ตรวจพยานคดี ม.112 “อุดม” กรณีโพสต์ 7 ข้อความพาดพิงกษัตริย์ ศาลนราธิวาสนัดสืบพยานเมษาปีหน้า 

วานนี้ (30 พ.ย. 64) ที่ ศาลจังหวัดนราธิวาส มีนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานคดี  อุดม (สงวนนามสกุล) ที่ถูกสั่งฟ้องในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีโพสต์และแชร์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว 7 ข้อความ พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์

ศาลได้สอบคำให้การจำเลย และจำเลยให้การปฏิเสธเพื่อต่อสู้คดี ด้านศาลนัดสืบพยานทุกปากในช่วง 27-29 เม.ย. 65


.

เปิดฟ้องคดี ม.112-พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จาก 7 โพสต์เฟซบุ๊ก วิพากษ์ ร.9 และ ร.10

ก่อนหน้านี้ อุดม หนุ่มวัย 33 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี ได้รับหมายเรียกจาก สภ.สุไหงโก-ลก ในคดีมาตรา 112 โดยมี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหา เขาเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาเพียงลำพัง เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 64 และถูกพนักงานสอบสวนขอฝากขัง โดยศาลจังหวัดนราธิวาสอนุญาตให้ประกันตัว

จากนั้นเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 64 พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 มีคำสั่งฟ้อง อุดม ใน 2 ข้อหาคือ หมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) 

เนื้อหาคำฟ้องของอัยการโดยสรุประบุว่า ขณะเกิดเหตุประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีรัชกาลที่ 9 เป็นกษัตริย์และรัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ 

จำเลยได้โพสต์ 5 ข้อความที่กล่าวถึงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับสถานการณ์การทำรัฐประหาร กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ตลอดจนการตั้งคำถามถึงความร่ำรวยของสถาบันกษัตริย์และการสอนให้ประชาชนพอเพียง

ส่วนอีก 2 ข้อความ ได้โพสต์ถึงรัชกาลที่ 10 โพสต์แรกเป็นการแชร์ข้อความจากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” เป็นภาพเปรียบเทียบระหว่างประชาชนชนที่เข้ารับเสด็จของกษัตริย์ประเทศอังกฤษและไทย พร้อมข้อความว่า “บ้านอื่นมองคนเป็นคน แต่บ้านเมืองนี้มองคนเป็นฝุ่น” ส่วนอีกข้อความได้วิจารณ์ถึงการใช้ภาษีประชาชนไปกับการแต่งตั้งและเลื่อนยศให้คนกลุ่มหนึ่ง

อัยการระบุว่า ข้อความทั้งหมดเป็นการดูถูก เหยียดหยาม ด่าทอ พระมหากษัตริย์ทั้งสององค์ โดยประการที่น่าจะทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง อันมีเจตนาเพื่อทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา และไม่เป็นที่เคารพสักการะ ซึ่งถือเป็นการหมิ่นประมาท และเป็นการนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร 

อุดมได้รับการประกันตัวในชั้นศาล โดยใช้หลักทรัพย์เดิมจากชั้นฝากขัง โดยในขั้นตอนต่างๆ ในคดีจนกระทั่งถูกสั่งฟ้องนั้น อุดมไม่ได้มีทนายความให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย จนกระทั่งเขาติดต่อศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายหลังถูกสั่งฟ้องแล้ว

.

นัดตรวจพยานหลักฐาน ศาลนัดสืบพยาน 27-29 เม.ย. ปีหน้า

วันที่ 30 พ.ย. 64 อุดม และทนายความเดินทางไปศาลจังหวัดนราธิวาส โดยศาลได้อ่านคำฟ้องให้จำเลยฟังอีกครั้ง จําเลยยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อหา พร้อมทั้งแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า การกระทำตามฟ้องไม่เป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยข้อความที่ถูกฟ้อง 5 ข้อความเกี่ยวข้องกับอดีตพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว มิใช่การกระทำต่อกษัตริย์ที่ครองราชย์ปัจจุบันจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลอาญามาตรา 112 ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย

ส่วนเหตุที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เนื่องจากจำเลยไม่เข้าใจข้อกฎหมายและไม่มีทนายความเข้าร่วมรับทราบข้อกล่าวหาและสอบคำให้การจำเลยแต่อย่างใด

ฝ่ายอัยการโจทก์แถลงว่าประสงค์จะนำพยานเข้าสืบจำนวน 8 ปาก เป็นผู้กล่าวหา 1 ปาก พยานที่ให้ความเห็นต่อข้อความที่ถูกกล่าวหาจำนวน 6 ปาก และพนักงานสอบสวน 1 ปาก  ด้านจำเลยประสงค์จะนำพยานสืบ 2 ปาก คือ ตัวจำเลย และนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์

ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยาน จำนวน 2 นัดครึ่ง โดยเป็นของฝ่ายโจทก์ 2 นัด และจำเลย ครึ่งนัด ในวันที่ 27-29 เม.ย. 65 

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 162 คน ใน 166 คดี โดยมีจำนวน 80  คดีแล้วที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหานี้ 

สำหรับคดีที่จังหวัดนราธิวาส นี้มีนายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหาต่อประชาชนคนอื่นๆ อย่างน้อย 6 รายแล้ว โดยเท่าที่ศูนย์ทนายฯ ทราบข้อมูล ไม่มีผู้ใดมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ภาคใต้แต่อย่างใด ทำให้เกิดภาระของผู้ถูกกล่าวหาที่ต้องเดินทางไปยังจังหวัดนราธิวาสเพื่อต่อสู้คดี

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

X