วันที่ 13 ก.ย. 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีของ “สมบัติ ทองย้อย” ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีโพสต์ข้อความ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” ประกอบกับแปะภาพบันทึกหน้าจอจากข่าวมติชนเกี่ยวกับบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 ในคอมเมนต์ข้อความดังกล่าว พร้อมกับอีก 2 ข้อความ กล่าวถึงการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็น ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563
ในคดีนี้ ศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีความผิดในทั้งสองกระทงเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น แต่พิพากษาลดโทษ เหลือจำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 2 กระทง รวมจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา
ในคดีนี้มี ศรายุทธ สังวาลย์ทอง เป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวหาสมบัติไว้ที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำพิพากษาของสมบัติ โดยมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา ทำให้เขาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คดีเรื่อยมากว่า 288 วัน ก่อนศาลฎีกาอนุญาตให้ประกันตัว เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2566
วันนี้ (13 ก.ย. 2566) เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 502 สมบัติเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมครอบครัว โดยมีเพื่อนติดตามมาสังเกตการณ์ด้วยจำนวน 3 คน และนอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่จากองค์กรสิทธิมนุษยชน มาเข้าร่วมฟังการพิพากษา เวลา 09.30 น. ศาลขึ้นพิจารณาคดี พร้อมอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยแยกประเด็น ดังนี้
.
ข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” ศาลเห็นว่ามีเจตนาล้อเลียน ร.10 เนื่องจากจำเลยเคลื่อนไหวทางการเมือง อยู่กลุ่มต่อต้านสถาบันฯ
ข้อกล่าวหาในกระทงแรก ใจความระบุว่า จำเลยโพสต์ข้อความว่า “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” ประกอบกับภาพบันทึกหน้าจอโทรศัพท์เป็นข่าวจากเว็บไซต์มติชนเรื่องบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 คณะ ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563
จากการสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ พบว่าพยานทั้งหมดเบิกความสอดคล้องไปในทำนองเดียวกันว่าข้อความดังกล่าวสื่อความหมายถึงรัชกาลที่ 10 ซึ่งเคยตรัสกับประชาชนที่ร่วมเข้าเฝ้ารับเสด็จ ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย หรือวันปิยมหาราช เมื่อหัวค่ำวันที่ 23 ต.ค 2563
จำเลยอุทธรณ์ข้อความดังกล่าวว่าการฟ้องร้องของโจทก์ เป็นการกล่าวหาสร้างความเกลียดชัง ความแตกแยก เป็นเพียงคำพูดกำกวม เลื่อนลอย ซึ่งถือว่าเป็นการฟ้องโดยมิชอบ การอุทธรณ์ในประเด็นนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น เนื่องจากโพสต์ข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” ประกอบกับภาพบันทึกหน้าจอข่าวมติชนที่ระบุทำนองว่า “ฝ่ายความมั่นคงเข้าพบนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ไม่รับปริญญาทั้งคณะ” ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการที่จำเลยโพสต์ในลักษณะนี้จึงถือว่ามีเจตนาชื่นชมบัณทิตที่ไม่เข้ารับพิธีรับปริญญา และการที่จำเลยเบิกความกล่าวว่าไม่ได้ระบุถึงกษัตริย์ว่าจะเป็นผู้มาพระราชทานปริญญาบัตรในวันดังกล่าว ศาลเห็นว่าประเด็นนี้ของจำเลยไม่มีน้ำหนักเพียงพอ
เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว มีการประท้วงเรียกร้องให้ยุติการพระราชทานปริญญาบัตรจากกษัตริย์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจำเลยยังเป็นผู้ที่สนใจการเมือง มักเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ศาลเห็นว่าจำเลยเป็นคนที่เข้าร่วม ‘กลุ่มต่อต้านสถาบันฯ’ มาโดยตลอด การอุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ได้ว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะล่วงเกิน หมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างไร
.
2 ข้อความเรื่องการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็น เชื่อพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันว่าเป็นเจตนาเอ่ยถึงรัชกาลที่ 10
ในส่วนอีก 2 ข้อความตามฟ้อง ซึ่งเป็นข้อความที่กล่าวถึงการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็น โดยเป็นการโพสต์เฟซบุ๊กในวันเดียวกัน คือเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563
ศาลมีคำพิพากษา โดยเห็นว่าทั้งสองข้อความที่จำเลยโพสต์ เป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดําเนินไปในการพระราชพิธีวันปิยมหาราช ในวันที่ 23 ต.ค. 2563 และที่เสด็จพระราชดําเนินไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต ในวันที่ 1 พ.ย. 2563 แล้วทรงมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานแก่ประชาชน
เมื่อพิเคราะห์จากการเบิกความของพยานโจทก์แล้ว ทั้งหมดเบิกความสอดคล้องและเข้าใจโพสต์ข้อความตรงกันว่าจำเลยมีเจตนากล่าวถึงรัชกาลที่ 10 พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง ส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยไม่มีน้ำหนักเพียงพอจะฟังได้ว่าจำเลยไม่ผิดตามฟ้องอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ด้วย ทั้งที่ไม่ได้ถูกบรรยายข้อกล่าวหานี้ไว้ในท้ายฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับอุทธรณ์ของจำเลย ให้แก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยยกฟ้องข้อหานี้
ประกอบกับตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ได้ลดหย่อนโทษให้จำเลย แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าในการเบิกความของจำเลย ได้มีการยอมรับว่าตนเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง คำให้การของจำเลยจึงเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ จึงขอลดโทษให้หนึ่งในสาม
พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) รวมทั้งหมด 2 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 2 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 4 ปี ไม่รอลงอาญา
.
ทนายยื่นประกันวางหลักทรัพย์สูงถึง 600,000 บาท ชี้ศาลฎีกาควรพิจารณาให้ประกัน เนื่องจากเคยอนุญาตให้ประกันสมบัติมาก่อนหน้านี้แล้ว
ภายหลังฟังคำพิพากษา สมบัติได้บอกลาครอบครัว ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ใส่กุญแจมือลงไปใต้ถุนศาล ทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวสมบัติต่อทันที โดยขอวางหลักทรัพย์จำนวน 600,000 บาท และยืนยันในคำร้องว่า จำเลยได้รับข้อเท็จจริงไปแล้วว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นกษัตริย์ตามที่โจทก์กล่าวหาแต่อย่างใด จึงยังประสงค์จะต่อสู้คดีในศาลฎีกา
ตลอดจนในวันที่ 8 ก.พ. 2566 ศาลฎีกาเคยอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในคดีนี้ โดยระบุว่า “จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์” และประกอบกับเงื่อนไขการประกันตัวที่ห้ามร่วมกิจกรรมในลักษณะที่จะเกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ อีก ซึ่งตั้งแต่ที่จำเลยได้รับการประกันตัวออกมา จำเลยก็ได้กลับไปประกอบอาชีพ และดำเนินชีวิตโดยไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการกระทำที่จะผิดเงื่อนไขการประกันตัวของศาลฎีกา จึงไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีแต่อย่างใด
ต่อมาในเวลา 10.52 น. ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างฎีกาของสมบัติ ไปให้ศาลฎีกาพิจารณา
ผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้สมบัติต้องเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อไปรอฟังผลคำสั่งประกันตัวจากศาลฎีกา ซึ่งจะทราบในอีก 2 – 3 วัน ข้างหน้า
.
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เปิดบันทึกสืบพยานคดี 112 “สมบัติ ทองย้อย” โพสต์ #กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ ก่อนศาลพิพากษาพรุ่งนี้
เขียนอย่างไรให้ดู “ผิด”?: ภาษาของการเมืองในคำพิพากษาคดี ม.112 ของสมบัติ ทองย้อย
ดูฐานข้อมูลคดีนี้ คดี 112 สมบัติ ทองย้อย ถูกกล่าวหาโพสต์ 3 ข้อความ ล้อเลียน-ใส่ความ ร.10