ศาลยกฟ้องคดี “คาร์ม็อบแม่สอด” ทุกข้อหา ชี้ผู้ชุมนุมคำนึงถึงมาตรการป้องกันโรค-ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ

26 ต.ค. 2565 ศาลจังหวัดแม่สอดนัดฟังคำพิพากษาในคดีคาร์ม็อบแม่สอด ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 เพื่อร่วมเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และแสดงออกวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในเรื่องเศรษฐกิจและการจัดการวัคซีนโควิด – 19 ที่ล้มเหลว

คดีนี้มีประชาชน 2 ราย ได้แก่ จิรารัตน์ มูลศิริ อายุ 36 ปี ทนายความด้านสิทธิของแรงงานข้ามชาติ และประวิทย์ อัศวสิริมั่นคง อายุ 72 ปี ประชาชนเสื้อแดงในอำเภอแม่สอด ถูกฟ้องในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดตาก เรื่องห้ามการชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ, ส่งเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร และกีดขวางทางสาธารณะ

ย้อนอ่านบันทึกสืบพยาน สองจำเลยคดี “คาร์ม็อบแม่สอด” ยันไม่ใช่ผู้จัด เพียงไปร่วมไม่นาน เหตุไม่พอใจการทำงานรัฐบาล ไม่ได้เสี่ยงโควิด

.

วันนี้ จำเลยทั้งสองคนเดินทางมาฟังคำพิพากษา คดีในห้องพิจารณาที่ 4 มี รณชัย โตงาม ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณา โดยได้ดำเนินการอ่านคำพิพากษาในคดีอื่นๆ ก่อน

จนเวลา 10.25 น. ศาลได้เริ่มอ่านคำพิพากษา โดยสรุประบุว่า จากพยานหลักฐานฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 (จิรารัตน์) เป็นผู้นำข้อความประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมคาร์ม็อบเผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัว แต่เมื่อพิจารณาหลักฐานข้อความของโจทก์ ไม่ปรากฏว่ามีผู้เห็นข้อความดังกล่าวมากน้อยเพียงใด มีผู้ติดตามจำเลยที่ 1 เท่าไร และมีผู้มาร่วมกิจกรรมตามโพสต์หรือไม่ จึงไม่เป็นที่แน่ชัดถึงผลของข้อความในเฟซบุ๊กของจำเลย 

ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นแอดมินของเพจ “แม่สอดต้านเผด็จการ” หรือมีส่วนร่วมในการกำหนดเส้นทางคาร์ม็อบ หรือออกค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมหรือไม่

ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 1 ได้เผยแพร่ข้อความประชาสัมพันธ์ และได้เข้าร่วมกิจกรรมในวันเกิดเหตุ พยานหลักฐานจึงยังไม่พอรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดกิจกรรมตามฟ้อง 

ส่วนในฟ้องเรื่องการเข้าร่วมกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค พยานโจทก์ที่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ตอบคำถามค้านเช่นเดียวกันว่าการชุมนุมเกิดขึ้นในที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ใช่สถานที่แออัด ผู้ชุมนุมไม่ถึงขนาดอยู่ใกล้ชิดกัน ทั้งส่วนใหญ่มีการสวมใส่หน้ากากอนามัย ยืนเว้นระยะห่าง ขณะเคลื่อนขบวนรถ ผู้ชุมนุมก็อยู่ในรถของตนเองทั้งสิ้น

จากภาพถ่ายกิจกรรม จำเลยทั้งสองยังสวมใส่หน้ากากอนามัย ยืนเว้นระยะห่าง ประกอบกับโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานว่ามีผู้ติดเชื้อจากการชุมนุมดังกล่าวหรือไม่

พยานหลักฐานจึงรับฟังได้ว่าการชุมนุมยังคำนึงการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 

ในส่วนฟ้องในข้อหากีดขวางทางสาธารณะ และส่งเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร ศาลเห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 ขับรถคันใดเข้าร่วม และกีดขวางทางสาธารณะในลักษณะใด และไม่อาจยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมใช้สัญญาณแตรเหมือนผู้ชุมนุมที่กดสัญญาณแตรไปตลอดทางหรือไม่

จากภาพถ่ายกิจกรรม ยังปรากฏว่ารถที่เข้าร่วมต่อแถวเป็นขบวน ยังไม่ถึงขนาดกีดขวางการจราจร เพียงแต่มีรถเข้าร่วมจำนวนมากเท่านั้น จำเลยที่ 1 ยังเบิกความว่าได้แยกตัวออกไปจากขบวนรถ พยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่สามารถยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เข้าร่วมกิจกรรมโดยตลอดหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

ส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความว่าไปร่วมกิจกรรมที่หน้าห้างโรบินสันแม่สอดจริง และได้ร่วมถ่ายภาพกับเพื่อนผู้ชุมนุม ตามภาพถ่ายที่เป็นพยานหลักฐานของโจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ได้แยกตัว เดินทางกลับ ไม่ได้ร่วมไปกับขบวนรถ เมื่อประกอบกับคำวินิจฉัยถึงกิจกรรมในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีก

พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสอง ทุกข้อกล่าวหา

หลังฟังคำพิพากษา ประวิทย์ จำเลยที่ 2 เปิดเผยความรู้สึกว่า คำพิพากษาควรเป็นเช่นนี้อยู่แล้ว เพราะตนไม่ควรมีความผิดอะไร คดีนี้ตนถูกตำรวจเรียกไปให้การในฐานะพยานต่อกิจกรรมในตอนแรก ทั้งตนยังไปร่วมคาร์ม็อบเพียงช่วงสั้นๆ ไม่คิดว่าต่อมาจะถูกแจ้งข้อหาไปด้วย อาจจะเพราะถูกจับตา เนื่องจากเคยร่วมเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงมาก่อน หลังจากนี้ จะรอคดีสิ้นสุด และหารือว่าจะสามารถดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้กล่าวหาได้บ้างหรือไม่

คดีนี้นับเป็นคดีจากการชุมนุมที่ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีที่ 34 แล้ว ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ซึ่งเป็นแนวโน้มส่วนใหญ่ของคดีที่ต่อสู้ในชั้นศาล (ดูตาราง สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง)

X