“แค่เราถูกดำเนินคดี มันก็ไม่เป็นธรรมแล้ว”: ศาลยกฟ้องคดี ‘คาร์ม็อบหาดใหญ่’ ชี้กิจกรรมเกิดในที่โล่ง ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่อยู่ในรถ ไม่ถึงขนาดเสี่ยงโรค

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2566 ศาลแขวงสงขลานัดฟังคำพิพากษาในคดี “คาร์ม็อบหาดใหญ่” ที่ใช้ชื่อกิจกรรมว่า “หาดใหญ่เบอะสด เขรถยิกลุง เหยดแหม่!” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2564 โดยคดีมีนักศึกษาและประชาชนถูกฟ้องในคดีนี้ 11 ราย ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางทางสาธารณะ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, ส่งเสียงดังอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร และปิดบังแผ่นป้ายทะเบียนรถ

ผู้กล่าวหาในคดีนี้คือ พ.ต.ท.พัทธนันท์ ภักดีดำรงทรัพย์ รองผู้กำกับการสืบสวน สภ.คอหงส์ จำเลยในคดีนี้มีทั้งหมด 11 คน ได้แก่ รฐนนท์ คุ่ยยกสุย, ฝนดาว เจริญวงศ์, ประคุณ ปานเล่ห์, ธนัดดา แก้วสุขศรี, จริงใจ จริงจิตร, ปทุมมา ตั้งพิพัฒน์มงคล, คอลดูน ปาลาเร่, อภิศักดิ์ ทัศนี, ธีรุตม์ สันหวัง, ศุภกร ขุนชิต, อัษฎา งามศรีขำ

คดีนี้มีการสืบพยานไปทั้งหมด 7 นัด เมื่อวันที่ 1-3, 8-9 และ 15-16 กุมภาพันธ์ 2566 ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นมิได้เป็นการชุมนุมในสถานที่แออัด เป็นพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก และรถในขบวนก็มีการเคลื่อนตลอด  ไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิด-19 ผู้เข้าร่วมทั้งหมดสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ไม่ได้มีการลงจากรถมารวมตัวกัน มีผู้ขึ้นปราศรัยในรถเครื่องเสียงเพียงบางส่วนเท่านั้น ทั้งผู้จัดก็มีการโพสต์ประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันโรคไว้ทั้งบนเพจเฟซบุ๊กและประกาศในระหว่างเคลื่อนขบวนรถ และตัวขบวนคาร์ม็อบเองก็ไม่ได้กีดขวางการจราจร เป็นการขับรถต่อกันกินพื้นที่ถนนเลนเดียว โดยที่ผู้อื่นยังสามารถใช้ถนนเลนขวาได้ตามปรกติ โดยรถไม่ได้ติดขัดแต่อย่างใด

ส่วนการบีบแตรที่ทำให้เกิดเสียงดังนั้น ก็ไม่ได้มีการบีบตลอดเวลา แต่เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ และจำเลยไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรม เพียงแต่เดินทางไปร่วมเนื่องจากข้อเรียกร้องตามที่ประกาศในเพจตรงกันกับจำเลย บางคนเพียงขอติดรถ ขอขึ้นรถร่วมปราศรัยหรืออ่านแถลงการณ์เท่านั้น ทั้งจำเลยรายหนึ่งเป็นเพียงคนขับรถรับจ้าง ที่ถูกว่าจ้างให้นำรถบรรทุก 6 ล้อมาเท่านั้น

ย้อนอ่าน ก่อนพิพากษาคดีคาร์ม็อบหาดใหญ่ #เขรถยิกลุง นักศึกษา-ปชช. รวม 11 คน ต่อสู้กิจกรรมไม่ได้เสี่ยงโควิด ผู้เข้าร่วมแทบไม่ได้ลงจากรถ

.

.

ศาลยกฟ้องข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ส่งเสียงอื้ออึง-กีดขวางทางสาธารณะ ปรับจำเลย 4 คน เฉพาะข้อหาใช้เครื่องเสียง-ปิดบังป้ายทะเบียน

ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 4 ศาลแขวงสงขลา จำเลยทั้ง 11 คน พร้อมทั้งทนายจำเลย ผู้ช่วยทนาย และประชาชนผู้มาให้กำลังใจ ศาลอ่านคำพิพากษาโดยแบ่งออกเป็นหกประเด็น โดยสรุปดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง จำเลยทั้ง 11 นั้น ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่รวมกันมากกว่าห้าคนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดหรือไม่ จากการนำสืบของโจทก์ ปรากฏเพียงว่า จำเลยสามรายเป็นผู้กล่าวปราศรัยในประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน และการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ส่วนจำเลยที่เหลือทั้งหมดเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรม โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยทั้งหมดเป็นผู้จัดกิจกรรมหรือไม่ และจำเลยทั้ง 11 เกี่ยวข้องหรือเป็นผู้ก่อตั้งเพจเฟซบุ๊กชื่อ “เด็กเปรต” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” ซึ่งประกาศจัดกิจกรรมหรือไม่ และมีบทบาทในการเป็นผู้จัดหรือผู้สั่งการอย่างไร จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ขออนุญาตการจัดกิจกรรมแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

ประเด็นที่สอง กิจกรรมตามฟ้องเป็นกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคหรือไม่

จากการนำสืบของโจทก์และจำเลย ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีการสวมหน้ากากอนามัย ไม่มีการจัดเลี้ยงอาหารแก่ผู้เข้าร่วม และตามคำเบิกความของ พ.ต.ท.เจริญชัย เกื้อก่อบุญ พื้นที่จัดกิจกรรมเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก ขบวนมีการเคลื่อนตลอด และผู้เข้าร่วมอยู่ในรถส่วนตัวของแต่ละคน ส่วนใหญ่ไม่มีการลงจากรถ มีเพียงผู้ชุมนุมบางคนเท่านั้นที่มีการลงมาทำกิจกรรมติดป้ายบริเวณสะพานลอย และเทสีพร้อมอาหารหมา เป็นระยะเวลาสั้นๆ และก็ไม่ได้มีการแจกใบปลิวพูดคุยกับชาวบ้านระหว่างทาง

จากคำเบิกความปาก พ.ต.ท.พัทธนันท์ ภักดีดำรงทรัพย์ ขณะเกิดเหตุไม่ได้มีการปิดห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปรกติ และไม่ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อภายหลังจากการจัดกิจกรรม ยังมีข้อสงสัยตามสมควร จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย

ประเด็นที่สาม จำเลยได้ร่วมกันส่งเสียงดังอื้ออึงโดยไม่มีเหตุสมควรหรือไม่

จากคำเบิกความของพยานโจทก์ตอบคำถามค้านของทนายจำเลย ว่าไม่ปรากฏว่าภายหลังเกิดเหตุมีชาวบ้าน ประชาชน หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในละแวกที่มีการจัดกิจกรรมมาแจ้งว่าได้รับความเดือดร้อนด้านเสียงจากกิจกรรมดังกล่าว จึงเห็นว่าจำเลยทั้ง 11 ยังไม่มีความผิดตามฟ้อง

ประเด็นที่สี่ จำเลยร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่

จากการนำสืบ ปรากฏว่ามีจำเลยสามราย ได้แก่ รฐนนท์ (จำเลยที่ 1), ฝนดาว (จำเลยที่ 2) และ จริงใจ (จำเลยที่ 5) ได้ดำเนินการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าในการปราศรัยบนรถบรรทุกหกล้อระหว่างการเคลื่อนขบวนรถ โดยที่ไม่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมได้มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงต่อเทศบาลนครหาดใหญ่ ทั้งสามคนจึงมีความผิดในฐานดังกล่าว

ประเด็นที่ห้า จำเลยร่วมกันร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจรหรือไม่

จากคำเบิกความของ พ.ต.ท.เจริญชัย ไม่ปรากฎว่าประชาชนมาร้องเรียนถึงความไม่สะดวกในการใช้เส้นทาง รวมทั้งไม่พบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ไม่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมมีการปิดกั้นการจราจร มีการเว้นช่องทาง ช่องจราจรทางขวาสามารถเดินรถได้ตามปรกติ แม้อาจจะมีความไม่สะดวกในการสัญจรอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถึงขนาดกีดขวางทางสาธารณะ เห็นว่าจำเลยทั้ง 11 ไม่มีความผิดในข้อกล่าวหานี้

ประเด็นที่หก จำเลยได้ร่วมกันนำวัสดุหรือสิ่งอื่นใดมาปิดบังแผ่นป้ายทะเบียนรถจนไม่สามารถมองเห็นทั้งหมด หรือบางส่วนของตัวเลขหรือตัวอักษรหรือไม่

จากการนำสืบพยาน เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 (ประคุณ) เป็นผู้ขับรถบรรทุกหกล้อ และรู้เห็นเป็นใจกับการที่มีผู้นำแผ่นกระดาษเอสี่มาปิดบังแผ่นป้ายทะเบียนรถของตน ส่วนจำเลยที่ 7 (คอลดูน) โดยสารอยู่หลังกระบะ เป็นเพียงผู้โดยสาร ยังฟังไม่ได้ว่ามีส่วนรู้เห็นกับการกระทำดังกล่าวอย่างไร และยังมีข้อสงสัยตามสมควรกับจำเลยรายอื่น

พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 (รฐนนท์), จำเลยที่ 2 (ฝนดาว) และจำเลยที่ 5 (จริงใจ) มีความผิดฐานร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 200 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 (ประคุณ) มีความผิดฐานนำวัสดุหรือสิ่งอื่นใดมาปิดบังแผ่นป้ายทะเบียนรถจนไม่สามารถมองเห็นทั้งหมด หรือบางส่วนของตัวเลขหรือตัวอักษร ลงโทษปรับ 500 บาท หลังฟังคำพิพากษา ฝ่ายจำเลยจึงได้ชำระค่าปรับรวมกันทั้งหมด 1,100 บาท

.

.

หนึ่งในจำเลยระบุได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพ แม้ยกฟ้อง แต่แค่ถูกดำเนินคดี ก็ไม่เป็นธรรมแล้ว

อัษฎา งามศรีขำ หรือ “ป้าอัษ” หนึ่งในผู้ถูกฟ้องในคดีนี้ ประกอบอาชีพทำขนมขายให้กับร้านค้าปลีก พร้อมกับดูแลแม่ที่ชราไปด้วย บอกถึงความรู้สึกหลังจากฟังคำพิพากษาว่า

“รู้สึกว่าแค่เราถูกดำเนินคดี มันก็ไม่เป็นธรรมแล้ว เพราะว่าสิ่งที่เราทำ คือออกไปใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน เราก็ได้วางแผนในการดูแลตัวเอง เราได้ระมัดระวังตัวตลอด ป้องกันตัวเองใส่แมสตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮอล์

“ในคดีนี้ผู้ชุมนุมได้เรียกร้องถึงความเท่าเทียมในการได้รับวัคซีน ไม่ใช่ไปให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก่อน แล้วทิ้งประชาชนไว้ที่หลัง ประชาชนควรที่จะได้รับวัคซีนที่ตนเลือกเอง แต่กลายเป็นเราถูกดำเนินคดี

“สำหรับป้าสิ่งที่ผู้บริหารบ้านเมืองต้องมี คือ คงความเท่าเทียม สิทธิ เสมอภาค และรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเองที่ได้รับมอบหมายจากประชาชนไป นี่คือสิ่งที่รัฐควรจะคิด ไม่ใช่ปล่อยให้เลยตามเลยไป ปล่อยให้ประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก จากการบริหารที่บกพร่องอย่างรุนแรง ชีวิตของประชาชนนั้นไม่มีค่าหรืออย่างไร”

การถูกดำเนินคดี ยังทำให้ป้าอัษได้รับผลกระทบด้านการประกอบอาชีพบางส่วน โดยเธอบอกว่าในช่วงที่มีนัดคดี ทั้งชั้นตำรวจ อัยการ ศาล เธอต้องขาดส่งขนมให้กับลูกค้า ทำให้รายได้หดหายไปบางส่วน และยังต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับว่าจ้างคนมาดูแลแม่ ในตอนที่เธอมาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมนี้ แม้ศาลจะยกฟ้อง แต่สิ่งที่สูญเสียไปในกระบวนการที่เกิดขึ้น ระบบดูเหมือนจะไม่สามารถชดเชยเยียวยาให้เธอได้

————————-

* บันทึกการสังเกตการณ์โดยทีมงาน “กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)”

.

X