2คดี พรก.ฉุกเฉินฯ ถึงมืออัยการ ชุมนุม “อีสานบ่ย่านเด้อ”-“อีสานสิบ่ทน” นัดส่งฟ้องต้นเดือน ต.ค.  

25 ก.ย. 2563 ธนภณ เดิมทำรัมย์, วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง และ “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม นักศึกษา/นักกิจกรรม ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ จากกรณีการชุมนุม #อีสานบ่ย่านเด้อ ที่จัดโดยกลุ่ม “ขอนแก่นพอกันที” เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 เดินทางไปที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่น ตามที่พนักงานสอบสวนนัดหมายส่งตัวให้อัยการ หลังสรุปสำนวนการสอบสวนและมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งห้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาไปก่อนหน้านี้

ในวันนี้ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ติดภารกิจกะทันหัน ไม่สามารถเดินทางมาตามที่นัดหมายได้ 

หลังพนักงานอัยการได้รับตัวผู้ต้องหา 3 ราย แล้ว ได้นัดหมายทั้งสาม รวมทั้งจตุภัทร์และพริษฐ์มาพบเพื่อส่งฟ้องต่อศาลแขวงขอนแก่นในวันที่ 9 ต.ค. 2563 เวลา 10.00 น. 

คดีนี้ในชั้นสอบสวนของตำรวจ ทั้งห้าได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ให้การเพิ่มเติมใดๆ รวมทั้งไม่ลงชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่ยอมรับกระบวนการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะจตุภัทร์ให้การเพิ่มเติมว่า “ไม่ประสงค์ร่วมกระบวนการยุติธรรมในครั้งนี้ เพราะรัฐใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง”  

ชุมนุม #อีสานบ่ย่านเด้อ

เช่นเดียวกัน วานนี้ (24 ก.ย. 2563) พนักงานสอบสวน สภ.เขวาใหญ่ จ.มหาสารคาม ได้ส่งตัว “บอย” พงศธรณ์ ตันเจริญ นิสิตปี 2 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สมาชิกแนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มเสรีมวลชนเพื่อสังคม พร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการจังหวัดมหาสารคาม หลังจากพงศธรณ์ตกเป็นผู้ต้องหา โดยถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐาน ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ จากกรณีที่เครือข่ายนักศึกษาจัดชุมนุม “อีสานสิบ่ทน” เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 ที่ลานแปดเหลี่ยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา พงศธรณ์ได้ยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อพนักงานสอบสวน พร้อมกันนี้พงศธรณ์ได้ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามในประเด็นที่เกี่ยวกับประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดมหาสารคาม เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้แจ้งพงศธรณ์ว่าได้ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นที่ยื่นหนังสือมาแล้ว จากนั้นคณะพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนโดยมีความเห็นควรสั่งฟ้องพงศธรณ์ใน 3 ข้อหาดังกล่าว ก่อนส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการ

หลังพนักงานอัยการรับตัวผู้ต้องหาไว้แล้วได้นัดฟังผลการพิจารณาสั่งคดีในวันที่ 1 ต.ค. 2563 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดผัดฟ้องครั้งที่ 5 ซึ่งหากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องก็อาจยื่นฟ้องต่อศาลในวันดังกล่าวเลย

คำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือที่พงศธรณ์ยื่นต่อพนักงานสอบสวน และประเด็นที่ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้ 

1. สาเหตุและพฤติการณ์คดีนี้เนื่องมาจาก ผู้ต้องหาได้ไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์บริเวณลานแปดเหลี่ยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งมีมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 ตามสมควร  บุคคลผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากากอนามัย ยืนรักษาระยะห่างตามสมควร สถานที่ทำกิจกรรมเป็นพื้นที่โล่งเปิดกว้าง ไม่ใช่สถานที่แออัด โดยมีเจตนาในการแสดงออกเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ประกาศยุบสภา, ยุติบทบาท ส.ว., จัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อันเป็นเพียงการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

2. สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม ถือเป็นเครื่องมือแสดงออกซึ่งเจตจำนงอย่างเสรีของพลเมืองที่มีอุดมการณ์ร่วมกันอันเกิดขึ้นจากความสมัครใจร่วมกันของปัจเจกบุคคล และเป็นวิธีในการแสดงออกซึ่งเจตจำนงของมวลชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพื่อเป็นเครื่องสะท้อนและกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน   จึงถือเป็นสิทธิมนุษยชนสำคัญซึ่งในทางสากลให้การยอมรับและบัญญัติไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 และมาตรา 44 ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กิจกรรมตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาจึงเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต และเป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ตามที่ ICCPR  ได้รับรองไว้ ไม่ถือเป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหา 

3. การออกประกาศห้ามชุมนุมของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงเป็นการตรากฎหมายที่มิได้มีวัตถุประสงค์จำกัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของบุคคลเป็นการทั่วไปเพื่อยับยั้งบุคคลไม่ให้มีความเห็นต่างจากรัฐ แต่มุ่งใช้บังคับเฉพาะการรวมตัวที่กระทบต่อสถานการณ์แพร่เชื้อโรคระบาดเท่านั้น ดังนั้น การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในคดีนี้จึงเป็นการใช้ดุลพินิจตีความกฎหมายผิดพลาดอย่างร้ายแรง เป็นไปโดยมีเหตุผลทางการเมืองเพื่อแทรกแซงยับยั้งการใช้สิทธิ เสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมายของประชาชนในการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และมีเจตนาไม่สุจริต

4. เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงดังกล่าว ผู้ต้องหาจึงขออ้างพยานบุคคลเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา โดยขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ในประเด็นต่อไปนี้

             1) จังหวัดมหาสารคามพบประชาชนในจังหวัดติดเชื้อโควิด 19 ครั้งแรก เมื่อวันที่เท่าใด จำนวนกี่ราย

             2) จังหวัดมหาสารคามพบประชาชนในจังหวัดติดเชื้อโควิด 19 เป็นรายสุดท้าย เมื่อวันที่เท่าใด

             3) ตามข้อมูลสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามได้พบว่ามีประชาชนในจังหวัดมหาสารคามติดเชื้อโควิด-19 จากการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “อิสานสิบ่ทน” เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ณ ลานแปดเหลี่ยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือไม่ อย่างไร

ชุมนุม #อีสานสิบ่ทน ภาพจากเพจ แนวร่วมนิสิตมมส.เพื่อประชาธิปไตย

คดีทั้งสองนี้ ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาใน 3 ข้อหา เช่นเดียวกัน โดยความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศหรือข้อกำหนดห้ามชุมนุมที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6) มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 63 เป็นต้นมา เป็นเวลาเกือบ 6 เดือน มีการนำกฎหมายฉบับนี้มาใช้กล่าวหาเพื่อดำเนินคดีกับประชาชนซึ่งออกมาชุมนุมทางการเมือง แล้วอย่างน้อย 21 คดี รวมผู้ถูกกล่าวหาจำนวนอย่างน้อย 73 คน (อ่านรายงาน ณ 26 ส.ค. 2563 ที่ เปิดสถิติคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 17 คดี 63 ราย แม้รัฐบาลอ้างไม่ใช้กับการชุมนุม) ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาอย่างน้อย 31 คน โดยมีกรณีที่นักศึกษายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการขอให้ไม่ฟ้องคดี เนื่องจากไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

 

X