ตร.อุ้มจับ ก่อนแจ้ง ม.112 ‘อติรุจ’ กล่าวหายืนตะโกน ‘ไปไหนก็เป็นภาระ’ ใส่ขบวนเสด็จ ก่อนศาลให้ประกันด้วยวงเงิน 2 แสน

เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2565 เวลา 18.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า อติรุจ (สงวนนามสกุล) โปรแกรมเมอร์ วัย 25 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกว่า 10 นาย ควบคุมตัวออกไประหว่างขบวนเสด็จขากลับของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี เคลื่อนผ่านบริเวณหน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กล่าวหาว่าอติรุจไม่ยอมนั่งลงเพื่อรอรับเสด็จและตะโกนวิจารณ์ว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” ใส่ขบวนเสด็จที่เคลื่อนผ่านไป 

บันทึกจับกุมโดยสรุป ระบุว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2565 เวลา 17.20 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดอาคารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

ต่อมาเวลาประมาณ 18.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจพบเห็นชายไม่ทราบชื่อ ต่อมาทราบว่า คือ ‘อติรุจ’ ได้ยืนอยู่บริเวณทางขึ้นประตูเอเทรียมของศูนย์การประชุม จึงได้เข้าไปตรวจสอบและชักชวนให้นั่งลงเฝ้ารับเสด็จ แต่อติรุจไม่ยินยอมนั่งลง พร้อมยืนยันจะขอยืนดู เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ที่อยู่ข้างเคียงให้ช่วยกันเข้ามาเฝ้าระวัง

หลังจากนั้นไม่นานเมื่อขบวนเสด็จขากลับเคลื่อนผ่าน ผู้ต้องหาได้ตะโกนว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” ในขณะที่ประชาชนคนอื่นต่างพากันเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” เจ้าหน้าที่ตำรวจในบริเวณดังกล่าว เห็นว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นภัยคุกคามต่อองค์พระมหากษัตริย์และพระราชินี จึงได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาออกจากพื้นที่ไปยังภายในศูนย์การประชุมฯ ปรากฏว่าผู้ต้องหาขัดขืน โดยใช้เท้าถีบเจ้าหน้าที่ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 นาย ได้รับบาดเจ็บบริเวณหลังแขนด้านซ้ายและผู้ต้องหาหลุดจากการควบคุม ตัวกระแทกพื้น

หลังควบคุมตัวนำไป สน.ลุมพินี พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหากับอติรุจ ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 

ตร.ปฏิเสธให้ข้อมูล-บ่ายเบี่ยง ไม่ยืนยันสถานที่คุมตัว จนเวลาผ่านไปนานกว่า 4 ชั่วโมง ก่อนเฉลยอยู่ที่ สน.ลุมพินี 

หลังอติรุจถูกควบคุมจากพื้นที่บริเวณศูนย์การประชุมฯ ในเวลาประมาณ 18.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าจะควบคุมตัวไปยัง สน.ลุมพินี บุคคลใกล้ชิดและประชาชนจำนวนหนึ่งจึงติดตามไปที่ สน.ลุมพินี แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี กลับปฏิเสธการให้ข้อมูลว่า อติรุจถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจหรือไม่ 

ขณะเดียวกัน ผู้กำกับการ สน.ลุมพินี เรียกตั้งแถวระดมกำลังเจ้าหน้าที่บริเวณหน้า สน. จำนวนประมาณ 30 นาย และมีการตั้งแผงเหล็กกั้นรอบพื้นที่ สน. พร้อมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนประจำการอยู่รอบบริเวณ 

(ภาพจากเทปถ่ายทอดสด (Live) บรรยากาศบริเวณด้านหน้า สน.ลุมพินี ขณะอติรุจถูกควบคุมตัวอยู่ด้านใน

จากช่องยูทูป ลุงดร เกตุเผือก)

กระทั่งเวลาผ่านไปราว 4 ชั่วโมง ในเวลาประมาณ 22.00 น. ผู้กำกับการ สน.ลุมพินี จึงยืนยันว่า อติรุจถูกควบคุมอยู่ภายใน สน.ลุมพินีจริง ทนายความจึงเดินทางติดตามไปโดยทันที 

เมื่อไปถึงพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจัดทำบันทึกจับกุมและดำเนินการตรวจปัสสาวะผู้ต้องหาไปแล้ว โดยไม่มีทนายความหรือผู้ไว้วางใจอยู่ร่วมด้วย แต่ยังไม่ได้ดำเนินการสอบสวนและแจ้งหาข้อกล่าวหาแต่อย่างใด อติรุจยังปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกที่เจ้าหน้าที่จัดทำ

หลังทนายความเข้าถึงตัวอติรุจได้ตรวจสอบด้วยตาเปล่า พบว่าอติรุจได้รับบาดเจ็บจากการเข้าควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกว่า 10 นาย โดยพบว่ามีรอยถลอก 3 จุด ที่ข้อเท้าซ้าย ข้อศอกซ้าย และข้อศอกขวา ส่วนนิ้วกลางขวาพบว่าเล็บฉีกขาด

ข้อศอกด้านซ้าย
ข้อศอกด้ายขวา
ข้อเท้าซ้าย
เหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่จับกุมอติรุจระหว่างขบวนเสด็จ

บีม (สงวนชื่อ-นามสกุล) ประชาชนผู้ถ่ายคลิปวิดีโอเหตุการณ์ในขณะเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมอติรุจได้ เปิดเผยว่า ขณะเกิดเหตุเจ้าหน้าที่เข้ามาอุ้มอติรุจออกไปทันที พร้อมยังใช้มือปิดปากอติรุจเพื่อไม่ให้ส่งเสียง ก่อนควบคุมตัวพาเข้าไปใส่กุญแจมือในศูนย์การประชุมฯ ในท่านอนคว่ำราบลงกับพื้น 

ในการแจ้งข้อกล่าวหา อติรุจได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมต่อไป หลังการสอบสวน ตำรวจยังได้ควบคุมตัวเขาไว้ที่สถานีต่อไป โดยเตรียมจะนำตัวไปขอฝากขังต่อศาลในวันจันทร์ที่เปิดทำการ

วันถัดมา (16 ต.ค. 2565) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี ยังได้นำหมายค้นที่ออกโดยศาลจังหวัดธัญบุรี ลงวันที่ 16 ต.ค. 2565 ไปขอตรวจค้นบ้านพักของอติรุจ ที่ จ.ปทุมธานี ในเวลา 14.00 – 17.50 น. อีกด้วย แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย 

(หมายค้นบ้านพักของอติรุจ)

ศาลให้ฝากขัง 12 วัน แต่ให้ประกันด้วยวงเงิน 2 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข ‘ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ’

ต่อมา เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2565 เวลาประมาณ 09.00 น. พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังอติรุจต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นระยะเวลา 12 วัน ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอคัดค้านฝากขังต่อทันที ศาลได้สั่งให้มีการไต่สวนการฝากขังขึ้นในเวลาประมาณ 13.00 น. 

หลังศาลดำเนินการไต่สวนคัดค้านฝากขังแล้วเสร็จ ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังอติรุจตามคำร้องของพนักงานสอบสวนที่อ้างเหตุผลว่า ผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา มีความจำเป็นจะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ 

ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวอติรุจต่อทันที ด้วยวงเงิน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามคำร้อง โดยกำหนดเงื่อนไขไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาต

ผลจากคำสั่งดังกล่าวทำให้อติรุจได้รับการปล่อยตัวในช่วงเย็นของวันที่ 17 ต.ค. 2565 หลังถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ลุมพินี 2 คืน ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 15 ต.ค. 2565 

อติรุจขณะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ภาพจากสำนักข่าวราษฎร
X