30 ก.ย. 2564 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 มีความเห็นสั่งฟ้อง ‘มายด์’ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ มาตรา 112 และ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ24มีนา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ซึ่งจัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม บริเวณสี่แยกราชประสงค์
เวลา 10.00 น. ‘มายด์’ ภัสราวลี เดินทางมาฟังคำสั่งอัยการ ที่สำนักงานพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 ก่อนอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้
คำฟ้องคดีระบุเกริ่นนำโดยสรุปว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเป็นประมุข และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ์ เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และมาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”
จากนั้นอัยการระบุว่าเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 จำเลยได้ “บังอาจ” หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ในระหว่างการชุมนุมสาธารณะที่บริเวณแยกราชประสงค์ โดยขึ้นกล่าวปราศรัยให้หมู่ประชาชนที่ร่วมชุมนุมฟัง
คำฟ้องมีการถอดเทปคำปราศรัยของภัสราวลีโดยละเอียด โดยสรุปว่าคำปราศรัยทั้งหมดนั้นดูหมิ่นใส่ร้ายด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ เมื่อบุคคลที่สามได้ฟัง ย่อมเข้าใจได้ว่ารัชกาลที่ 10 ทรงต้องการขยายพระราชอํานาจตามอําเภอใจ ทรงกําลังสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์, ทรงแยกกองทัพออกไปเป็นของพระองค์เอง ทรงใช้พระราชอํานาจเข้าไปแทรกแซงการเมืองและการปกครอง ทรงนําทรัพย์สมบัติของชาติไปเป็นของพระองค์เอง อันเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลปัจจุบันเสื่อมเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอย่างร้ายแรง
ทั้งนี้มายด์ ภัสราวลี ถูกอัยการสั่งฟ้อง 2 ข้อหา ประกอบด้วย ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันชุมนุม หรือทํากิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19
ในเวลา 12.30 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ อนุญาตให้ประกันตัวภัสราวลี โดยใช้หลักทรัพย์ 200,000 บาท พร้อมกำหนด 2 เงื่อนไข ห้ามกระทำการตามที่ถูกกล่าวหาหรือเข้าร่วมกิจกรรมใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายอันเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
ศาลกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เวลา 9.00 น.
ทั้งนี้ กิจกรรมวันดังกล่าวมีผู้ขึ้นปราศรัยสลับกันหลายคน อาทิ ชาติชาย แกดำ, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, ธนพร วิจันทร์, เบนจา อะปัญ, อรรถพล บัวพัฒน์, ชุมาพร แต่งเกลี้ยง, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, ณัฏฐิดา มีวังปลา และภูมิ (สงวนชื่อและนามสกุล) เยาวชนจากกลุ่มนักเรียนไท ทั้งหมดได้ถูกออกหมายเรียกโดยสน.ลุมพินี และเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2564
อย่างไรก็ตาม เฉพาะภัสราวลี ที่ได้ถูกตัวแทนกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ได้แก่ นายวราวุธ มากมารศรี และประชาชนทั่วไป นางสาวแทนคุณ ปิตุภูมิ เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ตำรวจดำเนินคดีในข้อหาตาม มาตรา 112 ด้วย ทำให้เธอถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหานี้เพียงคนเดียวอีกข้อหาหนึ่ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตร.สน.ลุมพินีแจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 9 ปชช. 1 เยาวชน เหตุร่วมชุมนุม #ม็อบ24มีนา “มายด์” ถูกแจ้ง ม.112 เพิ่ม