บันทึกการต่อสู้คดี ม.112 “เบนจา อะปัญ” กรณีอ่านแถลงการณ์วิจารณ์รัฐบาล “นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา” หน้าอาคารซิโน-ไทย ใน #คาร์ม็อบ10สิงหา64

วันที่ 30 ต.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “เบนจา อะปัญ”  นักกิจกรรมและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ที่หน้าบริษัทซิโน-ไทย ในระหว่างกิจกรรม ‘คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช’ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564

ในคดีนี้มี จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว, มะลิวัลย์ หวาดน้อย และ ปิยกุล วงษ์สิงห์ สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ที่ สน.ทองหล่อ เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2564 โดยกล่าวหาจากเนื้อหาคำปราศรัย และเนื้อหาในแถลงการณ์ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 2 เรื่อง ประกาศเป้าหมาย “นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา” และการเมืองหลังระบบประยุทธ์

วันที่ 7 ต.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สน.ทองหล่อ ได้ทราบว่าเบนจาจะเดินทางเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาในคดีอื่นที่ สน.ลุมพินี จึงได้รอสังเกตการณ์และติดตามแสดงตัวเข้าจับกุมเธอตามหมายจับที่บริเวณหน้า สน.ลุมพินี โดยไม่เคยมีหมายเรียกมาก่อน  ก่อนถูกพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ นำตัวขอฝากขังกับศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังจนครบผัดฟ้อง และไม่อนุญาตให้ประกันตัวเบนจาเรื่อยมาเป็นระยะเวลากว่า 99 วัน ก่อนให้ประกันตัวในภายหลังเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565

คดีนี้เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564  พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 และฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีใจความสำคัญระบุว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 จำเลยกับพวกอีก 6 คน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุมคาร์ม็อบที่บริเวณหน้าอาคาร ซิโน – ไทย ทาวเวอร์ โดยเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 5 คน และเป็นกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดโควิด – 19

โจทก์ได้กล่าวหาว่า จำเลยได้อ่านแถลงการณ์ “ประกาศแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 2 ประกาศเป้าหมาย ‘นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา’ และการเมืองหลังระบบประยุทธ์” โดยได้ยกข้อความในสองส่วนขึ้นมา อันเกี่ยวกับความตกต่ำในรัฐบาลระบอบทรราช เนื่องจากการแสวงผลประโยชน์ในองคาพยพโดย “นายทุน ขุนศึก ศักดินา” และการตั้งรัฐบาลที่มาจากประชาชน มิใช่ชนชั้นศักดินา พร้อมระบุว่าเป็นความเท็จ และเป็นการให้ร้ายจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์เสื่อมพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง

.

ภาพรวมการสืบพยาน :  โจทก์ตีความอ้างว่าจำเลยกล่าวหากษัตริย์แสวงหาผลประโยชน์กับพวกพ้องที่เป็นข้าราชการระดับสูง ทหารและเศรษฐี ส่วนจำเลยต่อสู้ว่าเจตนาการชุมนุมคือการวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐบาลของประยุทธ์เท่านั้น

ในคดีนี้ ศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานทั้งหมด 3 นัด โดยอัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบทั้งหมด 6 ปาก ในระหว่างวันที่ 5 – 7 ก.ย. 2566 และจำเลยอ้างตัวเป็นพยานจำเลยขึ้นเบิกความต่อสู้ด้วยตนเองในนัดสืบพยานวันสุดท้าย เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2566 

โจทก์นำสืบว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดโควิด – 19 และมีการมั่วสุมกันมากเกินกว่า 5 คน โดยจำเลยกับพวกได้ทำการปราศรัยอ่านประกาศของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มีเจตนาว่าร้ายกษัตริย์ว่าเป็นผู้หมกหมุ่นในการแสวงหาอำนาจกับบริวาร ทหารผู้บังคับบัญชาระดับสูง และข้าราชการระดับสูง ไม่บำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร ไม่ใส่ใจในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร

ส่วนด้านจำเลยต่อสู้ว่า ประกาศทั้งหมดที่ปราศรัยมีเจตนาเดียวเท่านั้นคือต้องการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะรัฐบาลของประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้มีข้อเรียกร้องใดที่ต้องการเรียกร้องต่อพระมหากษัตริย์แม้แต่ข้อเดียว

.

ผู้กล่าวหายอมรับว่าเป็นผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองกับจำเลยจึงเข้าแจ้งมาตรา 112

มะลิวัลย์ หวาดน้อย อายุ 45 ปี ประกอบอาชีพรับจ้าง เกี่ยวข้องกับคดีนี้เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย และเป็นสมาชิกของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ (ศปปส.) 

พยานยอมรับว่า เข้าร่วมกับกลุ่ม ศปปส. ตั้งแต่ปี 2563 โดยการเข้าร่วมไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนหรือสมัครสมาชิก เพียงแค่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ ก็สามารถเข้าร่วมกับกลุ่มได้แล้ว กลุ่มมี อานนท์ กลิ่นแก้ว เป็นหัวหน้า ซึ่งจะจัดกิจกรรมแจ้งความตามมาตรา 112 อยู่บ่อยครั้ง และหากมีใครแจ้งเบาะแสเข้ามา ทางกลุ่มก็จะไปดำเนินการแจ้งความตามที่ได้รับรายงานจากบนเฟซบุ๊กและไลน์ของกลุ่ม

พยานเบิกความว่าตนเองเป็นผู้กล่าวโทษกับจำเลยในคดีนี้ที่ สน.ทองหล่อ เนื่องจากในวันที่ 11 ส.ค. 2564 พยานได้ไปทำธุระบริเวณย่านอโศก และได้เล่นโทรศัพท์ก่อนจะได้เห็นคลิปของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พยานได้ดูคลิปแล้วเห็นว่าคำปราศรัยที่เกิดขึ้นของจำเลยในคลิปดังกล่าว เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 

ทั้งนี้ มะลิวัลย์ได้พบเห็นคลิปถ่ายทอดสดเหตุการณ์ชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. 2564 โดยมีจำเลยขึ้นปราศรัยที่หลังรถบรรทุกข์ ซึ่งจอดอยู่บริเวณหน้าตึกชิโน – ไทย ในเวลาประมาณ 14.00 – 16.00 น. ในคลิปดังกล่าว มีแกนนำหลายคนได้ขึ้นไปอ่านแถลงการณ์ และปราศรัยเรื่องที่รัชกาลที่ 10 มีผลประโยชน์กับกลุ่มนายทุน

เมื่อพยานได้ยินได้ฟังคำแถลงดังกล่าว จึงได้นำเข้าปรึกษากับสมาชิกกลุ่ม ศปปส. และมาดำเนินการร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ โดยในการร้องทุกข์พยานได้มีคลิปวิดีโอ และภาพถ่ายประกอบ อัดลงแผ่นซีดี และมีบันทึกคำปราศรัยของจำเลย ซึ่งพยานเป็นคนถอดเทปด้วยตนเองให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ด้วย 

ทนายจำเลยถามค้าน

ทนายถามกับมะลิวัลย์ว่า กลุ่ม ศปปส. ไม่ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิหรือกลุ่มใด ๆ ทางกฎหมายใช่หรือไม่ พยานยอมรับว่าใช่ และเมื่อถามว่าในกลุ่มมีสมาชิกเป็นจำนวนเท่าไหร่แล้ว พยานตอบว่าไม่สามารถระบุจำนวนสมาชิกของกลุ่มได้ แต่มีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศ และไม่ได้มีการเปิดให้ลงทะเบียนในระบบของกลุ่มแต่อย่างใด 

พยานยอมรับตามที่ถามค้านว่า กลุ่ม ศปปส. เคยเข้าให้การและแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนตามมาตรา 112 มาแล้วเป็นจำนวนมากกว่า 20 – 30 คดี นอกจากนี้พยานได้ยอมรับว่า ปิยกุล วงษ์สิงห์ พยานที่จะมาเบิกความต่อในวันนี้ ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม ศปปส. และรู้จักกันมาก่อน 

ทนายจึงถามต่อไปว่า พยานกับกลุ่มแนวร่วมฯ เป็นกลุ่มที่มีความคิดเห็นทางการเมืองขัดแย้งกันใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ โดยแตกต่างกันในข้อเรียกร้องทางการเมือง เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่เมื่อทนายจำเลยถามต่อถึงข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 1, 2, 6 และ 50 จะกำหนดไว้ว่าอย่างไร พยานไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากกลัวตอบแล้วจะทำให้คาดเคลื่อนจากความจริงตามที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้

ทั้งนี้ ต่อคำถามว่าเหตุใดจึงต้องเข้าแจ้งความในคดีนี้ มะลิวัลย์ได้กล่าวว่า จำเลยในคดีนี้กล่าวเรื่องไม่จริง และกล่าวหาว่าประเทศไทยตกต่ำเพราะการบริหารราชการแผ่นดินของทรราช โดยมีกษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งพยานเห็นว่าเป็นการใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 ว่าเอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้อง นายทุน

ทนายจึงถามต่อไปว่าจากที่พยานกล่าวมาทั้งหมด เป็นการตีความของพยานเองใช่หรือไม่ เนื่องจากในคำปราศรัยจริงของจำเลยไม่ได้กล่าวไว้แบบนั้น ซึ่งมะลิวัลย์ได้ตอบยอมรับว่าใช่ และยอมรับตามที่ทนายถามว่าหากอ่านคำปราศรัยทั้งหมด จะพบว่ามุ่งวิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาลที่ไม่ได้ทำได้ดีเท่ากับประเทศอื่น ๆ ไม่ได้เป็นการปราศรัยมุ่งหมายถึงรัชกาลที่ 10 แต่อย่างใด 

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ทนายจำเลยถามค้าน มีสมาชิกของกลุ่ม ศปปส. ยกมือขึ้นพูดกับศาลว่าทนายจำเลยกำลังคุกคามพยานโจทก์อยู่ แม้ทนายจะถามว่าเขาทำสิ่งใดที่เป็นพฤติกรรมคุกคาม ในเมื่อเพียงแค่ยืนเท้าแขนกับคอกพยานเท่านั้น และไม่ได้มีการใช้วาจาหรือท่าทีใด ทั้งนี้ศาลบอกว่าขอให้ทุกที่เข้าสังเกตการณ์อยู่ในความสงบ และศาลดูอยู่ตลอด ถ้าเห็นว่ามีพฤติการณ์คุกคามเกิดขึ้นจริง ศาลจะเป็นคนควบคุมเอง

เมื่อทนายถามค้านต่อ จึงได้ถามกับมะลิวัลย์ถึงการชุมนุมในวันเกิดเหตุว่า การที่กลุ่มแนวร่วมฯ ได้จัดการชุมนุมและเคลื่อนขบวนไปที่บริเวณหน้าตึกของบริษัทซิโน – ไทย ก็เนื่องมาจากว่าเจ้าของบริษัทดังกล่าวคืออนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น พยานทราบหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ

และพยานก็ไม่ทราบว่าในขณะที่อนุทินบริหารราชการแผ่นดินทางด้านสาธารณสุข มีการแพร่ระบาดโควิด – 19 หนักจนมีประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก และทำให้มีประชาชนร่วมตัวกันไปประท้วงเพื่อร้องเรียนเรื่องการบริหารจัดการควบคุมโรคระบาดดังกล่าว

ทั้งนี้ ศาลได้โต้แย้งกับทนายว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญของคดี ขอให้ทนายถามให้เกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 แต่ทนายแถลงว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญของคดี และเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดการชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. 2564 ขึ้น นอกจากนี้ในบันทึกการถอดเทปที่มะลิวัลย์ได้ส่งมอบให้พนักงานสอบสวน ก็เป็นเพียงการถอดเทปแค่ส่วนเดียวเท่านั้น หากไปดูถ้อยคำปราศรัยทั้งหมดของจำเลยจะพบว่าจำเลยมีเจตนาเพื่อจะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเท่านั้นเอง

จำเลยได้ยกมือแถลงต่อศาลต่อว่า ในขณะที่ได้ฟังการพิจารณาคดีอยู่ จำเลยไม่สบายใจที่สมาชิกกลุ่ม ศปปส. ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์คดีในวันนี้เดินเข้าออกห้องพิจารณาตลอดเวลา เนื่องจากพยานโจทก์ปากถัดไป กำลังรออยู่ที่หน้าห้องพิจารณา และยังเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม ศปปส. การที่บุคคลดังกล่าวเดินเข้าออกแบบนี้ เกรงว่าจะไม่เป็นผลดีต่อการสืบพยานของจำเลยเอง และเกรงว่าบุคคลที่เดินเข้าออกจะนำคำถามค้านไปเตรียมให้กับพยานโจทก์ปากถัดไปได้รับรู้ไว้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับการต่อสู้คดีของจำเลย

ทั้งนี้ สมาชิกคนดังกล่าวได้ตอบศาลว่า เขาจะเพียงแค่เดินไปเข้าห้องน้ำเท่านั้น ซึ่งจำเลยได้ตอบโต้ว่าหากจะออกไปในครั้งนี้ ก็ขอให้ออกไปเลยได้หรือไม่ เพราะในคดีอื่น ๆ สมาชิกกลุ่ม ศปปส. ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์คดี มักจะเดินเข้าออกห้องพิจารณา เพื่อไปพูดคุยเตรียมคำถามให้กับพยานโจทก์ที่กำลังรออยู่หน้าห้องพิจารณา จำเลยขอยืนยันว่ากลุ่มดังกล่าวเคยทำพฤติกรรมแบบนี้มาก่อนแล้ว โดยเฉพาะในคดีมาตรา 112 คดีอื่น ๆ ที่เบนจาก็เป็นหนึ่งในจำเลย

ศาลได้ตอบอนุญาตให้สมาชิกคนดังกล่าวสามารถเดินออกไปเข้าห้องน้ำได้ และกำชับกับทุกคนในห้องพิจารณาว่าขอให้อยู่ความสงบ แต่สมาชิกอีกคนหนึ่งยกมือแถลงกับศาลว่าตลอดการพิจารณาคดีนี้ เขาเห็นจำเลยเล่นโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา จำเลยได้ลุกขึ้นแถลงตอบกับศาลว่าตัวเองเพียงแค่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อจดบันทึกการต่อสู้คดีนี้เท่านั้น ไม่ได้ใช้เพื่อเล่นโซเชียลหรือทำสิ่งอื่นใด ซึ่งศาลได้ตอบอนุญาตให้จำเลยใช้ในการจดบันทึกการสืบพยานได้ และบอกกับผู้สังเกตการณ์คดีจากกลุ่ม ศปปส. ว่าการกระทำของจำเลยไม่ได้ผิดอะไร

ทนายได้ถามคำถามสุดท้ายกับพยานปากนี้ว่า ในวันที่ไปแจ้งความกล่าวโทษกับจำเลยในคดีนี้ พยานยอมรับได้หรือไม่ว่าไม่ได้ฟังคำปราศรัยของจำเลยทั้งหมด ฟังเพียงแค่ช่วงเดียวที่มีการเอ่ยพระนามของรัชกาลที่ 10 เท่านั้น พยานตอบว่าใช่ 

.

อีกหนึ่งผู้กล่าวหา ชี้ว่าประกาศของกลุ่มแนวร่วมฯ เป็นการพาดพิงกษัตริย์ แต่ยอมรับว่าที่จำเลยพูดไม่มีข้อเรียกร้องกล่าวถึงกษัตริย์เลย

ปิยกุล วงษ์สิงห์ อายุ 52 ปี ประกอบอาชีพรับจ้างอยู่ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ เบิกความว่าเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม ศปปส. เป็นปีที่ 3 แล้ว และยอมรับว่ากลุ่มที่พยานอยู่นั้นถูกตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์โดยเฉพาะ เนื่องจากว่าในปี 2563 มีการพูดล่วงเกิด จาบจ้วงสถาบันกษัตริย์มากมาย จึงทำให้กลุ่มของพยานก่อตั้งขึ้น 

พยานเกี่ยวข้องกับคดีนี้ เนื่องจากไปทำธุระกับมะลิวัลย์แถวอโศก โดยศาลได้ถามว่าทั้งสองคนมีธุระอะไรแถวย่านอโศกช่วยบรรยายที่มาที่ไปของการไปแจ้งความร้องทุกข์โดยละเอียดได้หรือไม่ 

ปิยกุลจึงเบิกความว่าพยานทั้งสองคนเพียงอยู่ด้วยกันในเวลานั้น และได้เล่นโซเชียลจนไปเจอคลิปวิดีโอของกลุ่มผู้ชุมนุมจากเพจราษฎร คลิปดังกล่าวเป็นการปราศรัยของจำเลยในคดีนี้ แต่พยานได้ยืนยันตามที่อัยการถามว่าพยานไม่เคยรู้จักกับจำเลยในคดีนี้มาก่อน เคยเห็นเพียงในสื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น 

ในคำปราศรัยตามฟ้องที่กล่าวหาว่ารัชกาลที่ 10 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการวัคซีน พยานเห็นว่าเป็นการพาดพิง ด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ และก่อนมาแจ้งความพยานก็ได้นำเรื่องเข้าปรึกษากับกลุ่ม ศปปส. ก่อนที่จะดำเนินการแจ้งความแล้ว

ทนายจำเลยถามค้าน

ทนายถามกับพยานว่า คำเบิกความในชั้นสอบสวน พยานได้ให้การไว้กับพนักงานสอบสวนเหมือนกับมะลิวัลย์ทุกอย่างใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ และได้ดูคลิปเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งในคลิปที่จำเลยปราศรัยเป็นช่วงเวลาประมาณ 14.00 – 15.00 น. และยืนยันกับทนายว่าได้ดูคำปราศรัยทั้งหมดของจำเลย 

ทั้งนี้ ปิยกุลได้ยอมรับว่าในคำปราศรัยทั้งหมดของจำเลยไม่ได้พูดถึงกษัตริย์เพียงคนเดียว แต่มีรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ด้วย และยอมรับว่าในคำปราศรัยทั้งหมด ไม่ได้มีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่เป็นการเรียกร้องเกี่ยวกับวัคซีนโควิด

ส่วนที่พยานได้ตีความคำปราศรัยของจำเลยและเบิกความตอบอัยการว่า แต่ในขณะที่มีการทำรัฐประหาร รัชกาลที่ 10 ยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ 

.

.

สารวัตรสืบสวน สน.ทองหล่อ เบิกความยอมรับว่าเนื้อหาการปราศรัยมุ่งเน้นข้อเรียกร้องวัคซีนโควิดและการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล 

พ.ต.ท.อัครพล ธนธรรม สารวัตรสืบสวน สน.ทองหล่อ อายุ 37 ปี เกี่ยวกับคดีนี้ พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้หาข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. 2564 โดยได้ทราบวันนัดหมายการชุมนุมคาร์ม็อบผ่านเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จึงได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดกำลังเฝ้าระวังการชุมนุมคาร์ม็อบที่แยกราชประสงค์ ตลอดจนแยกอโศก

พยานได้รับรายงานว่าขบวนคาร์ม็อบของกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้ามาในพื้นที่ของ สน.ทองหล่อ ในช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. โดยพยานได้พบเห็นรถจักรยานยนต์ และรถยนต์จำนวนมาก จึงได้ทำการปิดถนนตั้งแต่หน้าอาคารซิโน – ไทย จนถึงแยกอโศก ในบริเวณดังกล่าวมีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยฉีดสเปรย์ใส่หุ่นไล่กา เพื่อแสดงออกเชิงการเมือง

พยานเบิกความต่อไปว่าในบริเวณอาคารซิโน – ไทย ได้พบเห็นกับจำเลยขึ้นพูดปราศรัยที่หลังรถกระบะ โดยมีการแจกใบปลิวข้อความที่จำเลยพูดให้กับผู้ชุมนุมที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วย ซึ่งข้อความในคำปราศรัย พยานได้ยอมรับว่าเป็นถ้อยคำที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น พร้อมทั้งมีการกล่าวพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ด้วย

ในส่วนของการเก็บพยานหลักฐาน พยานได้ทำการเฝ้าระวังการชุมนุม มีการบันทึกภาพ ส่วนคลิปวิดีโอการปราศรัยพยานได้มาจากเพจสำนักข่าวราษฎร และได้นำมาถอดเทปว่าแกนนำหรือนักกิจกรรมพูดอะไรออกไปบ้าง ทั้งนี้ พยานได้เบิกความต่อว่าผู้ที่ถอดคำพูดคือ ส.ต.ท.ศิรวัฒน์ ศรีมาด ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของพยาน

พยานยืนยันกับอัยการว่าตนเป็นผู้ทำรายงานการสืบสวนด้วยตัวเอง โดยภาพหลักฐานต่าง ๆ ในสำนวนคดีนี้นอกจากเพจสำนักข่าวราษฎรแล้ว พยานได้มาจากเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมด้วย และนอกจากกลุ่มแนวร่วมฯ แล้ว ในการชุมนุมครั้งนี้ได้มีกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกเข้าร่วมทำกิจกรรมตุ๊กตาไล่ฝนที่บริเวณหน้าอาคารซิโน – ไทย ด้วย

พ.ต.ท.อัครพล ยอมรับว่าเนื้อหาของการปราศรัยในวันชุมนุมมีวัตถุประสงค์เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล โดยโจมตีไปที่การจัดการวัคซีนโควิด – 19 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น และพยานก็ได้ทราบเหตุผลที่ขบวนของผู้ชุมนุมไปหยุดอยู่ที่อาคารชิโน – ไทย เนื่องจากอาคารดังกล่าวเป็นธุรกิจครอบครัวของรัฐมนตรี

ทนายจำเลยถามค้าน

พยานยอมรับตามที่ทนายจำเลยถามว่าวันที่มีการประกาศนัดหมายการชุมนุมในเฟซบุ๊กเป็นเพจ ไม่ใช่เฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลย และคนที่ขึ้นปราศรัยในวันชุมนุมก็มีหลายคน ไม่ได้มีแค่จำเลยเพียงคนเดียว ทั้งบริเวณพื้นที่การชุมนุมก็เป็นพื้นที่เปิดโล่ง คนที่เข้าร่วมทำกิจกรรมชุมนุมส่วนใหญ่ก็สวมใหญ่หน้ากากอนามัย

ส่วนการชุมนุมในวันดังกล่าวจะมีผู้ใดติดเชื้อโควิด – 19 หรือไม่ พยานไม่ทราบ และไม่ได้รับรายงานในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องรูปแบบการชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. 2564 ซึ่งเป็นคาร์ม็อบ พยานเข้าใจตามที่ถามว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมจะเคลื่อนตัวโดยอยู่บนรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ของตนเอง และเมื่อทำกิจกรรมเสร็จสิ้นก็จะแยกย้ายไม่มีความวุ่นวาย เพียงแค่จะเป็นการนัดกันชุมนุมแค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

.

เจษฎ์ นักวิชาการ เห็นว่าจำเลยมุ่งหมายกล่าวหา ร.10 โดยเฉพาะเรื่องการหาผลประโยชน์กับกลุ่มศักดินา

เจษฎ์ โทณะวณิก อาจารย์ด้านนิติศาสตร์ที่วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย จังหวัดขอนแก่น เบิกความว่าตนเป็นอาจารย์สอนกฎหมายมา 23 ปีแล้ว วิชาที่สอนได้แก่ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่งทั่วไป กฎหมายรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

เกี่ยวกับคดีนี้ พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ได้เรียกให้พยานไปให้ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับคดี โดยให้พยานได้นั่งฟังคลิปเสียง และข้อความที่จำเลยปราศรัย ซึ่งจากที่พยานได้ดูเห็นว่าโครงสร้างของข้อความที่จำเลยปราศรัย เป็นโครงสร้างเดียวประกาศฉบับที่ 1 ของคณะราษฎรเมื่อปี 2475

เจษฎ์ได้ขยายความต่อว่าในประกาศฉบับดังกล่าว เกี่ยวเนื่องกับเรื่องการปกครองบ้านเมืองมุ่งหวังโจมตีรัชกาลที่ 7 ซึ่งทางคณะราษฎร ได้เคยออกมายอมรับว่าได้มีการล่วงเกินรัชกาลที่ 7 ในขณะเดียวกันการปราศรัยของจำเลย ก็เป็นการกล่าวที่กระทบต่อรัชกาลที่ 10 ในลักษณะเดียวกัน 

อีกทั้ง ในคำปราศรัยของจำเลยมีการกล่าวถึงนายทุน ขุนศึก ศักดินา ซึ่งเมื่อมีการพูดถึงศักดินา พยานอธิบายตามความเข้าใจว่าบนยอดของศักดินาก็คือกษัตริย์ ซึ่งประโยคที่พยานเห็นว่าสำคัญและเข้าข่ายหมิ่นประมาทตามมาตรา 112 คือประโยคที่กล่าวว่า เหตุแห่งความตกต่ำทั้งหมดนั้น เป็นเพราะรัฐบาลทรราชอันมีประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นอกจากนี้ พยานยังเห็นว่าในท้ายคำปราศรัยได้มีการพยายามขมวดปม โดยกล่าวว่าทรราชทั้งหลายจงออกไปจากประเทศนี้ และประชาชนจะกลับมาเป็นใหญ่ ไม่เป็นฝุ่นใต้ตีนใครอีกต่อไป และปิดท้ายด้วยประโยคว่าศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์ จงเจริญ ซึ่งพยานเห็นว่าเป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์ 

ทนายจำเลยถามค้าน

ทนายถามกับพยานว่าเกี่ยวกับการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 พยานเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปีดังกล่าว พยาตอบว่าไม่ใช่ แต่ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง 3 ข้อหลักของกลุ่มผู้ชุมนุม และพยานได้ยอมรับว่าไม่เคยลงทะเบียนเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานศาลยุติธรรม

ทนายจึงถามต่อว่าสำหรับการศึกษากฎหมายในระดับปริญญาโท – เอก ของพยานเป็นการศึกษาทางด้านอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายอาญาใช่หรือไม่ พยานปฏิเสธว่าไม่ใช่ เพราะในระดับปริญญาโท-เอกที่พยานศึกษาไม่มีเลือกสาขาเฉพาะ แต่ยอมรับว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจริง 

นอกจากนี้ เจษฎ์ก็ได้ยอมรับว่าวิทยานิพนธ์ของตัวเอง ก็เป็นการทำเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญา หรือมีวิจัยที่เป็นผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และมาตรา 112 แต่อธิบายว่าพยานเคยมีผลงานในวารสารเกี่ยกับสถาบันฯ ที่วารสารของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ Bangkok Post เรื่องมาตรา 112 และเคยมีประสบการณ์ไปบรรยายเรื่องเกี่ยวกับมาตราดังกล่าวที่ประเทศฮ่องกง

ทั้งนี้ พยานไม่เคยเขียนหนังสือเรียนที่เกี่ยวกับมาตรา 112 และไม่เคยได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ร่วมทั้งไม่เคยถูกเชิญเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของคนที่ทำวิจัยเกี่ยวกับมาตรา 112 มาก่อน 

เกี่ยวกับการมาเป็นพยานโจทก์ พยานเคยไปให้การกับตำรวจในชั้นสอบสวนมาแล้วหลายคดี แต่ไม่สามารถตอบที่ทนายถามได้ว่ากี่คดีแล้ว และทุกคดีที่ไป ไม่ได้มีความเห็นว่าจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ทั้งหมด

ส่วนในเรื่องประกาศคณะราษฎร 2475 ฉบับที่ 1 พยานยอมรับว่าในขณะที่เกิดประกาศฉบับนั้นขึ้น อยู่ในช่วงการปกครองแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ส่วนในปัจจุบันอยู่ในช่วงการปกครองแบบประชาธิปไตย คนละระบอบกัน แต่อธิบายเพิ่มเติมว่าประกาศของคณะราษฎร 2475 กับของกลุ่มแนวร่วมฯ มีความคาบเกี่ยวกัน 

ทนายจึงได้ขอให้พยานอธิบายถึงความคาบเกี่ยวของทั้งสองกลุ่มว่ามีความเหมือนกันอย่างไร ซึ่งพยานได้บอกว่าที่จำเลยปราศรัยเรื่องขุนศึกและศักดินา พยานมีความเห็นถึงคำว่าในชนชั้นศักดินาจะมีหลายรูปแบบ แต่ทุกที่ไม่ว่าที่ไหนในโลกกษัตริย์จะถือเป็นชนชั้นที่สูงที่สุด 

เมื่อถามต่อว่า ในระดับชั้นของศักดินามีกี่ชั้นพัน ยศ พยานทราบหรือไม่ และปัจจุบันในประเทศไทย พยานเห็นว่าสังคมมีศักดินาอยู่หรือไม่ พยานตอบว่าทุกที่มีศักดินา แต่เราไม่ยอมรับว่ามันมีแทรกอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘ศักดินาใหม่’ คือการเทียบโครงสร้างสังคมเดิม 

เมื่อถามว่าตามความเข้าใจของพยานศักดินาใหม่ที่กล่าวถึงนั้น ก็หมายถึงนายกฯ หรือคนใหญ่คนโตได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ และพยานได้ยอมรับว่าตามคำให้การในชั้นสอบสวน ได้เคยให้การว่าการชุมนุมในคดีนี้ไม่มีข้อเรียกร้องใดที่เรียกร้องถึงสถาบันกษัตริย์ 

สุดท้าย เมื่อทนายถามเรื่องประยุทธ์ว่า บุคคลที่ทำการรัฐประหารเข้ามาถือได้ว่าเป็นทรราชหรือไม่ พยานเห็นว่าการทำรัฐประหารไม่เป็นทรราช 

อัยการถามติง

อัยการถามกับพยานว่า ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการให้ความเห็นตามมาตรา 112 ในฐานะพยานโจทก์จะต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง เจษฎ์ตอบว่าจะต้องทำการศึกษาเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และต้องอ่านย้อนไปนานมาก เพราะคำว่า ‘ lèse-majesté’ มันไม่มีแล้วในโลกนี้ ดังนั้นเมื่อพูดถึงมาตรา 112 จะต้องพูดถึงกฎหมายการหมิ่นประมาท ซึ่งต้องไปเทียบกับกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป และที่ต้องไปอยู่ในหมวดความมั่นคง ก็เป็นเพราะกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ เวลาพูดถึงควรจะต้องมีความระมัดระวัง 

.

นายทหารบำนาญเห็นว่าคำปราศรัยไม่ควรเอ่ยชื่อ ร.10 แม้แถลงส่วนใหญ่วิจารณ์รัฐบาล

พลเรือตรีทองย้อย แสงสินชัย ปัจจุบันเป็นนายทหารบำนาญ มีความรู้ความเข้าใจเรื่องภาษาบาลี และถูกตำรวจเรียกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีนี้ 

ในเรื่องของสถาบันกษัตริย์ พยานมีความรู้พื้นฐานเทียบเท่ากับประชาชนทั่ว ๆ ไป ส่วนที่มาเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ได้ เนื่องจากว่าพยานรับราชการเป็นทหารเรือที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์มาอย่างยาวนาน และมีความใกล้ชิดมากกว่าคนทั่วไป 

เกี่ยวกับคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้นำแถลงการณ์ของจำเลยมาให้พยานได้อ่าน และแสดงความคิดเห็นว่ารู้สึกอย่างไร พยานก็ได้ลงความเห็นไว้ว่าหากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และนักการเมือง คนทั่วไปย่อมสามารถแสดงความคิดเห็นต่อบุคคลเหล่านั้นได้

แต่ในแถลงการณ์ พยานเห็นว่ามีข้อความที่กล่าวถึงรัชกาลที่ 10 และเป็นการกล่าวถึงที่ไม่ถูกต้อง เข้าข่ายหมิ่นประมาทประมุขในระบอบการปกครอง ข้อความตามฟ้องจึงเห็นว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 และจำเลยไม่ควรพูดแบบนี้

ทั้งนี้ พยานได้ยกตัวอย่างประโยคในแถลงการณ์ของจำเลยที่เห็นว่าเข้าข่ายมาตรา 112 โดยเป็นข้อความในทำนองว่าการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยจะต้องมาจากการตัดสินใจของประชาชน ไม่ใช่การตัดสินใจของกษัตริย์ ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีการพูดให้คนเข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์ลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง 

ทนายจำเลยถามค้าน

ทนายถามว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ว่าด้วยเรื่องของอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ต้องทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ 

ทนายจึงถามต่อไปว่า หากคำปราศรัยดังกล่าวเป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของพรรคเพื่อไทย พยานเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทหรือไม่ พยานอธิบายว่า ประโยคที่กล่าวถึงรัชกาลที่ 10 ตามฟ้อง ไม่จำเป็นต้องพูดออกมาก็ได้หากจะต้องการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น เนื่องจากสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ผู้รับผิดชอบเรื่องการเมือง และเห็นว่าแม้จะเปลี่ยนเป็นการด่ารัฐบาลของพรรคก้าวไกล แล้วมีการเอ่ยพระนามของกษัตริย์ พยานก็เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อยู่ดี

แต่พยานเห็นด้วยตามที่ถามต่อว่า ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ้ารัฐบาลที่มาจากวิธีการอื่นใดที่ไม่ใช่การเลือกตั้งของประชาชน ล้วนไม่ใช่รัฐบาลในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย 

ทั้งนี้ พยานรับว่าไม่ทราบบริบทและเจตจำนงของการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 และจำไม่ได้ว่าเป็นการชุมนุมอะไร แต่เห็นว่าไม่ควรเอ่ยคำปราศรัยตามฟ้อง แต่พยานเห็นด้วยตามที่ถามว่าในการชุมนุมดังกล่าวและแถลงการณ์ของจำเลยที่อ่านในที่ชุมนุม เป็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลทั้งหมด ไม่ได้มีส่วนใดที่เรียกร้องต่อพระมหากษัตริย์

อย่างไรก็ตาม เมื่อทนายถามว่าในฐานะที่พยานรับใช้และใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 พยานเคยได้ยินพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ที่ว่าการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์สามารถทำได้หรือไม่ พยานตอบว่าไม่เคยได้ยินมาก่อน

อัยการไม่ถามติง 

.

.

พนักงานสอบสวน รับว่าไม่ทราบเรื่องหลักเกณฑ์คัดเลือกพยานโจทก์ในคดีนี้

พ.ต.ต.ภิชาภัช ศรีคำขวัญ สารวัตรสอบสวน สน.ทองหล่อ อายุ 46 ปี เกี่ยวกับคดีนี้เป็นพนักงานสอบสวนที่สอบปากคำ มะลิวัลย์ หวาดน้อย ผู้แจ้งความร้องทุกข์ แต่พยานไม่ได้เป็นคนรับแจ้งความ คนที่รับแจ้งความคือ พ.ต.ท.ศุภชัย หาญคำหล้า ซึ่งในการดำเนินคดีนี้ พยานได้รวบรวมหลักฐานเป็นแถลงการณ์ที่จำเลยปราศรัย เมื่อดูแล้วเห็นว่าเข้าข่ายตามมาตรา 112 ก็ได้ทำรายงานส่งให้ผู้บังคับบัญชา และผู้บังคับบัญชาก็ได้ลงความเห็นว่าเป็นการกระทำผิดตามมาตราดังกล่าว

พยานจึงดำเนินการออกหมายเรียกจำเลยมาเข้าพบ แต่จำเลยไม่ได้มาตามหมายเรียก จึงได้มีการออกหมายจับ และสามารถดำเนินการจับกุมตัวจำเลยได้เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2564 จำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ทนายจำเลยถามค้าน

พยานยอมรับตามที่ทนายจำเลยถามว่า คดีมาตรา 112 เป็นคดีสำคัญ และตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนพิเศษขึ้นมาเพื่อทำสำนวนคดีนี้โดยเฉพาะ โดยการพิจารณาสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 ก็จะอยู่ในการพิจารณาของผู้บังคับบัญชา

ในส่วนของพยานโจทก์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีรายชื่ออยู่แล้วว่าหากมีการดำเนินคดีมาตรา 112 เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องไปสอบปากคำผู้ใดบ้างใช่หรือไม่ พยานตอบว่าเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการ และผู้บังคับบัญชา พยานไม่มีความเห็นเรื่องการเลือกรายชื่อพยานโจทก์ในคดีนี้ 

ส่วนเรื่องหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกมาเป็นพยานโจทก์ พยานไม่ทราบ เป็นการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนที่อาจเห็นว่ากลุ่มพยานโจทก์เหล่านี้เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญจึงได้เรียกมาเป็นพยาน และในตอนที่มีการคัดเลือกพยานโจทก์ พยานก็ไม่ทราบว่ามีรายชื่อมาให้คัดเลือกกันกี่คน เพราะไม่ได้เข้าร่วมประชุมคัดเลือกด้วย

ทั้งนี้ พยานยอมรับว่าได้เห็นประวัติของเจษฎ์แล้ว และทราบว่าเจษฎ์ไม่ได้จบหรือเชี่ยวชาญในสาขากฎหมายอาญา แต่พยานก็ไม่ได้เรียกสอบปากคำบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญกฎหมายอาญาคนอื่นแต่อย่างใด เห็นว่าเพียงตำแหน่งคณบดีของเจษฎ์ก็เพียงพอแล้วสำหรับการให้ข้อมูลในคดีนี้

นอกจากนี้ พยานได้ยอมรับว่าไม่มีการสอบปากคำบุคคลอื่นเพิ่มเติมอีกแล้วนอกจากปากผู้กล่าวหา และยอมรับว่าคำให้การของสมาชิกกลุ่ม ศปปส. ก็ให้การกับพนักงานสอบสวนเหมือนกันทุกประการ ส่วนเรื่องพื้นที่การชุมนุมบริเวณตึกซิโน – ไทย จะมีใครเป็นเจ้าของอาคาร พยานไม่ทราบ และก็ไม่ทราบด้วยว่าในการชุมนุมจะมีการเสี่ยงแพร่โรคระบาดหรือไม่ เนื่องจากพยานไม่ได้สอบปากคำเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไว้

อัยการไม่ถามติง

.

จำเลยยืนยันเจตนาเพื่อต้องเรียกร้องวัคซีนให้ประชาชน ขอให้รัฐบาลเห็นหัวประชาชนบ้างเท่านั้น ไม่ได้มีข้อเรียกร้องใดถึงกษัตริย์อย่างที่ถูกกล่าวหา

เบนจา อะปัญ ขึ้นเบิกความในฐานะพยานจำเลย ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

เกี่ยวกับคดีนี้ จำเลยทราบว่ากลุ่ม ศปสส. เป็นกลุ่มเกี่ยวกับปกป้องสถาบันฯ มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งกัน และมักจะเข้าแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชนหลาย ๆ คน แต่ส่วนตัวจำเลยไม่เคยมีเหตุกระทบกระทั่งกับกลุ่ม ศปปส. มาก่อน แต่เคยเห็นกลุ่มเพื่อนกับคนอื่น ๆ ทะเลาะกับกลุ่มดังกล่าวอยู่บ้าง ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 

ส่วนเจษฎ์ จำเลยทราบว่ามีพยานคนดังกล่าวมีความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ไปในทิศทางเดียวกันกับจำเลยเนื่องจากพยานคนดังกล่าวเคยออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่าการรัฐประหารของประยุทธ์ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง ซึ่งจำเลยมีความคิดเห็นว่าการรัฐประหารคือการล้มล้างการปกครองที่แท้จริง

ในวันที่ 10 ส.ค. 2564 จำเลยเบิกความว่าเป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 จริง แต่ประเทศไทยในขณะนั้นก็มีการบริหารจัดการวัคซีนที่ย่ำแย่ ซึ่งเป็นการบริหารงานของอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น จึงเป็นเหตุให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้ไปประท้วงแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าอาคารซิโน – ไทย เพราะเป็นบริษัทของเครือญาติอนุทิน

ในการประท้วง กลุ่มของจำเลยก็ไม่ได้ประท้วงเรียกร้องแค่กับอนุทิน แต่เรียกร้องถึงคณะรัฐบาลทั้งหมดในขณะนั้น แต่การที่ไปทำที่หน้าอาคารซิโน – ไทย ก็เป็นเพราะวัตถุประสงค์หลักของกิจกรรมการชุมนุมเท่านั้น เนื่องจากอนุทินเป็นผู้รับผิดชอบด้านการบริหารจัดการวัคซีน

เบนจาได้อธิบายการอ่านประกาศในการชุมนุมดังกล่าว เป็นการเรียกร้องเรื่องวัคซีน และการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลประยุทธ์ หากได้ฟังและอ่านทั้งหมด จะเห็นจุดประสงค์ของการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาโควิด 

ส่วนในคำฟ้อง “เหตุแห่งความตกต่ำ” จำเลยพูดถึงรัฐบาลประยุทธ์ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ และคำพูดที่ว่าไม่ได้บริหารราชการแผ่นดินเหมือนที่ประเทศอื่น ๆ ทำ ก็ไม่ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์ตามบรรยายฟ้องที่ถูกกล่าวหา 

และที่มีคำว่ารัฐบาลประยุทธ์คือทรราช ภายใต้กษัตริย์เป็นประมุข จำเลยไม่ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการกล่าวถึง “ระบอบ” ซึ่งเป็นการพูดถึง Constitutional Monarchy ประโยคดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาที่จะว่าร้ายรัชกาลที่ 10 และเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินที่มีอยู่ในเนื้อหาแถลงการณ์ ก็ไม่ได้กล่าวขึ้นมาลอย ๆ แต่เป็นการพูดตามขอบเขตของกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 และ 3 

ส่วนข้อความที่กล่าวถึงการเลือกรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีย่อมต้องไม่มาจากการเลือกของกษัตริย์ จำเลยอธิบายว่าประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีก็ต้องมาจากการคัดสรรของประชาชน ไม่ใช่กษัตริย์อยู่แล้ว และต้องไม่ใช่ที่มาจากการรัฐประหารด้วย

ส่วนที่ได้กล่าวว่า ‘เช่น’ ก็เป็นการยกตัวอย่างเพียงเท่านั้น ซึ่งการรัฐประหารของประยุทธ์ ก็ไม่ใช่วิถีทางของประชาธิปไตย เพราะเป็นการยึดอำนาจอธิปไตยของประชาชนมา 

ทนายจึงถามว่าที่จำเลยได้ยกตัวอย่างเรื่องการชุมนุมในอดีตของกลุ่ม กปปส. ที่มีการประท้วงเรียกร้องให้กษัตริย์แต่งตั้งนายกพระราชทานให้กับประชาชน ก็เป็นการยกตัวอย่าง ไม่ได้มีเจตนาที่จะว่าร้ายกษัตริย์ตามที่ถูกกล่าวหา 

จำเลยเบิกความยืนยันว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดในแถลงการณ์ไม่มีข้อใดที่เรียกร้องต่อสถาบันกษัตริย์ และจำเลยได้ทราบว่าในสมัยรัชกาลที่ 9 ได้เคยตรัสว่าพระมหากษัตริย์ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ทั้งทรงได้ตรัสอีกว่ายิ่งใช้ ก็ยิ่งส่งผลเสียต่อสถาบันกษัตริย์มากเท่านั้น

ส่วนการชุมนุม จำเลยได้ยืนยันว่าเป็นกิจกรรมคาร์ม็อบที่ทุกคนจะเข้าร่วมโดยการใช้ยานพาหนะส่วนตัวเพื่อมารวมตัวกัน และตอนที่จำเลยอยู่ท้ายรถกะบะ ก็ได้ใส่หน้ากากอนามัยมิดชิด ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ก็ใส่หน้ากากอนามัย ตั้งแต่เริ่มกิจกรรมจนจบจำเลยขอยืนยันว่าไม่มีใครสร้างความวุ่นวายใด ๆ และจากที่จำเลยทราบก็ไม่มีรายงานว่ามีคนติดเชื้อจากการเข้าร่วมชุมนุมในครั้งนี้

อัยการถามค้าน

อัยการถามว่าประกาศของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ที่จำเลยได้อ่านตามฟ้องมีการแจกจ่ายให้ประชาชนด้วยใช่หรือไม่ จำเลยตอบว่าใช่ และยอมรับว่าจำเลยเป็นผู้อ่านประกาศดังกล่าวจริง และไม่ได้มีการอธิบายความหมายเพิ่มเติมเหมือนที่เบิกความ

ทนายถามติง

จำเลยเบิกความว่าเหตุที่ไม่ได้อธิบายในตอนอ่านประกาศ เพราะข้อความที่เขียนชัดเจนอยู่แล้วว่ามีเจตนาเรียกร้องสิ่งใด

.

ดูฐานข้อมูลคดีนี้ คดี 112 “เบนจา” ปราศรัยหน้าตึกซิโนไทย #คาร์ม็อบ10สิงหาไล่ทรราช

.

X