จับตาคำพิพากษา ม.112 กรณีทวีต 18 ข้อความของ “แม็กกี้” – ความกังวลและสิ่งที่อยากให้เรือนจำปรับปรุงเพื่อผู้ต้องขัง LGBTQ+

ในวันที่ 14 มี.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “แม็กกี้” (สงวนชื่อสกุล) ผู้มีความหลากหลายทางเพศวัย 26 ปี ผู้ถูกกล่าวหาในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าทวีตข้อความเกี่ยวกับสถาบันฯ ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนตุลาคม 2566 

สำหรับข้อความที่ถูกกล่าวหารวมจำนวน 18 ข้อความ แยกเป็นกระทงที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 14 ข้อความ และข้อความที่ถูกกล่าวหาเฉพาะข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) จำนวน 4 ข้อความ

ถูกจับกุม-ยึดโทรศัพท์-ติดต่อใครไม่ได้ และโดนสอบสวนโดยไม่มีทนายความอยู่ร่วมด้วย

คดีนี้ เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2566 แม็กกี้ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล ในชั้นจับกุมตำรวจได้ทำการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของแม็กกี้ไปด้วย ทำให้เธอไม่สามารถติดต่อใครได้ ต่อมาแม็กกี้ถูกนำตัวไปยัง สน.ทองหล่อ เพื่อทำบันทึกจับกุม โดยมีการกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยเธอถูกสอบปากคำโดยที่ไม่มีทนายความอยู่ร่วมด้วย

ต่อมาแม็กกี้ทราบว่า ข้อกล่าวหาเกิดจากการทวีตข้อความในทวิตเตอร์จำนวน 18 ข้อความในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนตุลาคม 2566 เธอระบุว่าตำรวจได้เอาข้อความข้อกล่าวหามาให้ดู และเธอก็ได้เซ็นรับรองไป เพราะความกลัว 

แม็กกี้ถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.ทองหล่อ เป็นเวลาสองคืน จนกระทั่งช่วงบ่ายของวันที่ 22 ต.ค. 2566 เธอถูกตำรวจนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ต่อมาศาลได้อนุญาตให้ฝากขังและไม่อนุญาตให้ประกันตัวตามคำขอของผู้ต้องหา ทำให้แม็กกี้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันนั้น

ย้อนอ่านคดีของแม็กกี้

โดนขังตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาฯ โดยไม่ได้รับการประกันตัว

15 ม.ค. 2567 เป็นวันที่แม็กกี้ถูกฝากขังครบ 84 วัน และอัยการได้ยื่นฟ้องเธอต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ 

คำฟ้องโดยสรุประบุว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะพระประมุขของชาติ อันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย ผู้ใดจะนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาล้อเลียนมิได้ คนไทยทุกคนต่างล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีความจงรักภักดีและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์  ทั้งนี้ รวมถึงการกล่าวถึงพระนามของพระมหากษัตริย์ต้องแสดงออกด้วยความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตามขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณีอันเป็นสิ่งที่คนไทยโดยทั่วไปพึงปฏิบัติสั่งสมกันตลอดมา

อัยการบรรยายฟ้องว่า ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนตุลาคม 2566 จำเลยได้โพสต์รูปและข้อความจำนวน 18 โพสต์ ลงบนบัญชีทวิตเตอร์ซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร 

ในจำนวนนี้มี 14 โพสต์ ซึ่งกล่าวหาว่าเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินี อันเป็นการฝ่าฝืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

ในท้ายฟ้อง อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา โดยระบุว่า หากจำเลยยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

อย่างไรก็ตาม หลังได้ทราบข้อมูลการถูกคุมขังของแม็กกี้ ทนายความได้ยื่นประกันตัวแม็กกี้เป็นจำนวน 2 ครั้ง ในวันที่ 9 พ.ย. 2566 และ 9 ก.พ. 2567 ตามลำดับ แต่ศาลยังคงไม่ให้ประกันตัว ระบุไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง

ต่อมาในวันนัดตรวจพยานฯ วันที่ 19 ก.พ. 2567 แม็กกี้ขอกลับคำให้การเดิมเป็นให้การรับสารภาพ ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 14 มี.ค. 2567

สำรวจชีวิต “แม็กกี้” ในวันที่โทษสูงจนอาจต้องย้ายเรือนจำ พร้อมสะท้อนปัญหาและสิ่งที่เรือนจำควรปรับปรุงเพื่อผู้ต้องขัง LGBTQ+ 

แม็กกี้เล่าว่า เธอเป็นคน จ.ยโสธร พื้นเพที่บ้านมีอาชีพทำนาและสวนมันสำปะหลัง มีพี่น้อง 3 คน โดยเธอเป็นลูกคนกลาง แม็กกี้จบการศึกษาสูงสุดระดับ ม.3 ก่อนเข้ามาทำงานในกรุงเทพ โดยทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร แต่หลังเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เธอตกงาน ไม่มีรายได้ และต้องหางานทำเป็นงานพาร์ทไทม์ตามห้างสรรพสินค้า โดยพยายามส่งเงินกลับไปที่บ้านด้วย เดือนละประมาณ 3,000 – 4,000 บาท

แม็กกี้เล่าว่า เธอเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารงานของรัฐบาล ทำให้เธอเริ่มสนใจการเมืองมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2561-2562 โดยในช่วงปี 2563 เธอมีโอกาสได้ไปชุมนุมตามม็อบต่าง ๆ ที่ภาคประชาชนจัดขึ้นด้วย

สำหรับความกังวลในการโดนคดี ม.112 แม็กกี้เผยว่า เธอกังวลเรื่องพ่อแม่ เรื่องครอบครัว เนื่องจากกลัวว่ามันจะส่งผลกระทบถึงครอบครัว นอกจากนี้เธอยังมีความเครียดและมักป่วยเป็นไข้หวัดอยู่บ่อยครั้งระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

เมื่อถามถึงสถานการณ์ในเรือนจำ แม็กกี้กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของเธอคือความแออัดในเรือนจำ โดยที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีการจัดห้องขังสำหรับผู้ต้องขังที่เป็น LGBTQIA+ ไว้โดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันผู้ต้องขังในห้องมีไม่น้อยกว่า 41 คน ในห้องจึงแออัดมาก จนแทบไม่มีที่ให้ขยับตัว

สิ่งที่แม็กกี้อยากให้เรือนจำปรับปรุงเพื่อกลุ่มคน LGBTQIA+ คือ 1. เรื่องทรงผม เวลาถูกเบิกตัวออกศาลเจ้าหน้าที่จะมีการตรวจทรงผม ถ้ายาวเกินเกณฑ์ก็จะถูกไถออก เลยอยากให้สามารถไว้ผมตามอัตลักษณ์ของตัวเองได้ 

2. เวลาถูกเบิกตัวออกมาศาล เจ้าหน้าที่จะให้ใส่เครื่องพันธนาการ เช่น ‘ตรวนเท้า’ ซึ่งเสียดสีกับข้อเท้าเวลาก้าวเดิน สร้างความลำบากและความเจ็บปวดให้กับนักโทษหลาย ๆ คน แม็กกี้อยากให้มีการอนุญาตให้ใส่ ‘ถุงเท้า’ ได้เพื่อป้องกันการเสียดสีจากตรวน 

3. อยากให้นักโทษที่เป็น LGBTQIA+ สามารถแต่งหน้าได้ โดยไม่ผิดกฎระเบียบ และ 4. อยากให้เรือนจำคำนึงถึงการจ่ายยารักษาโรคพื้นฐานอย่างยาแก้ปวดหัว เพราะแม็กกี้และเพื่อน ๆ ในห้อง มีอาการปวดหัวบ่อย และยาแก้ปวดค่อนข้างหายาก เนื่องจากถูกเรือนจำกำหนดโควต้าในแต่ละวัน

“ตอนนี้ก็รู้สึกกังวล ใจหวิว ๆ เครียดนิดหน่อย เรื่องว่าถ้าโทษตัดมาเกิน 15 ปี ต้องข้ามแดนไปคลองเปรมหรือเปล่า คือคดี 112 คนอื่น ๆ ยังอยู่ที่นี่ ตอนนี้เราเริ่มปรับตัวได้ ถ้าถูกย้ายไปที่อื่น ก็กลัวเรื่องความเป็นอยู่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป และกลัวเหงาด้วย”

อ่านเพิ่มเติม : บันทึกเยี่ยม 8 ผู้ต้องขังคดี ‘112’: ยังไม่มีใครได้ประกันตัว แต่ทุกคนยังคาดหวัง

จนถึงวันนี้ (13 มี.ค. 2567) แม็กกี้ถูกคุมขังตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาคดีกินเวลายาวนานกว่า 143 วันแล้ว

X