ในวันที่ 31 ม.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรม ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีร่วมชุมนุมและปราศรัยใน #ม็อบ24มีนา64 #เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร จัดขึ้นโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม บริเวณสี่แยกราชประสงค์
ทบทวนไทม์ไลน์คดี: ตำรวจกล่าวหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนประชาชนอีก 2 ราย ไปกล่าวหา 112 เฉพาะมายด์ หมายเรียกออกอย่างรวดเร็ว
คดีนี้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกสองวันหลังการชุมนุม คือลงวันที่ 26 มี.ค. 2564 โดยภัสราวลีไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ลุมพินี พร้อมด้วยทนายความและนักกิจกรรมรายอื่น โดยทั้งหมดเป็นผู้ขึ้นปราศรัยในเวทีการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 โดยมีการระบุว่าคดีมี พ.ต.ต.สิทธิศักดิ์ สุดหอม เป็นผู้กล่าวหา
พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ มนัสชน สารวัตร (สอบสวน) สน.ลุมพินี ได้เป็นผู้นำคณะพนักงานสอบสวน แจ้งข้อหากับภัสราวลีใน 2 ข้อหาคือ “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 มาตรา 9 “ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด ในลักษณะที่อาจเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคโควิด-19”
โดยพบว่าในข้อหาตามมาตรา 112 นั้น มีประชาชน ชื่อ วรวุฒิ มากมารศรี และแทนคุณ ปิตุภูมิ เป็นผู้มากล่าวหาภัสราวลีไว้ เธอให้การปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา
30 ก.ย. 2564 อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 มีความเห็นสั่งฟ้องภัสราวลี โดยสรุปบรรยายกล่าวหาว่าการชุมนุม เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ที่บริเวณแยกราชประสงค์ เป็นการชุมนุมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19
โจทก์ยังกล่าวหาว่า จำเลยได้กล่าวปราศรัยทำให้บุคคลที่ได้ฟังเข้าใจได้ว่ารัชกาลที่ 10 ทรงต้องการขยายพระราชอํานาจตามอําเภอใจ ทรงกําลังสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์, ทรงแยกกองทัพออกไปเป็นของพระองค์เอง ทรงใช้พระราชอํานาจเข้าไปแทรกแซงการเมืองและการปกครอง ทรงนําทรัพย์สมบัติของชาติไปเป็นของพระองค์เอง อันเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ต่อบุคคลที่สาม
หลังศาลอาญากรุงเทพใต้รับฟ้อง ได้อนุญาตให้ประกันตัวภัสราวลี โดยใช้หลักทรัพย์ 200,000 บาท พร้อมกำหนด 2 เงื่อนไข คือ ห้ามกระทำการตามที่ถูกกล่าวหาหรือเข้าร่วมกิจกรรมใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายอันเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ และเธอต่อสู้คดีต่อมา
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาในคดี ม.112 ของ “จิรวัฒน์” โดยหนึ่งในพฤติการณ์ที่ถูกฟ้อง เป็นการแชร์โพสต์จากเพจ ‘KTUK – คนไทยยูเค’ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นคำปราศรัยของมายด์ ใน #ม็อบ24มีนา2564 นี้ โดยศาลเห็นว่า “การเผยแพร่ข้อความดังกล่าว เป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่น ต่อพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่ใช่เป็นการตั้งคำถามซึ่งแสดงความเคารพ” จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าคำพิพากษาของภัสราวลีในวันที่ 31 ม.ค. 2567 ที่จะถึงนี้ จะออกมาในทิศทางใด
ภาพรวมการสืบพยาน: โจทก์กล่าวหาว่าคำปราศรัยทั้ง 3 ประเด็นของจำเลยไม่ตรงกับความจริง-ใส่ร้ายให้คนเกลียดชังร.10 ด้านจำเลยต่อสู้ว่าตนเพียงต้องการพูดถึงข้อกังวลที่ถูกพูดถึงในสังคม ซึ่งต้องการให้ทุกฝ่ายร่วมหาทางออก ไม่ได้มีเจตนาจะดูหมิ่นหรือทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสีย
ในการพิจารณาคดี มีการสืบพยานไปทั้งหมด 6 นัด ฝ่ายโจทก์ได้นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 13 ปาก โดยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้กล่าวหา 1 ปาก, ประชาชนผู้กล่าวหา 2 ปาก, ตำรวจฝ่ายสืบสวน 2 ปาก, นักวิชาการและอาจารย์ผู้ให้ความเห็น 2 ปาก, ประชาชนผู้ให้ความเห็น 2 ปาก และพนักงานสอบสวน 4 ปาก โดยพยายามกล่าวหาว่าคำปราศรัยของจำเลยเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ ซึ่งพยานผู้ให้ความเห็นต่างเบิกความว่า คำปราศรัยทั้ง 3 ประเด็นของจำเลยไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทั้งยังบิดเบือนใส่ร้ายในหลวงร.10 ทำให้คนที่ได้รับฟังเกิดความเกลียดชังในตัวพระองค์
ด้านฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบจำนวน 2 ปาก คือ ตัวจำเลยเอง และเจ้าหน้าที่จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) โดยต่อสู้ว่า จำเลยเพียงต้องการพูดถึงข้อกังวลที่ถูกพูดถึงในสังคม เกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย เจตนารมณ์ของจำเลยมีเพียงอย่างเดียวคือต้องการให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาทางออก เพื่อคงไว้ซึ่งความเคารพศรัทธาในตัวสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งคำปราศรัยยังเป็นไปโดยสุภาพ ไม่มีถ้อยคำหยาบคาย
ตำรวจผู้กล่าวหา เห็นว่าจำเลยร่วมชุมนุมโดยไม่มีมาตรการป้องกันโรค แต่รับว่าไม่ได้สืบสวนว่ามีจำนวนคนติดเชื้อเท่าใด
พันตำรวจโทสิทธิศักดิ์ สุดหอม ผู้กล่าวหาในคดี ขณะเกิดเหตุ รับราชการอยู่ สน.ลุมพินี เบิกความว่า ฝ่ายสืบสวนได้สืบทราบว่าเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ประกาศเชิญชวนให้คนมาชุมนุมกันที่บริเวณแยกราชประสงค์ ในวันที่ 24 มี.ค. 2564 โดยแกนนำหลัก ได้แก่ เบนจา อะปัญ, อรรถพล บัวพัฒน์ และภัสราวลี หรือ มายด์ ธนกิจวิบูลย์ผล จำเลยในคดีนี้
พยานได้รับคําสั่งจากผู้กํากับ สน.ลุมพินี ในขณะนั้นให้ปฏิบัติหน้าที่ในวันดังกล่าว โดยได้ลงพื้นที่ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ในวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนประมาณ 20 นาย ฝ่ายจราจรประมาณ 40 นาย และฝ่ายป้องกันปราบปราม 100 นาย พยานมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนทั้งหมด ซึ่งแต่งกายนอกเครื่องแบบปะปนไปกับกลุ่มผู้ชุมนุม
ต่อมาเวลาประมาณ 16.46 น. ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมทยอยลงมาอยู่บนพื้นถนนราชดำริ บริเวณแยกราชประสงค์ ทำให้การจราจรไม่สามารถสัญจรไปมาได้ จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้นำรถยนต์กระบะเข้ามาบริเวณที่ชุมนุมจํานวน 2 คัน
เวลา 16.55 น. ผู้กำกับ สน.ลุมพินี ได้ประกาศให้ยุติการชุมนุม เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ยุติ ยังคงชุมนุมต่อ โดยได้นํารถยนต์กระบะสองคันดังกล่าวมาทําเป็นเวทีบริเวณกลางแยกราชประสงค์ จนเวลาประมาณ 17.25 น. ได้มีชาติชาย แกดำ ทําหน้าที่เป็นพิธีกร มีการเชิญผู้ปราศรัยขึ้นมาสลับสับเปลี่ยนกันปราศรัย และเวลา 18.00 ผู้ร่วมชุมนุมได้ร่วมกันร้องเพลงชาติโดยชูสามนิ้วระหว่างเคารพธงชาติ
พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ เห็นว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้ยืนเบียดเสียดกันโดยไม่ได้เว้นระยะห่างทางสังคม จนถึงเวลาประมาณ 20.25 น. หลังจากมีผู้ขึ้นปราศรัยไปแล้วประมาณ 7 ถึง 8 คน จำเลยในคดีนี้ได้ขึ้นปราศรัยบนหลังรถกระบะ ใช้เวลาประมาณ 20 นาที โดยพยานจับใจความได้คร่าว ๆ ว่าจำเลยพูดโจมตีเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล มีการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออก และเรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกจับไป
หลังจากที่จําเลยปราศรัยเสร็จก็มีผู้ขึ้นมาปราศรัยต่อ จนเวลาประมาณ 20.55 น. พิธีกรได้กล่าวยุติการชุมนุมเพื่อให้ประชาชนแยกย้ายกันกลับ หลังจากนั้นพยานกับฝ่ายสืบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานจากเฟซบุ๊กเพจ ‘Friends Talk’ และทํารายงานการสืบสวนเสนอผู้บังคับบัญชา
ตามรายงานนั้น พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกคือร่วมชุมนุมกันโดยไม่มีการขออนุญาต ไม่มีมาตรการป้องกันโรค ไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่มีการแจกหน้ากากอนามัย และไม่มีการแจกเจลแอลกอฮอล์ ซึ่งจากการลงพื้นที่ไปปะปนกับกลุ่มผู้ชุมนุม พบว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ประมาณ 1,200 คน
ผู้บังคับบัญชาได้มีคําสั่งให้พยานดําเนินการแจ้งความร้องทุกข์กับนักกิจกรรมหลายคน รวมทั้งจําเลยด้วย โดยไปแจ้งความกล่าวหาว่าร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ผู้ที่โพสต์ชักชวน ให้มาร่วมชุมนุมคือเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม แต่จำเลยจะเป็นแอดมินเพจดังกล่าวหรือไม่ พยานไม่ทราบ และกลุ่มดังกล่าวจะมีใครเป็นแกนนำนั้น พยานไม่ทราบ
พยานเห็นว่าผู้ที่มาร่วมชุมนุมทุกคนนั้นจะมีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนคนที่ไปจับจ่ายซื้อของในตลาดนัดจะมีความผิดหรือไม่ พยานไม่ทราบ
พยานยืนยันว่า บริเวณพื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก ผู้ชุมนุมในวันดังกล่าวมีทั้งคนที่ใส่และไม่ใส่หน้ากากอนามัย ส่วนในช่วงวันเกิดเหตุ จะมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เท่าใดนั้น พยานไม่ทราบ โดยพยานไม่ได้สืบสวนว่าจะมีผู้ติดเชื้อโควิดจากการชุมนุมหรือไม่ และไม่ได้เชิญเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อมาให้ความเห็นว่าการชุมนุมจะมีมาตรการป้องกันโรคตามแนวทางที่รัฐกำหนดหรือไม่
ภาพจาก ประชาไท
2 ประชาชนผู้กล่าวหาเชื่อ คำปราศรัยของจำเลยทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสีย แต่ไม่ทราบว่าสิ่งที่จำเลยพูดจะมีข้อเท็จจริงอย่างไร
วราวุธ มากมารศรี ผู้กล่าวหาที่ 2 เบิกความว่า พยานทราบว่าจะมีการชุมนุมในวันที่ 24 มี.ค. 2564 เวลา 17.00 น. โดยเชื่อว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวน่าจะมีการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากพยานเคยติดตามจำเลยมาก่อน และพฤติกรรมที่ผ่านมาของจำเลยมักจะกล่าวถึงรัชกาลที่ 10
ในวันเกิดเหตุพยานไม่ทราบว่ามีใครขึ้นปราศรัยบ้าง จึงได้ส่งเพื่อนซึ่งอยู่ในกลุ่ม “ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน” (ศปปส.) เข้าไปสังเกตการณ์ในพื้นที่ชุมนุม จนเวลาประมาณ 19.30 น. จำเลยก็ได้ขึ้นปราศรัย
พยานไม่ได้ไปในการชุมนุมด้วยตัวเอง จึงดูผ่านการถ่ายทอดสดในเฟซบุ๊ก และจับประเด็นการปราศรัยของจำเลยได้ 3 ประเด็น คือ 1. หนึ่งประเทศมีกองทัพเดียว จะแยกไปเป็นของตนเองไม่ได้ 2. พระมหากษัตริย์ทรงแทรกแซงการเมือง 3. กล่าวหาว่าพระมหากษัตริย์ทรงนำเอาสมบัติของชาติไปเป็นของตนเอง ซึ่งพยานเห็นว่าสิ่งที่ปราศรัยไม่เป็นความจริง และเป็นการกล่าวใส่ร้ายพระองค์ท่าน
พยานรู้สึกไม่สบายใจ เพราะพระองค์ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่จำเลยกลับนำความเข้าใจผิดมาสู่ประชาชนและผู้ที่ฟังการปราศรัย ทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย จึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์ที่ สน.ลุมพินี ในวันที่ 25 มี.ค. 2564
ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานกล่าวว่า ตนกับเพื่อนเป็นสมาชิกกลุ่ม ศปปส. ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไปแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยในคดีนี้และประชาชนคนอื่นที่เห็นว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 อีกหลาย 10 คดี
พยานไม่รู้และไม่ทราบเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทัพส่วนพระองค์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จะอนุญาตให้พระมหากษัตริย์มีกองทัพในสังกัดของตนเองหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ
พยานรับว่า ในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่เคยมีข่าวการโอนย้ายกองกำลังไปเป็นส่วนของพระองค์ ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 10 จะมีพระราชกําหนดให้โอนอัตรากําลังพลและงบประมาณของกองทัพบางส่วนไปสังกัดส่วนราชการในพระองค์หรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ
ในปี 2562 พรรคไทยรักษาชาติจะมีการเสนอทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ และภายหลังการเสนอชื่อดังกล่าว รัชกาลที่ 10 จะทรงมีประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่าไม่ให้สมาชิกขั้นสูงของสถาบันไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ ส่วนพรรคไทยรักษาชาติจะมีการถูกยุบพรรคด้วยเพราะเหตุใดนั้น พยานก็ไม่ทราบ
ภายหลังการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 10 จะมีการออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งกำหนดให้โอนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์หรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ แต่พยานเข้าใจว่าทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของพระองค์
ส่วนสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะมีการโอนทรัพย์สินที่เดิมถือครองในนามสํานักงานทรัพย์สินฯ ไปเป็นของในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่เพียงผู้เดียวหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ
สิ่งที่จําเลยปราศรัยว่า “ทรัพย์สมบัติของชาติที่ท่านเอาไป ปัจจุบันอยู่ในนามของท่านก็ขอโอนกลับสู่ประชาชนเสียโดยไว” จะเป็นจริงหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ
เกี่ยวกับเรื่องสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ถือเป็นประโยชน์สาธารณะที่ประชาชนใช้ได้หรือไม่ พยานไม่ทราบ และพยานไม่ทราบว่า ประชาชนจะสามารถพูดถึงเรื่องดังกล่าวได้หรือไม่
ก่อนที่จะมาแจ้งความร้องทุกข์ พยานได้ทําการตรวจสอบคําปราศรัยจากคลิปที่จําเลยพูด แต่ไม่ได้ตรวจสอบทั้งหมด พยานดูเพียงแค่บางคลิป ไม่ได้ดูว่าสิ่งที่จําเลยพูดนั้นจะมีข้อเท็จจริงอย่างไร หรือมีพยานหลักฐานอย่างไร
แทนคุณ ปิตุภูมิ ผู้กล่าวหาที่ 3 เบิกความว่า เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2564 พยานได้ข่าวจากกลุ่มเพื่อนปกป้องสถาบันกษัตริย์ว่าจะมีการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ในวันที่ 24 มี.ค. 2564 เวลาประมาณ 17.00 น. พยานจึงได้พูดคุยกับเพื่อนในกลุ่มว่า ตนอยู่ต่างจังหวัด ไม่สามารถเข้าไปสังเกตการณ์ในพื้นที่ชุมนุมได้ ให้คนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ไปสังเกตการณ์และเก็บหลักฐานนำมาส่งให้พยาน โดยในการชุมนุมครั้งนี้จะมีจำเลยขึ้นปราศรัยด้วย ซึ่งจากการติดตามของพยาน โดยส่วนมากมักจะมีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์อยู่บ่อยครั้ง
หลังจากที่เพื่อนของพยานไปสังเกตการณ์ในพื้นที่ชุมนุม ก็มีการส่งหลักฐานทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวมาให้พยานดู โดยระหว่างที่รอเพื่อน พยานก็ดูการปราศรัยจากสื่อโซเชียลอยู่ที่บ้านไปด้วย
พยาน เห็นว่าคำปราศรัยของจำเลยมีการอ้างว่าพระมหากษัตริย์ออกนอกลู่นอกทางเกินไป ในฐานะประชาชนจึงควรที่จะตักเตือนท่านได้ และบางช่วงของคำปราศรัยก็จะมีการอ้างว่า พระองค์ท่านทรงทุ่มเทหมดหน้าตักเพื่อที่จะคงไว้ซึ่งพระราชอำนาจของท่าน ทรงแต่งตั้งกองทัพของตนเอง ทรงแทรกแซงการเมือง และทรงเอาทรัพย์สมบัติของชาติไปเป็นของตน
การที่จำเลยปราศรัยในลักษณะนี้ อาจทำให้คนที่ไม่รู้ข้อมูลความจริง มองสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ดี และทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสีย พยานจึงรู้สึกไม่สบายใจ และได้เดินทางมาที่ สน.ลุมพินี เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลย
ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานเบิกความว่า ตนไปแจ้งความกล่าวโทษจำเลย โดยนำหลักฐานเป็นภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวไปมอบให้ตำรวจ แต่ไม่ได้นำพยานหลักฐานอื่นที่จะยืนยันว่าสิ่งที่จำเลยกล่าวมาทั้งหมดเป็นความเท็จไปประกอบการแจ้งความ
เกี่ยวกับเรื่องที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงรับสั่งให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหลังจากที่ผ่านการลงประชามติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พยานกล่าวว่าตนไม่ทราบในเรื่องดังกล่าว และพยานไม่ทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติแล้ว องค์พระมหากษัตริย์จะสามารถแก้ไขได้หรือไม่ ทั้งไม่ทราบว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกแก้ไขจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
เกี่ยวกับเรื่องพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์จะมีอย่างไรบ้างนั้น พยานไม่ทราบ และในหลวงจะทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องที่เยาวชนออกมาเคลื่อนไหวอย่างไรนั้น พยานไม่ทราบ
พยานรับว่าไ่ม่ได้ดูการปราศรัยทั้งหมดของจำเลย โดยสิ่งที่จําเลยพูดนั้นจะเป็นจริงหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ แต่พยานเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรพูด
ผกก.สน.ลุมพินี เห็นว่าผู้ชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ไม่มีการเว้นระยะห่าง แต่รับว่าไม่เคยผ่านการอบรมเรื่องมาตรการเกี่ยวกับโควิด
พันตำรวจเอกจักรกริศน์ โฉสูงเนิน ขณะเกิดเหตุ เป็นผู้กำกับ สน.ลุมพินี เบิกความระบุว่า ได้รับข้อมูลจากฝ่ายสืบสวนว่า เพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มีการเผยแพร่ทางออนไลน์ว่าจะมีการนัดชุมนุมในวันที่ 24 มี.ค. 2564 เวลา 17.00 น. บริเวณแยกราชประสงค์
จากนั้นพยานได้วางแผน จัดกำลังฝ่ายสืบสวน เพื่อทำหน้าที่หาข่าวและรวบรวมพยานหลักฐานในที่ชุมนุม โดยมีกำลังฝ่ายสืบสวนจาก สน.ลุมพินี ประมาณ 50 นาย และ สน. ใกล้เคียงอีกประมาณ 300 นาย ซึ่งแต่งกายนอกเครื่องแบบและในเครื่องแบบปะปนกันไป
พยานเดินทางไปถึงพื้นที่ชุมนุมในเวลา 15.30 น. โดยอยู่บริเวณที่ทำการส่วนหน้า ตั้งอยู่ภายในโรงแรม Holiday Inn ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่ชุมนุมประมาณ 50 เมตร และในเวลา 16.46 น. ได้รับแจ้งว่ามีรถกระบะ 2 คัน มาจอดที่บริเวณแยกราชประสงค์
ต่อมา 16.55 น. พยานได้รับแจ้งว่า มีผู้ชุมนุมลงมาบนพื้นผิวจราจร พยานกับพวกจึงเดินทางไปเพื่ออ่านประกาศของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และแจ้งให้ทราบว่า ห้ามชุมนุมทำกิจกรรมรวมกลุ่มที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พอประกาศเสร็จก็มีเสียงโห่ไล่ของมวลชน จนทำให้พยานต้องออกจากพื้นที่ จากนั้นรถกระบะทั้ง 2 คันจึงถูกใช้เป็นเวทีปราศรัย โดยมีเครื่องขยายเสียงอยู่ด้วย
เวลา 17.25 น. ชาติชาย แกดำ ขึ้นมาปราศรัยเป็นคนแรก โดยทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ มีการกล่าวนำว่าจะมีใครขึ้นปราศรัยบ้าง และหลังจากที่ปราศรัยเสร็จ ก็จะมีการกล่าวสรุปเนื้อหาด้วย โดยมีการสลับสับเปลี่ยนกันปราศรัยจนถึงเวลาประมาณ 21.05 น. จึงได้ประกาศยุติการชุมนุม
ภายหลังยุติชุมนุม พยานได้สั่งการให้ฝ่ายสืบสวนจัดทำรายงานการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมสั่งการให้ พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ สุดหอม ไปแจ้งความดำเนินคดีกับคนที่ขึ้นปราศรัยประมาณ 11 คน รวมจำเลยด้วย ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
พยานเห็นว่า กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้มีการจัดการเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรค ผู้ชุมนุมมีทั้งผู้ที่ใส่และไม่ใส่หน้ากากอนามัย และขณะชุมนุมก็ไม่ได้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม
ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า ตนไม่เคยผ่านการอบรมเรื่องมาตรการเกี่ยวกับโรคติดต่อโควิด-19 และไม่ได้เรียกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาสอบสวน ว่าจุดที่จำเลยปราศรัยจะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 อย่างไร และไม่ปรากฏว่าภายหลังจากการชุมนุมจะมีผู้ติดเชื้อโควิด-19
หลังจากอ่านประกาศให้ยุติชุมนุม พยานก็ได้กลับเข้าไปยังที่ทำการส่วนหน้า ไม่ได้อยู่ในจุดเกิดเหตุที่แยกราชประสงค์ต่อ โดยในตอนที่อ่านประกาศ จำเลยไม่ได้อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ และประกาศที่พยานนำอ่านก็ไม่ได้มีการระบุชื่อบุคคลใด
พยานรับว่า รถกระบะที่จำเลยใช้ปราศรัย มีระยะห่างจากผู้ชุมนุมประมาณ 3-4 เมตร จำเลยปราศัยโดยยืนอยู่บนท้ายรถกระบะไม่ได้ลงไปปะปนกับผู้ชุมนุมคนอื่น พยานรับอีกว่า จำเลยไม่ได้เป็นแกนนำของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และจากรายงานการสืบสวนก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีส่วนร่วมในการจัดงาน
พันตำรวจตรีหัตถพล เทพภักดี ขณะเกิดเหตุ เป็นรองสารวัตรสืบสวน สน.ลุมพินี เบิกความว่า ตนได้รับมอบหมายให้เฝ้าระวัง และติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่ สน.ลุมพินี โดยก่อนเกิดเหตุ ทราบว่าเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้ประกาศเชิญชวนให้คนมาชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ในวันที่ 24 มี.ค. 2564 เวลา 17.00 น. และมีการประกาศว่าใครจะขึ้นปราศรัยบ้าง โดยมีจำเลยในคดีนี้ด้วย
พอทราบข้อมูลแล้ว พยานได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และได้รับคำสั่งให้ออกสืบหาข่าวบริเวณพื้นที่ชุมนุม โดยพยานและฝ่ายสืบสวนทั้งหมดประมาณ 20 คน แต่งกายนอกเครื่องแบบ ลงพื้นที่เวลา 16.00 น. ต่อมา 16.46 น. ได้มีรถกระบะบรรทุกเครื่องเสียง 2 คัน เข้ามาจอดบริเวณแยกราชประสงค์ โดยตำรวจได้เข้าตรวจสอบและเปรียบเทียบปรับในข้อหาเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จราจรฯ
จากนั้นกลุ่มมวลชนได้ลงบนพื้นผิวจราจร ทำให้การจราจรติดขัด รถไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ผู้กำกับฯ สน.ลุมพินี ได้เข้ามาชี้แจงกับกลุ่มผู้ชุมนุมว่าการชุมนุมดังกล่าวฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ขอให้ยุติ แต่ผู้ชุมนุมยังคงมีการชุมนุมต่อไป
ต่อมา 17.25 น. ชาติชาย แกดำ ได้ขึ้นมาทำหน้าที่พิธีกร และมีแกนนำสลับสับเปลี่ยนกันปราศรัย จนถึงเวลา 21.05 น. ชาติชายได้ประกาศยุติการชุมนุม พยานจึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน เป็นคลิปวิดีโอในวันเกิดเหตุ โดยรวบรวมจากเพจเฟซบุ๊ก “Friends Talk” เพื่อนำมาถอดเทปคำปราศรัย
จากการรวบรวมพยานหลักฐาน พบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้จัดมาตรการป้องกันโรคตามที่กำหนด ทั้งยังไม่มีการเว้นระยะห่าง ผู้ขึ้นปราศรัยรวม 11 คน จึงถือได้ว่าเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมที่มีความแออัด อาจเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคโควิด-19
ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า ในการดำเนินคดีจะเลือกเฉพาะคนที่ปราศรัย ส่วนคนที่จัดการชุมนุมคือกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งพยานทราบว่าจำเลยไม่ได้เป็นแกนนำของกลุ่มดังกล่าว และคนที่ขึ้นปราศรัย ก็ไม่ได้มีหน้าที่ขออนุญาตจัดกิจกรรม เพราะเป็นแค่แขกรับเชิญ
พยานรับว่า จำเลยอยู่บนที่สูงและอยู่ไกลจากผู้ชุมนุม โดยมีระยะห่างไม่ต่ำกว่า 3-4 เมตร ไม่ทราบว่า พื้นที่ในการชุมนุมทั้งหมดมีกี่ตารางเมตร และกลุ่มผู้ชุมนุมจะใช้พื้นที่ในการชุมนุมเท่าใด พยานก็ไม่ทราบ
อานนท์ นิดา เห็นว่าจำเลยปราศรัยไม่ตรงข้อเท็จจริง ทั้งเป็นการดูหมิ่น ใส่ร้าย นำไปสู่ความเกลียดชังต่อพระมหากษัตริย์
อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับคำปราศรัย เบิกความว่า คดีนี้เหตุเกิดที่แยกราชประสงค์ โดยพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ได้โทรศัพท์ติดต่อพยานไปให้ปากคำในคดี ม.112 โดยบอกว่าจำเลยในคดีคือ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล
พนักงานสอบสวนได้นำคลิปวิดีโอ และบันทึกถอดเทปคำปราศรัยมาให้พยานอ่าน พยานเห็นว่าเป็นข้อความที่หมิ่นองค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” และเป็นความผิดตาม มาตรา 112 อีกด้วย
พนักงานสอบสวนได้ให้พยานขีดเส้นใต้ข้อความที่คิดว่าเป็นการหมิ่นฯ และให้เขียนเลขที่บรรทัดกำกับไว้ด้วย โดยที่จำเลยกล่าวหาว่า การขยายพระราชอำนาจเพื่อให้กษัตริย์ทำตามอำเภอใจ คือการขยับห่างออกจากความเป็นกษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เป็นการกล่าวหาว่าพระเจ้าแผ่นดินกระหายอำนาจ ต้องการขยายอำนาจ นอกจากนี้ยังไร้เหตุผล เพราะทำตามอำเภอใจ และยังโจมตีว่าทรงไม่เป็นประชาธิปไตย ครองตนด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นประมุข ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่มีหลักฐานและเป็นการดูหมิ่น
พยานเห็นว่า การกล่าวหาว่าพระองค์ทรงขยายพระราชอำนาจนั้นไม่เป็นความจริง เพราะท่านทรงใช้อำนาจตาม มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” โดยการกระทำใดที่เป็นราชการแผ่นดินนั้นต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ส่วนการใดที่เป็นราชการส่วนพระองค์ ไม่จำเป็นต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อันเป็นไปตาม มาตรา 182 ของรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีหลักการในการใช้พระราชอำนาจว่า ‘The King Can Do No Wrong’ ดังนั้น สิ่งที่กล่าวหาว่าทรงขยายพระราชอำนาจจึงไม่เป็นความจริง
นอกจากนี้ การกล่าวหาว่าทรงพยายามกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นการดูหมิ่นว่า ทรงคร่ำครึและทรงโลภ ไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
ข้อความที่จำเลยกล่าวว่า “ท่านต้องการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลับมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงหรือเปล่า เรื่องนี้ท่านต้องคิดดู” เป็นข้อความที่เป็นเท็จ และเป็นการดูหมิ่น เพราะในหลวงรัชกาลที่ 10 ท่านทรงจบนิติศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ดังนั้นจึงเป็นนักกฎหมายผู้หนึ่ง การกล่าวหาว่านักกฎหมายทำการละเมิดกฎหมาย เป็นการดูหมิ่นอย่างร้ายแรง
ส่วนที่จำเลยปราศรัยว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงแยกกองทัพไปเป็นของตัวเอง และทรงแทรกแซงอยู่เบื้องหลังกลุ่มก้อนทางการเมือง ทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจที่ทรงเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง พยานเห็นว่าไม่เป็นเรื่องจริง เนื่องจากหน่วยราชการในพระองค์จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560
ในหน่วยราชการในพระองค์ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน คือ 1.สำนักงานองคมนตรี 2.สำนักพระราชวัง 3.หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ตามมาตรา 3 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งตามกฎหมาย มีหน้าที่ในการวางแผน อำนวยการ ประสานงาน บังคับบัญชา ควบคุม และกำกับดูแลการปฏิบัติงานในการถวายอารักขา และถวายพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ และบุคคลอื่นตามที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบหมาย รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ทางพระราชพิธีตามที่ได้รับมอบหมาย และการรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตพระราชฐาน ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการถวายรักษาความปลอดภัย
ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.ก. นี้ จะเห็นได้ว่าหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ไม่ได้มีหน้าที่รบทัพจับศึก หรือทำหน้าที่เป็นกองทัพส่วนพระองค์ ทั้งนี้ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ มีบุคลากรเพียง 8,000 นาย ขณะที่กองทัพไทยมีบุคลากรนับแสนนาย การกล่าวหาว่าเป็นกองทัพส่วนพระองค์จึงเป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย
นอกจากนี้การโอนอัตรากำลังพลที่จำเลยกล่าวถึง ยังเป็นไปตาม พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 ซึ่งอาศัยอำนาจตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 172 ในการโอนกำลังพลและงบประมาณของหน่วยงานดังกล่าว เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
เจตนารมณ์ของกฎหมายได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า เพื่อให้การประสานงานเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งเป็นการโอนหน่วยงานที่กระจัดกระจายเกี่ยวกับการดูแลพระองค์เข้ามาอยู่ด้วยกันเพื่อให้เกิดเอกภาพในการบังคับบัญชา เนื่องจากแต่เดิมหน่วยงานเหล่านี้มีผู้บังคับบัญชา แต่มาถวายงานองค์พระมหากษัตริย์ แต่พอรวมมาเป็นหนึ่งหน่วยงานก็จะมีผู้บังคับบัญชาคนเดียว ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ส่วนที่กล่าวหาว่า ทรงแทรกแซงทางการเมืองนั้น ก็เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง เพราะองค์พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทรงอยู่เหนือการเมือง ซึ่งเป็นเช่นนี้ตั้งแต่รัชกาลที่ 7 จนถึงปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ ฉบับลงวันที่ 8 ก.พ. 2562 ซึ่งอธิบายรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ว่าองค์พระมหากษัตริย์นั้นอยู่ในสถานะที่ล่วงละเมิดไม่ได้ ต้องทรงอยู่เหนือการเมือง และเป็นการอธิบายประกาศพระบรมราชโองการ คือ ห้ามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ทรงตำแหน่งใด ๆ ทางการเมือง เพราะจะขัดกับรัฐธรรมนูญและประเพณีการปกครอง ดังนั้นข้อกล่าวหานี้จึงเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงและหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์
ที่จำเลยปราศรัยว่าเกี่ยวกับโอนทรัพย์สมบัติของชาติ ไปเป็นของส่วนพระองค์ พยานเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ และใส่ร้ายว่าฉ้อโกง แย่งชิงทรัพย์สินของประชาชนไปเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นการดูหมิ่นอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ไม่ได้เป็นการปฏิวัติบอลเชวิค ดังนั้นทุกคนยังสามารถถือครองทรัพย์สินเป็นของตนเองได้อยู่ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ก็เป็นของท่านเช่นเดิม และ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ยังระบุไว้อย่างชัดเจนและแสดงหลักกรรมสิทธิ์ว่า ทรัพย์สินส่วนพระองค์และส่วนพระมหากษัตริย์ยังเป็นขององค์พระมหากษัตริย์เช่นเดิม เพราะ มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้บัญญัติว่า
“รายได้จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 5 วรรค 2 นั้น จะจ่ายได้ก็แต่เฉพาะในประเภทรายจ่ายที่ต้องจ่ายตามข้อผูกพัน รายจ่ายที่เป็นเงินเดือน บำเหน็จ บำนาญ เงินรางวัล เงินค่าใช้สอย เงินการจร เงินลงทุน และรายจ่ายในการพระราชกุศล เหล่านี้เฉพาะที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วเท่านั้น”
ตามมาตรา 6 วรรค 2 นั้นเป็นการแสดงหลักกรรมสิทธิ์ เพราะว่าผู้ที่สามารถใช้จ่าย จากกำไร ดอกผลทั้งหมดของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็ใช้ได้แต่องค์พระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย แสดงว่าทรงเป็นเจ้าของ
เช่นเดียวกับ มาตรา 7 “ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 6 ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะโอนหรือจำหน่ายได้ก็แต่เพื่อประโยชน์ขแก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และโดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตหรือเพื่อสาธารณประโยชน์อันได้มีบทกฎหมายให้โอนหรือจำหน่ายได้เท่านั้น” เจ้าของกรรมสิทธิ์จึงมีสิทธิ์จำหน่ายจ่ายโอนได้ผู้เดียว
หลักดังกล่าวยังคงอยู่ใน พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ที่ยังคงหลักกรรมสิทธิ์เช่นเดิม ทั้งในทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ใน มาตรา 5 และ 6 เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 ก็ยังคงหลักการในเรื่องกรรมสิทธิ์ดังกล่าว ดังนั้นการกล่าวหาว่าเป็นการแย่งชิงสมบัติของประชาชนไปเป็นส่วนตัวจึงเป็นความเท็จ ทำให้ประชาชนมองว่าพระมหากษัตริย์ทรงโลภและฉ้อโกง อันนำไปสู่ความเกลียดชัง
และที่จำเลยกล่าวว่า “ท่านจะขยายพระราชอำนาจไปจนสุดขอบฟ้าเพื่ออะไรและเพื่อใคร” พยานเห็นว่าเป็นการกล่าวหาว่าว่าทรงกระหายอำนาจ และขยายพระราชอำนาจอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อันจะทำให้ประชาชนไม่ชอบ ซึ่งเป็นการดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์
ในตอนท้ายของคำปราศรัยที่จำเลยมีการอ่านกลอนซึ่งมีข้อความว่า “มุ่งหมายตามล่าล้างดุจมิใช่คน หมายมุ่งปราบมวลชนลูกหลาน จบแล้วซึ่งอดทนกดขี่ ทวยราษฎร์เลิกหมอบกราบ หมดสิ้นกษัตรา … ” เป็นข้อความที่กล่าวหาว่าพระองค์ทรงโหดร้าย ปราศจากความเมตตา ต้องออกหมายมุ่งล่าสังหารชีวิตผู้คน กดขี่ข่มเหง อันเป็นการดูหมิ่น และไม่ตรงกับความเป็นจริง
พยานยืนยันว่า ข้อความทั้งหมดที่พยานให้ความเห็นไปเป็นความผิดตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า จำเลยกล่าวคำปราศรัยโดยสุภาพและไม่มีคำหยาบคาย
พยานกล่าวว่า กองทัพไทยประกอบด้วย 4 เหล่าทัพ ซึ่งแต่เดิม หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์อยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม ขึ้นตรงต่อกองทัพไทย แต่หลังจากมี พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ก็มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบังคับบัญชา โอนมาเป็นหน่วยราชการในพระองค์ ซึ่งการโยกย้ายดังกล่าวไม่ได้มีในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10
ในเรื่องการจัดการพระราชสมบัติ ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ทรัพย์สินแบ่งออกเป็น 3 กอง ตามมาตรา 4 ต่อมามีการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีการเปลี่ยนจาก 3 กอง เหลือ 2 กอง ตามมาตรา 4 เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งตาม มาตรา 10 วรรค 2 กำหนดว่าให้ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัตินี้
พยานกล่าวว่า ที่จำเลยพูดเกี่ยวกับเรื่องสาธารณสมบัตินั้นไม่ถูกต้อง เพราะใน พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 มาตรา 4 ได้นิยามทรัพย์สินส่วนสาธารณะสมบัติ เอาไว้ว่า ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่าพระราชวัง ซึ่งเป็นการยืนยันว่าทรัพย์สินสาธารณะสมบัติก็ยังเป็นทรัพย์ของพระมหากษัตริย์ แต่พยานเห็นว่า การให้นิยามกฎหมายโดยใช้คำว่า ‘เป็นต้นว่า พระราชวัง’ เป็นวิธีการไม่ดีนัก เพราะกฎหมายต้องอธิบายหลักทั่วไป ไม่ใช่การยกตัวอย่าง ดังนั้น ฉบับ พ.ศ. 2560 ก็เลยรวมเข้าด้วยกัน เพราะนิยามมันไม่ชัดเจนตั้งแต่ต้น มีการรวมกองเข้าไป ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องกรรมสิทธิ์
พยานรับว่า มีการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 ด้วย ซึ่งคล้ายกับฉบับ พ.ศ. 2560 มาก คือหลังจากออกฉบับ พ.ศ. 2561 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ คือการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทอย่าง SCB, SCG ซึ่งพยานเห็นว่าเป็นสิทธิที่พระองค์จะทำได้ เพราะเป็นทรัพย์สินของท่านตามเอกสารแบบ 56-1 แบบแสดงรายการผู้ถือหุ้น ซึ่งผู้ถือหุ้นอันดับ 1 เป็นสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ต่อมาในปี 2561 เป็นรัชกาลที่ 10 พระองค์เดียว ไม่มีชื่อสำนักงานทรัพย์สินฯ แล้ว
การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ สร้างความตกใจต่อประชาชนจำนวนมาก มีการออกข่าวคำชี้แจงจากสำนักงานทรัพย์สินฯ ว่าทำไมถึงต้องมีการเปลี่ยนชื่อ และเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินจาก 3 กอง กลายมาเป็น 2 กอง กับการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับที่จำเลยปราศรัย แต่พยานเห็นว่า จำเลยใช้ถ้อยคำที่ไม่ถูกต้อง เป็นการกล่าวให้ประชาชนเข้าใจผิด เกลียดชังในตัวพระองค์
พยานเห็นว่า การเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เป็นแคนดิเดทนายกของพรรคไทยรักษาชาติ ถือเป็นกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง สามารถกระทำได้ แต่ก็ผิดกฎหมาย ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ
ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัย ได้มีประกาศของสถาบันพระมหากษัตริย์ พยานเห็นว่า ประกาศดังกล่าวไม่เกี่ยวกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่เคยเห็นประกาศดังกล่าวในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 แต่เห็นว่าการประกาศพระบรมราชโองการไม่ใช่ของใหม่ เป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมเนียมการประกาศพระบรมราชโองการ ซึ่งมีมาตลอดทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่ตัวประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นของใหม่ ไม่เคยมีการประกาศมาก่อน
พยานรับว่า ตามมาตรา 15 ของ พ.ร.ฎ.จัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ได้มีการเขียนเรื่องการบริหารราชการในพระองค์ไว้ว่า “การดำเนินการเกี่ยวกับราชการในพระองค์และการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อการนี้จะทรงกำหนดหรือทรงมอบหมายให้ข้าราชการในพระองค์ผู้ใดเป็นผู้ลงนามในหมายรับสั่งเพื่อรับผิดชอบในการนำไปปฏิบัติต่อไปก็ได้”
พยานรับอีกว่า ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญมีการจัดทำประชามติ และมีการเห็นชอบจากประชาชนแล้ว และพยานก็ได้เคยไปโหวตผ่านร่างรัฐธรรมนูญด้วย โดยภายหลังจากการทำประชามติดังกล่าว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้มีรับสั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก่อนที่จะมีการปรับใช้ โดยแก้ไขหมวด 2 ในส่วนสถาบันพระมหากษัตริย์
พยานเห็นว่า สิ่งที่พยานได้ให้ความเห็นไปทั้ง 3 ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการหน่วยราชการในพระองค์ เรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินที่มีการยุบรวมจาก 3 กองเป็น 2 กอง และเรื่องเกี่ยวกับการแทรกแซงทางการเมือง ไม่สอดคล้องกับที่จำเลยปราศรัย เพราะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ถึงจะสอดคล้องก็เป็นการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ และทำให้ประชาชนเกิดความเกลียดชัง
พยานรับว่า หลังจากที่พยานได้อ่านข่าว ได้อ่านบันทึกถอดเทป และได้โต้แย้ง พยานก็ไม่ได้มีความรู้สึกเกลียดชังหรือเกิดการดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ เนื่องจากพยานรู้ข้อเท็จจริงเพียงพอ แต่สำหรับประชาชนที่ไม่มีความรู้เพียงพอ อาจจะทำให้เชื่อในสิ่งที่จำเลยพูด และเข้าใจผิดในตัวพระองค์ท่านได้
นักวิชาการอิสระด้านภาษา เห็นว่าจำเลยแสดงความอาฆาตมาดร้าย ทั้งปรักปรำว่าทรงแทรกแซงการเมือง-การทหาร-ยึดทรัพย์แผ่นดิน
ตรีดาว อภัยวงศ์ นักวิชาการอิสระ ผู้ให้ความเห็นด้านภาษา เบิกความว่า พยานได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี เมื่อกลางปี 2564 เพื่อเชิญไปให้การเป็นพยาน โดยเมื่อไปถึง สน.ลุมพินี พนักงานสอบสวนได้นำบันทึกถอดเทปคำปราศรัยมาให้พยานอ่าน
หลังจากการอ่านแล้ว พยานเห็นว่าเป็นข้อความที่ต้องการจะสื่อสารถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน รัชกาลที่ 10 ว่าพระองค์กระทำความผิดและตนเองก็อยากจะตักเตือน โดยข้อความที่กล่าวออกมานั้น เป็นการใส่ความเนื่องจากไม่มีหลักฐานมาสนับสนุน เป็นการกล่าวถึงพระองค์ด้วยข้อความเท็จ บิดเบือน แก่ผู้ไม่มีความรู้ ทั้งยังข่มขู่ว่าร้าย ว่าหากไม่ทำตามประสงค์ของพวกตน จะไม่ทนและเลิกจงรักภักดี
คำปราศรัยโดยรวมเป็นประโยคที่แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะบทกลอนตอนท้าย พยานเห็นว่า จำเลยต้องการจะบอกว่า หากพระมหากษัตริย์ยังไม่รับฟังสิ่งที่ตนได้นำเสนอนี้ และยังคงใช้อำนาจกดขี่ประชาชนต่อไป จากนี้ประชาชนจะไม่ทน และเลิกจงรักภักดี
ในความเห็นของพยาน การชุมนุมนี้ไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพราะมีการละเมิดกฎหมาย มาตรา 112 เนื่องจากมีการทำผิดโดยการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงอยู่ในฐานะที่จะละเมิดมิได้ตามรัฐธรรมนูญ
ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานกล่าวว่า ตนไม่ได้ไปในพื้นที่การชุมนุมในวันเกิดเหตุ โดยพยานเห็นภาพบรรยากาศการชุมนุมจากรายงานข่าว ในช่วงนั้นจะมีข่าวเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 ซึ่งพยานได้มีการศึกษา พ.ร.บ. ฉบับนี้ และยืนยันว่าสิ่งที่จำเลยปราศรัยไม่เป็นความจริง
พยานรับว่า นอกจาก พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ ในช่วงนั้นยังมีอีกข่าวคือมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นจากบริษัทขนาดใหญ่อย่าง SCB, SCG ซึ่งแต่เดิมเคยถือในนามสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไปเป็นชื่อของพระองค์ท่านโดยตรง
พยานรับอีกว่า เกี่ยวกับเรื่องที่มีการโอนย้ายกำลังพลส่วนหนึ่งเข้าไปสังกัดส่วนราชการในพระองค์ ก็เป็นที่พูดถึงในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน
พยานรับรู้เกี่ยวกับการที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบไป เนื่องจากมีการเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เป็นแคนดิเดทนายกฯ ในนามของพรรค ซึ่งหลังจากการเสนอชื่อ ทางสำนักพระราชวังก็ได้ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ออกมา และศาลรัฐธรรมนูญก็มีการตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติ พยานมีความเห็นว่า ถ้าเรียงตามไทม์ไลน์เหตุการณ์ก็เป็นข้อเท็จจริง แต่จะเป็นเหตุเป็นผลกันหรือไม่ พยานไม่ทราบ และพยานไม่เตยเห็นประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาก่อน
ส่วนพรรคการเมืองจะเสนอชื่อใครเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ถือเป็นกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองนั้น ๆ หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ
ข่าวสารที่พูดถึงมาทั้งหมด เป็นข่าวสารที่พยานรับรู้ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่พยานเห็นว่าไม่สอดคล้องกับที่จำเลยปราศรัย เนื่องจากสิ่งที่จำเลยปราศรัยเป็นการปรักปรำและใส่ร้ายว่ารัชกาลที่ 10 ทรงกำลังแทรกแซงการเมือง การทหาร และยึดทรัพย์แผ่นดิน ซึ่งไม่ใช่การพูดข่าวสารและข้อเท็จจริง
ในกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือการโอนย้ายกำลังพล จะมีคำว่า ‘ตามพระราชอัธยาศัย’ ในความเห็นของพยาน คำว่า ‘ตามพระราชอัธยาศัย’ ไม่ได้แปลว่า ตามใจ ส่วนจะหมายความว่าอย่างไร พยานไม่ทราบ เนื่องจากมิอาจกล้าคิดไปแทนพระองค์ท่าน เพราะความรู้ของตนไม่ได้ล้ำลึกหรือเทียบเท่ากับพระองค์ท่าน ผู้ที่มีสถานะเหนือกว่าตน เป็นสิ่งที่แล้วแต่พระองค์ท่านจะทรงโปรดลงมา
พยานเห็นว่า หลังจากอ่านคำปราศรัย หากคนที่ไม่มีความรู้เท่าทันก็จะรู้สึกคล้อยตาม รู้สึกไม่ชอบและเกลียดชังพระองค์ ตามที่ผู้ปราศรัยต้องการชี้นำ แต่เมื่อพยานมีความรู้ จึงเข้าใจได้ว่า เป็นการใส่ความและบิดเบือนความจริง ทำให้พระองค์ท่านเสื่อมเสียชื่อเสียงและถูกเกลียดชัง
2 สมาชิก ศปปส. เชื่อคำปราศรัยเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง-บิดเบือนใส่ร้าย แต่ไม่ทราบว่าช่วงดังกล่าว จะมีกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันฯ ออกมาอย่างไรบ้าง
วัชระ ประเสริฐกุล เบิกความว่า ตนได้เห็นคลิปจำเลยเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 โดยเห็นว่าจำเลยปราศรัยจาบจ้วง มีถ้อยคำที่ตนฟังแล้วมองว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งทางกลุ่ม ศปปส. ต้องการพยานไปให้ความเห็น พยานเลยอาสา โดยเดินทางไปที่ สน.ลุมพินี เมื่อ 29 มี.ค. 2564
หลังจากดูเอกสารที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ จำเลยมีการใช้คำว่า ‘ตักเตือน’ ‘นอกลู่นอกทาง’ ซึ่งพยานเห็นว่า พูดแบบนั้นกับพระมหากษัตริย์ไม่ได้ เพราะทรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพ ไม่ควรนำคำศัพท์ที่ใช้สำหรับประชาชนด้วยกันไปใช้
นอกจากนี้ ยังมีบางข้อความที่เป็นการใส่ร้าย หมิ่นประมาท โดยพยานจับประเด็นได้ 3 หัวข้อคือ 1. พูดถึงเรื่องการที่พระมหากษัตริย์ทรงแยกกองทัพออกไปเป็นของตนเอง ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะกองทัพตามตัวบทกฎหมาย ก็มีหน้าที่ปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติที่พระมหากษัตริย์ต้องมีทหารคอยอารักขา เพราะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน 2. พระองค์ท่านทรงอยู่เบื้องหลังการเมือง ซึ่งพยานเห็นว่าในการจะกล่าวอ้างต่อสาธารณชนว่าสิ่งที่ตนเองพูดคือความจริง จะต้องมีหลักฐานมายืนยันให้เป็นที่ประจักษ์ หากไม่มีก็เหมือนกับเป็นการกล่าวอ้างให้ร้าย 3. พระองค์ทรงนำทรัพย์สมบัติของชาติมาเป็นของตนเอง พยานมองว่าไม่ถูกต้อง อย่างกรณีที่ดิน เช่น สนามม้านางเลิ้ง พระองค์ท่านก็เอามาทำให้เกิดประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม ไม่ได้เพื่อประโยชน์ของตนเอง
พยานเห็นว่า คำปราศรัยทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะต้องมีหลักฐานชัดเจนก่อนที่จะขึ้นมาพูด หากมีคนที่ฟังโดยผิวเผิน ก็จะเชื่อว่าเป็นจริง และอาจเสื่อมศรัทธาต่อองค์พระมหากษัตริย์ สิ่งที่จำเลยทำจึงเป็นการด้อยค่า ลดทอนความน่าเชื่อถือของสถาบันกษัตริย์
พยานเห็นว่า การปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์สามารถพูดได้ แต่ต้องนึกถึงกฎหมายกับสถานที่ด้วย ว่าสิ่งไหนพูดได้ และการพูดก็ต้องมีหลักฐาน
ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า กลุ่มที่พยานทำกิจกรรมด้วยคือกลุ่ม ศปปส. ซึ่งเกิดจากคนที่รักสถาบันกษัตริย์มารวมตัวกัน เพราะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในบ้านเมือง และพบเห็นการกระทำผิดกฎหมาย ทำให้ ศปปส. รวมตัวกันเพื่อออกมาต่อต้าน โดยเริ่มออกมาในช่วงปลายปี 2563
คุณสมบัติของคนที่จะเข้าร่วมกลุ่มนี้ได้ ก็ต้องรักชาติ ศาสนา กษัตริย์ กลุ่มนี้จะมีการจัดตั้งตามกฎหมายหรือไม่ พยานไม่ทราบ แต่ส่วนใหญ่ทำงานแบบคณะพลเมือง ซึ่งตอนนี้พยานไม่ได้อยู่ในกลุ่มแล้ว เนื่องจากไม่ได้ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มนี้มา 2 ปีแล้ว
พยานเห็นว่า การพูดวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ล้ำเส้นกฎหมาย ไม่เป็นการใส่ร้าย แต่ถ้าถูกต้อง สุจริต อยู่ในขอบเขต ก็ไม่ต่อต้าน เพราะเป็นเรื่องของการเห็นต่างทางความคิด
เกี่ยวกับคดีนี้ พยานได้ฟังการปราศรัยของจำเลยในวันที่ 24 มี.ค. 2564 โดยเป็นการฟังย้อนหลังไม่ใช่การถ่ายทอดสด โดยพยานเห็นว่าการปราศรัยในวันนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ได้มีการใช้คำราชาศัพท์
การปราศรัยไม่ได้มีคำหยาบ แต่บางคำที่จำเลยใช้เป็นคำที่ไม่สมควรใช้กับพระมหากษัตริย์ต่อหน้าสาธารณชน
พยานกล่าวว่า คำปราศรัยโดยรวมของจำเลยมีประเด็นหลักคือ การพูดถึงบทบาทหน้าที่ของสถาบันกษัตริย์ที่ควรจะเป็น โดยมีการพูดถึงใน 3 ประเด็น และมีการอ่านกลอนปิดท้าย
พยานไม่ได้ไปค้นหาข้อมูลหรือหาหลักฐานไปให้กับพนักงานสอบสวนว่าสิ่งที่จำเลยพูดนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร โดยพยานเคยได้ยินว่ามีการออกกฎหมายเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ออกมาในช่วงเวลานั้น แต่ไม่รู้ในรายละเอียด
ที่จำเลยพูดว่า “การพูดถึงสถาบัน ต้องพูดถึงได้ทั้งในแง่ของการสรรเสริญและในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์ นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐาน” เป็นสิ่งที่พยานเห็นด้วย
พยานทราบว่ามีการโยกย้ายกำลังพลทหารไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ แต่ไม่ทราบในรายละเอียด แต่ก็ไม่ได้เห็นว่าผิดอะไร เนื่องจากทหารนั้นมีหน้าที่ตามเหล่าตามหน่วยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ทหารพราน ก็ยังถือเป็นกองทัพเดียวกัน ไม่มีอะไรที่แตกต่างกัน เพียงแต่เป็นการแบ่งหน้าที่กันว่าใครทำหน้าที่อะไร ซึ่งเท่าที่พยานเข้าใจคือ เอาทหารชุดนี้ไปเป็นส่วนพระองค์ ซึ่งจริง ๆ ทหารก็มีหน้าที่ปกป้อง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์อยู่แล้ว พยานไม่ทราบว่าทหารเหล่านี้เคยสังกัดกองทัพบก และกระทรวงกลาโหม และต่อมาขึ้นตรงต่อกษัตริย์ พยานเห็นว่าทหารทุกคนทำหน้าที่เดียวกันอยู่แล้ว
เรื่องการแทรกแซงทางการเมือง พยานพอทราบว่า วันที่ 23 มี.ค. 2562 มีการโปรดเกล้าฯ พระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 10 อัญเชิญพระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ 9 ว่าให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน
การเลือกตั้งถือเป็นกิจกรรมทางการเมือง และพยานเคยเห็นพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เป็นแคนดิเคทนายกรัฐมนตรีของพรรค ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคดังกล่าว
เรื่องทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พยานไม่มีความรู้เลยว่าจะมีการแบ่งเป็น 3 กอง เพียงแต่เคยได้ยิน และไม่ทราบว่าภายหลังจะมีการเปลี่ยนแปลงเหลือ 2 กอง
พยานรับว่า 3 ประเด็นที่จำเลยได้ทำการปราศรัย เป็นข่าวสารบ้านเมืองในช่วงเวลานั้น พยานรู้สึกว่า การที่คน ๆ หนึ่งจะมาพูดในที่สาธารณะหรือให้ข้อมูลกับประชาชนที่มารับฟังจะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ และหลายฝ่ายยอมรับถึงจะพูดได้ แต่ถ้าตรงข้ามกับสิ่งเหล่านี้ มันคือการกล่าวหา ด้อยค่า และหมิ่นประมาท
พยานกล่าวว่า ในฐานะชาวบ้าน คำว่า ‘ตามพระราชอัธยาศัย’ หมายความว่า ตามประสงค์ของพระองค์ และพอพยานอ่านคำปราศรัยดูแล้ว ก็ไม่ได้รู้สึกด้อยค่าและเสื่อมความศรัทธาในตัวพระองค์
ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ เบิกความว่า ตนเป็นพยานที่มาให้ความเห็น โดยพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี โทรเรียกตนไปให้การในฐานะประชาชน โดยบอกว่าเป็นการชุมนุมในวันที่ 24 มี.ค. 2564 ที่แยกราชประสงค์
พยานเป็นสมาชิกกลุ่ม ศปปส. ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2563 มีหน้าที่ในการปกป้องสถาบันกษัตริย์ คอยสังเกตการณ์ในโลกออนไลน์และลงพื้นที่เมื่อมีม็อบหรือการชุมนุมที่มีแนวโน้มต่อต้านสถาบันกษัตริย์ โดยก่อนเกิดเหตุ มีการคุยกันเบื้องต้นในกลุ่มแล้ว เพราะทราบว่ามีการโพสต์เชิญชวนจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ให้มาชุมนุมกันในวันเกิดเหตุ
พยานไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมในวันดังกล่าว แต่ดูการถ่ายทอดสดในเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ซึ่งก็ดูไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ 17.00 – 20.00 น. เศษ จำเลยก็ได้ขึ้นปราศรัย โดยจำเลยมีการปราศรัยพาดพิงรัชกาลที่ 10 โดยตรง ถึงแม้จะไม่ได้เอ่ยพระนามก็ตาม เช่นประโยคที่บอกว่า “รัชกาลก่อนก็ทำความดีมา จะล่มสลายในรัชกาลนี้” ซึ่งตอนปี 2564 เป็นรัชกาลปัจจุบัน ทำให้พยานเข้าใจได้ว่าจำเลยกล่าวถึงรัชกาลที่ 10
จำเลยมีการกล่าวถึงโดยการบอกว่าพระองค์ทรงสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้น ซึ่งพยานฟังแล้วไม่เป็นความจริง เนื่องจากการปกครองของไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
พยานฟังการปราศรัยโดยรวม ๆ ประมาณ 20 นาที พอจะสรุปใจความได้คือ พูดถึงการที่พระองค์ทรงเอาทรัพย์สินสาธารณะไปเป็นของตนเอง และทรงสร้างกองทัพเป็นของตนเอง ซึ่งพอฟังแล้ว ทางกลุ่ม ศปปส. ก็นำมาดู มาวิเคราะห์ แล้วพนักงานสอบสวนก็ได้ให้ทางกลุ่มไปให้การในฐานะภาคประชาชน โดยไปให้การในวันที่ 29 มี.ค. 2564 ซึ่งเมื่อไปถึงก็ได้ดูบันทึกถอดเทปคำปราศรัย พอได้อ่านแล้วก็เข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10 โดยตรง
ที่จำเลยบอกว่า “เราประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ” และ “การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เราควรต้องพูดถึงได้ทั้งในแง่ของการสรรเสริญและการวิพากษ์วิจารณ์” พยานเห็นว่า การวิพากษ์วิจารณ์สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบและกฎหมาย ซึ่งการวิพากษ์ใครคนหนึ่งต้องไม่ไปก้าวล่วงสิทธิและเสรีภาพของคน ๆ นั้น แต่จำเลยมีการใส่ความและก้าวล่วงพระองค์ท่าน
ส่วนที่กล่าวว่า “เรียนถึงฝ่ายอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย … การขยายพระราชอำนาจของกษัตริย์เพื่อให้กษัตริย์ 1 คนทำตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้ในรัชกาลนี้ คือการขยับออกห่างจากความเป็นประกษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย” พยานฟังแล้วก็เป็นการใส่ความ เพราะว่าเอ่ยถึงในหลวงรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งกล่าวหาว่าพระองค์จะทำให้สถาบันกษัตริย์ล้มเหลว
นอกจากนี้ยังมี 3 ประเด็นที่จำเลยได้พูดถึงคือ 1. เรื่องการทหาร จะแยกกองทัพออกไปเป็นของพระองค์ไม่ได้ ซึ่งเป็นการใส่ร้ายบิดเบือนว่าทรงตั้งกองทัพเป็นของตนเอง เพราะไม่แปลกเลยที่ประมุขจะมีหน่วยรักษาความปลอดภัย ซึ่งประเทศไหน ๆ เขาก็มีกัน สิ่งนี้เป็นการบิดเบือนเพื่อใช้ในการโจมตีองค์พระมหากษัตริย์
ประเด็นที่ 2 ที่จำเลยกล่าวว่า “เรื่องการแทรกแซงอยู่เบื้องหลังกลุ่มก้อนทางการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ย่อมนำมาซึ่งความไม่พอใจของประชาชน …” เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและใส่ร้ายว่าพระองค์ทรงแทรกแซงการเมืองโดยไม่มีหลักฐาน
ประเด็นที่ 3 เรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ จำเลยมีการกล่าวหาว่าพระองค์ทรงนำเอาทรัพย์สินสาธารณะไปเป็นของพระองค์ ซึ่งบิดเบือนและมีเป็นข่าวปลอมปล่อยออกมาตลอดว่ารัชกาลที่ 10 ทรงเอาสนามม้านางเลิ้งไปเป็นของตนเองโดยจะสร้าง ‘วังวชิราลงกรณ์คอมเพล็กซ์’ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่เป็นความจริง ปัจจุบันถูกนำไปทำเป็นสวนสาธารณะ หรือแม้กระทั่งสวนสัตว์ดุสิต ก็ปล่อยข่าวปลอมว่าทรงยึดไปเป็นของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่พระองค์นำไปสร้างโรงพยาบาล ซึ่งพยานฟังแล้วรู้สึกว่าสิ่งที่จำเลยปราศรัยเป็นการบิดเบือนใส่ร้าย ทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ เมื่อคนที่ไม่รู้ข้อมูลได้ฟัง ทำให้ผู้ฟังเกลียดชังในตัวพระองค์
ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า จำเลยไม่ได้มีการปราศรัยเกี่ยวกับเรื่อง ‘สนามม้านางเลิ้ง’ และ ‘สวนสัตว์ดุสิต’ แต่โดยรวมจำเลยปราศรัยว่าทรงเอาทรัพย์สินสาธารณะไปเป็นของตัวเอง ซึ่งพยานหมายรวมถึงสนามม้านางเลิ้งด้วย
พยานเป็นสมาชิกของกลุ่ม ศปปส. โดยอยู่ร่วมมาตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่ม ทำหน้าที่ผู้ประสานงานของกลุ่ม กลุ่มนี้เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2563 เนื่องจากช่วงนั้นมีการชุมนุมของ “ม็อบ 3 กีบ” ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย และทุกครั้งที่ออกมาจะมีการจาบจ้วงสถาบันฯ โดยตลอด
กลุ่ม ศปปส. ไม่ได้มีการจัดตั้งตามกฎหมาย เป็นเพียงการรวมตัวกันของภาคประชาชน ซึ่งพยานเห็นว่ามีอยู่ 2 ฝั่งคือ ‘ฝั่งที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์’ กับ ‘ฝั่งประชาธิปไตย’ ซึ่งประชาชนที่จงรักภักดี สามารถเข้าร่วมกลุ่ม ศปปส. ได้หมด และการวิพากษ์วิจารณ์สามารถทำได้ แต่อย่าไปก้าวล่วง ล่วงละเมิด ตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ
พยานไม่ทราบว่าช่วงนั้นจะมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์อย่างไรบ้าง แต่พยานรับว่า คำปราศรัยของจำเลยไม่มีถ้อยคำหยาบคาย เป็นไปโดยสุภาพ เรียบร้อย แต่มีคำที่ใส่ร้าย บิดเบือน ตามที่พยานเบิกความไป
พยานไม่ทราบว่าจำเลยจะเป็นสมาชิกของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ หรือไม่ แต่มีการประกาศว่าจะมีแกนนำขึ้นปราศรัยในวันนั้นซึ่งมีชื่อจำเลยอยู่ด้วย โดยพยานไม่ทราบว่าในวันดังกล่าวจำเลยจะได้รับเชิญมาอย่างไร
ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อำนาจสูงสุดอยู่ที่พระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ และคำว่า ‘ตามพระราชอัธยาศัย’ จะแปลอย่างง่าย ๆ ในภาษาชาวบ้านว่าอย่างไร พยานไม่ขอตอบ
หลังจากฟังคำปราศรัยของจำเลย พยานจะมีความรู้สึกเสื่อมศรัทธาในตัวองค์พระมหากษัตริย์ หรือคล้อยตามไปกับสิ่งที่จำเลยปราศรัยหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ
4 พนง.สส. สน.ลุมพินี รับ ไม่ทราบเรื่องกฎหมายที่ออกมาในช่วงดังกล่าว และไม่ได้สอบสวนต่อว่าสิ่งที่จำเลยปราศรัยมีข้อเท็จจริงอย่างไร
พันตำรวจโทรัฐภูมิ โมรา และ พันตำรวจโทเทอดศักดิ์ มนัสชน คณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 เวลา 23.00 น. พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ สุดหอม ได้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับ ชาติชาย แกดำกับพวก โดยกล่าวหาว่าร่วมกันชุมนุมที่มีการรวมกลุ่มที่มีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิด-19 โดยเหตุเกิดที่แยกราชประสงค์
ภายหลังได้มี วราวุธ มากมารศรี และ แทนคุณ ปิตุภูมิ มาแจ้งความให้ดำเนินคดีกับจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งพยานได้รายงานไปยังกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ซึ่งเป็นแนวทางที่ตำรวจเคยกำหนดไว้เกี่ยวกับคดีความมั่นคง ต่อมาผู้บังคับคัญชาได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ซึ่งปรากฏชื่อของพยานด้วย คณะทำงาได้มีการสอบสวนพยานความเห็น 4 ปาก ซึ่งทั้งหมดให้การตรงกันว่า คำปราศรัยของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10
หลังจากนั้นก็ได้รวบรวมพยานหลักฐานและสรุปสำนวน เพื่อประชุมร่วมกันในคณะทำงาน และมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยตามที่แจ้งข้อกล่าวหา
ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.รัฐภูมิ รับว่า ข้อกล่าวหาที่แจ้งต่อจำเลยอาศัยข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2549 (ฉบับที่ 15) ซึ่งในข้อ 3 ได้กำหนดข้อห้ามไว้ ซึ่งเวลาที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. นี้ อำนาจสูงสุดเป็นของนายกรัฐมนตรี และอำนาจในการออกข้อกำหนดเพื่อจัดการสถานการณ์เป็นเรื่องของนายกฯ ซึ่งไม่เหมือนกับ ‘ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงฯ เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ฉบับที่ 5)’ ในส่วนที่กำหนดเงื่อนไขลักษณะที่จะผิดตามข้อกำหนดดังกล่าว ซึ่งพยานกล่าวว่า หากทั้ง 2 ฉบับมีการบังคับใช้ในเวลาเดียวกัน แล้วขัดกัน พยานจะบังคับใช้ตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ซึ่งออกโดย พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์
พยานรับว่า ตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ดังกล่าว ได้มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มมาคือ “ห้ามมิให้มีการชุมนุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19” ซึ่งไม่ปรากฏอยู่ในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิก (ฉบับที่ 15)
ด้าน พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ เบิกความในทำนองเดียวกันกับ พ.ต.ท.รัฐภูมิ ว่า จำเลยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และนอกจากการเป็นผู้ปราศรัยหลัก ผู้กล่าวหาไม่ได้แจ้งว่าจำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการชุมนุมอย่างไร และไม่ได้บอกว่าแต่ละคนที่มาปราศรัยมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร
พยานทั้งสองไม่ได้ลงพื้นที่ไปในที่เกิดเหตุ และไม่ทราบว่าหลังชุมนุมเสร็จสิ้น สน.ลุมพินี จะได้มีการประสานไปยังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือหน่วยงานอื่นเพื่อมาตรวจสอบเกี่ยวกับมาตรการด้านโควิด-19 หรือไม่
ทั้งคู่ไม่ทราบว่า พลเอกประยุทธ์เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงรับสั่งให้แก้ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติไปแล้ว และไม่ทราบว่ามีการแต่งตั้งโยกย้ายกำลังพลไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์หรือไม่
พยานทั้งสองไม่ได้มีการตรวจสอบหรือรวบรวมข่าวสารที่เกี่ยวข้องเพื่อมาพิสูจน์ว่าคำปราศรัยของจำเลยจะมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร รวมทั้งไม่ได้มีการตรวจสอบไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
พันตำรวจตรีอดิเทพ เทพเสนา ขณะเกิดเหตุเป็น สารวัตรสอบสวน สน.ลุมพินี เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 พยานกำลังเข้าเวรอยู่ ได้มี วราวุธ มากมารศรี มาแจ้งความให้ดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาตามมาตรา 112 โดยเห็นว่าคำปราศรัยของจำเลยเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2564 เป็นการใส่ร้ายในหลวงรัชกาลที่ 10 หากมีคนฟังจะเข้าใจผิดและเกลียดชังพระองค์ โดยพยานได้สอบสวนผู้กล่าวหาไว้ ร่วมกับ พ.ต.ท.กรัยฉัตร อินต๊ะพันธ์ จากนั้นก็รวบรวมเอกสารทั้งหมด เพื่อเสนอต่อผู้บังคับบัญชาต่อไป
ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า พยานไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวนในคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน และจำไม่ได้ว่า พลเอกประยุทธ์จะเคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าในหลวงทรงมีรับสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่
เกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในบริษัทขนาดใหญ่ ได้มีการประกาศชี้แจงการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นจากสำนักงานทรัพย์สินไปเป็นชื่อของในหลวงรัชกาลที่ 10 พยานได้ทราบข่าวอยู่บ้าง แต่ไม่รู้ในรายละเอียด
พยานเคยได้ยินเรื่อง พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ไปสังกัดส่วนราชการในพระองค์ เช่น หน่วย 904 ซึ่งการโอนย้ายเหล่านี้ก็สอดคล้องกับสิ่งที่จำเลยปราศรัยในช่วงดังกล่าว และเป็นข่าวสารในช่วงเวลานั้น
ร้อยตำรวจเอกเมธาธาร สุขม่วง ขณะเกิดเหตุเป็น รองสารวัตรสอบสวน สน.ลุมพินี เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2564 ขณะนั้นตนกำลังเข้าเวรอยู่ ได้มี แทนคุณ ปิตุภูมิ มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาตามมาตรา 112 และได้ให้การว่าผู้กล่าวหาได้ส่งตัวแทนกลุ่มคนรักสถาบันฯ เข้าฟังการปราศรัย และพบข้อความดูหมิ่นพระองค์ท่าน โดยจะเป็นกล่าวหาว่าพระองค์ทรงออกนอกลู่นอกทาง ทรงตั้งกองทัพเป็นของตน และเอาทรัพย์สินไปเป็นของตน มีการขยายพระราชอำนาจอย่างไม่มีสิ้นสุด
เมื่อได้ฟังจึงรู้สึกขัดใจเพราะผู้กล่าวหามีความเคารพในสถาบันฯ หากคนอื่นฟังก็คงรู้สึกเช่นเดียวกัน พยานจึงได้มีการสอบปากคำแทนคุณไว้ และส่งมอบเอกสารให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการต่อไป
ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า ไม่ทราบว่า พลเอกประยุทธ์จะเคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าในหลวงทรงมีรับสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ และไม่ทราบเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินและเรื่องการโอนย้ายอัตรากำลังพลของในหลวงรัชกาลที่ 10 พยานยังไม่ได้มีการไปตรวจสอบว่า สิ่งที่จำเลยปราศรัยจะมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพียงแค่รับแจ้งความ และเสนอต่อผู้บังคับบัญชาเท่านั้น
iLaw ยืนยัน มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับพระราชอำนาจจำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่อความสงสัยของปชช. และเป็นเหตุให้เกิดข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เจ้าหน้าที่จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เบิกความในฐานะพยานจำเลยว่า ช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ตนได้ทำงานเป็นอาสาสมัครของทีมโควิดชุมชน มีภารกิจในการนำยาไปส่งให้ประชาชน และตั้งจุดตรวจโควิดในชุมชนที่มีผู้คนหนาแน่น มีประสบการณ์ในการไปตั้งจุดตรวจที่เขตดินแดงเป็นเวลา 7 วัน เมื่อปี 2564 ในหนึ่งวันจะมีผู้เข้ารับการตรวจคัดกรองประมาณ 600 คน
พยานมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยงานนี้พยานทำร่วมกับชมรมแพทย์ชนบท และทีมงานโควิดชุมชน ซึ่งได้รับงบประมาณจาก สปสช. มีผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขคอยกำกับดูแลอยู่ด้วย
เกี่ยวกับคดีนี้ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 พยานได้เข้าร่วมการชุมนุมในวันดังกล่าวด้วย โดยไปในฐานะผู้ปราศรัย และพูดในประเด็นเรื่องสิทธิประกันตัวของนักโทษคดี ม.112 โดยกลุ่มที่จัดคือแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ สถานที่จัดเป็นแยกราชประสงค์ เป็นสถานที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ผู้ชุมนุมเท่าที่เห็นด้วยสายตาก็จะใส่หน้ากากอนามัย และเห็นคนเดินแจกเจลแอลกอฮอล์ด้วย
จากประสบการณ์ทำงานเรื่องโควิด พยานกล่าวว่า ต่อให้คนที่ติดเชื้อโควิด-19 มาร่วมชุมนุม แต่ถ้ามีการใส่หน้ากากอนามัย และเป็นสถานที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ก็จะไม่มีการแพร่เชื้อ ดังเช่นที่พยานเคยมีประสบการณ์ไปตั้งจุดตรวจคัดกรอง ก็ต้องใช้สถานที่มีอากาศถ่ายเท เช่น สนามกีฬา โดยอัตราเฉลี่ยการตรวจคัดกรองต่อวันที่ 600 คน ตามสถิติจะมีคนติดเชื้อมากกว่า 100 คน ซึ่งทุกคนก็จะใช้ชีวิตร่วมกันประมาณ 1 ชั่วโมง ภายในสถานที่แห่งนั้น รวมถึงตัวพยานเองด้วยที่ต้องอยู่ภายในนั้นทั้งวัน โดยไม่ได้ใส่ชุด PPE ใส่แค่หน้ากากอนามัย แต่จากสถิติก็ไม่มีใครติดเชื้อจากการตั้งจุดตรวจดังกล่าวเลย
ทางทีมแพทย์ก็มีการยืนยันว่า หากอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก และผู้เข้าร่วมใส่หน้ากากอนามัย ก็จะปลอดภัยจากการติดเชื้อ ซึ่งผู้เข้าร่วมชุมนุมในวันนั้นน่าจะมีประมาณ 1,000 คน แต่ถ้าเทียบกับพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ก็ยังกว้างอยู่มาก สามารถรับคนได้มากกว่านั้น ผู้เข้าร่วมก็สามารถยืนอยู่ห่างกันได้
หลังจากเข้าร่วมชุมนุม พยานก็ไม่ได้ติดโควิด และไม่เคยได้รับทราบข่าวที่มีคลัสเตอร์จากการชุมนุม
ซึ่งในตอนนั้น ช่วงเดือน มี.ค. 2564 ก็เป็นช่วงที่สถานการณ์การติดเชื้อเบาบางลง
เมื่อปี 2559 พยานได้ไปร่วมลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 นอกจากในฐานะส่วนตัว องค์กรของพยาน (iLaw) ก็มีการทำกิจกรรม โดยการนำร่างรัฐธรรมนูญมาศึกษาเปรียบเทียบกับฉบับก่อน ๆ และสรุปเผยแพร่บนโลกออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ก่อนไปลงประชามติ
หลังจากมีการลงประชามติแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดการประกาศใช้ หลังผ่านมากว่า 5 เดือน ก็เลยเกิดคำถามขึ้นในสังคมว่า รัฐบาลจะรออะไรทำไมถึงไม่ประกาศใช้ เลยมีข่าวสารออกมาในช่วงดังกล่าวว่า ประยุทธ์ได้ออกมาให้สัมภาษณ์โดยสรุปว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีรับสั่งให้มีการแก้ไขในบางประเด็น ซึ่งไม่ได้ระบุชัดเจนว่าประเด็นไหน แต่เกี่ยวกับเรื่องพระราชอำนาจ หลังจากนั้นก็มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติใน 7 ประเด็น
รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ประกาศใช้จะไม่เหมือนกับร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติมา โดยมีการแก้ไข เช่น มาตรา 5 ตัวฉบับที่ผ่านประชามติ จะกำหนดให้กรณีที่เกิดวิกฤต ให้มีตัวแทนอำนาจหลายฝ่ายมาประชุมร่วมกันหาทางออก ส่วนฉบับแก้ไขมีการระบุว่า “ให้เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และยังมีการแก้ไขเรื่องการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการในพระองค์ กรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ประทับอยู่ในราชอาณาจักร จะต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการในพระองค์ แต่ฉบับที่ประกาศใช้ ก็แก้ไขว่าจะแต่งตั้งหรือไม่ก็ได้
องค์กรของพยานได้มีการออกบทความหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบฉบับที่ลงประชามติกับฉบับที่ประกาศใช้ และมีการเปรียบเทียบในหมวดพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540, 2550 ฉบับประชามติ และฉบับที่ประกาศใช้ในปี 2560 ซึ่งเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยพูดเกี่ยวกับหมวดนี้ไว้ในช่วงปี 2549 ว่ามีการชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องให้มีนายกฯ พระราชทาน โดยอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีเนื้อความในทำนองเดียวกับ มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแสดงความคิดเห็นว่า ไม่ควรตีความมาตรา 7 เช่นนั้น คือไม่ควรให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้งนายกฯ ได้
iLaw ยังจับตากฎหมายอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งการบังคับใช้มาตรา 112 ด้วย โดยมีรายงาน สถิติ ออกมาหลายครั้ง พบว่ามาตรา 112 จะถูกบังคับใช้มากน้อยแปรเปลี่ยนไปตามบริบททางการเมือง เช่น ช่วงที่บังคับใช้มากจะเป็นช่วงสลายการชุมนุมเสื้อแดง ปี 2553 หรือช่วงการรัฐประหารปี 2557 หลังจากนั้นก็จะมีช่วงที่ ม.112 ไม่ถูกใช้บังคับเลย ระหว่างปี 2561-2563
ในเดือน มิ.ย. ปี 2563 พลเอกประยุทธ์เคยให้สัมภาษณ์ว่ารัชกาลที่ 10 ทรงเมตตาไม่ให้บังคับใช้ ม.112 แต่หลังจากนั้น ในช่วงปลายปี 2563 พลเอกประยุทธ์ก็แถลงการณ์อีกครั้งเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 โดยออกแถลงการณ์เป็นเอกสารระบุว่า จะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราต่อผู้ชุมนุมในช่วงนั้น ซึ่งเป็นแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีโดยส่วนตัวเลย
หลังจากนั้น การบังคับใช้ ม.112 ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และในช่วงปลายปี 2563 มีคดีเกิดขึ้นจำนวนมาก ที่เกี่ยวกับ ม.112 ต่อเนื่องมาถึงในปี 2564 ซึ่งทำให้ช่วงดังกล่าวมีการดำเนินคดี ม.112 มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับคดีนี้ด้วย นอกจากตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ก็ยังมีข้อมูลหลายอย่างเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นที่จับตาของสังคมด้วย
iLaw ได้จับตาการออกกฎหมายระหว่างปี 2557-2562 ซึ่งองค์กรที่ทำหน้าที่ออกกฎหมายคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิก 250 คน ทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ทำให้ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ไม่มีฝ่ายค้าน และมีการออกกฎหมายด้วยความรวดเร็วจำนวนเมาก กฎหมายส่วนใหญ่ได้รับความเห็นชอบเกินกว่า 90% พยานก็ได้ติดตามว่ามีกฎหมายอะไรที่ผ่านสภานี้บ้าง พอเห็นว่ามีกฎหมายที่น่าสนใจ ก็จะสรุปและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ
พบว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์อยู่ 2 ฉบับ คือฉบับปี 2560 และฉบับปี 2561 โดยฉบับ 2560 ได้ยกเลิกฉบับเดิมปี 2491 เป็นการจัดระบบของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ใหม่ทั้งหมด โดยให้ยกเลิกทรัพย์สินสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน และนำไปรวมกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เช่น พระราชวัง จากที่เป็นส่วนสาธารณะสมบัติ ก็ให้รวมไปเป็นของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการดูแล จากเดิมที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการดูแล ก็เปลี่ยนแปลงเป็นกรรมการทุกตำแหน่งจะแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัยขององค์พระมหากษัตริย์
ต่อมาปีฉบับปี 2561 ได้ยกเลิกฉบับ 2560 ทั้งฉบับและจัดตั้งระบบทรัพย์สินใหม่ โดยเปลี่ยนชื่อจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ส่วนพระราชวังจะเป็นทรัพย์สินส่วนไหน ไม่ได้ระบุไว้ ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่เคยมีในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นหนึ่งในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ เพียงแต่ถูกนำมาพูดถึงมากขึ้นในปี 2563-2564
นอกจากนี้ ในเดือน พ.ค. 2560 มีการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการในพระองค์ฯ และจากนั้นก็ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา คือให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ มาจากการแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย โดยจะได้รับงบประมาณ แต่ไม่ถือว่าอยู่ในหน่วยงานของรัฐและระบบราชการ จึงไม่ได้รับการตรวจสอบการใช้งบประมาณโดยสำนักงบประมาณ
ในปี 2562 ก็มีการออกกกฎหมายเกี่ยวกับการโยกย้ายกำลังพล ออกเป็นพระราชกำหนดโดยนายกฯ โดยไม่ผ่านสภาฯ ซึ่งระบุให้ย้ายหน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคง บางส่วนของตำรวจและกองทัพบกไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ กล่าวคือมีการโอนงบประมาณและบุคลากรบางส่วนจากกองทัพบก กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งแต่เดิมกำลังพลและงบประมาณบางส่วน เคยสังกัดอยู่ในกระทรวงกลาโหม แต่ถูกโอนไปสังกัดส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งขึ้นตรงต่อองค์พระมหากษัตริย์พระองค์เดียว
ผลของ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ทำให้กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภที่ 1 และที่ 11 ซึ่งเป็นค่ายทหารใหญ่ที่ตั้งใน กรุงเทพฯ ถูกโอนย้ายไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งพอเป็นค่ายที่ประชาชนรู้จักและเห็นได้ชัด จึงเกิดการตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีการโอนย้ายไปด้วย การโอนย้ายที่ตรวจสอบไม่ได้ ประชาชนจะไม่ค่อยเข้าใจ ประกอบกับความหวาดระแวงหน่วยงานของทหารเป็นทุนเดิม เพราะเพิ่งผ่านการทำรัฐประหารมา การที่ค่ายใหญ่เปลี่ยนสถานะโดยไม่ได้มีการอธิบายจากพลเอกประยุทธ์ผู้ออกกฎหมาย ก็เลยเกิดความสงสัย เป็นธรรมดาที่ประชาชนจะตั้งคำถามและพูดถึงประเด็นเหล่านี้
องค์กรของพยานได้ติดตามการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีการออกบทความ 7 ปีแห่งความถกถอยในยุคของพลเอกประยุทธ์ ซึ่งได้มีการออกกฎหมายเพื่อขยายพระราชอำนาจเป็นจำนวนมาก ซึ่งบทความดังกล่าวจะสรุปรวบยอดว่ามีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
นอกจากในด้านเกี่ยวกับทรัพย์สิน และกองกำลังต่าง ๆ สนช. ได้มีการออก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2 ฉบับ ซึ่งให้อำนาจพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชและกรรมการมหาเถรสมาคมได้ทุกตำแหน่งตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งก่อนหน้านั้นจะมีที่มาจากพระสงฆ์เถระชั้นผู้ใหญ่ตามลำดับสมณะศักดิ์ กรณีของสังฆราชก็เช่นเดียวกัน แต่หลังจากมีการแก้ไขกฎหมาย ก็กำหนดให้เป็นไปตามพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการกำหนดให้มีพระราชอำนาจดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ
เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่บังคับใช้อยู่ มาตรา 11 เรื่องการแต่งตั้งองคมนตรี กำหนดไว้ว่า การแต่งตั้งหรือให้พ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย และในวรรค 3 กำหนดว่า ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งองคมนตรี ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการแต่งตั้งองคมนตรีคนใหม่คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่น่าสังเกตคือ ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ความเปลี่ยนแปลงที่พยานเบิกความไปไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หลายส่วนเป็นความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ซึ่งช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นการออกกฎหมายเกี่ยวกับพระราชอำนาจจำนวนมาก ซึ่งไม่ค่อยเห็นบ่อยนักตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปัจจุบัน โดยแนวทางจะเห็นว่าเป็นไปในทางตรงข้ามกับการออกกฎหมายเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในอดีตช่วงปี พ.ศ. 2475-2490
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เลยเป็นที่มาของข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นเพื่อให้มีการปฏิรูปสถาบันของกลุ่มผู้ชุมนุม
ภาพจาก ประชาไท
จำเลยยืนยัน ต้องการพูดถึงข้อกังวลที่ถูกพูดถึงในสังคม เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันหาทางออก และคงไว้ซึ่งความศรัทธาต่อสถาบันฯ
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล จำเลยในคดีนี้ ขึ้นเบิกความโดยระบุว่า ตนสนใจการเมืองตั้งแต่ปี 2558 ที่ได้เห็นข่าวของกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในการยืนมองเวลาหน้าหอศิลป์ฯ กทม. เพื่อรอเวลาครบรอบรัฐประหาร โดยยืนคล้องแขนกันเพื่อแสดงการต่อต้านรัฐประหาร ที่ทำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2557
เมื่อได้เห็นข่าวนั้นและเห็นตำรวจใช้ความรุนแรงกับกลุ่มนักศึกษา ทั้ง ๆ ที่พวกเขายืนคล้องแขนกันอยู่เฉย ๆ แต่ตำรวจก็อุ้มออกไป ก็เกิดคำถามภายในจิตใจว่า เราอยู่ภายใต้ระบอบอะไรกันแน่ ทำไมต้องใช้ความรุนแรงขนาดนั้น สุดท้ายประชาชนจะมีอำนาจมากแค่ไหนอย่างไรกันแน่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้จำเลยสนใจการเมือง และหาข้อมูลถึงคำว่าประชาธิปไตย, รัฐประหาร, ประวัติศาสตร์การเมือง ฯลฯ และได้เชื่อมโยงกับสถานการณ์ที่ครอบครัวของตนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการทำรัฐประหารด้วย หลังจากนั้นก็ได้ออกมาต่อต้านรัฐประหาร โดยเริ่มจากการติดป้าย และเริ่มเคลื่อนไหวมากขึ้น มีการเข้าร่วมชุมนุมหลายครั้ง
วันเกิดเหตุ เพื่อน ๆ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ได้ชักชวนให้จำเลยไปปราศัยในการชุมนุม สถานการณ์ช่วงนั้น ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1. ให้นายกฯลาออก 2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งทั้ง 3 ข้อยังคงอยู่ต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ปราศรัย และในช่วงดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สังคมต่างตั้งคำถาม และพูดถึงประเด็นที่สถาบันกษัตริย์เกี่ยวข้องกับการเมือง
ในวันนั้น จำเลยได้พูดถึงกฎหมายต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นที่พูดถึงและตั้งคำถามในสังคม เกี่ยวกับคำปราศรัยของจำเลยทั้งหมด จุดประสงค์อันดับ 1 คือต้องการพูดถึงข้อกังวลที่ถูกพูดถึงในสังคม เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันหาทางออก เพื่อคงไว้ซึ่งความศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยในเนื้อหาได้มีการพูดถึงสถานการณ์โดยรวมที่เกิดขึ้น แนวโน้มความศรัทธาที่เปลี่ยนไป และได้เสนอข้อเสนอที่จำเลยมองว่าเป็นทางออก ที่ทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งเป็น 3 ข้อเสนอดังกล่าวที่จำเลยพูดถึงไป
ในข้อแรกจำเลยได้พูดถึงเรื่องกองทัพ โดยพูดว่า “1 ประเทศมีได้กองทัพเดียว ท่านจะแยกกองทัพออกไปเป็นของตัวเองแบบนี้ไม่ได้” ซึ่งจำเลยได้อ้างอิงมาจาก พ.ร.บ.โอนกำลังพลฯ ที่ได้โอนกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภที่ 1 และที่ 11 เข้าไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งทำให้งบประมาณและบุคลาการขาดการตรวจสอบ เพราะอยู่ในส่วนราชการในพระองค์ และขึ้นตรงต่อพระราชอัธยาศัย เป็นเหตุให้ตั้งคำถามและมีข้อเสนอแรกออกมา
ที่ปราศรัยว่า “ทรงอยู่เบื้องหลังกลุ่มก้อนทางการเมือง ย่อมนำมาซึ่งความไม่ไว้วางใจของประชาชน” เกิดจากที่จำเลยกังวล เพราะหลังจากได้มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว รัชกาลที่ 10 ได้ทรงรับสั่งให้แก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ซึ่งฉบับที่ประกาศใช้ก็ไม่ได้มีข้อความดั้งเดิมเหมือนตอนที่จัดทำประชามติ
การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ ทำให้มีความเคลือบแคลงสงสัยต่อการสอดรับกันของอำนาจของสถาบันกษัตริย์กับ กลุ่มคนที่ก่อการรัฐประหาร ซึ่งเป็นที่น่ากังวล เพราะประชาชนก็ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และไม่แน่ใจว่าทรงเห็นอย่างไรกับการรัฐประหาร จึงเป็นเหตุต่อข้อเสนอที่ 2 มิหนำซ้ำเมื่อเดือน พ.ย. 2566 ที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นองคมนตรี โดยไม่มีผู้ลงนามรับสนอง ก็ยิ่งเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยมากขึ้น
ส่วนเรื่องทรัพย์สิน พ.ร.บ.ควบรวมทรัพย์สินที่ถูกเปลี่ยนแปลงมาก็เกิดในยุครัฐบาลประยุทธ์ และเนื้อความในการเปลี่ยนแปลง ให้เปลี่ยนแปลงจาก 3 เป็น 2 กอง โดยกองที่เรียกว่า ‘สาธารณะสมบัติ’ ได้หายไป โดยถูกยุบรวมในส่วนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า คนที่ได้เห็นข่าวสารนี้ จะเกิดความสงสัยว่าทรัพย์สินดังกล่าวจะอยู่ในชื่อของใครและการจัดการของใครกันแน่
ทั้งมีเอกสารออกมา ในเรื่องรายชื่อของผู้ถือหุ้นจากบริษัทใหญ่ จากชื่อเดิมที่เป็น “สำนักงานทรัพย์สินฯ” ให้เปลี่ยนไปเป็นชื่อของในหลวงรัชกาลที่ 10 เพียงองค์เดียว ย่อมทำให้เกิดความสงสัยเคลือบแคลง ไม่ว่าฝ่ายรักหรือไม่รักก็จะต้องตั้งคำถามว่า เมื่อชื่อถูกโอนไปเป็นของผู้เดียว การส่งต่อทรัพย์สินให้รัชกาลถัดไปจะถูกจัดการอย่างไรกันแน่ ซึ่งส่งผลต่อความศรัทธาของประชาชนด้วย เป็นเหตุต่อคำปราศรัยในข้อที่ 3
คำปราศรัยทั้งหมดที่จำเลยพูดในวันนั้น จำเลยเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าการพูดด้วยเหตุผล ตรงไปตรงมา บนข้อมูลที่ประจักษ์อยู่ในสาธารณะ จะนำมาซึ่งทางออกที่ไม่ว่าฝ่ายใดย่อมฉุกคิดถึงความเหมาะสมในระบอบประชาธิปไตย และจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ทุกสถาบันที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญได้อย่างตรงไปตรงมา โดยมีพื้นที่พูดคุยอย่างเสมอภาคกันในทุกความคิด โดยไม่ติดกรอบ การปิดกั้น หรือถูกจำกัดจากอำนาจอื่นใดที่นอกเหนือจากอำนาจประชาชน อันเป็นเหตุแห่งความบิดเบี้ยวของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จำเลยขอยืนยันว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด
ในการตอบอัยการถามติง จำเลยเบิกความว่า บทกลอนที่จำเลยกล่าวในตอนท้าย จำเลยพูดอย่างชัดเจนในตอนปราศรัยว่า เป็นการฝากไปถึงประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสถาบันการเมือง โดยจำเลยได้ฉายภาพให้เห็นถึงข้อกังวลว่า ถ้ายังปล่อยให้เหตุการณ์ในบทกลอนเกิดขึ้น สิ่งที่มันน่าเศร้าในบทกลอนอาจจะเกิดขึ้นจริงก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนไม่อยากให้เกิด
ความตั้งใจของจำเลยคือต้องการจะพูดให้เห็นภาพ ซึ่งบทกลอนถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งในการสื่อสาร ในการต่อต้าน ในการยืนหยัดถึงหลักการที่เรายึดถือ ซึ่งคำกลอนนี้ผู้ใดที่รับฟังก็มีสิทธิที่จะใช้วิจารณญาณในการตีความตามความเข้าใจของตนเองได้