เขียนอย่างไรให้ดู “ผิด”?: ภาษาของการเมืองในคำพิพากษาคดี ม.112 ของสมบัติ ทองย้อย

ภาสกร ญี่นาง

.

แนวคิดปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย (legal positivism) ที่อยู่บนพื้นฐานของการแบ่งแยกการรับรู้ระหว่าง “กฎหมาย” และ “ความยุติธรรม” เพื่อยืนยันว่ากฎหมายปลอดจากการเมือง คำพิพากษาของศาลหรือการกระทำทางกฎหมาย อื่นๆ ของรัฐ ล้วนมีความเป็นกลางและบริสุทธิ์ ได้ครอบงำความคิดด้านนิติศาสตร์ของไทยมาอย่างยาวนาน

แต่ทว่า การศึกษานิติศาสตร์แนววิพากษ์ (critical legal studies) และกลุ่มสำนักสัจนิยมทางกฎหมาย (legal realism) ได้ชวนให้ตระหนักว่า มายาคติว่าด้วยระบบกฎหมายที่อิสระและเป็นกลาง อาจก่อเกิดแนวโน้มที่จะทำให้ระบบกฎหมายถูกบิดเบือนและเกิดการเพิกเฉยต่อความเชื่อมโยงกันระหว่างความเป็นมนุษย์ (human subjects) กับโลกเชิงประจักษ์ที่มาจากประสบการณ์ในชีวิตของมนุษย์

กล่าวอีกนัยคือ การศึกษานิติศาสตร์ส่วนใหญ่ อาจกำลังหมกมุ่นเรื่องความเป็นกลาง และความเป็นอิสระของกฎหมายมากเกินไป จนลืมไปว่า กฎหมายนั้นถูกบังคับใช้โดย “บุคคล” ไม่ว่าจะโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้พิพากษาก็ตาม ซึ่งบุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่แตกต่างจากมนุษย์ทั่วไปที่ถูกครอบงำด้วยความรู้สึก ความเชื่อ อคติและภูมิหลังที่สะท้อนถึงสถานะการศึกษา ศาสนา เพศสภาพ รวมไปถึงอุดมการณ์ทางการเมือง

บทความฉบับนี้ จะนำเสนอการวิเคราะห์ตัวอย่างคำพิพากษาคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” บนกรอบคิดว่าด้วย “ภาษาของการเมือง” ในสถาบันทางกฎหมาย ซึ่งเป็นการศึกษาคำพิพากษาที่เป็นมากกว่าการท่องจำตามแบบฉบับของนักเรียนกฎหมายในไทย เพื่อชี้ให้เห็นถึงลักษณะของกลไกทางกฎหมายที่สามารถเจือปนด้วย “ความเป็นการเมือง” อย่างเข้มข้น ผ่านการกระทำของผู้เป็นผู้พิพากษาในกระบวนการพิจารณาคดี

.

.

อ่านภาษาของการเมืองในกฎหมาย

งานศึกษาของ กมลวรรณ ชื่นชูใจ[1] ได้หยิบยกแนวความคิดของ ฌาคส์ ร็องซีแยร์ (Jacques Ranciere) เพื่อนำมาวิเคราะห์ภาษาของการเมืองในกฎหมายและคำพิพากษาคดีช่วงหลังปราบปรามและสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ซึ่งทำให้เห็นว่า ตรรกะของการอธิบายความผิดของจำเลยในคำพิพากษาที่มีระเบียบของกฎหมายหนึ่งชุดกำกับความผิดหรือถูกเป็นตัวอย่างของภาษาการเมือง และการเมืองในทัศนะของร็องซีแยร์ มีลักษณะสุนทรียศาสตร์ในความหมายของการท้าทาย ตั้งคำถาม กับระบบการรับรู้ของสังคมพร้อมกับการนำเสนอการรับรู้ชุดใหม่[2]

เมื่อระบบกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของการจัดระเบียบควบคุมทางสังคม ทำให้ในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองสมัยใหม่ กฎหมายเป็นเครื่องมือทางอำนาจในการผลิตสร้างความหมาย หรือ “ความจริง” หนึ่งๆ เพื่อตอบโต้กับฝ่ายต่อต้านและฝ่ายตรงข้าม คล้ายคลึงกับปฏิบัติการด้านข้อมูลที่รัฐไทยเคยยกเรื่อง “เผาบ้านเผาเมือง” มาอธิบายเหตุการณ์ความรุนแรงช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553[3] ถ้อยคำภาษาเหล่านั้นสร้างอารมณ์จูงใจให้คนอ่านมีความรู้สึกคล้อยตาม และสามารถสร้างทัศนะการเมืองชุดหนึ่ง โดยมีเป้าหมายในการทำลายความชอบธรรมทางการเมืองอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น ภาษา ไม่ว่าจะอยู่จุดใดในองคาพยพของสังคม ก็สามารถเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างหนึ่งได้เช่นกัน[4]

ในการต่อสู้ทางการเมือง กฎหมายก็เป็นเครื่องมือสำคัญ ภาษาในกฎหมายเป็นเรื่องกำหนดคุณค่าความถูกผิด ความดี ความชั่ว เต็มไปด้วยเรื่องของการนิยามคุณธรรมและกำหนดมาตรฐานไว้หลายชุด หลายระดับ เช่น การกำหนดระดับการรับโทษ คำว่า “โทษจำคุก” และ “โทษจำคุกให้รอลงอาญา” แม้จะถูกลงโทษเหมือนกัน แต่กำหนดมาตรฐาน “ความดี-ความชั่ว” ของจำเลยแตกต่างกัน ภาษาในกฎหมายที่ต่างกันเพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลให้นัยสำคัญหรือความหมายเปลี่ยนแปลง และความผิดหรือบทลงโทษอาจเปลี่ยนตามไปด้วย ภาษาในกฎหมายจึงเป็นสิ่งควรให้ความสนใจอย่างยิ่ง[5]

นอกจากนั้น กฎหมายเป็นกลไกที่ทำงานผ่านภาษาซึ่งมีความลื่นไหล ไม่มีความหมายตายตัว หากภาษามีความหมายชัดเจนตายตัว ผู้มีอำนาจหน้าที่ “ตีความกฎหมาย” หรือบังคับใช้กฎหมายในทุกระดับจะไร้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ศาล[6] ดังนั้น การตีความเป็นหัวใจของสถาบันกฎหมายและนักกฎหมาย เพราะการตีความแต่ละครั้งย่อมเป็นการใช้อำนาจที่ผูกติดมาพร้อมกับเรื่องผลประโยชน์ ความเป็นความตาย เสรีภาพ การจองจำ และการได้มาหรือการสูญเสียอำนาจ[7]

ขณะเดียวกัน ด้วยเหตุที่ศาลยุติธรรมไทยเป็นระบบกล่าวหา หากไม่มีข้อกล่าวหา ศาลจะไม่มีวัตถุในการตีความ ในทุกๆ คดี คู่ความย่อมมีหน้าที่ยกข้อต่อสู้และพยานหลักฐานมาประกอบ ศาลมีหน้าที่ทำให้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ ด้วยการชั่งน้ำหนัก วิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานที่คู่ความในคดียกขึ้นกล่าวอ้าง และในคดีอาญา กระบวนการพิจารณาคดี จะเริ่มต้นจากการกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด ศาลก็มีหน้าที่ดำเนินกระบวนการพิจารณาพิสูจน์ความผิดตามข้อกล่าวหา และต้องทำการ “วินิจฉัย/พิเคราะห์” ปัญหา ทำให้ผลที่ออกมามีความน่าเชื่อถือ ดังเช่นการวินิจฉัยโรคของแพทย์ซึ่งมีความเป็นวิทยาศาสตร์ ปราศจากอคติเพราะผ่านการคิด/พิสูจน์อย่างรอบด้าน[8]

ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ผู้พิพากษาจะต้องจัดการกับ “ความจริง” ที่มีอยู่สองชุด คือ ความจริงที่ผ่านการประกอบสร้างความหมายทั้งจากโจทก์และจำเลย เป็นความจริงซึ่งสร้างจากพยานหลักฐานที่จะนำมาหักล้างกัน ศาลจะตัดสินความจริงจากการรับฟังพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย เมื่อฟังเสร็จแล้ว ศาลก็ต้องวินิจฉัย/พิเคราะห์ หรือประกอบสร้างความจริง ในสายตาของตนเองอีกครั้ง ในฐานะ “ความจริงที่ถูกต้อง” ผ่านการทำคำพิพากษา[9] สิ่งนี้อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ความยุติธรรม” ดังนั้น ความยุติธรรมจึงเกิดจากการตีความของศาล[10]

.

.

ภาษาของการเมืองในคำพิพากษาคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ”

คำพิพากษาที่จะยกมาเป็นวัตถุแห่งการศึกษา เพื่อชี้ให้เห็นถึงภาษาของการเมืองในคำพิพากษาคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” คือ คดีของ “สมบัติ ทองย้อย”[11] อดีตการ์ดเสื้อแดง อายุ 52 ปี ซึ่งถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีโพสต์ข้อความ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” ประกอบกับภาพบันทึกหน้าจอจากข่าวมติชนเกี่ยวกับบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 พร้อมกับอีก 2 ข้อความ กล่าวถึงการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็น ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563

.

สถาปนาให้ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” เป็นพระราชดำรัสของในหลวง ร.10

คดีดังกล่าว มีการตั้งข้อกล่าวหาที่สามารถถูกสร้างขึ้นอย่างครอบคลุมและกว้างขวางเพื่ออุดช่องโหว่ของกฎหมาย ประกอบกับการกล่าวหาอย่างซ้ำๆ เพื่อ “ผลิตข้อกล่าวหา” และตีความไปพร้อมกันของผู้พิพากษา โดยข้อกล่าวหาที่ตั้งไว้ คือ เรื่องการกระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์[12]

คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีนี้ลงวันที่ 28 เมษายน 2565 ได้อธิบายให้การกระทำของสมบัติ อาจเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ด้วยการโพสต์ข้อความว่า “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” บนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์

ศาลเห็นว่าปัญหา คือ ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความเดียวกันกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ขณะเสด็จพระราชดำเนินพบปะประชาชนที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ที่ให้ต่อ ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ เพื่อเป็นการชื่นชมยินดี จากการที่ ฐิติวัฒน์ ได้เป็นผู้ไปแสดงออกโดยการยืนถือพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลปิ่นเกล้าในการชุมนุมของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2563 ซึ่งศาลก็เน้นย้ำจากคำเบิกความของทุกฝ่ายว่า สมบัติ นำเอาพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 10 ไปโพสต์ลงในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ของตน โดยมีเจตนาไม่สุจริต

อีกทั้ง การที่ศาลเน้นย้ำหลายครั้งว่า ข้อความว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” เป็นพระราชดำรัสของในหลวง ส่วนหนึ่งย่อมมีผลให้การกระทำของสมบัติ เชื่อมโยงกับการกระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ชัดเจนยิ่งขึ้น

.

การสร้างความจริง มักจะเริ่มต้นจากการกล่าวว่าจำเลยนั้นมีเจตนาในการกระทำความผิด

ข้อความว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ในความหมายทั่วไปไม่ถือเป็นการใส่ความหรือทำให้บุคคลใดเสื่อมเสียชื่อเสียง ไม่ใช่การดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายอันจะทำให้บุคคลผู้นำไปใช้มีความผิด แต่ในคดีนี้ ศาลก็พยายามชี้ให้เห็นว่า สมบัติ ในฐานะจำเลย นำเอาถ้อยคำดังกล่าวไปใช้โดยมีเจตนาดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายองค์พระมหากษัตริย์ เพราะศาลเห็นว่า[13] จำเลยใช้ข้อความมาประกอบภาพข่าวของเว็บไซต์มติชนที่ว่า “ฝ่ายความมั่นคงเข้าคุยกับนักศึกษา มธ. เผยมีบัณฑิต 1 คณะ ไม่ขอรับปริญญาทั้งคณะ” เป็นการชื่นชมบัณฑิตที่จะไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร และศาลยังสรุปข้อเท็จจริงว่าเป็นการกล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์โดยตรง “…ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าเป็นการโพสต์ข้อความนี้เล่นๆ ไม่ได้ต้องการที่กล่าวถึงบุคคลใดนั้น จึงฟังไม่ขึ้น”

ในแง่มุมทางด้านภาษาของกฎหมาย ศาลจะสรุป “ความจริง” ในเบื้องต้นว่า จำเลยได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด จำเลยรู้ว่าการกระทำ ณ ตอนนั้นเชื่อมโยงไปถึงการทำให้องค์พระมหากษัตริย์ต่อเสื่อมเสียพระเกียรติ ไม่ว่าจำเลยจะตั้งใจโพสต์[14] เล่นๆ หรือไม่ จึงไม่ใช่สิ่งที่ศาลในคดีนี้นำมาพิจารณาเป็นสาระสำคัญ

.

ภาษากับการสร้าง “ความจริง” ของสถานะพระมหากษัตริย์ “อันมิอาจล่วงละเมิดได้”

กระบวนพิจารณาคดีนี้มีการวางรูปคดีให้เกี่ยวข้องกับบริบทของพิธีพระราชทานปริญญาบัตร และการกระทำของจำเลยก็อยู่ภายใต้พฤติการณ์ที่บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรทั้งคณะ ซึ่งในคำพิพากษาก็ได้ใช้ถ้อยคำภาษา หรือชุดคำอธิบายที่มีต่อความหมายของการรับพระราชทานปริญญาบัตรตามแบบฉบับความคิดแนวกษัตริย์นิยม เพื่อให้การกระทำของสมบัติ เป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ให้หนักแน่นยิ่งขึ้นว่า[15] “…การเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร และการได้รับพระบรมราโชวาทจากพระมหากษัตริย์โดยตรง ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรนั้น เป็นที่ยอมรับกันในสังคมไทยตลอดมาว่า ถือเป็นเกียรติและเป็นสิริมงคล แก่ผู้ที่เข้ารับพระราชทานและครอบครัวของผู้นั้น การที่มีข่าวว่าบัณฑิตทั้งคณะจะไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ย่อมทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นพฤติกรรมอันมีลักษณะเป็นการต่อต้านพระมหากษัตริย์…”

ศาลตอกย้ำถึงเจตนาการกระทำของจำเลย ต่อไปว่า[16] “การโพสต์ข้อความของจำเลยจึงไม่ได้มีเจตนาที่จะชื่นชมหรือขอบใจบุคคลใดโดยสุจริตใจ แต่เป็นการจงใจล้อเลียนและเสียดสีเพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกพอใจของจำเลยเองกับข่าวอันมีลักษณะเป็นการต่อต้านพระมหากษัตริย์ โดยนำเอาพระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์ย้อนมาใช้กับข่าวอันมีลักษณะเป็นการต่อต้านพระมหากษัตริย์เสียเอง”

หลังจากนั้นศาลก็ใช้ถ้อยคำแสดงถึงสถานะของพระมหากษัตริย์อันมิอาจล่วงละเมิดได้ โดยยกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 มาประกอบ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” “…การกระทำของจำเลยจึงถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่บังควร มีลักษณะเป็นการจาบจ้วง และชี้ให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ต้องการจะดูถูกด้อยค่าพระมหากษัตริย์ อันเข้าลักษณะเป็นการดูหมิ่นแล้ว[17]

การใช้ชุดคำอธิบายที่ว่าด้วย องค์พระมหากษัตริย์อันเป็นเคารพสักการะ ยึดโยงกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เต็มไปด้วยภาษาของการเมือง และแสดงถึงโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่พระมหากษัตริย์อยู่บนสุด จนสถาปนาทำให้การกระทำของสมบัติ เป็นการกระทำ “ความผิด/ความชั่ว” ที่ไม่สามารถปล่อยผ่านไปได้ เป็นพวกไม่รู้ที่ต่ำที่สูง จำเป็นต้องถูกลงโทษให้สาสม

.

วินิจฉัยประเด็นเดียวกันจากกระทำที่ต่างวาระกัน

คำพิพากษา อาจแฝงด้วยรูปแบบการเขียนซ้ำไปซ้ำมา เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนอ่านมีจินตนาการและสร้างความจริงขึ้นมาตามภาษาที่เขียนลงไปในคำพิพากษา การวินิจฉัยประเด็นที่ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์หรือไม่ จากการกระทำที่ต่างวาระกัน ย่อมมีส่วนให้ภาพของการกระทำ “ความผิด/ความชั่ว” ยิ่งปรากฏให้เห็นเด่นชัด เสมือนกับการตราหน้าให้จำเลยเป็นพวกไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง

ข้อความอีกส่วนหนึ่ง ที่ถูกนำมายกประกอบข้อกล่าวหาว่าสมบัติ กระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ คือ “เขาให้ลดงบประมาณที่เอาไปใช้จ่าย ไม่ใช่ลดตัวลงมาใกล้ชิดประชาชน เข้าใจอะไรผิดไหม เรื่องการลดตัวลงมาแนบสนิทชิดใกล้ประชาชนแบบที่เห็น แสดงให้เห็นว่ารู้ตัวสินะว่าคนเขาไม่เอา เลยต้องลงมาทำขนาดนี้ ถ้าจริงใจต้องทำมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทำเพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา แต่น่าจะช้าไปแล้วจริงๆ ละครหลังข่าวชัดๆ”  และข้อความที่ว่า “มีแจกลายเซ็นต์ด้วยเซเลปชัด ๆ” ซึ่งทั้งหมด สมบัติ โพสต์ไว้เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563

การพิจารณาศาลก็จัดวางให้ข้อความดังกล่าวเชื่อมโยงกับในหลวงรัชกาลที่ 10 ตามพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์แบบเสร็จสรรพ พร้อมทั้งวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ทั้งหมด “…แสดงให้เห็นถึง เจตนาของจำเลยได้ว่าต้องการสื่อให้บุคคลทั่วไปที่ได้อ่านข้อความเข้าใจว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ใช้งบประมาณแผ่นดินที่มากเกินความจำเป็น ประชาชนไม่ต้องการแล้ว จึงเสแสร้งทำตัวใกล้ชิดกับประชาชน เพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา ไม่ได้ทำด้วยความจริงใจ และเปรียบเทียบการที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานแก่ประชาชนเป็นดาราที่แจกลายเซ็น ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง ดังนี้ การโพสต์ข้อความดังกล่าวของจำเลยจึงไม่ใช่การติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แต่เป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์ต่อบุคคลที่สามด้วยข้อความอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์ทรงเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังอันเป็นการหมิ่นประมาท และยังมีความหมายเป็นการดูถูกด้อยค่าอันเป็นการดูหมิ่นด้วย…”[18]

ข้อสังเกต คือ การพิพากษาว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้างต้น ยังสะท้อนถึงการใช้ภาษาของการเมืองที่ศาลพยายามสถาปนาความจริงขึ้นมาอีกหนึ่งชุด ผ่านการตีความและพิเคราะห์ข้อความของจำเลยผ่านกรอบมโนทัศน์ทางการเมืองส่วนตัวของผู้พิพากษาเอง เพื่อให้สอดคล้องกับตัวบทบัญญัติกฎหมายหรือธงคำตอบที่ตนตั้งไว้ให้ได้มากที่สุด

ขณะเดียวกัน ยังปรากฏการผลักไสให้จำเลยต้องหลุดพ้นจากสถานะประชาชนคนไทย ด้วยการระบุให้ “…การกระทำของจำเลยไม่ใช่การติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ…” ทั้งนี้ เพื่อทำให้ท้ายที่สุด การพิพากษาลงโทษจำเลยนั้นสมเหตุสมผลและชอบธรรม เนื่องจากเมื่อจำเลยพ้นวิสัยของความเป็น “ประชาชนคนไทย” รัฐก็ไม่จำเป็นต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของจำเลยอีกต่อไป

.

.

บทส่งท้าย

การวิเคราะห์คำพิพากษาบางส่วนข้างต้น จะเห็นได้ว่า ตัวอย่างคำพิพากษานี้แฝงด้วยแง่มุมทางสุนทรียศาสตร์อยู่ไม่น้อย กล่าวคือ การทำคำพิพากษาของศาลในการลงโทษผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ผู้พิพากษาในฐานะผู้กระทำการทางกฎหมายย่อมอาศัยถ้อยคำ การจัดวางเค้าโครงเรื่อง และต้องผ่านการออกแบบการเขียนอย่างมีชั้นเชิง เพื่อทำให้กระบวนการยุติธรรมมีความน่าเชื่อถือ และสามารถโน้มน้าวให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกร่วมคล้อยตามและเห็นดีเห็นงามต่อคำตัดสินที่สั่งลงโทษจำเลย ขณะเดียวกัน ผู้พิพากษา แท้จริงก็เป็น “มนุษย์” ที่มีประสบการณ์แตกต่างกัน และไม่อาจหลุดพ้นจากอารมณ์ความรู้สึก อคติส่วนตัว รวมถึงอุดมการณ์ทางการเมืองได้ การวางโครงเรื่องและการออกแบบการเขียนคำพิพากษาจึงหนีไม่พ้นที่จะต้องตกอยู่ภายใต้ธรรมชาติดังกล่าว

การพิจารณาคำพิพากษาผ่านมุมมอง “ภาษาของการเมือง” ยังชวนให้เห็นอีกว่า ภาษาในคำพิพากษามีส่วนในการสถาปนาความจริงและสร้างชุดคำอธิบายความหมายต่อเรื่องต่างๆ เพื่อทำให้ “ความจริง” หรือชุดคำอธิบายอื่นๆ ที่ดำรงอยู่โดยรอบถูกตีตกและทำให้ไร้ความหมาย ไร้ความน่าเชื่อถือ ทำลายความชอบธรรมของอีกฝ่ายลง และเมื่อคำพิพากษาสามารถส่งผลเป็นการกำหนดกรอบความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคู่ความ การมีคำพิพากษาจึงเป็นการกระทำทางการเมืองประเภทหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

.


.

อ้างอิงท้ายบทความ

[1] กมลวรรณ ชื่นชูใจ, ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของ “ไพร่” ผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองในปี พ.ศ. 2553, วารสารนิติสังคมศาสตร์, 7(1) (2014) มกราคม-มิถุนายน 2557, 145 – 194.

[2] ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, สุนทรียศาสตร์กับการเมืองภาคประชาชน, (กรุงเทพมหานคร: โครงการจัดพิมพ์และเผยแพร่ผลงานวิจัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554), 51, 53 และ 56.

[3] กมลวรรณ ชื่นชูใจ, เรื่องเดียวกัน, 166.

[4] เรื่องเดียวกัน, 167.

[5] เรื่องเดียวกัน.

[6] เรื่องเดียวกัน, 168.

[7] เรื่องเดียวกัน.

[8] เรื่องเดียวกัน, 169

[9] เรื่องเดียวกัน.

[10] เรื่องเดียวกัน.

[11] ข่าวสาร, “เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม! จำคุก 6 ปี “สมบัติ ทองย้อย” คดี ‘กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ’”, 23 มิถุนายน 2565, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, https://tlhr2014.com/archives/45187 (สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2565)

[12] คำพิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้, คดีหมายเลขแดงที่ อ.657/2565.

[13] เรื่องเดียวกัน, 7 – 8.

[14] เรื่องเดียวกัน, 9.

[15] เรื่องเดียวกัน.

[16] เรื่องเดียวกัน.

[17] เรื่องเดียวกัน, 10.

[18] เรื่องเดียวกัน, 13.

.

X