ก่อนพิพากษา: สองจำเลยคดี “คาร์ม็อบแม่สอด” ยันไม่ใช่ผู้จัด เพียงไปร่วมไม่นาน เหตุไม่พอใจการทำงานรัฐบาล ไม่ได้เสี่ยงโควิด

วันที่ 26 ต.ค. 2565 นี้ ศาลจังหวัดแม่สอดนัดฟังคำพิพากษาในคดี “คาร์ม็อบแม่สอด” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 คดีนี้มีประชาชน 2 ราย ได้แก่ จิรารัตน์ มูลศิริ อายุ 36 ปี ทนายความด้านสิทธิของแรงงานข้ามชาติ และประวิทย์ อัศวสิริมั่นคง อายุ 72 ปี ประชาชนเสื้อแดงในอำเภอแม่สอด ถูกฟ้องในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดตาก เรื่องห้ามการชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ, ส่งเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร และกีดขวางทางสาธารณะ

กิจกรรมคาร์ม็อบนี้ใช้ชื่อว่า #แม่สอดต้านเผด็จการ จัดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และแสดงออกวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในเรื่องเศรษฐกิจและการจัดการวัคซีนโควิด – 19 ที่ล้มเหลว โดยเป็นการขับรถแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ไปรอบตัวเมืองแม่สอดในวันเดียวกับที่มีการแสดงออกลักษณะเดียวกันนี้หลายจังหวัดทั่วประเทศ

หลังจากกิจกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่สอด ได้ออกหมายเรียกผู้เข้าร่วม 2 ราย ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา 4 ข้อหาดังกล่าว โดยทั้งคู่ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่อยมา ก่อนคดีจะถูกสั่งฟ้องที่ศาลจังหวัดแม่สอด เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2564    

การฟ้องคดีนี้ยังมีข้อสังเกต คือในช่วงท้ายของคำฟ้อง พนักงานอัยการระบุขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยทั้งสอง เนื่องจากอ้างว่า “จำเลยเป็นบุคคลต่างด้าวเกรงว่าจะหลบหนี” ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว จำเลยทั้งสองเป็นประชาชนชาวไทยตามกฎหมาย แต่ต่อมาศาลให้ประกันตัวทั้งสองคน โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์

คดีมีการสืบพยานไประหว่างวันที่ 13 – 14 ก.ย. 2565 โดยอัยการโจทก์นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 5 ปาก ประกอบด้วย ตำรวจผู้กล่าวหา, ตำรวจชุดสืบสวน, ตำรวจชุดป้องกันปราบปราม สายงานจราจร และพนักงานสอบสวน ด้านจำเลยมีพยานเข้าเบิกความ 2 ปาก คือ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 อ้างตนเป็นพยาน

ประเด็นข้อต่อสู้สำคัญของฝ่ายจำเลย คือทั้งสองคนไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบดังกล่าว เพียงแต่ไปเข้าร่วมในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ไม่ได้อยู่ตลอดกิจกรรม จึงไม่ได้มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบดูแลการชุมนุมให้มีมาตรการป้องกันโควิด ขณะเดียวกันกิจกรรมยังเกิดขึ้นในพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเท ไม่ใช่พื้นที่แออัด ทั้งไม่มีการปราศรัยหรือรวมตัวกัน หากมีการลงมายืนนอกรถ ผู้เข้าร่วมก็มีการสวมใส่หน้ากากอนามัย นอกจากนั้น กิจกรรมก็ไม่ได้ทำให้การจราจรติดขัด หรือเป็นการกีดขวางทางสาธารณะ ประชาชนยังสัญจรไปมาด้วยช่องทางเดินรถอื่นๆ ได้ ทั้งสองคนยังไม่ได้ร่วมบีบแตรในระหว่างคาร์ม็อบเคลื่อนขบวนด้วยแต่อย่างใด

.

ภาพโปสเตอร์กิจกรรมคาร์ม็อบแม่สอด ระบุให้ผู้เข้าร่วมสวมแมสก์และพกเจลแอลกอฮอล์

.

ชุมนุมคาร์ม็อบไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล และการจัดการวัคซีนที่ล้มเหลว ไม่มีเหตุวุ่นวาย

กลุ่มพยานโจทก์เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้แก่ พ.ต.ท.ธานินทร์ พรมเกตุ สารวัตรสืบสวน สภ.แม่สอด เป็นผู้กล่าวหา, ร.ต.อ.วรรัตน์ ใจคำ รองสารวัตรสืบสวน สภ.แม่สอด, พ.ต.ท. ชาญชัย วีระ สารวัตรอำนวยการ สภ.แม่สอด, ร.ต.อ. สมพร สุยะตุ่น รองสารวัตรปราบปราม สภ.แม่สอด, พ.ต.ท.ชัยรัตน์ น่านกาศ พนักงานสอบสวน

ทั้งหมดเบิกความถึงเหตุการณ์กิจกรรมคาร์ม็อบในลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ อ้างว่าทางตำรวจไม่ทราบว่าการชุมนุมในครั้งนี้มีสาเหตุมาจากการแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการปฏิบัติงานของรัฐบาลชุดนี้ และปัญหาการจัดการวัคซีนโควิด – 19 ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทราบแค่เพียงว่าจะมีการจัดชุมนุมกัน

พ.ต.ท.ธานินทร์ พรมเกตุ เบิกความว่า วันดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ตรวจสอบก่อนเริ่มต้นการชุมนุม โดย พ.ต.ท.ชาญชัย วีระ เข้าพูดคุยกับผู้ชุมนุมว่าขอให้ยุติการชุมนุม เนื่องจากมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และอาจเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสโควิด – 19 แต่ผู้ชุมนุมไม่ได้เลิกชุมนุมตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งเตือน อีกทั้งผู้ชุมนุมยังกล่าวกับเจ้าหน้าที่ว่าเป็นสิทธิของประชาชนตามกฎหมายที่จะสามารถออกมาแสดงความคิดเห็นของตนได้

ร.ต.อ.วรรัตน์ ใจคำ เบิกความว่า หลังจากเจ้าหน้าที่เข้าพูดคุยกับผู้ชุมนุมแล้ว ผู้ชุมนุมได้มีการเคลื่อนขบวนเวลาประมาณ 16.30 น. โดยมีรถยนต์ผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 20 – 30 คัน รวมทั้งรถของผู้ใช้รถใช้ถนนอื่นด้วย โดยเส้นทางที่ใช้ในการเดินรถนั้น เริ่มจากหน้าห้างสรรพสินค้าโรบินสัน แม่สอด แล้วกลับมาที่วงเวียนใหญ่ แม่สอด เข้ามาในตัวเมือง เคลื่อนตัวต่อไปที่ตลาดริมเมย เข้าโรบินสัน และจบที่โรงเรียนราษฎร์วิทยา เบ็ดเสร็จรวมทั้งสิ้นมีขบวนรถทยอยมาเข้าร่วมประมาณ 60 คัน ผู้ชุมนุมมีการยืนชูป้ายอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง และยุติการชุมนุมเวลาประมาณ 18.30 น.

ทั้งนี้ พยานปากเจ้าหน้าที่ตำรวจตอบทนายจำเลยถามค้านเช่นเดียวกันว่า กิจกรรมไม่มีเหตุวุ่นวายหรือไม่มีใครยุยงให้ผู้ชุมนุมก่อความวุ่นวายทั้งในขณะชุมนุมและภายหลังยุติการชุมนุม

.

ภาพจากเพจ “แม่สอดต้านเผด็จการ”

.

ถึงจะเป็นคาร์ม็อบ แต่การสัญจรยังคงเป็นไปได้สะดวก

ร.ต.อ.สมพร สุยะตุ่น ซึ่งรับหน้าที่ดูแลการจราจรขณะเกิดเหตุ ยังเบิกความว่า วันที่ 1 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 16.00 น. ได้รับคำสั่งจากผู้กำกับการให้ไปดูแลจราจรจากการชุมนุมหน้าห้างสรรพสินค้าโรบินสัน แม่สอด พบรถจำนวนมากประมาณ 60 คัน จากการประมาณโดยสายตา โดยพยานเข้าไปยังสถานที่เกิดเหตุพร้อมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน ซึ่งพยานจำชื่อเจ้าหน้าที่เหล่านั้นไม่ได้ มีหลายนาย แต่จำนวนไม่ถึง 10 คน

ต่อมาขบวนรถเริ่มเคลื่อนตัว พยานติดตามแค่ในช่วงแรก โดยตามขบวนต่อโดยเลี้ยวเข้าตัวอำเภอแม่สอด ผ่านตลาดบ้านเหนือ จนถึงศูนย์ตรวจจราจร ทั้งนี้ลักษณะการเคลื่อนตัวของขบวนนั้นวิ่งช้าๆ แต่ไม่มีการติดขัดของการสัญจร พยานคอยสังเกตไม่ให้รถติดขัด

ขณะที่ พ.ต.ท.ธานินทร์, ร.ต.อ.วรรัตน์, พ.ต.ท.ชาญชัย ชุดสืบสวน ตอบทนายจำเลยถามค้าน สอดคล้องกับคำเบิกความของ ร.ต.อ.สมพร ว่า ขณะการชุมนุมนั้นผู้ชุมนุมใช้ช่องทางเดินรถตามปกติทางด้านซ้าย ไม่มีการติดขัดหรือได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนในเรื่องการใช้รถใช้ถนน สามารถใช้ช่องทางเดินรถได้ตามปกติ และไม่มีการปิดกั้นทางจราจรจากผู้ชุมนุม

.

การชุมนุมไม่แออัด มีการป้องกันโควิด และขณะเกิดเหตุไม่พบการแพร่ระบาดของเชื้

ขณะเดียวกัน พยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ลงพื้นที่เกิดเหตุทั้ง 4 ปาก ต่างก็ตอบทนายจำเลยถามค้านด้วยว่า ที่ชุมนุมนั้นเป็นบริเวณถนนโล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้ และไม่แออัด ผู้ชุมนุมมีมาตรการป้องกันการระบาดของโรค โดยมีการสวมใส่หน้ากากอนามัย หากมีผู้เข้าร่วมที่ลงมายืนนอกรถ ก็มีการเว้นระยะห่างกัน

ผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะมีการชุมนุมนั้น เป็นช่วงที่โรงเรียน หรือสถานศึกษา ปิดทำการเนื่องจากสถานการณ์โควิด – 19 สภาพถนนและการจราจรจึงโล่งไม่มีการแออัด

พ.ต.ท.ธานินทร์ พรมเกตุ ผู้กล่าวหา ยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตนไม่ได้รับแจ้งหรือมีการสืบค้นข้อมูลเรื่องมีการเพิ่มขึ้นของตัวเลขการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด – 19 ภายหลังจาการชุมนุมได้เสร็จสิ้น ช่วง ส.ค. – ก.ย. 2564 ในพื้นที่อำเภอแม่สอดหรือไม่

.

ในวันเข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดีนี้ จิรารัตน์ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อตำรวจขอให้เคารพการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน อีกทั้งทางสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ยังได้มีการออกจดหมายเปิดผนึก “ขอให้ยุติการใช้กระบวนการยุติธรรมปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

.

จำเลยที่ 1 นำโปสเตอร์งานไปโพสต์ ไม่ใช่ผู้จัด วันจัดได้เข้าไปพูดคุยกับตำรวจเพราะรู้จักมาก่อน และขับตามไปเจอขบวนรถ

ในส่วนของพยานจำเลยนั้น จิรารัตน์ มูลศิริ จำเลยที่ 1 เป็นทนายความในคลินิคกฎหมาย อำเภอแม่สอด โดยมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ ค่าแรง และเรื่องนโยบายการจัดการของทางการไทย เบิกความถึงที่มาของความสนใจร่วมแสดงออกทางการเมืองว่า สืบเนื่องจากปี 2563 มีกิจกรรมการต่อต้านรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากการรัฐประหารเรื่อยมา ตนได้ติดตามข่าวสารการชุมนุม จนในช่วงวันที่ 25 ก.ค. 2564 มีประกาศในช่องทางโซเชียลมีเดียว่าจะมีการรวมตัวกันทุกจังหวัดในลักษณะกิจกรรมคาร์ม็อบเพื่อเรียกร้องให้ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการจัดสรรวัคซีนที่ล้มเหลว  

ต่อมามีการประกาศจัดการชุมนุมคาร์ม็อบในอำเภอแม่สอด ในวันที่ 1 ส.ค. 2564 โดยมีการส่งข้อมูลกันในไลน์ พยานจึงนำภาพประชาสัมพันธ์ดังกล่าวไปโพสต์ลงในสื่อเฟซบุ๊กของตน

จนถึงวันที่ 1 ส.ค. 2564 พยานได้ขับรถยนต์ส่วนตัวไปที่หน้าห้างโรบินสัน แม่สอด จำเวลาที่แน่ชัดไม่ได้ ก่อนได้พบรถยนต์ 5 คัน โดยไม่รู้จักกันมาก่อน แต่คาดว่าน่าจะเป็นผู้ร่วมชุมนุม ประมาณอีก 5 นาทีต่อมา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาพูดคุยกับผู้ชุมนุมตรงหัวขบวน ถามว่าจะเคลื่อนขบวนไปทางใดบ้าง แต่ไม่มีใครมีคำตอบ

พยานรู้จักกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พ.ต.ท.ชาญชัย วีระ เลยเข้าไปพูดคุย แต่ตนก็ไม่ทราบว่าจะเคลื่อนขบวนไปทางใดเพราะมีหลายจุดที่ไป พ.ต.ท.ชาญชัย ได้แจ้งต่อผู้ชุมนุมว่า “ให้เลิกการชุมนุมได้หรือไม่ หรือแค่บีบแตรแล้วก็แยกย้ายกลับ” พยานไม่รู้จักกับผู้ร่วมชุมนุมเลย จึงไม่สามารถเป็นผู้แจ้งกับผู้ชุมนุมให้แยกย้ายหรือให้เลิกการชุมนุมได้ แล้วจากนั้น จึงมีผู้นำขบวนคาร์ม็อบเคลื่อนตัวไป

พยานเบิกความว่าตนไม่ได้เคลื่อนไปกับขบวนคาร์ม็อบ เพียงแค่ยืนคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากนั้นก็ขับรถยนต์ส่วนตัวแซงไปที่วงเวียนใหญ่แม่สอด แวะถ่ายรูป แล้วก็แยกย้ายกลับในเวลาประมาณ 18.00 น. โดยไม่ได้ตั้งใจจะไปร่วมขบวนอีก แต่มีจุดหมายปลายทางอื่นที่จะไป หากเมื่อไปถึงโรงเรียนราษฎร์วิทยาก็ได้เจอกับขบวนอีกครั้ง พยานจึงลงจากรถ ก่อนมีผู้ชุมนุมฝากจดหมายให้ ส.ส. ให้มาช่วยเหลือความเป็นอยู่ประชาชนในพื้นที่ ตนเลยนำจดหมายรวมๆ กันไว้แล้วเอาไปส่งในตู้ไปรษณีย์ของบ้าน ส.ส. ดังกล่าวที่มีผู้ชุมนุมมารวมตัวกัน หลังจากนั้นจำเลยและผู้ชุมนุมก็แยกย้ายกันกลับบ้าน

จิรารัตน์ยืนยันว่า ตลอดการชุมนุมไม่มีการยุยงให้ก่อความวุ่นวายหรือกระทำการอันผิดกฎหมาย พยานทราบถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

พยานเล็งเห็นถึงการใช้กฎหมายของรัฐที่ไม่เป็นธรรม คดีความนั้นมีการดำเนินไปด้วยความรวดเร็ว และทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวไม่กล้าที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นของตนเอง ที่เรียกว่าเป็น “การใช้กฎหมายปิดปาก” หรือ การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน [(Strategic Lawsuit Against Public Participation (SLAPP)]

จิรารัตน์ยังระบุว่า การชุมนุมนั้นเป็นใช้รถยนต์ส่วนตัว มีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 100 คน และมีรถที่เข้าร่วมขบวนไม่เกิน 50 คัน โดยใช้ความเร็วราวๆ 30 – 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถนนมี 4 เลน ใช้ช่องทางเดินรถ 2 เลนในการเคลื่อนขบวน หากถนนมี 2 เลน ก็ใช้เลนด้านซ้ายได้ตามปกติ

ศาลได้สอบถามด้วยว่า ทั้งความเร็ว ลักษณะการขับ การให้สัญญาณแตร เป็นไปเช่นนั้นตลอดทางเลยหรือไม่ จำเลยเบิกความว่ามีการให้สัญญาณแตรกันเองตลอดเส้นทาง ซึ่งพยานไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการบีบแตรด้วย ทั้งนี้ในการชุมนุมไม่ได้มีการรวมกลุ่มกันของผู้ร่วมชุมนุมและไม่มีเวทีปราศรัย บริเวณก่อนเริ่มคาร์ม็อบที่หน้าห้างโรบินสัน ก็เป็นที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเท และไม่ได้มีการรวมตัวกันอย่างแออัด

ในการตอบคำถามค้าน อัยการถามว่า ทราบหรือไม่ว่ามีประกาศจากทางผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ในเรื่องการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด–19 จำเลยเบิกความว่า ทราบ แต่เท่าที่ตนทราบมีงานหรือกิจกรรมอื่นๆ ของทางภาครัฐเองก็มีการจัดขึ้นในช่วงนั้น โดยไม่มีการควบคุมหรือมีมาตรการควบคุมการระบาดเชื้อโควิด ทำให้คาดได้ว่าเราก็ไปร่วมกิจกรรมได้

.

จำเลยที่ 2 ยืนยันเพียงไปร่วมยืนถ่ายรูปก่อนเคลื่อนขบวนคาร์ม็อบ แล้วก็กลับ แต่เหตุใดตำรวจดำเนินคดี

ส่วนประวิทย์ อัศวสิริมั่นคง จำเลยที่ 2 อายุ 72 ปี ทำธุรกิจส่วนตัว ที่จังหวัดตาก เบิกความถึงเหตุการณ์ในคดีว่า ก่อนวันที่ 1 ส.ค. 2564 มีชาวบ้านมานั่งคุยที่ร้านอาหารของตนและลูก แล้วได้เชิญชวนพยานไปร่วมการชุมนุม เนื่องจากการบริหารงานของรัฐบาลที่ล้มเหลว ทั้งเรื่องการบริหารเศรษฐกิจ การจัดการวัคซีน เมื่อพยานทราบว่าจะมีการชุมนุมในลักษณะคาร์ม็อบ ก็อยากร่วมแสดงออกความคิดเห็น เพราะเห็นว่าเป็นเพียงการขับรถยนต์ส่วนตัวไปร่วม ซึ่งคิดว่าสามารถกระทำได้

ในวันที่ 1 ส.ค. 2564 พยานขับรถยนต์ส่วนตัวไปหน้าห้างโรบินสัน เวลา 15.50 น. โดยพบเห็นรถจอดอยู่ 3 – 4 คัน ก่อนแล้ว เป็นการจอดริมฟุตบาทต่อแถวไปข้างหลังต่อๆ กัน

พยานได้เจออดีตแนวร่วม นปช. ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าของพยาน เพื่อนได้ยื่นผ้าพันคอสีแดงให้ จึงมีภาพถ่ายออกมาในลักษณะว่าพยานสวมผ้าพันคอสีแดงยืนอยู่ในที่เกิดเหตุ พยานรับว่าบุคคลในภาพคือพยานและเพื่อนของพยานจริง

แต่หลังจากที่พยานถ่ายภาพบรรยากาศการชุมนุมเสร็จ ก็ขึ้นรถยนต์ส่วนตัวเตรียมกลับบ้านเลยทันที ในขณะที่จะกลับนั้น ขบวนได้เริ่มเคลื่อนตัวไปกันแล้ว พยานจึงต้องขับต่อท้ายขบวน ลักษณะจึงเป็นการที่รถของพยานนั้นต่อท้ายตามๆ กันไปกับขบวน แต่เมื่อถึงถึงจุดหนึ่งแล้ว พยานก็ได้ขับรถแยกตัวออกไป

ประวิทย์ไม่ทราบว่าขบวนเคลื่อนไปที่ใดบ้าง เนื่องจากได้กลับบ้านแล้ว และไม่ทราบว่าใครเป็นใครในที่เกิดเหตุ รวมถึงไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 เข้าร่วมด้วยหรือไม่ ตำรวจไม่มีการติดต่อสอบถามใดๆ กับตนมาเลยจนกระทั่งวันที่ 16 ส.ค. 2564 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาหาที่บ้าน โดยสอบถามถึงเรื่อง “คาร์ม็อบ” ก่อนแสดงหมายเรียกเกี่ยวกับการจัดการชุมนุม

พยานไปตามหมายนัดของตำรวจที่ สภ.แม่สอด ในวันที่ 23 ส.ค. 2564 พนักงานสอบสวนได้สอบถามว่า “จำเลยเป็นผู้จัดหรือไม่” พยานให้การว่า เพียงแค่ไปร่วมการชุมนุม แต่ไม่ได้เป็นแกนนำ โดยยืนยันว่าไปถ่ายภาพบรรยากาศกิจกรรม แล้วก็กลับเท่านั้น

ต่อมาพยานถูกตำรวจเรียกตัวครั้งที่ 2 จำวันที่ไม่ได้ แต่เป็นระยะหลักเดือน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรมาให้พยานไปพบที่สถานีตำรวจ โดยให้พิมพ์ลายนิ้วมือเพิ่มเติม

พยานเบิกความว่าตนเคยเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่ม นปช. จริง แต่ไม่ใช่แกนนำ พยานก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่สามารถระบายความคิดเห็นทางการเมือง ยังสงสัยว่าเหตุใดตนจึงถูกดำเนินคดีไปด้วย

.

X