เมื่อประชาชนใช้กฎหมายเป็นอาวุธทำร้ายกันเอง: เปิดสถิติคดี ม.112 ที่ผู้กล่าวโทษคือ “ประชาชน”

เป็นเวลากว่า 7 เดือนที่ประเทศไทยผ่านพ้นการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในปี 2566 และเป็นการครบรอบปีที่ 3 หลังวันที่ 19 พ.ย. 2563 ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศบังคับใช้กฎหมายทุกมาตราดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง นำไปสู่การนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กลับมาบังคับใช้ และทำให้มีประชาชนถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

จากการติดตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2566 มีประชาชนถูกแจ้งดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 1,935 ราย จากในจำนวน 1,262 คน  โดยในคดีมาตรา 112 มีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มมากขึ้น แม้จะมีการเลือกตั้งเปลี่ยนผ่านรัฐบาล “พลเรือน” แต่จำนวนคดีก็ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการเก็บสถิติข้อมูลคดีมาตรา 112 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566 

ศูนย์ทนายฯ พบว่าคดีมาตรา 112 มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 262 คน ในจำนวน 286 คดี  ในจำนวนนี้แยกเป็นคดีที่ “ประชาชน” เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษมากถึง 141 คดี ในจำนวนจำเลย 136 คน

ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยในระลอกล่าสุดนี้ ได้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบการปกครองของประชาธิปไตยไทย เมื่อกฎหมายมาตรา 112 กลายเป็นเครื่องมือสนองความเกลียดชังของประชาชนด้วยกันเอง และเป็นเครื่องมือที่ใช้ลงโทษประชาชนที่แค่เพียงมีความเห็นต่างทางการเมือง ตลอดจนกลายมาเป็นอาวุธของกลุ่มคนที่รวมตัวกันในนามของผู้ที่ต้องการปกป้องสถาบันกษัตริย์

ในโอกาสนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขอนำเสนอข้อมูลสถิติคดีมาตรา 112 ที่แจ้งดำเนินคดีโดยประชาชน ซึ่งกำลังมีเพิ่มมากขึ้นจากความขัดแย้งกันในโลกออนไลน์ของกลุ่มคนที่มีแนวคิดทางการเมืองที่ตรงกันข้ามกับผู้ต้องหาและจำเลยในคดีมาตรา 112 ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมักจะเป็นกลุ่มประชาชนที่ไม่ได้สังกัดกลุ่มนักกิจกรรม หรือเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวในการชุมนุมใหญ่

.

การดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ในระยะหลังนี้หนักหน่วงขึ้นจากกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งความร้องทุกข์เอาผิดกับประชาชนที่โพสต์ในประเด็นสถาบันกษัตริย์บนโลกออนไลน์

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าคดีมาตรา 112 – พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถูกดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์โดยกลุ่มเครือข่ายประชาชนที่เคลื่อนไหวในนาม “ปกป้องสถาบันฯ” มากกว่า 70 คดี โดยพบว่ามีการกล่าวโทษกันมากที่สุดในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑล ถึง 57 คดี โดยพื้นที่รองลงมาคือภาคใต้ จำนวน 7 คดี  ในส่วนของภาคเหนือ 5 คดี และภาคอีสาน 1 คดี (นับเฉพาะที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหา อาจมีกรณีการแจ้งความอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาเกิดขึ้น) 

จากข้อมูลทั้งหมดพบว่ากลุ่มประชาชนที่ไปแจ้งความร้องทุกข์มากที่สุดคือกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ (ศปปส.) ซึ่งมีมากกว่า 30 คดี   

  • ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ (ศปปส.)

กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ ก่อตั้งขึ้นภายหลังการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อปี 2563 โดยมีแกนนำคือ อานนท์ กลิ่นแก้ว เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวยังคงดำเนินงานกล่าวโทษมาตรา 112 กับประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมืองอยู่เป็นประจำ

จากการเบิกความ ของหนึ่งสมาชิกกลุ่มที่ขึ้นเป็นพยานโจทก์ในคดีของเบนจา อะปัญ กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมาตรา 112 เธอได้อธิบายว่ากลุ่ม ศปปส. มีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศ แต่กลุ่มดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิทางกฎหมายใด ๆ ซึ่งมักจะรวมตัวกันไปแจ้งความร้องทุกข์ในข้อหามาตรา 112 อยู่เป็นประจำ และการไปแจ้งความของสมาชิกกลุ่ม ก็จะมีตั้งแต่การติดตามสอดส่องบนสังคมออนไลน์จากกลุ่มคนที่โพสต์วิจารณ์สถาบันฯ และลงติดตามในกิจกรรมชุมนุมตามพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งทุกครั้งที่จะมีการดำเนินการกล่าวโทษบุคคลใด สมาชิกจะนำเรื่องเข้าประชุม และปรึกษากันว่าจะดำเนินการแจ้งความกับบุคคลนั้นหรือไม่ 

อย่างไรก็ตามนอกจากการใช้เครื่องมือทางกฎหมาย กลุ่ม ศปปส. ยังเคลื่อนไหวโดยการเข้าติดตามนักกิจกรรมโดยตรง อาทิ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2566 อานนท์และสมาชิก ศปปส. เข้าขับไล่ “บัสบาส” ที่ทำกิจกรรมเรียกร้องสิทธิประกันตัวอยู่หน้าศาล ก่อนบานปลายเข้าคุกคามด้วยอาวุธ ไม้ และตะโกนด่าทอ ทะเลาะวิวาทกับคนทำกิจกรรมและนักข่าวที่รายงานข่าวในบริเวณนั้นทั้งหมดจนต้องแยกย้ายอีกด้วย

เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2566  อานนท์ กลิ่นแก้ว ยังเป็นตัวแทนกลุ่มดำเนินการกล่าวโทษในคดีมาตรา 112 คดีแรกของ  “หยก” เด็กหญิงวัย 14 ปี (อายุในขณะนั้น) กรณีที่เธอไปเข้าร่วมการชุมนุม #13ตุลาหวังว่าสายฝนจะพาล่องลอยไป เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2565 ซึ่งส่งผลกระทบให้หยกต้องเข้าไปอยู่ในบ้านปรานีนานกว่า 51 วัน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 อานนท์และสมาชิกกลุ่มได้รวมตัวกันไปยื่นหนังสือถึงศาลอาญา เพื่อให้ศาลพิจารณาถอนประกันของรักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล หลังเธอถูกพิพากษาให้จำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา แต่ภายหลังศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก

  • กลุ่มศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมาย ผู้ถูกล่วงละเมิดบนโลกออนไลน์ (ศชอ.)

รองลงมาเป็นการแจ้งความของกลุ่มศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมาย ผู้ถูกล่วงละเมิดบนโลกออนไลน์ (ศชอ.)  ซึ่งมี นพดล พรหมภาสิต, แน่งน้อย อัศวกิตติกร เป็นแกนนำกลุ่ม ซึ่งภายหลังแน่งน้อยลดบทบาทตัวเองลง เหลือเพียงนพดลที่ยังดำเนินการกล่าวโทษร้องทุกข์กับประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมหรือมีความคิดเห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และจากการติดตามข้อมูลพบว่าคดีมาตรา 112 ที่มาจากการกล่าวโทษของกลุ่ม ศชอ. มากกว่า 14 คดี

กลุ่มดังกล่าวก่อตั้งขึ้นในปี 2563 เป็นกลุ่มเครือข่ายผู้ที่เทิดทูนสถาบันกษัตริย์ร่วมกับ ศปปส.  สมาชิกของกลุ่มจะดำเนินการรวบรวมโพสต์บนโซเชียลมีเดีย และรายชื่อของบุคคลที่มีแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันเข้าแจ้งความกล่าวโทษกับตำรวจ แต่นอกจากบทบาทของการแจ้งกล่าวโทษในคดีมาตรา 112 กลุ่ม ศชอ. ก็มีบทบาทให้ความช่วยเหลือผู้ที่มาขอความช่วยเหลือในการดำเนินคดีหมิ่นประมาททั่วไปอีกด้วย 

การรวมตัวกันของกลุ่ม ศชอ. มักจะแต่งกายด้วยชุดคอสตูมของตัวละครการ์ตูน “มินเนี่ยน” และเรียกตัวเองว่าเป็น “กองทัพมินเนี่ยน” กิจกรรมครั้งใหญ่ที่กลุ่ม ศชอ. เคยทำเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2564  ในชื่อกิจกรรมว่า “มหกรรมแจกพิซซ่า” เมื่อสมาชิกกลุ่มดังกล่าวได้รวมตัวกันแต่งกายด้วยชุดมินเนี่ยนและรวบรวมข้อความบนโซเชียลมีเดียจากผู้ใช้งานกว่า 90 รายชื่อ เข้าแจ้งความกล่าวโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) 

ต่อมาในวันที่ 10 ก.ค. 2564 ศชอ. ประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊กว่าได้ส่งหลักฐานให้ ปอท.ดำเนินคคี ม.112 เพิ่มอีก 1,275 รายชื่อจนล่าสุดทาง ศชอ.ระบุว่ารวมยอดทั้งหมดที่ผ่านมามีกว่า 1,400 รายชื่อแล้วและทางกลุ่มก็ยังยืนยันที่จะทำต่อไป

ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2564  เรื่อยมา ยังพบว่ามีการร้องเรียนจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากว่ากลุ่ม ศชอ. ส่งเอกสารที่รวบรวมข้อมูลส่วนตัวมาทางกล่องข้อความ และแจ้งในลักษณะข่มขู่ว่าได้มีการดำเนินคดีตามมาตรา 112 ต่อผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหลายร้อยราย โดยในช่วงหลังยังมีการอ้างตัวเป็น “แก๊งค์มินเนี่ยน” ส่งข้อความในลักษณะดังกล่าวอยู่อีกด้วย

สำหรับรูปแบบการคุกคามที่เกิดขึ้น พบว่าจะมาในรูปแบบของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เป็น “อวตาร” คือไม่เปิดเผยชื่อสกุลและหน้าตา ใช้ภาพการ์ตูนต่างๆ เป็นรูปโปร์ไฟล์ และไม่ได้เป็น “เพื่อน” ในเฟซบุ๊กกัน พยายามส่งข้อความมาทางกล่องข้อความส่วนตัว ของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ตกเป็น “เป้าหมาย”  โดยปรากฏข้อมูลส่วนตัวของบุคคลที่เป็นเป้าหมาย ข่มขู่ว่าจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112

นพดล พรหมภาสิต ยังเป็นหนึ่งในแกนนำที่มักจะไปเดินทางไปแจ้งความผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมการชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยในช่วงปี 2564 นพดลได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษมาตรา 112 กับแกนนำผู้ชุมนุมหลายราย อาทิเช่น อานนท์ นำภา, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นพดลและแน่งน้อยในฐานะตัวเองกลุ่ม ศชอ. ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นพยานโจทก์ปากผู้กล่าวหาในคดีชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์หลายคดี อาทิเช่น  #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์2 หรือ
#ม็อบเสกคาถาปกป้องประชาชน เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564, กิจกรรมชุมนุมราษฎรสาส์น เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 

นพดลยังเป็นผู้ที่กล่าวโทษในคดีของ “วารุณี” ชาวพิษณุโลก วัย 30 ปี กรณีโพสต์ภาพตัดต่อ ร.10 เปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต ซึ่งเป็นเหตุให้ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา และทำให้ปัจจุบันวารุณียังคงถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง และยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัวเรื่อยมาเป็นระยะเวลากว่า 177 วันแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2566 กลุ่ม ศชอ. ได้ประกาศยุติบทบาท และขอปิดตัวกลุ่มอย่างเป็นทางการผ่านเพจ
เฟซบุ๊ก ระบุเหตุผลเพียงสั้น ๆ ว่าเนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองกลับคืนสู่สภาวะปกติ และจะกลับมาอีกครั้งในวันที่ชาติมีภัย 

  • สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

กลุ่มดังกล่าวมีบทบาทในการเข้าดำเนินการกล่าวโทษมาตรา 112  นำโดย “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการของกลุ่ม ซึ่งมักเคลื่อนไหวตรวจสอบนักการเมือง พรรคการเมืองและข้าราชการที่ทุจริตคอรัปชัน และกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยการเข้าร้องเรียนกับหน่วยงานต่าง ๆ 

ทั้งนี้ข้อมูลที่ติดตามได้พบว่า ศรีสุวรรณได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นผู้แจ้งกล่าวโทษ ในคดีมาตรา 112 เป็นจำนวนทั้งหมด 4 คดี โดยหนึ่งในคดีที่ศรีสุวรรณแจ้งกล่าวโทษคือคดีที่สืบเนื่องมาจากการทำโฆษณาคลิปแคมเปญ 5.5 ลาซาด้าของ “นารา เครปกะเทย,หนูรัตน์ และมัมดิว” เนื่องจากเห็นว่าคลิปดังกล่าวมีเจตนาล้อเลียนอดีตราชินี และสมาชิกราชวงศ์ 

อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษายกฟ้องให้กับนาราซึ่งถูกแยกฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่งไปแล้ว โดย พิเคราะห์ว่าการกระทำแสดงบทบาทสมมติของจำเลยไม่เข้าข่ายความผิดมาตรา 112   แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ในคดีของหนูรัตน์ต่อไป

ปัจจุบันอธิบดีกรมการปกครองได้สั่งยุบสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยแล้ว หลังพบว่ามีการแอบอ้างผู้อื่นมาให้จัดแจ้งตั้งสมาคม ทำให้ศรีสุวรรณได้ก่อตั้งกลุ่มใหม่ที่ชื่อว่า ‘องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน’ เพื่อดำเนินการตรวจสอบ ติดตามการกระทำผิดกฎหมายของกลุ่มนักการเมือง และต่อต้านการแก้ไขหรือยกเลิก ม. 112 ต่อไป

การทำงานในลักษณะนี้ของกลุ่มเครือข่ายที่เทิดทูนสถาบันกษัตริย์ยังคงดำเนินต่อไปในหลายพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ แม้บางกลุ่มจะยุติบทบาทในการเข้ากล่าวโทษคดีมาตรา 112 ไปแล้ว แต่คดีที่เกิดขึ้นก็ยังคงอยู่ในกระบวนการยุติธรรมและไม่ได้มีวี่แววจะมีการยุติการดำเนินคดีอย่างไร

นอกจากนี้ ในกลุ่มอื่น ๆ พบว่าในพื้นที่ภาคกลางยังมีกลุ่มไทยภักดี ที่เคยกล่าวโทษในคดีมาตรา 112 ไว้ถึง 6 คดี, กลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ 4 คดี, กลุ่มศูนย์กลางประสานนักศึกษาอาชีวะ ประชาชนปกป้องสถาบันกษัตริย์ (ศอปส.) 2 คดี, กลุ่มพลังประชาชนปกป้องสถาบันกษัตริย์ (พปปส.) 2 คดี

และในส่วนภูมิภาคอื่นๆ ทางอีสานมีกลุ่มประชาชนที่เข้าแจ้งกล่าวโทษในคดีดังกล่าว คือ กลุ่มชมรมคนรักในหลวงขอนแก่น 1 คดี ส่วนภาคใต้มีกลุ่มพิทักษ์ราชบัลลังก์ 1 คดี และกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันฯ ซึ่งยังคงดำเนินการกล่าวโทษคดี ม.112 กับประชาชนในพื้นที่ภาคใต้อยู่อย่างต่อเนื่องเป็นจำนวน 6 คดีแล้ว (นับเฉพาะคดีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาแล้ว)

ในคดีล่าสุดที่กลุ่มประชาภักดิ์ฯ ดำเนินการกล่าวโทษคือคดีของ “เจมส์” ณัฐกานต์ ใจอารีย์ ซึ่งกำลังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางพัทลุงในคดี มาตรา 112 จากการโพสต์บนเฟซบุ๊ก เนื่องจาก ทรงชัย เนียมหอม แกนนำของกลุ่มดังกล่าวได้ไปร้องทุกข์ในคดีนี้ไว้ที่ สภ.เมืองพัทลุง ทำให้เจมส์ต้องถูกส่งตัวไปสอบสวนที่ สภ.เมืองพัทลุง ทั้งที่พื้นเพอยู่กรุงเทพฯ ปัจจุบันเขายังคงถูกคุมขังอยู่ในชั้นสอบสวน และไม่ได้รับการประกันตัวเป็นระยะเวลากว่า 43 วันแล้ว

ลักษณะสำคัญที่น่าสนใจของกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันฯ ดังกล่าว คือใช้วิธีการไปแจ้งความในหลายพื้นที่สถานีตำรวจกระจายไปในภาคใต้ ทั้งจังหวัดพัทลุง กระบี่ สงขลา เป็นต้น 

จากข้อมูลกลุ่มดังกล่าวข้างต้น มีจุดร่วมกันคือการก่อตั้งขึ้นในช่วงปี 2563 – 2564 มีลักษณะของกลุ่มที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์และราชาชาตินิยม  ก่อตั้งขึ้นในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และฝ่ายที่ต้องการให้ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

.

นอกจากกลุ่มเครือข่ายของประชาชนในข้างต้นแล้ว ประชาชนทั่วไปที่เข้าใจว่าดำเนินการในลักษณะปัจเจกบุคคลก็มีการเดินทางไปสถานีตำรวจใกล้บ้านเพื่อกล่าวโทษบุคคลที่เขาเห็นว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยเช่นกัน โดยในการสืบพยานในชั้นศาล ประชาชนเหล่านี้มักระบุว่าตนเองไม่ได้เป็นตัวแทนหรืออยู่ในกลุ่มสังกัดใด เพียงแค่ทำ ‘หน้าที่’ ปกปักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เพียงเท่านั้น 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2563 จนถึงวันที่ 1 ธ.ค. 2566 มีประชาชนที่ระบุตนว่าไร้สังกัดเป็นผู้กล่าวหาในคดีมาตรา 112  และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 70 คดี โดยในจำนวนนี้มี 3 คดีที่ผู้กล่าวหาเป็นบุคคลที่มีบทบาททางสังคม เช่น นักการเมือง และบริษัทการบินไทย

ประชาชนบางรายเป็นผู้กล่าวโทษจำนวนหลายคดีกับสถานีตำรวจในท้องที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ ทำให้คดีมาตรา 112 ที่เกิดจากการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นทั่วประเทศตั้งแต่เหนือจรดใต้ เช่น จังหวัดสมุทรปราการมี ศิวพันธ์ุ มานิตย์กุล และ อุราพร สุนทรพจน์ เป็นผู้กล่าวหาอย่างน้อย 9 และ 5 คดีตามลำดับ และจังหวัดนราธิวาสมี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหาอย่างน้อย 8 คดี

คดีที่มีศิวพันธ์ุเป็นผู้กล่าวหาจำนวน 9 คดี ได้แก่ คดีของ “ธีรวัช”, “มีชัย”, “วุฒิภัทร”, “ก้อง อุกฤษฏ์”, “ปุญญพัฒน์”, “ธัญดล”“นคร” และ “ธาวิน” ส่วนคดีที่มีอุราพรเป็นผู้กล่าวหาจำนวน 5 คดี ได้แก่ คดีของ “พิพัทธ์”“ภัทร” เยาวชนวัย 16 ปี, “พชร”, “มณีขวัญ” และ “ภราดร” ซึ่งเหตุแห่งคดีส่วนมากเกิดจากการโพสต์ แชร์ และ/หรือคอมเมนต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กของ “KonThaiUk” และ “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส”

คดีที่มีพสิษฐ์เป็นผู้กล่าวหาจำนวน 8 คดี ได้แก่ คดีของ “กัลยา”, “ชัยชนะ”, “วารี”, “ภัคภิญญา”, “อุดม”, “ปูน ธนพัตน์”, เยาวชนวัย 17 ปี และประชาชนอีก 1 ราย ซึ่งเหตุแห่งคดีส่วนมากเกิดจากการโพสต์และ/หรือแชร์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวซึ่งเปิดการมองเห็นเป็นสาธารณะ และโพสต์ แชร์ และ/หรือคอมเมนต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กของ “KonThaiUk”, “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” และเพจหรือบัญชีของผู้ลี้ภัยหรือนักกิจกรรมทางการเมือง

ในจำนวน 3 คดี ซึ่งผู้กล่าวหาเป็นบุคคลที่มีบทบาททางสังคม ได้แก่ กมล กิจกสิวัฒน์ ผู้สมัคร สส.เขต ขอนแก่น เขต 1 ในการเลือกตั้งปี 2566 จากพรรคไทยภักดี เป็นผู้กล่าวหากรณีเพจ “ทะลุฟ้า” โพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับ “ยาใจ ทรงพล” กรณีชู 3 นิ้วในพิธีรับปริญญา, ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส. จังหวัดราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้กล่าวหากรณีพบสื่อออนไลน์โพสต์การปราศรัยของ “ครูใหญ่ อรรถพล” ในการชุมนุมทางการเมืองบริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2563 และ ร.ต.เปรมไชย ศรีบุญ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทการบินไทย เป็นผู้กล่าวหากรณี “ธัญวดี” คอมเมนต์ใต้เพจเฟซบุ๊ก “การบินไทย” เกี่ยวกับการรับเงินภาษีและบริจาคบางส่วนกลับคืนให้ประชาชน

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า แม้ประชาชนไร้สังกัดเหล่านี้จะเบิกความต่อศาลว่าตนเองไม่ได้เป็นตัวแทนหรืออยู่ในกลุ่มสังกัดใด แต่ในทางการสืบพยานมักปรากฏข้อเท็จจริงว่าประชาชนเหล่านี้รู้จักหรือเคยทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในเครือข่ายของกลุ่มคนปกป้องสถาบันฯ และบางคนก็ได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายดังกล่าวในการกล่าวโทษต่อประชาชนที่เห็นต่าง

ตัวอย่างเช่น พสิษฐ์เคยเบิกความในคดี “ภัคภิญญา”, “วารี”, “กัลยา” และ “อุดม” ในทำนองเดียวกันว่า ตนไม่ได้เป็นสมาชิกของเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบัน (คปส.) เพียงแต่ขอยืมแบบฟอร์มหนังสือคำร้องทุกข์กล่าวโทษมาจากรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายดังกล่าว และใช้แบบฟอร์มดังกล่าวไปยื่นต่อทางตำรวจ

แม้ปัจจุบันกลุ่มปกป้องสถาบันฯ และประชาชนไร้สังกัดบางกลุ่มหรือบางคน จะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ในฐานะผู้กล่าวหาในคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  โดยบ้างก็ยุติการเคลื่อนไหว บ้างก็เปลี่ยนบทบาทไปเคลื่อนไหวในฐานะอื่นๆ แล้วก็ตาม เช่น เป็นพยานความเห็นในคดี หรือเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง แต่คดีที่ประชาชนเหล่านั้นกล่าวโทษไว้ก็ยังคงดำเนินต่อไปในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นชั้นสอบสวน ชั้นศาล หรือราชทัณฑ์ 

ส่วนเครือข่ายและประชาชนไร้สังกัดที่ยังคงเดินหน้ากล่าวโทษประชาชนที่เห็นต่างอย่างต่อเนื่องนั้น ในอนาคตก็จะส่งผลให้เกิดคดีเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แม้การออกมาแสดงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์จะไม่มากและเข้มข้นเท่าห้วงเวลาปี 2563-2564 แต่การโพสต์ แชร์ และ/หรือคอมเมนต์ข้อความตั้งแต่อดีตอาจกลายเป็นรอยเท้าบนโลกดิจิทัล (Digital Footprint) ที่ยังคงคั่งค้างอยู่ในโลกออนไลน์ ซึ่งอาจถูก ‘ขุด’ ขึ้นมาเป็นคดีเมื่อใดก็ได้ 

ในหลาย ๆ ครั้งของกลุ่มเครือข่ายปกป้องสถาบันฯ ก็ไม่ได้เป็นการแจ้งกล่าวโทษไปทั้งหมด ในขณะเดียวกันกลุ่มคนดังกล่าวยังดำเนินการข่มขู่ คุกคามประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์บนโลกออนไลน์ ด้วยการติดตาม คุกคามถึงที่พักอาศัย ที่ทำงาน และครอบครัว ตลอดจนคนรอบข้างของเป้าหมาย โดยอาศัยข้อมูลส่วนตัว ประวัติ การศึกษา และอาชีพมาเป็นข้อแลกเปลี่ยน หรือข้อตกลงไม่ให้มีการดำเนินคดีตามมาตรา 112 

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2566 ในกรณีของ “เอ” (นามสมมติ) ซึ่งเปิดเผยข้อมูลว่า เธอถูกคุมคามจากกลุ่มที่อ้างตนว่าเป็น “กองทัพมินเนี่ยน” บุกมาถึงสถานที่ทำงาน และนำเอกสารลักษณะ MOU มาให้เธอเซ็นข้อตกลงเพื่อรับรองว่าหากเธอปฏิบัติได้ตามข้อตกลงในเอกสารดังกล่าวจะไม่มีการดำเนินคดีในมาตรา 112 จากโพสต์ข้อความที่เธอไปคอมเมนต์ไว้ในเฟซบุ๊ก 

และแม้ MOU ฉบับดังกล่าวที่กองทัพมินเนี่ยนนำมาให้เซ็นจะไม่มีผลทางกฎหมายใด ๆ แต่ทั้งนี้การเซ็นข้อตกลงก็ไม่ได้เป็นการรับประกันได้ว่าผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิจะไม่ถูกแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากมาตรา 112 เปิดช่องว่างให้กับบุคคลใดก็ได้สามารถเข้ากล่าวโทษในกฎหมายข้อนี้ 

ข้อสังเกตที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว เห็นได้ชัดว่าหากกลุ่มปกป้องสถาบันฯ หันมาใช้วิธีนี้เพื่อเข้าคุกคามคนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองมากขึ้น ก็เป็นที่น่ากังวลทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ถูกละเมิดสิทธิถึงสภาวะหวาดระแวง ที่ต้องมานั่งกังวลถึงคดีที่อาจจะตามมาหลังจากนั้น

เมื่อคดีความเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไปในกระบวนการยุติธรรม ย่อมสร้างภาระต่อทั้งตัวผู้ถูกกล่าวหาและกระบวนการยุติธรรมเองเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่ประชาชนที่ต้องเสียเวลา, ค่าใช้จ่าย และโอกาสในชีวิต ในการ ‘ขึ้นโรงขึ้นศาล’ และมีประวัติอาชญากรรมติดตัว แต่กระบวนการยุติธรรมเองเดิมทีก็มีปัญหา ‘คดีล้นศาล นักโทษล้นคุก’ อยู่แล้ว ซึ่งหากปล่อยให้การกล่าวโทษคดีมาตรา 112 โดยประชาชนทั่วไปยังคงดำเนินต่อไปก็จะกลายเป็นภาระของภาครัฐที่จะต้องเสียเวลาและทรัพยากรไปในการดำเนินคดีเพียงเพื่อ ‘ปิดปาก’ ประชาชนที่เห็นต่าง

‘นิรโทษกรรมประชาชน’ ทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

นอกจากที่กฎหมายมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะถูกประชาชนด้วยกันเองนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกำจัดคนเห็นต่างจากทั่วทุกสารทิศในประเทศไทยแล้ว  มาตรา 112 ยังมีปัญหาด้านความชอบธรรมทั้งในตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้ซึ่งถูกยกขึ้นมาถกเถียงกันจากหลายฝ่ายเป็นเวลากว่าหลายทศวรรษ ดังนั้นจึงเรียกได้ว่ามาตรา 112 เป็นหนึ่งในปัญหาความขัดแย้งที่มีมาอยู่ตลอดในห้วงเวลาความขัดแย้งทางการเมืองของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

การที่จะคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่สั่งสมมาเนิ่นนาน ในก้าวแรกจึงควรเริ่มต้นจากการ ‘นิรโทษกรรมประชาชน’ ทุกสีทุกฝ่าย เพื่อให้คดีที่ยังคงดำเนินอยู่ในกระบวนการยุติธรรมชั้นต่างๆ ยุติลง ส่วนคดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดและลงโทษก็จะถือว่าไม่เคยถูกพิพากษาว่ากระทำความผิด และได้รับการลบประวัติอาชญากรรม เพื่อให้สังคมไทยได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในระยะยาวต่อไป

X