วันนี้ (15 ธ.ค. 63) เวลา 10.00 น. ที่สน.ทุ่งมหาเมฆ สมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดเสื้อแดงและมาร่วมเป็นการ์ดของผู้ชุมนุมคณะราษฎร เดินทางเข้ารับทราบ 2 ข้อกล่าวหา ตามหมายเรียกที่เขาเพิ่งได้รับเมื่อวานนี้ ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” หรือมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และข้อหาฝ่าฝืนพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 กรณีโพสต์ข้อความ 3 ข้อความในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับพระราชดำรัสและการเสด็จเยี่ยมประชาชนของกษัตริย์รัชกาลที่ 10
คดีนี้มีผู้กล่าวหา คือ ศรายุทธ สังวาลย์ทอง ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาเอกชัย หงส์กังวาน, “ฟรานซิส” บุญเกื้อหนุน เป้าทอง และ “ตัน” สุรนาถ แป้นประเสริฐ ในคดีมาตรา 110 “ร่วมกันพยายามกระทำการประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี” เพราะอยู่ในพื้นที่ชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ระหว่างที่มีขบวนเสด็จผ่านเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 63 โดยในคดีนี้ เอกชัยและสุรนาถถูกควบคุมตัวในชั้นสอบสวนที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 และเรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นเวลา 18 และ 13 วันตามลำดับ
พ.ต.ท.ประจํา หนุนนาค รองผู้กํากับการ (สอบสวน) สน.ทุ่งมหาเมฆ และพ.ต.ต.คณศร นักเรียน สารวัตร (สอบสวน) สน.ทุ่งมหาเมฆ ซึ่งเป็นคณะพนักงานสอบสวนตามคําสั่งกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 ลงวันที่ 2 ธ.ค. 63 ได้เป็นผู้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาต่อสมบัติ โดยบรรยายพฤติการณ์คดีโดยสรุป ดังนี้
ขณะที่ศรายุทธ สังวาลย์ทอง กำลังนั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวที่ร้านอาหารละแวกสาธรได้เปิดเฟซบุ๊กของตนเองและเข้าไปดูบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “สมบัติ ทองย้อย” ซึ่งเปิดเป็นสาธารณะ และพบข้อความ 3 โพสต์ที่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้แก่
- ข้อความวันที่ 30 ต.ค. 63 โพสต์ว่า “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” ซึ่งข้อความดังกล่าวนั้น ในหลวงทรงตรัสกับผู้ที่ไปรอรับเสด็จ เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 63 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า นายศรายุทธจึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวจึงเป็นการจงใจล้อเลียนพระมหากษัตริย์
- ข้อความวันที่ 2 พ.ย. 63 โพสต์ว่า “เขาให้ลดงบประมาณที่เอาไปใช้จ่ายไม่ใช่ลดตัวลงมาใกล้ชิดประชาชน เข้าใจอะไรผิดไหม เรื่องการลดตัวลงมาแนบสนิท ชิดใกล้ประชาชนแบบที่เห็น แสดงให้เห็นว่า รู้ตัวสินะว่าคนเขาไม่เอา เลยต้องลงมาทําขนาดนี้ ถ้าจริงใจต้องทํามานานแล้วไม่ใช่เพิ่งมาทํา เพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา แต่น่าจะช้าไปแล้วจริง ๆ ละครหลังข่าวชัดๆ” ซึ่งนายศรายุทธเห็นว่าผู้โพสต์ตั้งใจสื่อถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะว่าในการเสด็จพระราชดําเนินนั้นประชาชนสามารถเข้าไปใกล้ชิดและขอฉายพระรูปกับพระองค์ท่านได้
- ข้อความวันที่ 2 พ.ย. 63 โพสต์ว่า “มีแจกลายเซ็นด้วย เซเลปชัดๆ” นายศรายุทธเห็นว่าเป็นข้อความจงใจหมายถึงพระมหากษัตริย์ เนื่องจากเวลาที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินนั้น ประชาชนจะนำพระบรมฉายาลักษณ์ไปให้พระองค์ทรงลงลายพระหัตถ์
ศรายุทธเห็นว่าข้อความทั้งสามเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและเป็นการใส่ร้ายใส่ความต่อพระมหากษัตริย์ ทําให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดต่อพระมหากษัตริย์ ทําให้เกิดความไม่สบายใจ
ประกอบกับศรายุทธเป็นประชาชนผู้เทิดทูนและเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์จึงไม่สามารถทนต่อการกระทําของนายสมบัติ ทองย้อยได้ และคิดว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนผู้จงรักภักดีและเทิดทูนต่อสถาบัน จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดําเนินคดีในข้อหามาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เพื่อให้ได้รับโทษตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
นอกจากนี้ บันทึกแจ้งข้อกล่าวหายังได้ระบุอีกว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 1 มาตรา 2 และมาตรา 6
ดังนั้น พสกนิกรและปวงชนชาวไทยจึงมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต้องไม่กระทําการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 50 (1) และ (6)
เมื่อพิจารณาตามพฤติการณ์คดีดังกล่าวแล้ว พนักงานสอบสวนจึงแจ้ง 2 ข้อหาแก่สมบัติ ได้แก่ ข้อหามาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 (3) ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
สมบัติได้ปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในเอกสารการแจ้งข้อกล่าวหา เขายังให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายใน 30 วัน
หลังรับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ให้ปล่อยตัวสมบัติไป โดยไม่ควบคุมตัวไว้ และนัดส่งสำนวนให้อัยการวันที่ 22 ม.ค. 64 เวลา 10.00 น.
มาตรา 112 มีช่องโหว่ให้ผู้ที่ไม่ใช่ผู้เสียหายแจ้งความเอาผิดได้
สมบัติให้สัมภาษณ์หลังรับทราบข้อกล่าวหา ว่าไม่เคยคาดฝันมาก่อนว่าจะถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตนเพิ่งได้รับหมายเรียกเย็นวานนี้ รู้สึกตกใจเล็กน้อยหลังได้รับหมายเรียก แต่เนื่องจากเคยถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองมาแล้ว จึงคิดไว้ว่าวันหนึ่งอาจถูกดำเนินคดีในลักษณะนี้เช่นกัน
เมื่อถามถึงความเห็นของการนำกฎหมายมาตรา 112 มาใช้อย่างกว้างขวาง หลังไม่มีการดำเนินคดีมาตรา 112 มาเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี สมบัติให้ความเห็นว่าการใช้กฎหมายมาตรา 112 เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะคนถูกดำเนินคดีนี้มักถูกกล่าวหาจากผู้ที่ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง แต่กลับมาแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา ดังนั้นจึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ควรรณรงค์ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้
ตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 สมบัติ ทองย้อยถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องทางการเมืองทั้งสิ้น 2 คดี โดยเป็นคดีในข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จากการชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์ และการชุมนุม #ม็อบ18ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย
หลังจากเริ่มกลับมาใช้มาตรา 112 กล่าวหาผู้ชุมนุมทางการเมือง จนถึงวันที่ 14 ธ.ค. 63 มีประชาชนถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างน้อย 26 คนใน 17 คดี อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในมาตรานี้ รวมไปถึงจำนวนคดียังมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าจะจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีจากการนำมาตรา 112 กลับมาใช้ในครั้งนี้จะสิ้นสุดที่เท่าไหร่ เมื่อมีการเปิดให้ใครก็ได้สามารถเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ