ตร.ปอท. บุกค้นห้องพนักงานบาร์ ก่อนยึดมือถือ โยงกรณีแชร์โพสต์เพจ ‘คนไทยยูเค’ หลอกอีกว่าจะคืนให้ แต่กลับพาไปแจ้งข้อหา ม.112

11 พ.ค. 2565 เวลาประมาณ 11.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าค้นห้องพักย่านลาดพร้าวของ เอก (นามสมมติ) พนักงานบาร์วัย 28 ปี เพื่อตรวจยึดเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ สืบเนื่องจากกรณีที่เขาถูกตั้งข้อสงสัยว่า เคยแชร์โพสต์จากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” มีเนื้อหาเชื่อมโยงคุกวังทวีวัฒนาและรัชกาลที่ 10 เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยก่อนหน้าเหตุการณ์นี้ เอกเล่าว่า ตัวเขาเองยังไม่เคยเห็นหมายเรียกเพื่อให้ไปรับทราบข้อกล่าวหามาก่อน

ปฏิบัติการดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลาราว 6.10 น. เป็นการประสานกำลังกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และหน่วยงานสนับสนุน มีหัวหน้าชุดเข้าตรวจค้นคือ พ.ต.ท.กมล ทวีศรี รอง ผกก.3 บก.ปอท. และเจ้าหน้าที่อีก 7 นาย โดยอาศัยหมายค้นที่ออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 10 พ.ค. 2565 ตลอดการเข้าตรวจค้น เอกมีเพียงแค่ภรรยาอยู่ร่วมเป็นพยานด้วยเท่านั้น ไม่มีทนายความร่วมด้วย 

หลังตรวจค้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของเอกไว้เพื่อตรวจสอบ และได้จัดทำบันทึกการตรวจค้นและตรวจยึดของกลาง

การตรวจค้นเสร็จสิ้นในช่วงเวลาราว 7.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งว่า ขอให้เอกเดินทางไปยัง บก.ปอท. เพื่อให้ปากคำเพิ่มเติม เป็นการแจ้งปากเปล่าโดยไม่ได้มีการออกหมายเรียกและไม่ได้มีหมายจับ เมื่อพนักงานบาร์รายนี้เดินทางมาถึง บก.ปอท. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งว่า จะดำเนินคดีเขาในข้อหาความผิด มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เอกจึงได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากทนายความ

เมื่อทนายเดินทางไปถึง ร.ต.อ.นัฐพล ทะเลน้อย รองสารวัตรสอบสวน ปรก.กก.3 บก.ปอท. ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อเอก โดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย นวพล คนยัง ได้มาแจ้งความกับพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่ง เนื่องจากแชร์ข้อความจากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” ปรากฏรูปรัชกาลที่ 10 เป็นรูปประกอบ มีเนื้อหาเชื่อมโยงรัชกาลที่ 10 กับคุกวังทวีวัฒนา มีการอ้างอิงเนื้อหาจากสื่อต่างประเทศ ในโพสต์ที่แชร์มานั้น มีการตั้งแคปชั่นประกอบว่า “ออกข่าวทุกประเทศยกเว้นกะลาแลนด์” และตั้งค่าสาธารณะ โดยเป็นโพสต์เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2565

พนักงานสอบสวนบรรยายต่อไปว่า การแชร์โพสต์ข้อความดังกล่าวถือเป็นการกล่าวหา ดูหมิ่นและใส่ความกษัตริย์โดยปราศจากข้อเท็จจริง มีเจตนาทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง หรืออาฆาตมาดร้าย และเป็นการส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร

หลังจากรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว เอกได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และเนื่องจากเป็นการเข้าพบเจ้าหน้าที่ด้วยตัวเอง ทางตำรวจจาก บก.ปอท. จึงปล่อยตัวผู้ต้องหาไปโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังในชั้นสอบสวน และไม่ได้กำหนดหลักประกัน

.

ตำรวจบอกให้ผมไป ปอท. แล้วจะคืนโทรศัพท์ให้ แต่พอไปถึง กลับถูกแจ้งข้อกล่าวหา เสียงจากผู้ต้องหา

หลังจากที่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว พนักงานบาร์ผู้ถูกตั้งข้อหาด้านความมั่นคงรายนี้เล่าว่า การบุกเข้าตรวจค้นเกิดขึ้นช่วงก่อน 7 โมงเช้า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยอื่นๆ อยู่ร่วมในกระบวนการตรวจค้น ราว 6 – 7 นาย การตรวจค้นเป็นไปโดยปกติ เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีท่าทีคุกคาม ได้แสดงหมายค้นฯ ให้ดูตามระเบียบของกฎหมาย เมื่อตรวจค้นเสร็จและได้ยึดโทรศัพท์มือถือไปแล้ว ตำรวจได้แจ้งกับเขาว่า ขอให้เดินทางไปให้ปากคำต่อที่ บก.ปอท. ถนนแจ้งวัฒนะ เป็นการบอกปากเปล่า แต่เมื่อไปถึง กลับกลายเป็นว่า เขาถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตาม มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งในเวลานั้น เอกยังไม่ได้ติดต่อทนายความ เพราะไม่คิดว่าจะโดนคดีทันที

“ตำรวจบอกว่า ‘เดี๋ยวอาบน้ำเสร็จให้ตามไปที่ ปอท. หน่อยนะ ไปหาร้อยเวร ไปให้การสอบสวน’ ผมก็สมัครใจไปเอง แต่เขาไม่ได้บอกผมแต่แรกว่า ไปแล้วจะโดนดำเนินคดีนะ บอกแค่ให้ไปให้ปากคำกับร้อยเวร แล้วก็ไม่ได้บอกอะไรต่อ ผมเลยถามไปว่า ‘ผมต้องหาทนายไปด้วยไหม?’ เขาก็ตอบว่า ไม่ต้อง”

“พอมาถึง ปอท. ได้คุยกับร้อยเวรถึงได้รู้ว่าเป็นการแจ้งข้อกล่าวหา เลยขอความช่วยเหลือจากทนาย”

“ที่ตัดสินใจตามไป ปอท. เพราะคิดว่า คงไม่มีอะไร เพราะโพสต์นั้นก็โดนศาลสั่งปิดกั้นไปแล้ว ตำรวจยังพูดทำนองอีกว่า ถ้าไปให้สอบสวนแล้วจะคืนโทรศัพท์ให้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้คืน”

“การที่ผมโดนคดีมันเป็นเรื่องแปลก โพสต์ต้นทางเอง กระทรวงดิจิทัลฯ เขาก็ไปขอศาลให้ปิดกั้นแล้ว เข้าถึงไม่ได้ เป็นเรื่องไร้สาระที่มันเกิดขึ้น”

ทั้งนี้จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2563 เป็นต้นมา มีคดีที่ตัวแทนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้แจ้งความไม่น้อยกว่า 11 คดี แล้ว จากจำนวนคดีทั้งหมดเท่าที่ทราบ 209 คดี โดยกรณีของเอก ทำให้มีสถิติผู้ถูกดำเนินคดีข้อหานี้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 194 ราย

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65

X