ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคดี “ซูกริฟฟี” ร่วมคาร์ม็อบปัตตานี ยังเห็นว่าผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยให้รอลงโทษจำคุกไว้

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 ศาลจังหวัดปัตตานีนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในคดีของ ซูกริฟฟี ลาเตะ นักกิจกรรมในจังหวัดปัตตานี ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบปัตตานี หรือ Car Mob Tani เพื่อขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และเรียกร้องวัคซีน mRNA เมื่อวันที่ 7 และ 14 ส.ค. 2564

กรณีนี้ ศาลได้ให้รวมการพิจารณาสองคดีจากการจัดกิจกรรมสองครั้งเข้าพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน เนื่องจากเห็นว่าคดีมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานไม่แตกต่างกัน โดยมีจำเลยที่ถูกฟ้องสามราย นอกจากซูกริฟฟี ยังมี อารีฟีน โสะ และ สูฮัยมี ลือแบซา ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ด้วย

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565 ศาลจังหวัดปัตตานีมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และ 2 โดยเห็นว่าจากพยานหลักฐาน ยังไม่เพียงพอระบุว่าจำเลยทั้งสองรายเป็นผู้จัดกิจกรรมในสองวันดังกล่าว 

เฉพาะซูกริฟฟี จำเลยที่ 3 ศาลเห็นว่า รถที่ใช้ในการปราศรัยนั้นเป็นรถของจำเลย อีกทั้งในตอนที่จำเลยเบิกความว่า รถของตนถูกนำมาใช้ในการเป็นที่ยืนปราศรัยนั้น จำเลยมิได้ปฏิเสธและให้การยินยอมในการใช้รถดังกล่าวทั้งสองวัน รวมทั้งได้ขึ้นปราศรัยในวันแรกด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยนั้นไม่ถือว่าเป็นเหตุบังเอิญ จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุมตามฟ้อง  เห็นว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคน

ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดทั้งกิจกรรมในวันที่ 7 และ 14 ส.ค. 2564 รวม 2 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 เดือน ปรับ 20,000 บาท รวมจำคุก 4 เดือน ปรับ 40,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

จากนั้นซูกริฟฟีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา ส่วนกรณีของจำเลยอีกสองรายไม่ได้มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำพิพากษา ทำให้คดีสิ้นสุดไปแล้ว

.

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน แต่ไม่ได้วินิจฉัยในรายละเอียดกิจกรรมที่ถูกกล่าวหา

เวลา 9.40 น. ศาลจังหวัดปัตตานีได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 โดยมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยสรุปได้วินิจฉัยในข้อกฎหมายในสองประเด็นหลัก 

ประเด็นแรก การบังคับใช้ข้อกำหนดที่ออกตามความใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงดังกล่าว ขัดต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

ศาลเห็นว่า ตามมาตรา 44 วรรคสอง การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำไม่ได้ เว้นเเต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น ฉะนั้นเสรีภาพในการชุมนุมอาจถูกจำกัดได้ หากเข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขตามที่กำหนดไว้

ทั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ที่ว่าการจำกัดนั้นต้องเป็นไปด้วยมีเงื่อนไข และไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควร และการจำกัดนั้นต้องอาศัยตามบทกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของสาธารณะ ทั้งมีกฎหมายให้อำนาจนายกรัฐมนตรีให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสอง 

อีกทั้งเสรีภาพดังกล่าวไม่ใช่การให้เสรีภาพโดยสมบูรณ์ จึงสามารถจำกัดเสรีภาพดังกล่าวได้ ตามรัฐธรรมนูญ และเมื่อปรากฏในขณะเกิดเหตุ มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า จึงมีการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ใช้บังคับโดยทั่วไป ทั่วราชอาณาจักร เมื่อมีกฎหมายให้อำนาจในการจำกัดสิทธิ จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่สอง ในเรื่องประกาศ-ข้อกำหนดที่ใช้ในคดีนี้มีการยกเลิกไปแล้ว

ศาลเห็นว่า แม้ว่ามีการออกประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรแล้ว แต่ประกาศดังกล่าวยังครอบคลุมในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ แม้จะมีการยกเลิกในภายหลัง ก็ไม่ทำให้พฤติการณ์ที่กระทำความผิดต่อกฎหมายของจำเลยที่ 3 หายไป และไม่ใช่เป็นการยกเลิกความผิดที่ได้กระทำไปในระหว่างที่บรรดาข้อกำหนดประกาศ หรือคำสั่งอันเนื่องมาจากได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลใช้บังคับ อันเป็นกรณีจากการเป็นผู้กระทำความผิดที่ได้กระทำไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 แต่อย่างใด อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ประเด็นอื่น ๆ ไม่เป็นสาระที่จะนำมาพิจารณา พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าประเด็นอื่น ๆ ที่ศาลไม่ได้นำมาพิจารณา มีในเรื่องรายละเอียดของกิจกรรม ที่จำเลยยืนยันว่าไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม ลักษณะของกิจกรรมในคดีนี้ในลักษณะคาร์ม็อบ ก็ไม่ได้ถึงขนาดเสี่ยงต่อการแพร่โรคแต่อย่างใด และผู้เข้าร่วมก็มีการระมัดระวังในการป้องกันโรคด้วย

อีกทั้งเนื้อหาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยังมีลักษณะใกล้เคียงกับคดีคาร์ม็อบยะลาก่อนหน้านี้ ที่ศาลวินิจฉัยในสองประเด็นดังกล่าว โดยไม่ได้วินิจฉัยถึงพฤติการณ์ในคดีตามอุทธรณ์ของฝ่ายจำเลยที่โต้แย้งไปเช่นกัน

.

ทีมงานกลุ่ม Law Long Beach ได้สอบถามความรู้สึกของซูกริฟฟีหลังฟังคำพิพากษา เขาเปิดเผยว่า “ก่อนฟังคำพิพากษาก็คิดและคาดหวังว่า ศาลอุทธรณ์จะกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เพราะมันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ อย่างที่รู้ ๆ กันว่ากระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมามันไม่ปกติ ย้อนเเย้งกับหลักการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่เป็นไปตามการปกครองของประเทศที่ว่าเป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นก็ต้องสู้ต่อ เพื่อเป็นสิ่งที่เเสดงให้เห็น ยืนในหลักการที่มันควรจะเป็น เเละเพื่อเป็นเคสตัวอย่าง สู้กันต่อในชั้นฎีกา การเเสดงออกทางการเมืองมันเป็นเรื่องที่ควรกระทำได้ มันเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ”

ขณะที่ผู้สังเกตการณ์ยังพบว่ามีชายหัวเกรียนไม่ทราบว่าเป็นบุคคลใด เข้ามาร่วมฟังคำพิพากษาในคดีนี้ด้วย เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาคดีนี้เสร็จสิ้น ชายคนดังกล่าว ได้โค้งคำนับหนึ่งครั้ง แล้วเดินออกจากห้องพิจารณาไป
.

ย้อนอ่านสรุปการสืบพยาน และบทสนทนากับ “ซูกริฟฟี”

เปิดบันทึกสืบพยานคดีคาร์ม็อบปัตตานี 2 คดี ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษา

คุยกับ “ลี ซูกริฟฟี” เรื่องราวจากคดีคาร์ม็อบปัตตานี และการต่อสู้ที่ยังไม่สิ้นสุด

X