จำคุก 9 ปี ไม่รอลงอาญา “จิรวัฒน์” พ่อค้าออนไลน์ คดี ม.112 เหตุแชร์ 3 โพสต์ ‘ผูกขาดวัคซีน-ตั๋วช้าง-คำปราศรัยมาย’ ก่อนลดเหลือ 6 ปี ก่อนศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกัน

6 ธ.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “จิรวัฒน์” (สงวนนามสกุล) พ่อค้าขายของออนไลน์วัย 32 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3), (5) กล่าวหาว่าแชร์โพสต์เฟซบุ๊กทั้งหมด 3 โพสต์เมื่อปี 2564 โดยเป็นโพสต์ของบุคคลทั่วไป 1 โพสต์ และเป็นโพสต์จากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” จำนวน 2 โพสต์ ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 3 กระทง จำคุก 9 ปี เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงลดเหลือ 6 ปี ไม่รอลงอาญา ก่อนส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องขอประกันตัว

ทบทวนสามโพสต์ที่แชร์และถูกกล่าวหา

ในคดีนี้มี ภัทรวรรณ ขำมา เป็นผู้กล่าวหา โดยจิรวัฒน์ระบุว่า ผู้กล่าวหาเป็นญาติทางฝั่งฝ่ายหญิงที่คบหากับตน โดยญาติคนดังกล่าวยังเป็นเลขาฯ ฝ่ายกฎหมายของ ศบค. ซึ่งทั้งคู่มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันก่อนหน้านี้

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 จิรวัฒน์เดินทางไปที่ สน.ยานนาวา เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยเขาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้แต่อย่างใด ก่อนพนักงานสอบสวนเรียกให้เขาไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (5) ด้วย

ต่อมา 8 ก.พ. 2565 สมพงษ์ ศรีธูป พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจิรวัฒน์

1. เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2564 จําเลยได้แชร์โพสต์จากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” ซึ่งปรากฏภาพของรัชกาลที่ 10 นายกรัฐมนตรี และมีภาพประกอบเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด พร้อมเนื้อความโดยสรุปเกี่ยวกับการที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมในโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก ทำให้ไม่สามารถรับวัคซีนที่มีคุณภาพเข้ามาได้ ในขณะที่การผลิตวัคซีนในไทยถูกผูกขาดโดยบริษัทที่มีรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้น 

2. เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2564 จำเลยได้แชร์โพสต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งในประเด็นเรื่อง #ตั๋วช้าง เป็นภาพหนังสือราชการ 4 ฉบับ และภาพของ ส.ส. รังสิมันต์ โรม ถือแผ่นกระดาษในมือทั้ง 2 ข้าง พร้อมข้อความประกอบโพสต์เกี่ยวกับเรื่องของตั๋วช้าง พร้อมตั้งคำถามว่า ลายเซ็นกำกับอาจเป็นของสมเด็จพระราชินี อีกทั้งยังมีลายเซ็นกำกับเหนือรหัส 904 พร้อมลิ้งค์ให้ไปอ่านเนื้อหาต่อบนทวิตเตอร์

3. เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 จําเลยได้แชร์โพสต์จากเพจ KTUK – คนไทยยูเค ซึ่งมีเนื้อหาเป็นถ้อยคำปราศรัยของ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ยืนยันว่าการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ควรต้องพูดถึงได้ทั้งในทางสรรเสริญและวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ประชาชนในฐานะที่เป็นกัลยาณมิตรที่ดีที่ต้องสามารถตักเตือนกษัตริย์ได้เมื่อออกนอกลู่นอกทาง

การสืบพยานมีขึ้นเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2566 และ 27-29 ก.ย. 2566 รวมทั้งหมด 4 นัด โดยจำเลยมีข้อต่อสู้ว่า การแชร์โพสต์ทั้งหมดเป็นเพียงการแบ่งปันข้อความเท่านั้น และจำเลยไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็นใด ๆ ต่อโพสต์ตามฟ้อง อีกทั้งข้อความที่แชร์ไม่เข้าข่ายเป็นความผิด เป็นเพียงการตำหนิรัฐบาล และตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ตามสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

อ่านบันทึกการต่อสู้คดี: บันทึกการต่อสู้คดี ม.112 ของ “จิรวัฒน์” พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์ เหตุแชร์ 3 โพสต์ ผูกขาดวัคซีน-ตั๋วช้าง-คำปราศรัยม็อบ24มีนา64

ศาลเห็นว่าแต่ละโพสต์ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์ ลงโทษจำคุกทุกข้อความ

วันนี้ (6 ธ.ค. 2566) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 403 ศาลอาญากรุงเทพใต้ จิรวัฒน์เดินทางมารอฟังคำพิพากษาพร้อมกับเพื่อน ๆ และสมาชิกในครอบครัวตามเวลาที่ศาลได้นัดหมายเอาไว้ ก่อนเวลาประมาณ 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษามีใจความสรุปได้ดังนี้

คดีนี้มีปัญหาให้ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว โจทก์นำสืบไปในทำนองเดียวกันว่า จำเลยได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กซึ่งเป็นชื่อของตนเอง เผยแพร่ข้อความและรูปภาพเป็นจำนวน 3 โพสต์ มาแสดงไว้ในบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยในแบบสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงและรับรู้ได้

โดยข้อความในโพสต์ที่ 1 ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่ารัชกาลที่ 10 ผูกขาดการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่ทรงถือหุ้นใหญ่อยู่และหาผลประโยชน์จากการจำหน่ายวัคซีนโควิด-19 กับประชาชน และทำให้คนไทยได้รับวัคซีนล่าช้า เป็นการดูหมิ่น ใส่ความ สร้างความเสียหายต่อพระเกียรติอย่างร้ายแรง ซึ่งทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ 

ข้อความในโพสต์ที่ 2 ซึ่งทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุธิดาฯ ทรงเข้ามามีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สร้างความเสียหายต่อพระเกียรติอย่างร้ายแรง ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระราชินี

และข้อความในโพสต์ที่ 3 ซึ่งเป็นการแผยแพร่คำปราศรัยของ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ ‘มายด์’ ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงขยายพระราชอำนาจเกินขอบเขตไม่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทรงเข้ามาแทรกแซงการเมืองการปกครอง แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และมีการโอนย้ายทรัพย์สินและกองทัพไปเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นการใส่ร้ายและสร้างความเสียหายต่อพระเกียรติอย่างร้ายแรง อันเป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่น ต่อพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพในพระองค์ ไม่ใช่เป็นการตั้งคำถามซึ่งแสดงความเคารพตามที่จำเลยมีข้อต่อสู้

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3), (5) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด 

จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 3 กระทง จำคุก 9 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุให้บรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 เหลือจำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 3 กระทง รวมจำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา

ภายหลังการอ่านคำพิพากษา ทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวจิรวัฒน์ระหว่างอุทธรณ์ ก่อนศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวของจำเลยไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำสั่งประกัน ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาอีก 2-3 วัน ก่อนจะทราบผล  ผลของคำสั่งศาลในวันนี้ ทำให้จิรวัฒน์จะต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที 

ต่อมาวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ของจิรวัฒน์: ขายของออนไลน์อยู่ดี ๆ ก็โดน ม.112 : สำรวจความรู้สึกหลังห้องพิจารณาคดีที่ 402 ของ “จิรวัฒน์” จำเลยคดีมาตรา 112

X