29 พ.ย. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดลำปางนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “โจ” (สงวนชื่อสกุลจริง) ช่างประจำอู่รถวัย 26 ปี ที่ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีการแชร์โพสต์ 1 ข้อความ จากเพจเยาวชนปลดแอกเมื่อช่วงปี 2564
โจเปิดเผยว่า เขาเป็นคนจังหวัดลำปาง แต่ไปทำงานที่อู่รถในจังหวัดปทุมธานี โดยเขาไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่ก็มีการติดตามข่าวสารอยู่บ้าง คดีนี้เขาถูกบุคคลที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อน ชื่อ กรพัชร์ สุนทรพิธ เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ สภ.เมืองลำปาง โดยเขาได้รับหมายเรียกจากตำรวจให้ไปรับทราบข้อหา เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2564
ข้อกล่าวหาเขามาจากแชร์โพสต์ข้อความจากเพจเยาวชนปลดแอก ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโอกาสครบรอบ 7 ปี การรัฐประหาร โดยมีการเขียนข้อความสั้นๆ ประกอบการแชร์ แต่ข้อความที่เขียนไม่ได้เข้าข่ายความผิดแต่อย่างใด ส่วนเนื้อหาตัวข้อความที่แชร์มา เขาไม่ได้อ่านอย่างละเอียด จึงไม่ได้ระมัดระวังพอ ทั้งเขาไม่ทราบว่าเหตุใดผู้กล่าวหารายนี้จึงเจาะจงมากล่าวหาเขา เพราะไม่เคยพบกันมาก่อน และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคือง แต่ทราบจากทางตำรวจว่าบุคคลนี้มาแจ้งความคดีลักษณะนี้ไว้อีกหลายคดี แต่อาจจะไม่ได้มีการดำเนินคดีทั้งหมด
โจได้ว่าจ้างทนายความในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในคดีนี้ หลังจากนั้น เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา อัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดี โดยทางครอบครัวเขาต้องนำโฉนดที่ดิน มูลค่า 300,000 บาท มาเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัวระหว่างพิจารณา และเขามีภาระต้องเดินทางมารายงานตัวตามกระบวนการที่จังหวัดลำปางเป็นระยะ
ในการสอบคำให้การของศาล โจได้ตัดสินใจให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา โดยศาลได้มีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์จำเลยเพิ่มเติม ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้
ในวันนี้ ครอบครัวและญาติๆ ของโจได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา พร้อมกับทนายจำเลย โดยอัยการโจทก์ไม่ได้มาศาล
หลังศาลนั่งพิจารณา เวลา 9.50 น. ได้ระบุถึงผลคำพิพากษาเพียงสั้นๆ โดยไม่ได้อ่านเนื้อหาในรายละเอียด ศาลเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ทั้งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามบทที่หนักที่สูง คือตามมาตรา 112 จำเลยให้การรับสารภาพ และเมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ของจำเลย ประวัติส่วนตัว โดยที่จำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน และข้อมูลของครอบครัวจำเลย จึงเห็นควรให้รอการกำหนดโทษไว้ 2 ปี
ศาลได้ชี้แจงว่าการรอกำหนดโทษ คือในระยะ 2 ปี นับแต่วันฟังคำพิพากษานี้ หากจำเลยไปกระทำความผิดอีก ศาลอาจจะพิจารณากำหนดโทษจำเลยต่อไปได้ จึงขอให้ระมัดระวังในเรื่องการแสดงออกต่อไป โดยทางครอบครัวจำเลยได้กล่าวขอบคุณศาล และเดินทางไปยื่นเรื่องขอคืนหลักทรัพย์การประกันตัว
ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เท่าที่ทราบข้อมูลคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นหลังปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งศาลมีคำพิพากษาออกมาแล้วนั้น คดีนี้นับเป็นคดีที่ 2 ที่ศาลมีคำพิพากษาในลักษณะให้รอการกำหนดโทษ หลังจากก่อนหน้านี้มีคดีของ “โอม” ชลสิทธิ์ หนุ่มสวนยางวัย 21 ปี ที่จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งถูกกล่าวหาจากการแชร์ภาพวาดลงในสตอรี่เฟซบุ๊ก หลังให้การรับสารภาพ ศาลจังหวัดกันทรลักษ์ได้มีคำพิพากษาให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้ มีกำหนด 2 ปี เช่นกัน
.