ชีวิต ‘กัลยา’ ในวันที่ถูกขังไกลบ้านด้วย ม.112 สองศาลยืนจำคุก 6 ปี อยู่ที่เรือนจำนราธิวาส ไร้แววได้ประกัน แม้ป่วยลิ่มเลือดอุดตัน ไม่เคยหลบหนี

Behind the Wall

Part 2

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2566 เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางไปยังเรือนจำจังหวัดนราธิวาส เพื่อเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 2 คนที่กำลังถูกคุมขังระหว่างฎีกาคำพิพากษา ภายหลังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุกตามศาลชั้นต้น และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

คนแรก คือ “ดม” อุดม พันธ์นิล พนักงานโรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จากจังหวัดปราจีนบุรี อายุ 36 ปี ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 2566 ต้องโทษจำคุก 4 ปี คนที่สอง คือ “กัลยา” พนักงานจากกรุงเทพฯ ที่เพิ่งอายุได้ 29 ปี ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. 2566 ต้องโทษจำคุก 6 ปี

นี่คือตอนที่ 2 ของการเดินทางไปเยือนจังหวัดนราธิวาส 1 ใน 3 จังหวัดตอนใต้สุดของประเทศไทย เป็นเรื่องราวการเข้าเยี่ยมกัลยา หญิงสาวชาวกรุงเทพฯ ผู้ที่ชีวิตกำลังไปได้ดี มีความรักที่สวยงาม สอบได้งานที่มั่นคงหล่อเลี้ยงชีวิตอย่างที่ตั้งใจ และกำลังจะลงมือสร้างบ้านให้พ่อและแม่อย่างที่ฝันไว้ แต่กลับต้องถูกคุมขังอยู่ในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ โดยที่ไม่รู้ว่าเมื่อใดจะได้กลับออกไปใช้ชีวิตของตัวเองอีกครั้ง 

ย้อนอ่านตอนที่ 1 ของการเดินทางไปนราธิวาส : ชีวิตพลัดถิ่น ในวันที่ถูกขัง ‘ไกลบ้าน’ ทำความรู้จัก เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ในวันที่มีคนถูกขังด้วย ม.112 ถึง 2 คนแล้ว 

1.

รู้จักคดี ม.112 ของกัลยา 

ก่อนสองศาลยืนจำคุก 6 ปี 

คดีของกัลยาเป็นอีกคดีหนึ่งในชุดคดีที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหา จากการกระทำบนเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 รวม 4 อย่างด้วยกัน ต่อมา อัยการได้ฟ้องเป็น 2 กระทง 

  1. คอมเมนต์ใต้โพสต์แนะนำหนังเกี่ยวกับกษัตริย์ในอดีตของเกาหลี ของเพจเฟซบุ๊กแนะนำภาพยนตร์หนึ่ง
  2. จากการโพสต์ภาพถ่ายที่มีการพ่นสีเป็นข้อความบนพื้น ในชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563
  3. แชร์โพสต์เฟซบุ๊กของ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’ ซึ่งโพสต์เกี่ยวกับมีการ์ดผู้ชุมนุมถูกยิงเข้าที่ช่องท้องและได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องเข้ารักษาตัวที่ห้องไอซียู แล้วเขียนข้อความประกอบ 
  4. แชร์โพสต์เฟซบุ๊กของ ‘ธนวัฒน์ วงค์ไชย’ ซึ่งโพสต์เกี่ยวกับการจับกุมผู้ชุมนุมการเมือง แล้วเขียนข้อความประกอบว่า “แน่จริงยกเลิกม.112 #แล้วจะเล่าให้ฟัง”

กัลยาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อต่อสู้คดีมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 ตลอดเวลาที่ผ่านมาเธอและครอบครัวเดินทางไปสู้คดียังจังหวัดนราธิวาส มากกว่า 6-7 ครั้งแล้ว โดยเธอยืนยันให้การปฏิเสธตลอดมาจนถึงชั้นพิจารณาคดีในศาล 

เมื่อการสืบพยานโจทก์และจำเลยสิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาว่า กัลยามีความผิดตามฟ้องทั้ง 2 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 6 ปี โดยไม่มีการลดโทษและไม่รอลงอาญา แต่ครั้งนั้นศาลให้ประกันตัวทันทีด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท 

ต่อมา เมื่อคดีขึ้นสู่ชั้นอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนจำคุกตามศาลชั้นต้น โดยครั้งนี้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาคำสั่งประกัน ซึ่งมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างฎีกาเรื่อยมา โดยให้เหตุผลว่าข้อหามีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี แม้ว่าทนายความจะยื่นประกันตัวไปแล้วถึง 2 ครั้งด้วยกันก็ตาม แต่ศาลก็ยังคงยืนยันคำสั่งเดิม

กัลยาถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน อยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส เรือนจำที่ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นมุสลิม มีอาหารและกิจวัตรประจำวันเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมภาคใต้และศาสนาอิสลาม เรือนจำที่ตั้งห่างไกลจากครอบครัวในกรุงเทพฯ ยากต่อการเดินทางมาเยี่ยมและพบปะหน้ากัน เรือนจำที่ขณะนี้กำลังเผชิญปัญหาผู้ต้องขังมากเกินจำนวนที่รับได้ สร้างความแออัด และเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อกับผู้ต้องขัง 

2.

แรกพบ ‘กัลยา’

“ตั้งแต่เข้ามา เขาไม่ยอมกินข้าวเลย พี่ช่วยบอกให้แกกินข้าวด้วยนะ …” เจ้าหน้าที่เรือนจำคนหนึ่งบอกกับเราอย่างกังวล เมื่อรู้ว่าวันนี้มาติดต่อขอเข้าเยี่ยม “กัลยา”   

เราเดินสำรวจหน้าเรือนจำอยู่ครู่หนึ่ง อาคารด้านหน้าเป็นตึกอำนวยการและด้านข้างเป็นส่วนงานให้เยี่ยมผู้ต้องขัง ด้านในนั้นมีห้องขายของใช้และอาหารกึ่งสำเร็จรูปสำหรับให้ญาติซื้อฝากเข้าไปให้ผู้ต้องขัง มีห้องฝากเงินกับให้ผู้ต้องขังไว้ใช้ซื้อของใช้และอาหารในเรือนจำ มีเก้าอี้ให้ญาติไว้นั่งรอ มีห้องให้ญาติเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นห้องกว้างใช้พร้อมกันหลายคน และมีห้องแยกสำหรับให้ทนายความเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง 

เช้าวันศุกร์ที่ 27 ต.ค. วันที่เราเดินทางไปเรือนจำ มีญาติผู้ต้องขังนั่งรอเข้าเยี่ยมตามคิวที่จองไว้เกือบ 20 คนได้ ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องมุสลิม ส่วนเราถูกเชิญให้ไปนั่งรอยังห้องเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังสำหรับทนายความ ฝั่งที่เรานั่งรอเป็นห้องสี่เหลี่ยม ขนาดประมาณ 1.5X1.5 เมตร มีประตูปิด มีความเป็นส่วนตัวพอสมควร ตรงหน้าเราครึ่งล่างเป็นผนังปูน ครึ่งบนเป็นกระจกใสปิดมิดชิด ไม่มีรูหรือช่องให้เสียงลอดผ่านได้ 

มองผ่านกระจกใสที่อยู่ตรงหน้าเราไป อีกฟากหนึ่งเป็นพื้นที่ให้ผู้ต้องขังนั่งรอระหว่างเข้าเยี่ยม เป็นห้องทอดยาวไปตลอดแนว ฝั่งผู้ต้องขังไม่ถูกกั้นแยกเป็นห้องเหมือนฝั่งที่เรานั่ง มองเห็นผู้ต้องขังและผู้คุมหลายคนเดินไปมา บ้างก็นั่งรอเป็นจุดพิงหลังอยู่กับผนังห้อง 

ผ่านไปครู่เดียวเราก็ได้เจอกันกัลยา ในเวลาประมาณ 11.00 น.

เธอเดินมานั่งอยู่ที่เก้าอี้ฝั่งตรงข้าม ก่อนยกหูโทรศัพท์บ้านขึ้นมาคุยกับเรา กัลยาสวมชุดผู้ต้องขังแขนสั้นสีน้ำตาลอ่อน สวมผ้าถุงสีน้ำตาลแดงเข้ม ผูกรวบผมไว้ด้านหลังด้วยหนังยางสีดำ ผมสีดำประกายทองของเธอดูยาวสลวย แต่กัลยาเดาว่าเจ้าหน้าที่น่าจะตัดมันให้สั้นประบ่าภายในเย็นวันที่เราเข้าเยี่ยม เพราะครบ 1 สัปดาห์ที่ถูกคุมขังตามระเบียบของเรือนจำพอดี

สีหน้ากัลยาดูกังวล หลายครั้งเธอหลบตาเรา มีเพียง ‘ขนตา’ ที่เธอเพิ่งไปต่อมาก่อนถูกคุมขังที่ช่วยให้สีหน้าของเธอตอนนี้ยังคงดูมีชีวิตชีวาอยู่ นี่เป็นครั้งแรกที่เราสองคนเจอกัน เราต่างแนะนำตัวและทำความรู้จักกันเป็นอย่างแรก จากนั้นเรารีบถามกัลยาว่า “เห็นเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ได้ทานข้าวเลยใช่ไหม”

กัลยาน้ำตาไหลและตอบเราช้า ๆ ว่า “ไม่โอเคเลย ไม่อยากกินข้าวเลย ไม่โอเคเลย …”

3.

สัปดาห์แรกในเรือนจำ

เป็นทุกข์จนกินข้าวไม่ลงเลยสักคำ

ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาในเรือนจำแห่งนี้ จนถึงวันที่เราเข้าเยี่ยม (20-27 ต.ค.) กัลยาบอกว่าตัวเองไม่ได้กินข้าวเลย ‘แม้แต่คำเดียว’ ส่วนหนึ่งเพราะรู้สึกเครียดและเป็นกังวลมากจนรู้สึกไม่อยากอาหาร อีกสาเหตุหนึ่ง กัลยาบอกว่าเป็นเพราะ ‘มันสกปรก’ 

เธอบรรยายถึงความสกปรกที่ว่านั้นหมายถึงอะไร

หนึ่ง ‘ถาดหลุมรองอาหาร’ จะถูกล้างทำความสะอาดด้วยก๊อกน้ำเพียงจุดเดียวในห้องขัง นั่นคือก๊อกที่ถูกติดตั้งอยู่ใกล้กับ ‘โถส้วม’ ในห้องขัง ถาดอาหารที่ทานเสร็จแล้วจะได้ล้างผ่านน้ำเปล่าจากก๊อกเท่านั้น ไม่มีน้ำยาล้างจานหรือสก็อตไบร์ท คราบน้ำมัน กลิ่นคาวเหม็น สิ่งที่ยากจะทำความสะอาดให้หมดจดด้วยน้ำเปล่าก็ยังจะมีตกค้างอยู่ถาดบ้าง ถาดใบเดิมนี่แหละที่ต้องวนกลับมาใช้ใส่ข้าวและแกงในมื้อต่อ ๆ ไปอีก

สอง อาหารส่วนใหญ่ที่เรือนจำทำให้ทานจะเป็น ‘เมนูแกงใต้’ อาทิ เมนูแกงไตปลา แกงเหลืองมะละกอ ฯลฯ รองรับผู้ต้องขังส่วนใหญ่ที่เป็นมุสลิม ทุกเมนูจะถูกทำตามมาตรฐานฮาลาล ไม่มีเนื้อหมูเป็นส่วนประกอบ 

แม้ว่าชื่อเมนูอาจจะดูคุ้นเคย แต่กัลยาบอกว่าที่นี่ใช้วัตถุดิบแปลกตาออกไป บ้างก็ใช้มะละกอเป็นวัตถุดิบหลักในจาน บ้างก็ใช้น้ำมันเยอะจนลอยเป็นชั้นหนาข้างบนเลย ส่วนรสชาติจะเป็นยังไง จะถูกปากหรือไม่นั้น กัลยาไม่รู้เลย เพราะเธอไม่เคยได้ตักขึ้นมาทานเลยสักคำ

ส่วน ‘น้ำดื่ม’ กัลยาบอกว่าจะต้องตวงกินจากก๊อกห้องส้วมในห้องขัง ก๊อกเดียวกันกับที่เอาไว้ล้างจาน อาบน้ำ ซักผ้า รองไว้ราดส้วมเวลาถ่ายหนักเบา แต่เธอยังพอได้ดื่มน้ำจากขวด แต่หากว่าน้ำขวดหมดและไม่มีใครซื้อให้อีก กัลยาก็คงจะต้องดื่มน้ำจากก๊อกข้างโถส้วมเหมือนผู้ต้องขังคนอื่นที่อยู่ระหว่างกักโรค

ภายหลังจากเราเข้าเยี่ยมเธอเสร็จ เราได้ซื้อของใช้ เสื้อผ้า อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนม และน้ำดื่มฝากเข้าไปให้เธอทันที ซึ่งเป็นเงินจากกองทุนช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีการเมือง โดยอานนท์ นำภา

(ใบเสร็จรายการของใช้และอาหารที่ซื้อให้กัลยา)

4.

รีวิวห้องขังเดี่ยวระหว่างกักโรค

มีทั้งกล้องวงจรปิด หนู และฝุ่น

ในวันที่เราไปเยี่ยมกัลยา เธออยู่ระหว่างการกักกันโรคตามมาตรการของเรือนจำเข้าสู่วันที่ 8 จากกำหนดทั้งหมด 10 วัน เมื่อครบกำหนดแล้วจะถูกจำแนกไปอยู่รวมกับผู้ต้องขังหญิงคนอื่น ๆ ตามปกติ โดยไม่ต้องถูกขังอยู่ในห้องขังตลอด 24 ชั่วโมงอีก และเวลากลางวันจะได้ลงมาทำกิจกรรมที่ลานด้านล่างเรือนนอน ส่วนเวลากลางคืนก็จะได้นอนรวมอยู่กับคนอื่น ๆ ในห้องขนาดใหญ่กว่าห้องกักกันโรค

ระหว่างการกักโรค 10 วัน เพื่อเฝ้าระวังโรคโควิด-19 และโรคติดต่ออื่น ๆ กัลยาจะถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องขังเล็ก ๆ บนชั้น 3 ของเรือนนอนนักโทษหญิงตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ได้ออกไปไหนเลย เรือนนอนหลังนี้เป็นเรือนนอนเพียงหลังเดียวของแดน 8 แดนผู้หญิงหนึ่งเดียวในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส

กัลยาบรรยายถึงสภาพภายในอาคารชั้นที่ 3 ว่ามีโถงทางเดินทอดยาวตรงกลาง ฝั่งซ้ายขวาจะถูกซอยแบ่งเป็นห้องขัง ฝั่งละประมาณ 5-6 ห้อง ทั้งชั้นจึงมีห้องขังรวมประมาณ 12 ห้องได้

คนที่เข้ามา ‘พร้อมกัน’ จะถูกแยกไปอยู่ห้องเดียวกัน ซึ่งวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ต้องขังหญิงถูกพาตัวมาเรือนจำ 2 คน แต่กัลยาถูกจำแนกให้ไปอยู่ห้องขังเพียงตัวคนเดียว ซึ่งตามความจริงเธอต้องได้อยู่ห้องกักโรคกับผู้ต้องขังหญิงอีกคนหนึ่งที่กลับเข้าเรือนจำมาพร้อมกัน

ห้องขังแคบ จนปลายเท้าเกือบชนฝา

ในห้องขังสำหรับกักกันโรคที่กัลยาต้องอยู่ เธอประมาณว่ามีขนาด 2X2 เมตร พื้นเป็นปูนเปลือยทาด้วยสีเขียว ผนังเป็นปูนเปลือยไม่ได้ทาสี หากนอนลงกับพื้นจะเหลือพื้นที่ว่างเพียงนิดเดียว ‘ปลายเท้าก็จะชนผนังแล้ว’ 

ผนังฝั่งด้านในอาคารเป็นแผงซี่ลูกกรง ส่วนผนังทั้ง 3 ด้านภายในไม่มีหน้าต่าง ‘ไม่มีช่องระบายอากาศ’ เป็นผนังทึบสูงจนถึงเพดาน อากาศภายในชั้นนี้จึงจะไม่มีทางระบายออก ความอับชื้น ฝุ่นละอองมีให้ระคายเคืองอยู่ จะมีก็เพียงพัดลม 1 ตัวที่ตั้งอยู่ที่โถงทางเดินที่ช่วยพัดพาอากาศให้ยังพอหมุนเวียนได้บ้าง

อยู่กับกล้องวงจรปิด 24 ชม.

ในห้องกักโรคมี ‘กล้องวงจรปิด’ ติดตั้งอยู่ด้วย ฉะนั้นจึงไม่มีความเป็นส่วนตัว ทุกการกระทำจะถูกรับรู้โดยสายตาของเจ้าหน้าที่เรือนจำ 

ที่มุมห้องติดกับผนังด้านนอกอาคารจะเป็นพื้นที่ห้องส้วม ถูกก่อเป็นบล็อกเตี้ย ๆ สูงประมาณเอว 2 ฝั่งกั้นไว้ ด้านในมีโถส้วมซึมนั่งยองติดตั้งไว้ พร้อมกับอ่างน้ำที่ถูกก่อขึ้นด้วยบล็อกปูนทรงสี่เหลี่ยม ความสูงพอ ๆ กับบล็อกที่กั้นอยู่ 

การอาบน้ำ ล้างจาน ซักผ้า ขับถ่ายหนักเบา ฯลฯ จะเกิดขึ้นในพื้นที่แคบ ๆ ในบล็อกส้วมนี้ เมื่อต้องขับถ่ายกัลยาจะใช้ผ้าถุงคลุมตัวแล้วนั่งยองลงกับโถส้วม ปล่อยชายผ้าให้กองลงกับพื้นเพื่อปิดบังร่างกาย และหากจะอาบน้ำก็จะอาบทั้งที่ยังนุ่งผ้าถุงอยู่อย่างนั้น อาบเสร็จแล้วก็นำผืนที่เปียกไปตาก และเปลี่ยนใส่ผืนใหม่ที่แห้งอยู่

หนูไต่ขึ้นตัว ฝุ่นตลบห้อง

พื้นของห้องขังมีทั้งฝุ่นและคราบสกปรก กัลยาบอกว่าบ่อยครั้งจะมีหนูออกมาเพ่นพล่านให้เห็น บางทีเธอหลับอยู่ ก็จะมี ‘หนู’ ขึ้นมาไต่ตัวเธอด้วย 

ห้องขังมีไฟ 1 หลอด ตั้งแต่ตะวันตกดินทั้งชั้นจะถูกเปิดไฟไว้จนกระทั่งเช้า แสงจึงแยงตาเวลานอนหลับ เวลาจะนอนหลับ เธอจะใช้ผ้าคลุมโปงเพื่อกันแสงแยงตา 

5. 

ย้อนนึกถึงวันแรก

ที่ต้องจำใจก้าวเข้าเรือนจำ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 ต.ค. วันที่ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ในวันนั้นเธอเดินทางมาจากกรุงเทพฯ พร้อมกับคนรักและทนายความ เธอได้ซื้อตั๋วเดินทางด้วยเครื่องบินทั้งขาไปและกลับไว้แล้ว 

ก่อนศาลจะอ่านคำพิพากษา ตำรวจศาลเดินมาใส่กุญแจมือ “สิ่งนี้แหละที่ทำให้หนูคิดว่ายังไงศาลก็คงพิพากษาจำคุกเหมือนเดิม …” กัลยาบอก

เป็นเหมือนที่เธอคิดไว้ วันนั้นศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก 6 ปี ตามศาลชั้นต้น โดยไม่รอลงอาญา จากนั้นเธอจึงถูกพาตัวไปคุมขังไว้ที่ใต้ถุนศาลระหว่างรอฟังคำสั่งประกันตัว

เวลาล่วงเลยไปหลายชั่วโมง กระทั่งเวลาประมาณ 16.00 น. ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอประกันไปให้ ‘ศาลฎีกา’ เป็นผู้พิจารณาว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ กัลยาจึงต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสก่อนเพื่อรอฟังคำสั่ง

เย็นนั้นกัลยาถูกนำตัวขึ้นรถผู้ต้องขังของราชทัณฑ์เพื่อออกเดินทางไปเรือนจำ กัลยาเล่าว่าที่นั่งหลังรถถูกกั้นแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งไว้ให้นักโทษหญิงนั่ง ซึ่งวันนั้นมีเพียง 2 คน คือกัลยาและนักโทษหญิงอีกคนหนึ่ง ส่วนอีกฟากหนึ่งไว้ให้นักโทษชายนั่ง ซึ่งวันนั้นมีประมาณ 10 กว่าคนได้

ระหว่างนั่งรถเดินทางไปเรือนจำ กัลยารู้สึกประหม่าและเป็นกังวลมาก เธอสังเกตว่าแทบทุกคนบนรถนั้นส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ผู้หญิงใส่ผ้าฮิญาบ ผู้ชายสวมหมวกกะปิเยาะ หลายคนกรูเข้าหาเธอถามเรื่องคดีความ ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ’ ว่าเป็นไปเป็นมายังไงถึงถูกคุมขังด้วยข้อหานี้ได้ และมีผู้ต้องขังบอกกับกัลยาว่าที่เรือนจำนราธิวาสมี ‘อุดม’ ถูกขังอยู่ก่อนแล้วด้วยข้อหาเดียวกันนี้ 

กัลยาบอกกับเราว่าอันที่จริงเธอไม่อยากจะอธิบายเรื่องคดีความมากนัก เพราะกลัวบางคนจะไม่เข้าใจ แต่สุดท้ายเธอก็ตัดสินใจเล่าให้คนบนรถในวันนั้นฟัง ซึ่งทุกคนนั่งฟังอย่างตั้งใจ และเมื่อกัลยาเล่าจนจบ ทุกคนต่างพูดให้กำลังใจเธอและบอกว่า “ขอให้สู้ ๆ, เธอจะผ่านเรื่องนี้ไปได้อย่างแน่นอน ฯลฯ” ทำให้กัลยาคลายความกังวลใจลงบ้าง

เมื่อรถผู้ต้องขังเคลื่อนถึงเรือนจำช่วงพลบค่ำ ในเวลาประมาณ 18.00 น. จากนั้นกัลยาถูกสั่งให้เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดผู้ต้องขัง เสื้อสีน้ำตาลอ่อน แขนสั้น และผ้าถุงสีน้ำตาลแดงเข้ม ซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับที่เธอใส่ออกมาพบกับเราในวันนี้

วันแรกเจ้าหน้าที่แจกของใช้หลายอย่างให้ด้วย ได้แก่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ แชมพู ผ้าอนามัย 1 แพ็ก ยกทรงแบบไม่มีโครงเหล็กและกางเกงใน อย่างละ 1 ตัว ส่วนใหญ่เป็นของใช้ที่ไม่มียี่ห้อ กัลยาคาดว่าของเหล่านี้น่าจะถูกผลิตเพื่อใช้แจกให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำโดยเฉพาะ

ชุดผู้ต้องขังที่เธอใส่อยู่ตอนนี้ ทั้งเสื้อและผ้าถุง เธอบอกว่าเนื้อผ้า ‘หยาบ’ พอสมควร เวลาจะสวมใส่จะต้อง ‘ทาแป้ง’ ที่ตัวก่อนเพื่อลดอาการระคายเคือง ส่วนของใช้ส่วนใหญ่เธอก็รู้สึกได้ว่ามีมาตรฐานที่ด้อยกว่าสินค้าที่วางขายตามร้านค้าทั่วไป

โดยเฉพาะ ‘แปรงฟัน’ กัลยาสังเกตว่าขนแปรงจะแข็งและขนแปรงเส้นหนากว่ามาก เวลาแปรงแต่ละครั้งก็มักจะทำให้มีเลือดออกตามเหงือกและไรฟันอยู่บ่อย ๆ แต่ละครั้งเลือดจะไหลอยู่นานประมาณ 3-4 ชั่วโมงได้ ทั้งนี้ เพราะกัลยาป่วยเป็น ‘โรคลิ่มเลือดอุดตัน’ ด้วย ซึ่งภาวะเลือดไหลออกง่ายและหยุดยากเป็นอาการหนึ่งของโรคนี้

กัลยาบอกเราว่าเธออยากได้ชุดชั้นในเพิ่มอีก เพราะตอนนี้มีแค่ 2 ชุด เป็นของตัวเองที่ใส่มาวันแรกที่เข้าเรือนจำ 1 ชุด และเป็นของเรือนจำแจกให้อีก 1 ชุด ซึ่งบางวันก็แห้งไม่ทันบ้าง และเธอยังบอกอีกว่า ‘อยากได้ผ้าอนามัยที่แผ่นใหญ่กว่านี้’ เพราะโรคลิ่มเลือดอุดตัน จะทำให้เวลามีประจำเดือน เลือดจะไหลเยอะกว่าปกติ ถ้ามีผ้าอนามัยที่แผ่นใหญ่ปกติจะใช้งานได้เหมาะสมกว่า

  6. 

“จะหนีไปไหนได้ เงินเดือนแค่หมื่นกว่าบาท”

คำแถลงจากกัลยา ในวันที่ศาลสั่งไม่ให้ประกันตัว

หลังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสเพื่อรอฟังคำสั่งจากศาลฎีกาถึง 2 คืน เช้าวันอาทิตย์ที่ 22 ต.ค. กัลยาถูกเบิกตัวไปฟังผลคำสั่งประกันตัวที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ในวันนั้นเธอได้พบกับ ‘คนรัก’ อีกครั้งหนึ่งด้วย

คนรักของกัลยาที่เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกันยังไม่เดินทางกลับกรุงเทพฯ ในทันที แต่ได้อยู่รอกัลยา แต่ผลปรากฏว่าวันนั้นศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวกัลยาระหว่างฎีกาคำพิพากษา 

กัลยาบอกว่าตัวเธอในตอนนั้นนั่งอยู่เบื้องหน้าศาล ถูกพันธนาการด้วยกุญแจมือ ส่วนเท้าถูกตรวนไว้ทั้งสองข้างด้วย เมื่อผู้พิพากษาอ่านคำสั่งไม่ให้ประกันเสร็จ กัลยาได้ยกมือทั้งสองข้าง ลุกขึ้นจากที่นั่ง และพูดแถลงต่อหน้าศาลว่า

“หนูจะหลบหนีได้ยังไงกันคะท่าน ตอนนี้หนูทำงานอยู่ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ถึงหนูจะอยู่ไกลถึงกรุงเทพฯ แต่หนูก็เดินทางมาตามนัดหมายคดีที่จังหวัดนราธิวาสตลอด

“การสู้คดีที่ผ่านมา หนูเสียเงินไปเกือบ 70,000 บาทแล้ว แต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท หนูต้องลางาน ต้องเสียเงิน ต้องเหนื่อยกับการเดินทาง  

“แต่หนูก็ยินยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมาตลอด ไม่เคยหนีหายไปไหนเลยสักครั้ง”

กัลยาบอกกับเราว่ารู้สึกโกรธมากที่ศาลสั่งไม่ให้ประกันตัว และบอกอีกว่า “คิดได้ยังไงว่าเราจะหลบหนี เราตั้งใจเรียนจนจบและสอบได้งานที่ดี จนได้ซื้อที่ดินไว้แล้ว 1 ไร่ ที่จังหวัดพะเยา ซื้อแบบแปลนบ้านไว้แล้วด้วย ตั้งใจว่าจะสร้างบ้านให้พ่อแม่อยู่ตอนต้นปี 2567 ที่จะถึงนี้ หนูมีเหตุผลอะไรที่จะต้องทิ้งพ่อแม่ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่หนูสร้างมากับมือไป

“พ่อแม่หนูก็แก่แล้ว ไม่รู้ว่าท่านจะอยู่กับหนูได้อีกกี่ปี หนูจะหนีคนที่หนูรักไปได้ยังไงกัน อยากให้ศาลเข้าใจความรู้สึกของหนูด้วย 

“หนูอยากได้ความยุติธรรม คดีนี้กระทรวงดิจิทัลฯ ตรวจสอบแล้วว่าสิ่งที่หนูถูกกล่าวหานั้น ไม่มีหลักฐานว่าหนูเป็นคนโพสต์จริง แต่ศาลเลือกที่จะลงโทษให้หนูผิด

“หนูอยากได้รับสิทธิประกันตัว หนูจะหนีไปไหนได้ เงินเดือนหนูแค่หมื่นกว่าบาท จะให้หนูหนีไปประเทศไหน 

“ใคร ๆ ก็อยากอยู่กับคนที่ตัวเองรัก …

“การถูกคุมขังที่นี่ หนูทั้งเครียดและกังวลไปหมด เพราะมันไกลจากบ้านมาก ๆ แม่พยายามพูดกับหนูหลายรอบว่า ‘ขอให้เขาย้ายไปศาลใกล้ ๆ บ้านได้ไหม’ หนูก็บอกว่าไม่ได้หรอกแม่ เพราะเขาแจ้งความหนูที่นี่ ทั้งที่หนูไม่เคยรู้จักคนที่แจ้งความเลย และก็ไม่เคยทะเลาะหรือผิดใจอะไรกับเขาเลย

เราชวนกัลยาแลกเปลี่ยนความเห็นถึงปัญหาของการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งกัลยาบอกเราว่า “กฎหมายมาตรา 112 มีโทษหนักเกินไป แค่เห็นต่างกัน ไม่ได้ทำร้ายชีวิตใคร แต่หนูกลับได้รับโทษหนักหนา ยิ่งกว่าการไปฆ่าคนตาย” เธอพูดอย่างช้า ๆ และร้องไห้ไปด้วย หลังพูดจบประโยคเธอนิ่งไปครู่หนึ่ง แล้วบอกว่า “พูดไม่ออกเลย…”

“กฎหมายหละหลวม แค่มีคนแคปข้อความเฟซบุ๊กแล้วเอามาเรียงต่อ ๆ กัน ก็สามารถเอาคนคนหนึ่งติดคุกได้แล้ว ซึ่งใครจะทำก็ได้ ใครจะตัดต่อก็ได้ 

“หนูอยากให้ศาลพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนกว่านี้ หลักฐานในชั้นศาลก็ไม่มีอะไรชัดเจนเลยว่าหนูเป็นคนทำจริง”

7. 

ชีวิตในเรือนจำยิ่งทรมาน

เมื่อเผชิญหน้ากับ ‘โรคลิ่มเลือดอุดตัน’

การถูกคุมขังครั้งนี้ ทำให้ชีวิตของกัลยาทรมานกว่าเดิมหลายเท่า จากการต้องเผชิญหน้ากับโรคประจำตัวอย่าง ‘ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน’ ที่ก่อให้เกิดความผิดปกติกับร่างกายหลายอย่าง อาทิ อาการชาตามร่างกาย มีเลือดออกผิดปกติ เลือดไหลง่ายและหยุดยาก เป็นต้น

กัลยาเล่าว่า ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2566 นี้เอง ตอนนั้นเธอเริ่มรู้สึกปวดหลังมาก คิดว่าน่าจะเกิดจากการนั่งทำงานนานจนเกินไป กัลยาจึงตัดสินใจไป ‘นวดกดจุดแผนไทย’ ตามปกติเหมือนทุกครั้ง แต่วันต่อมาปรากฏว่า ‘ขาข้างซ้าย’ ของกัลยาบวมเป่ง จนเธอเดินและลุกนั่งลำบากมาก เวลานอนต้องนอนตัวตรงอย่างเดียว ทั้งยังพบว่าเล็บเท้าเริ่มมีสีเขียวช้ำ คล้ายเลือดไม่ไปเลี้ยงแล้วด้วย

เมื่อไปตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน แพทย์ได้ทำ CT Scan และฉีดสีเข้าเส้นเลือด รวมถึงเอกซเรย์ที่ขาข้างซ้าย ตามลำดับ ก่อนแพทย์ตรวจเจอว่าเลือดจะย้อนกลับเข้าไปที่อวัยวะปอดและหัวใจ ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉิน เป็นอันตรายถึงชีวิต แพทย์จึงให้กัลยาแอดมิทอยู่ที่โรงพยาบาลและให้รับการผ่าตัดในวันรุ่งขึ้นทันที ด้วยการใส่ ‘ที่ถ่างเส้นเลือด’ เข้าไปที่บริเวณข้อพับใต้เข่าของขาข้างซ้าย เพื่อบรรเทาภาวะเส้นเลือดอุดตัน

หลังการผ่าตัด แพทย์สั่งห้ามไม่ให้กัลยา ‘เดิน’ หรือ ‘ออกกำลังกายหนัก ๆ’ หลังผ่าตัดเธอต้องพักฟื้นอยู่ที่บ้านเป็นเวลานับเดือน ระหว่างนั้นเธอจะต้องใช้เข็มฉีดตัวยาละลายลิ่มเลือดฉีดเข้าที่ ‘หน้าท้อง’ ของตัวเองทุกวัน วันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 2 เข็ม 

เมื่อฉีดยาจนครบ 2 เดือนแล้ว ค่อยได้เปลี่ยนเป็น ‘ยาเม็ด’ แบบรับประทานแทน ทานในเวลาเช้า 1 เม็ด และเย็น 1 เม็ด ซึ่งจนถึงตอนนี้กัลยาก็ยังต้องทานยา 2 ตัวนี้อยู่

แม้เวลาจะผ่านมากว่าครึ่งปีแล้วนับตั้งแต่วันที่เข้ารับการผ่าตัดใส่ที่ถ่างเส้นเลือด แต่แพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ยังนัดติดตามอาการทุก 3 เดือน โดยนัดหมายครั้งล่าสุด เป็นวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เธอไม่ได้เดินทางไปพบแพทย์ได้

แพทย์เคยแจ้งกับกัลยาว่า โรคลิ่มเลือดอุดตันอาจจะไม่มีวันรักษาหายได้ ระหว่างนี้ทำได้เพียงรักษาประคองอาการให้ต่อเนื่องไป 2-3 ปีเท่านั้น ซึ่งกัลยารู้สึกเป็นกังวลมากว่าระหว่างถูกคุมขังอยู่นี้ หากไม่ได้เดินทางไปตามนัดของแพทย์เพื่อติดตามผลอาการ โรคอาจจะแย่ลงหรืออาจจะไม่มีโอกาสรักษาให้หายเป็นปกติแล้วก็ได้

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันสร้างความลำบากต่อการใช้ชีวิตของเธอระหว่างถูกคุมขังมาก 

  1. อาการชาที่ขาเป็นอาการข้างเคียงอย่างหนึ่งจากภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งกัลยาต้องรับมือกับมันมาตั้งแต่เริ่มพบว่าเป็นโรคนี้ แต่เมื่อถูกคุมขังกลายเป็นว่าเริ่มรู้สึกชาที่ ‘แขน’ ทั้งสองข้างด้วย และยังรู้สึกว่าอาการชาจะกินเวลานานมากขึ้น จากเดิมเพียง 20-30 นาที เป็นประมาณ 6-8 ชั่วโมงได้

    อาการชาตามแขนและขามักจะเกิดขึ้นในเวลากลางคืน มันยิ่งทรมานมากขึ้นเมื่อกัลยาจะต้องนอนกับพื้นแข็ง ๆ ของห้องขังที่มีผ้าห่มบาง ๆ ปูรองเพียง 1 ผืน ยิ่งทำให้หลับตานอนเป็นเรื่องลำบาก
  1. เลือดจะไหลง่ายและหยุดไหลยากกว่าปกติ อย่างเวลาแปรงฟันด้วยขนแปรงแข็ง ๆ ของแปรงสีฟันไม่มียี่ห้อที่เรือนจำแจกให้ ก็มักจะทำให้เลือดออกตามไรฟันและเหงือก นานกว่า 20-30 นาที เลือดถึงจะหยุดไหล หรืออย่างตอนเป็นประจำเดือนก็จะมีเลือดไหลออกมากกว่าปกติด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ กัลยายังมักจะมีอาการปวดศีรษะไมเกรนบ่อย ๆ ด้วย เป็นการปวดหัวหนักอึ้งอยู่เพียงข้างเดียว โดยช่วงที่ถูกคุมขังนี้เธอเป็นเกือบจะทุกวัน คาดว่าที่ปวดหัวถี่ขึ้นน่าจะเกิดมาจากเครียดและวิตกกังวลมากจากการถูกคุมขัง 

และกัลยายังเป็น ‘โรคภูมิแพ้’ ด้วย ซึ่งอ่อนไหวต่อไรฝุ่นและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงฉับพลัน โดยจะมีอาการไอ จาม ปวดเบ้าตา ปวดหัว เวลามีอาการต้องทานยาแก้แพ้และยาแก้ปวดบรรเทา ซึ่งช่วงที่ถูกคุมขังก็ทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบด้วย เพราะห้องขังนั้นมีฝุ่นเยอะและค่อนข้างสกปรก

สิ่งที่กัลยาเป็นกังวลอีกอย่างหนึ่ง เป็นเรื่อง ‘การจัดฟัน’ ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไปดี หากว่าจะต้องถูกคุมขังเป็นเวลานานจะขอทำเรื่องถอดเหล็กจัดฟันกับทันตแพทย์ได้หรือไม่ หรือจะยังรับการจัดฟันต่อเนื่องได้อยู่ขณะถูกคุมขังในเรือนจำ นี่ยังเป็นคำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ 

ปัจจุบันเหล็กจัดฟันของกัลยาจึงยังอยู่ในสภาพเดิม โดยที่ไม่ได้รับการดูแลจากทันตแพทย์ ซึ่งปกติจะต้องรับการเปลี่ยนยางจัดฟันเป็นประจำทุก 1 เดือน ไม่เช่นนั้นจะส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปาก และไม่เป็นไปตามแผนการรักษาที่ทันตแพทย์วางไว้ตั้งแต่แรก

8. 

กัลยาคือใคร

เราถามกัลยาว่า “ชอบกินอะไรเป็นพิเศษ” จะได้สั่งเข้าไปให้เธอได้ทาน เผื่อว่าจะช่วยให้เธอพอทานอาหารได้บ้าง เธอตอบว่าชอบอาหารจำพวกเส้น ก๋วยเตี๋ยว หนมเส้น จำพวกนี้

กัลยาพูดว่า ‘หนมเส้น’ เป็นคำที่คนภาคเหนือใช้เรียกแทน ‘ขนมจีน’ ถามไปถามมาจนได้ความว่า แม้กัลยาจะเติบโตที่กรุงเทพฯ มาตั้งแต่เด็ก แต่ครอบครัวฝั่งแม่ของเธอมีรากเหง้าอยู่ที่จังหวัดพะเยา กัลยาเลยพูดคำเมืองได้คล่องป๋อ ยิ่งเมื่อรู้ว่าเราก็เป็นคนภาคเหนือเหมือนกัน อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ กัลยาก็ดูมีท่าทีผ่อนคลายความกังวลไปบ้าง และอมยิ้มให้ได้เห็นหน่อยหนึ่ง 

“ชอบกิ๋นหนมเส้นน้ำหยังก๋า” เราถาม

“มักน้ำเงี้ยวขนาดเลยจ้าว ชอบกิ๋นดอกงิ้ว” กัลยาบอก

ตอนเด็กกัลยาโตมาที่บ้านย่านบางแค กรุงเทพฯ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ หลังเรียนจบเธอได้ทำงานที่ธนาคารแห่งหนึ่งอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะผันตัวไปเป็นพนักงานบริษัทเอกชน จากนั้นไม่นานเธอตั้งใจอ่านหนังสือเพื่อสอบเป็นเข้าทำงานที่องค์กรแห่งหนึ่งจนสำเร็จในปี 2565 ซึ่งเป็นงานที่ใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก เพราะมีความมั่นคง มีเกียรติ และทำให้ครอบครัวภูมิใจ

ในองค์กรที่ว่า กัลยาได้ทำงานด้านพัฒนาชุมชน ต้องคอยออกไปให้ความช่วยเหลือชุมชน ทำงานร่วมกับคนในท้องถิ่น อาทิ ริเริ่มโครงการพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมกับชาวบ้าน ทำโครงการต่อต้านการใช้ยาเสพติดในเยาวชน ฯลฯ ทำให้เธอต้องทำงานและคลุกคลีอยู่กับคนในชุมชนอยู่เป็นประจำ

กัลยาเป็น ‘ลูกคนสุดท้อง’ มีพี่ 2 คน คนโตเป็นพี่สาว ส่วนคนรองเป็นพี่ชาย ปัจจุบันพี่สาวอายุประมาณ 43 ปี ส่วนพี่ชายอายุประมาณ 35 ปี ส่วนพ่อและแม่ของเธอ ปัจจุบันทั้งคู่มีอายุ 66 ปี 

กัลยาบอกว่า พ่อเพิ่งผ่าตัดต้อเนื้อนัยน์ตาเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมานี้เอง ส่วนแม่ แม้จะดูเป็นคนเข้มแข็งมาก แต่จริง ๆ แล้ว เป็นคนที่อ่อนไหวและร้องไห้ง่ายเหมือนกับเธอเลย แม่เคยบอกไว้ว่าเป็นห่วงกัลยามากที่สุดในบรรดาลูกทั้ง 3 คน

เธอเล่าย้อนถึงวัยเด็กให้ฟังว่า ตั้งแต่เด็กจนโตไม่เคยเกเรเลย เธอก้มหน้าก้มตาตั้งใจเรียนอย่างเดียว เพราะอยากให้พ่อแม่ภูมิใจ แต่ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะถูกกลั่นแกล้งจนต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำแบบนี้

การพูดถึงพ่อและแม่ทำให้คิดได้วันที่ 2 พ.ย. เป็นวันคล้ายวันเกิดปีที่ 29 ของเธอ ทุกปีเธอจะทำบุญให้กับคนที่ลำบาก ทั้งคนไร้บ้าน ผู้สูงอายุ และเด็กกำพร้า ปีที่ผ่านมา กัลยาทำอาหารแจกจ่ายให้กับเพื่อนที่ทำงานเดียวกันด้วย

“แต่ปีนี้เป็นปีที่โหดร้ายมาก”

“วันเกิดปีนี้ หนูไม่ขออะไรมาก ขอแค่ให้แฟนกับพ่อแม่มาเยี่ยมเธอที่เรือนจำก็ดีมากแล้ว …” 

9.

กำลังใจจากเพื่อนในเรือนจำ

แม้ว่าในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส ผู้คุมและผู้ต้องขังส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิม มีความแตกต่างกันในเรื่องวัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อ แต่กัลยาบอกว่าทุกคนพยายามทำความเข้าใจกับคดีความที่เธอกำลังเผชิญอยู่ มีแต่คนเข้ามาพูดให้กำลังใจ ไม่มีใครด่าทอหรือทำให้รู้สึกไม่สบายใจเลย ทุกคนเป็นมิตรและเป็นกันเองมาก 

ระหว่างการกักตัว เพื่อนผู้ต้องขังที่อยู่ในชั้นเดียวกัน แม้จะอยู่คนละห้องขังกัน แต่พวกเขาก็มักจะตะโกนข้ามห้องมาให้กำลังใจและชวนกัลยาคุยคลายเหงาอยู่บ่อย ๆ พวกเขาคอยบอกกับเธอว่า สู้ ๆ นะ ขอให้กินข้าวด้วย ไม่อย่างนั้นตอนได้กลับบ้านร่างกายจะอ่อนแอ 

ทุกคนอยากให้เธอกลับบ้านด้วยร่างกายที่แข็งแรง และมีความสุข ส่วนผู้คุมเองก็ใจดีกับกัลยามาก พวกเขารู้ว่าเธอกินข้าวไม่ลงเลย และมักจะเอาผลไม้และขนมหวานมาให้กัลยาทานแทนข้าว ผู้คุมบางคนมาพูดปลอบใจและให้กำลังใจอยู่นานนับชั่วโมงด้วยก็มี

กัลยาเล่าถึงผู้คุมคนหนึ่งที่เรียนจบปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ ว่าเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวได้พูดแสดงความเห็นส่วนตัวกับกัลยาทำนองว่า “กฎหมายหละหลวมมาก คดีแค่นี้ไม่ควรโดนจำคุกด้วยซ้ำ ศาลควรจะให้ประกันตัว…”

10.

ก่อนจากกัน

ตลอดการสนทนา กัลยาร้องไห้ไปด้วยแทบจะตลอดเวลา เวลาพูดน้ำตาก็จะไหลไปด้วย แต่ไม่ได้สะอื้นหรือฟูมฟาย เธอร้องไห้จนดวงตาแดงก่ำ และไม่เคยละสายตาจากเราแม้สักวินาทีเดียว เหมือนว่าจดจ่อที่จะได้เล่าเรื่องของตัวเองให้เราไปถ่ายทอดต่อกับครอบครัวและคนรัก

เราได้เข้าเยี่ยมกัลยาตั้งแต่เวลา 11 โมงเช้า และเมื่อเวลาผ่านไปกว่า 1 ชั่วโมง จนถึงช่วงเที่ยงวัน เราถามกัลยาว่า “จะหยุดพักเพื่อกลับเข้าไปทานอาหาร ‘มื้อกลางวัน’ ก่อนไหม” เธอส่ายหัว แล้วบอกว่า “ไม่กิน ไม่อยากกลับเข้าไปเลย จะอยู่คุยต่อค่ะ ขออยู่ตรงนี้ให้นานที่สุดนะคะ…” 

เราจึงตัดสินใจคุยต่อโดยไม่หยุดพัก แม้แต่เราเองก็ไม่พักทานมื้อเที่ยงเช่นกัน เรายังคุยกันต่อเรื่อย ๆ  เวลาผ่านไปกระทั่งถึงบ่าย 2 โมง เจ้าหน้าที่ได้เบิกตัว “อุดม” ออกมาให้เราเยี่ยมด้วย แต่ยังดีที่เจ้าหน้าที่อนุญาตให้กัลยานั่งอยู่ต่อได้

ในตอนที่เจ้าหน้าที่เบิกตัวอุดมมาให้เราเข้าเยี่ยม เจ้าหน้าที่ย้ายพวกเราทั้ง 3 คนไปห้องเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังสำหรับทนายความอีกห้องหนึ่ง ห้องหนึ่งมีขนาดเท่า ๆ ห้องเดิม แต่สิ่งที่กั้นระหว่างเราไว้ทั้งสองฟากไม่ใช่กระจกใสมิดชิดทั้งบาน แต่เป็นแผ่นพลาสติกใส เมื่อนั่งลงจะพบว่า แผ่นพลาสติกที่อยู่ระดับอกถูกเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ กว้าง 1 คืบ ยาว 3 คืบ 

เมื่อเราย้ายมาห้องนี้ พวกเราจึงไม่ต้องยกหูโทรศัพท์คุยกันแล้ว สามารถคุยกันได้เลยให้เสียงลอดผ่านช่องสี่เหลี่ยมบนแผ่นพลาสติกนั้น จากนั้นเราขอให้กัลยาสลับไปนั่งอยู่ที่เก้าอี้ที่วางอยู่ข้างหลังอุดม และใช้เวลาคุยกับอุดมต่อเป็นคนที่ 2 แต่ระหว่างนั้นเราก็ยังสลับไปคุยกับกัลยาด้วยเป็นระยะ ๆ หากบริบทมีความเกี่ยวข้องกับเธอ 

ก่อนจะคุยกับอุดม เราให้กัลยาและอุดมได้พูดคุยทำความรู้จักกันครู่หนึ่งก่อน นี่เป็นครั้งแรกที่ทั้งสองคนได้เจอหน้ากัน อุดมพูดให้กำลังใจกัลยาว่าต้องอยู่ให้ได้และขอให้ทานข้าวด้วย กัลยาดูยิ้มแย้มและสดใสขึ้น โดยระหว่างนั้นเราออกไปทำธุระจัดการซื้อของใช้และอาหารให้ทั้งสองคน

ตลอดการเข้าเยี่ยม กัลยาพูดประโยคเดิมย้ำซ้ำ ๆ ประมาณ 4-5 รอบได้ว่า ขอให้โทรบอกคนรักของเธอด้วยว่ารักและคิดถึงมาก ๆ อยากให้มาเยี่ยมที่เรือนจำ และฝากบอกพ่อกับแม่ว่าขอให้ดูแลตัวเองด้วย ไม่ต้องเป็นห่วง ขอให้ถอนเงินฝากในบัญชีออกมาใช้สร้างบ้านใหม่ได้เลย ไม่ต้องรอเธอแล้ว

เรือนจำปิดทำการในเวลา 15.30 น. เมื่อถึงเวลานั้นเราต้องออกห้องเยี่ยมทันที ใน 10 นาทีสุดท้ายก่อนเรือนจำจะปิด กัลยารีบร้อนร้องขอเราอีกครั้ง ขอให้ออกไปโทรหาคนรักของเธอตอนนี้เลยได้ไหมเพื่อบอกข้อความที่ฝากไป และเมื่อโทรเสร็จให้รีบกลับเข้ามาบอกว่าคนรักตอบกลับว่าอย่างไรบ้าง

เรารีบคุยเรื่องสำคัญที่ยังคงค้างอยู่กับอุดมให้เสร็จ และใน 5 นาทีสุดท้าย เราจึงรีบวิ่งออกมาด้านนอกห้องเยี่ยม เปิดตู้ล็อกเกอร์เพื่อหยิบโทรศัพท์มือถือและกดโทรหาคนรักของกัลยา พร้อมกับพูดไล่เรียงข้อความที่กัลยาฝากบอกโดยสรุปให้กับเขาได้ฟัง

เมื่อคุยเสร็จ เรารีบวิ่งกลับเข้าไปหากัลยาที่นั่งรออยู่ที่เก้าอี้ตัวเดิมในห้องเยี่ยม แฟนของเธอได้รับข้อความจากกัลยาแล้ว และได้ฝากข้อความถึงกัลยาว่า จะเดินทางไปเยี่ยมกัลยาที่เรือนจำทันทีที่ครบกำหนดกักตัว รักและคิดถึงกัลยามาก ขอให้กัลยาดูแลตัวเองและกินข้าวด้วย

กัลยาได้ยินแล้วดธอก็ร้องไห้โฮจนตาแดงกล่ำ แต่ก็ยิ้มไปด้วย และบอกกับเราว่า “ขอบคุณมากนะคะที่ทำให้ขนาดนี้ ได้ยินแบบนี้ก็ดีใจแล้วค่ะ …” 

จนนาทีสุดท้ายที่เรือนจำจะปิด ก่อนเจ้าหน้าที่จะนำตัวกัลยาและอุดมกลับเข้าไปในเรือนจำไป เรายื่นมือลอดผ่านช่องสี่เหลี่ยมบนแผ่นพลาสติกที่กั้นพวกเราไว้ เพื่อขอจับมือกัลยาและอุดม ให้กำลังใจทั้งสองคน และบอกว่าทุกคนข้างนอกฝากความห่วงใยและฝากให้กำลังใจมามากมาย ขอให้ทั้งสองคนดูแลสุขภาพตัวเองด้วย ทั้งสองพยักหน้ายิ้มตอบรับและบอกลา ก่อนเดินลับไปในโถงทางเดิน

11.

ถูกขังผ่านไป 1 เดือนแล้ว

แต่ญาติยังไม่ได้คิวเข้าเยี่ยมที่เรือนจำ

หลังจากเข้าเยี่ยมกัลยาแล้ว อีก 1-2 วันถัดมา เราโทรไปเล่าให้ครอบครัวของเธอฟังทั้งหมด วันที่เราโทรไปตามนัดหมาย พ่อและแม่ของกัลยาเดินทางมาจากต่างจังหวัด อยู่ด้วยกันพร้อมหน้ากับพี่สาวของกัลยาที่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมออกเดินทางไปเยี่ยมกัลยาที่เรือนจำ เพราะใกล้ครบกำหนดกักกันโรค 10 วัน ซึ่งญาติจะสามารถเข้าเยี่ยมกัลยาที่เรือนจำได้ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามคิวที่จองได้ด้วย

วันที่เราโทรไปหาครอบครัวกัลยา มีพ่อ แม่ และพี่สาวของกัลยา นั่งฟังอยู่ เราบอกให้ครอบครัวเปิดเสียงมือถือเป็นระบบลำโพงแล้วจึงเริ่มเล่า

เราเล่าตั้งแต่เรื่องที่กัลยาไม่ยอมทานข้าวเลยในช่วงสัปดาห์แรกที่ถูกคุมขัง เรื่องอาหารของเรือนจำที่ส่วนใหญ่เป็นอาหารใต้ มีรสจัด เรื่องที่เราซื้อของใช้และอาหารให้กัลยาด้วยเงินจากกองทุนของอานนท์ นำภา เรื่องที่เพื่อนข้าง ๆ ห้องและผู้คุมของกัลยาใจดีกับเธอมาก เรื่องสภาพแวดล้อมของเรือนจำที่แออัด และสภาพของห้องขังระหว่างกักตัวที่คับแคบ มีฝุ่น มีหนู อากาศไม่ถ่ายเท 

ระหว่างคุยกันพี่สาวถามย้ำว่า “น้องเขานอนยังไงนะคะ” 

เราพูดทวนให้ฟังอีกครั้งว่า กัลยานอนกับพื้นปูน ไม่มีฟูกรองนอน มีแต่ผ้าห่มคล้ายกับผ้าห่มขี้งาสีเทาที่ใช้ปูรองพื้น และกัลยาบ่นว่าปวดหลังมาก ถึงตรงนี้ฝั่งครอบครัวของกัลยาเงียบไปครู่หนึ่ง จากนั้นปลายสายมีเสียงผู้หญิงเหมือนว่ายืนอยู่ไกลมาก ๆ ทำ ‘เสียงกรีดร้อง’ เสียงดัง เหมือนว่ากำลังจะขาดใจอย่างอย่างงั้น 

เราตกใจมาก คิดว่ามีเหตุวิวาทเกิดขึ้นหรือไม่ เราจึงพูดถามว่า “ทุกอย่างเรียบร้อยดีไหม เกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า” พี่สาวของกัลยาตอบช้า ๆ เหมือนกำลังร้องไห้อยู่ว่า แม่เขาไม่ไหว แกวิ่งไปร้องไห้แล้ว …

เสียงกรีดร้องเมื่อครู่ นั่นคือเสียงแม่ของกัลยาเอง

ต่อจากนั้นจึงมีแต่พี่สาวและพ่อของกัลยานั่งฟังเราเท่านั้น แต่เหมือนว่าทุกคนไม่มีสมาธิจะฟังเราแล้ว ทุกคนไม่มีการตอบสนองกับสิ่งเราเล่า มีเพียงเสียงสะอื้นไห้ เราจึงรีบเล่าโดยสรุปและพูดให้กำลังใจทุกคน

ผ่านมากว่า 1 เดือนแล้วที่กัลยาถูกคุมขัง แต่ครอบครัวของเธอยังคงไม่ได้คิวเข้าเยี่ยมที่เรือนจำ ที่ผ่านมาครอบครัวได้เพียงคิวเข้าเยี่ยมผ่านช่องทางออนไลน์ 1 ครั้งเท่านั้น เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา 

การเยี่ยมออนไลน์เรือนจำจะจัดให้คุยผ่านการวิดีโอคอลด้วยแอปพลิเคชันไลน์ จำกัดเวลาครั้งละ 15 นาที ให้ญาติคุยพร้อมกันได้ 2 คน โดยครั้งนั้นเป็นพี่ชายและพี่สาวของกัลยาเข้าเยี่ยมพร้อมกัน เนื่องจากลงทะเบียนด้วยชื่อพี่สาว ที่พักอยู่กรุงเทพฯ ใกล้กับพี่ชาย

พี่สาวของกัลยาบอกว่า ด้วยเวลาที่จำกัด การเยี่ยมครั้งนั้นจึงได้พูดคุยกันเพียงสั้น ๆ อินเทอร์เน็ตก็ไม่ได้เสถียรมาก ทำให้การเข้าเยี่ยมแบบออนไลน์เป็นไปอย่างลำบากพอสมควร 

จากคำบอกเล่าของครอบครัวกัลยา หลังถูกกักกันโรคจนครบตามกำหนดประมาณวันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา หลังจากนั้นกัลยาถูกจำแนกมาอยู่รวมกับผู้ต้องขังหญิงคนอื่น ๆ แล้ว กัลยายังคงไม่ค่อยทานอาหาร เพราะยังรู้สึกเป็นทุกข์มากกับการถูกคุมขัง รวมถึงยังปรับตัวไม่ค่อยได้กับอาหารต่างถิ่น

ที่สำคัญ จนถึงวันนี้กัลยายังไม่ได้เจอหน้าพ่อและแม่ตามความตั้งใจเลย ทั้งที่เมื่อครั้งที่เราเข้าเยี่ยมเธอที่เรือนจำ กัลยาย้ำเรานักหนาว่าอยากพบหน้าพ่อกับแม่มาก ๆ ขอให้พาทั้งสองคนมาไปเยี่ยมที่เรือนจำให้ได้

พี่สาวบอกถึงอุปสรรคสำคัญที่ทำให้จนถึงตอนนี้พ่อแม่ยังไม่ได้พบหน้าน้องสาวว่า ระบบเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังของเรือนจำจังหวัดนราธิวาสมีระเบียบหลายอย่าง การลงทะเบียนก็มากขั้นตอน และเมื่อทำการจองคิวแล้วก็ต้องรอคิวเป็นเวลานาน ซึ่งครอบครัวของกัลยาก็ยังไม่รู้ว่าจะได้คิวเยี่ยมเมื่อไหร่เหมือนกัน

ผู้ต้องขังแต่ละแดนมีวันให้ญาติเข้าเยี่ยมทั้งช่องทางออนไลน์และที่เรือนจำ สัปดาห์ละ 1 วันเท่านั้น ซึ่งแดน 8 ซึ่งเป็นแดนนักโทษหญิงเพียงแดนเดียวของเรือนจำ วันเยี่ยมญาติถูกกำหนดให้เป็น “ทุกวันพฤหัสบดี” ของแต่ละสัปดาห์ การรอคิวเข้าเยี่ยมจึงใช้เวลานานพอสมควร เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ต้องขังมากกว่า 300 คน

สำหรับคดีความของกัลยาที่ทำให้เธอถูกคุมขังอยู่ในตอนนี้นั้น ทนายความเตรียมจะยื่นฎีกาคำพิพากษาเป็นลำดับต่อไป รวมถึงยังจะยื่นขอประกันตัวอีกครั้ง

โทษจำคุก 6 ปีที่ศาลทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษานั้นจึงอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่หากว่าศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลชั้นสูงสุดในกระบวนการยุติธรรมยังคงพิพากษายืนจำคุกโดยไม่รอลงอาญาแล้ว กัลยาก็จะต้องถูกคุมขังไปจนครบโทษจำคุกตามคำพิพากษา

สำหรับการย้ายสถานที่คุมขังไปยังเรือนจำแห่งอื่นนั้น จะสามารถยื่นคำร้องขอย้ายได้ก็ต่อเมื่อคดีความถึงที่สุดแล้วและถูกคุมขังมาเป็นเวลา 1 ปีขึ้นไป เมื่อเข้าเงื่อนไขทั้งสองข้อดังกล่าวก็จะสามารถขอย้ายไปยังเรือนจำใกล้บ้านได้

X