต่พยานไม่ได้เห็นว่าจำเลยทั้งหมดได้บีบแตรรถระหว่างทางหรือไม่ เพียงเห็นว่าจำเลยอยู่ในขบวนชุมนุม

.

ประชาสัมพันธ์กิจกรรมคาร์ม็อบหาดใหญ่จากเพจ “เด็กเปรต”

.

สืบพยานวันที่สอง 2 กุมภาพันธ์ 2566

พยานโจทก์ปากที่ 2 พ.ต.ท.อนุสรณ์ หวังดี รองผู้กำกับการสอบสวน สภ.ปากน้ำชุมพร ในช่วงเวลาเกิดเหตุคดีนี้ เป็นสารวัตรป้องกันปราบปรามและหัวหน้าจราจร สภ.คอหงส์

พยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2564 ก่อน 14.00 น. พ.ต.อ.ศักดิ์สิทธิ์ มีแสง ผู้กำกับการ สภ.คอหงส์ ได้ประชุมชี้แจงให้ออกปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการจราจร เนื่องจากมีข้อมูลการข่าวว่าจะมีกลุ่มจัดคาร์ม็อบบริเวณหน้าค่ายเสนาณรงค์ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเกิน 100 นาย วางกำลังประจำจุดต่างๆ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตนซึ่งพยานไม่ต้องประจำจุด แต่ได้ขึ้นรถสายตรวจออกตรวจเส้นทาง โดยมีคนขับ 1 คน

พยานเล่าว่าเวลาประมาณ 14.00 น. ที่หน้าค่ายเสนาณรงค์ พบรถยนต์เกือบ 30 คัน รถจักรยานยนต์ประมาณ 40 – 50 คัน และรถบรรทุก 6 ล้อที่ติดตั้งเครื่องขยายเสียง จอดอยู่บริเวณข้างถนน โดยรถที่มาจอด จะมีคนนำแผ่นกระดาษ A4 มาปิดป้ายทะเบียน พยานได้เข้าไปอธิบายให้กลุ่มคนดังกล่าวฟังว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่จำไม่ได้ว่าบุคคลที่ตนลงไปแจ้งให้ทราบนั้นเป็นใคร แต่มีพนักงานตำรวจถ่ายภาพไว้

หลังจากนั้นพยานยังเห็นคนใช้กระดาษปิดป้ายทะเบียนรถอีก พยานจึงใช้เครื่องขยายเสียงประกาศชี้แจงเกี่ยวกับการปิดป้ายทะเบียนอีกรอบ จากนั้นได้มีการเคลื่อนขบวนรถสู่ถนนเพชรเกษม พยานได้ติดตามด้านท้ายขบวนไปตลอด จนเสร็จสิ้นและได้กลับ สภ.คอหงส์ เพื่อรายงานผู้บังคับบัญชา แต่พยานไม่สามารถยืนยันตัวบุคคลในขบวนรถได้ เนื่องจากใส่หน้ากากอนามัยและไม่เคยรู้จักมาก่อน  

ในการตอบคำถามค้านทนายจำเลย พ.ต.ท.อนุสรณ์ เบิกความว่า ถนนตามเส้นทางที่ใช้เคลื่อนขบวนคาร์ม็อบ มี 3 เลน ขบวนกีดขวางเส้นทางจราจรเพียงเล็กน้อย รถยังสามารถผ่านช่องทางอื่นไปได้ และมีตำรวจทั้งหมดอาจถึง 200 นายทั้งในและนอกเครื่องแบบที่ติดตามสถานการณ์

พยานรับอีกว่า หลังจากการชุมนุมไม่มีรายงานการแพร่เชื้อของโควิด–19 ไม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ และในวันเกิดเหตุไม่ทราบว่าใครเป็นผู้นำจัดกิจกรรม และไม่ได้มีผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

.

พยานโจทก์ปากที่ 3 พ.ต.ท.พัทธนันท์ ภักดีดำรงทรัพย์ รองผู้กำกับการสืบสวน สภ.คอหงส์ และเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้

พยานเบิกความว่า ตนได้ติดตามเพจ “เด็กเปรต” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” มาตลอด เพราะเป็นกลุ่มที่เห็นต่าง โดยเฉพาะติดตามว่ามีการแสดงออก “หมิ่นเหม่” หรือไม่ โดยทราบว่ากลุ่มเด็กเปรตเคยขึ้นเวทีปราศรัยที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปราศรัยเกี่ยวกับการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พ.ต.ท.พัทธนันท์ เบิกความว่า เพจเด็กเปรตได้โพสต์เชิญชวนชาวหาดใหญ่ออกมา “เขรถยิกลุง” ในวันที่ 14 ส.ค. 2564 บริเวณหน้าค่ายเสนาณรงค์ เพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรี พยานจึงได้รับคำสั่งให้ตรวจสอบความเคลื่อนไหว และได้ประชุมวางแผนเพื่อติดตาม โดยได้รับแจ้งจากตำรวจสันติบาลว่า แกนนำกลุ่มจัดกิจกรรมคือจำเลยที่ 1 และ 2

ในวันที่ 13 ส.ค. 2564 พยานได้เดินทางไปตรวจสอบที่คณะนิติศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ แต่ไม่มีการเคลื่อนไหวหรือกิจกรรมใดๆ

ในวันเกิดเหตุ 14 ส.ค. 2564 พยานได้ประชุมและได้รับมอบหมายให้ประจำอยู่หน้าค่ายเสนาณรงค์ ตำรวจมีการวางกำลังดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งแต่ช่วงเช้า ตรวจเช็คความเคลื่อนไหวโดยใช้กล้องวิดีโอติดไว้ท้ายรถกระบะ

เวลาประมาณ 13.00 น. เริ่มมีรถเข้ามาจอดบริเวณหน้าค่ายเสนาณรงค์ พยานระบุจำนวนรถยนต์ประมาณ 32 คัน จักยานยนต์ประมาณ 35 คัน และรถบรรทุก 6 ล้อจำนวน 1 คัน ซึ่งมีเครื่องขยายเสียงติดอยู่ท้ายรถ โดยมีจำเลยที่ 1 อยู่ท้ายรถบรรทุก ได้พูดผ่านเครื่องขยายเสียงให้ขับรถตามมา โดยตั้งแถวหลังรถบรรทุก และให้นำกระดาษปิดป้ายทะเบียน โดยผู้เข้าร่วมขบวนก็ปฏิบัติตาม และรถบางคันก็มีการปิดป้ายทะเบียนมาก่อน

พยานได้สังเกตการณ์โดยการนั่งรถบ้าง เดินบ้าง ในขณะที่มีการเคลื่อนขบวน ระหว่างทางมีการปราศรัยและบีบแตรเป็นระยะ มีการติดป้ายที่สะพานลอยหน้าโรงเรียน เกี่ยวกับคัดค้านการทำงานของรัฐบาล เมื่อขบวนเคลื่อนไปถึง สภ.หาดใหญ่ มีผู้เข้าร่วมได้นำอาหารสุนัขและสีมาเท บางส่วนก็มีการขึ้นไปติดป้ายบนสะพานลอย จากนั้นขบวนได้เคลื่อนไปถึงหน้าหอนาฬิกาหาดใหญ่ ก่อนยุติการชุมนุม

ชุดสืบสวนได้แจ้งให้พยานตรวจสอบรถบรรทุก จึงทราบว่ามีคนขับคือจำเลยที่ 3 จากนั้นพยานได้รวบรวมข้อเท็จจริงจาก สภ.หาดใหญ่, ชุดสืบสวน ภ.จว.สงขลา, ชุดสืบสวนคอหงส์ และตำรวจสันติบาล เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ส่งให้ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา  

ในการตอบคำถามค้านทนายจำเลย พ.ต.ท.พัทธนันท์ รับว่าประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ตามรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาขัดขวางไม่ได้ โดยกลุ่มเด็กเปรตเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ไม่ได้มีการปลุกปั่นก่อความวุ่นวาย รวมทั้งไม่มีการใช้ความรุนแรง และเท่าที่พยานทราบ ยังไม่เคยมีการดำเนินคดีกับกลุ่มดังกล่าวมาก่อน

จากข้อมูลเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 พยานได้รับภาพถ่ายมาจากสันติบาลโดยการส่งต่อมา แต่ไม่ทราบว่าผู้ที่ส่งเป็นใคร และสันติบาลไม่ได้ยืนยันว่าบุคคลในภาพเป็นจำเลยที่ 1 และ 2 และไม่ได้ยืนยันว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมหรือไม่ และจากการสืบสวนก่อนวันที่ 14 ส.ค. 2564 ไม่ได้มีข้อมูลว่าใครเป็นผู้จัดกิจกรรมชัดเจน ในส่วนของเพจเด็กเปรต พยานสันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ดูแลเพจ 

พยานรับว่าจำเลยทั้ง 11 คน ได้สวมหน้ากากอนามัยเข้าร่วม และมีการรวมตัวกันตอนมีการปิดป้ายทะเบียนรถในช่วงแรกๆ ก่อนเริ่มขบวนเท่านั้น และหลังกิจกรรมไม่ได้มีข้อร้องเรียนจากฝ่ายปกครอง หรือฝ่ายสาธารณสุขจังหวัดให้ดำเนินคดีต่อการจัดกิจกรรมของจำเลยว่ามีการสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่โรค 

พยานรับว่าตนไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพียงแต่ไปสั่งห้ามตามกฎหมาย และตนก็ไม่ทราบว่าการที่ผู้ชุมนุมใส่หน้ากากอนามัย และรวมกลุ่มกัน จะมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด โดยทราบว่าในช่วงเกิดเหตุ ไม่ได้มีการห้ามไม่ให้ประชาชนออกจากบ้าน ทุกคนสามารถออกไปไหนมาไหนได้ตามปกติ และกิจกรรมนี้เกิดขึ้นในที่โล่งแจ้ง แต่มีการบีบแตรไปตลอดทาง ทำให้การใช้รถใช้ถนนอาจไม่เป็นไปตามปกติ

.

ภาพกิจกรรมจาก PostToday

.

การสืบพยานวันที่สาม 3 กุมภาพันธ์ 2566

วันนี้มีจำเลยอีก 2 ราย ยื่นขอพิจารณาลับหลัง เนื่องจากติดภารกิจ และมีความเสี่ยงติดโควิด-19

พยานโจทก์ปากที่ 4 พ.ต.ท.อนุรักษ์ กลางณรงค์ สารวัตรสืบสวน สภ.หาดใหญ่

พยานเบิกความว่าก่อนเกิดเหตุ 2 วัน ผู้บังคับบัญชาได้ให้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมือง หลังมีการนัดหมายแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ลักษณะคาร์ม็อบในวันที่ 14 ส.ค. 2564 พยานได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และบันทึกภาพของขบวนรถในพื้นที่ของ สภ.หาดใหญ่

พยานระบุว่าตนประจำการอยู่ที่หน้าหอนาฬิกาหาดใหญ่ตลอด โดยทราบการเคลื่อนขบวนและรายละเอียดจากกลุ่มไลน์ที่รายงานสถานการณ์ และมีเจ้าหน้าที่บันทึกภาพส่งมา เมื่อขบรถมาถึงหอนาฬิกา พยานระบุว่ามีรถยนต์ประมาณ 20 คัน และรถจักรยานยนต์ 40 คัน มีการปิดแผ่นป้ายทะเบียน และบีบแตรรถเสียงดัง ความยาวของขบวนประมาณ 60-70 เมตร โดยมีตำรวจอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนขบวน ให้มีช่องทางรถด้านขวาสัญจรได้ตามปกติ และมีจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นผู้ปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล

หลังการชุมนุม พยานได้รวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ปรากฏในกลุ่มไลน์ตำรวจ ประกอบรายงานการสืบสวน เสนอผู้บังคับบัญชา

ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลย พ.ต.ท.อนุรักษ์ รับว่าในการปราศรัยของจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเท่านั้น ไม่มีข้อความในการยุยงให้เกิดความวุ่นวาย และขณะปราศรัยได้มีการใส่หน้ากากอนามัยทั้ง 2 คน อีกทั้งผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่อยู่บนรถ และไม่ได้มีคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ให้ผู้ชุมนุมยุติการจัดกิจกรรม แต่ผู้ชุมนุมยุติเองบริเวณหอนาฬิกา

พยานเบิกความว่าตั้งแต่การชุมนุมปี 2563 จนถึงวันเกิดเหตุ ตนไม่ทราบว่าจำเลยทั้ง 11 รู้จักกันมาก่อนหรือไม่ และรับว่าผู้ร่วมขบวนคาร์ม็อบ ขับรถไปตามถนนในลักษณะเหมือนการจราจรทั่วไป  

.

ภาพกิจกรรมจาก PostToday

.

การสืบพยานวันที่สี่ 8 กุมภาพันธ์ 2566

พยานโจทก์ปากที่ 5 ดาบตำรวจมานะ แก้วรัตนา พนักงานสืบสวน สภ.คอหงส์

พยานเบิกความว่าก่อนเกิดเหตุวันที่ 11 ส.ค. 2564 ได้รับมอบหมายจาก พ.ต.ท.พัทธนันท์ ภักดีดำรงทรัพย์ ให้ติดตามเพจ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” และเพจ “เด็กเปรต” ที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านการทำงานของรัฐบาล ก่อนหน้านี้มีคำสั่งให้ติดตามมาเป็นเวลาประมาณ 1 ปีแล้ว พบว่ามีการโพสต์นัดรวมกลุ่มชุมนุมคาร์ม็อบ ในวันที่ 14 ส.ค. 2564 บริเวณหน้าค่ายเสนาณรงค์ เพื่อต่อต้านการทำงานของรัฐบาล ซึ่งพยานได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่เข้าไปสืบสวนในกลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวในชุดนอกเครื่องแบบ  

พยานได้เบิกความไล่เรียงเหตุการณ์คาร์ม็อบที่ไปติดตามเช่นเดียวกับตำรวจรายอื่นๆ และยืนยันว่าตนรู้จักกับจำเลยที่ 1 และ 2 จากเพจเด็กเปรต และการชุมนุมประท้วงที่ ม.สงขลานครินทร์ ในช่วงปี 2563 ทั้งสองคนเป็นผู้ปราศรัยหลักในกิจกรรมดังกล่าว

ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลย ด.ต.มานะ ระบุว่าไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้ดูแลเพจกลุ่มเด็กเปรต และการโพสต์ส่วนใหญ่ ทราบว่าโพสต์เกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลเป็นหลัก แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้โพสต์ แต่มั่นใจว่าคนที่อยู่ท้ายรถบรรทุกเป็นจำเลยที่ 1 และ 2 แต่รับว่าทุกคนที่เข้าร่วมขบวนคาร์ม็อบ สวมหน้ากากอนามัย และมีการบีบแตรเป็นระยะ แต่ไม่ได้บีบตลอดเส้นทาง  

พยานรับว่ากิจกรรมชุมนุมช่วงปี 2563 จำเลยที่ 1 และ 2 ได้เข้าร่วม แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดกิจกรรม และตามกฎหมาย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ทั้งไม่ทราบว่าจำเลยทั้ง 11 จะมีการบีบแตรขณะอยู่ในขบวนรถหรือไม่ และไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครเป็นผู้จัดกิจกรรมในวันดังกล่าว

พยานยังระบุว่า ขบวนรถไม่มีการปิดถนน และรถที่ตามขบวน สามารถขับเข้าหรือออกจากขบวนชุมนุมตอนไหนก็ได้ 

พยานโจทก์ปากที่ 6 พ.ต.ท.กีรติ ตรีวัย รองผู้กำกับการสอบสวน สภ.คอหงส์

พยานเบิกความว่าในวันเกิดเหตุคดีนี้ ผกก.สภ.คอหงส์ มีคำสั่งให้พยานปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยในที่ตั้ง และสืบสวนสถานการณ์การชุมนุม โดยพยานได้มอนิเตอร์ผ่านไลฟ์สดของกลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมกับผู้บังคับบัญชา ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการของ สภ.คอหงส์

หลังจากนั้น รองผู้กำกับการ สภ.คอหงส์ ได้มีคำสั่งให้ประชุมพิจารณาพฤติการณ์ว่าการชุมนุมนี้ฝ่าฝืนข้อกฎหมายใดบ้าง  หลังจากนั้น พ.ต.ท.พัทธนันท์ ภักดีดำรงทรัพย์ จึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีนี้

พยานระบุว่าในกลุ่มผู้ชุมนุม ตนทราบชื่อจำเลยที่ 1 และ 2 เนื่องจากมีการสืบสวนทราบชื่ออยู่ก่อนแล้วว่าเป็นแกนนำ หลังทั้งหมดเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ได้ให้การปฏิเสธทุกข้อหา พยานยังได้ตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก “เด็กเปรต” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” พบว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากฐานข้อมูลการให้บริการอยู่ในต่างประเทศ และไม่ปรากฏที่อยู่อีเมลที่ใช้สมัคร

พยานยังได้สอบปากคำตำรวจที่ติดตามในสถานที่เกิดเหตุอีก 9 นาย และทำหนังสือไปยังเทศบาลนครหาดใหญ่ขอทราบถึงการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงหรือไม่ ได้ความว่าไม่ได้มีการขออนุญาตแต่อย่างใด โดยเมื่อรวบรวมสำนวนเสร็จ ได้ส่งต่อให้กับพนักงานสอบสวนชุดคดีความมั่นคงของภูธรจังหวัดสงขลา เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ต่อมาคณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี

ในช่วงตอบคำถามค้านของทนาย พ.ต.ท.กีรติ รับว่าในชุดเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในที่เกิดเหตุ ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มีคำสั่งให้ผู้เข้าร่วมเปลี่ยนแปลง หรือปรับรูปแบบการจัดกิจกรรม รวมทั้งไม่มีคำสั่งให้ยุติการชุมนุม อีกทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ไม่ได้มาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนี้

ขณะเดียวกัน พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้สอบสวนพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขประกอบคดีแต่อย่างใด และไม่มีประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุมาร้องทุกข์เกี่ยวกับการได้รับความเดือดร้อนจากการใช้เครื่องขยายเสียง หรือจากการเคลื่อนขบวนรถดังกล่าว อีกทั้งในส่วนตำรวจที่ติดตามสถานการณ์การชุมนุมที่ศูนย์ปฏิบัติการ สภ.คอหงส์ ก็ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาเข้าร่วมติดตามแต่อย่างใด และคณะทำงานก็ไม่ได้มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคระบาด

ส่วนที่พยานระบุว่าจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นแกนนำนั้น มาจากพฤติการณ์ที่ทั้งสองเคยปราศรัยวิจารณ์รัฐบาล แต่ในกิจกรรมคาร์ม็อบนี้ใครจะเป็นผู้จัดบ้าง พยานก็ไม่ทราบ และจำเลยแต่ละคนจะมีบทบาทอย่างไรในการชุมนุม พยานก็ไม่ทราบ

เมื่อทนายถามว่าในช่วงเวลานั้น ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ ห้างร้านและตลาดเปิดตามปกติ เหตุใดพยานจึงคิดว่าคดีนี้เป็นคดีความมั่นคง พยานตอบว่า คดีนี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และกังวลว่าจะกระทบกับความมั่นคงของรัฐ อาจนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยของคนในพื้นที่ได้ จึงเห็นว่าเป็นคดีความมั่นคง แต่จากรายงานการสืบสวน พยานรับว่าไม่พบการยุยงปลุกปั่น และการชุมนุมดังกล่าวก็ปราศจากอาวุธ

ส่วนที่พยานได้ทำหนังสือไปยังเทศบาลนครหาดใหญ่ ขอทราบถึงการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ก็ทำเพียงที่เดียว ไม่ได้ทำหนังสือไปยังเทศบาลคอหงส์แต่อย่างใด

ส่วนประเด็นว่าจำเลยทั้ง 11 จะรู้จักกันมาก่อนหรือมีการนัดแนะตระเตรียมการก่อนหรือไม่ พยานก็รับว่าไม่ได้มีปรากฏในรายงานการสืบสวน และไม่ทราบว่าจำเลยแต่ละคนได้โพสต์เชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมหรือไม่ 

.

ภาพกิจกรรมจาก MobData Thailand

.

สืบพยานวันที่ห้า 9 กุมภาพันธ์ 2566

พยานจำเลยปากที่ 1 รฐนนท์ คุ่ยยกสุย ปัจจุบันทำอาชีพรับจ้างอิสระ นักเขียน นักสิทธิมนุษยชนและเป็นผู้จัดงานอีเวนต์

พยานเบิกความตนมีความสนใจในประเด็นทางสังคมมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม โดยเฉพาะเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายทางเพศ โดยเคยร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีต่างๆ และให้สัมภาษณ์ต่อสื่อต่างประเทศในประเด็นเหล่านี้มาก่อน แต่ไม่เคยเป็นผู้จัดกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง

สำหรับในกิจกรรมการชุมนุมคาร์ม็อบหาดใหญ่ พยานได้พบประชาสัมพันธ์จากเพจเฟซบุ๊ก “เด็กเปรต” และมีการเปิดรับสมัครให้ผู้เข้าร่วมสามารถขึ้นปราศรัยได้ในวันจัดกิจกรรม โดยตนเองก็เพิ่งรับทราบถึงการจัดการชุมนุมเพียงแค่ 1-2 วันเท่านั้น แต่มีความสนใจจะเข้าร่วมด้วย

วันเกิดเหตุ พยานได้เดินทางโดยรถสองแถวไปหน้าค่ายเสนาณรงค์ตามเวลานัด พบเจอกับกลุ่มรถทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์จอดอยู่ แต่ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่อยู่ในรถ ไม่ได้มีการลงจากรถมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก โดยรถที่จอดนั้นได้จอดที่ริมฟุตบาทต่อแถวกันประมาณ 5-6 คัน มีรถบรรทุกซึ่งตกแต่งโดยมีธงสีรุ้ง (pride flag) และมีเครื่องขยายเสียงท้ายรถด้วย 

หลังจากนั้น พยานได้ร่วมขึ้นไปปราศรัยบนหลังรถบรรทุกดังกล่าว โดยกล่าวในเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องวัคซีน การบริหารของรัฐบาล และปัญหาการศึกษา 

พยานระบุว่าตนเห็นว่าผู้เข้าร่วมทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตามมาตรการป้องกันโควิดในช่วงเวลานั้น ส่วนใหญ่อยู่เพียงแต่ในรถของตนและไม่ได้มีการลงจากรถ จึงเห็นว่าไม่มีช่วงเวลาใดที่กิจกรรมมีลักษณะทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 เป็นการชุมนุมที่ไม่อาจแยกแยะได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการจัดกิจกรรมที่เกิดความแออัด นอกจากนั้นแล้วในระหว่างกิจกรรม ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาห้าม หรือมีคำสั่งให้ยุติ หรือให้การปรับเปลี่ยนกิจกรรมแต่อย่างใด

ในขณะที่มีการเคลื่อนขบวนคาร์ม็อบ รถคันอื่นๆ ก็ยังคงสามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ไม่ได้มีความติดขัดถึงขนาดทำให้เกิดความลำบากในการเดินทาง และขบวนรถก็ได้หยุดในกรณีที่มีสัญญาณไฟแดงตามแยก แต่ไม่ได้มีการออกมารวมตัวกัน และอาจจะมีการบีบแตรอยู่บ้าง แต่ไม่ได้บีบตลอดเวลา ทั้งพยานไม่ได้ปราศรัยเองคนเดียว แต่มีการสลับกันปราศรัย

พยานเห็นว่ากิจกรรมนี้เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และพยานเองไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 หลังจากการชุมนุมดังกล่าว

ในการตอบคำถามค้านของอัยการ รฐนนท์ระบุเกี่ยวกับบัญชีที่เปิดรับบริจาคในเพจเด็กเปรต ว่าไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องกับการชุมนุมครั้งนี้หรือไม่ และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้นำบัญชีนั้นลงในเพจ เพราะไม่มีใครแจ้งให้ทราบว่าจะลงเผยแพร่บัญชี

พยานรับว่าทราบว่าเชื้อโควิด-19 นั้น เป็นเชื้อที่ติดต่อง่าย แต่ตนมีความไม่พอใจในการทำงานของรัฐบาลจึงออกมาร่วมการชุมนุม ในการริเริ่มปราศรัย พยานไม่ได้รู้จักกับผู้ที่ไปขอขึ้นรถบรรทุกด้วย แต่เป็นเพียงการอยากร่วมแสดงความคิดเห็นของตนเพื่อให้รัฐบาลและผู้คนได้รับรู้ถึงปัญหา โดยได้มีจำเลยในคดีนี้อีก 3 คน ร่วมอยู่ในการปราศรัยดังกล่าวด้วย พยานระบุว่าตนไม่ได้เป็นผู้สั่งให้เคลื่อนขบวน เพียงแต่เห็นรถข้างหน้าเคลื่อนไป จึงให้รถบรรทุกเคลื่อนตาม และในการจบการชุมนุม พยานรับว่าเป็นผู้บอกให้มีการยุติการชุมนุมเอง เนื่องจากมีผู้คนเริ่มแยกย้ายกันเป็นส่วนมากแล้ว

ในการตอบคำถามติงของทนายความ รฐนนท์ยืนยันว่าแม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิดในขณะนั้น แต่กิจกรรมคาร์ม็อบ เป็นกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมอยู่ในรถของตนเอง เกิดขึ้นในพื้นที่โล่งโปร่ง ไม่ได้มีความแออัด และผู้เข้าร่วมก็มีการป้องกันโดยใส่หน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ก็สามารถทำให้ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้น้อยลงแล้ว

ในการจัดขบวนคาร์ม็อบ ก็ได้ประกาศมาตรการป้องกันโควิด–19 โดยให้ผู้เข้าร่วมใส่หน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอล์ และขอความร่วมมือไม่ให้ลงจากรถ

ขณะเดียวกันส่วนของจำเลยที่ 2 พยานระบุว่าไม่ได้ขึ้นปราศรัยตั้งแต่ต้น แต่มาร่วมการปราศรัยเพียงในช่วงก่อนจบการชุมนุมในระยะเวลาที่ไม่นาน ในภาพหลักฐานที่พนักงานอัยการได้ชี้เพื่อระบุตัวตนของจำเลยที่ 2 ว่าได้อยู่ในการปราศรัยในช่วงเวลา 14.30 น. จึงไม่เป็นความจริง และกรณีจำเลยที่ 5 ที่มีภาพอยู่บนรถบรรทุกนั้น พยานได้เบิกความว่าจำเลยที่ 5 ไม่ได้มีการปราศรัย เพียงแต่เป็นการอ่านจดหมายเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศบริเวณหน้าโรงเรียนเท่านั้น

.

ภาพกิจกรรมจาก MobData Thailand

.

พยานจำเลยปากที่ 2 ฝนดาว เจริญวงศ์ ปัจจุบันทำอาชีพบาร์เทนเดอร์ จบการศึกษาจากสาขาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

พยานเป็นผู้ที่ติดตามประเด็นทางสังคมเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศ การจัดการภาครัฐ และระบบการศึกษา โดยเคยมีการแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวหรืองานเสวนาต่างๆ แต่พยานไม่ได้เป็นผู้จัดเสวนาด้วยตัวเอง

ในกิจกรรมคาร์ม็อบหาดใหญ่ พยานเองได้เห็นการประชาสัมพันธ์จากเพื่อนที่แชร์โพสต์มา แต่พยานไม่ได้เกี่ยวข้องกับเพจเด็กเปรตดังกล่าว โดยพบว่าทางเพจได้มีการรับสมัครผู้ปราศรัยในกิจกรรม จึงได้สนใจเข้าร่วมคาร์ม็อบดังกล่าว 

ในวันเกิดเหตุ พยานไปร่วมเข้าร่วมกิจกรรมเวลา 15.00 น. ภายหลังจากเวลานัดที่ระบุเวลา 13.30 น. เนื่องจากติดภารกิจในการสอบ โดยพยานได้ตรวจสอบไลฟ์สดในเฟซบุ๊ก จึงทราบว่าขบวนรถขับไปที่จุดใด จึงนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างติดตามไปเข้าร่วมบริเวณถนนนิพัฒน์อุทิศ 2 และระหว่างที่ขบวนกำลังหยุด พยานได้ขอพูดปราศรัยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องการจัดการวัคซีน เนื่องจากพยานได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้ไม่สามารถเลือกที่ฝึกงานได้ในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย และการที่ประชาชนไม่สามารถเลือกซื้อวัคซีน mRNA ได้ในขณะนั้น โดยได้มีการสลับกันพูดกับคนอื่นครั้งละ 5 นาที ก่อนสิ้นสุดกิจกรรม

พยานเบิกความว่า คนที่ร่วมคาร์ม็อบทุกคันมีการสวมหน้ากากอนามัย และไม่ได้มีการออกจากรถของตนเองหรือให้คนออกมารวมตัวกัน อีกทั้งสถานที่ในการจัดการชุมนุมนั้นเป็นที่โล่งแจ้ง ไม่ได้มีลักษณะแออัดที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด–19 

พยานเบิกความว่าจากภาพถ่ายของโจทก์ ที่อ้างว่าพบพยานอยู่ตั้งแต่เริ่มกิจกรรมบริเวณหน้าค่ายเสนาณรงค์นั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

ในการตอบคำถามค้านของอัยการ ฝนดาวยืนยันว่าพยานไม่ได้ทราบเส้นทางการเคลื่อนขบวนคาร์ม็อบมาก่อน แต่ไปร่วมตามสถานที่ที่เห็นในไฟล์สดทางเฟซบุ๊ก และได้ขออนุญาตจากผู้ที่อยู่บนรถบรรทุก ขึ้นไปปราศรัย

พยานระบุว่าตนไม่ได้เป็นผู้ปิดแผ่นป้ายทะเบียนรถ แต่พบว่ามีผู้ปิดอยู่บ้าง โดยมีรถยนต์มาร่วมประมาณ 20 คัน รถจักรยานยนต์ประมาณ 30 คัน อัยการพยายามถามถ้อยคำที่บันทึกว่าพยานได้พูดปราศรับว่า “สามารถมาร่วมกับเราได้นะ อย่าลืมเปิดไฟฉุกเฉิน” พยานระบุว่าตนไม่แน่ใจว่าได้พูดคำนี้หรือไม่ แต่รับว่าได้พูดคำว่า “ขอให้เดินทางสวัสดิภาพ ขอบคุณที่มาร่วมงาน” ในช่วงที่มีการแยกย้ายกันกลับ

ในการตอบคำถามติง พยานยืนยันว่าแม้ว่าในระยะเวลานั้น จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่กิจกรรมก็มีความเสี่ยงน้อย เพราะลักษณะการจัดขบวนคาร์ม็อบ เป็นการจัดในที่โล่ง แล้วตัวพยานก็ได้สวมหน้ากากอนามัยสองชั้นและมีการพกเจลแอลกอฮอล์ นอกจากนั้นการจัดขบวนคาร์ม็อบนั้นมีลักษณะที่ไม่ต่างจากการสัญจรตามปกติบนท้องถนน หรืออาจไม่ต่างจากที่รถติดสัญญาณไฟแดง พยานยืนยันว่าตนไม่ได้รู้จักทุกคนในกิจกรรม อาจมีรู้จักบางคนเท่านั้น

.

พยานจำเลยปากที่ 3 ประคุณ ปานเลห์ อายุ 60 ปี อาชีพขับรถรับจ้างทั่วไป

พยานเบิกความว่าตนรับจ้างขับรถบรรทุกเพื่อเผยแพร่ป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์และติดตั้งเครื่องเสียงรถเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยทำอาชีพนี้มากว่า 30 ปี ในรถบรรทุก ก็มีเบอร์โทรของพยานติดประกาศไว้เพื่อการติดต่อรับจ้างไว้ด้วย ก่อนหน้าที่จะมีคดีคาร์ม็อบนี้ พยานเองก็ไม่ได้ร่วมกิจกรรมทางการเมืองมาก่อน เว้นแต่เป็นการรับจ้างงานเพื่อการหาเสียงเลือกตั้ง 

พยานไม่ได้รู้จักกับจำเลยคนอื่นๆ แต่ได้รับการติดต่อจากผู้ว่าจ้างเพื่อเอารถไปประชาสัมพันธ์ในวันก่อนหน้าที่จะมีกิจกรรมคาร์ม็อบ โดยที่ตัวพยานไม่ได้รู้จักผู้ว่าจ้างมาก่อน และได้มีการยืนยันระยะเส้นทางและสถานที่ที่จะต้องขับรถไป เนื่องจากจะต้องกำหนดราคาให้ลูกค้าได้ทราบ พยานจึงรู้เส้นทางตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด 

ในวันเกิดเหตุก่อน 13.00 น. พยานได้นำรถบรรทุกมาจอดที่หน้าป้ายค่ายเสนาณรงค์ บริเวณถนนเลนที่ชิดซ้าย จากนั้นได้มีผู้ยกลำโพงมาใส่กับตู้ แต่ลำโพงนั้นไม่ใช่ของพยาน แต่มีผู้เข้าร่วมนำมา โดยเป็นลำโพง 1 ตัวและตู้ลำโพงอีก 2 ตัว มีเสียงคลื่นในระยะ 50 เมตร จึงเป็นขนาดเล็กพอสามารถใช้ประชาสัมพันธ์ 

พยานยืนยันว่าตนไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบ จึงไม่ได้มีหน้าที่ต้องไปขออนุญาตในการจัด และได้เข้าร่วมกิจกรรมเนื่องจากเป็นผู้รับจ้างงานเท่านั้น ส่วนเรื่องมีการปิดบังแผ่นป้ายทะเบียน พยานไม่ได้เป็นผู้นำกระดาษไปปิดหน้าทะเบียนรถบรรทุก และไม่ทราบว่ามีผู้นำไปปิด เพิ่งมาทราบภายหลัง

พยานยังเห็นผู้เข้าร่วมโดยส่วนใหญ่ใส่หน้ากากอนามัย และไม่ได้มีการลงจากรถเพื่อรวมตัวกันจนทำให้เกิดความแออัด ตัวพยานเองก็สวมหน้ากากและพกเจลแอลกอฮอล์ตลอดกิจกรรม แต่พยานไม่ทราบจำนวนผู้เข้าร่วมที่แน่ชัด

ตัวพยานเองได้ขับตามรถจักรยานยนต์ที่นำทางอยู่ข้างหน้า โดยการเคลื่อนขบวนไปเฉพาะเลนซ้ายของถนน รถคันอื่นๆ สามารถสัญจรเลนขวาได้ตามปกติ ไม่ได้มีการจราจรติดขัดเกิดขึ้น และไม่ได้แตกต่างจากการขับรถสัญจรทั่วไป ทั้งยังไม่ได้มีตำรวจมาห้าม พยานยังระบุว่าขณะเสร็จสิ้นกิจกรรม พยานเตรียมนำรถกลับ ได้มีตำรวจนอกเครื่องแบบ เข้ามาขอดูใบขับขี่ ซึ่งพยานก็ให้ดู

ในการตอบคำถามค้านของอัยการ ประคุณยืนยันว่าโครงเหล็กสำหรับใส่เครื่องเสียงที่อยู่หลังรถพยานนั้น เป็นโครงเหล็กที่มีอยู่เดิมแล้ว และเครื่องขยายเสียงมีขนาดที่เข้ากับโครงเหล็กพอดี ไม่ได้มีการต่อเติม โดยเครื่องขยายเครื่องก็ไม่ใช่ของพยาน

ในการขับรถบรรทุก ได้มีจำเลยที่ 4 นั่งอยู่ด้วยในรถบรรทุกคันเดียวกันด้วย แต่ในท้ายรถนั้น พยานไม่สามารถมองเห็นได้ว่ามีใครบ้างที่ขึ้น-ลงจากรถ ตัวพยานเองมีใบขับขี่สำหรับรถ 6 ล้อ และทราบถึงข้อกฎหมายห้ามไม่ให้ปิดบังป้ายทะเบียนรถ

ในการเคลื่อนขบวนรถ พยานระบุว่าไม่ได้มีการสั่งการจากจำเลยที่ 1 หรือ 2 แต่เนื่องจากเห็นขบวนรถเคลื่อนไปข้างหน้า พยานก็ขับรถตาม โดยพอแยกได้ว่ารถใดเป็นรถที่เข้าร่วมคาร์ม็อบและรถที่สัญจรตามปกติ แต่ในขบวนระหว่างทาง ก็จะมีรถเข้าออกตลอดเวลา ส่วนการยุติกิจกรรม พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ประกาศยุติ เนื่องจากพยานนั่งอยู่ในตำแหน่งคนขับ ไม่ได้เห็นว่าใครปราศรัยอยู่บ้าง หลังยุติกิจกรรม พยานก็ได้รับค่าจ้างตามที่ตกลงกัน

.

พยานจำเลยปากที่ 4 จริงใจ จริงจิตร นักศึกษาชั้นปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พยานเบิกความว่าก่อนจะมีกิจกรรมคาร์ม็อบหาดใหญ่ ตนเห็นกำหนดการในเพจเฟซบุ๊ก “เด็กเปรต” เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564 จึงมีความสนใจที่จะเข้าร่วม แต่พยานไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมและเพจดังกล่าว เป็นเพียงผู้ติดตามเพจ

วันเกิดเหตุ พยานได้เดินทางไปที่ขบวนคาร์ม็อบโดยรถจักรยานยนต์รับจ้าง เมื่อไปถึงจุดนัดหมาย ได้พบเห็นคนในรถบรรทุก และมีรถที่เข้าร่วมจอดในบริเวณนั้นอยู่แล้ว เนื่องจากพยานไม่ได้มีรถมาร่วม จึงได้ขอคนในบริเวณนั้นขึ้นท้ายรถบรรทุก และอยากร่วมปราศรัยด้วย โดยคนที่อยู่ท้ายรถบรรทุกก็ได้อนุญาตให้ขึ้นปราศรัยได้

เนื้อหาที่พยานพูด เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน เพราะพยานมีความตระหนักเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิในเนื้อตัวร่ายกาย โดยในนั้นได้มีข่าวเกี่ยวกับการติดกล้องวงจรปิดในห้องน้ำของโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย และทางโรงเรียนก็ไม่สามารถปกป้องและเยียวยากับผู้ที่ถูกกระทำได้ โดยพยานได้พูดเพียงในจุดหน้าโรงเรียนเพียงจุดเดียว ไม่ได้ปราศรัยในจุดอื่นอีก แต่พยานรับว่าได้แสดงออกโดยการเทอาหารสุนัขและเทสีทาบ้านในฟุตบาธหน้า สภ.หาดใหญ่ แต่ตอนนั้นมีตำรวจมาห้ามไม่ให้เทสีใส่ป้ายของ สภ. แต่ระบุว่าให้เทใส่พื้นได้

พยานยังได้ทำตามมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยการสวมหน้ากากอนามัยและพกเจลล้างมือ และเห็นว่าผู้เข้าร่วมก็ได้ปฏิบัติเช่นกัน สภาพแวดล้อมนั้นไม่ได้มีความแออัดจนเป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงต่อโควิด-19 พยานก็ไม่ได้ติดเชื้อหลังกิจกรรม

.

ประชาสัมพันธ์กิจกรรมคาร์ม็อบหาดใหญ่จากเพจ “เด็กเปรต”

.

สืบพยานวันที่หก 15 กุมภาพันธ์ 2566

พยานจำเลยปากที่ 5 ปทุมมา ตั้งพิพัฒน์มงคล นักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

พยานเบิกความว่าตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มเด็กเปรต เพียงแค่ติดตามเพจในเฟซบุ๊กเท่านั้น ในวันเกิดเหตุ พยานเพียงแค่จะไปเที่ยวกับกลุ่มเพื่อนที่สวนสาธารณะหาดใหญ่ ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของคาร์ม็อบพอดี เวลาประมาณ 15.00 น. พยานและเพื่อนๆ ได้ขับรถจักยานยนต์ประมาณ 2–3 คัน โดยตนเป็นคนซ้อน เมื่อผ่านหน้าค่ายเสนาณรงค์ เห็นคนและรถบริเวณนั้นค่อนข้างมาก จึงทราบว่ามีกิจกรรม

พยานได้ดูในเฟซบุ๊ก และพบว่ามีเพื่อนแชร์กิจกรรมคาร์ม็อบพอดี จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วม เพราะคิดว่าข้อเรียกร้องของกิจกรรมเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ในช่วงเกิดเหตุนั้น ทางมหาวิทยาลัยได้จัดรูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งพยานไม่สามารถเรียนได้ เนื่องจากโน้ตบุ๊คเสีย จึงเห็นด้วยกับปัญหาเรื่องการศึกษาที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19

จากนั้น พยานเข้าร่วมชุมนุมคนเดียว เพื่อนๆ ที่เดินทางมาด้วยกัน ไม่ได้เข้าร่วมด้วย โดยได้ขออาศัยรถจักยานยนต์ของผู้เข้าร่วมรายหนึ่งไปด้วย เมื่อนั่งไปได้พักหนึ่ง ผู้เข้าร่วมรายนั้นจะขอแยกทางออกไป พยานจึงเปลี่ยนมาขึ้นรถบรรทุกที่มีเครื่องขยายเสียงแทน แต่ไม่ได้ร่วมกล่าวปราศรัยบนรถ เมื่อขบวนเคลื่อนไปถึงหน้าหอนาฬิกา พยานก็เรียกรถจักยานยนต์รับจ้างเดินทางกลับ

พยานยืนยันว่าตนเข้าร่วมโดยได้สวมหน้ากากอนามัย และใช้เจลล้างมือ เท่าที่เห็น ผู้ที่เข้าร่วมทุกคนก็สวมหน้ากากอนามัย หลังจากเสร็จกิจกรรม ตนก็ไม่ได้ติดเชื้อโควิด

.

พยานจำเลยปากที่ 6 คอลดูล ปาลาเร่ อาชีพค้าขายและทำงานภาคประชาสังคม โดยจบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

พยานเบิกความว่าที่บ้านตนประกอบอาชีพค้าขายข้าวสาร-อาหารแห้ง ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด พยานได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล ร้านค้าในหาดใหญ่ถือได้ว่าเป็นเมืองร้าง ทำให้ตนไม่มีรายได้ และรัฐบาลในช่วงนั้นไม่มีมาตรการเยียวยาเพียงพอ นอกจากนั้น พยานยังทำงานเกี่ยวกับประเด็นเรื่องทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และสิทธิชุมชน  

ในวันเกิดเหตุ พยานได้ทราบข่าวกิจกรรมจากเพจเด็กเปรต จึงสนใจเข้าร่วม เพราะมีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับวัคซีน และมีการเสนอมาตรการเยียวยาให้แก่พ่อค้า พยานได้นำรถยนต์ของครอบครัวไปเข้าร่วม แต่ให้เพื่อนเป็นคนขับ และได้ขับไปตามขบวนรถเท่านั้น ไม่ได้ร่วมในการปราศรัยแต่อย่างใด โดยทั้งพยานและผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ก็สวมใส่หน้ากากอนามัยไว้ เมื่อเสร็จกิจกรรม ต่างก็แยกย้ายกันกลับ

.

ภาพกิจกรรมจาก MobData Thailand

.

พยานจำเลยปากที่ 7 อภิศักดิ์ ทัศนี อาชีพรับจ้างฟรีแลนซ์ จบการศึกษาด้านพัฒนาชุมชน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

พยานทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ชายฝั่งมาตั้งแต่มัธยม ชื่อกลุ่มว่า Beach for Life โดยเป็นการรณรงค์ให้ข้อมูลชาวบ้านเกี่ยวกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และช่วยเหลือการละเมิดสิทธิชุมชนในการฟ้องคดี พยานยังเปิดร้านอาหารในจังหวัดสงขลา ซึ่งประสบปัญหาเศรษฐกิจจากโควิด-19 อย่างมาก

ช่วงสองวันก่อนเกิดเหตุ พยานได้ทราบการเคลื่อนไหวจากเพจเด็กเปรต ตอนนั้นพยานไม่กล้าฉีดวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า เพราะมีโรคประจำตัว ทำให้สนใจเข้าร่วมนำเสนอปัญหาการจัดหาวัคซีน ทั้งรูปแบบการชุมนุมเป็นแบบคาร์ม็อบ จึงคิดว่าไม่มีความเสี่ยงต่อโรค

วันเกิดเหตุ พยานได้นั่งแกร็ปไปลงหน้าค่ายเสนาณรงค์ เห็นว่ามีรถจอดอยู่จำนวนหลายคัน และสังเกตเห็นเจ้าหน้าที่มาชี้แจงกับกลุ่มคนที่มาร่วม ตนก็ได้เข้าไปฟัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องการปิดบังป้ายทะเบียนรถ และให้สวมหน้ากากอนามัย จากนั้นได้มีผู้ชุมนุมประกาศให้ผู้เข้าร่วมสามารถขึ้นรถใครก็ได้ ตนจึงได้ขึ้นท้ายรถกระบะสีดำไปตลอดการเคลื่อนขบวน โดยบนรถคันนั้น มีคนขึ้นติดไปด้วยอีกประมาณ 3–4 คน แต่พยานไม่ได้เกี่ยวข้องกับการนำกระดาษไปติดแผ่นป้ายทะเบียน

พยานได้สวมหน้ากากอนามัย พกเจลแอลกอฮอล์เข้าร่วม และไม่ได้ติดเชื้อหลังกิจกรรม เดือนต่อมาพยานก็ได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ พยานไม่ได้รู้จักกับจำเลยคนอื่นๆ เพียงแค่เคยเห็นหน้ากันมาบ้างบางคน นอกจากนั้นเหตุที่มีภาพพยานใส่ปอกแขนสีแดง เพราะมีผู้นำมาให้กับผู้ชุมนุมหลายคน ไม่ได้ทราบว่าเป็นสัญลักษณ์ใด

.

พยานจำเลยปากที่ 8 ธีรุตม์ สันหวัง อาชีพรับจ้างทั่วไป 

พยานปากนี้เบิกความว่า บ่ายวันเกิดเหตุ พยานไปนั่งดื่มกาแฟกับเพื่อนแถว ม.หาดใหญ่ และเพื่อนได้ถามว่าวันนี้มีคาร์ม็อบไม่ไปหรือ จึงได้ทราบว่ามีกิจกรรมดังกล่าว หลังจากแยกย้ายกับเพื่อน พยานขับรถจักรยานยนต์ไปเห็นขบวนคาร์ม็อบเคลื่อนถึงหน้าคอนโด จึงหยิบกล้องมาถ่ายภาพเคลื่อนไหว ซึ่งรถที่พยานขับนั้นก็ไม่ได้มีการปิดป้ายทะเบียนรถ พยานได้ขับตามไปด้านท้ายขบวนจนถึงหน้าหอนาฬิกา จากนั้นก็แยกย้ายกลับ และนำภาพและวิดีโอยาวประมาณ 3 นาที ไปโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของตน แต่กลับกลายเป็นว่าถูกกล่าวหาดำเนินคดีไปด้วย

พยานไม่ได้รู้จักกับจำเลยคนอื่นๆ มาก่อน และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัด โดยพยานไม่เคยไปติดตามกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “เด็กเปรต” มาก่อน

.

พยานจำเลยปากที่ 9 ศุภกร ขุนชิต ประกอบธุรกิจส่วนตัว ในช่วงเกิดเหตุเป็นนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

พยานเบิกความว่าสองสามวันก่อนเกิดเหตุ ตนเห็นเพื่อนแชร์รูปประชาสัมพันธ์กิจกรรมคาร์ม็อบในหาดใหญ่ในเฟซบุ๊ก โดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลที่จำได้ 2 ข้อ คือ 1. ขอให้รัฐบาลเร่งจัดหาวัคซีน mRNA  2. การปฏิรูปองค์กรตำรวจ ซึ่งปกติพยานสนใจการเมืองอยู่แล้ว และเห็นว่าวัคซีนที่รัฐบาลได้รับมาในช่วงนั้น เป็นวัคซีนเชื้อตายอย่างเดียว จึงต้องการร่วมเรียกร้องวัคซีนที่ดีเข้ามาให้ประชาชนด้วย

วันเกิดเหตุ พยานได้เดินทางไปร่วมชุมนุมในตอนท้ายๆ ไม่ได้ไปตั้งแต่ตอนเริ่ม โดยนำรถจักรยานยนต์ไปคนเดียว และรถของตนไม่ได้ติดป้ายทะเบียน ทั้งพยานไม่ได้ขึ้นปราศรัย เพียงแต่ได้ขับรถตามขบวนเท่านั้น ขณะเดียวกัน พยานได้สวมหน้ากากอนามัย และไม่ได้ลงจากรถมารวมกลุ่มเลยตลอดกิจกรรม พยานระบุว่า ตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มเด็กเปรต เพียงแต่เป็นผู้ติดตามในเฟซบุ๊ก

.

พยานจำเลยปากที่ 10 อัษฎา งามศรีขำ อาชีพค้าขายขนม

พยานระบุว่าก่อนเกิดเหตุ ได้พบว่ามีการประชาสัมพันธ์ทางเฟซบุ๊กว่าจะมีชุมนุมคาร์ม็อบหาดใหญ่ ในวันที่ 14 ส.ค. 2564 ข้อเรียกร้องที่พยานสนใจคือเรื่องวัคซีน ตอนนั้นมีเพียงวัคซีนซิโนแวค และประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ โดยตนต้องการเรียกร้องให้บุคลากรที่อยู่ด่านหน้าได้รับวัคซีน นอกจากนั้น พยานยังเดือดร้อนจากนโยบายช่วงโควิด เพราะเป็นผู้ส่งขนมให้กับร้านค้าปลีก ลูกค้ารายย่อยมีการแจ้งเตือนเกี่ยวกับคนติดโควิด จึงทำให้ลูกค้าตนไม่กล้าเปิดร้านขายของ 

วันเกิดเหตุ พยานได้เข้าร่วมชุมนุมในเวลาประมาณ 13.00 น. โดยขับรถจักรยานยนต์ของตนไปร่วมขบวน ที่เริ่มออกไปได้ประมาณ 10 นาทีเศษ พยานสวมหน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอล์ ลักษณะการขับรถยังได้เว้นระยะห่างจากคนอื่น ไม่เคยลงจากรถไปรวมกลุ่ม และไม่ได้มีการปิดป้ายทะเบียนรถ  

พยานไม่ได้ร่วมปราศรัย และไม่ได้ร่วมกำหนดเส้นทางการเคลื่อนขบวน เมื่อขบวนยุติลงบริเวณหน้าหอนาฬิกา ตนก็กลับบ้าน และไม่ได้ติดเชื้อโควิดหลังกิจกรรม พยานไม่ทราบด้วยว่าใครเป็นผู้จัดกิจกรรม หรือกลุ่มเด็กเปรตเป็นใคร

.

ภาพกิจกรรมจาก MobData Thailand

.

สืบพยานวันที่เจ็ด 16 กุมภาพันธ์ 2566

พยานจำเลยปากที่ 11 ธนัดดา แก้วสุขศรี พยานเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จากหาดใหญ่

พยานเบิกความว่าตนมีความสนใจต่อประเด็นสังคม อาทิ คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ การศึกษา และการบริหารงานของรัฐบาล ต่อมาได้ทราบว่าจะมีการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบหาดใหญ่จากเพจเฟซบุ๊กเด็กเปรต ที่ตนเป็นผู้ติดตาม และมีความสนใจที่จะเข้าร่วม เนื่องจากเห็นว่า ประชาชนทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาลได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ อีกทั้งเห็นว่ากิจกรรมไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค รูปแบบอยู่ในยานพาหนะส่วนตัว ไม่ได้มีการลงไปรวมตัว

พยานเดินทางไปร่วมกิจกรรมนี้โดยใช้บริการรถจากแกร๊ป ไม่ได้มีพาหนะส่วนตัว ทำให้เมื่อมีการเคลื่อนขบวน จึงได้ขอขึ้นรถบรรทุก 6 ล้อ ไปด้วย โดยอาศัยนั่งข้างคนขับ พยานสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาการเคลื่อนขบวน ทั้งยังเว้นระยะพื้นที่ และเคลื่อนที่ไปอย่างช้าๆ ในเลนถนนด้านซ้าย เพื่อให้การจราจรสามารถสัญจรได้ตามปกติ ภายหลังกิจกรรม พยานหรือผู้เข้าร่วมไม่ได้ภาวะติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหลังจากกิจกรรม รัฐบาลได้จัดสรรวัคซีนให้แก่ประชาชนเพิ่มขึ้นจากเดิมในยี่ห้ออื่นๆ ซึ่งนับว่าเป็นผลดีจากข้อเรียกร้องในการชุมนุม 

.

พยานจำเลยปากที่ 12 สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ นักวิชาการทางนิติศาสตร์ 

พยานเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สอนวิชารัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชน โดยเคยได้รับทุนจากศาลรัฐธรรมนูญ ทำการศึกษาวิจัยเรื่องเสรีภาพในการชุมนุม

สุทธิชัยได้เบิกความถึงหลักการในการจะจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของรัฐว่า 1. ต้องมีกฎหมายให้อำนาจการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม  2. การจำกัดสิทธิเสรีภาพต้องมีเหตุผลตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด 3. การจำกัดต้องสอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วน 

ภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ) นั้น พยานเห็นว่านายกรัฐมนตรีสามารถออกข้อกำหนดเพื่อจำกัดการชุมนุมได้ แต่การใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าว ต้องเป็นไปตาม “หลักความพอสมควรแก่เหตุ” หมายถึง จำกัดเท่าที่จำเป็น ผู้ใช้อำนาจต้องถ่วงดุลระหว่างความเสี่ยงของการแพร่โรคระบาดและการใช้เสรีภาพชุมนุม อีกทั้งต้องพิจารณาเป็นรายกรณี เนื่องจากบางการชุมนุมก็ไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เหตุดังกล่าว รัฐจึงไม่สามารถจำกัดการชุมนุมแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้  

ตามข้อกำหนดที่ออกตามความใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายในการป้องกันการแพร่โรค แม้กิจกรรมจะรวมตัวกันเกิน 5 คน แต่การรวมกลุ่มไม่มีลักษณะการแพร่โรค ทำให้การชุมนุมดังกล่าว ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด ที่ออกคำสั่งคล้ายกันกับข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็จำเป็นต้องอาศัยเหตุเดียวกันในการพิจารณา 

ในแง่ความเห็นพฤติกรรม จากที่พยานจำเลยได้ติดตามกิจกรรมคาร์ม็อบ ซึ่งมีการจัดกิจกรรมทั่วประเทศ ไม่เฉพาะจังหวัดสงขลา พบว่ากิจกรรมลักษณะนี้เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากไม่สามารถชุมนุมในสถานที่ใดแบบเดิมได้ ผู้จัดกิจกรรมจึงเปลี่ยนวิธี โดยใช้รถยนต์ในการจัด ซึ่งช่วยในการลดการแพร่ระบาดและทำให้สามารถแสดงออกทางการเมืองได้ พยานจึงเห็นว่ากิจกรรมคาร์ม็อบเป็นการสร้างสมดุลระหว่างการใช้เสรีภาพการชุมนุมในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19

การเคลื่อนขบวนโดยรถยนต์ส่วนตัว ไม่ได้ลงจากรถ ได้ช่วยลดความเสี่ยง ไม่ได้แตกต่างกับการสัญจรทั่วไปในชีวิตประจำวัน พยานจึงเห็นว่ากิจกรรมลักษณะนี้ยังอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกติการะหว่างประเทศที่ไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีในส่วนของสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงปัจจุบัน ทางรัฐบาลไทยยังได้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปแล้วด้วย และพบว่าจากการติดตามสถานการณ์คดี มีคดีคาร์ม็อบในหลายจังหวัด ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องไม่ฟ้องไปแล้ว รวมถึงศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง

.

—————————-

* บันทึกการสังเกตการณ์โดยทีมงาน “กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)”

.

X