เผยกรณี “แม็กกี้” ถูกคุมขังคดี ม.112 มาแล้ว 19 วัน หลังถูกจับกุม-กล่าวหาทวีต 18 ข้อความ ยื่นประกันตัว ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังไม่อนุญาต

จากกรณีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่ามีผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังระหว่างสอบสวนในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยไม่มีทนายความให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ต่อมาทราบชื่อว่า “แม็กกี้” (สงวนชื่อสกุลจริง) ผู้มีความหลากหลายทางเพศวัย 26 ปี โดยมีพื้นเพเป็นคนจังหวัดยโสธร ประกอบอาชีพรับจ้างจัดของในห้างสรรพสินค้า

ย้อนทบทวนเหตุการณ์จับกุม สอบสวนโดยไม่มีทนายความ และไม่ได้ประกันตัว

“หนูโดนจับวันศุกร์ ที่ 20 ตุลาคม ที่อินเตอร์เชนจ์อโศก ตอนนั้นหนูไปเดินเล่น แล้วก็มีตำรวจนอกเครื่องแบบ 3 คน เดินมาหาหนู ถามว่าชื่อนี้ใช่ไหม หนูตอบว่าใช่ ทีนี้ตำรวจคนนึงก็อ่านหมาย คนนึงก็มาประกบหนู อีกคนก็ถ่ายคลิป” เธอเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังทนายความเข้าเยี่ยมในเรือนจำ

ชุดตำรวจที่จับกุมเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 20 ต.ค. 2566 พบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล นำโดย พ.ต.ท.แทน ไชยแสง และ พ.ต.ต.ชยกฤต จันหา ในการจับกุมตำรวจได้มีการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือไว้ด้วย ทำให้เธอไม่สามารถติดต่อใครได้ ต่อมามีการนำตัวไปยัง สน.ทองหล่อ เพื่อทำบันทึกจับกุม โดยมีการกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และ (5)

ในบันทึกจับกุมได้บรรยายโดยสรุปว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนติดตามผู้ใช้ทวิตเตอร์มีพฤติการณ์การกระทำความผิดด้วยการโพสต์ข้อความ รูปภาพบิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 และจากการตรวจสอบทางเทคนิคพบว่าเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวคือผู้ต้องหาในคดีนี้ เจ้าหน้าที่ยังมีการตรวจสอบสถานที่ที่บัญชีดังกล่าวโพสต์ เปรียบเทียบกับภาพจากกล้องวงจรปิดด้วย

จากนั้นจึงได้ลงพื้นที่สืบสวนสะกดรอยผู้ต้องหา โดยพบเห็นผู้ต้องหาเล่นโทรศัพท์ตลอดเวลา เชื่อว่าอาจมีไฟล์ภาพหรือภาพถ่าย รวมทั้งพยานหลักฐานอื่น ๆ เชื่อมโยงกับคดีนี้ จึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและขออนุมัติสืบสวนดำเนินคดี

ต่อมาในวันจับกุม เวลาประมาณ 13.00 น. เจ้าหน้าที่ได้สืบสวนพบผู้ต้องหานั่งเล่นโทรศัพท์อยู่ภายในอาคารอินเตอร์เชนจ์ จึงเข้าไปแสดงตัวพูดคุยสอบถาม ตำรวจอ้างว่าผู้ต้องหารับว่าเป็นผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวจริง แล้วยินยอมเปิดโทรศัพท์ให้ตรวจดู และยังพบว่ามีหมายจับของศาลแขวงปทุมวัน ลงวันที่ 4 ส.ค. 2564 ในคดีลักทรัพย์ (ตามที่เธอระบุว่าตำรวจมีการอ่านหมาย แต่ไม่ได้มีหมายจับในคดีมาตรา 112) จึงนำตัวมาที่ สน.ทองหล่อ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และดำเนินการทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ และได้ตรวจยึดโทรศัพท์ไว้เป็นของกลาง

บันทึกจับกุมอ้างว่าการจับกุมทำไปตามอำนาจหน้าที่ เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีเหตุที่จะออกหมายจับ แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับได้ รวมทั้งอ้างว่าผู้ถูกจับกุมยังทราบสิทธิ แต่ไม่ขอติดต่อญาติหรือผู้ที่ไว้วางใจด้วย 

ทั้งชุดจับกุมได้มีการบันทึกภาพและเสียงขณะจับกุม และได้แจ้งการจับกุมให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในขณะจับกุมตัว และพนักงานอัยการในขณะพนักงานสอบสวนรับตัวไว้ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 22 วรรคสอง

“ที่สน.ทองหล่อ เขาก็แจ้งข้อหาแล้วก็แจ้งสิทธิหนูนะคะ แต่พอเขายึดโทรศัพท์ไป หนูก็ติดต่อแม่ไม่ได้ สุดท้ายต้องยืมโทรศัพท์ตำรวจโทรหาแม่ เขามีเบอร์แม่หนูจากตอนที่ไปบ้านต่างจังหวัดน่ะค่ะ” เธอเล่าว่าเคยมีตำรวจไปตามหาที่บ้านในต่างจังหวัดมาก่อนแล้ว

“ในห้องสอบสวน มีกลุ่มอะไรไม่รู้ 5-6 คน เข้ามาถ่ายรูป ถ่ายคลิปวิดีโอ หนูไม่รู้ว่าพวกเขาเป็นใคร ถามตำรวจแล้วตำรวจก็ยิ้ม ๆ ไม่ตอบ แล้วเขาก็สอบปากคำหนู โดยที่ไม่มีทนายเข้าร่วมด้วย” แม็กกี้เล่าประกอบ

ต่อมาแม็กกี้ทราบว่าข้อกล่าวหา เกิดจากการทวีตข้อความในทวิตเตอร์จำนวน 18 ข้อความ ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนตุลาคม 2566 เธอระบุว่าตำรวจได้เอาข้อความข้อกล่าวหามาให้ดู และเธอก็ได้เซ็นรับรองไป เพราะความกลัว

แม็กกี้ถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.ทองหล่อ เป็นเวลาสองคืน จนในบ่ายวันอาทิตย์ คือวันที่ 22 ต.ค. 2566 ได้ถูกตำรวจนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในช่วงบ่าย โดยขอคัดค้านการประกันตัว อ้างเหตุว่าคดีมีอัตราโทษสูง 

ต่อมาศาลได้อนุญาตให้ฝากขัง และไม่อนุญาตให้ประกันตัวตามคำขอของผู้ต้องหา โดยยังไม่ได้มีการขอยื่นวางหลักทรัพย์ ระบุคำสั่งว่า “พิเคราะห์คำร้องขอฝากขัง พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ในชั้นนี้ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว” ทำให้แม็กกี้ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเรือนจำชายมาตั้งแต่วันนั้น

ภูมิหลังผู้ต้องหา และความกังวลถึงครอบครัว

แม็กกี้ ระบุว่าเธอเป็นคน จ.ยโสธร พื้นเพที่บ้านทำนาและสวนมันสำปะหลัง ตัวเองเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 18 ปี โดยทำงานร้านอาหาร และได้มีสัญญาจ้างเป็นพนักงานในโรงแรม แต่หลังเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เธอถูกเลิกจ้าง และต้องหางานทำเป็นฟรีแลนซ์ตามห้างสรรพสินค้า โดยพยายามส่งเงินกลับที่บ้านด้วย

“หนูกังวลเรื่องพ่อแม่ เรื่องครอบครัวค่ะ กลัวว่าจะกระทบถึงครอบครัว เพราะเราโดนคดี 112 ปกติถ้ามีเวลาหนูก็ไปม็อบอยู่แล้ว ตั้งแต่ปี 63-64 ตำรวจก็เคยบอกว่าเห็นหนูที่ม็อบด้วย หนูสนใจการเมืองอยู่แล้วค่ะ และหนูเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารงานของรัฐบาลด้วย” เธอเล่าถึงข้อกังวลของตน

ทนายความยื่นประกันตัวอีกครั้ง ศาลเห็นว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

หลังได้ทราบข้อมูลการถูกดำเนินคดีและถูกคุมขัง ในวันที่ 9 พ.ย. 2566 ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวแม็กกี้ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยขอวางหลักประกันจำนวน 100,000 บาท ที่ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์  

โดยยืนยันว่าผู้ต้องหาถูกจับกุมโดยมิได้ต่อสู้ขัดขวาง ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด อีกทั้ง ในชั้นจับกุมและสอบสวนเธอก็ไม่ได้รับการแจ้งสิทธิตามกฎหมาย และไม่มีทนายความอยู่ร่วมระหว่างการสอบสวน

เธอมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวย่อมไม่อาจก่ออุปสรรคต่อการดำเนินคดีนี้ อีกทั้งเธอก็ไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดมาก่อน จึงไม่อาจไปก่อภัยอันตรายอื่นได้

การคุมขังในระหว่างการสอบสวนทำให้เธอได้รับความลำบากเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในเรื่องความเป็นอยู่ทั่วไปเนื่องจากต้องถูกคุมขังรวมกับผู้ต้องขังชายโดยที่เธอมีเพศวิถีแตกต่างออกไปจากผู้ต้องขังชาย อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อครอบครัว เนื่องจากเธอต้องส่งเสียเลี้ยงดูพ่อและแม่ของเธอ

หลังจากทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวไป ในช่วงสายของวันเดียวกัน ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง”

ผลของคำสั่งทำให้เธอต้องถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป จนถึงวันนี้ (9 พ.ย. 2566) “แม็กกี้” ถูกคุมขังมาแล้ว 19 วัน

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-66

X