เก็บตกหลังคำพิพากษาคดี #ม็อบ3กันยา64: “ทวี” ถูกคุมขัง 170 วัน โดยไม่มีความผิด

1

ทวี เที่ยงวิเศษ หรือ “อาทิตย์ ทะลุฟ้า” ถูกคุมขังไปก่อนล่วงหน้า แม้ต่อมาศาลพิพากษาว่าไม่มีความผิดเป็นโทษจำคุก

เขาถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2564 ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าได้เข้าร่วมชุมนุมม็อบ3กันยา64 ที่แยกราชประสงค์ และถูกตำรวจอ้างว่าได้ทำร้ายเจ้าพนักงาน และหลบหนีการจับกุม ระหว่างเจ้าหน้าที่พยายามเข้าจับกุมที่หน้าโรงพยาบาลพญาไท 2

ศาลไม่ให้ประกันตัวทวี หลังตำรวจส่งขอฝากขัง ทำให้เขาถูกคุมขังข้ามปีทั้งระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณา จนกระทั่งได้ประกันตัวเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 หลังการพยายามยื่นประกันตัวกว่า 8 ครั้ง โดยให้ติดอุปกรณ์ EM

รวมระยะเวลาจากการนับของเจ้าหน้าที่ เขาถูกคุมขังไป 170 วัน หรือเกือบ 6 เดือน

19 ก.ค. 2565 ศาลอาญาไม่ให้ประกันตัวทวีอีกครั้ง หลังออกมาจากเรือนจำได้ 4 เดือนเศษ เมื่อถูกอัยการสั่งฟ้องในคดีที่ถูกกล่าวหากรณีสาดสีหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้เขาต้องเข้าเรือนจำเป็นครั้งที่ 2 มาจนถึงปัจจุบัน

.

2

หนึ่งปีหลังเหตุการณ์ #ม็อบ3กันยา64 และภายหลังการต่อสู้ในศาล วันที่ 5 ก.ย. 2565 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีซึ่งมีนักกิจกรรมถูกฟ้องทั้งหมด 4 คน ได้แก่ ทวี, ธนาดล จันทราช, ใบบุญ และ ณัชพล ไพลิน

จำเลยสองคน คือ ทวี เที่ยงวิเศษ และ ใบบุญ ซึ่งถูกคุมขังและยังไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวในคดีอื่น ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวเข้าห้องพิจารณาด้วยเท้าเปล่า โดยมีสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้าและประชาชนเดินทางไปให้กำลังใจที่ศาลกว่า 40 คน

เมื่อสอบถาม ทวีเล่าว่า ทั้งสองคนถูกพาออกมาจากเรือนจำด้วยเท้าเปล่า ไม่ได้ให้สวมใส่รองเท้าออกมา โดยหากดูระยะทางตั้งแต่เดินทางจากเรือนจำ จนกว่าจะถึงห้องพิจารณาของศาล ระยะทางที่จำเลยทั้งสองต้องเดินด้วยเท้าเปล่า รวมกันราวๆ 1 กิโลเมตร โดยต้องเดินผ่านทั้งบนพื้นคอนกรีต พื้นหินกรวดในวันที่มีฝนตก และพื้นเย็นๆ ของศาลด้วย

ธนาดล จันทราช หรือ “เซียงเมี่ยง” ปัจจุบันเป็นสมาชิกกลุ่ม “ทะลุ มช.” ที่จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ แม้ไม่ได้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณา แต่ก็กังวลถึงผลคำพิพากษาที่จะเกิดขึ้น เขาสะท้อนมุมมองไว้ก่อนได้ฟังผลคำตัดสินของศาล

“ก่อนวันพิพากษา ผมยังคงกินอิ่มนอนหลับนะครับ โดยผมทำกลุ่มเคลื่อนไหวที่จังหวัดเชียงใหม่กับเพื่อนๆ ก็ได้ฝากงานกับเพื่อนไว้แล้ว ถ้าผลคดีออกมาไม่ดี เพื่อนก็พร้อมที่จะทำงานต่อ

“ส่วนเรื่องที่บ้าน เขาก็เข้าใจว่าเราทำกิจกรรมการเมือง การถูกขังก็เป็นสิ่งที่คาดหมายได้ และที่บ้านก็ยอมรับการตัดสินใจของเรา ก่อนจะมาฟังคำพิพากษาวันนี้ ก็ได้กลับบ้านที่อุดรธานี ไปเจอพ่อแม่มาก่อน หลังจากที่ไม่ได้กลับไปมาเป็นปี ก็เลยถือโอกาสกลับไปพอดี

“เรื่องผลคำพิพากษา ตอนสืบพยานโจทก์ผมก็มาเข้าฟังบ้างครั้ง แม้จะขอพิจารณาลับหลังไว้ ก็ได้เห็นว่าหลักฐานที่กล่าวหาผม ก็ไม่ชัดเจน คือแทบไม่มีเลย ฝ่ายโจทก์ก็เบิกความวกไปวนมา

“ตลอดเวลาที่สู้คดีมา ผมรู้สึกว่าผมได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเรื่องการประกันตัวนะ แต่เพื่อนของเรากลับไม่ได้รับมัน โดยอ้างเหตุเดียวกันนี้แหละ ผมเลยสงสัยว่ามันใช้หลักการอะไร

“สำหรับคนในกระบวนการยุติธรรม ผมมองว่าสิทธิเรื่องการประกันตัวมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เหตุที่ถูกใช้อ้างไม่ให้ประกันตัว เรื่องการไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน มันไม่เป็นจริงเลย เราเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งไปยุ่งเหยิงอะไรไม่ได้ ส่วนเรื่องการหลบหนีนี่ยิ่งแล้วใหญ่ เราก็ยืนยันมาตลอดว่าไม่หลบหนี มาแสดงตัวต่อสู้คดีตลอด ไม่ได้หลบหนีไปไหน”

.

3

ก่อนอ่านคำพิพากษาของศาล เจ้าหน้าที่ศาลได้สอบถามว่าในห้องพิจารณามีใครเข้าร่วมฟังคำพิพากษาบ้าง เนื่องจากมีนักกิจกรรมและประชาชนจำนวนมากในห้องพิจารณา ทางเจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งว่าให้ญาติรอข้างนอกบ้าง เหลือไว้เพียงไม่กี่คนเท่านั้นเนื่องจากมาตรการป้องกันโควิด ทำให้ต้องมีการจัดการว่าใครจะอยู่ในห้องพิจารณา หรือไปรอด้านนอกบ้าง

10 นาที หลังจากเวลานัด เมื่อศาลนั่งพิจารณา จึงได้เริ่มอ่านคำพิพากษา โดยสรุป ศาลให้ยกฟ้องใบบุญและณัชพลในทุกข้อกล่าวหา ขณะที่ทวีและธนาดล เห็นว่ามีความผิดเฉพาะข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ลงโทษปรับคนละ 20,000 บาท ให้การเป็นประโยชน์ ลดเหลือโทษปรับคนละ 13,333.33 บาท ขณะที่ข้อหาอื่นๆ ให้ยกฟ้อง โดยมีประเด็นสำคัญที่ศาลเห็นว่าการพยายามจับกุมของเจ้าหน้าที่เป็นไปโดยไม่มีอำนาจ เพราะไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า แม้อาจมีการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานก็ตาม รวมทั้งไม่มีพยานหลักฐานว่า ทวีได้ทำร้ายตำรวจที่เป็นผู้เสียหาย

หลังฟังคำพิพากษา ธนาดลต้องชำระค่าปรับตามคำพิพากษาของศาล โดยเป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ขณะที่ทวีนั้น ได้ถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณามาแล้ว ทำให้เขาไม่ต้องชำระค่าปรับตามคำพิพากษาของศาลอีก เพราะถูกคุมขังเกินค่าปรับไปแล้ว  

ระยะเวลาคุมขัง 170 วัน ถูกคิดเป็นค่าปรับวันละ 500 บาท รวมเป็นเงิน 85,000 บาท

หากคดีถึงที่สุด การถูกคุมขังไปก่อนโดยไม่มีความผิด ต้องได้รับการชดเชยเยียวยา แต่ระบบออกแบบการเยียวยาไว้เป็นตัวเงิน แต่วันเวลา โอกาสในชีวิต เสรีภาพ และความเป็นมนุษย์ที่สูญเสียไปจากการถูกคุมขัง คงไม่มีอะไรชดเชยเยียวยาได้

.

4

ท่ามกลางความรู้สึกยินดีต่อผลคำพิพากษาของเพื่อนๆ และผู้เข้าร่วมฟังคำพิพากษา ธนาดล เปิดเผยถึงความรู้สึกว่า “โอเคครับ คิดว่ามันต้องเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว หมายถึงว่า ก็เราไม่ได้ทำตามที่ถูกกล่าวหา ก็คิดว่าศาลก็ตัดสินด้วยความเป็นธรรม ตามพยานหลักฐานที่เห็น ก็หวังว่าผลคำพิพากษาจะออกมาอย่างนี้ บางส่วนยังถือว่าเกินความคาดหวังด้วยซ้ำ 

“ผลคำพิพากษา ก็เป็นทิศทางที่ดีที่จะทำให้เพื่อนที่อยู่ข้างใน (ผู้ต้องขังทางการเมือง) ถ้าศาลตัดสินด้วยความเป็นธรรมแบบนี้ ก็เป็นทิศทางที่ดีที่เพื่อนข้างในจะได้ออกมาต่อสู้ข้างนอกด้วย”

ด้าน “คิว” ณัชพล ไพลิน จำเลยที่ 4 ทบทวนถึงคดีที่เกิดขึ้นว่าตั้งแต่เริ่มคดีนี้มา ผมสังเกตการทำงานของศาลและของเจ้าหน้าที่ฝ่ายโจทก์ ผมก็พยายามดูอยู่ว่าศาลจะมีท่าทียังไง กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อฝ่ายโจทก์เขาเบิกความให้ความเห็นต่างๆ เขาพยายามทำให้คดีนี้ไม่ใช่คดีการเมือง แต่เป็นคดีอุกฉกรรจ์ ทำให้เป็นภาพที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง ทำให้ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว พยายามชี้ให้เห็นว่าเป็นความรุนแรง เป็นความปั่นป่วน คือฝั่งเจ้าหน้าที่จะมาในโทนนั้น

“แต่ทางศาลก็มีท่าทีที่ดี ศาลดูจากพยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างเข้ามา เจ้าหน้าที่ต้องยอมรับว่าวันนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางเจ้าหน้าที่ได้กระทำผิดกระบวนการจำนวนมาก แต่บางส่วนไม่อยู่ในสำนวนคดีด้วยซ้ำ คนที่ยื่นหลักฐานคดีคือฝ่ายเจ้าหน้าที่ใช่ไหม แต่ว่าฝั่งเรายังไม่ได้ต่อสู้คดีเลย พี่อาทิตย์ก็โดนขังไป 6 เดือนแล้ว ทุกคนโดนออกหมายจับ ยังไม่มีหมายเรียกอะไร มันหลายเรื่องมาก สำหรับการกระทำของเจ้าหน้าที่”

“พอได้ยินคำพิพากษาแล้ว ก็โอเคอยู่ครับ รู้สึกว่ามันยังไม่หมดหวัง ยังมีไฟอยู่ ยังมีความยุติธรรมอยู่นิดหนึ่ง ยังพอมองเห็นความยุติธรรมในคดีแบบนี้อยู่ ก่อนหน้านี้พี่อาทิตย์โดนไป 6 เดือนอะครับ แต่มาวันนี้มันยกฟ้อง ก็อยากให้เพื่อนได้รับความยุติธรรม”

.

5

“อาทิตย์ ทะลุฟ้า” ยังคงถูกคุมขังระหว่างพิจารณาต่อไป ในคดีสาดสีหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยศาลยังไม่มีคำพิพากษาใดๆ

.

อ่านเพิ่มเติม

บันทึกการสืบพยาน เปิดบันทึกสืบพยานคดี “4 นักกิจกรรม” ถูกกล่าวหาหลบหนีการจับ-ชกต่อยจนท. #ม็อบ3กันยา64 ตำรวจเบิกความสับสน-ขัดแย้ง จำเลยยันไม่มีใครต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน

คำพิพากษา เปิดคำพิพากษาคดี “4 นักกิจกรรม #ม็อบ3กันยา64” ปรับ 2 หมื่น ข้อหาหลบหนี-ชกต่อยจนท.ให้ยก ศาลชี้ตำรวจจับโดยไม่มีอำนาจ-ให้การขัดแย้งกัน

.

X