เปิดคำร้องยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง 15 คน หลังถูกคุมขังข้ามปี ก่อนยื่นร่าง #นิรโทษกรรมประชาชน เข้าสภา

ในวันที่ 9 ก.พ. 2567 ณ ศาลอาญา รัชดาฯ, ศาลอาญากรุงเทพใต้, ศาลจังหวัดเชียงราย และศาลจังหวัดนราธิวาส  ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยนายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ จะยื่นประกันตัวผู้ต้องขังในคดีการเมือง รวม 15 คน ซึ่งถูกคุมขังในระหว่างต่อสู้คดี แบ่งเป็นผู้ต้องขังจากคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 จำนวน 7 คน ได้แก่ ทีปกร, วีรภาพ, อุดม, กัลยา, “แม็กกี้”, จิรวัฒน์ และ มงคล รวมถึงผู้ต้องขังในคดีอื่น ๆ ที่มีมูลเหตุจากการเมือง จำนวน 8 คน ได้แก่ ถิรนัย, ชัยพร, ประวิตร, คเชนทร์, ขจรศักดิ์, ไพฑูรย์, สุขสันต์ และ “บุ๊ค” ธนายุทธ

ในวันที่เรือนจำมีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองอย่างน้อย 37 คน โดยเป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีที่รอสิทธิในการประกันตัวอยู่ถึง 23 คน โดยในจำนวนนี้พวกเขาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอย่างต่อเนื่องมามากกว่า 100 วันแล้วถึง 20 คน 

การยื่นประกันตัวผู้ต้องขังครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางการเปิดลงชื่อเสนอกฎหมาย “นิรโทษกรรมประชาชน” เป็นความพยายามให้ศาลทบทวนสิทธิของจำเลยในคดีอาญา ที่ควรได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด และได้รับการทบทวนคำพิพากษา-การกำหนดโทษต่าง ๆ จากศาลที่สูงขึ้นไป 

สำหรับแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชน เป็นการเคลื่อนไหวของเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เพื่อเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เพื่อที่จะช่วยลดความตึงเครียดและบรรยากาศการเผชิญหน้าทางการเมือง ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งรวมถึงคดีตามมาตรา 112 ที่นับเป็นคดีการเมืองสำคัญตลอดเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา

นอกจากผู้ต้องขังทั้ง 15 คนข้างต้นแล้ว ยังมีผู้ต้องขังคดีการเมืองเท่าที่ทราบข้อมูลอีกอย่างน้อย 22 คนที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ โดยเป็นผู้ต้องขังที่คดีสิ้นสุดแล้ว 14 คน

ยื่นขอประกันตัว ‘7 จำเลย’ ผู้ถูกคุมขังด้วยคดีมาตรา 112

แม็กกี้” (สงวนชื่อสกุล) ประชาชนอายุ 26 ปี ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีมาตรา 112 มาตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2566 หลังถูกตำรวจสันติบาลจับกุมและสอบสวนโดยไม่ได้รับการแจ้งสิทธิตามกฎหมาย พร้อมทั้งโดนยึดโทรศัพท์ และไม่มีทนายความอยู่ร่วมระหว่างการสอบสวน

เธอถูกกล่าวหาว่า ทวีตข้อความในทวิตเตอร์จำนวน 18 ข้อความ ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนตุลาคม 2566

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2566 ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวแม็กกี้เป็นครั้งที่สอง หลังเธอขอประกันตัวเองในตอนแรกที่ถูกฝากขัง แต่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง” ทำให้แม็กกี้ถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนเรื่อยมา

15 ม.ค. 2567 เป็นวันที่แม็กกี้ถูกฝากขังครบ 84 วัน และอัยการได้ยื่นฟ้องเธอต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ แม็กกี้ยืนยันให้การปฏิเสธ ก่อนศาลกำหนดนัดตรวจพยานฯ ในวันที่ 19 ก.พ. 2567

แม็กกี้เผยถึงความกังวลในการโดนคดี ม.112 ว่า เธอกังวลเรื่องพ่อแม่ เนื่องจากกลัวจะกระทบถึงครอบครัว โดยพื้นเพแม็กกี้เป็นคน จ.ยโสธร พาตัวเองเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 18 ปี  โดยทำงานร้านอาหาร ต่อมาได้มีสัญญาจ้างเป็นพนักงานในโรงแรม แต่พอโควิดระบาดเธอก็ถูกเลิกจ้าง และต้องหางานทำเป็นฟรีแลนซ์ตามห้างสรรพสินค้า โดยพยายามส่งเงินกลับที่บ้านไปด้วย

คำร้องยื่นประกันตัวของแม็กกี้ ระบุว่า จำเลยเป็นเพียงบุคคลธรรมดา มีภูมิลำเนาเป็นหลักแหล่งแน่นอน ไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพลหรือมีความประพฤติชั่วร้ายแรง อีกทั้งจำเลยไม่เคยต้องโทษในคดีอาญามาก่อน ก่อนที่จำเลยจะถูกคุมขังในคดีนี้ จำเลยประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างรายวัน โดยจะมีรายได้ประมาณวันละ 500 บาทในวันที่มีงาน และจำเลยยังต้องส่งเงินช่วยเหลือพ่อแม่อีกเดือนละประมาณ 2,000-3,000 บาทต่อเดือน 

หากศาลมีความจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขใด ๆ เช่น การติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือกำไล EM จำเลยก็ยินดีปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ฉะนั้นจึงไม่ปรากฏเหตุอื่นใดตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย ขอศาลได้โปรดใช้ดุลยพินิจพิจารณาคำร้องโดยยึดหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้

จนถึงวันนี้ (9 ก.พ.) แม็กกี้ถูกคุมขังมาแล้ว 111 วัน

คดีของ “อุดม” คนงานโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากจังหวัดปราจีนบุรีวัย 36 ปี และ “กัลยา” (นามสมมติ) พนักงานจากกรุงเทพฯ วัย 28 ปี เป็นคดี ม.112 ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ โดยมี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก ซึ่งทั้งสองไม่ได้มีภูมิลำเนาในพื้นที่ภาคใต้ จึงต้องเดินทางไปต่อสู้คดีไกลถึงจังหวัดนราธิวาส สร้างภาระให้กับทั้งคู่เป็นอย่างมาก

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาว่าอุดมมีความผิดใน 2 กรรม จากการโพสต์และแชร์เฟซบุ๊กรวม 7 ข้อความ ลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี ก่อนลดเหลือ 4 ปี เพราะให้การเป็นประโยชน์ ต่อมา 30 ส.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และอุดมก็ไม่ได้รับการประกันตัวมาตั้งแต่นั้น โดยเขาได้ยื่นฎีกาคำพิพากษาไปแล้ว และศาลรับรองให้ฎีกา

อ่านเรื่องราวของอุดม

จากปราจีนบุรีถึงนราธิวาส: การเดินทางที่อาจไม่ได้หวนกลับของ “อุดม” ผู้ถูกฟ้องคดี ม.112

จากนราธิวาสถึงปราจีนบุรี: การเดินทางหวนกลับเพียงลำพัง เมื่อ ‘อุดม’ ถูกคุมขังคดี ม.112

ส่วนกัลยา เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาว่าเธอมีความผิดตามตาม จากการแชร์และโพสต์เฟซบุ๊ก 2 กระทง ลงโทษกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี ก่อนในวันที่ 20 ต.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และไม่ให้ประกันตัวในชั้นฎีกาเช่นเดียวกับอุดม ทำให้ทั้งคู่ถูกขังระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นฎีกาอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสมาตั้งแต่นั้น 

อ่านเรื่องราวของกัลยา :

ชีวิตพลัดถิ่น ในวันที่ถูกขัง ‘ไกลบ้าน’ ทำความรู้จัก เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ในวันที่มีคนถูกขังด้วย ม.112 ถึง 2 คนแล้ว

ชีวิต ‘กัลยา’ ในวันที่ถูกขังไกลบ้านด้วย ม.112 สองศาลยืนจำคุก 6 ปี อยู่ที่เรือนจำนราธิวาส ไร้แววได้ประกัน แม้ป่วยลิ่มเลือดอุดตัน ไม่เคยหลบหนี

ในครั้งนี้ ทนายได้ยื่นขอประกันตัวอุดมและกัลยา เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2567 โดยคำร้องยื่นประกันตัวของทั้งคู่มีใจความสำคัญสรุปได้ดังนี้ 

ประการที่ 1 จำเลยประสงค์จะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน โดยจำเลยไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษาและยื่นฎีกาต่อศาลไว้แล้ว อีกทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ที่ระบุว่า การจะลงโทษบุคคลใด ต้องฟังจากพยานหลักฐานโดยปราศจากข้อสงสัย ฉะนั้นแล้ว ตราบเท่าที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง จำเลยจึงเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด

ประการที่ 2 นับตั้งแต่การถูกดำเนินคดีในชั้นจับกุมสอบสวนเรื่อยมาจนถึงวันที่มีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ยืนตามศาลชั้นต้น จำเลยได้ให้ความร่วมมือในการพิจารณาคดีตลอดมา ซึ่งภายหลังได้รับอนุญาตจากศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา ก็ไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่แสดงว่าจำเลยจะหลบหนี หรือกระทำการใดอันเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไข โดยจำเลยยินยอมขอติดอุปกรณ์ติดตามตัว และยินยอมให้ศาลกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยมาแสดงตัวต่อศาลผ่านจอภาพทุก ๆ 1 เดือน ฉะนั้นจึงไม่ปรากฎเหตุอื่นใดตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

สำหรับกัลยา ทนายความได้ระบุเพิ่มเติมว่า จำเลยป่วยเป็นโรคลิ่มเลือดอุดตันบริเวณขาโดยลักษณะของอาการหากกำเริบอย่างรุนแรงจะทำให้แขนและขาของขยับไม่ได้ ซึ่งจำเลยได้เข้ารับการรักษาผ่านการกินยาสลายลิ่มเลือดและติดตามอาการกับแพทย์ประจำตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อถูกคุมขังทำให้ไม่ได้รับการรักษาอาการดังกล่าว เนื่องจากทางเรือนจำได้ส่งตัวไปโรงพยาบาลในพื้นที่ซึ่งได้รับยารักษาที่ต่างจากที่จำเลยเคยได้รับเป็นประจำ การคุมขังไว้ในระหว่างฎีกาย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของจำเลย เพราะการเปลี่ยนยารักษาอาจทำให้อาการกำเริบขั้นรุนแรง

นอกจากนี้ ในส่วนคำร้องของอุดม ยังระบุว่า จำเลยเป็นเสาหลักของครอบครัว และมีภาระรับผิดชอบครอบครัวร่วมกับภรรยา ทั้งในส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาของบุตรสาว และภาระหนี้สินเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและรถที่ใช้สำหรับการเดินทาง หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวย่อมทำให้จำเลยได้มีโอกาสกลับไปทำงานหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว และจัดการภาระหนี้สินดังกล่าว 

จนถึงวันนี้ (9 ก.พ.) อุดมถูกคุมขังมาแล้ว 163 วัน ส่วนกัลยาถูกคุมขังมาแล้ว 112 วัน

จิรวัฒน์ (สงวนนามสกุล) พ่อค้าออนไลน์วัย 32 ปี เป็นผู้ต้องขังทางการเมืองในคดี ม.112 ที่เพิ่งถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 ภายหลังศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาจำคุก 9 ปี ก่อนลดเหลือ 6 ปี จากการถูกกล่าวหาว่าแชร์โพสต์เฟซบุ๊กทั้งหมด 3 โพสต์เมื่อปี 2564 และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมา แม้จะยื่นขอประกันตัวไป 3 ครั้งแล้ว โดยในการยื่นประกันตัวครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้อง ระบุคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง

ในครั้งนี้ ทนายจึงได้ยื่นขอประกันตัวจิรวัฒน์เป็นครั้งที่ 4 โดยคำร้องมีใจความสำคัญสรุปได้ดังนี้ 

ประการที่ 1 นับตั้งแต่ถูกแจ้งความดำเนินคดีในชั้นสอบสวนเรื่อยมาจนถึงวันที่มีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยได้ให้ความร่วมมือในการพิจารณาคดีตลอดมา โดยมาศาลตามกำหนดนัดทุกครั้ง ไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่แสดงว่าจะหลบหนี หรือกระทำการใดอันเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขแห่งการปล่อยตัวชั่วคราว โดยจำเลยยินยอมขอติดอุปกรณ์ติดตามตัว และยินยอมให้ศาลกำหนดเงื่อนไขให้มาแสดงตัวต่อศาลผ่านจอภาพทุก ๆ 1 เดือน ฉะนั้นจึงไม่ปรากฏเหตุอื่นใดตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

ประการที่ 2 ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุก 6 ปี จำเลยยังประสงค์ใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว แต่กลับไม่ได้รับอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิที่ควรจะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จะปฏิบัติต่อจำเลยเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้

ประการที่ 3 ก่อนถูกคุมขังจำเลยมีภาระหน้าที่เลี้ยงบุตรที่มีอายุ 5 ปี รวมทั้งบิดา-มารดาของจำเลย ซึ่งจำเลยได้นำรายได้รายเดือนไปเลี้ยงดูครอบครัว ทั้งการจ่ายค่าเล่าเรียนบุตร และค่ารักษาพยาบาลแก่บิดามารดา นอกจากนี้ จำเลยยังมีอาการป่วยเป็นโรคหูอื้อ และได้ทำการรักษาต่อเนื่องเรื่อยมา การที่จำเลยถูกคุมขังย่อมกระทบต่อการรักษา เพราะหากมีการป่วยกำเริบหรือไม่ได้รับยารักษาตามประวัติการรักษาย่อมจะก่อให้เกิดอันตรายได้

ปัจจุบันจิรวัฒน์ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำเป็นระยะเวลากว่า 65 วันแล้ว

“กิ๊ฟ” ทีปกร (สงวนนามสกุล) หมอนวดอิสระวัย 38 ปี ถูกคุมขังมาตั้งแต่ 19 มิ.ย. 2566 หรือกว่า 236 วัน แล้ว หลังศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก 3 ปี ในคดีมาตรา 112 เหตุจากการโพสต์เฟซบุ๊กและแชร์คลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การใช้ภาษีของสถาบันกษัตริย์ หลังจากนั้นศาลได้ยกคำร้องขอประกันตัว “กิ๊ฟ” มาแล้ว 4 ครั้ง

คำร้องการยื่นขอประกันตัว “กิ๊ฟ” ในวันนี้ (9 ก.พ.​ 2566) มีใจความสำคัญสรุปได้ดังนี้

ประการที่ 1 จำเลยได้ให้การปฏิเสธมาตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาของศาล เนื่องจากจำเลยไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกฟ้อง ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา แต่จำเลยก็มิได้เห็นพ้องตามคำพิพากษาจึงใช้สิทธิอุทธรณ์ เพื่อต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ เพราะจำเลยเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและเชื่อมั่นว่าศาลอุทธรณ์จะอำนวยความยุติธรรมให้คู่ความในคดีทุกฝ่าย รวมถึงจำเลย

ประการที่ 2 จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี กล่าวคือในคดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาพบและตรวจค้นจำเลยที่บ้านพักโดยมิได้จับกุม และต่อมาก็นัดหมายให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา จำเลยก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เห็นได้ว่าพนักงานสอบสวนก็มิได้ยื่นคำร้องขอฝากขังจำเลยต่อศาล ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลย จำเลยจึงขอประกันตัวต่อศาลและศาลก็อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างพิจารณามาตลอด ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ถูกดำเนินคดี จำเลยมาตามนัดหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และศาลทุกนัด

ประการที่ 3 ก่อนถูกดำเนินคดีนี้ จำเลยสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีและมีอาชีพรับจ้างตัดผม จำเลยเป็นเสาหลักของครอบครัว มีหน้าที่ส่งเสียบิดามารดาในวัยชรา ซึ่งไม่ได้ประกอบอาชีพใด จำเลยมีหน้าที่ต้องพาบิดาและมารดาที่มีโรคประจำตัวอยู่ไปพบแพทย์ตามนัดเป็นประจำ

นอกจากนี้ จำเลยยังมีหน้าที่ส่งเสียเลี้ยงดูลูกชายของเขาวัย 8 ปี ซึ่งเป็นผู้มีความพิการมาตั้งแต่เกิด และมีอาการสมาธิสั้น ความบกพร่องในการควบคุมอารมณ์ และปัญหาการเข้าสั่งคม ต้องรับประทานยาและรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หากไม่ได้รับการประกันตัว ครอบครัวของจำเลยจะได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง ประการสำคัญที่สุดคือลูกชายไม่มีผู้ปกครองดูแล ซึ่งในช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดในการเข้ารับการรักษา

ประการที่ 4 จำเลยเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพลใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดอุปสรรคหรือความเสียหายในการดำเนินคดี อีกทั้งจำเลยถูกกล่าวหาในข้อหานี้เป็นครั้งแรก การให้ประกันตัวนั้นเป็นการให้โอกาสให้จำเลยได้ต่อสู้คดีได้ยังเต็มที่ และยังเป็นการให้จำเลยได้กลับไปดูแลครอบครัวและลูกชาย เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นภาระของสังคมและประเทศชาติในอนาคต

คำร้องขอประกันตัว “ทีปกร” ในระหว่างชั้นอุทธรณ์ ยังระบุอีกว่าจำเลยยินยอมติดกำไล EM และยอมรับเงื่อนไขของศาลทุกประการ โดยอาจตั้งผู้กำกับดูแลจำเลยก็ได้

“อารีฟ” – วีรภาพ วงษ์สมาน นักกิจกรรมวัย 20 ปี ซึ่งถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 2566 หรือกว่า 135 วัน จากคดีเขียนข้อความเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ใต้ทางด่วนดินแดง หลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา โดยปีที่ผ่านมา ศาลได้ยกคำร้องการขอประกันตัวอารีฟไปแล้วถึง 4 ครั้ง

การยื่นขอประกันตัว “อารีฟ”​ ในวันนี้ (9 ก.พ.​ 2567) มีใจความสำคัญสรุปได้ดังนี้

ประการที่ 1 จำเลยมีความประสงค์อุทธรณ์คำพิพากษาเนื่องจากคดีของจำเลยสามารถต่อสู้ได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย การใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาย่อมถือว่าจำเลยไม่ใช่ผู้ต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดแต่อย่างใด และมีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวหรือปฏิบัติอย่างผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ประการที่ 2  ในคดีนี้ ศาลเคยมีคำสั่งให้ประกันตัวจำเลยในชั้นสอบสวนตลอดจนชั้นพิจารณาคดี และหลังจากที่จำเลยได้รับการประกันตัว ไม่เคยกระทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนด เดินทางมาพบอัยการและรายงานตัวต่อศาลตามกำหนดทุกครั้ง อีกทั้งยังไม่เคยถูกเพิกถอนการประกันตัวในคดีนี้

ประการที่ 3 จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง สามารถติดตามได้ง่าย นอกจากนั้นเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ไม่ใช่ผู้มีอิทธิพลที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน การปล่อยตัวชั่วคราวจึงไม่เป็นอุปสรรคและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนหรือการดำเนินคดี การคุมขังจำเลยเป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุและเกินความจำเป็น อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะจำเลยมีภาระหน้าที่ในการดูแลมารดา ภรรยา และบุตรที่มีอายุเพียง 1 ปีเศษ 

อีกทั้งก่อนหน้าที่จะถูกคุมขัง จำเลยประกอบอาชีพเป็นพนักงานในร้านอาหาร โดยช่วยกันหาเลี้ยงครอบครัวกับภรรยาของเขาที่เป็นลูกจ้างรายวันที่โรงพยาบาล เพื่อที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายรายวัน ค่าเช่าห้อง ผ่อนชำระค่ารถจักรยานยนต์ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรวัย 1 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ต้องการความดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นยังต้องส่งเสียเลี้ยงดูบิดามารดาที่อยู่ในวัยชราด้วย

คำร้องขอประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ของ “อารีฟ” ยังระบุอีกว่า จำเลยยินยอมให้ติดกำไล EM และจำกัดเวลาเข้าออกเคหสถาน และยินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขใด ๆ ที่ศาลกำหนด

ข้อความที่ “อารีฟ” ถูกสั่งฟ้องและพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา

“บัสบาส” – มงคล ถิระโคตร ผู้ต้องขังทางการเมืองคดีมาตรา 112 อีกรายที่ถูกพิพากษาให้จำคุกสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาจำคุก “บัสบาส” สูงถึง 50 ปี เหตุจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 25 โพสต์ และศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว จึงทำให้ในบัสบาสต้องถูกส่งตัวไปคุมขังเรือนจำกลางเชียงรายในวันดังกล่าวทันที และปัจจุบันถูกคุมขังมาแล้ว 23​ วัน 

การยื่นขอประกันตัว “บัสบาส” ในวันนี้ (9 ก.พ. 2567) มีใจความสำคัญสรุปได้ดังนี้

ประการที่ 1 จำเลยต้องการที่จะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธ์ของตน และเชื่อมั่นว่าศาลจะอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่ายในคดี เพื่อให้โอกาสจำเลยต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่

ประการที่ 2 ตลอดที่ผ่านมาจำเลยให้ความร่วมมือกับพนักงานตำรวจ อัยการ และศาลเป็นอย่างดีในทุกขั้นตอน ไม่เคยปรากฏว่าจำเลยจะหลบหนี โดยจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาตลอดตั้งแต่ชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ รวมถึงเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกรวม 28 ปี แล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ให้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ และจำเลยก็เดินทางไปตามนัด

ประการที่ 3 จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ปัจจุบันอาศัยอยู่กับบิดาและมารดา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสามารถติดตามตัวได้ไม่ยาก นอกจากนั้นจำเลยประกอบอาชีพขายเสื้อผ้าออนไลน์เป็นการหารายได้ให้ตนเองและครอบครัว นอกจากนั้นแล้วบิดาและมารดามีอายุมาก ไม่มีรายได้ประจำ มีเพียงเบี้ยชรารายเดือน และยังมีโรคประจำตัวซึ่งจำเลยต้องดูแลบิดามารดาอย่างใกล้ชิด

“บัสบาส” มงคล ถิระโคตร ถูกพิพากษาจำคุกคดีมาตรา 112 รวม 50 ปี

ยื่นขอประกันตัว ‘8 จำเลย’ ผู้ถูกคุมขังด้วยคดีอื่น ๆ ที่มีมูลเหตุจากการเมือง

“ธี” ถิรนัย และ “มาย” ชัยพร สองนักกิจกรรมและการ์ดผู้ชุมนุมอิสระ วัย 22 และ 23 ปี พวกเขาถูกคุมขังยาวนานที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา ถูกกล่าวหาในคดีครอบครองวัตถุระเบิดปิงปอง ซึ่งถูกค้นพบก่อนการชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64 โดยศาลไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมาจากการยื่นประกันตัวรวม 6 ครั้ง หลังศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี ก่อนลดเหลือ 3 ปี เพราะให้การรับสารภาพ

คำร้องการยื่นประกันตัวในวันนี้ (9 ก.พ.​ 2567) สามารถสรุปใจความสำคัญได้ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 แม้ว่าจำเลยทั้งสองคนจะให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาคดี ต่อมาศาลชั้นต้นได้พิพากษาจำคุก 3 ปี โดยไม่รอการลงโทษ แต่ทั้งสองต้องการอุทธรณ์คำพิพากษา และก็ได้ยื่นอุทธรณ์ไปแล้ว จึงถือได้ว่าไม่ได้เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด

ประเด็นที่ 2  ในชั้นสอบสวนนั้น ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ประกันตัวแก่จำเลยทั้งสองคน และทั้งคู่ก็ได้มารายงานตัวตามนัด โดยในคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุคัดค้านการขอประกันตัว และศาลก็ได้อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นพิจารณา ระหว่างที่ได้ประกันตัว ทั้งสองคนไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไขใด รวมถึงไม่ได้กระทำการใดในลักษณะเดียวกันกับคดีนี้

ประเด็นที่ 3 จำเลยทั้งสองคนมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง สามารถติดตามตัวได้ง่าย โดยก่อนหน้าที่ “ถิรนัย” จะถูกคุมขัง เขาประกอบอาชีพช่วยเหลือย่าจำหน่ายอาหารทะเลซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว เพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ย่าซึ่งมีอายุมากแล้ว ทั้งยังมีโรคประจำตัวที่ต้องทานยาสม่ำเสมอ การที่เขาถูกคุมขังอยู่นั้นส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการเลี้ยงชีพ และการดูแลเพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ของครอบครัว

ส่วน “ชัยพร” ก่อนที่เขาจะถูกคุมขังนั้น มีรายได้ประจำจากการเป็นวิศวกรพร้อมกับหารายได้จากทางอื่น  เขาเป็นเสาหลักในการดูแลครอบครัว ซึ่งประกอบไปด้วย บิดา มารดา และพี่ชาย โดยบิดาของเขากำลังป่วยอย่างรุนแรง ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ และจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ประกอบกับเขายังมีภาระค่าใช้จ่ายผ่อนรถจักรยานยนต์ แต่เมื่อเขาถูกคุมขังภาระนี้จึงตกไปอยู่ที่มารดา ดังนั้นการที่เขาถูกคุมขังอยู่นั้นส่งผลกระทบต่อครอบครัว เกิดภาระหนี้สินเพิ่ม และกระทบต่อการดูแลบิดาที่กำลังล้มป่วยอย่างรุนแรง

คำร้องการขอประกันตัวในครั้งนี้ยังระบุว่าจำเลยทั้งสองยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล รวมถึงยอมให้ติดกำไล EM เพื่อติดตามตัว และยินดีที่จะมารายงานตัวต่อศาลทุกเดือนอีกด้วย

“บาส” ประวิตร (สงวนนามสกุล) ประชาชนวัย 21 ปี เป็นอีกคนหนึ่งที่เป็นหัวหน้าครอบครัวและมีลูกเล็กวัย 4 เดือน เขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 214 ​วัน  หลังจากศาลพิพากษาให้จำคุก 6 ปี 4 เดือน กรณีร่วมกันวางเพลิงป้อมตำรวจจราจร บริเวณใต้ทางด่วนดินแดง ภายหลังการชุมนุม #ม็อบ10สิงหา64 ก่อนหน้านั้น (ปี 2566) มีการยื่นขอประกันตัวมาแล้วกว่า 3 ครั้ง แต่เขาก็ยังไม่เคยได้รับสิทธิในการประกันตัว

สำหรับคำร้องการยื่นประกันตัวในครั้งนี้ (9 ก.พ.​ 2567) มีใจความสำคัญสรุปได้ดังนี้

ประการที่ 1 ในคดีนี้ศาลชั้นต้นเคยอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในระหว่างชั้นสอบสวนตลอดชั้นพิจารณาแล้ว และจำเลยก็มารายงานตัวต่อศาลทุกนัด ไม่เคยไปกระทำการใดตามที่ถูกกล่าวหาอีก และจำเลยยังไม่เคยกระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว

ประการที่ 2 จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง สามารถติดตามตัวได้ง่าย อีกทั้งเป็นเสาหลักของครอบครัว โดยประกอบอาชีพเป็นพนักงานโรงงาน และยังมีบุตรอายุ 1 ปีเศษ การที่จำเลยถูกคุมขังทำให้ภรรยาจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรตลอดเวลา จึงไม่สามารถไปทำงานเพื่อหารายได้ ทำให้จำเลยและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง

ถ้าหากได้รับการประกันตัวในครั้งนี้ จำเลยยินยอมให้ติดกำไล EM รวมถึงเงื่อนไขอื่นที่ศาลเห็นสมควร ซึ่งจำเลยยินดีที่จะปฏิบัติคำสั่งของศาลทุกประการ

“คเชนทร์” (สงวนนามสกุล) และ “ขจรศักดิ์” (สงวนนามสกุล) วัย 21 และ 20 ปี สองสมาชิกกลุ่มทะลุแก๊ซถูกคุมขังหลังจากศาลอาญาพิพากษาจำคุก 10 ปี 6 เดือน และ 11 ปี 6 เดือน ตามลำดับ หลังจากถูกกล่าวหาว่าปาระเบิดปิงปองและระเบิดขวดใส่อาคาร สน.พญาไท และวางเพลิงป้อมจราจรที่แยกพญาไท จากกรณีเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ30กันยา64 โดยเมื่อปีที่ผ่านมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ทำให้ทั้งคู่ถูกคุมขังมาแล้วกว่า 179​ วัน

สำหรับคำร้องการยื่นประกันตัวในวันนี้ (9 ก.พ. 2567) มีใจความสำคัญสรุปได้ดังนี้

ประการที่ 1 จำเลยทั้งสองคนได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธมาตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาคดี นั่นเพราะว่าจำเลยเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และเชื่อมั่นว่าศาลจะอำนวยความยุติธรรมให้คู่ความในคดีทุกฝ่าย รวมถึงจำเลยด้วย

ประการที่ 2 ทั้งสองคนมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และในคดีนี้ศาลชั้นต้นได้ให้ประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดี หลังจากนั้นทั้งสองก็มารายงานตัวต่อศาลทุกนัด ไม่หลบหนี อีกทั้งพนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการประกันตัวของจำเลยทั้งสอง 

ประการที่ 3 จำเลยทั้งสองมิได้เป็นบุคคลที่มีลักษณะเป็นภัยอันตรายต่อบุคคลอื่น และไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพล  ก่อนหน้านี้ “คเชนทร์” มีรายได้จากการประกอบอาชีพในบริษัทขนส่งสินค้า และต้องดูแลบิดาที่มีโรคประจำตัว ซึ่งเขาจะต้องพาบิดาไปพบแพทย์เป็นประจำทุกเดือน นอกจากนั้น เขายังต้องส่งเสียเลี้ยงดูลุงและป้าที่มีอาการป่วยอยู่ด้วย 

ด้าน “ขจรศักดิ์” ก่อนหน้านี้เขามีรายได้จากการประกอบอาชีพเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย และต่อมาก็เปลี่ยนอาชีพมาขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รายได้ดังกล่าวก็นำมาเพื่อดูแลบุตรที่มีอายุ 2 ปีเศษ รวมถึงดูแลบิดามารดาที่มีอายุมากแล้ว

ด้วยเหตุดังกล่าว จำเลยทั้งสองคนจึงขอยื่นประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ พร้อมทั้งยินยอมให้ศาลติดกำไล EM อีกด้วย

“บุ๊ค” ธนายุทธ ณ อยุธยา แร็ปเปอร์คลองเตย วัย 22 ปี เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยเขาถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย. 2566 หลังศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าครอบครองวัตถุระเบิด หลังเจ้าหน้าที่ตรวจพบประทัดลูกบอล, ไข่ก๊อง, พลุควัน และระเบิดควัน ที่บ้านพัก เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2565 โดยเขาได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาไปแล้วเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2566 และแม้จะยื่นขอประกันตัวกว่า 4 ครั้ง แต่ศาลอุทธรณ์ยังคงไม่อนุญาตให้ประกันตัวเรื่อยมา

สำหรับคำร้องยื่นประกันตัวของ “บุ๊ค” มีใจความสำคัญสรุปได้ดังนี้ 

ประการที่ 1 จำเลยยังประสงค์ที่จะได้รับสิทธิในการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ เพื่อต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด นับตั้งแต่การถูกดำเนินคดีในชั้นจับกุมสอบสวนเรื่อยมาจนถึงวันที่มีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น รวมระยะเวลากว่า 2 ปี จำเลยได้ให้ความร่วมมือในการพิจารณาคดีตลอดมา 

ภายหลังจำเลยได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ก็ไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่แสดงว่าจำเลยจะหลบหนี หรือกระทำการใดอันเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขแห่งการปล่อยตัวชั่วคราว และหากศาลมีความจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขใด ๆ จำเลยก็ยินดีปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ฉะนั้นจึงไม่ปรากฎเหตุอื่นใดตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

ประการที่ 3 ปัจจุบันจำเลยถูกคุมขังในเรือนจำมาแล้วกว่า 140 วัน ตลอดระยะเวลาดังกล่าว ได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังไม่สามารถดูแลบุพการี หรือยาย ซึ่งเป็นผู้สูงวัยและทุพพลภาพได้ ทำให้บิดาและยายของจำเลยนั้นต้องทนทุกข์ทางใจ ส่งผลให้สุขภาพของบิดาและยายนั้นย่ำแย่ลงไปพร้อมกัน

จนถึงปัจจุบัน (9 ก.พ. 2567) บุ๊คถูกคุมขังมาแล้วกว่า 140 วัน

กรณีของ “ทูน” ไพฑูรย์ อายุ 24 ปี และ “ดั๊ก” สุขสันต์ อายุ 23 ปี นับเป็นผู้ต้องขังคดีระเบิดที่ต้องโทษจำคุกมากที่สุดในปี 2566 โดยทั้งสองถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันทำและมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง และใช้วัตถุระเบิดโยนใส่เจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บ ในการชุมนุม #ม็อบทะลุแก๊ส ที่หน้าบริเวณดุริยางค์ทหารบก เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564 

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 ศาลอาญาพิพากษาว่าไพฑูรย์มีความผิดในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ตัดสินจำคุก 33 ปี 12 เดือน ส่วนสุขสันต์มีความผิดฐานสนับสนุนการฆ่าเจ้าพนักงาน จำคุก 22 ปี 2 เดือน 20 วัน ภายหลังศาลมีคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2566 ระบุ “ข้อหามีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี ให้ยกคำร้อง” 

ส่วนข้อหาร่วมกันทำและมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2566 ศาลจังหวัดนนทบุรีตัดสินจำคุกไพฑูรย์ 6 ปี ก่อนลดโทษเหลือ 3 ปี แต่ยกฟ้องสุขสันต์ เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้เป็นผู้ร่วมกระทำความผิด สุขสันต์จึงไม่ได้รับโทษในคดีนี้ ส่วนไพฑูรย์เมื่อรวมโทษจำคุกนี้กับคดีที่ศาลอาญา ไพฑูรย์จะต้องรับโทษจำคุก รวม 36 ปี 12 เดือน หรือราว 37 ปี ทำให้สองถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรมเรื่อยมาเป็นระยะเวลาเกือบ 150 วันแล้ว

สำหรับคำร้องยื่นประกันตัวของทั้งสอง มีใจความสำคัญสรุปได้ดังนี้ 

ประการที่ 1 คดีของจำเลยมีหนทางที่จะต่อสู้คดีได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยจำเลยประสงค์จะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน อีกทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ที่ระบุว่า การจะลงโทษบุคคลใด ต้องฟังจากพยานหลักฐานโดยปราศจากข้อสงสัย ฉะนั้นแล้ว ตราบเท่าที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง จำเลยจึงเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด

ประการที่ 2 นับตั้งแต่การถูกดำเนินคดีในชั้นจับกุมสอบสวนเรื่อยมาจนถึงวันที่มีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น รวมระยะเวลากว่า 3 ปี จำเลยได้ให้ความร่วมมือในการพิจารณาคดีตลอดมา ซึ่งภายหลังได้รับอนุญาตจากศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว ก็ไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่แสดงว่าจำเลยจะหลบหนี หรือกระทำการใดอันเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขแห่งการปล่อยตัวชั่วคราว 

ประการที่ 3 ปัจจุบันจำเลยทั้งสองถูกคุมขังในเรือนจำมาแล้วกว่า 149 วัน และตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีในการดำเนินคดีนี้ จำเลยได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง จนทำให้ครอบครัวต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก จึงขอศาลมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาปล่อยตัว เพื่อให้จำเลยได้กลับไปทำหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัวและเพื่อต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดต่อไป

นอกจากการยื่นประกันตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมืองทั้ง 15 คนในวันนี้แล้ว ยังมีผู้ต้องขังที่ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีอีกอย่างน้อย 9​ คน ที่ยังไม่ได้ยื่นขอประกันตัวในวันนี้

โดยกลุ่มผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เป็นจำนวน 8 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, “เก็ท” โสภณ, “บุ้ง” เนติพร, “วุฒิ”, วารุณี, และเยาวชนจำนวน 2 คน ในส่วนของอานนท์และ “วุฒิ” จะมีการยื่นประกันตัวในสัปดาห์หน้า 

ส่วน “เก็ท” และ “วารุณี” ยังมีความประสงค์ไม่ขอยื่นประกันตัว เช่นเดียวกันกับ “บุ้ง”​ ที่ถูกถอนประกันในคดีมาตรา 112 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยวันนี้เป็นวันที่ 13 ที่เธอกำลังอดน้ำและอาหารเพื่อประท้วงต่อกระบวนการยุติธรรมและจะต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างทางการเมืองอีก ด้านเยาวชน 2 คนที่ถูกคุมขังในบ้านเมตตา จะมีการยื่นคำร้องเพื่อเปลี่ยนมาตรการพิเศษฯ​ ​ในอนาคตต่อไป

ส่วนอีกหนึ่งคนคือ “ชนะดล”  หนุ่มวัย 24 ปี ที่ถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี 1 เดือน หลังถูกตั้งข้อหามีวัตถุระเบิดในครอบครอง กรณีเข้าร่วมชุมนุมบริเวณดินแดง ซึ่งไม่ได้ยื่นประกันตัวในครั้งนี้เนื่องจากตัวชนะดลเองมีความประสงค์ที่จะยุติการต่อสู้ทางคดีแล้ว

สำหรับการยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทั้ง 15 คนในวันนี้ จำเป็นต้องจับตาคำสั่งของศาลต่อไป ซึ่งอาจเป็นศาลชั้นต้น หรือถูกส่งไปให้ศาลชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกาเพื่อพิจารณาคำร้อง และอาจใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน จึงจะทราบคำสั่งว่าศาล

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

รายชื่อผู้ต้องขังทางการเมือง 2567

สั่งไม่ขังได้ ทำไมไม่สั่ง ? : ความ 2 มาตรฐานในการสั่งปล่อยตัวชั่วคราวหลังศาลชั้นต้นพิพากษา

X