“อาย กันต์ฤทัย” ถูกแจ้งข้อหา ม.112 เหตุโพสต์ 8 ข้อความ ตำรวจนำตัวขอฝากขังแม้ไปตามหมายเรียก ก่อนศาลให้ปล่อยตัว

17 ก.พ. 2566 เวลา 10.00 น. ที่ สน.ลาดพร้าว “อาย” กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน ผู้ชุมนุมทางการเมืองวัย 31 ปี ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของตำรวจ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และ (5) 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2565 กันต์ฤทัยเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลจำนวน 8 นาย ไปติดตามตัวถึงห้องพัก อ้างว่าได้โพสต์เฟซบุ๊กเข้าข่ายตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต้องการเจรจาตกลงไม่ให้โพสต์ลักษณะเช่นนี้อีกและต้องการให้ปิดบัญชีเฟซบุ๊ก ก่อนตำรวจจะพาตัวเธอไป สน.ลาดพร้าว โดยไม่มีหมายใดๆ แต่สุดท้าย ตำรวจได้ทิ้งเธอไว้และขับรถหนีออกไป เธอจึงลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ไว้ที่ สน.ลาดพร้าว

หลังจากนั้นวันที่ 1 ก.ค. 2565 ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวนกว่า 6 นาย ระบุเป็นเจ้าหน้าที่สายสืบจาก สน.ลาดพร้าว นำหมายค้นออกโดยศาลอาญา เข้าตรวจค้นห้องพักของกันต์ฤทัย โดยได้มีการตรวจยึดคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือของเธอไป รวมทั้งสอบถามข้อมูลสมุดบัญชีธนาคารเอาไว้

.

.

ต่อมากันต์ฤทัยได้รับหมายเรียกของ สน.ลาดพร้าว ลงวันที่ 8 ก.พ. 2566 ให้เข้ารับทราบข้อหาในวันนี้ โดยหมายระบุว่าคดีมี พ.ต.ท.แทน ไชยแสง รองผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 เป็นผู้กล่าวหา เธอพร้อมกับทนายความ จึงได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.อมฤทธิ์ วิเศษสิงห์ พนักงานสอบสวน สน.ลาดพร้าว ตามหมายเรียก 

ทางคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 ร่วม 20 นาย ได้ร่วมกันแจ้งข้อหา 2 ข้อกล่าวหาดังกล่าวต่อกันต์ฤทัย โดยระบุพฤติการณ์เกี่ยวกับการใช้เฟซบุ๊กเผยแพร่ข้อความ รูปภาพ และวิดีโอ บิดเบือนให้ร้ายโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ในช่วงระหว่างวันที่ 8 ก.พ. ถึง 1 เม.ย. 2565

ข้อกล่าวหาระบุพฤติการณ์การโพสต์และเผยแพร่รูปภาพ รวมจำนวน 8 โพสต์ โดยระบุว่าข้อความและภาพดังกล่าวเป็นกระทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศในหลวงรัชกาลที่ 10 บิดเบือนข้อเท็จจริงอันเป็นการให้ร้ายพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันหลักของชาติที่ประชาชนเคารพเทิดทูน เจ้าพนักงานกองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 โดย พ.ต.ท.แทน ไชยแสง ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนและตรวจสอบการกระทำความผิด ก่อนได้แจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สน.ลาดพร้าว

กันต์ฤทัยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนพนักงานสอบสวนได้ให้พิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวันไว้ และแจ้งว่าจะนำตัวไปขอฝากขังต่อศาลอาญา ทั้งที่กันต์ฤทัยเดินทางมาตามหมายเรียก

เวลา 12.40 น. พนักงานสอบสวนได้นำตัวกันต์ฤทัยขึ้นรถผู้ต้องขังไปยังศาลอาญา ขณะที่ทนายความได้ยื่นคัดค้านการฝากขัง โดยยืนยันว่าผู้ต้องหาได้มาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก จึงไม่มีเหตุหรือพฤติการณ์ให้ต้องสอบสวนหรือต้องฝากขังผู้ต้องหา

.

กันต์ฤทัยถูกตำรวจนำตัวขึ้นรถผู้ต้องขังไปขอฝากขังที่ศาลอาญา (ภาพโดย Deew Deew)

.

ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา แต่อนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไป โดยไม่ต้องประกันตัว และกำชับให้มาตามนัดหมายของศาล

คดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกที่กันต์ฤทัยถูกกล่าวหา ก่อนหน้านี้เธอเคยถูกกล่าวหาคดีเกี่ยวกับการร่วมชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2564 มาแล้ว 2 คดี ได้แก่ การชุมนุมของกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” ที่ดินแดง เมื่อวันที่ #ม็อบ29กันยา64 คดียังอยู่ในชั้นสอบสวน และคดีก่อความเดือดร้อนรำคาญ จากการชุมนุม #ม็อบ20มีนา64 ซึ่งคดีนี้เธอถูกตำรวจเปรียบเทียบปรับ ทำให้คดีสิ้นสุดไปแล้ว

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่านับตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่เริ่มมีการนำมาตรา 112 กลับมาบังคับใช้ จนถึงวันที่ 17 ก.พ. 2566 มีสถิติผู้ถูกกล่าวหาแล้วไม่น้อยกว่า 231 คน ใน 250 คดี โดยสถิติคดียังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ

.

X