พิพากษาจำคุก “มายด์” 3 ปี ก่อนลดเหลือ 2 ปี – รอลงอาญา ยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดี 112 เหตุปราศรัยใน #ม็อบ24มีนา64 เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร 

วันที่ 31 ม.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรม ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีร่วมชุมนุมและปราศรัยใน #ม็อบ24มีนา64 #เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร จัดขึ้นโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม บริเวณสี่แยกราชประสงค์ 

ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความปราศรัยของจำเลยเป็นการกล่าวให้กษัตริย์เสื่อมเสีย และแม้จำเลยจะต่อสู้ว่าการปราศรัยของจำเลยมีเจตนาเพื่อต้องการจะแนะนำและตักเตือนสถาบันกษัตริย์ให้ธำรงอยู่ในความเหมาะสม โดยมีพยานหลักฐานเป็นเอกสารอ้างอิงมาต่อสู้ในชั้นศาล แต่จำเลยย่อมนำเอกสารต่าง ๆ ไปอ้างอิงในการกล่าวปราศรัยได้ และไม่มีเหตุจำเป็นต้องปราศรัยให้กษัตริย์เสื่อมเสีย การกระทำของจำเลยทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในสถาบันกษัตริย์ 

ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี พิเคราะห์แล้วจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และกำลังศึกษาอยู่ โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และยกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม

.

คดีนี้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียก 2 วัน หลังการชุมนุม คือลงวันที่ 26 มี.ค. 2564 โดยภัสราวลีไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ลุมพินี พร้อมด้วยทนายความและนักกิจกรรมรายอื่น ทั้งหมดเป็นผู้ขึ้นปราศรัยในเวทีการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 และถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมีเพียงภัสราวลีถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มอีก 1 ข้อหา เหตุเนื่องจากการแจ้งความร้องทุกข์ของประชาชน 2 ราย คือ วรวุฒิ มากมารศรี และแทนคุณ ปิตุภูมิ 

ต่อมา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 มียื่นฟ้องภัสราวลีเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 กล่าวหาว่าการชุมนุม เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ที่บริเวณแยกราชประสงค์ เป็นการชุมนุมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 และคำปราศรัยของจำเลยทำให้บุคคลที่ได้ฟังเข้าใจได้ว่ารัชกาลที่ 10 ทรงต้องการขยายพระราชอํานาจตามอําเภอใจ ทรงกําลังสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์, ทรงแยกกองทัพออกไปเป็นของพระองค์เอง ทรงใช้พระราชอํานาจเข้าไปแทรกแซงการเมืองและการปกครอง ทรงนําทรัพย์สมบัติของชาติไปเป็นของพระองค์เอง อันเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ต่อบุคคลที่สาม 

ภายหลังถูกฟ้อง มายด์ได้รับการประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดี และมีการสืบพยานไปทั้งหมด 6 นัดในระหว่างช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ฝ่ายโจทก์ได้นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 13 ปาก ส่วนจำเลยนำพยานเข้าเบิกความ 2 ปาก ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

ทั้งนี้ มายด์ต่อสู้คดีว่า ตนเพียงต้องการพูดถึงข้อกังวลที่ถูกพูดถึงในสังคมเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย โดยมีเจตนารมณ์เพียงอย่างเดียวคือต้องการให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาทางออก เพื่อคงไว้ซึ่งความเคารพศรัทธาในตัวสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งคำปราศรัยยังเป็นไปโดยสุภาพ ไม่มีถ้อยคำหยาบคาย

ย้อนดูบันทึกการสืบพยาน:  “มายด์ต้องการพูดถึงข้อกังวลในสังคม เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาทางออก” : บันทึกการต่อสู้คดี 112 ของ ‘ภัสราวลี’ กรณีปราศรัย 3 ประเด็นใน #ม็อบ24มีนา64

.

วันนี้ (31 ม.ค.2567) เวลา 08.50 น. ที่ห้องพิจารณาคดึ 703 มีสื่อมวลชนและประชาชนเดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาจำนวนมาก พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตอังกฤษเดินทางมาด้วย โดยมายด์ได้เดินทางมาพร้อมกับเพื่อน และทนายความ

เวลา 09.15 น. ศาลออกนั่งอ่านคำพิพากษา โดยเรียกให้จำเลยลุกขึ้นแสดงตัว ก่อนอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยเป็นเพียงผู้เข้าร่วมชุมนุม ไม่ได้เป็นผู้จัด ซึ่งมีหน้าที่จัดมาตรการรักษาความปลอดภัย และมาตรการรักษาความสะอาดป้องกันโรคโควิดในขณะนั้น และแม้พยานโจทก์จะเบิกความว่า จำเลยไม่สวมหน้ากากอนามัย และไม่เว้นระยะห่างจากผู้ชุมนุมที่มีนับ 1,000 คน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมแต่อย่างไร และไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นแอดมินเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งแชร์โพสต์เชิญชวนชุมนุมในวันเกิดเหตุ จึงให้ยกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ 

ในส่วนข้อหาตามมาตรา 112 เห็นว่า ข้อความปราศรัยของจำเลยเป็นการกล่าวให้กษัตริย์เสื่อมเสีย และแม้จำเลยจะต่อสู้ว่าการปราศรัยของจำเลยมีเจตนาเพื่อต้องการจะแนะนำ และตักเตือนสถาบันกษัตริย์ให้ธำรงอยู่ในความเหมาะสม 

และแม้จำเลยจะต่อสู้ในชั้นศาลโดยมีพยานหลักฐานเป็นเอกสารอ้างอิงข้อมูลคำปราศรัยของตนเองตามฟ้อง แต่ในการปราศรัย หากจำเลยมุ่งหมายจะเสนอข้อแนะนำ จำเลยย่อมนำเอกสารต่างๆ ไปอ้างอิงในการกล่าวปราศรัยได้ และไม่มีเหตุจำเป็นต้องกล่าวปราศรัยให้กษัตริย์เสื่อมเสีย การกระทำของจำเลยทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในสถาบันกษัตริย์ 

พิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี พิเคราะห์แล้วจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และกำลังศึกษาอยู่ เห็นสมควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี

ภายหลังฟังคำพิพากษา มายด์เปิดเผยว่า ตัวเองรู้สึกโล่งใจและดีใจที่ได้กลับไปใช้ชีวิตและทำงานต่อ 

อย่างไรก็ตาม ในคดีจากเหตุเดียวกันนี้ ได้แก่ คดีมาตรา 112 ของ จิรวัฒน์ (สงวนนามสกุล) ซึ่งหนึ่งในพฤติการณ์ที่ถูกฟ้อง เป็นการแชร์โพสต์จากเพจ ‘KTUK – คนไทยยูเค’ เนื้อหาเป็นคำปราศรัยของมายด์ ใน #ม็อบ24มีนา2564 นี้ โดยเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาต่อการแชร์โพสต์ดังกล่าวโดยศาลเห็นว่า “การเผยแพร่ข้อความดังกล่าว เป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่น ต่อพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่ใช่เป็นการตั้งคำถามซึ่งแสดงความเคารพ” ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 3 กระทง จำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งปัจจุบันเขาถูกคุมขังและไม่ได้ประกันตัวมาเกือบ 2 เดือนแล้ว 

X