อภิวัฒน์ พาลีกัณฑ์
กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)
.
“ลี” ซูกริฟฟี ลาเตะ ในวัย 26 ปี เป็นอดีตประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) อันเคยเป็นองค์กรรวมกลุ่มของนักศึกษาเพื่อขับเคลื่อนสันติภาพและประชาธิปไตยที่ชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันเป็นสมาชิกขององค์กรที่ชื่อว่า The Pattani ลีให้นิยามตนเองว่าเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง และเขาถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึง 2 คดี จากการร่วมกิจกรรม “Car Mob Tani” เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเรียกร้องวัคซีน mRNA ในจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 7 และ 14 สิงหาคม 2564
เมื่อในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา หลังการต่อสู้คดี ศาลจังหวัดปัตตานีพิพากษาว่า ซูกริฟฟีมีความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค คิดเป็น 2 กระทง รวมแล้วลงโทษจำคุก 4 เดือน ปรับ 40,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี ขณะที่เพื่อนนักกิจกรรมอีก 2 คน ที่ถูกฟ้องด้วยนั้น ศาลได้พิพากษายกฟ้อง
ลี นั้นพื้นเพแล้วเป็นชาวปัตตานี เขาจบการศึกษานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และได้เริ่มทำกิจกรรมทางสังคมตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ขณะเดียวกันเขายังลงเรียนด้านรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเพิ่มเติมในขณะนี้ เขาเล่าว่า สิ่งที่ตนเรียกร้องมาตลอดก็คือ สิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเองเพื่อให้เกิดสันติภาพที่สามจังหวัดภาคใต้ แต่สิ่งที่เรียกร้องนี้ เขาคิดว่าไม่สามารถเป็นไปได้ หากประเทศนี้ยังไม่เป็นประชาธิปไตยด้วย
“ประเทศไทยในตอนนี้ไม่ได้เคารพคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลักการพื้นฐานทางประชาธิปไตย รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย เมื่อเรื่องแบบนี้ยังไม่เกิดกับประเทศไทย และเราก็ไม่เชื่อว่ามันจะเกิดกับที่นี่ได้”
.
.
ความผิดคาดของคำพิพากษา
หลังฟังคำพิพากษาที่ศาลจังหวัดปัตตานี ลีให้ความเห็นว่า เขายังเชื่อว่าการกระทำของตนเองไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่อย่างใด หากเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน และสิ่งที่สื่อสารคือประเด็นทางการเมือง อีกทั้งการชุมนุมนั้นก็ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการระบาดของโควิด-19 การใช้รูปแบบคาร์ม็อบก็เพื่อลดความเสี่ยงนี้อยู่แล้ว เมื่อดูพยานหลักฐานในคดี ก็ไม่ได้มีตัวเลข หรือตัวชี้วัดที่บอกว่าการชุมนุมนั้นทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด การบังคับใช้กฎหมายแบบนี้เอง ทำให้สถาบันตุลาการรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกมองจากประชาชนว่าไม่ได้ใช้อำนาจอย่างยุติธรรม
“ในใจลึกๆ เรานั้นคิดว่าไม่น่าจะถูกลง และน่าจะยกฟ้องด้วยซ้ำ เพราะดูจากพยานหลักฐานที่ยื่นมา มันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกกังวล คำพิพากษาที่ได้ฟังวันพิพากษานั้น คือศาลบอกว่ารถของเรา เป็นรถที่ประชาชนใช้ปราศรัย แล้วไอเดียก็คือคาร์ม็อบไม่ใช่มีรถเราคนเดียว มีรถอื่นๆ อีกเป็นสิบๆ คัน ที่ไปชุมนุม เพียงแต่ว่ารถของเราถูกใช้ในการปราศรัย ซึ่งมันไม่ใช่สาระอะไรอยู่แล้วที่จะไปห้ามไม่ให้ปราศรัยบนรถเรา เพราะคนที่มาก็มีวิธีคิดทางการเมืองไม่ได้ต่างจากเรา”
.
มุมมองต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย
นอกจากคดีคาร์ม็อบปัตตานีสองคดีนี้แล้ว ลียังตกเป็นจำเลยในคดีจากการชุมนุมทางการเมืองที่เขาเดินทางไปร่วมในกรุงเทพฯ อีก 1 คดี ได้แก่ คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีชุมนุม #ม็อบ20กุมภา2564 อภิปรายไม่ไว้วางใจนอกรัฐสภา ซึ่งขณะนี้คดีถูกสั่งฟ้องที่ศาลแขวงดุสิต ทำให้เขาต้องเดินทางไปต่อสู้คดีนี้ในเมืองหลวงด้วย
หลังพบเห็นหลายสิ่งหลายอย่างในกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมา เป็นต้นว่า จำนวนตัวเลขคดีการเมือง มีคนที่ถูกฟ้องคดีมาตรา 112 เพียงเพราะการแชร์ข่าวทางเฟซบุ๊ก หรือแม้แต่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาก็ทำให้ต้องถูกดำเนินคดี ปรากฏการณ์เหล่านี้ ทำให้ลีมองว่ากำลังมีเรื่องแปลกประหลาดเกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมของสังคมไทยในปัจจุบัน และรู้สึกว่าเป็นการยากที่จะกล่าวได้ว่ากระบวนการยุติธรรมในตอนนี้เป็นกระบวนการที่ถูกต้องตรงตามตรรกะและหลักกฎหมาย
“เราไม่สามารถยืนยันได้ว่าสิ่งที่เราทำไปนั้นจะมีผลยังไง เราคิดว่ากระบวนการยุติธรรมมันบิดเบี้ยวไปหมดแล้ว เราไม่ไว้ใจว่ากระบวนการยุติธรรมที่เกิดภายหลังรัฐประหารเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรมจริงๆ”
สำหรับลี เขารู้สึกได้ว่ากระบวนการยุติธรรมมีความไม่ปกติที่เห็นชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2557 และในฐานะที่เป็นนักเรียนกฎหมาย ประกอบกับได้คลุกคลีและมีประสบการณ์ในการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้เขามองว่าข้อเรียกร้องที่ต้องการให้มีการปฏิรูปต่างๆ เป็นผลมาจากโครงสร้างที่น่าตั้งคำถาม เช่น โครงสร้างสถาบันตุลาการซึ่งสมควรถูกตั้งคำถามที่สำคัญมากประการหนึ่ง ได้แก่ “กระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ มันเป็นกระบวนการยุติธรรมที่พิสูจน์ความยุติธรรมของคนได้จริงๆ หรือไม่”
ลีให้ความเห็นต่อไปอีกว่า เหตุการณ์ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองอย่างต่อเนื่องในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างแน่นอน เนื่องจากพรรคการเมืองเป็นสถาบันที่ประชาชนรวมตัวมีแนวคิดและก่อตั้งกันมา มันจึงเป็นอะไรที่ควรยุบได้ยากมาก ไม่ใช่สิ่งที่จะยุบกันง่ายๆ ตามหลักการในระบอบประชาธิปไตย ทำให้เห็นว่าสถาบันตุลาการตอนนี้มีปัญหาความยึดโยงกับประชาชน
นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง ตัวเลขผู้ต้องขังก่อนมีคำพิพากษา หรือตัวเลขของนักกิจกรรมที่ต้องติดกำไล EM อันเป็นผลสืบเนื่องจากการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวและเรียกร้องทางการเมือง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ลีมองว่ากฎหมายไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็น “หลักมึงไม่ก็หลักกู” ซึ่งทำให้ประชาชนสูญเสียความมั่นใจ ดังนั้นเขาจึงรู้สึกไม่แปลกที่นักกิจกรรมหลายคนต่างหลบลี้ภัยไปอยู่นอกประเทศ ทั้งนี้ก็เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถพิสูจน์ความยุติธรรมให้ไม่ได้
ลีกล่าวว่ายังไม่ต้องนับรวมกับคดีการเมืองในกลุ่มคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชุมนุม และเมื่อคดีดำเนินมาถึงขั้นที่ศาลมีคำพิพากษา ผลก็ปรากฏว่าพวกเขาทั้งหลายถูกทำให้เสียสิทธิในหลากหลายประการ อาทิ คุณต้องรออาญา หรือต้องเสียค่าปรับ หรือภาระในการต่อสู้คดี
อย่างไรก็ดี เมื่อถูกถามถึงกระบวนการยุติธรรมที่ได้พบเจอในศาล ลีระบุว่า “เราไม่แน่ใจว่า ศาลเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการชุมนุม ไม่ว่ายังไง ถ้าเราต้องต่อสู้กับกับกระบวนการยุติธรรมเหล่านี้ ถ้าผู้พิพากษาไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ น้ำหนักเนี่ย ศาลควรจะให้อะไรมากกว่ากันระหว่างเรื่องที่ต้องการควบคุมโรคระบาดกับการชุมนุมที่เป็นการเรียกร้องขับไล่พลเอกประยุทธ์และเรียกร้องวัคซีน พยานหลักฐานที่ได้สู้ในชั้นศาล ก็ไม่มีตัวเลขของผู้ติดเชื้อ ประชาชนก็ดูแลตัวเอง เราก็เลยมองว่าก็ไม่ได้โอเคกับกระบวนการ จริงๆ แล้วมันไม่ควรโอเคกับที่โดนแจ้งความแล้ว ทั้งที่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป”
ลียังกล่าวอีกด้วยว่าการจะตัดสินคดีเช่นนี้ ผู้พิพากษาต้องมีความเข้าใจถึงความสำคัญระหว่างสองสิทธิที่เกิดขึ้น และจำต้องชั่งน้ำหนักถึงความสำคัญของสิ่งเหล่านั้นอย่างรอบด้าน
.
.
ความคาดหวังถึงการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
ลีกล่าวว่า เขามีความคาดหวังต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยในอนาคตว่าจะเป็นกระบวนการยุติธรรมจริงๆ มีความยึดโยงกับประชาชน โดยประชาชนมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ และตรวจสอบกระบวนการได้
“เราหวังว่ากระบวนการยุติธรรมนั้น จะต้องเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรมจริงๆ และสถาบันตุลาการต้องมีสิ่งที่ยึดโยงกับประชาชนผู้ซึ่งเจ้าของอำนาจสูงสุด เพราะสถาบันตุลาการเป็นหนึ่งในสถาบันที่ใช้อำนาจของประชาชน อันที่จริงทั้งสามสถาบันจะต้องมีสิ่งที่ยึดโยงกับประชาชน ประชาชนต้องมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ มีสิทธิตรวจสอบ และอีกอย่างคือ เราเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมจะไม่มีทางอิสระจริงๆ ตราบที่รัฐบาลมาจากรัฐประหาร และเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้จากประชาชน”
ลีกล่าวต่อไปอีกว่า “เราคาดหวังว่าจะมีการปฏิรูปข้อกฎหมายไหนที่ไม่ร่วมสมัย รวมถึงข้อกฎหมายขัดกับสิทธิเสรีภาพ เช่น มาตรา 112 กฎอัยการศึก กฎหมายที่ไม่ให้สิทธิกับประชาชน ทั้งสิทธิเสรีภาพเรื่องประชาธิปไตยหรือเรื่องหลักการพื้นฐานการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กฎหมายทั้งหลายเหล่านี้จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง”
ลียังได้กล่าวถึงเพื่อนๆ ผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตยว่า สำหรับพวกเราเมื่อมองหน้ากันเองก็จะรู้ได้ว่ามันไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เราเข้าใจถึงความต้องการ เข้าใจภาพฝันแบบเดียวกัน ซึ่งเราต้องขอบคุณกันเองให้มากๆ ที่เพื่อน ๆ ออกจากพื้นที่ของตัวเอง ออกไปเรียกร้องเพื่อสังคม มันทำให้เรามีพลัง ทำให้เราเข้าใจและไม่ลืมเพื่อนๆ ที่ต้องโดนสิ่งต่างๆ ของประเทศนี้ เพราะเราไม่รู้เหมือนกันว่าเป้าหมายจะชนะเมื่อไหร่เช่นกัน
ในตอนท้าย ลียังฝากข้อความถึงผู้มีอำนาจด้วยว่า ถ้าการอยู่ในอำนาจตอนนี้ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา พวกท่านไม่มีทางอยู่ได้อย่างแน่นอน การปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมนั้น จะทำให้พวกท่านอยู่ได้และเป็นที่เคารพของประชาชน
สำหรับเรื่องคดีความของตนเอง ลีระบุว่าได้ปรึกษากับทนายความเรื่องการต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์แล้ว เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่ความผิด แต่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองตามที่กฎหมายรับรอง ทั้งนี้เขายังยืนยันด้วยว่าการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยมันไม่ใช่สิ้นสุดเพราะโดนคดีความแน่นอน
“การขับเคลื่อนของประชาชนมันจำเป็นต้องเริ่มที่ตัวเอง จำเป็นจะต้องกล้าหาญพอในการเรียกร้องเรื่องเหล่านี้ ดังนั้นเราคงไม่หยุดแค่นี้ เมื่อมีสิ่งที่ต้องต่อสู้ที่ต้องการกำลังของประชาชน เมื่อถึงวันนั้นเราจะออกไปต่อสู้เหมือนเดิมแน่นอน”
.
ย้อนอ่านเรื่องของลีกับสถานการณ์ชายแดนใต้เพิ่มเติม
มหา’ลัยในอุดมคติและชีวิตใต้ กม.ความมั่นคงชั่วนิรันดร์ ของ ‘ซูกริฟฟี ลาเตะ’ ประธาน PerMAS
.