เปิดคำพิพากษาคดี “4 นักกิจกรรม #ม็อบ3กันยา64” ปรับ 2 หมื่น ข้อหาหลบหนี-ชกต่อยจนท.ให้ยก ศาลชี้ตำรวจจับโดยไม่มีอำนาจ-ให้การขัดแย้งกัน

5 ก.ย. 2565 เวลา 13.30 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของทวี เที่ยงวิเศษ, ธนาดล จันทราช, ใบบุญ (สงวนนามสกุล) และณัชพล ไพลิน รวม 4 คน ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่น รวมทั้งข้อหาหลบหนีการจับกุม เหตุจากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าล้อมจับกุมรถขนเครื่องขยายเสียง บริเวณถนนหน้าโรงพยาบาลพญาไท 2 หลังการชุมนุม #ม็อบ3กันยา64 ที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564

ย้อนอ่าน เปิดบันทึกสืบพยานคดี “4 นักกิจกรรม” ถูกกล่าวหาหลบหนีการจับ-ชกต่อยจนท. #ม็อบ3กันยา64 ตำรวจเบิกความสับสน-ขัดแย้ง จำเลยยันไม่มีใครต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน

.

ธนาดลและณัชพลเดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดี 805 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ส่วนทวีและใบบุญ ซึ่งถูกคุมขังจากเหตุในคดีอื่นถูกเบิกตัวตามมาภายหลังในเวลา 13.30 น. ด้านมาตรการรักษาความปลอดภัยในวันนี้ค่อนข้างรัดกุม มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและตำรวจศาลอย่างน้อย 4 นาย เฝ้าระวังอยู่หน้าห้อง แต่บรรยากาศภายในห้องกลับค่อนข้างคึกคัก เนื่องจากมีญาติ เพื่อนและสมาชิกกลุ่ม “ทะลุฟ้า” ประมาณ 40-50 คน มาให้กำลังใจจำเลยและร่วมฟังการอ่านคำพิพากษาในคดีนี้

เมื่อจำเลยและทนายความมากันครบแล้ว ราวเวลา 13.40 น. ประยุทธ์ ไชยพิณ และ ถาวร เบ้าเงิน ผู้พิพากษา ได้นั่งบัลลังก์และเริ่มอ่านคำพิพากษา เนื้อหาคำพิพากษาในช่วงแรกได้กล่าวถึง ชุดประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ใช้บังคับในช่วงเวลาขณะเกิดเหตุในคดีนี้

ต่อมาจึงเข้าสู่ส่วนของการวินิจฉัย สรุปใจความได้ว่า ในวันและเวลา สถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และ 2 ได้เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มบุคคลประมาณ 300 คน ที่แยกราชประสงค์ อันเป็นพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สูงสุดและเข้มงวด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 32) ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2564 และ คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ที่ 11/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุม ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ซึ่งผู้ชุมนุมได้ทำการปราศัยผ่านเครื่องขยายเสียงที่ติดตั้งบนรถยนต์ มีเนื้อหาปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและการดำเนินคดี

การชุมนุมยุติลงในเวลา 20.00 น. จากนั้นจำเลยที่ 1 และ 2 จึงเดินทางกลับบ้าน โดยอาศัยโดยสารรถกระบะยี่ห้ออีซูซุที่ติดตั้งเครื่องขยายเสียงไว้ท้ายรถ เดินทางออกจากแยกราชประสงค์ ผ่านแยกประตูน้ำ ผ่านอนุสาวร์ชัยฯ จนถึงหน้า รพ.พญาไท 2 รวมทั้ง พ.ต.ท.ไพบูลย์ สอโส ผู้เสียหายและเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม เดินทางติดตามจากบริเวณที่มีการชุมนุม และเข้าจับกุมผู้โดยสารที่อยู่ในรถกระบะคันดังกล่าว

.

ศาลเห็นว่าจำเลยที่ 1 และ 2 เข้าร่วมการชุมนุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้จัด

คดีนี้มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยที่ 1 และ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่ และร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวน 25 คนขึ้นไป โดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ หรือไม่

ในคดีนี้ จำเลยที่ 1 และ 2 ไม่ได้นำสืบว่า ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ และนำสืบรับว่าจำเลยทั้งสองเข้าร่วมการชุมนุมในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจริง แต่บ่ายเบี่ยงว่าการกระทำไม่เป็นความผิด เพราะเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยอ้างความเห็นของ ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญทำนองว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต เพราะการชุมนุมที่จำเลยทั้งสองเข้าร่วมอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กระทำโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และเป็นไปโดยชอบด้วยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี การกระทำของจำเลยจึงอยู่ในขอบเขตของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 44 จะบัญญัติให้บุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะสามารถใช้สิทธิเสรีภาพของตนเองโดยปราศจากขอบเขตและไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ใช้เสรีภาพดังกล่าวจนถึงเป็นขั้นละเมิดหรือทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง เพราะกฎหมายที่ตราออกมาใช้บังคับกับประชาชนทุกคนย่อมมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดระเบียบ รักษาดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและประชาชนเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นหากมีการกระทำอันละเมิดกฎหมาย ก็จะอ้างว่าเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบหาได้ไม่

การที่จำเลยที่ 1 และ 2 เข้าร่วมการชุมนุมตามฟ้องฯ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดและคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเป็นข้อกำหนดที่มีขึ้นเพื่อป้องกันและยับยั้งการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ให้ดำเนินไปถึงขั้นที่จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสาธารณสุขและโครงสร้างเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ว่าในวันเวลาเกิดเหตุ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังดำเนินอยู่ และยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าการแพร่ระบาดจะสิ้นสุดลงเมื่อใด นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนโดยรวม

ดังนั้นไม่ว่าผู้จัดหรือผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันเกิดเหตุจะมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสหรือไม่ และไม่ว่าจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสจากการเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวหรือไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 และ 2 ย่อมเป็นความผิดฐานชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามฟ้อง

ส่วนที่จำเลยทั้งสี่แถลงการปิดคดีทำนองว่า เมื่อไม่ปรากฎว่าการชุมนุมในวันที่เกิดเหตุไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ อย่างไรอันจะถือว่าเป็นการมั่วสุมในลักษณะที่เป็นความผิดตามมาตรา 9 และ 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เห็นว่า พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 3 (6) บัญญัติว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่ใช้บังคับเมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุ นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่สามารถกระทำได้ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีนี้จึงไม่นำด้วยบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาใช้บังคับในวันที่เกิดเหตุ ไม่มีเหตุที่ต้องวินิจฉัยว่าการชุมนุมของจำเลยที่ 1 และ 2 ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วย พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ตามที่จำเลยทั้งสองแถลงปิดคดีแต่อย่างใด

ส่วนความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 25 คนขึ้นไป โดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ไม่มีพยานโจทก์มาเบิกความว่าจำเลยที่ 1 และ 2 มีพฤติการณ์เป็นหรือกระทำการอย่างไร เป็นผู้จัดหรือร่วมจัดกิรรมการชุมนุมในวันเกิดเหตุ ทั้งการนำสืบของพยานโจทก์ได้ความเพียงแต่ว่าจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมเท่านั้น

พ.ต.ท.ไพบูลย์ สอโส พยานโจทก์ เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 และ 2 ประกาศเชิญชวนผู้อื่นให้เข้าร่วมการชุมนุมนี้หรือไม่ ลำพังแค่การเข้าร่วมชุมนุมหรือภายหลังยุติการชุมนุม จำเลยที่ 1 และ 2 นั่งโดยสารรถบรรทุกอุปกรณ์เครื่องขยายเสียงที่ใช้ในการจัดกิจกรรมยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรมอันเป็นความผิดตาม ตามมาตรา 35 และ 52 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

.

.

ศาลชี้ตำรวจจับกุมโดยไม่มีอำนาจ ไม่ใช่การกระทำผิดซึ่งหน้า

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายและโดยร่วมกันกระทำด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป และร่วมกันกระทำด้วยประการใดให้ผู้ถูกคุมขังตามอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีทางอาญาหลุดพ้นจากการคุมขังไป และจำเลยที่ 1 และ 2 หลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของเจ้าพนักงานอาญา หรือไม่ ซึ่งเห็นสมควรวินิจฉัยรวมกันไป

ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติเบื้องต้นตามทางนำสืบของพยานโจทก์และจำเลยทั้งสี่ได้ว่า ภายหลังการชุมนุมยุติลงในเวลา 20.00 น. จากนั้น จำเลยที่ 1 และ 2 เดินทางออกจากที่เกิดเหตุเพื่อเดินทางกลับบ้านโดยนั่งโดยสารไปในรถยี่ห้ออีซูซุซึ่งบรรทุกเครื่องขยายเสียง ออกจากแยกราชประสงค์ ผ่านแยกประตูน้ำ ไปถามถนนราชปรารภ ผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อมาถึงหน้า รพ.พญาไท 2 เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งไม่ได้แต่งกายในชุดเครื่องแบบ และเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ รวมทั้ง พ.ต.ท.ไพบูลย์ สอโส ผู้เสียหายซึ่งนั่งโดยสารรถยนต์ตามมาตั้งแต่บริเวณสถานที่จัดกิจกรรมจัดการชุมนุม ได้เข้าจับกุมบุคคลผู้โดยสารที่นั่งอยู่ในรถกระบะคันดังกล่าว

เห็นว่าเมื่อความผิดฐานชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จำเลยที่ 1 และ 2 กระทำขึ้นบริเวณแยกราชประสงค์ได้ยุติลงแล้วนั้น มิได้ปรากฏการกระทำความผิดซึ่ง พ.ต.ท.ไพบูลย์ สอโส และเจ้าพนักงานตำรวจ สามารถจับกุมได้อีก โดยได้ความว่าจำเลยที่ 1 และ 2 ได้เดินทางกลับบ้านแล้ว จึงมิใช่ความผิดซึ่ง พ.ต.ท.ไพบูลย์ สอโส และเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับ เห็นจำเลยที่ 1 หรือ 2 กระทำหรือพบในอาการที่จะสงสัยว่ากระทำความผิดมาแล้วสดๆ อันจะเป็นความผิดซึ่งหน้าที่ พ.ต.ท.ไพบูลย์หรือเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับจะจับกุมจำเลยที่ 1 และ 2 ได้โดยไม่มีหมายจับ และไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 78 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

การที่ พ.ต.ท.ไพบูลย์ สอโส และเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับ ติดตามไปจับกุมจำเลยที่ 1 และ 2 ระหว่างเดินทางกลับบ้านโดยไม่มีหมายจับ เป็นการเข้าจับกุมโดยไม่มีอำนาจ เมื่อเป็นการจับกุมโดยไม่มีอำนาจและมีการกระทบกระทั่งกันระหว่างการจับกุม แม้จำเลยทั้งสี่คนใดจะต่อสู้หรือขัดขวางการจับกุมก็ตาม การกระทำของจำเลยทั้งสี่ไม่เป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายและโดยร่วมกันกระทำด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป

.

ชี้ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 ทำร้ายตำรวจผู้เสียหาย ตำรวจยังเบิกความเหตุการณ์เดียวกัน แตกต่างกันไป

ส่วนความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 มาด้วยนั้น พยานโจทก์นำสืบปรากฏว่าขณะเกิดเหตุชุลมุน มีคนถ่ายภาพนิ่งบันทึกภาพเหตุการณ์ไว้ ซึ่งโจทก์ก็นำภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายขณะเข้าจับกุมจำเลยที่ 1 ในที่เกิดเหตุ เป็นพยานหลักฐาน แต่ภาพถ่ายดังกล่าวมีเพียงภาพเหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมจำเลยที่ 1 และภาพเหตุการณ์ที่ พ.ต.ท.ไพบูลย์ สอโส ผู้เสียหายล้มลงเท่านั้น

ส่วนเหตุการณ์ที่ผู้เสียหายถูกทำร้าย ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นต่อเนื่องต่อจากเหตุการณ์ที่มีการถ่ายภาพไว้นั้น โจทก์ไม่มีภาพถ่ายมาเป็นพยานหลักฐานโดยไม่ปรากฎเหตุผล ทั้งคนที่ถ่ายภาพน่าจะพร้อมถ่ายภาพบันทึกเหตุการณ์สำคัญเก็บไว้เป็นหลักฐานอยู่แล้ว จึงเชื่อได้ว่าเหตุการณ์ที่มีคนทำร้ายผู้เสียหาย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทันหันระหว่างมีการชุลมุน ไม่น่าจะมีคนมองเห็นได้อย่างถนัดชัดเจนนัก ดังจะเห็นได้จากคำเบิกความของพยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ร่วมจับกุม ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุและมองไปที่เหตุการณ์เหมือนกัน แต่มองเห็นเหตุการณ์แตกต่างกัน

ส.ต.อ.ธนวรรษ พันธุ์ชาตรี เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะผู้เสียหายถูกต่อย จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากการควบคุมตัวผู้ของเสียหายไปแล้ว ส่วน ร.ต.อ.ยศวรรธน์ น้อยประสาน อยู่ห่างจากที่เกิดเหตุ 1 เมตร เบิกความว่าเห็นจำเลยที่ 1 ต่อยหน้าผู้เสียหาย แต่ไม่เห็นว่าใครใช้เท้ากระทืบหรือเตะผู้เสียหาย ร.ต.อ.กำทวน วิจิตร ซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุไม่เกิน 3 เมตร เบิกความว่าเห็นจำเลยที่ 1 ล็อกคอผู้เสียหาย แต่ไม่เห็นว่าใครเป็นผู้ชกผู้เสียหาย เห็นเพียงแต่ขณะผู้เสียหายล้มลงและมีการชุลมุนเกิดขึ้นเท่านั้น และ พ.ต.ต.วินิตย์ จันทร์บูรณ์ อยู่ห่างจากที่เกิดเหตุไม่เกิน 2 เมตร เบิกความว่าเห็นผู้เสียหายถูกดึงล้มลง แต่มองไม่เห็นเหตุการณ์ผู้เสียหายถูกทำร้าย

ดังนั้นการที่ พ.ต.ท.ไพบูลย์ สอโส ผู้เสียหาย เบิกความว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ต่อยเข้าเบ้าตาขวาจนล้มลงและถูกเตะและกระทืบลำตัว ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่นจะมาดึงตัวผู้เสียหายออกไป ซึ่งแตกต่างไปจากคำเบิกความของพยานโจทก์ปากอื่นทุกประการในสาระสำคัญ จึงมีน้ำหนักไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจะมีโอกาสเห็นและจำเหตุการณ์ได้ดังที่เบิกความ

เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้เสียหาย คงมีคำเบิกความของผู้เสียหายเพียงแต่ลอยๆ ส่วนพยานจำเลยนำสืบโดยมีภาพคลิปวิดีโอเหตุการณ์มาเป็นพยานหลักฐาน ขณะจับกุมจำเลยที่ 1 นั้นไม่ปรากฏภาพว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายแต่อย่างใด พยานโจทก์ที่นำสืบมาจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้เสียหาย อันจะเป็นความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และ 2 ว่ามีความผิดตามฐานร่วมกันชุมนุมโดยฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับคนละ 20,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3  คงปรับ 13,333.33 บาท ข้อกล่าวหาที่เหลือให้ยกฟ้อง

.

ทวีถูกขังระหว่างพิจารณาไป 170 วัน โดยไม่มีความผิด ทำให้ไม่ต้องชำระค่าปรับ

หลังฟังคำพิพากษา จำเลยที่ 2 คือธนาดล ได้ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาของศาล โดยเป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

ขณะที่ทวี จำเลยที่ 1 นั้น ได้ถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณา โดยศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เจ้าหน้าที่ศาลได้คำนวณวันถูกคุมขังโดยยังไม่มีคำพิพากษาเป็นระยะเวลา 170 วัน หากคิดวันถูกคุมขังแทนค่าปรับ คำนวณวันละ 500 บาท รวมทวีต้องได้รับการชดเชยที่ถูกคุมขังเป็นเงิน 85,000 บาท ทำให้เขาไม่ต้องชำระค่าปรับตามคำพิพากษาของศาลอีก เพราะถูกคุมขังเกินค่าปรับไปแล้ว

.

X