เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 ศาลจังหวัดยะลานัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในคดีจัดกิจกรรมคาร์ม็อบยะลา เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเรียกร้องวัคซีนที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชน จัดขึ้นโดยกลุ่มยะลาปลดแอก
คดีนี้มีจำเลยทั้งหมด 6 ราย ได้แก่ อารีฟีน โสะ, ประเสริฐ ราชนิยม, อามานียะ ดอเล๊าะ, อับดุลซาตาร์ บาโล และจำเลยอีกสองราย ทั้งหมดถูกฟ้องในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดยะลา, กีดขวางการจราจร และ ส่งเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร
หลังการสืบพยานต่อสู้คดี ศาลจังหวัดยะลามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2565 โดยเห็นว่าทั้งหกมีความผิดในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษจำคุก 3 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท ให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือจำคุกคนละ 2 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท เนื่องจากจำเลยทั้งหมดไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้คนละ 1 ปี
ศาลยังลงโทษปรับอารีฟีน, ประเสริฐ และจำเลยอีกหนี่งราย คนละ 400 บาท ในความผิดฐานขับรถในลักษณะกีดขวางทางจราจร และหยุดรถในช่องทางเดินรถและในลักษณะกีดขวางทางจราจร
.
จำเลยทั้งหกได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา โดยยืนยันว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 44 คำสั่งและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องในคดีนี้เป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพโดยไม่มีเหตุอันสมควรและเกินความจำเป็น นอกจากนั้นยังได้มีการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้ว
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยสรุปเห็นว่าเสรีภาพในการชุมนุมไม่ใช่เสรีภาพอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะย่อมกระทบต่อเสรีภาพของประชาชนทั่วไป รัฐจึงจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพ โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 วรรคสอง
ขณะเกิดเหตุมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรงทั่วราชอาณาจักร นายกรัฐมนตรีจึงมีอำนาจออกข้อกำหนดในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงโดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคมากขึ้น เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารภายใต้เงื่อนไขเวลา หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติตามข้อกำหนด เพื่อมิให้มีการกระทำที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 (2) จึงเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง มีผลบังคับใช้ทั่วไป ไม่มุ่งหมายใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงไม่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้กระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น เมื่อโจทก์มีพยาน พ.ต.อ.ตรัยฤกษ์ ปัญญาไตรรัตน์ ผู้กำกับการ สภ.เมืองยะลา และพยานอื่น ๆ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย และให้เป็นไปตามข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 มาเบิกความยืนยันการกระทำของจำเลยทั้งหกขณะจัดการชุมนุม ตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงส่วนนี้ไว้แล้ว และจำเลยทั้งหกเบิกความว่าได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวจริง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นพ้องด้วย
ทั้งนี้ค่าปรับดังกล่าว ฝ่ายจำเลยได้ชำระไปหลังฟังคำพิพากษาในศาลชั้นต้นแล้ว
.
น่าสังเกตว่าในคดีคาร์ม็อบยะลาอีกคดีหนึ่ง เหตุจากกิจกรรมเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดี 5 ราย ศาลจังหวัดยะลามีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ แต่ให้ลงโทษปรับเฉพาะข้อหาส่งเสียงดังอื้ออึง ซึ่งตรงกันข้ามกับคำพิพากษาในคดีนี้ ทั้งที่เป็นคดีในลักษณะใกล้เคียงกัน
ในคดีดังกล่าว ศาลเห็นว่าการนำสืบของโจทก์ ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าจำเลยทั้งห้าเป็นผู้จัดกิจกรรม เส้นทางการเคลื่อนขบวนรถเป็นสถานที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ใช่สถานที่แออัดที่จะเสี่ยงต่อโรค ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย และไม่มีรายงานการติดเชื้อโควิดหลังการชุมนุม
สำหรับคดีคาร์ม็อบ 1 ส.ค. 2564 นี้ เดิมมีผู้ถูกออกหมายเรียกทั้งหมด 8 ราย หนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนหญิงอายุ 17 ปี ซึ่งได้ยินยอมเข้ามาตรการพิเศษก่อนฟ้องคดีในส่วนของเยาวชนไปก่อนหน้านี้ และมีผู้ถูกกล่าวหาอีกรายหนึ่งไม่ได้ไปร่วมชุมนุมวันดังกล่าวแต่อย่างใด แต่กลับถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาไปด้วย โดยต่อมาอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของผู้ต้องหารายนี้ จึงเหลือจำเลยในส่วนคดีที่ศาลจังหวัดยะลาทั้งหมด 6 ราย
.
ย้อนอ่านเรื่องราวของอับดุลซาตาร์ในคดีคาร์ม็อบยะลา
.