“อาย” กันต์ฤทัย ถูกแจ้งข้อหา ม.112 คดีที่ 2 เหตุแกนนำ ศปปส. ไปกล่าวหาจากเฟซบุ๊ก 2 ข้อความ เมื่อปี 65

16 ก.พ. 2567 เวลา 10.00 น. ที่กองบังคับการปราบรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) “อาย” กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน ประชาชนวัย 32 ปี พร้อมด้วยทนายความ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เหตุจากถูกกล่าวหาว่าโพสต์รูปและข้อความบนเฟซบุ๊กรวม 2 โพสต์ เมื่อปี 2565

คดีนี้นับว่าเป็นคดีข้อหามาตรา 112 คดีที่สองที่ “อาย” ถูกกล่าวหา โดยก่อนหน้านี้เมื่อปี 2566 เธอเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลาดพร้าว แจ้งข้อหาเหตุจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 8 ข้อความ ในช่วงระหว่างวันที่ 8 ก.พ. ถึง 1 เม.ย. 2565 โดยคดีมี พ.ต.ท.แทน ไชยแสง ตำรวจสันติบาล เป็นผู้กล่าวหา คดีนี้ยังอยู่ระหว่างรอการสืบพยานในชั้นศาล

.

ก่อนหน้านี้ อายได้รับหมายเรียกลงวันที่ 31 ม.ค.​ 2567 ให้เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา โดยพบว่ามี “อานนท์ กลิ่นแก้ว” แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหาในคดีใหม่นี้

ภาพหมายเรียกของ “อาย” กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน

วันนี้ (16 ก.พ. 2567) เวลา 10.00 น. อายและทนายความได้เดินทางมาถึง กองกำกับการ 1 บก.ปอท. ณ อาคารกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อเข้าพบ พ.ต.ท.ทศพร ศรีสัจจา รองผู้กำกับการสอบสวน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนผู้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ในคดีนี้ โดยวันนี้มีครอบครัวของอาย สื่อพลเมือง และประชาชนจำนวนหนึ่งมาให้กำลังใด้วย

ตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์ในคดีโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค.​ 2565 ได้มี อานนท์ กลิ่นแก้ว ผู้กล่าวหา ได้ตรวจสอบพบบัญชีเฟซบุ๊กเผยแพร่ข้อความ 2 ข้อความ จึงมาแจ้งความร้องทุกข์

  1. ข้อความแรก โพสต์เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 มีข้อความประกอบภาพถ่ายรัชกาลที่ 10 ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่า ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ทันทีว่าเป็นการกล่าวหา ดุด่า ดูหมิ่นรัชกาลที่ 10
  1. ข้อความที่สอง โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2565 ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าข้อความเป็นการล้อเลียน ล้อเล่น ในลักษณะคำพ้องเสียง ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 

ผู้กล่าวหาเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3)

อายได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมระบุว่าตนรู้จักผู้กล่าวหาในคดีนี้ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวและไม่ได้มีเหตุโกรธเคือง และให้การต่อว่าตนเคยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ที่ สน.ลาดพร้าว ในช่วงปี 2566 ส่วนนอกจากนั้นเป็นคดีที่มีเหตุมาจากการชุมนุม นอกเหนือจากนี้จะส่งคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน

พนักงานสอบสวนยังขอตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของอาย โดยไม่ได้มีหมายศาลในการเข้าถึงข้อมูลตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อายได้แจ้งกับพนักงานสอบสวนว่าตนเคยถูกตรวจยึดโทรศัพท์มือถือโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลาดพร้าว ตั้งแต่ปี 2565 แล้ว 

การแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น ตำรวจให้อายลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา บันทึกประจำวัน และพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติ พร้อมนัดหมายมาส่งสำนวนให้กับอัยการในวันที่ 1 เม.ย. 2567

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เริ่มมีการกลับมาดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแถลงการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือน พ.ย. 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ไปแล้วอย่างน้อย 263 คน ใน 289 คดี 

ในจำนวนคดีทั้งหมดนี้ แยกเป็นคดีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 144 คดี ซึ่งมีกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ (ศปปส.) ไปแจ้งความร้องทุกข์มาแล้วมากกว่า 30 คดี (จำนวนคดีนี้ นับเฉพาะกรณีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหา แต่ยังมีกรณีที่มีการแจ้งความอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา หรือตำรวจ-อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี)

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

เมื่อประชาชนใช้กฎหมายเป็นอาวุธทำร้ายกันเอง: เปิดสถิติคดี ม.112 ที่ผู้กล่าวโทษคือ “ประชาชน”

“อาย กันต์ฤทัย” ถูกแจ้งข้อหา ม.112 เหตุโพสต์ 8 ข้อความ ตำรวจนำตัวขอฝากขังแม้ไปตามหมายเรียก ก่อนศาลให้ปล่อยตัว 

X