9 ก.ค. ศาลปกครองนัดพิพากษาคดี ‘สมยศ’ ฟ้องราชทัณฑ์ไม่ให้พักโทษขณะถูกคุมขังตาม ม.112

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 63 ศาลปกครองกลางนัดพิจารณาคดีนัดแรก ในคดีหมายเลขดำที่ 687/2561 ซึ่งมีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงานและอดีตผู้ต้องขังทางการเมือง เป็นผู้ฟ้องคดี และมีกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ คณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ และคณะกรรมการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เป็นผู้ถูกฟ้องคดี กรณีมีมติไม่ให้สมยศได้รับการพักการลงโทษ ในระหว่างการถูกคุมขังในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การได้รับการพักโทษ

หลังจากตุลาการผู้แถลงคดีได้สรุปข้อเท็จจริงและความเห็นแล้ว ตุลาการองค์คณะกำหนดนัดหมายฟังคำพิพากษาในคดีต่อไปในวันที่ 9 ก.ค. 63 เวลา 10.00 น.

สมยศได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 61 หลังถูกคุมขังมา 7 ปีเต็ม (ภาพโดย Banrasdr Photo)

.

ฟ้องไม่ให้พักโทษผู้ต้องขังคดี ม.112 เป็นการเลือกปฏิบัติ ขัดต่อหลักความเสมอภาคตาม รธน.

สำหรับคดีนี้ สมยศได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 61 ภายหลังจากคณะกรรมการพักการลงโทษได้มีมติไม่เห็นชอบให้พักการลงโทษกับเขา ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 60 ด้วยเหตุผลว่าขาดองค์ประกอบที่จะสนับสนุนให้พักการลงโทษ แม้สมยศจะอุทธรณ์คำสั่งแต่ไม่มีผล ประเด็นที่สมยศยื่นฟ้องคดีมี 2 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. หลักเกณฑ์พิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ.2560 ข้อ 2 (ข) และข้อ 3 ซึ่งกำหนดลักษณะความผิดที่ให้คณะกรรมการพักการลงโทษพิจารณาคุณสมบัติก่อนให้ความเห็นชอบพักการลงโทษ เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาคที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง

หลักเกณฑ์ข้อดังกล่าวมีการกำหนดประเภทความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์และความผิดต่อความมั่นคง เป็นประเภทคดีหนึ่งซึ่งหากจะได้รับการพิจารณาผ่อนปรนได้รับการพักโทษได้ จะต้องมีเหตุผลพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งสนับสนุน เช่น ขณะกระทำผิดมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป, เหลือโทษจำคุกต่อไปไม่เกิน 1 ปี หรือเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง เป็นต้น

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมฯ ข้อ 65 ให้อำนาจอธิบดีกำหนดหลักเกณฑ์การพักโทษ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ของนักโทษเด็ดขาดและปัจจัยอื่นๆ แต่ไม่ได้กำหนดเรื่องลักษณะความผิดไว้ การออกประกาศกรมราชทัณฑ์ฯ โดยกำหนดลักษณะความผิดจึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจที่กฎหมายกำหนด

อีกทั้งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่แตกต่างจากมาตราอื่นในกฎหมายอาญา คือเป็นข้อห้ามความประพฤติของบุคคลในสังคมโดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ผู้ฝ่าฝืนได้รับโทษทางอาญาเหมือนกัน แต่การกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาพักโทษ เป็นการกำหนดผลทางกฎหมายต่อบุคคลที่กระทำผิดในข้อหานี้ให้แตกต่างออกไปจากข้อหาอื่น ให้ได้รับผลร้ายเป็นพิเศษในการใช้ดุลยพินิจพักโทษ จึงถือได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญแบบเดียวกัน ให้แตกต่างออกไป จนเกิดผลร้ายเป็นพิเศษและไม่เป็นธรรม นักโทษเด็ดขาดไม่ว่าคดีใดๆ ย่อมต้องได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเสมอภาค ไม่ควรต้องมีการแบ่งแยกสิทธิประโยชน์โดยลักษณะความผิดอีก การบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม อันขัดต่อหลักความเสมอภาคที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลปกครองกลางเพิกถอนประกาศหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ข้อดังกล่าว เนื่องจากขัดหรือแย้งกับระเบียบกระทรวงยุติธรรมฯ พ.ศ. 2559 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

 

2. มติคณะกรรมการพักการลงโทษ ครั้งที่ 3/2561 ซึ่งมีมติไม่เห็นชอบให้พักการลงโทษผู้ฟ้องคดี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560 นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สมยศระบุว่าแม้ตนจะเป็นนักโทษเด็ดขาดตามมาตรา 112 แต่ก็มีเหตุผลพิเศษสนับสนุนให้คณะกรรมการพักโทษใช้ดุลพินิจพิจารณาผ่อนปรนให้ได้รับการพักโทษ กล่าวคือเหลือโทษจำคุกต่อไปไม่เกิน 1 ปี หรือเพียง 4 เดือน 5 วัน ณ วันที่คณะกรรมการพักโทษพิจารณา อันเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศกรมราชทัณฑ์ฯ แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบอื่นแต่อย่างใด ประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีไม่ได้ร้ายแรง โดยผู้ฟ้องคดีเป็นเพียงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดเองโดยตรง รวมทั้งในระหว่างถูกคุมขังมีความประพฤติดี โดยได้รับคะแนนความประพฤติเต็ม 100 คะแนน ทำให้ผู้ฟ้องคดีมีคุณสมบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ที่จะได้รับการพักโทษ

ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการพักการลงโทษดังกล่าว เนื่องจากเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้มีคำสั่งให้กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงิน 64,569.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี เนื่องจากได้รับความเสียหายต่อเสรีภาพในร่างกาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี

อ่านปัญหาเรื่องการไม่ได้รับอนุมัติให้พักโทษของผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 เพิ่มเติม ตรวจตราคดี 112 ที่ไม่จบแค่คำพิพากษา กรณีไม่ให้พักโทษไผ่และสมยศ

(ภาพโดย AFP)

.

ฝ่ายผู้ถูกฟ้องแจงไม่ให้พักโทษสมยศ เพราะทำผิดหลายครั้ง คดีร้ายแรง กระทบความมั่นคง

หลังยื่นฟ้องไปกว่า 2 ปี คู่กรณีได้ยื่นคำแถลงประกอบการยืนยันและหักล้างคำฟ้องดังกล่าว ก่อนที่ศาลปกครองกลางจะได้นัดหมายพิจารณาคดีนัดแรก ตุลาการเจ้าของสำนวนได้สรุปข้อเท็จจริงให้คู่ความฟัง โดยในส่วนของคำหักล้างของผู้ถูกฟ้อง มีประเด็นสำคัญโดยสรุปดังนี้

1. ทางกระทรวงยุติธรรมชี้แจงว่ามิได้มีส่วนในการบังคับบัญชา หรือกระทำการใดๆ เกี่ยวกับการพิจารณาพักการลงโทษ

2. ทางกรมราชทัณฑ์และคณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ ได้ชี้แจงกระบวนการพิจารณาการพักโทษ ว่าคณะกรรมการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ซึ่งมีหน้าที่ในการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเพื่อเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ ได้มีมติไม่เห็นชอบพักการลงโทษผู้ฟ้องคดี จึงไม่สามารถเสนอชื่อสมยศเพื่อพิจารณาพักการลงโทษในขั้นตอนต่อไปได้ ผู้ถูกฟ้องทั้งสองมิใช่ผู้มีมติให้ความเห็นชอบการพักการลงโทษผู้ฟ้องคดี

ในส่วนหลักเกณฑ์พิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ.2560 เป็นหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์กำหนดขึ้น ตามกฎกระทรวงมหาดไทย พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ และระเบียบกระทรวงยุติธรรม อีกทั้งพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 52 วรรคสอง บัญญัติให้ต้องนำพฤติการณ์การกระทำผิด ลักษณะความผิด และความรุนแรงแห่งคดี ตลอดจนการกระทำความผิดที่ได้กระทำมาก่อนแล้วมาประกอบการพิจารณาด้วย หลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ ข้อ 2 (ข) และข้อ 3 จึงไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ และไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล

3. คณะกรรมการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ได้ชี้แจงว่าในการตรวจสอบคุณสมบัติของสมยศ จากผลการสืบเสาะข้อเท็จจริงของสำนักงานคุมประพฤติ ได้มีความเห็นว่าไม่สมควรปล่อยตัวสมยศ เนื่องจากเป็นนักโทษที่กระทำผิดฐานความผิดเดิมมาแล้วหลายครั้ง และกระทำผิดซ้ำอีกในปัจจุบัน ทั้งเป็นคดีที่มีโทษร้ายแรง แสดงให้เห็นว่าสมยศไม่ได้รู้สึกเข็ดหลาบหรือสำนึกในการกระทำผิด หากได้รับการปล่อยตัว มีแนวโน้มกระทำผิดซ้ำอีก

สำนักงานคุมประพฤติยังได้อ้างอิงประวัติการพิมพ์ลายนิ้วมือคดีความที่สมยศเคยถูกกล่าวหาทั้งหมด 7 คดี  โดยนอกจากคดีมาตรา 112 ปรากฏว่ามีคดีหมิ่นประมาทโดยการกระจายเสียง (หมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร) อีกคดีหนึ่ง ที่สมยศเคยถูกศาลพิจารณาพิพากษาว่ามีความผิด ส่วนคดีอื่นๆ ไม่เคยถูกสั่งฟ้องต่อศาลแต่อย่างใด

คณะกรรมการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดฯ ยังพิจารณาเห็นว่าพฤติการณ์ของสมยศที่ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีมาตรา 112 มีผลกระทบต่อสถาบันหลักของชาติ สร้างความสะเทือนใจต่อปวงชนชาวไทยและความมั่นคงของประเทศ

คณะกรรมการฯ ยังพิจารณาเหตุผลสนับสนุนที่อาจใช้พิจารณาพักการลงโทษ พบว่าสมยศอายุเกิน 20 ปี แต่ยังไม่ถึง 70 ปี และไม่ได้เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง จึงไม่มีเหตุผลสนับสนุนอื่น มีมติไม่เห็นชอบให้พักการลงโทษ โดยได้ใช้ดุลยพินิจพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว มิได้เป็นการเลือกปฏิบัติ หรือมีเจตนากลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด

(ภาพโดย Banrasdr Photo)

.

สมยศโต้ คกก. กล้างอ้างลอยๆ ยันตนถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพ ไม่ใช่อาชญากรรมร้ายแรง

ด้านสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นคัดค้านคำให้การดังกล่าวของผู้ถูกฟ้อง โดยโต้แย้งการให้เหตุผลของคณะกรรมการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดฯ ว่าการกล่าวอ้างว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดที่กระทบต่อสถาบันหลักของชาติ สร้างความสะเทือนใจต่อปวงชนชาวไทย เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยพิจารณาจากข้อหาหรือลักษณะความผิดของการต้องโทษเท่านั้น ไม่มีข้อเท็จจริงสนับสนุนเพียงพอว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีได้สร้างความสะเทือนใจต่อปวงชนชาวไทย และความมั่นคงของประเทศอย่างไร เพียงใด

และแม้ผู้ฟ้องคดีจะเคยถูกศาลพิพากษาลงโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร และคดีมาตรา 112 นี้ ทั้งสองคดีล้วนเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มิใช่เป็นอาชญากรรมร้ายแรง กรณีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง ยังเป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์การใช้จ่ายโดยมิชอบ เพื่อประโยชน์สาธารณะ

อีกทั้งหากพิจารณาตามกฎกระทรวงมหาดไทย ซึ่งออกตามพ.ร.บ.ราชทัณฑ์แล้ว คณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยการพักโทษ ส่วนคณะกรรมการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดฯ มีหน้าที่เพียงพิจารณาคัดเลือกนักโทษที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเสนอไปให้พิจารณาเท่านั้น มติของคณะกรรมการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดฯ ในกรณีของสมยศ ไม่ส่งเรื่องคณะกรรมการกลั่นกรอง จึงเป็นการพิจารณาโดยไม่มีอำนาจ และยังเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สมยศยังโต้แย้งว่าตามข้อ 65 ของระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังฯ พ.ศ.2559 ไม่ได้กำหนดลักษณะความผิดไว้สำหรับพิจารณาการพักโทษ ประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์พิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ.2560 ข้อ 2 (ข) และข้อ 3 จึงเป็นการกระทำโดยมีอำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจที่กฎหมายกำหนด

ผู้ฟ้องคดียังยืนยันว่าเมื่อนักโทษเด็ดขาดผ่านการตัดสินโทษจากศาลแล้ว ย่อมถือว่าสิ้นสุดกระบวนการกำหนดโทษแล้ว การพักการลงโทษจึงเป็นสิทธิที่นักโทษพึงได้รับตามความประพฤติตัวในเรือนจำ หากนักโทษเด็ดขาดรายใดอยู่ในสถานะที่จะได้รับสิทธินี้ ก็ต้องได้รับการพิจารณาโดยไม่เลือกปฏิบัติในเหตุลักษณะแห่งความผิด เพราะลักษณะความผิดไม่ได้บ่งบอกถึงความประพฤติ ความก้าวหน้าในการศึกษา การทำงาน การทำความชอบให้แก่ราชการขณะถูกคุมขัง

สมยศย้ำว่าการตีความกฎหมายและการมีคำสั่งทางปกครองในเรื่องการพักโทษ ต้องตีความเพื่อส่งเสริมสิทธิประโยชน์มากยิ่งกว่าตีความไปในทางลดทอนสิทธิของนักโทษเด็ดขาด

 

ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่าควรยกฟ้อง คำสั่งไม่ให้พักโทษชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ด้านตุลาการผู้แถลงคดีได้อ่านความเห็นในคดีนี้ เพื่อให้ตุลาการองค์คณะใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำคำพิพากษาต่อไป

ตุลาการผู้แถลงคดีแถลงใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นหลักเกณฑ์พิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ.2560 ข้อ 2 (ข) และข้อ 3 นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยเห็นว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่ได้ขัดหรือแย้งกับระเบียบกระทรวงยุติธรรม และพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฯ เนื่องจากได้ให้อำนาจอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในการออกหลักเกณฑ์สำหรับพิจารณาการพักโทษ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์การกระทำความผิดของผู้ต้องขัง การกระทำความผิดที่ผู้ต้องขังได้กระทำมาก่อน การกระทำความผิดซ้ำ ความประพฤติในขณะถูกคุมขัง จึงยังเป็นการใช้อำนาจตามกรอบอำนาจของกฎหมาย

ตุลาการผู้แถลงคดียังเห็นว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 27 โดยศาลเห็นว่ากรณีไม่ใช่การเลือกปฏิบัติต่อบุคคล โดยสิ่งที่มีสาระสำคัญแบบเดียวกัน ให้แตกต่างออกไป แต่เป็นการปฏิบัติที่ต่างกันต่อเรื่องที่มีข้อเท็จจริงต่างกัน เนื่องจากการพักการลงโทษจำเป็นต้องคำนึงถึงพฤติการณ์ต่างๆ ของผู้ต้องขัง รวมทั้งพฤติการณ์การกระทำความผิดด้วย ประเด็นนี้จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อบุคคล

ประเด็นที่สอง ตุลาการผู้แถลงคดียังเห็นว่ามติของคณะกรรมการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดฯ นั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยเห็นว่าการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ของผู้ฟ้องคดี เป็นลักษณะความผิดตามข้อ 2 (ข) ของหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ จึงต้องมีเหตุผลสนับสนุนใช้ดุลยพินิจพิเศษในการพิจารณาพักการลงโทษ โดยตามระเบียบของกระทรวงยุติธรรมที่กำหนดให้คำนึงถึงพฤติการณ์การกระทำผิด ความร้ายแรงของการกระทำผิดประกอบการพิจารณา การที่ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาเกี่ยวกับลักษณะความผิด และการกระทำความผิดซ้ำของผู้ฟ้องคดี จึงไม่ได้ขัดต่อกฎหมายอ และจึงไม่จำเป็นต้องชดเชยสินไหมทดแทน

หลังจากการอ่านความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี ตุลาการองค์คณะได้กำหนดนัดหมายฟังคำพิพากษาในคดีต่อไปในวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 เวลา 10.00 น.

.

ผู้ต้องขัง ม.112 รายอื่นก็ไม่ได้รับการพิจารณาให้พักโทษ

สมยศยังไม่ใช่อดีตผู้ต้องขังมาตรา 112 เพียงรายเดียว ที่เผชิญกับการพิจารณาไม่ให้ได้รับการพักโทษ เหมือนผู้ต้องขังในคดีอื่นๆ ในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อมูล ยังมีผู้ต้องขังมาตรา 112 อีกอย่างน้อย 2 ราย ที่ไม่ได้รับการพิจารณาให้พักโทษ ได้แก่ กรณีของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาการพักโทษไม่อนุมัติให้พักโทษ โดยอ้างเหตุว่าพฤติการณ์กระทําผิดกระทบต่อสถาบันหลักของชาติอันเป็นที่รักใคร่เทิดทูนของปวงชนชาวไทย จึงให้ทัณฑสถานอบรมพัฒนาพฤตินิสัยต่อไป จากการพิจารณาดังกล่าว “ไผ่” ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเช่นเดียวกันกับกรณีของสมยศ โดยคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลปกครองเช่นกัน

รวมทั้งกรณีของ “ศศิพิมล” ผู้ต้องขังมาตรา 112 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 เธอก็ไม่ได้รับการอนุญาตให้พักโทษเช่นกัน โดยทางคณะกรรมการอ้างเหตุเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง และเป็นความผิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เช่นกัน โดยกรณีของศศิพิมล เธอยังคงถูกคุมขังในเรือนจำจนถึงปัจจุบัน (มิถุนายน 2563)

คำพิพากษาของศาลปกครองในคดีของสมยศ จึงต้องจับตาว่าจะสามารถส่งผลเปลี่ยนแปลงสถานการณ์การไม่ให้พักโทษผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ได้หรือไม่ อย่างไร

 

X