เปิดบันทึกสืบพยานคดี “4 นักกิจกรรม” ถูกกล่าวหาหลบหนีการจับ-ชกต่อยจนท. #ม็อบ3กันยา64 ตำรวจเบิกความสับสน-ขัดแย้ง จำเลยยันไม่มีใครต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน

ในวันที่ 5 ก.ย. 2565 เวลา 13.30 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของทวี เที่ยงวิเศษ, ธนาดล จันทราช, ใบบุญ (สงวนนามสกุล) และณัชพล ไพลิน รวม 4 คน ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่น รวมทั้งข้อหาหลบหนีการจับกุม เหตุจากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าล้อมจับกุมรถขนเครื่องขยายเสียง บริเวณถนนหน้าโรงพยาบาลพญาไท 2 หลังการชุมนุม #ม็อบ3กันยา64 ที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564

.

คดีนี้ จำเลยแต่ละคนถูกฟ้องในฐานความผิดแตกต่างกัน มีรายละเอียดแยกได้ดังนี้

  • ทวี จำเลยที่ 1 และธนาดล จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องในข้อหา
    • หนึ่ง ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคำสั่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 32) ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2564 ข้อ 2 (1) และ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (ฉบับที่ 10) ข้อ 3
    • สอง ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายและโดยร่วมกันกระทำด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 และ 140
    • สาม หลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของเจ้าพนักงานอาญา
    • จำเลยที่ 1 ยังมีเพิ่มอีกหนึ่งข้อหา คือ สี่ ใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391
  • ใบบุญ จำเลยที่ 3 และณัชพล จำเลยที่ 4 ถูกฟ้องในข้อหา
    • หนึ่ง ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายและโดยร่วมกันกระทำด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 และ 140
    • สอง ร่วมกันกระทำด้วยประการใดให้ผู้ถูกคุมขังตามอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีทางอาญาหลุดพ้นจากการคุมขังไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 191

.

คดีนี้มีการนัดสืบพยานที่ห้องพิจารณาคดี 805 ของศาลอาญารวมทั้งหมด 5 นัด ระหว่างวันที่ 14-15 มิ.ย. 2565 และ 1, 26-27 ก.ค. 2565

ในวันแรกจำเลยทุกคนมาศาล แต่มาสายกว่าเวลานัดพิจารณา ศาลจึงว่ากล่าวตักเตือนและกำชับจำเลยให้มาตรงเวลา บรรยากาศในห้องพิจารณาจึงค่อนข้างตึงเครียด ก่อนเริ่มการสืบพยาน ศาลได้ถามจำเลยว่าต้องการเปลี่ยนแนวทางในการต่อสู้คดี เช่น รับสารภาพเพื่อให้ลดหย่อนโทษลงหรือไม่ จำเลยทั้งหมดยังยืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหา และแถลงต่อศาลว่า “ตนพร้อมจะรับสารภาพ หากพวกตนกระทำความผิดจริง แต่พวกตนไม่ได้กระทำตามความผิดตามที่ถูกกล่าวหา จึงยืนยันในความบริสุทธิ์และจะขอต่อสู้คดีตามกระบวนการ”

พร้อมกันนี้ ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีลับหลังจำเลยทั้งสี่ในนัดวันที่ 15 มิ.ย. 2565 เนื่องจากจำเลยมีความจำเป็นในการประกอบอาชีพ ไม่สะดวกเดินทางมาศาล อัยการโจทก์ไม่คัดค้าน ศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลย แต่จำเลยได้เดินทางมาเบิกความในนัดสืบพยานจำเลยเอง

.

ภาพการชุมนุม #ม็อบ3กันยา64 (ภาพจาก Mob Data Thailand)

.

ย้อนลำดับเหตุการณ์ #ม็อบ3กันยา64 ก่อนอ่านบันทึกสืบพยาน

การชุมนุม #ม็อบ3กันยา เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564 เวลา 16.00 น. แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มทะลุฟ้าได้นัดหมายทำกิจกรรม “ราษฎรไม่ไว้วางใจมึง” บริเวณแยกราชประสงค์ โดยกิจกรรมเป็นการชุมนุมและปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล ปัญหาการจัดหาวัคซีน เรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขมาตรา 112

MobData Thailand รายงานว่า 3 ก.ย. 2564 เวลา 10.50 น. พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดเตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร พร้อมเตือนผู้ชุมนุมว่า กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด การรวมตัวกันในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคจะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

เวลา 14.15 น. ที่บริเวณแยกราชประสงค์ ฝั่งเซ็นทรัลเวิร์ด มีประชาชนและผู้สื่อข่าวทยอยรวมตัวกัน บริเวณแยกประตูน้ำ พบรถกระบะตำรวจจอดในลักษณะเป็นจุดตรวจสกัดบริเวณฝั่งถนนราชดำริ ขณะที่แยกเฉลิมเผ่ามุ่งหน้าแยกราชประสงค์ ตำรวจจราจรวางแผงเหล็กในลักษณะเป็นจุดตรวจสกัด ส่วนที่ด้านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการใช้ผ้าใบคลุมป้ายและพระบรมฉายาลักษณ์ การจราจรยังคงเคลื่อนตัวได้ตามปกติ

เวลา 15:33 น. ผู้ชุมนุมมีการปิดถนนราชดำริตั้งแต่แยกประตูน้ำถึงแยกราชประสงค์ ทีมงานตั้งเวทีบริเวณเดอะ มาร์เก็ต และจุดคัดกรองบริเวณห้างเกษร

เวลา 16.12 น. เวทีหลักของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเริ่มการปราศรัยและทำกิจกรรม ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการตั้งจุดตรวจสกัดที่แยกราชดำริและเฉลิมเผ่า ที่แยกราชดำริ ตำรวจเรียกรถจักรยานยนต์ที่ผ่านมาตรวจสอบ

เวลา 20.00 น. เวทีหลักของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศยุติกิจกรรม หลังจากนั้นผู้ชุมนุมเริ่มทยอยออกจากพื้นที่

เวลา 20.24 น. บริเวณบีทีเอสสนามเป้า ขาออกไปแยกซอยอารีย์ ตำรวจมีการตรวจสอบรถของทีมทะลุฟ้า มีการทุบรถและล็อกคอผู้ที่อยู่ในรถลงมาจากรถ โดยเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบแทบทั้งหมด เมื่อทีมทะลุฟ้าพยายามขอตรวจสอบบัตรประจำตัว มีเสียงคนหนึ่งพูดว่า “อย่าบีบคอผมๆ”, “มันต่อยผมๆ” และ “ใจเย็นนอกเครื่องแบบใจเย็นก่อน” โดยมีการไลฟ์ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ผ่านเพจของกลุ่มทะลุฟ้า

เวลา 20.27 น. เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนายหนึ่งบอกว่า “เชิญนะครับ” ผู้ที่ไลฟ์บอกว่า “พี่ไม่ได้เชิญ เมื่อกี้พี่เปิดประตูล็อกผมเลย” เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนายดังกล่าวตอบว่า “ก็คุณยังไม่สงบสติอารมณ์” ผู้ที่ไลฟ์บอกว่า “จอดปาดหน้าและเปิดประตูมาล็อกคออย่างนี้ ไม่เรียกเชิญ ถ้าเชิญมีสิทธิ์จะบอกว่า ไม่ไปก็ได้ ถ้าจับก็ออกหมายจับมาเลยพี่” เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีกนายหนึ่งบอกว่า “เดี๋ยวจับกุม” ผู้ที่ไลฟ์ถามว่า “ข้อหาอะไร” เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนายดังกล่าวบอกว่า “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ผู้ที่ไลฟ์ถามว่า “ขอดูบัตรหน่อย” เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนายดังกล่าวบอกว่า “มัน [บัตร] อยู่ในรถ แต่พี่นั่งมอเตอร์ไซด์มา” ระบุด้วยว่า “เมื่อสักครู่มีคนที่แสดงบัตรแล้ว”

เวลา 20.34 น. ขบวนรถตำรวจเริ่มตามมาสมทบ เป็นตำรวจในเครื่องแบบ บางนายติดตราสัญลักษณ์ของกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน จากนั้นทำการจับกุมลักษณะกระชากตัวทีมงานไปอย่างน้อย 2 คน ผู้ถูกจับกุมพยายามถามว่า จับด้วยความผิดอะไร แต่ยังไม่แน่ชัดถึงคำตอบของตำรวจ โดยตำรวจทำการค้นกระเป๋าของผู้ที่ถูกคุมตัวด้วย ผู้ที่ไลฟ์อธิบายว่า ทีมงานต้องการเจรจา แต่ตำรวจกลับใช้แต่กำลัง

เวลา 20.46 น. เจ้าหน้าที่เริ่มถอนกำลังออก ตำรวจบางส่วนยังคงยืนคุมพื้นที่ที่ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลพญาไท 2

5 ก.ย. 2564 พ.ต.ต.ไพบูลย์ สอโส เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.พญาไท ให้มีการดำเนินคดีแก่ชายไม่ทราบชื่อ ไม่ทราบจำนวน ปรากฎตามภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่แนบส่ง ในข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ และใช้กำลังทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานฯ

15 ก.ย. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พญาไท ได้จับกุมตัวทวี เที่ยงวิเศษ หรือ “อาทิตย์” ตามหมายจับของศาลอาญา ก่อนแจ้งข้อหาและนำตัวเขาไปขอฝากขัง ก่อนที่ศาลอาญาจะไม่อนุญาตให้ประกันตัวทวี โดยเขาถูกคุมขังเป็นระยะเวลารวม 171 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี

ส่วนใบบุญ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมบริเวณใกล้กับบ้านพัก ตามหมายจับของศาลอาญาเช่นกัน เขาไม่ได้รับการประกันตัวเช่นกัน แต่ถูกคุมขังเป็นระยะเวลา 2 วัน ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวในการยื่นครั้งที่ 2 โดยให้ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ด้วย

17 ก.ย. 2564 ธนาดล จันทราช หรือ “เซียงเมี่ยง” และ ณัชพล ไพลิน หรือ “คิว” ได้เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน สน.พญาไท หลังทราบว่าถูกออกหมายจับเช่นกัน ตำรวจนำตัวทั้งสองคนขอฝากขัง แต่ศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยวางเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่ 15.00 น.-05.00 น. ของวันถัดไป ส่วนณัชพลถูกเพิ่มอีกเงื่อนไขให้ติดกำไลข้อเท้า EM ด้วย

1 พ.ย. 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 มีความเห็นสั่งฟ้องทวีและพวกรวม 4 ราย ต่อศาลอาญา

.

.

ภาพรวมของการสืบพยาน

การสืบพยานในคดีนี้ มีพยานโจทก์เข้าเบิกความทั้งหมด 7 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.ไพบูลย์ สอโส สารวัตรงานสายตรวจ 1 กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ผู้กล่าวหา, พ.ต.ต.วินิตย์ จันทร์บูรณ์, ร.ต.อ.ยศวรรธน์ น้อยประสาน, ร.ต.อ.กำทวน วิจิตร, ส.ต.อ.ธนวรรษ พันธุ์ชาตรี และ ส.ต.ท.เอกชัย ไชยรังศรี ทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่งานสายตรวจ 1 กองบังคับการสายตรวจฯ ผู้ร่วมจับกุมรถขนเครื่องขยายเสียงในที่เกิดเหตุ และ ร.ต.ท.นนท์กฤช สุขมณี พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี

ขณะที่ฝ่ายจำเลย นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมด 8 ปาก ได้แก่ จำเลยทั้ง 4 และผู้ชุมนุมที่อยู่ในที่เกิดเหตุอีก 4 ราย

ข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์ พยายามชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 และ 2 เป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรม “#ม็อบ3กันยา” อันเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยแออัด ผู้เข้าร่วมบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่มีการเว้นระยะห่าง มีการปิดเส้นทางการจราจร ซึ่งมีลักษณะเป็นการร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

ประกอบกับจำเลยทั้งสี่ยังได้ร่วมกันใช้กำลังต่อสู้ขัดขืนเจ้าพนักงาน ดึงรั้งฉุดกระชากและปัดป้องไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าจับกุมตัวจำเลยที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นบุคคลที่โดยสารอยู่ภายในรถขนเครื่องขยายเสียง อันเป็นวัตถุที่ใช้ในการกระทำความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซ้ำยังปลุกระดมมวลชนผู้ชุมนุมให้เข้ามากดดันและขัดขวางกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ลักษณะเป็นการร่วมกันทำให้ผู้ถูกคุมขังตามอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีทางอาญาหลุดพ้นจากการคุมขังไป

ในช่วงระหว่างการจับกุม จำเลยที่ 1 ยังได้ใช้กำลังทำร้ายร่างกายหนึ่งในเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าจับกุม โดยชกต่อยที่เบ้าตาซ้ายจนได้รับบาดเจ็บและต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล เมื่อเหตุการณ์สงบลง จำเลยที่ 1 และ 2 ได้หลบหนีจากการควบคุมตัวไป ซึ่งมีลักษณะเป็นการหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของเจ้าพนักงาน โดยมีจำเลยที่ 3 และ 4 เป็นผู้ช่วยให้หลบหนีการจับกุม

สำหรับข้อต่อสู้ของจำเลย คือ จำเลยที่ 1 และ 2 ไม่ได้เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือแกนนำการชุมนุม เป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุม และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ทั้งเมื่ออยู่ในพื้นที่ชุมนุม จำเลยทั้งสองได้สวมใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ จำเลยทั้งสองไม่ใช่เจ้าของรถขนเครื่องขยายเสียงและไม่ใช่ผู้ขับขี่ ขณะเกิดเหตุเพียงอาศัยติดรถเดินทางกลับ ภายหลังการชุมนุมยุติลงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายเท่านั้น

ส่วนข้อกล่าวหาที่ระบุว่าจำเลยต่อสู้ขัดขืนเจ้าพนักงาน ได้ต่อสู้ว่า จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ใช้กำลังหรือความรุนแรงใดๆ ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประกอบกับการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมแต่งกายด้วยชุดนอกเครื่องแบบและเข้ามาควบคุมตัวจำเลยด้วยการใช้กำลังล็อกตัวและคอ รถยนต์ที่ใช้ไม่มีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ราชการ ไม่มีการแสดงตัว หรือ แสดงบัตรประจำตัวฯ รวมทั้งไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา  แจ้งสิทธิของผู้ต้องหา และให้โอกาสผู้ต้องหาได้พบทนายความ ส่งผลให้จำเลยกังวลในความปลอดภัยของตนและตัดสินใจไม่ให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ

ในประเด็นทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำเลยได้ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้กำลังทำร้ายร่างกาย และผู้กล่าวหาหรือพยานโจทก์ไม่สามารถระบุตัวผู้ทำร้ายได้ตั้งแต่ช่วงก่อนการจับกุม ทั้งคำให้การของพยานโจทก์ในประเด็นดังกล่าวมีความสับสน วกวน และย้อนแย้งระหว่างพยานโจทก์ด้วยกันเอง จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด และจำเลยคนอื่นๆ ก็ไม่ได้เป็นผู้กระทำตามที่ตำรวจกล่าวหา

.

.

เริ่มแรกก็สับสน ตำรวจเบิกความไม่ตรงกัน ด้านผู้บังคับบัญชารับ แต่งกายนอกเครื่องแบบ-รถไม่มีตราราชการ

พ.ต.ท.ไพบูลย์, พ.ต.ต.วินิตย์ และ ร.ต.อ.ยศวรรธน์ เจ้าหน้าที่ชุดสายตรวจ เบิกความทำนองเดียวกันว่า ก่อนเกิดเหตุได้ตรวจพบ เพจเฟซบุ๊ก “ธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และ “ทะลุฟ้า” โพสต์ข้อความเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมในวันที่ 3 ก.ย. 2564 ต่อมาในวันเกิดเหตุ พยานทั้งสามพร้อมเจ้าหน้าที่ชุดสายตรวจได้เดินทางไปที่แยกราชประสงค์เพื่อตรวจสอบว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่ ปรากฎว่าพบประชาชนรวมตัวกันทำกิจกรรมจำนวนมาก ยืนใกล้ชิดแออัด และไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ทั้งพบเห็นรถขนเครื่องขยายเสียง เป็นรถกระบะยี่ห้อ อีซูซุ บรรทุกเครื่องขยายเสียงที่ใช้ในการชุมนุม

พ.ต.ท.ไพบูลย์ ตอบทนายจำเลยถามค้าน รับว่า การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ ทั้งสถานที่ชุมนุมเป็นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพียงแต่มีการปิดเส้นทางจราจร ส่วนจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นผู้จัดการชุมนุมดังกล่าวหรือไม่ พยานไม่ทราบ

ภายหลังการชุมนุมยุติลงในเวลา 20.00 น. พ.ต.ท.ไพบูลย์ พบเห็นกลุ่มชายวัยรุ่นจำนวน 4 คน เก็บอุปกรณ์เกี่ยวกับการชุมนุม แล้วขนขึ้นรถเครื่องขยายเสียงและเคลื่อนที่ออกจากแยกราชประสงค์ พ.ต.ท.ไพบูลย์ จึงนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามรถคันดังกล่าว โดยรถเคลื่อนผ่านแยกประตูน้ำ ผ่านถนนราชปรารภ ถนนดินแดง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแล้วเลี้ยวออกทางถนนพหลโยธินขาออก จนเมื่อรถมาถึงหน้า รพ.พญาไท 2 พยานทั้งสามและเจ้าหน้าที่สายตรวจได้ร่วมกันเข้าหยุดรถคันดังกล่าวเพื่อเข้าจับกุม

พ.ต.ท.ไพบูลย์ ตอบทนายจำเลยถามค้าน รับว่า ไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครเป็นเจ้าของรถขนเครื่องขยายเสียงดังกล่าว และรถยนต์ที่ใช้ในการติดตามไม่มีตราสัญลักษณ์บ่งบอกว่าเป็นรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ต่อมา พ.ต.ท.ไพบูลย์ และ ร.ต.อ.ยศวรรธน์ เบิกความสอดคล้องกันว่า ภายในรถมี บุคคลนั่งอยู่จำนวน 4 คน นั่งเบาะหน้า 2 คน ทราบชื่อภายหลัง คือธีรพล และอัครพล ซึ่งได้ถูกจับกุมและแยกดำเนินคดีต่างหากในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และนั่งเบาะหลัง 2 คน คือ จำเลยที่ 1 และ 2  ขณะที่ พ.ต.ต.วินิตย์ เบิกความแย้งกันว่า ในรถมี จำเลยที่ 1, 2, 4 และธีรพลนั่งอยู่ แต่ไม่มีจำเลยที่ 3

เมื่อหยุดรถแล้ว ตำรวจได้แสดงตัวและเชิญตัวผู้อยู่ภายในรถให้ลงจากรถพร้อมแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งอัครพลและธีรพลที่นั่งอยู่เบาะหน้าได้ให้ความร่วมมือ ยอมลงจากรถและขึ้นรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปสอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ขณะที่จำเลยที่ 1 และ 2 มีพฤติการณ์ขัดขืน พยายามสะบัดตัว เดินหนี และถ่วงเวลาให้ผู้ชุมนุมตามมาทัน เพื่อให้หลุดพ้นจากการจับกุม ขณะที่ พ.ต.ต.วินิตย์ เบิกความแย้งอีกครั้งว่า จำเลยที่ 1 ขัดขืนแต่จำเลยที่ 2 ให้ความร่วมมือ

พ.ต.ท.ไพบูลย์, พ.ต.ต.วินิตย์ และ ร.ต.อ.ยศวรรธน์ ตอบทนายจำเลยถามค้านทำนองเดียวกันว่า สาเหตุที่จับกุมโดยไม่มีหมายจับ เป็นเพราะการกระทำของจำเลยเป็นความผิดซึ่งหน้า และรับว่าตนแต่งกายนอกเครื่องแบบและไม่ได้แสดงบัตรประจำตัวฯ ให้จำเลยดู  แต่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่นเข้าแสดงตัว และมีการตะโกนบอกว่าพวกตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ด้าน ร.ต.อ.ยศวรรธน์ ยืนยันว่าตนได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยแล้ว แต่ไม่มีวิดีโอบันทึกภาพการแจ้งข้อกล่าวหาเป็นพยานหลักฐานแต่อย่างใด

ขณะเข้าหยุดรถ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายตามมาสบทบเป็นกำลังเสริมในที่เกิดเหตุ ได้แก่ ร.ต.อ.กำทวน และ ส.ต.อ.เอกชัย ซึ่งเบิกความว่า ตนไม่ได้ไปยังพื้นที่ชุมนุม เพียงแต่ได้รับการติดต่อจาก พ.ต.ท.ไพบูลย์ ผู้บังคับบัญชา ให้มาสนับสนุนชุดจับกุม

ต่อมา ส.ต.อ.ธศวรรษ เจ้าหน้าที่ชุดสายตรวจ เบิกความว่า ตนดักรอรถขนเครื่องขยายเสียงที่บริเวณแยกประตูน้ำ เมื่อรถเคลื่อนผ่าน ตนจึงติดตามรถคันดังกล่าว ร่วมกับ พ.ต.ท.ไพบูลย์, พ.ต.ต.วินิตย์ ร.ต.อ.ยศวรรธน์ และเจ้าหน้าที่ชุดสายตรวจอื่น เมื่อเกิดเหตุหยุดรถแล้ว ตนเป็นผู้เข้าแสดงตัวโดยแสดงบัตรประจำตัวฯ ให้คนที่อยู่ในรถทราบ แม้ขณะนั้นตนแต่งกายนอกเครื่องแบบ

ต่อมา ตนได้รับคำสั่งจาก พ.ต.ท.ไพบูลย์ ให้เข้าควบคุมตัวจำเลยที่ 1 จึงเข้าล็อกตัวจำเลยที่ 1 และตรวจค้นอาวุธ แต่จำเลยที่ 1 สะบัดตัวฉุดกระชากให้หลุดพ้นจากการควบคุมตัวอย่างแรง ประกอบกับจำเลยที่ 3 และผู้ชุมนุมคนอื่นเข้ามาช่วยดึงตัวจำเลยที่ 1 ทำให้หลุดพ้นจากการควบคุมตัวของตน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้วิ่งออกไปหาผู้ชุมนุมที่บริเวณทางเท้า พ.ต.ท.ไพบูลย์ จึงได้วิ่งตามไปเพื่อควบคุมตัวจำเลยที่ 1 กลับมา

พ.ต.ท.ไพบูลย์, พ.ต.ต.วินิตย์, ร.ต.อ.ยศวรรธน์, ร.ต.อ.กำทวน เบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อหยุดรถแล้ว พ.ต.ท.ไพบูลย์ ได้เข้าควบคุมตัวจำเลยที่ 1 ร่วมกับ ส.ต.อ.ธศวรรษ แต่จำเลยที่ 1 ขัดขืน พยายามสะบัดตัวและเดินหนีเพื่อให้หลุดพ้นจากการควบคุมตัว ต่อมามีผู้ชุมนุมตามเข้ามาในที่เกิดเหตุเป็นจำนวนมาก รวมทั้งจำเลยที่ 3 และ 4 จึงเกิดเหตุยื้อแย่งตัวจำเลยที่ 1 ระหว่าง พ.ต.ท.ไพบูลย์ และผู้ชุมนุม

.

.

งงงวยรอบสอง ใคร ‘ชกต่อย’ พ.ต.ท.ไพบูลย์ กันแน่? ตำรวจเบิกความสับสนกันไปมา

ในเหตุยื้อแย่งฉุดกระชากตัวจำเลยที่ 1 พ.ต.ท.ไพบูลย์ และ ร.ต.อ.ยศวรรธน์ เบิกความว่า พ.ต.ท.ไพบูลย์ถูกจำเลยที่ 1 ล็อคคอและชกต่อยที่เบ้าตาจนล้มลง และถูกบุคคลไม่ทราบว่าใครเตะที่ท้ายทอยและย่ำกระทืบลงที่หลัง โดย พ.ต.ท.ไพบูลย์ ไม่ได้ตอบโต้ เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุม

ขณะที่ พ.ต.ต.วินิตย์ เบิกความว่า เห็น พ.ต.ท.ไพบูลย์ถูกดึงจนล้มลง แต่ไม่เห็นเหตุการณ์ที่ พ.ต.ท.ไพบูลย์ ถูกชกต่อยหรือถูกเตะที่ท้ายทอยและกระทืบที่หลัง และตอบทนายจำเลยถามค้าน รับว่า เหตุการณ์ที่ พ.ต.ท.ไพบูลย์ ล้มลงอาจเกิดจากการผลักกันไปมาระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและมวลชนผู้ชุมนุมก็ได้

ด้าน ส.ต.ท.ธศวรรษ เบิกความว่า เห็น พ.ต.ท.ไพบูลย์ ถูกล็อกคอ แต่จะเป็นใครล็อกคอ ตนไม่ทราบ พร้อมตอบทนายจำเลยถามค้าน ยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้ล็อกคอ สวนทางกับ ร.ต.อ.กำทวน ที่เบิกความว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ล็อกคอ ทั้งสองยืนยันว่าไม่เห็นเหตุการณ์ที่ พ.ต.ท.ไพบูลย์ ถูกชกต่อย แต่ ส.ต.ท.ธศวรรษ รับว่า เห็นบุคคลที่กระทืบเท้าใส่หลัง พ.ต.ท.ไพบูลย์ สวมใส่เสื้อสีดำ

ทั้ง ส.ต.อ.เอกชัย เจ้าหน้าที่ชุดสายตรวจ ผู้ได้รับมอบหมายจาก พ.ต.ท.ไพบูลย์ ให้เข้าควบคุมตัวจำเลยที่ 3 และ 4 โดยตนเห็นเหตุการณ์ที่ พ.ต.ท.ไพบูลย์ ถูกล็อกคอ แต่ใครจะเป็นคนล็อก ตนไม่ทราบ ทราบเพียงแต่ว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้ชกต่อย พ.ต.ท.ไพบูลย์ เข้าที่เบ้าตา และสาเหตุที่จำได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นคนชกต่อย เพราะจำเลยที่ 4 เป็นผู้ต้องหาที่ตนเข้าไปควบคุมตัว

นอกจากนี้ พ.ต.ต.วินิตย์, ร.ต.อ.ยศวรรธน์, ร.ต.อ.กำทวน, ส.ต.อ.เอกชัย และ ส.ต.ท.ธศวรรษ เบิกความตรงกันในช่วงท้ายว่า หลังจาก พ.ต.ท.ไพบูลย์ ล้มลง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พากันเข้าไปช่วยดึงตัว พ.ต.ท.ไพบูลย์ ออกจากที่เกิดเหตุ พอเหตุชุลมุนผ่านพ้นไป ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ใดพบเห็นจำเลยที่ 1 และ 2 อีก ด้าน พ.ต.ท.ไพบูลย์ เบิกความว่า การที่จำเลยที่ 3 และ 4 นำมวลชนเข้ามากดดันและขัดขวางกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จำเลยที่ 1 และ 2 หลุดพ้นจากการควบคุมตัวได้ ต่อมา เมื่อตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่นดึงตัวออกไป ได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลวิภาวดีเพื่อรับการรักษา โดยได้รับบาดเจ็บที่บริเวณคอ ลำตัว และแขนทั้งสองข้าง  

เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมทุกนาย เบิกความทำนองเดียวกันว่า ขณะเกิดเหตุมีแสงไฟส่องสว่างจากหน้า รพ.พญาไท 2 และพบเห็นจำเลยทั้งสี่ในที่เกิดเหตุ และพบเห็นจำเลยที่ 3 และ 4 อยู่ในวงล้อมของผู้ชุมนุมใกล้กับ พ.ต.ท.ไพบูลย์ ในช่วงที่ถูกทำร้ายร่างกาย

พ.ต.ท.ไพบูลย์ ตอบทนายจำเลยถามค้าน รับว่า คลิปวิดีโอภาพเหตุการณ์ที่ส่งเป็นหลักฐานประกอบคดี ไม่มีภาพเหตุการณ์ขณะตนโดนชกต่อย และไม่มีภาพเหตุการณ์จำเลยขัดขวางเจ้าพนักงาน แต่สามารถใช้ภาพนิ่งดูประกอบกับคำเบิกความของพยานบุคคลได้

สำหรับพฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 พ.ต.ต.วินิตย์, ร.ต.อ.ยศวรรธน์ และ ร.ต.อ.กำทวน เบิกความสอดคล้องกันว่าจำเลยที่ 3 เข้ามาขัดขวางการจับกุมของเจ้าหน้าที่โดยการใช้กำลังดึงรื้อรั้งฉุดกระชากจำเลยที่ 2 ให้หลุดพ้นจากการจับกุม   ส่วน ส.ต.อ.เอกชัย เบิกความเพิ่มเติมอีกว่า จำเลยที่ 3 ยังใช้กำลังดึงรั้งฉุดกระชากจำเลยที่ 4 ให้พ้นจากการควบคุมตัวอีกด้วย

ด้านจำเลยที่ 4 พยานตำรวจทุกปาก ยกเว้นปาก ส.ต.อ.เอกชัย รับว่า ไม่เห็นจำเลยที่ 4 ใช้กำลังทำร้ายร่างกายหรือก่อความรุนแรง มีเพียงแต่การใช้วาจาด่าทอ ข่มขู่กดดัน ยุยงปลุกปั่นมวลชนผู้ชุมนุมให้ล้อมเจ้าหน้าที่หรือเอาตัวเองเข้าไปขวางกั้นระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและจำเลยที่ 1 และ 2 เท่านั้น

.

พนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งฟ้องคดี หลังดูคลิปไลฟ์สด-สอบคำให้การพยาน แม้พยานระบุตัวคนร้ายไม่ได้

ร.ต.ท.นนท์กฤช สุขมณี รองสารวัตร (สอบสวน) สน.พญาไท เบิกความว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564 พยานได้รับแจ้งความร้องทุกข์จาก พ.ต.ท.ไพบูลย์ กรณีถูกทำร้ายร่างกายโดยชายไม่ทราบชื่อจำนวน 4 คน  โดยชายซึ่งมีรูปร่างผอมได้ชกต่อยที่บริเวณเบ้าตา ต่อมาพยานได้ส่ง พ.ต.ท.ไพบูลย์ ไปตรวจบาดแผลที่โรงพยาบาลวิภาวดี

ในการสอบคำให้การ จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ โดยได้ทำคำให้การเป็นหนังสือมาให้ในภายหลัง จากนั้นพยานได้สอบสวนพยานในคดีทั้งหมด ประกอบกับพยานหลักฐานจากคลิปวิดีโอที่ได้จากสื่อสังคมออนไลน์ ภาพที่ได้จากกล้องที่ติดอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะเกิดเหตุ และเอกสารผลการชันสูตรของแพทย์ ก่อนพยานมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดีนี้

ร.ต.ท.นนท์กฤช ตอบทนายจำเลยถามค้าน ระบุว่า ผู้กล่าวหาไม่ได้ระบุตัวคนร้ายที่อ้างว่าทำร้ายร่างกายผู้กล่าวหา เนื่องจากจดจำคนร้ายได้ไม่ชัด เพราะผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก และจากการสอบปากคำพยานปากอื่นๆ ไม่ปรากฏว่ามีใครระบุตัวผู้ที่ทำร้ายผู้กล่าวหาได้แต่อย่างใด

พยานทราบว่าในคลิปวิดีโอประกอบคดีนั้นไม่ปรากฏภาพจำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายของ พ.ต.ท.ไพบูลย์ และไม่ปรากฎภาพจำเลยที่ 3 และ 4 เข้าขัดขวางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้จับกุมจำเลยที่ 2 รวมถึงคลิปวิดีโอช่วงเวลาที่กล่าวอ้างว่า พ.ต.ท.ไพบูลย์ ถูกทำร้ายโดยจำเลยทั้งสี่ ก็ไม่ปรากฏภาพจำเลยทั้งสี่

พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีรับกับทนายจำเลยด้วยว่า การชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เป็นการชุมนุมในสถานที่เปิดโล่ง ผู้เข้าร่วมชุมนุมสวมหน้ากากอนามัย แต่สวมไม่ถูกต้อง บางคนสวมโดยปิดเพียงแค่ส่วนปากเท่านั้น นอกจากนี้พยานไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 และ 2 สวมหน้ากากอนามัยขณะชุมนุมหรือไม่ รวมถึงไม่ทราบว่าการฉุดกระชากในขณะเกิดเหตุชุลมุน จะทำให้หน้ากากอนามัยหลุดจากผู้สวมใส่หรือไม่

ร.ต.ท.นนท์กฤช ทราบว่าคำให้การของพยานในชั้นสอบสวน ไม่มีพยานปากใดยืนยันว่าจำเลยที่ 3 และ 4 ยื้ดหรือฉุดรั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพียงแต่ให้การไว้ว่ามีกลุ่มมวลชนหลายคนได้พยายามยื้อแย่งตัวผู้ถูกจับ

นอกจากนี้ พยานรับทราบว่าสิทธิในการชุมนุมในช่วงระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ได้มีพยานผู้เชี่ยวชาญเคยให้ความเห็นไว้ต่อศาลแขวงดุสิตแล้ว โดยทนายจำเลยได้ยื่นเอกสารดังกล่าวต่อศาลประกอบ

.

.

จำเลยที่ 1 ‘ทวี’ ยืนยัน ไม่ได้ใช้กำลังทำร้ายร่างกายใคร ระบุ ตำรวจไม่แสดงตัว-แจ้งสิทธิ์-แจ้งข้อกล่าวหา

ทวี เที่ยงวิเศษ อายุ 36 ปี จำเลยที่ 1 เบิกความต่อศาลว่า ตนทราบนัดหมายการชุมนุมจากเพจเฟซบุ๊ก “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์ขับไล่รัฐบาล จึงได้เดินทางไปร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุ แต่พยานไม่ใช่แกนนำและไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พยานสวมใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ พื้นที่ชุมนุมที่เป็นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ทางเข้าออกพื้นที่มีประตูพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับทำความสะอาด ตลอดการชุมนุมไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น

พยานเดินทางไปสถานที่ชุมนุมเพียงคนเดียวไม่ได้เดินทางร่วมกับจำเลยที่ 3 หรือ 4 แต่อาจเคยพบปะในพื้นที่ชุมนุมอยู่บ้าง

ภายหลังการชุมนุมยุติลง มวลชนเริ่มทยอยเดินทางกลับ พยานเหลือบไปเห็นรถขนเครื่องขยายเสียง จึงขอติดรถไปลงในจุดที่ใกล้ที่พักที่สุดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย พยานนั่งอยู่เบาะหลังด้านซ้าย จำเลยที่ 2 นั่งอยู่เบาะหลังด้านขวา มีคนขับชื่อโอและบุคคลไม่ทราบชื่อ-นามสกุลจริง นั่งอยู่ข้างคนขับ พยานต้องการติดรถไปลงที่อนุสาวรีย์ชัยฯ แต่รถจะไปถึงจุดหมายที่ใด พยานไม่ทราบ และไม่ทราบว่ารถถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตาม

เมื่อรถขนเครื่องขยายเสียงเคลื่อนมาถึงหน้า รพ.พญาไท 2 มีรถกระบะขับมาอยู่ด้านหน้าของรถขนเครื่องขยายเสียง เพื่อชะลอรถให้ลดความเร็วลง และมีรถเก๋งอีกคันปาดหน้าเข้ามาบังคับให้รถหยุด จากนั้นมีชายฉกรรจ์ไม่ต่ำกว่า 20 คน ไม่ได้แต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบ และไม่มีใครแสดงบัตรประจำตัวฯ เข้ามาล้อมรถ ทุบรถ ตะโกนข่มขู่ให้บุคคลภายในรถลงจากรถ

ต่อมา มีชายอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เปิดประตูหน้าขวาและใช้วาจาตะโกนข่มขู่ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ขณะเกิดเหตุพยานได้บันทึกภาพเหตุการณ์ไว้ แต่ภาพไม่ชัดเจนเนื่องจากภายในรถไม่มีแสงสว่าง และกลุ่มชายดังกล่าวพยายามฉุดกระชากมือถือของพยาน

เมื่อลงจากรถแล้ว มีชายอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาปัดโทรศัพท์ของพยาน เหยียบมือ และล็อกตัวพยาน พร้อมเรียกชายอีกคนให้มาพาตัวพยานไปขึ้นรถอีกคัน พยานได้พยายามสะบัดและบอกกับชายคนดังกล่าวว่าเขาไม่มีสิทธิ์มาล็อกตัว เนื่องจากเขาไม่ได้แสดงตัวเป็นตำรวจอย่างชัดแจ้ง ขณะนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบอยู่ในที่เกิดเหตุสักนายเดียว แต่ติดตามมาในภายหลัง เมื่อเวลาผ่านไปสักพักหนึ่ง

ขณะถูกควบคุมตัว พยานเพียงพยายามหยิบโทรศัพท์ที่ตกอยู่และประคองตนเองไม่ให้ล้มเท่านั้น ต่อมามีผู้ชุมนุมประมาณ 20 คน ที่เลิกชุมนุมแล้วเดินทางกลับผ่านทางนั้น เข้ามาช่วยถ่ายภาพเหตุการณ์และเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นชายกลุ่มดังกล่าวได้พยายามควบคุมตัวพยานไปขึ้นรถอีกครั้ง โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา สิทธิของผู้ต้องหา และไม่ให้พยานได้ติดต่อทนายความ ขณะนั้นมีตำรวจในเครื่องแบบมาถึงที่เกิดเหตุแล้ว

สาเหตุที่พยานไม่ยอมขึ้นรถ เพราะกังวลในความปลอดภัยของตนเอง เพราะกลุ่มชายดังกล่าวไม่มีการแจ้งว่าจะนำพาตัวพยานไปที่ใด ต่อมา มีความพยายามเข้ามาล็อกตัวพยานจากด้านหลังอีกเป็นครั้งที่ 3 ครั้งนี้มีชายแต่งกายนอกเครื่องแบบล็อกแขนคนหนึ่ง อีกหนึ่งคนเข้าค้นกระเป๋า และมีมวลชนผู้ชุมนุมดึงแขนของพยานอีกคนหนึ่ง ทำให้พยานล้มลง ชายคนดังกล่าวจึงปล่อยตัวพยานไป จากนั้นมวลชนได้พาพยานมาหลบอยู่ที่อีกฝั่งหนึ่งของถนน และบอกกับพยานว่าพื้นที่ตรงนี้ไม่ปลอดภัย ให้เดินทางกลับไปก่อน

ทวีระบุว่า ตนไม่ทราบผู้ที่ล็อกคอพยาน ค้นกระเป๋าและดึงแขนคือใคร และไม่ทราบว่า พ.ต.ท.ไพบูลย์, จำเลยที่ 3 และ 4 อยู่ในที่เกิดเหตุหรือไม่ พยานไม่ได้ใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้ใด ขณะเกิดเหตุไม่สามารถแยกแยะเจ้าหน้าที่ตำรวจออกจากประชาชนทั่วไปได้ เพราะไม่มีผู้ใดแสดงตัว รวมถึง จำเลยที่ 2, 3 และ 4 ไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือจำเลยที่ 1 เนื่องจากกลุ่มชายดังกล่าวปล่อยตัวพยานเอง

ในการตอบอัยการถามค้าน ทวีรับว่า ตนเคยถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นคดีในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่เคยมีคดีข้อหาขัดขวางเจ้าพนักงานมาก่อน ต่อมา อัยการให้ดูภาพจำเลยที่ 1 ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ดูแล้วเบิกความว่า สาเหตุที่พยานไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัยในภาพ เพราะมีชายอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจปัดหน้ากากอนามัยของพยานจนหลุด

ทวีตอบอัยการอีกว่า พยานพักอยู่กับเพื่อนแถวโรงเรียนอนุบาลสามเสน สาเหตุที่ไม่ลงจากรถที่อนุสาวรีย์ชัยฯ แต่นั่งต่อไปจนถึงหน้า รพ.พญาไท 2 เป็นเพราะพยานไม่ใช่คนกรุงเทพฯ ไม่ทราบเส้นทางการเดินทาง เพียงบอกคนขับว่าต้องการไปที่ใดเท่านั้น และเหตุผลที่พยานยอมลงจากรถขนเครื่องขยายเสียง ไม่ใช่ยอมทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เป็นเหตุผลว่าหากอยู่ภายในรถต่อไป อาจไม่ปลอดภัย พยานรู้สึกไม่เชื่อใจชายที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่นั้น แท้จริงแล้วเป็นตำรวจจริงหรือไม่

.

.

จำเลยที่ 2 ‘ธนาดล’ รับเป็นผู้ไลฟ์ถ่ายทอดสด ชี้คลิปวิดีโอไลฟ์ ไม่มีภาพ จ.1 ทำร้ายร่างกาย

ธนาดล จันทราช อายุ 23 ปี จำเลยที่ 2 เบิกความต่อศาลว่า ตนได้รับแจ้งนัดหมายชุมนุมจากเพจ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” แต่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มดังกล่าว ในวันเกิดเหตุ เพื่อนของพยานได้เรียกให้ไปช่วยติดตั้งเครื่องขยายเสียงที่ใช้ในการชุมนุม ภายหลังการชุมนุมยุติลง พยานจึงขออาศัยติดรถขนเครื่องขยายเสียงเพื่อเดินทางกลับ พยานไม่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตาม จนเมื่อไปถึงหน้า รพ.พญาไท 2 ได้มีรถปาดเข้ามาบังคับให้รถขนเครื่องขยายเสียงหยุด รถที่ปาดหน้าไม่มีสัญลักษณ์หรือตราบ่งบอกว่าเป็นรถที่ใช้ในราชการ

พยานรับว่ารู้จักจำเลยอื่น แต่รู้เพียงแค่ชื่อ ไม่ได้สนิทสนมหรือพูดคุยกันมากนัก

ธนาดลเบิกความต่อไปว่า ต่อมามีชายฉกรรจ์จำนวน 20-30 คน เข้ามาล้อมรถและกระชากประตูรถฝั่งพยานออก พยานจึงหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาทำการไลฟ์ถ่ายทอดสด ชายฉกรรจ์กลุ่มดังกล่าวตะโกนบอกว่า “นี่ ตำรวจนะ” และมีท่าทางยกแขนขึ้นและบอกว่า “นี่คือบัตรนะ” แต่พยานมองไม่เห็นว่าเป็นบัตรอะไร เนื่องจากชายที่อ้างว่าเป็นตำรวจได้ส่องไฟฉายเข้ามาที่หน้าและดวงตาคนในรถ พยานจึงพยายามลงจากรถเพื่อทำการเจรจา แต่มีชายคนหนึ่งเข้ามาล็อกคอและดึงพยานไปที่หน้ารถ รวมถึงพยายามดึงเข็มขัดและเตะขาให้ล้มลง แต่ตอนนั้นพยานกำลังไลฟ์ถ่ายทอดสดอยู่ จึงสามารถหันมาบันทึกเหตุการณ์พฤติกรรมของชายคนดังกล่าวได้พอดี ชายคนดังกล่าวเห็นดังนั้น จึงปล่อยตัวพยานไป

ช่วงชุลมุนมีมวลชนผู้ชุมนุมและจำเลยที่ 4 เข้ามาในที่เกิดเหตุรวมประมาณ 30 คน เพื่อสังเกตการณ์การจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าถูกต้องตามกระบวนการหรือไม่ โดยจำเลยที่ 4 เป็นผู้พูดคุยเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถามชายกลุ่มดังกล่าวว่าเป็นใคร ชื่ออะไร สังกัดที่ใด มีหลักฐานแสดงการจับกุมหรือไม่ ข้อกล่าวหาใด จะไปที่ไหน แต่ไม่มีคำตอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีเพียงบอกว่าลืมนำบัตรประจำตัวฯ มา

ธนาดลระบุว่า ตนไม่เห็นจำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายผู้อื่น และไม่เห็นจำเลยที่ 3 และ 4 เข้ามาช่วยเหลือต่อสู้ขัดขวางเพื่อดึงตัวจำเลยที่ 1 ให้หลุดพ้นจากการจับกุม นอกจากนี้ พยานยังอยู่ในที่เกิดเหตุจนถึงเวลา 2 ทุ่มเศษและไลฟ์ถ่ายทอดสดตลอดเวลา ซึ่งในคลิปวิดีโอไลฟ์ถ่ายทอดสดไม่ปรากฎภาพช่วงใดที่เห็นว่าจำเลยที่ 1 ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน

ธนาดลตอบอัยการถามค้านว่า ภายหลังลงจากรถขนเครื่องขยายเสียงแล้ว พยานได้ขอให้ชายกลุ่มดังกล่าวแสดงบัตรประจำตัวฯ อีกครั้งแล้ว แต่บุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แสดงบัตรประจำตัวฯ ให้ดู และเหตุที่พยานไม่ยอมให้บุคคลที่อ้างว่าเป็นตำรวจจับกุมโดยดี เพราะพยานกังวลในความปลอดภัย และกระบวนการจับกุมอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

.

.

จำเลยที่ 3 ‘ใบบุญ’ สังเกตการณ์อย่างเดียว ไม่เคยเข้าไปยื้อแย่งฉุดกระชากผู้ใด

ใบบุญ อายุ 21 ปี อาชีพ นักศึกษา จำเลยที่ 3 เบิกความต่อศาลว่า ตนเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองเพราะเห็นความไม่โปร่งใสในการบริหารงานของรัฐบาล พยานไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และไม่ได้เป็นแกนนำทางการเมือง รวมถึงไม่เคยรู้จักจำเลยคนอื่น

ขณะเกิดเหตุ พยานมาทำธุระที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และมีเพื่อนโทรมาบอกว่า มีการล้อมจับกุมรถขนเครื่องขยายเสียงโดยบุคคลที่อ้างว่าเป็นตำรวจ พยานเห็นว่าที่เกิดเหตุอยู่ไม่ไกลจากอนุสาวรีย์ชัยฯ จึงได้ขับรถจักรยานยนต์ไปที่เกิดเหตุบริเวณหน้า รพ.พญาไท 2 เมื่อไปถึง พบเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมกำลังมุงดูเหตุการณ์การล้อมจับ พยานจึงเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ โดยไม่ได้เข้าไปยื้อแย่งฉุดกระชากตัวจำเลยที่ 1 และ 2 ตามที่ตำรวจกล่าวอ้าง

ใบบุญเบิกความต่อไปว่า ตนเห็นเหตุการณ์ว่ามีคนโต้เถียงกัน โดยชายที่อ้างว่าเป็นตำรวจ พยายามฉุดกระชากบุคคลที่โต้เถียงด้วยไปขึ้นรถของกลุ่มชายดังกล่าว แต่พยานไม่เห็นเหตุการณ์การล็อกตัวจำเลยที่ 1 และ 2 ทั้งไม่สามารถแยกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่แต่งกายนอกเครื่องแบบออกจากประชาชนทั่วไปที่มุงดูกันอยู่ได้

ใบบุญระบุว่า ได้ยินว่ามีคนขอให้ชายที่อ้างว่าเป็นตำรวจแสดงบัตรประจำตัวฯ แต่ไม่มีการแสดงแต่อย่างใด ต่อมา พยานสังเกตเห็นชุดตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) มาตรึงกำลังอยู่อีกที่ฝั่งของถนน พยานเกรงว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจล้อม จึงออกจากที่เกิดเหตุไป

ในการตอบอัยการถามค้าน ใบบุญรับว่า หากเพื่อนไม่โทรมาบอกหรือไม่มีไลฟ์ถ่ายทอดสด ตนก็อาจจะไม่เดินทางไปที่เกิดเหตุ ทั้งนี้ตนอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุประมาณ 30 นาที นอกจากนี้ พยานยังเคยถูกดำเนินคดีอันสืบเนื่องจากกิจกรรมทางการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 คดี

.

จำเลยที่ 4 ‘ณัชพล’ รู้ว่าเป็น ตร.นอกเครื่องแบบจากทรงผม แต่ถามแล้วไม่ตอบ-ไม่แสดงตัว-ไม่ชี้แจง

ณัชพล ไพลิน อายุ 22 ปี อาชีพนักศึกษา จำเลยที่ 4 เบิกความต่อศาลว่า ตนเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมาก่อนและมีแนวคิดดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยสันติวิธี พยานไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลปัจจุบัน เนื่องจากมีที่มาจากการรัฐประหารและสืบทอดอำนาจ ในวันเกิดเหตุ พยานทราบจากไลฟ์ถ่ายทอดสดว่ามีการล้อมจับกุมรถขนเครื่องขยายเสียง พยานและเพื่อนจึงเดินทางไปที่เกิดเหตุเพื่อสังเกตการณ์

ณัชพล เบิกความต่อไปว่า เวลาประมาณ 20.00 น. เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุ พบเห็นรถขนเครื่องขยายเสียงถูกรถคันอื่นล้อมไว้ มีกลุ่มผู้ชุมนุมคอยยืนสังเกตการณ์อยู่ประมาณ 10-20 คน และเห็นจำเลยที่ 1 และ 2 กำลังถูกชายนอกเครื่องแบบล็อกคอและพาตัวขึ้นรถไปยังที่แห่งหนึ่ง แต่ไม่ทราบว่าที่ใด ขณะนั้นยังไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่งกายในเครื่องแบบอยู่ในพื้นที่ พยานจึงเข้าไปสอบถามชายผู้อ้างตนตำรวจว่ามาจากหน่วยงานใด มีบัตรประจำตัวฯ หรือไม่ จับกุมผู้ใด และมีหมายจับหรือไม่ แต่ไม่ได้รับคำตอบ ซึ่งพยานไม่ได้ใช้ความรุนแรง ขัดขวาง หรือยื้อยุดฉุดกระชากแย่งตัวจำเลยที่ 1 และ 2 แต่อย่างใด

พยานระบุว่า เหตุผลที่ทราบว่าอาจเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ เพราะสังเกตจากการแต่งกายและทรงผม ส่วนที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์  เพราะต้องการทราบว่าชายที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่นั้นเป็นตำรวจจริงหรือไม่ หากเป็นจริงย่อมต้องแสดงหลักฐานได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริง ต่อมา พยานอยู่ในที่เกิดเหตุประมาณ 20-30 นาที แล้วจึงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) มาตรึงกำลังอยู่อีกด้านหนึ่งของถนน พยานจึงเดินออกทางที่เกิดเหตุ ด้วยรถจักรยานยนต์

ณัชพลไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 และ 2 ถูกจับกุมหรือเดินทางกลับบ้าน แต่รับว่าเคยรู้จักจำเลยที่ 1 และ 2 มาก่อน แต่รู้จักเพียงชื่อและหน้าตาเท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนและไม่ได้เดินทางไปที่เกิดเหตุด้วยกัน

สำหรับข้อกล่าวหาว่าจำเลยต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ณัชพลเบิกความว่า ตลอดการสังเกตการณ์ ไม่เห็นผู้ใดต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน

ณัชพลตอบอัยการถามค้าน รับว่า ถ้าพยานไม่เห็นเหตุการณ์ล้อมจับผ่านไลฟ์ถ่ายทอดสด พยานอาจจะไม่เดินทางไปยังที่เกิดเหตุ และพยานได้สอบถามชายอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 4 คน แต่ไม่ได้รับคำตอบ นอกจากนี้ ณัชพลรับว่า ตนเคยถูกดำเนินคดีอันสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองมาก่อน

.

.

ผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ ระบุ เห็นจำเลยที่ 1 ถูกล็อกคอจนหน้าแดงหายใจไม่ออก

ธนกรณ์ ทองอนันต์ อายุ 31 ปี อาชีพรับจ้าง เบิกความต่อศาลว่า ตนเข้าร่วมการชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564 ภายหลังการชุมนุมยุติลงในเวลาประมาณ 20.00 น. จึงเดินทางกลับบ้านโดยรถจักรยานยนต์ ขับนำหน้ารถขนเครื่องขยายเสียง ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พยานไม่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามหรือไม่

เมื่อขับรถผ่านบริเวณหน้า รพ.พญาไท 2 มาได้ประมาณ 1 ป้ายรถเมล์ พยานได้รับโทรศัพท์แจ้งจากบุคคลภายในรถขนเครื่องขยายเสียงว่า รถถูกปิดล้อม จึงขับรถจักรยานยนต์ย้อนกลับมาที่จุดเกิดเหตุบริเวณหน้า รพ.พญาไท 2 พบเห็นจำเลยที่ 1 และ 2 ถูกล็อกตัวและกระชากลงจากรถ โดยกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 10 คน แต่งกายในลักษณะเดียวกัน

ธนกรณ์ระบุว่า ตนได้ใช้โทรศัพท์มือถือไลฟ์ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊ก พบเห็นจำเลยที่ 1 มีอาการหน้าแดง คล้ายคนหายใจไม่ออกจากการถูกล็อกคอ และเห็นจำเลยที่ 1 พยายามหยิบโทรศัพท์มือถือของตน แต่ถูกชายกลุ่มดังกล่าวปัดตก พยานไม่เห็นจำเลยที่ 1 ต่อสู้ขัดขวางชายที่เข้ามาล็อกตัว แต่ได้ยินจำเลยที่ 1 พูดว่า “โทรศัพท์เสียหาย ใครจะรับผิดชอบ” รวมถึงเห็นจำเลยที่ 2 ถูกล็อกตัวไว้เช่นเดียวกัน

ขณะพยานกำลังไลฟ์ถ่ายทอดสด พยานได้สอบถามชายที่เข้าล็อกตัวจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ว่ามีบัตรประจำตัวฯ หรือหมายจับ หรือไม่ ชายกลุ่มดังกล่าวตอบกลับว่า ได้แสดงบัตรประจำตัวฯ แล้ว แต่พยานไม่ได้พบเห็นบัตรประจำตัวฯ ดังกล่าว รวมทั้งไม่ได้แจ้งว่าจะนำตัวจำเลยที่ 1 และ 2 ไปที่ใด ต่อมา ชายกลุ่มดังกล่าวได้พยายามเข้าจับกุมบุคคลที่ทำการไลฟ์ถ่ายทอดสด รวมถึงพยานด้วย

ต่อมา เกิดเหตุชุลมุนครั้งที่ 2 เนื่องจากมีชายที่อ้างตัวว่าเป็นตำรวจเข้าไปล็อกตัวจำเลยที่ 1 จากด้านหลัง แต่ชายคนดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 ได้เสียหลักล้มลง จึงเกิดการชุลมุนขึ้น โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามพาตัวจำเลยที่ 1 ออกมา ส่วนกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นตำรวจได้พาตัวชายที่เข้ามาล็อกคอออกไปเช่นกัน ในช่วงเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีท่าทีต่อสู้ขัดขืนแต่อย่างใด เพราะจำเลยที่ 1 ถูกล็อกตัวจากด้านหลัง

ธนกรณ์ยืนยันต่อศาลว่า ไม่เห็นผู้ใดทำร้ายร่างกายกลุ่มชายที่อ้างว่าเป็นตำรวจ และเห็นจำเลยที่ 3 และ 4 เข้ามาในที่เกิดเหตุพร้อมกับกลุ่มมวลชน และจำเลยที่ 4 ได้เข้าสอบถามชายที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงชื่อ สังกัด และตำแหน่ง รวมทั้งไม่ได้ใช้กำลังทำร้ายร่างกายหรือต่อสู้ขัดขวางกลุ่มชายที่อ้างว่าเป็นตำรวจแต่อย่างใด

.

ผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ ยืนยัน จำเลยที่ 2 อยู่รอบนอกเหตุชุลมุน

อรินทยา สีพาเสน อายุ 20 ปี อาชีพ นักศึกษา เบิกความต่อศาลว่า ตนได้เข้าร่วมการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ภายหลังการชุมนุมยุติลง พยานเดินทางกลับบ้านโดยขอติดรถจักรยานยนต์ของธนกรณ์ ซึ่งธนกรณ์จะขับรถจักรยานยนต์นำหน้ารถขนเครื่องขยายเสียงเพื่อนำทาง หลังจากขับมาได้สักระยะหนึ่ง ธนกรณ์ได้รับโทรศัพท์แจ้งว่า รถขนเครื่องขยายเสียงถูกปิดล้อม ธนกรณ์และพยาน จึงได้ขับรถจักรยานยนต์ย้อนกลับไปยังจุดหน้า รพ.พญาไท 2

เมื่อถึงที่เกิดเหตุ พยานพบเห็นกลุ่มชายฉกกรรจ์ มีลักษณะคล้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ พยายามเปิดประตูรถเพื่อนำตัวบุคคลที่อยู่ภายในรถขนเครื่องขยายเสียงออกมา กลุ่มชายดังกล่าวไม่มีใครแต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบและไม่ได้แสดงบัตรประจำตัวฯ จากนั้นพยานได้โทรศัพท์หาจำเลยที่ 4 ให้มาร่วมสังเกตการณ์ในที่เกิดเหตุ เมื่อจำเลยที่ 4 มาถึงที่เกิดเหตุ ได้สอบถามชายกลุ่มดังกล่าวถึงการแสดงตนและบัตรประจำตัวฯ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

ต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้ามาในที่เกิดเหตุมากขึ้น เพื่อกดดันการทำงานของกลุ่มคนที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากเห็นว่า การจับกุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุการณ์จึงเริ่มชุลมุนวุ่นวายมากขึ้น เมื่อมีชายที่อ้างว่าเป็นตำรวจพยายามเข้าล็อกคอจำเลยที่ 1 จนล้มลง ทำให้ผู้ชุมนุมที่อยู่ในบริเวณนั้นล้มลงตามๆ กันไป

อรินทยา ระบุว่า ตลอดเวลาที่เกิดเหตุการณ์ พยานไม่เห็นจำเลยที่ 2 และ 4 ใช้กำลังต่อสู้เจ้าพนักงานตำรวจแต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 2 อยู่บริเวณรอบนอกของจุดที่มีการชุลมุนและล้มลงนั้น

.

ผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ เห็นจำเลยที่ 4 ถูกตำรวจทำร้ายร่างกาย

ภาณุพงศ์ ศรีกระสินธุ์ อายุ 23 ปี อาชีพ นักศึกษา เบิกตวามต่อศาลว่า ภายหลังการชุมนุมยุติลง ตนได้เดินทางกลับบ้านด้วยรถจักรยานยนต์โดยมีเพื่อนหนึ่งคนซ้อนท้าย แต่ได้ทราบเหตุการณ์การดักจับรถขนเครื่องขยายเสียงที่หน้า รพ.พญาไท 2 เพื่อนจึงได้ขอให้พยานขับรถจักรยานยนต์ไปที่เกิดเหตุ พบเห็น ชายฉกรรจ์อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามฉุดกระชากกระเป๋าสะพายของจำเลยที่ 1 และเข้าล็อกตัวของจำเลยที่ 1 ทำให้โทรศัพท์มือถือของเขาหล่นลงที่พื้น และมีชายที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกคนหนึ่งเข้ามาเหยียบโทรศัพท์มือถือของจำเลยที่ 1 ไว้ ต่อมาพยานได้หยิบโทรศัพท์มือถือเครื่องดังกล่าว และส่งคืนให้จำเลยที่ 1

ภาณุพงศ์เบิกความต่อไปว่า ตนเห็นจำเลยที่ 4 เข้าช่วยเหลือผู้ชุมนุมโดยการสอบถามชายที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีบัตรประจำตัวฯ หรือไม่ แต่ชายคนดังกล่าวไม่ได้แสดงบัตรประจำตัวฯ แต่อย่างใด ต่อมามีมวลชนเข้ามาในที่เกิดเหตุมากขึ้น พยานและจำเลยที่ 4 จึงได้ออกจากบริเวณจุดที่มีการชุลมุนกัน และมีชายที่อ้างว่าเป็นตำรวจอีกคนหนึ่งเข้ามาเจรจากับจำเลยที่ 4 และพยายามพาตัวจำเลยที่ 4 ไปขึ้นรถ แต่จำเลยที่ 4 ไม่ยอมขึ้น โดยพยานได้ยินจำเลยที่ 4 ถามเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบที่ยืนประจำที่รถอยู่ว่า “จับด้วยข้อหาอะไร มีหมายจับหรือไม่”

เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่ยอมขึ้นรถ ตำรวจคนดังกล่าวได้จับแขนจำเลยที่ 4 ไขว้หลังและดันขึ้น ทำให้จำเลยที่ 4 ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณหัวไหล่ ต่อมาจำเลยที่ 4 หลุดพ้นจากการควบคุมตัว มีชายที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเข้ามาควบคุมตัวจำเลยที่ 4 พร้อมกับจำเลยที่ 1 อีกครั้ง ทำให้จำเลยที่ 1 ล้มลงเนื่องจากถูกผลัก แต่พยานไม่เห็นว่าจำเลยที่ 1 ใช้กำลังต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานแต่อย่างใด

.

ผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ เบิกความสอดคล้อง เจ้าหน้าที่ไม่ยอมแสดงบัตร ตนไลฟ์สดลงอินสตาแกรม

วิโรฌา ชัชวาลวงศ์ อายุ 20 ปี อาชีพ นักศึกษา เบิกความต่อศาลว่า ตนได้เข้าร่วมการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ภายหลังการชุมนุมยุติลง ตนได้เดินทางกลับบ้านโดยอาศัยรถยนต์ของพี่ชายของจำเลยที่ 4 ขณะเดินทางกลับบ้าน พี่ชายของจำเลยที่ 4 ได้รับโทรศัพท์แจ้งว่า จำเลยที่ 4 อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุหน้า รพ.พญาไท 2 พี่ชายของจำเลยที่ 4 และตนจึงได้เดินทางไปถึงที่เกิดเหตุ

เมื่อถึงที่เกิดเหตุ พยานพบเห็น จำเลยที่ 1, 2 และ 4 กำลังเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวแสดงตัวและบัตรประจำตัวฯ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบดังกล่าวไม่ได้แสดงตัว พยานจึงได้ใช้โทรศัพท์มือถือไลฟ์ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านทางอินสตาแกรม

วิโรฌาระบุว่า สาเหตุที่ตนทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ เพราะบุคคลดังกล่าวบอกกับพยานว่า เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ แต่ไม่ได้แสดงหลักฐานหรือบัตรประจำตัวฯ แต่อย่างใด

วิโรฌาเบิกความต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบล็อกตัวจากด้านหลัง จึงเกิดการชุลมุนขึ้น โดยขณะนั้นพยานอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุและใช้โทรศัพม์มือถือไลฟ์ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ในระยะใกล้ มองเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจน ทั้งนี้ไม่พบเห็นผู้ใดใช้กำลังต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตำรวจ ต่อมา จำเลยที่ 1 และเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบได้ล้มลงและมีผู้เข้ามาบังกล้องโทรศัพท์มือถือของพยาน ทำให้พยานไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

.

X