ไต่สวนฝากขัง ‘เบนจา’ ครั้งที่ 5 ศาลอนุญาตฝากขังต่ออีก 7 วัน อ้างเหตุต้องรอฟังคำสั่งฟ้องจากผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

วันนี้ (15 พ.ย. 64) ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พ.ต.ต.ภิชาภัช ศรีคำขวัญ พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ได้เข้ายื่นคำร้องขอฝากขัง เบนจา อะปัญ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เป็นครั้งที่ 5 ในคดีที่ถูกกล่าวหาจากการปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ที่หน้าบริษัทซิโน-ไทย ในระหว่าง #ม็อบ10สิงหา ‘คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช’ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะที่ทนายความได้ยื่นคัดค้านการฝากขังดังกล่าว

ที่ห้องพิจารณา 604 เวลาประมาณ 11.30 น. ศาลขึ้นนั่งบังลังก์พิจารณาไต่สวนคำร้องขอฝากขัง 

ทนายผู้ต้องหาได้แถลงคัดค้านการฝากขังครั้งนี้ว่า อ้างอิงตามมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 การควบคุมผู้ต้องหาให้กระทําได้เท่าที่จําเป็นเท่านั้น ซึ่งจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2564 และคดีนี้ผู้ต้องหาได้ยื่นคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วหลายครั้ง หากผู้ต้องหาต้องถูกคุมขังระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนต่อไป ย่อมจะเป็นการคุมขังที่เกินจําเป็น นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังสร้างภาระแก่ผู้ต้องหาเป็นอย่างยิ่ง

พนักงานสอบสวนไม่มีเหตุสุดวิสัยหรือความจําเป็นที่จะยื่นคําร้องต่อศาลให้ออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ได้ หากขังผู้ต้องหาต่อไปจะเป็นการควบคุมตัวที่เกินกว่าความจําเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี และเพื่อให้การดําเนิน กระบวนพิจารณาเป็นไปตามหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ ผู้ต้องหาจึงขอศาลให้ไต่สวนพนักงานสอบสวนเพื่อชี้แจงเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่น  โดยให้แสดงพยานหลักฐาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการไต่สวนของศาลด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87

ด้านพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ อ้างเหตุว่าการขอฝากขังครั้งที่ 4 จะครบกำหนดในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 จึงเข้ายื่นขอฝากขังผู้ต้องหาเป็นครั้งที่ 5 เป็นระยะเวลาอีก 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 ถึง 27 พฤศจิกายน 2564 โดยระบุว่าพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ทว่าสำนวนยังอยู่ในการพิจารณาของกองบัญชาการตำรวจนครบาลหรือหัวหน้าพนักงานสอบสวน ว่าจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับกับความมั่นคงในราชอาณาจักร จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ 

นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังให้เหตุผลว่า กรณีที่ศาลไม่รับฝากขังต่ออาจส่งผลกระทบและอุปสรรคในการสอบสวนของพนักงานสอบสวน เช่น ไม่สามารถตามตัวผู้ต้องหามาสอบปากคำได้ หากหัวหน้าพนักงานสอบสวนมีบางประเด็นที่ต้องการจะสอบสวนผู้ต้องหาเพิ่ม อีกทั้งในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาได้ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ได้มีการยื่นคำให้การเพิ่มเติมแต่อย่างใด รวมไปถึงผู้ต้องหามีมวลชนเยอะ เกรงว่าจะมีความยากลำบากในการพาตัวไปสอบสวน 

ด้านเบนจาได้แถลงคัดค้านว่า ในการถูกดําเนินคดีทุกคดี ตนไปตามกําหนดนัดของพนักงานสอบสวนทุกนัด หากไม่มีเหตุขัดข้อง และหากมีเหตุจําเป็น ตนจะแจ้งขอเลื่อนนัดต่อพนักงานสอบสวนทุกครั้งโดยไม่เคยหลบหนี และในการขอฝากขัง ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 4 เหตุกล่าวอ้างขอฝากขังของพนักงานสอบสวนที่ระบุว่ามีเหตุจําเป็นนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการดําเนินการที่เกี่ยวกับตัวผู้ต้องหาแต่อย่างใด 

ทั้งในคดีนี้ ตนไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อนแต่อย่างใด แต่ได้รับทราบจากทนายความว่าได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนว่าได้มีหมายเรียกไปยังผู้ต้องหา จึงได้ขอเลื่อนนัดออกไป เนื่องจากมีเหตุจําเป็นต้องกักตัวอันเกิดเนื่องสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่พนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้เลื่อนนัด และยังไปขอออกหมายจับ การปฏิบัติดังกล่าวของพนักงานสอบสวนจึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ

ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังเบนจาต่อ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น และพนักงานสอบสวนจำเป็นต้องส่งสำนวนให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนเพื่อพิจารณาในการฟ้องคดีดังกล่าว ศาลจึงเห็นสมควรอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้อีกเพียง 7 วัน โดยศาลได้กำชับผู้ร้องแล้วว่าให้เร่งรัดการสอบสวนคดีนี้โดยเร็ว 

ปัจจุบัน เบนจาถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางมาแล้ว 39 วัน

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตฝากขังต่อ 7 วัน – ไม่ให้ประกัน “เบนจา” ครั้งที่ 4 หลังตร.อ้างต้องสอบพยานอีก 1 ปาก

ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่ให้ประกัน “เบนจา” เป็นครั้งที่ 3 แม้ตร.สอบพยานเสร็จหมดแล้ว-ไม่ได้ค้านปล่อยตัว

ศาลอุทธรณ์ยืนไม่ให้ประกัน “เบนจา” คดี 112 เหตุปราศรัยหน้าตึกซิโนไทย #คาร์ม็อบ10สิงหาไล่ทรราช

ศาลไม่ให้ประกัน ‘เบนจา’ คดี ม.112 อ่านแถลงหน้าซิโนไทย-สถานทูตเยอรมัน ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

บันทึกเยี่ยมเบนจา อะปัญ: “แล้วพอสิ่งต่างๆ มันหายไป เลยไม่รู้ว่าต้องทำอะไร”

บันทึกเยี่ยมเบนจา อะปัญ: “สิทธิคัดค้านฝากขังที่ไม่มีจริงในกระบวนการตั้งใจขัง”

“ไม่มีใครทำลายสถาบันตุลาการได้ เท่ากับที่เขาทำลายตัวเอง”: บันทึกเยี่ยมเบนจา หลังศาลลงโทษละเมิดอำนาจศาล

X