บันทึกเยี่ยม 8 ผู้ต้องขังคดี ‘112’: ยังไม่มีใครได้ประกันตัว แต่ทุกคนยังคาดหวัง

ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ทนายความเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังจากคดีมาตรา 112 อยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่นราธิวาสและกรุงเทพฯ ครั้งนี้ ‘อุดม’ แจ้งว่าเขายังสบายดี และได้ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ฝากความคิดถึงลูกกับครอบครัวเสมอ ส่วน ‘กัลยา’ ยังเฝ้ารอความหวังเรื่องสิทธิประกันตัวในระหว่างสู้คดีชั้นฎีกา

‘เวหา’ เล่าถึงสถานการณ์ในเรือนจำที่ค่อนข้างเดือดจากเหตุทางการเมือง และเขากล่าวว่ายืนหยัดร่วมกับ ตะวันและแฟรงค์ ส่วน ‘สมบัติ’ ให้กำลังใจให้ทุกคนที่ต่อสู้กับโทษทัณฑ์มาตรา 112 ขอให้ต่อสู้อย่างมีสติ ไม่อยากให้มีคนถูกคุมขังเพิ่มอีก 

ขณะที่ ‘ภูมิ’ เยาวชนที่อยู่บ้านเมตตา ก็มีเรื่องให้กังวลเกี่ยวกับได้รับอุบัติเหตุหัวไหล่หลุด แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่มีการแจ้งกับผู้ปกครอง และ ‘อารีฟ’ ตัดพ้อถึงเรื่องไม่ได้สิทธิประกันตัวสักที ศาลยังยกคำร้องอย่างเดียว 

‘จิรวัฒน์’ สุขภาพยังดี และมีภรรยามาเยี่ยมตลอด เขายังส่งเสียงเรียกร้องสิทธิประกันตัวของตน สุดท้าย ‘แม็กกี้’ เล่าถึงเหตุการณ์วันนัดสอบคำให้การที่ศาล เธอตัดสินใจให้การรับสารภาพ และศาลจะอ่านคำพิพากษาวันที่ 14 มี.ค. นี้ โดยแม็กกี้รู้สึกเป็นกังวลหากได้รับโทษเกิน 15 ปี อาจได้ย้ายไปอยู่เรือนจำแห่งใหม่ 

.

อุดม: คิดถึงลูกสาวอายุ 9 ขวบ-หมั่นออกกำลังกาย ให้ร่างกายเข้มแข็ง

ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2567 ทนายเขาเยี่ยมอุดม ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่บ้านอยู่ที่ปราจีนบุรีแต่มาถูกกล่าวหาและคุมขังไกลถึงใต้สุด และยังอยู่ระหว่างยื่นฎีกาคำพิพากษาที่ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาจำคุก 4 ปี

อุดมยังดูสดใส สุขภาพร่างกายยังแข็งแรง เขาแจ้งว่าวันนี้มีเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนจากองค์การสหประชาชาติ เข้ามาเยี่ยมในช่วงเช้า พูดคุยถึงสภาพความเป็นอยู่ภายในเรือนจำ และอาหารการกิน 

ด้วยเป็นวันวาเลนไทน์ ทนายถามถึงภายในเรือนจำว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างไหม อุดมบอกว่าไม่ทราบเลย เนื่องจากเขาถูกกักตัวอยู่ เนื่องจากถูกเบิกตัวไปฟังคำสั่งประกันตัวที่ศาล เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2567 และศาลฎีกายังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเช่นเดิม โดยที่นราธิวาสนี้ ผู้ต้องขังจะถูกเบิกตัวไปศาลฟังคำสั่งเอง แตกต่างจากในกรุงเทพฯ ที่ในเรื่องการฟังคำสั่งขอประกันตัวนั้น ไม่ได้มีการเบิกตัวผู้ต้องขังไปศาล

เมื่อคุยเรื่องเกี่ยวกับทางบ้าน อุดมดูเศร้าทันที สีหน้าเปลี่ยน เขาคิดถึงลูกสาวอายุ 9 ขวบ ซึ่งอยู่ในวัยกำลังซนและเรียนรู้ แต่ก็พยายามทำใจอยู่ อุดมบอกว่าเขาได้คุยผ่านไลน์กับครอบครัว เมื่อประมาณ 3 อาทิตย์ก่อน ทางครอบครัวสบายดีและยังให้กำลังใจทุกครั้งที่ได้คุยกัน 

ช่วงนี้อุดมได้ยกเลิกอาหารมื้อเที่ยงแล้ว เอาเวลาไปออกกำลังกาย ตามที่แบบที่เคยเป็นทหารเกณฑ์ เมื่อช่วงปี 2551-2553 เช่น การออกวิ่งและบริหารร่างกาย เขาคาดหวังว่าร่างกายจะเข้มแข็งเพื่อผ่านช่วงเวลาการถูกคุมขังนี้ไป

จนถึงปัจจุบัน (22 ก.พ. 2567) อุดมถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสในระหว่างฎีกามาแล้ว 177  วัน 

ย้อนอ่านคดีของอุดม

.

กัลยา: ขอความยุติธรรมกับศาลเรื่องประกันตัว เพราะระหว่างที่สู้คดี ก็มารายงานตัวทุกนัด 

ในวันเดียวกันที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ทนายยังเข้าเยี่ยม “กัลยา” ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 อีกคนหนึ่ง ที่ต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปต่อสู้คดีที่นราธิวาส และถูกศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาจำคุกถึง 6 ปี โดยศาลฎีกาไม่ให้ประกันตัวมาตั้งแต่เดือนตุลา 66

กัลยายิ้มมาแต่ไกล เนื่องจากเป็นวันวาเลนไลน์ เธอบอกว่าวันนี้ทางเรือนจำอนุญาตให้ทำความรู้จักกับผู้ต้องขังที่เราอยากรู้จักด้วย เมื่อถามว่าเธอมีเพื่อนผู้ต้องขังที่อยากทำความรู้จักบ้างไหม เธอบอกว่าไม่มีใครเลย แต่สังเกตที่เสื้อของข้างซ้ายมีสติกเกอร์ที่เป็นรูปหัวใจ 2 ดวง แปะอยู่ ก่อนแจ้งเช่นเดียวกับอุดมว่า วันนี้มีเจ้าหน้าที่จากองค์การสหประชาชาติเข้ามาเยี่ยม 

กัลยาถูกกักตัวมาประมาณ 5 วัน เช่นกัน และวันนี้สามารถลงมาได้แล้ว เนื่องจากถูกนำตัวไปศาลเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2567 เพื่อฟังคำสั่งขอประกันตัวเช่นกัน กัลยาบอกว่าตอนที่ตนเองอยู่ในห้องขังที่ศาล ถูกตำรวจนายหนึ่งใช้คำพูดไม่ดี ไม่สุภาพ แถมไม่ทราบข้อเท็จจริงและความเป็นมาของคดี ทำให้เธอรู้สึกไม่ดี หมดกำลังใจ เลยไม่ได้สนทนาต่อ แต่ก็มีตำรวจนายอื่นให้กำลังใจอยู่เหมือนกัน 

กัลยาบอกอีกว่าทุกครั้งที่ถูกเบิกตัวไปศาล อยากให้มีทนายความ นายประกัน หรือคนที่ไว้วางใจ ตามมาด้วย เพื่อช่วยระวังการถูกคุกคามลักษณะนี้ และครั้งล่าสุดที่ถูกเบิกตัวออกจากเรือนจำนี้ ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น เธอไม่ได้ทานข้าวมื้อเที่ยงเพราะไม่มีคนฝากซื้อให้ แต่โชคดีที่มีเพื่อนๆ ที่ถูกเบิกตัวพร้อมกันแบ่งกับข้าวให้ แต่เธอก็ปฎิเสธเพราะเกรงใจ 

กัลยาฝากบอกเพื่อนที่ส่งจดหมายให้กำลังใจมาว่า เธอได้รับจดหมายตั้งแต่เดือนมกราคมแล้ว แต่ไม่สามารถตอบกลับได้ เนื่องจากผู้คุมอ่านให้ฟังเฉย ๆ แต่ไม่ได้ให้จดหมายมา

สำหรับข้อความที่กัลยาฝากไว้คือ “ขอความยุติธรรมกับศาลเรื่องประกันตัว เพราะระหว่างที่สู้คดี ก็มารายงานตัวทุกนัด ไม่ได้หลบหนีไปไหนเลย” 

จนถึงปัจจุบัน (22 ก.พ. 2567) กัลยาถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสในระหว่างฎีกามาแล้ว 126 วัน 

ย้อนอ่านคดีของกัลยา

เวหา: ขอยืนเคียงข้าง ตะวัน สายน้ำ แฟรงค์ และทุกคนที่เกี่ยวข้อง

วันที่ 14 ก.พ. 2567  เวหาทักทาย พร้อมกับอัปเดตสภาพร่างกาย-จิตใจว่าตอนนี้ปกติดี เขายังแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ในเรือนจำได้แจ้งเขาว่าช่วงอาทิตย์นี้ สื่อมวลชนได้เอ่ยชื่อของเขาเกี่ยวกับกรณีการพ่นสีบนกำแพง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษด้วย

เขาอยากทราบข่าวของตะวันว่าเป็นอย่างไรบ้าง โดยเขาให้กำลังใจ และแสดงความห่วงใย แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เขาส่งจดหมายไปหาได้ โดยเขาอยากขอยืนเคียงข้างตะวัน สายน้ำ แฟรงค์ และทุกคนที่เกี่ยวข้อง 

ต่อมาวันที่ 21 ก.พ. 2567 หลังเข้าเยี่ยมเวหาอีกครั้ง เขาสอบถามถึงเรื่องการเยี่ยมญาติ เวหาแจ้งว่า ตอนนี้ไม่รู้ว่าตัวเองโดนงดเยี่ยมญาติหรือเปล่า เพราะว่าไม่มีคนเยี่ยมมา 3-4 วันแล้ว พฤหัสบดีที่แล้วมีคนมาเยี่ยม แล้วโดนเชิญตัวออกไปจากห้องเยี่ยมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วหลังจากนั้นก็ยังไม่มีคนอื่นเข้ามาเยี่ยมอีกเลย เวหายังฝากข้อความถึง ทักษิณ ชินวัตร ที่ทราบว่าได้รับการพักโทษออกมาแล้ว ว่า “ขอแสดงความยินดีกับคุณทักษิณที่ได้รับอิสรภาพด้วยครับ แม้ว่าเราจะอยู่เรือนจำเดียวกัน แต่ก็ยังไม่เคยเจอกันเลย ถ้ามีโอกาสได้เจอกันข้างนอก คงขอแบ่งปันเทคนิคในการบริหารโทษบ้าง เมื่อได้โอกาสแล้วอย่าลืมนึกถึงคนที่ต้องการโอกาสเหมือนคุณทักษิณบ้างนะครับ”

จนถึงปัจจุบัน (22 ก.พ. 2567) เวหาถูกคุมขังมาแล้ว 281 วัน

ย้อนอ่านคดีของเวหา 

.

สมบัติ: ขอให้ต่อสู้อย่างมีสติ สู้ยังไงก็ได้ให้อยู่ข้างนอก 

ในวันเดียวกัน ทนายยังเข้าเยี่ยม “พี่หนุ่ม” สมบัติ ทองย้อย หลังไม่ได้เจอกันพักใหญ๋ เขาทักทายด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ก่อนบอกว่าสบายดี ช่วงนี้ได้ออกกำลังกายเยอะหน่อย เพราะว่าว่าง ไม่ได้ทำงานอะไร โดยไปออกกับพวกอานนท์และเก็ท โดยที่ออกกำลังกายห่างจากโรงนอนประมาณร้อยเมตร 

ตอนนี้เวลาว่าง ๆ ก็จะมานั่งคุยกับเพื่อนผู้ต้องขัง อัปเดตสถานการณ์ คุยกันไปเรื่อย ๆ เผื่อช่วยกันประมวลเหตุการณ์ภายนอกจากที่แต่ละคนได้ทราบจากทนายหรือญาติมา 

ในส่วนกรณีของสมบัติ เขายังสอบถามเรื่องการพักโทษต่อ ในเรื่องเงื่อนไขต่าง ๆ เเละคุยเรื่องกรณีการพิจารณาการพักโทษแบบพิเศษและธรรมดา เขาฝากตรวจสอบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในเรื่องนี้ให้อีกครั้ง

ก่อนสุดท้ายฝากความคิดถึง และให้กำลังใจนักกิจกรรมทุกคน เป็นกำลังใจให้เสมอ ขอให้ต่อสู้อย่างมีสติ สู้ยังไงก็ได้ให้อยู่ข้างนอก เพราะการสู้จากข้างในมันทำได้ไม่เต็มที่เลย และมีความกดดันเรื่องอิสระเสรีด้วย 

“เป็นห่วงทุกคน ทั้งน้อง ๆ ที่อยู่ข้างในเเละข้างนอกด้วย อยากให้เก็บแรงใจแรงกายของตัวเองไปทำในสิ่งที่ฝันข้างนอกด้วย”

จนถึงปัจจุบัน (22 ก.พ. 2567) สมบัติถูกคุมขังมาแล้ว 163 วัน

ย้อนอ่านคดีของสมบัติ

ภูมิ: พบว่าหัวไหล่หลุด ยังเป็นปริศนาว่าทำไมบ้านเมตตาไม่รีบแจ้งทางบ้าน

ทนายได้รับแจ้งจากแม่ของ “ภูมิ” ที่ถูกคุมขังในบ้านเมตตาว่า เมื่อคืนวันที่ 13 ก.พ. 2567 ได้ทราบจากคนรู้จักว่า ภูมิมีอาการหัวไหล่หลุด แม่จึงเดินทางไปที่โรงพยาบาลสิรินธรในคืนวันดังกล่าว และได้ทราบว่าที่หัวไหล่หลุดเพราะภูมินั่งคุยกับเจ้าหน้าที่แล้วเก้าอี้เกิดหัก เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น หมอแจ้งว่าต้องมีการรมยาแล้วดึงหัวไหล่เข้า ต่อมา วันที่ 15 ก.พ. 2567 แม่โทรเช็คที่โรงพยาบาล ทราบว่าภูมิยังไม่ได้ออกจากที่นั่น 

แม่ของภูมิ ระบุว่าตลอดระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์อาการไหล่หลุดของภูมิ ไม่มีเจ้าหน้าที่โทรหาหรือแจ้งสถานการณ์หรืออาการใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งตอนที่ต้องไปโรงพยาบาล ซึ่งเหตุการณ์ตอนเก้าอี้หักเกิดช่วง 15.00 น. แต่แม่เพิ่งทราบเรื่องตอนเกือบ 20.00 น. หรือตอนที่ภูมิยังไม่ได้กลับจากโรงพยาบาล เพราะไหล่ยังไม่เข้าที่ อาจจะต้องมีการผ่าตัด ก็เป็นแม่ที่ต้องโทรเช็คอาการจากโรงพยาบาลเอง หรือต้องโทรหาเจ้าหน้าที่ของบ้านเมตตาเพื่อยืนยันว่าตอนนี้ภูมิอยู่ไหน อาการอย่างใดบ้าง

แม่เล่าให้ฟังเพิ่มว่าโทรไปยังนักสังคมสงเคราะห์ที่บ้านเมตตา ถึงเหตุที่ไม่มีการอัปเดตข้อมูลให้ญาติทราบเลย จึงค่อยมีเจ้าหน้าที่พยาบาลที่อยู่บ้านเมตตาโทรเข้ามาหา แจ้งว่าวันที่เกิดเหตุเห็นว่าค่ำแล้ว จึงไม่มีการโทร และยังต้องดูสถานการณ์ก่อน และตัวเจ้าหน้าที่มีก็พูดในลักษณะที่ว่าเพราะภูมิเอามือไม้กดเก้าอี้ ทำให้เก้าอี้หักเองหรือเปล่า และมีการถามลักษณะน้ำเสียงที่แม่รู้สึกไม่โอเคว่า ผู้ปกครองรู้เรื่องได้อย่างไร

จนถึงปัจจุบัน (22 ก.พ. 2567) ภูมิถูกคุมตัวที่สถานพินิจบ้านเมตตามา 128 วันแล้ว

ย้อนอ่านคดีของภูมิ

.

อารีฟ วีรภาพ: ตอนอยู่ข้างนอกเราก็สู้ อยู่ข้างในเราก็อยากสู้ 

วันที่ 15 ก.พ. 2567 ทนายเข้าเยี่ยมอารีฟ ถามไถ่ถึงสภาพร่างกายและสภาพจิตใจ ต่อมาหลังอัปเดตข่าวสารการเมืองต่าง ๆ อารีฟบอกว่า ตอนนี้อยู่ข้างใน ก็รู้ข่าวเรื่องตะวันจากในเรือนจำบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้รายละเอียดมากนัก จึงคอยติดตามฟังข่าวอยู่ ก่อนอารีฟฝากบอกคนข้างนอกว่า คนข้างในยังกำลังใจดีอยู่ 

วันที่ 20 ก.พ. 2567 ทนายเข้าเยี่ยมอารีฟอีกครั้ง บทสนทนาเป็นไปว่าเขาตัดพ้อถึงเรื่องไม่ได้สิทธิประกันตัวสักที เพื่อน ๆ ที่อยู่ในนี้ก็ไม่ได้รับการประกันตัวเหมือนกัน ทำให้ต่างรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะศาลเอาแต่ยกคำร้องอย่างเดียวเลย ตอนอยู่ข้างนอกเราก็สู้ อยู่ข้างในเราก็อยากสู้ แต่ทางเลือกในการต่อสู้ข้างในเรามีไม่เยอะ 

ก่อนจะพูดคุยเรื่องคดีของอารีฟว่า ในช่วงวันที่ 12-14 มี.ค. นี้ เขาจะถูกเบิกตัวไปศาลแขวงพระนครเหนือในนัดสืบพยานคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการชุมนุม #ม็อบ1กันยา2564 ที่หน้าพรรคพลังประชารัฐ โดยเขายังยืนยันว่าจะสู้คดีนี้ ส่วนคดีมาตรา 112 ของอารีฟ ที่ถูกคุมขังอยู่นี้ ยังอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา

จนถึงปัจจุบัน (22 ก.พ. 2567) อารีฟถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 148 วัน 

ย้อนอ่านคดีของอารีฟ

.

จิรวัฒน์: กำลังคิดถึงการแสดงออกร่วมเรียกร้องสิทธิประกันตัว

วันที่ 20 ก.พ. 2567 หลังทักทายกันเสร็จ จิรวัฒน์ถามอาการของตะวันเเละบุ้งในทันทีว่าเป็นยังไงบ้าง เขาแสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมบอกว่าเขาก็อยากหาวิธีการร่วมแสดงออกเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว แต่คงไม่ใช่การอดอาหาร อาจจะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อื่น ๆ

สำหรับอาการผื่นตอนนี้ เขาหายเเล้ว สุขภาพเเข็งเเรงขึ้น ตอนนี้ทางภรรยาก็ยังคงมาเยี่ยมอยู่เรื่อย ๆ กำลังใจยังดี แต่ก็ยังหวังว่าจะได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คดี

จนถึงปัจจุบัน (22 ก.พ. 2567) จิรวัฒน์ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 79 วัน

ย้อนอ่านคดีของจิรวัฒน์

.

แม็กกี้: รอวันฟังคำพิพากษา รู้สึกกังวล หากได้รับโทษเกิน 15 ปี อาจต้องย้ายเรือนจำ

20 ก.พ. 2567 ทนายพูดคุยกับแม็กกี้ผ่านโทรศัพท์ เนื่องจากเธอเพิ่งออกศาลเมื่อวาน (19 ก.พ. 2567) ทนายบอกว่าปริ๊นต์รูปที่เพื่อน ๆ ไปทำกิจกรรมคืนสิทธิประกันตัวมาด้วย เสียดายที่ไม่ได้เห็น  

ทนายถามถึงวันนัดตรวจพยานหลักฐานที่ศาล แม็กกี้เล่าว่าได้ตัดสินใจรับสารภาพ “การกระทำของหนูมันถูกฟ้องเป็น 18 กรรม 18 โพสต์ โดย 14 โพสต์ เป็น ม.112 ส่วนอีก 4 โพสต์ เป็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 14 มี.ค. 2567 นี้” เมื่อพูดเกี่ยวกับคดี แม็กกี้มีอาการถอนหายใจ และดูเงียบ ๆ

“ตอนนี้ก็รู้สึกกังวล ใจหวิว ๆ เครียดนิดหน่อย เรื่องว่าถ้าโทษตัดมาเกิน 15 ปี ต้องข้ามแดนไปคลองเปรมหรือเปล่า คือคดี 112 คนอื่น ๆ ยังอยู่ที่นี่ ตอนนี้เราเริ่มปรับตัวได้ ถ้าถูกย้ายไปที่อื่น ก็กลัวเรื่องความเป็นอยู่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป และกลัวเหงาด้วย”

“อยู่ในนี้หนูพยายามไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็มีบ้างที่ผู้คุมจะพูดไม่ดีใส่ อย่างเมื่อวานช่วงที่ต้องไปรอรถออกไปศาล เขาก็ให้มารอแถว ๆ ฟุตปาธร่วมกับคนอื่น ๆ ทีนี้คนอื่นๆ ก็นั่งบนฟุตปาธ แล้วหนูเหมือนไปนั่งตรงม้าหินอ่อน มีผู้คุมเดินมาต่อว่า เป็นเหี้ยอะไรทำไมไม่นั่งกับเพื่อน หรือมีวันที่ผู้คุมคนนี้เป็นเวรต้องขึ้นไปปิดห้อง ห้องของเราจะเป็น LGBTQ ทั้งหมดก็คุยกัน แล้วผู้คุมคนนี้ก็เป็นตะคอกแบบคุยอะไรกันอีดอก อีเหี้ย ซึ่งผู้คุมคนนี้จะเป็นแบบนี้ คือเราก็รู้ว่าคุณเป็นผู้คุมแหละ แต่ก็อยากให้บอกให้พูด เพราะก็คนเหมือนกัน แต่ก็เป็นเฉพาะบางคน บางคนก็พูดดีด้วย”

แม็กกี้เล่าอีกว่า ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว ทำให้มีอาการไอ รู้สึกไม่ค่อยสบาย “เพิ่งลงชื่อเข้าพบหมอวันนี้ คงพบหมออีกวัน และรับยาอีกวัน กว่าจะได้ยาก็คือหายพอดี” แม็กกี้พูดปนหัวเราะ

“เรื่องการนอนมีบ้างที่นอนไม่ค่อยหลับ กับบางทีก็เบื่ออาหาร มีความรู้สึกไม่หิว ไม่อยากกิน คืออารมณ์หนูก็มีแบบเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย บางทีนั่งมองกำแพง ไม่ได้คิดเรื่องอะไร ก็เศร้า กับบางทีคิด ๆ ไปความกังวลเรื่องครอบครัว เรื่องบ้านก็แวบเข้ามาในหัว ก็เศร้าอีก ไม่รู้เพราะไม่ได้เทคฮอร์โมนด้วยหรือเปล่า เพราะจริง ๆ ก็รู้สึกว่าตัวเองหงุดหงิดง่าย หนวดเคราก็เริ่มมี ตอนนี้ใช้วิธีถอนเอา”

“ตอนนี้แดน 8 หนูดูในกระดานมีคนอยู่ประมาณ 844 คน ที่เยอะคงเพราะแดน 8 เป็นแดนที่นักโทษยังไม่ถูกตัดสิน บนห้องนอนของหนูจะเป็น LGBTQ ทั้งหมด ตอนนี้มีอยู่ด้วยกัน 40 คน ตอนเข้ามาแรก ๆ ยังมีพื้นที่ตรงกลางไว้เดิน ตอนนี้ไม่มีที่ตรงกลางแล้ว หน้าบล็อคที่เป็นห้องน้ำ ถ้าเดินก็ประมาณก้าวนึง คือเว้นไว้ให้เข้าห้องน้ำ รอคิวอะไรแบบนี้”

จนถึงปัจจุบัน (22 ก.พ. 2567) แม็กกี้ถูกคุมขังระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณามาแล้ว 124 วัน คดีของเธอศาลอาญากรุงเทพใต้นัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 14 มี.ค. 2567 นี้

ย้อนอ่านคดีของแม็กกี้

.

ย้อนอ่านบันทึกเยี่ยม

บันทึกเยี่ยม 7 ผู้ต้องขังคดี ‘112’ : ขอบคุณที่ช่วยกันทำงานและผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม

X