อัยการสั่งฟ้องคดี ม.112 พ่อค้าออนไลน์ แชร์ 3 โพสต์ ผูกขาดวัคซีน-คนเซ็นตั๋วช้าง-คำปราศรัยมายด์ พบมีญาติแฟนสาวเป็นผู้กล่าวหา

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จิรวัฒน์ (สงวนนามสกุล) พ่อค้าออนไลน์ วัย 30 ปี ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3),(5) กล่าวหาว่าแชร์เฟซบุ๊ก 3 ข้อความ โดยเป็นโพสต์ของบุคคลทั่วไป 1 โพสต์ และเป็นโพสต์จากเพจ KTUK – คนไทยยูเค จำนวน 2 โพสต์   

ในคดีนี้มี น.ส.ภัทรวรรณ ขำมา เป็นผู้กล่าวหา โดยจิรวัฒน์ระบุว่าผู้กล่าวหาเป็นญาติทางฝั่งฝ่ายหญิงที่คบหากับตน โดยญาติคนดังกล่าวยังเป็นเลขาฯ ฝ่ายกฎหมายของ ศบค. ซึ่งทั้งคู่มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันก่อนหน้านี้ จึงน่าสังเกตว่า คดีนี้อาจเป็นคดีความที่เกิดจากการกลั่นแกล้ง เนื่องจากความไม่พอใจส่วนตัว แต่ใช้ข้อกล่าวหามาตรา 112 เป็นเครื่องมือ 

สมพงษ์ ศรีธูป พนักงานอัยการ บรรยายคำฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า ในคดีนี้จําเลยได้กระทําความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ 

1. เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2564 จําเลยได้แชร์โพสต์จากเพจ KTUK – คนไทยยูเค ซึ่งโพสต์ดังกล่าวปรากฏภาพของรัชกาลที่ 10 นายกรัฐมนตรี และมีภาพประกอบเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด พร้อมเนื้อความโดยสรุปเกี่ยวกับการที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมในโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นโครงการที่ป้องกันไม่ให้ประเทศที่ร่ำรวยสามารถกวาดซื้อวัคซีนมากักตุนไว้ที่ประเทศตัวเอง โครงการดังกล่าวมีประเทศที่เข้าร่วมแล้วกว่า 172 ประเทศ แต่เนื่องจากไทยไม่ได้เข้าร่วม ทำให้ไม่สามารถรับวัคซีนที่มีคุณภาพเข้ามาได้ ในขณะที่การผลิตวัคซีนในไทยถูกผูกขาดโดยบริษัทที่มีรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งมีความล่าช้า ทำให้ผลกระทบตกถึงคนไทยที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพสูงได้ทันท่วงที ในขณะเดียวกันก็มีการนำเข้าวัคซีน Sinovac เข้ามาใช้ทั้งที่มีประสิทธิภาพต่ำ

อัยการระบุว่า ข้อความประกอบรูปภาพดังกล่าวนั้น ทำให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปเข้าใจว่า รัชกาล ที่ 10 ผูกขาดการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดย บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จํากัด ที่ทรงถือหุ้นใหญ่อยู่และหาผลประโยชน์จากการจําหน่ายวัคซีนโควิด-19 กับประชาชน และทําให้รัฐบาลไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX คอยแต่วัคซีนที่ผลิตโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จํากัด ทําให้ประชาชนคนไทยได้รับวัคซีนล่าช้า และวัคซีน Sinovac ที่รัฐบาลจัดหาที่มีคุณภาพต่ํา 

2. เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2564 จำเลยได้แชร์โพสต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง เป็นภาพหนังสือราชการ 4 ฉบับ และภาพของ ส.ส. รังสิมันต์ โรม ถือแผ่นกระดาษในมือทั้ง 2 ข้าง พร้อมข้อความประกอบโพสต์เกี่ยวกับเรื่องของตั๋วช้าง พร้อมตั้งคำถามว่า ลายเซ็นกำกับอาจเป็นของสมเด็จพระราชินี อีกทั้งยังมีลายเซ็นกำกับเหนือรหัส 904 พร้อมลิ้งค์ให้ไปอ่านเนื้อหาต่อบนทวิตเตอร์

อัยการระบุว่า ข้อความประกอบรูปภาพดังกล่าวนั้น ทำให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปเข้าใจว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ทรงเข้ามาก้าวก่ายหาผลประโยชน์ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตํารวจในสํานักงานตํารวจแห่งชาติ โดยไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของการแต่งตั้งโยกย้ายของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ 

3. เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 จําเลยได้แชร์โพสต์จากเพจ KTUK – คนไทยยูเค ซึ่งมีเนื้อหาเป็นถ้อยคำปราศรัยของ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ยืนยันว่าการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ควรต้องพูดถึงได้ทั้งในทางสรรเสริญและวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ประชาชนในฐานะที่เป็นกัลยานมิตรที่ดีที่ต้องสามารถตักเตือนกษัตริย์ได้เมื่อออกนอกลู่นอกทาง นอกจากนั้น ในเวลานี้ การขยายพระราชอำนาจของกษัตริย์อย่างไร้ขอบเขตกำลังส่งผลให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา โดยได้มีการนำเสนอข้อเสนอ 3 ข้อในการปรับปรุงแก้ไขสถาบันกษัตริย์ 1. การแบ่งแยกกองทัพออกมาเป็นของสถาบันกษัตริย์นั้นไม่สามารถทำได้ 2. กษัตริย์ต้องไม่แทรกแซงอยู่เบื้องหลังของกลุ่มก้อนทางการเมือง 3. ขอให้โอนคืนทรัพย์สมบัติของชาติสู่ประชาชน

อัยการระบุว่า ข้อความประกอบรูปภาพดังกล่าวนั้น ทำให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ทรงขยายพระราชอํานาจเกินขอบเขตไม่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทรงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และมีการโอนทรัพย์สินของชาติไปเป็นของตนเอง และเมื่อมีการทําผิดพลาดแล้วประชาชนสามารถตักเตือนกษัตริย์ในทางที่ถูกต้องได้

ทั้งนี้ อัยการระบุว่า ภาพและข้อความทั้ง 3 โพสต์ที่จำเลยได้แชร์ในเวลาต่างกันนั้น มีเนื้อหาลักษณะเสียดสี ประชดประชัน สร้างความเสียหายต่อพระเกียรติของรัชกาลที่ 10 และพระราชินีอย่างร้ายแรง อันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์และพระราชินี ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร 

ทั้งนี้ โดยจําเลยเผยแพร่ ส่งต่อข้อความและรูปภาพดังกล่าวแบบสาธารณะให้กับประชาชน บุคคลทั่วไป ได้เข้าถึงรับรู้โดยมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งกระทบต่อความมั่งคงแห่งราชอาณาจักร และมีบุคคลทั่วไปเข้ามาโพสต์แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์จํานวนมาก อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย 

อัยการจึงฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3),(5)

หลังพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักประกันจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยได้นัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 21 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตั้งแต่หลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 11 ก.พ. 2565 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 170 ราย ใน 177 คดี 

ฐานข้อมูลคดี

คดี 112 “จิรวัฒน์” พ่อค้าออนไลน์ เหตุแชร์ 3 โพสต์ ผูกขาดวัคซีน-คนเซ็นตั๋วช้าง-คำปราศรัย #ม็อบ24มีนา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อหา ม.112 พ่อค้าออนไลน์ เหตุแชร์ 3 โพสต์ ผูกขาดวัคซีน-คนเซ็นตั๋วช้าง-คำปราศรัย #ม็อบ24มีนา จากเพจ คนไทยยูเค

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 63 – 10 ก.พ. 65

X